ดร. นพ.วิรุฬ ลิ้มสวาท Caregiving ด้วยหัวใจ จิตวิญญาณแห่งมานุษยวิทยาการแพทย์

ดร. นพ.วิรุฬ ลิ้มสวาท Caregiving ด้วยหัวใจ จิตวิญญาณแห่งมานุษยวิทยาการแพทย์

“พอลูกเกิด ความเป็นพ่อของเราก็เกิด ค่อย ๆ เรียนรู้และมีพลัง ความเป็นพ่อคือแรงผลักดันให้ผมทำงานเรื่องการเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้น รู้สึกว่าเป็นสิ่งที่เราต้องทำเพื่อลูก เพราะต่อให้เราเลี้ยงดูเขาดีแค่ไหน ถ้าสังคมแย่ เขาก็ไม่รอด” ดร. นพ.วิรุฬ ลิ้มสวาท

คำพูดที่กลั่นจากอกของคุณพ่อลูก 3 ที่อยู่ในวัยกำลังเติบโต ภายใต้หมวกอีกใบนั้น เขาคือหมอที่มีหัวใจความเป็นมนุษย์และสุขภาวะทางปัญญาอย่างเต็มเปี่ยม...ดร. นพ.วิรุฬ ลิ้มสวาท แพทย์และนักมานุษยวิทยาการแพทย์ หัวหน้ากลุ่มวิจัยสังคมและสุขภาพ สำนักวิชาการสาธารณสุข สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข กับดีกรีปริญญาเอกจากคณะมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สหรัฐอเมริกา

“งานหลักของผมคือเป็นหมอในสาขา ‘มานุษยวิทยาการแพทย์’ เราเอาวิธีคิดวิธีมองแบบมานุษยวิทยามาใช้กับเรื่องการแพทย์ เป็นเครื่องมือหนึ่งที่ช่วยให้คนเราเข้าใจกัน รู้จักเชื่อมโยงตัวเรากับผู้อื่น การทำงานของผมในตอนนี้คือพยายามทำความเข้าใจปัญหาในเชิงวิธีคิดของผู้คนและปัญหาในสังคม”

คุณหมอวิรุฬได้นำหลักมานุษยวิทยามามองคนไข้ ทำให้เห็นความเป็นคนมากกว่าเห็นแค่โรคภัยไข้เจ็บ และเห็นว่าเมื่อคนคนหนึ่งเป็นโรคร้าย ความทุกข์ทรมานที่เกิดขึ้นไม่ได้หยุดอยู่ที่ผู้ป่วยเท่านั้น แต่ลุกลามมาถึงคนใกล้ชิดหรือครอบครัวที่เป็นผู้ดูแลอย่างยากจะหลีกเลี่ยง ทำให้ทั้งผู้ป่วยและผู้ดูแลล้วนตกอยู่ในภาวะท่วมทุกข์เช่นเดียวกัน ความรู้เรื่อง Caregiving หรือการใส่ใจดูแลกัน จึงเป็นหนึ่งในการทำงานอันเข้มข้นที่คุณหมอพยายามผลักดันมาตลอดหลายปี

คุณหมอวิรุฬอธิบายว่า Caregiving นั้นทำได้ในหลายรูปแบบและหลายระดับ ตั้งแต่ระดับเข้มข้น คือ Professional Caregiving หรือการดูแลแบบวิชาชีพ เป็นการทำเพื่อคนอื่นด้วยความเป็นวิชาชีพ ซึ่งคุณหมอมองว่า วิชาชีพต่างจากอาชีพ ตรงที่วิชาชีพจะทำด้วยการเชื่อมโยงหรือ connect กับบางสิ่งบางอย่างที่เหนือจากตัวเรา คือความอยู่ดีมีสุขของมนุษยชาติ เชื่อมโยงกับ Calling หรือเสียงที่เรียกให้เราทำ เป็นเสียงจากบางอย่างที่อยู่สูงและเหนือไปกว่าตัวเรามาก การดูแลแบบวิชาชีพนี้สามารถทำได้ทุกอาชีพไม่ใช่เฉพาะหมอ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์

Family Caregiving หรือการดูแลกันในครอบครัว ความเป็นพ่อแม่ (Parenting) เกิดขึ้นพร้อมกับการมีลูก จึงเป็นการค่อย ๆ เรียนรู้ไปด้วยกัน “ความเป็นพ่อแม่คือความสัมพันธ์แบบหนึ่งซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้กับสิ่งอื่นด้วย เช่น ทาสหมา ทาสแมว เป็นลักษณะเดียวกันกับที่พ่อแม่ก็เป็นทาสลูกเหมือนกัน คำว่า ‘ทาส’ คือยอมทุกอย่าง ยอมเสียสละตัวเองได้ แม้แต่ยอมตาย ถ้าหมาที่รักมากกำลังจะถูกรถชน เจ้าของอาจจะกระโดดเข้าไปขวาง นี่คือความสัมพันธ์ที่คล้ายกับความเป็นพ่อแม่ คนที่ไม่มีลูกจึงอาจมีความสัมพันธ์กับบางอย่างในแบบเดียวกับพ่อแม่ก็ได้ เป็นพลังของความรักที่มีอยู่ในตัวทุกคน” ดร. นพ.วิรุฬ ลิ้มสวาท Caregiving ด้วยหัวใจ จิตวิญญาณแห่งมานุษยวิทยาการแพทย์

คุณหมอบอกอีกว่า ความเป็นพ่อแม่มีพลังของ Caregiving สูงมาก เช่นตัวเขาเองที่มีพลังจากความเป็นพ่อที่ต้องการสร้างสังคมที่ดีขึ้นให้แก่ลูก ความต้องการนี้เป็นแรงผลักดันสำคัญในการทำงานของเขา ทั้งการเป็นหมอ นักวิจัย และนักเคลื่อนไหวสังคม

“อีกหนึ่งการดูแลที่สำคัญมาก คือ Self Care หรือการดูแลตัวเอง Caregiver หรือผู้ดูแลจะดูแลมิติภายในตัวเองอย่างไรจึงจะดูแลผู้อื่นได้ เช่น ลูกที่ดูแลพ่อแม่ซึ่งเป็นคนป่วยติดเตียงก็ต้องดูแลตัวเองเพื่อให้มีพลังในการดูแลพ่อแม่ได้”

การดูแลหรือ Caregiving นั้นหมอวิรุฬมองว่าเป็นเรื่องสำคัญต่อชีวิตของผู้คนในสังคม การที่จะเข้าถึงแก่นของเรื่องนี้ต้องอาศัยทั้งความเข้าใจและความเข้มแข็งของสภาวะภายในของคนทำงานเป็นอย่างมาก การขับเคลื่อนงานด้านนี้ของคุณหมอจึงต้องการความร่วมมือและช่วยกันทำงานจากหลากหลายภาคส่วน ...แม้เป็นภาระอันเหนื่อยหนัก แต่คุณหมอสัญญาว่าจะยังคงยืนหยัดและมุ่งมั่นทำงานนี้ต่อไปเพื่อสร้างสังคมที่ดีขึ้น ดร. นพ.วิรุฬ ลิ้มสวาท Caregiving ด้วยหัวใจ จิตวิญญาณแห่งมานุษยวิทยาการแพทย์

สัมผัสพลังแห่งความรักและการดูแลอย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้นในหัวข้อ ‘บนเส้นทางของผู้ดูแล - The Caregivers’ Path’ กับประสบการณ์การทำงานด้วยจิตวิญญาณ มิติภายใน การเชื่อมโยงกับ Calling จากสิ่งที่อยู่ข้างบน และเส้นทางชีวิตของ ดร. นพ.วิรุฬ ลิ้มสวาท ในงานประชุมวิชาการระดับชาติเครือข่ายความรู้สุขภาวะทางปัญญา ครั้งที่ 1 ‘สุขภาวะทางปัญญา : สุขภาพ จิตวิญญาณ และสังคม’ วันที่ 17 - 18 สิงหาคม 2566 ที่อาคารเฉลิมราชกุมารี 60 พรรษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

งานนี้เป็นส่วนหนึ่งของ Soul Connect Fest มหกรรมพบเพื่อนใจ ติดตามรายละเอียดงานได้ที่เพจ Soul Connect Fest
 
# SoulConnectFest #จิตวิวัฒน์ #สุขภาวะทางปัญญา #สสส