‘ไมค์ ไวกิง’ นวัตกรความสุข และ ‘คนที่มีความสุขที่สุดในโลก’ ผู้ก่อตั้งสถาบันวิจัยความสุข

‘ไมค์ ไวกิง’ นวัตกรความสุข และ ‘คนที่มีความสุขที่สุดในโลก’ ผู้ก่อตั้งสถาบันวิจัยความสุข

‘ไมค์ ไวกิง’ (Meik Wiking) ชายที่ถูกมองว่าเป็น ‘คนที่มีความสุขที่สุดในโลก’ นวัตกรความสุข และนักวิจัยผู้ก่อตั้งสถาบันวิจัยความสุข ถ่ายทอดแนวคิดที่ซับซ้อนให้เข้าใจง่ายสำหรับผู้ฟังวงกว้าง

  • ไมค์ ไวกิง นักคิด นักเขียน และนักวิจัยความสุข ผู้เขียนหนังสือว่าด้วยเรื่องวิถีแบบ ฮุกกะ (Hygge) อันเป็นแนวคิดที่สะท้อนถึงวิถีชีวิตของผู้คนในยุโรปเหนือที่เผชิญสภาพแวดล้อมอย่างลำบากแต่ก็ยังมีแง่คิดในการแสวงหาความสุขได้
  • ไมค์ ไวกิง ได้รับขนามนามว่าเป็น ‘นวัตกรความสุข’ และ ‘ผู้มีความสุขมากที่สุดในโลก’

เหตุใด ‘ไมค์ ไวกิง’ (Meik Wiking) ถึงได้ชื่อว่าเป็น ‘นวัตกรความสุข’

Meik Wiking เป็นหนึ่งใน ‘นักวิจัยด้านความสุข’ ที่ทรงอิทธิพลมากที่สุดในปัจจุบัน เขาเป็นผู้แต่งหนังสือหลายเล่ม รวมถึงหนังสือขายดีของ New York Times คือ The Little Book of Hygge: The Danish Way to Live Well และ The Little Book of Lykke: Secrets of the World's Happiest People ด้วยยอดจำหน่ายมากกว่าหนึ่งล้านเล่มทั่วโลกในกว่า 35 ภาษา

ไมค์ ไวกิง เป็นผู้ก่อตั้งและ CEO ของ ‘สถาบันวิจัยความสุข’ หรือ Happiness Research Institute แห่งเดนมาร์ก เป็นวิทยากรผู้ได้รับการยอมรับอย่างสูง เขาเป็นที่รู้จักจากความสามารถในการถ่ายทอดแนวคิดและทฤษฎีที่ซับซ้อนให้ง่ายต่อผู้ฟังในวงกว้าง และเดินทางไปพูดมาแล้วกว่า 40 ประเทศทั่วโลก

นอกจากงานที่ ‘สถาบันวิจัยความสุข’ ไมค์ ยังเป็นผู้ร่วมจัดทำโครงการวิจัยของเดนมาร์กในการสร้าง ‘ฐานข้อมูลความสุขโลก’ และเป็นสมาชิกของกลุ่มที่ปรึกษาด้านนโยบายของ UN เพื่อจัดทำ ‘นโยบายความสุขสากล’

นอกจากตำแหน่ง ‘นวัตกรความสุข’ แล้ว เขายังได้รับการขนานนามว่าเป็น The Indiana Jones of Smiles หรือ ‘นักผจญภัยด้วยรอยยิ้ม’ และเป็น ‘คนที่มีความสุขที่สุดในโลก’ ที่นิตยสาร Times ให้การยกย่อง

ในตอนนี้ The People ขอพาไปทำความรู้จักกับผลงานของ ‘นวัตกรความสุข’ ที่ชื่อไมค์ ไวกิง กัน

‘นวัตกรความสุข’ ที่ชื่อ ‘ไมค์ ไวกิง’

“การได้ขี่จักรยาน 5 นาทีก็ถึงที่ทำงาน ทำให้ผมมีความสุขมากที่ได้ออกกำลังกายเล็ก ๆ น้อย ๆ ตอนเช้า ได้สูดอากาศที่สดชื่น และได้ดมกลิ่นหญ้า แค่นี้ผมก็มีความสุขไปทั้งวันแล้ว”

นี่คือปรัชญาชีวิตง่าย ๆ ของชายผู้ได้รับฉายาว่า ‘นวัตกรความสุข’

‘ไมค์ ไวกิง’ เจ้าของฉายาที่ว่านั้น เขาจบการศึกษาด้านธุรกิจ และรัฐศาสตร์ เป็นนักเขียน และนักวิจัยเกี่ยวกับความสุข ความอิ่มเอมทางจิตใจ และความพึงพอใจในคุณภาพชีวิต

‘ไมค์ ไวกิง’ เป็นคนที่กระตือรือร้นในการทำงานมากที่สุด ชีวิตเขาไม่เคยมีวันหยุด

“ผมรักทุกสิ่งที่ทำ ผมชอบอ่านหนังสือ เขียนหนังสือ ผมอยากอ่านรายงาน และบทความเกี่ยวกับความสุขตลอดเวลา”

ก่อนที่จะมาเป็นผู้ก่อตั้งและ CEO ของ ‘สถาบันวิจัยความสุข’ หรือ Happiness Research Institute แห่งเดนมาร์ก ‘ไมค์ ไวกิง’ เคยดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสถาบันวิจัยนโยบายสาธารณะเพื่อสร้างสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน

“ตอนนั้นผมพยายามอย่างยิ่งที่จะมองหาพลังงานสีเขียว และศึกษาว่า สังคมจะได้ประโยชน์จากการเป็นเศรษฐกิจสีเขียวต่อไปอย่างไร”

สำหรับเป้าหมายของ ‘สถาบันวิจัยความสุข’ นั้น ‘ไมค์ ไวกิง’ บอกว่า คือให้การศึกษาที่เป็นวิทยาศาสตร์ และทำให้เรื่องความสุขเป็นนโยบายสาธารณะ

‘ไมค์ ไวกิง’ ชี้ว่า เหตุผลที่เดนมาร์กและชาวสแกนดิเนเวียเป็นแชมป์ในเรื่องความสุขก็คือ “สวัสดิการของประเทศสแกนดิเวีย ซึ่งมีประสิทธิภาพมาก กับบทบาทหน้าที่ในการลดความทุกข์ของผู้คน”

 

‘สแกนดิเนเวีย’ ดินแดนแห่งความสุข

ทุกวันนี้ หากเราเอ่ยถึง ‘สแกนดิเนเวีย’ แล้ว ก็ย่อมหมายถึง กลุ่มประเทศ ‘นอร์ดิก’ หรือ Nordic Countries และ ‘ภูมิภาคนอร์ดิก’ หรือ Nordic Region ซึ่งเป็นชาติ ‘ยุโรปเหนือ’ ที่มีประวัติศาสตร์ร่วมกันมาอย่างยาวนาน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ‘สแกนดิเนเวีย’ มีวัฒนธรรมที่คล้ายคลึงกัน ไม่ว่าจะเป็นการเมืองการปกครอง เศรษฐกิจ สังคม

คำว่า ‘นอร์ดิก’ มีที่มาจากภาษาฝรั่งเศส คือคำว่า Pays Nordiques ซึ่งเทียบเท่ากับคำท้องถิ่นว่า Norden ในภาษาสวีเดน ภาษานอร์เวย์ และภาษาเดนมาร์ก Pohjola/Pohjoismaat ในภาษาฟินแลนด์ และ Norðurlönd ในภาษาไอซ์แลนด์ และภาษาแฟโร ซึ่งแปลความหมายได้ว่า ‘ดินแดนทางทิศเหนือ’

ในปัจจุบัน โลกของเราใช้คำว่า ‘สแกนดิเนเวีย’ แทนความหมายของคำว่า ‘นอร์ดิก’ หรือ ‘กลุ่มนอร์ดิก’ หรือ ‘ภูมิภาคนอร์ดิก’ อันหมายถึง กลุ่มประเทศยุโรปเหนือ ที่มีความสัมพันธ์กันในทางการเมือง และมีการจัดตั้งองค์กรที่เรียกว่า ‘คณะมนตรีนอร์ดิก’ ซึ่งเป็นหน่วยงานนโยบายกลาง

‘กลุ่มนอร์ดิก’ หรือ ‘มณฑลสกาเนียน’ (Scanian Province) ประกอบไปด้วย ‘เดนมาร์ก’, ‘นอร์เวย์’, ‘สวีเดน’, ‘ฟินแลนด์’, ‘ไอซ์แลนด์’ รวมถึงดินแดนปกครองตนเองอีก 3 แห่งอันได้แก่ ‘กรีนแลนด์’ (เดนมาร์ก) ‘หมู่เกาะแฟโร’ (เดนมาร์ก) และ ‘หมู่เกาะโอลันด์’ (ฟินแลนด์) รวมถึง ‘เอสโตเนีย’

โดยหากจะเอ่ยถึง ‘วัฒนธรรมร่วม’ ของ ‘ชาวนอร์ดิก’ แล้ว ก็มีวัฒนธรรมสำคัญอันหลากหลาย แต่ถ้าจะพูดถึง ‘วัฒนธรรมใหม่’ ตัวหนึ่ง ซึ่งได้เป็นที่กล่าวขวัญถึงจากคนรุ่นใหม่ทั่วทุกมุมโลกในช่วงที่ผ่านมา นั่นคือ ‘วัฒนธรรม Hygge’ หรือ ‘วัฒนธรรมฮุกกะ’

 

อะไรคือ ‘วัฒนธรรมฮุกกะ’

‘วัฒนธรรมฮุกกะ’ เริ่มต้นด้วยการเปิดตัวหนังสือ The Little Book of Hygge: The Danish Way to Live Well ผลงานการเขียนของ ไมก์ ไวกิง (Meik Wiking) เอง เมื่อครั้งที่เขาเข้ารับตำแหน่ง ‘ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยความสุขแห่งประเทศเดนมาร์ก’ ได้ 5 ปี โดยได้ตีพิมพ์ออกวางจำหน่ายในปี ค.ศ. 2018

Meik Wiking เขียนเอาไว้ในหนังสือ The Little Book of Hygge: The Danish Way to Live Well ว่า ‘ฮุกกะ’ คือ “ศิลปะในการสร้างความใกล้ชิดผูกพัน ความรู้สึกผ่อนคลายในจิตวิญญาณ และการแสวงหาความสุขจากสิ่งรอบตัว ณ ปัจจุบันกาล”

เนื่องจากเป็นที่ทราบกันมาอย่างยาวนานว่า ‘ชาวนอร์ดิก’ ต้องเผชิญกับปัญหาสภาพอากาศที่เย็นจัดเกือบตลอดทั้งปี ด้วยความที่เป็นเมืองหนาว มีหิมะตกติดต่อกันนานหลายเดือนในรอบปี อีกทั้งยังมีร่องมรสุมพาดผ่าน อันนำไปสู่การเกิดพายุฝนฟ้าคะนองอย่างหนักอยู่บ่อยครั้ง แต่ ‘ชาวนอร์ดิก’ กลับเลือกใช้ชีวิตให้ผสมกลมกลืนไปกับสิ่งเหล่านี้อย่างมีความสุขได้ตลอดเวลา

ดังนั้น ‘ชาวนอร์ดิก’ จึงได้รับการยกย่องให้เป็น ‘กลุ่มประเทศมหาอำนาจแห่งความสุข’ อันดับต้น ๆ ของโลกในการจัดอันดับของ UN และ OECD

ดังนี้ หนังสือ The Little Book of Hygge: The Danish Way to Live Well จึงเป็นการชี้ชวนให้ทุกคน ‘มองหาความสุขในสิ่งละอันพันละน้อยรอบตัว’ เพื่อสร้าง ‘วิถีชีวิตที่เนิบช้า’ หรือ Slow Life ในแบบฉบับ ‘ฮุกกะ’

 

‘นวัตกรความสุข’ ตำแหน่งนี้ท่านได้แต่ใดมา

ไมก์ ไวกิง เจ้าของฉายา ‘นวัตกรความสุข’ เป็นผู้นำพา ‘สถาบันวิจัยความสุข’ ก้าวสู่วาระครบรอบ 10 ปี เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ได้กลั่นกรองประสบการณ์เกี่ยวกับ ‘การสร้างความสุข’ ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา รวบรวมเอาไว้ในหนังสือ The Little Book of Hygge: The Danish Way to Live Well ที่จะพาเราไปรู้จัก ‘วิถีแห่งฮุกกะ’ ในหลากแง่หลายมุม ตั้งแต่อาหาร การตกแต่งบ้าน ไปจนถึงเทคนิคการคบค้าสมาคม

‘ฮุกกะ’ จึงเป็นวัฒนธรรมสุดชิลล์จากเดนมาร์กที่มาแรงแซงทุกสิ่ง จากวันเป็นเดือน จากเดือนเป็นปี จากปีเป็นหลายปี และถึงขนาดถูกยกระดับให้เป็นหนึ่งในปัจจัยที่ช่วยให้ประเทศเดนมาร์กรวมถึงเพื่อนบ้าน พาเหรดกันครองแชมป์ ‘ชาติที่มีความสุขมากที่สุดในโลก’ ได้หลายสมัยติดต่อกัน

เนื้อหาคร่าวๆ ของ The Little Book of Hygge: The Danish Way to Live Well เป็นการบอกกล่าวแก่ผู้อ่านว่า ความสุขที่คนเดนมาร์กมีนั้น เขาทำกันอย่างไร มีมุมมองการใช้ชีวิตอย่างไรให้มีความสุข เพราะไม่ว่าสภาพอากาศจะย่ำแย่แค่ไหน ฝนจะตกหนัก หรือหิมะจะตกมากเสียจนไม่มีที่ว่างให้แสงแดด แต่ชาวเดนมาร์กยังเลือกใช้ชีวิตให้กลมกลืนไปกับสิ่งเหล่านั้นได้อย่างมีความสุข

รูปภาพในเล่มสวยงามมาก เพราะถ่ายจากสถานที่จริง ใครที่ต้องการมีความสุขแบบชาว ‘ฮุกกะ’ แล้วล่ะก็ ต้องไม่พลาดเล่มนี้ ซึ่งในบ้านเรา มีการแปล The Little Book of Hygge: The Danish Way to Live Well เป็นภาษาไทยหลายปีมาแล้ว ภายใต้ชื่อปก ‘ฮุกกะ: ปรัชญาความสุขฉบับเดนมาร์ก’ ถ่ายทอดสำนวนโดย ‘พลอยแสง เอกญาติ’ จัดทำโดยสำนักพิมพ์ Open World

ปัจจุบัน นอกจาก The Little Book of Hygge: The Danish Way to Live Well แล้ว ยังมีหนังสือเกี่ยวกับ ‘ฮุกกะ’ ที่น่าสนใจอีกหลายเล่มด้วยกัน ดังจะได้แนะนำกันแบบต่อเนื่องดังนี้

 

แนะนำ ‘คัมภีร์แห่งความสุข’

ส่งท้ายด้วยการแนะนำ ‘คัมภีร์แห่งความสุข’ ที่นอกจาก The Little Book of Hygge: The Danish Way to Live Well และ The Little Book of Lykke: Secrets of the World's Happiest People ผลงานการเขียนของ Meik Wiking แล้ว ‘คัมภีร์แห่งความสุข’ เล่มอื่น ๆ ยังประกอบไปด้วย

The Book of Hygge: The Danish Art of Contentment, Comfort, and Connection เขียนโดย Louisa Thomsen Brits เป็นหนังสือเกี่ยวกับ ‘ฮุกกะ’ อีกเล่มหนึ่งซึ่งมีความน่าสนใจ โดยนอกจากผู้อ่านจะได้ซึมซับรับความสมบูรณ์ของวัฒนธรรมการกินอยู่ แนวคิดต่าง ๆ และรูปแบบการใช้ชีวิตแบบพอเพียงของวัฒนธรรม ‘ฮุกกะ’ แล้ว หนังสือเล่มนี้ยังสามารถเป็นแนวทางในการใช้ชีวิตให้มีความสุขในสังคมต่าง ๆ ตามแบบ ‘เดนมาร์ก’ ซึ่งถือได้ว่าเป็นชาติที่ประชาชนใช้ชีวิตอย่างมีความสุขที่สุดในโลกได้อีกด้วย ด้วยภาพประกอบสุดชิค และแนวสุด ๆ ในเล่มคงจะสร้างความเพลิดเพลินไปกับการอ่านหนังสือเล่มนี้ได้อย่างมาก

เล่มต่อมาคือ How To Hygge: The Secrets of Nordic Living เขียนโดย Signe Johansen พูดถึงความลับของผู้คนใน ‘กลุ่มนอร์ดิก’ กับความลับของความสุขในการใช้ชีวิตแบบ ‘ฮุกกะ’ อาทิ การมีความสุขกับการทำอาหารกว่า 50 เมนูพร้อมภาพประกอบ หนังสือเล่มนี้บ่งบอกความสุขของการใช้ชีวิตแบบ Outdoor การดื่มด่ำความสุขกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่เป็นสุขนิยมในแบบฉบับของชาว ‘ฮุกกะ’

เล่มสุดท้ายคือ Scandikitchen: Fika and Hygge: Comforting Cakes and Bakes from Scandinavia with Love เขียนโดย Bronte Aurell เล่มนี้เน้น ‘ฮุกกะ’ ไปในสาย Fika หรือ ‘การดื่มด่ำกับกาแฟ’ ซึ่งว่ากันว่า ‘ชาวสวีเดน’ เป็นชาติที่ ‘ดื่มกาแฟมากที่สุด’ อันดับ 3 ของโลก

ดังนั้น ‘ชาวสวีเดน’ จึงมีธรรมเนียมในการนั่งกินกาแฟ หรือ Fika กันทุกเช้าและบ่าย ซึ่งวัฒนธรรม Fika จะไม่มีการทำงานมาเกี่ยวข้องด้วยโดยเด็ดขาด เหมือนเป็นการพักเบรค เรื่องเครียด ๆ ทั้งหมดชั่วคราว แล้วมาจิบกาแฟกับขนมดี ๆ กันอย่างดื่มด่ำ

หนังสือเล่มนี้ ยังหยิบเอาขนมรสชาติดี ๆ จากหลากหลายเมนูทั้งเค้ก Biscuits ขนมปัง และเนยต่าง ๆ ภาพประกอบที่สวยงามมาก ๆ พร้อมวิธีการทำขนมที่อธิบายไว้อย่างง่าย ๆ และชัดเจน ทำให้เราได้เรียนรู้วัฒนธรรม Fika พร้อมการทำขนมสไตล์ ‘ฮุกกะ’ กันอย่างเต็มเหนี่ยวเลยทีเดียว

 

เรื่อง: จักรกฤษณ์ สิริริน

ภาพ: Instagram/Meik Wiking