‘พระพยอม’ จากหนุ่มทำงานรับเหมา สู่พระนักเทศน์ผสมตลก ที่มาของวลี “โกรธคือโง่ โมโหคือบ้า”

‘พระพยอม’ จากหนุ่มทำงานรับเหมา สู่พระนักเทศน์ผสมตลก ที่มาของวลี “โกรธคือโง่ โมโหคือบ้า”

‘พระพยอม’ พระนักเทศน์ที่มีชื่อเสียงอันดับต้นในไทย เจ้าของวลีคุ้นหูว่า “โกรธคือโง่ โมโหคือบ้า” ก่อนจะมาเป็นพระนักเทศน์ ในวัยหนุ่มเคยทำงานเป็นผู้รับเหมาที่ประสบความสำเร็จระดับหนึ่ง

  • พระพยอม กัลยาโณ พระนักเทศน์ระดับประเทศ มีสไตล์การเทศน์ผสมความตลกทำให้คนหนุ่มสาวสนใจธรรมะมากขึ้น แต่ก็ยังถูกวิจารณ์จากสังคม และนักคิดในอดีต
  • พระพยอม สามารถสอบนักธรรมชั้นเอกได้โดยไม่ตกสักปี ซึ่งเป็นเรื่องที่ทำได้ยากมากในสมัยนั้น
  • ขณะที่เป็นพระซึ่งเป็นที่รู้จักในวงกว้างมาหลายปี ครั้งหนึ่งเคยตกเป็นข่าวเรื่อง โฉนดถุงกล้วยแขก

พระภิกษุสงฆ์ในประเทศไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน มีนักเทศน์สอนธรรมะเกิดขึ้นอย่างมากมาย ซึ่งการเทศน์ของพระภิกษุสงฆ์นั้น นับว่าเป็นหน้าที่อันสำคัญอย่างยิ่งเพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการเผยแผ่คำสอนในพระพุทธศาสนา ดังนั้น พระภิกษุจะเป็นนักเทศน์ที่ดีได้ต้องได้รับการศึกษาพระปริยัติธรรมมาเป็นอย่างดี อีกทั้งต้องมีความเข้าใจในข้ออรรถข้อธรรมและจะต้องประกอบคุณสมบัติ 5 ประการตามหลักที่พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้ใน ปัญจกนิบาต อังคุตตรนิกาย ว่า 1. แสดงธรรมไปโดยลำดับ 2. แสดงธรรมอ้างเหตุและผล 3. แสดงธรรมอาศัยความเอ็นดูคือแสดงธรรมไปด้วยความเมตตากรุณา 4. ไม่แสดงธรรมโดยอิงอามิสคือหวังค่าจ้างหรือสิ่งตอบแทน 5. ไม่แสดงธรรมในเชิงยกตนข่มผู้อื่น

แต่ในปัจจุบันนี้การที่จะเป็นนักเทศน์ที่มีคุณสมบัติครบถ้วนดังกล่าวอาจยังไม่เพียงพอที่จะเข้าถึงคนรุ่นใหม่ในแต่ละยุคแต่ละสมัยได้ เมื่อเป็นเช่นนั้น ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะมีภิกษุผู้เป็นนักเทศน์จะแสดงธรรมให้สามารถเข้าถึงทุกคนทุกวัยได้ เพราะต้องมีความช่ำชองในการสื่อสารธรรมอันเป็นสิ่งที่เข้าใจได้ยากมาให้เป็นสิ่งที่เข้าใจได้ง่าย ซึ่งคุณสมบัติเช่นนี้ไม่ได้มีในภิกษุทุกรูป ถึงในแต่ละยุคก็จะมีนักเทศน์ที่มีชื่อเสียงขึ้นมาก็มีไม่มาก ถึงมีขึ้นมาพอให้คนทั่วไปได้รู้จักบ้าง ไม่นานนักก็หายไปตามเหตุตามปัจจัย

แต่ก็ยังมีภิกษุรูปหนึ่งที่เป็นนักเทศน์ที่มีชื่อเสียงมาหลายทศวรรษเป็นที่รู้จักระดับประเทศ ผู้ออกสื่อบ่อยมากที่สุดคงหนีไม่พ้น พระราชธรรมนิเทศหรือที่คนส่วนใหญ่รู้จักกันในนามว่า พระพยอม กัลยาโณ แห่งวัดสวนแก้ว ผู้เป็นเจ้าของวลีติดหู “โกรธคือโง่ โมโหคือบ้า”

 

ภูมิหลัง

พระพยอม กัลยาโณ นามเดิม พยอม จั่นเพชร เกิดเมื่อวันที่  24 เมษายน พ.ศ. 2492 เป็นชาวอำเภอบางใหญ่ จังหวัดนนทบุรี จากการศึกษาอัตชีวประวัติก่อนบรรพชาอุปสมบทของท่าน ในช่วงวัยเด็กนั้นได้อยู่ในครอบครัวที่อบอุ่นและได้รับการปลูกฝังเรื่องความขยันและการประหยัดอดออมจากคุณแม่ของท่านอยู่เป็นประจำ

แต่คุณแม่ของท่านเสียชีวิตลงในช่วงวัยเด็ก เพราะล้มป่วยในเวลาใกล้คลอดบุตรคนที่ 11 จึงทำให้ท่านกำพร้าแม่ตั้งแต่วัยเยาว์ ต่อมาท่านได้เข้าศึกษาในระดับชัั้นประถมจนจบประถมที่ 4 ณ โรงเรียนวัดสังวรพิมลไพบูลย์ อันตั้งอยู่ไม่ไกลจากบ้านนัก

 

ครั้งแรกในการก้าวสู่ร่มผ้ากาสาวพัตร์

เมื่อท่านได้อายุ 12 ปีก็ได้บรรพชาเป็นสามเณรภาคฤดูร้อน ความตั้งใจแรกของท่านคือการบวชเพียง 7 วันเท่านั้น แต่ก็ไม่ได้ลาสิกขาตามกำหนด จึงได้ดำรงสมณเพศ ถึงเดือนกว่า ๆ จึงลาสิกขาออกมา แต่ก็ไม่ได้ศึกษาอะไรมากมายเพราะอยู่ช่วงใกล้วันเข้าพรรษา อีกทั้งท่านยังมีหน้าที่ทางโลกต้องทำ แต่ในขณะที่ท่านเป็นสามเณรท่านจะท่องอยู่เสมอว่า “อย่าให้ศีลขาด” ซึ่งเป็นสิ่งที่ท่านประทับใจมากที่สุดในการบวชเป็นสามเณรในครั้งนั้น

ช่วงชีวิตวัยรุ่น

หลังจากท่านลาสิกขาจากสามเณรออกมา ท่านเป็นกำลังหลักให้กับครอบครัว เพราะในขณะนั้นครอบครัวท่านรวมไปถึงพี่น้องของท่านประสบปัญหาทางด้านการเงิน จึงต้องขายที่อันเป็นมรดกของครอบครัวทิ้งเพื่อนำเงินมาแบ่งใช้จ่ายในส่วนที่จำเป็นต่อไป ส่วนตัวท่านนั้นพื้นฐานท่านเป็นคนขยันทำงานและประหยัดอดออมเหมือนกับคุณแม่ที่เคยทำให้ท่านเห็นตั้งแต่เด็ก ไม่นานท่านก็สามารถซื้อที่เป็นของตัวเองได้ 1 ไร่กว่า ๆ

ท่านมีความชื่นชอบในการก่อสร้างมาก แรกเริ่มท่านก็เป็นลูกจ้างทั่วไป แต่อาศัยครูพักลักจำจากหัวหน้าก่อสร้างจนสามารถผันตัวเองให้เป็นผู้รับเหมาก่อสร้างประสบความสำเร็จได้ในระดับหนึ่งขณะยังอยู่ในวัยหนุ่ม

 

เข้าสู่ร่มกาสาวพัตร์ครั้งที่ 2

เมื่อท่านอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ ก็ตัดสินใจบวชอีกครั้งโดยตั้งระยะเวลาไว้ 3 เดือนด้วยเหตุผล 2 ประการคือ 1. คุณพ่อเสียชีวิตช่วงนั้นพอดีจึงถือโอกาสการบวชครั้งนี้เป็นบวชอุทิศส่วนกุศลให้พ่อ 2. ได้ทำตามคำขอคุณแม่เมื่อครั้งยังมีชีวิตไว้ว่า เมื่ออายุครบ 20 ปีจะให้บวช 3 เดือน 

ในวันที่ 16 มิถุนายน 2513 ท่านอุปสมบทที่วัดสังวรพิมลไพบูลย์ โดยมีท่านพระครูนนทประภากร เจ้าคณะอำเภอบางใหญ่ เจ้าอาวาสวัดพิกุลเงิน เป็นพระอุปัชฌาย์ ตอนแรกท่านตั้งใจจะบวชเพียง 3 เดือนเท่านั้น แต่ต่อมา เปลี่ยนความตั้งใจใหม่โดยจะบวชให้ได้ครบพรรษา เพราะยังเป็นช่วงเวลาคาบเกี่ยวกันกับช่วงที่พระภิกษุต้องจำเข้าพรรษา 3 เดือนตามพุทธประเพณี

 

ช่วงแรกในการเป็นพระภิกษุ

ในขณะดำรงสมณเพศ ท่านได้เริ่มศึกษาพระประยัติธรรม แผนกธรรม ตั้งแต่พรรษาแรก จนสอบนักธรรมชั้นตรีได้ในปี พ.ศ. 2514 สอบนักธรรมชั้นโทได้ ในปี พ.ศ. 2515 และสอบนักธรรมชั้นเอกได้ ในปี พ.ศ. 2516  ซึ่งท่านบวชได้เพียง 3 พรรษาเท่านั้น ผลสอบที่ปรากฏทำให้เห็นว่า ท่านมีความขยันในการท่องอ่านหนังสือทั้งมีสติปัญญาที่ดีมาก จนสามารถสอบนักธรรมชั้นเอกได้ โดยไม่ตกสักปี ซึ่งเป็นเรื่องที่ทำได้ยากมากในสมัยนั้น

เหตุการณ์ที่น่าสนใจอย่างหนึ่ง คือช่วงเวลาที่ท่านศึกษาพระปริยัติธรรม ระหว่างปี พ.ศ. 2515 และ 2516 ท่านได้มีโอกาสไปปฏิบัติธรรมครั้งแรกที่สวนโมกขพลาราม จ.สุราษฎร์ธานี ของท่านพุทธทาสภิกขุ

ท่านมีความประทับใจในเรื่องสถานที่มากเพราะมีความสงบร่มรื่น อีกทั้งมีความชื่นชอบในคำสอนของท่านพุทธทาสเพราะอาศัยได้อ่านหนังสือที่ท่านพุทธทาสเขียนไว้ ในระยะเวลานั้นท่านจึงมีความตั้งใจว่าจะต้องศึกษาธรรมให้รู้ลึกซึ้งถึงที่สุดเพื่อที่จะเผยแผ่คำสอนของพระพุทธเจ้าให้เป็นที่ประจักษ์ยิ่งขึ้น นี่นับเป็นก้าวที่สำคัญที่ทำให้มีพระพยอม กัลยาโณ จนถึงทุกวันนี้ได้

 

ฝึกตน ณ โมกขพลาราม สู่การพัฒนาเป็นนักเทศน์ระดับประเทศ

เมื่อท่านบวชได้พรรษาที่ 4 ได้ไปจำพรรษาที่สวนโมกขพลารามของท่านพุทธทาส สมตามความปรารถนา ในระหว่างที่ท่านจำพรรษาในที่แห่งนั้น ก็ได้ปฏิบัติธรรมตามแนวทางท่านพุทธทาส และบางครั้งก็ได้มีโอกาสไปเทศน์ตามสถานที่ต่าง ๆ ด้วยความที่พระพยอมเป็นผู้ฉลาดในการแสดงธรรมอีกทั้งมีความกล้าวิจารณ์การกระทำหรือความคิดที่ผิด ๆ ที่เป็นจารีตประเพณีดั้งเดิม จุดเริ่มต้้นที่ทำให้ท่านเป็นพระนักเทศน์มีชื่อเสียงเพราะท่านได้มีโอกาสไปแสดงธรรมร่วมกับอุบาสกนามว่า คุณวิโรจน์ ศิริอัฐ ที่โคราช นครราชสีมา ซึ่งเป็นที่มาของเทปบันทึกธรรมครั้งแรกที่ใช้ชื่อว่า ‘ชุดธรรมสัจจะ’ ซึ่งพระพยอมท่านบรรยายรูปเดียวถึง 6 ชั่วโมง ซึ่งการเทศน์ครั้งนั้นนับว่าเป็นการเปิดตัวเป็นที่รู้จักในนามว่า พระพยอม กัลยาโณ อย่างสมบูรณ์แบบ

ด้วยวิธีการเทศน์ของท่านเน้นไปทางตลกบันเทิง ไม่ว่าจะด้วยน้ำเสียงที่เป็นเอกลักษณ์ของท่านที่ผ่านการเล่าเรื่องได้อย่างถูกจังหวะและใช้คำทันสมัยในยุคนั้น จนทำให้ธรรมที่ท่านเทศน์ได้เข้าถึงใจวัยรุ่นในสมัยนั้นเป็นอันมาก ท่านได้รับคำแนะนำจากท่านพุทธทาสในการเทศน์ ซึ่งแม้วิธีการเทศน์จะเป็นแนวตลก ท่านพุทธทาสเองก็ไม่ได้ขัดขวางอะไร

ถึงกระทั่งนักข่าวไปสัมภาษณ์ (เชิงฟ้อง) ท่านพุทธทาสว่า Wพระพยอมเทศน์ตลกโปกฮาสนุกสนาน” ท่านพุทธทาสก็ถามนักข่าวกลับไปว่า “เด็กวัยรุ่นฟังแล้วได้ประโยชน์ไหม” นักข่าวตอบกลับว่า “น่าจะมีประโยชน์”

จะเห็นได้ว่าท่านพุทธทาสไม่ได้ห้ามอะไร ทั้งยังเป็นนัยว่าเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์มากกว่าจะเป็นโทษ แต่พระพยอมท่านก็ไม่พ้นจากคำวิจารณ์ ช่วงหนึ่งท่านก็เคยปะทะคารมกับหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช หลังจากถูกวิจารณ์วิธีการเทศน์ตลกบันเทิงมากเกินไป อย่างไรก็ตาม พระพยอมก็เป็นที่ยอมรับของหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ที่เห็นว่า พระพยอมสามารถทำให้วัยรุ่นสนใจธรรมะมากขึ้น

 

จากโมกขพลารามสู่การพัฒนาวัดสวนแก้ว

ในปี พ.ศ. 2521 พระพยอมและเพื่อนพระภิกษุอีก 2 รูป เดินทางมากราบหลวงพ่อเทียน ที่วัดสวนแก้ว (เดิมชื่อวัดแก้ว ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นวัดสวนแก้ว) เพื่อขอทำโครงการ บวชเณรภาคฤดูร้อน เมื่อเสร็จแล้วก็จะลากลับสวนโมกข์ เมื่อหลวงพ่อเทียนได้อนุญาตให้พำนักแล้ว ยังได้ช่วยสนับสนุนงานบวชเณรภาคฤดูร้อนด้วยโดยช่วยเป็นพระพี่เลี้ยงให้

และในปี พ.ศ. 2522 หลวงพ่อเทียนได้มอบหมายให้พระพยอมและเพื่อนภิกษุเป็นผู้ดูแลรักษาวัดต่อไป ส่วนตัวหลวงพ่อเทียน กลับจังหวัดเลย ที่วัดนี้ พระพยอมได้พัฒนาพื้นที่ของวัดและเตรียมจำลองสวนโมกขพลารามให้เกิดขึ้นในเมือง ตามคำที่ท่านพุทธทาสเคยปรารภเมื่อคราวที่ยังศึกษาธรรมอยู่ที่สวนโมกขพลาราม ท่านได้ทุ่มเทชีวิตใจเพื่อการบูรณะวัดอย่างเต็มที่และได้นำทรัพย์ส่วนตัวมาพัฒนาวัดแก้ว ภายหลังได้เปลี่ยนชื่อเป็นวัด สวนแก้ว เมื่อพัฒนาวัดจนเหมาะสมกับสภาพสิ่งแวดล้อมของวัดแล้วจึงมุ่งเผยแพร่พุทธศาสนา ต่อมาท่านได้ร่วมกับกรรมการวัด จัดตั้งมูลนิธิสวนแก้วขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์หลัก 3 ประการ คือ

  • เพื่อเผยแผ่ศีลธรรมในศาสนา
  • เพื่อสนับสนุนให้กำลังใจแก่ผู้กระทำความดี
  • เพื่อส่งเสริมสนับสนุนให้คนดีมีสัมมาชีพ

ในปี พ.ศ. 2548 ‘มูลนิธิสวนแก้ว’ ได้ถูกรับรองเป็น ‘องค์กรสาธารณประโยชน์’ (ทะเบียนเลขที่ 0163) ตามความในมาตรา 34 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคม พ.ศ. 2546 เมื่อวันที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2548 ภายใต้ของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคมแห่งชาติ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยมีวัตถุประสงค์หลัก 6 ประการ คือ

  1. เพื่อเผยแผ่พระพุทธศาสนา
  2. เพื่อส่งเสริมศีลธรรมจรรยาอันดี
  3. เพื่ออนุรักษ์และส่งเสริมวัฒนธรรมและประเพณีไทย
  4. เพื่อร่วมมือกับองค์การการกุศลอื่น ๆ เพื่อสาธารณประโยชน์
  5. ไม่ดำเนินการเกี่ยวข้องกับการเมืองแต่อย่างใด
  6. จัดการศึกษาและส่งเสริมการศึกษา

วัดสวนแก้วถึงแม้จะเป็นวัดที่ทำสาธารณกุศลให้แก่ประชาชนจำนวนมาก แต่ก็มีอุปสรรคในการพัฒนาวัดครั้งรุนแรงที่สุดอยู่ช่วงหนึ่ง ย้อนกลับไปในระหว่าง เดือนเมษายน - พฤษภาคม 2550 ได้เกิดกรณีพิพาทเรื่องที่ดินของมูลนิธิวัดสวนแก้ว ระหว่างพระพยอม กัลยาโณ และนางวันทนา เรื่องที่ดินของมูลนิธิวัดสวนแก้ว สืบเนื่องจากนิติกรรมซึ่งขายที่ดินของมูลนิธิและนางวันทนาตกเป็นโมฆะ เมื่อศาลสั่งเพิกถอนการครอบครองปรปักษ์ จึงทำให้พระพยอมเรียกโฉนดแปลงนั้นว่า ‘โฉนดถุงกล้วยแขก’ ซึ่งช่วงนั้นเป็นข่าวที่แพร่หลาย เพราะพระพยอมได้พิมพ์โฉนดที่ดินนั้นแล้วนำมาพับเป็นถึงกล้วยแขกซึ่งทำให้สั่นสะเทือนวงการคณะสงฆ์พอสมควร

อ่านเพิ่มเติมเรื่อง พระพยอม กลฺยาโณ พระนักพัฒนา ครีเอทีฟทางธรรม และวิบากกรรมโฉนดถุงกล้วยแขก

 

คำสอนที่น่าสนใจในการปรับใช้ในชีวิตประจำวัน

ถึงแม้คำสอนท่านจะดูสั้น ๆ แต่ที่ออกมาแต่ละคำมักจะกินใจผู้ที่ได้ฟังอยู่เสมอ เช่นคำว่า “โกรธคือโง่ โมโหคือบ้า ไม่โกรธดีกว่า ไม่บ้าไม่โง่” เป็นต้น แต่หลักธรรมที่ท่านเน้นมากที่สุดก็คืออริยสัจ 4 ตามแนวทางของพระพุทธเจ้าพอสมควร ดังที่ท่านเคยกล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า “ต้องพิจารณาว่า อะไรเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ ทุกข์เพราะความอยาก อยากยึดสิ่งที่ต้องการไว้เป็นของเรา” ต้องตั้งใจไว้เลยว่า จะไม่ยึดเป็นของเรา ไม่อยากเป็นของเรา ถ้าอยากให้เป็นของเรา ยึดเป็นของเรา ก็จะทุกข์มาก เมื่อได้มาและคิดว่ามันน่าจะเป็นของเรา เราก็ควรนำไปสงเคราะห์ช่วยเหลือเด็กและคนยากไร้

อีกตัวอย่างหนึ่งที่กระทำกันบ่อย ๆ ที่วัดสวนแก้วนี้ก็คือ เมื่อมีโครงการทอดผ้าป่าที่วัด ปัจจัยที่ได้จากการทอดผ้าป่า จะนำไปสงเคราะห์วัดอื่นที่ขาดแคลนเงินุทนสำหรับดำเนินโครงการต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมส่วนรวม นอกจากนั้น ยังให้การสนับสนุนกลุ่มต่าง ๆ ที่มุ่งจะทำประโยชน์เพื่อส่วนรวม ให้มาจัดกิจกรรมที่วัด ควรทำลายความอยากที่ว่า “นั่นเป็นของเรา ให้มันเป็นของเรา ใครจะมาทำกิจกรรมอะไรก็ตาม ผลประโยชน์ที่ได้ต้องเป็นของเรา ไปเสีย..!” จะเห็นได้ว่าคำสอนของท่านสะท้อนถึงการนำหลักอริยสัจ 4 มาปรับใช้ในการงาน โดยการยกตัวอย่างจากท่านที่ท่านนำเอาหลักอริยสัจ 4 มาประกอบการทำงานที่วัดสวนแก้วเพื่อประโยชน์ต่อสังคมส่วนรวม

จากข้อมูลดังกล่าวมานี้ ทำให้เห็นว่า พระพยอม กัลยาโณ เป็นพระภิกษุผู้ทำคุณประโยชน์มากมายให้แก่สังคม ทำวัดสวนแก้วให้เป็นสถานที่พัฒนาบุคคลให้มีศีลธรรมบ่มเพาะจริยธรรม อีกทั้งได้ให้อาชีพแก่ผู้ไร้โอกาส ทั้งสนับสนุนส่งเสริมการศึกษาแก่ผู้ด้อยการศึกษาอีกมากมาย จึงทำให้ท่านได้รับปริญญามหาบัณฑิตและดุษฏีบัณฑิตกิตติมศักดิ์  สาขาวิชาต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ 

  • พ.ศ. 2537 ปริญญามหาบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (สาขาพุทธศาสน์) จากสภามหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยพ.ศ. 2537 ปริญญามหาบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (สาขาพัฒนาสังคม) จากสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)
  • พ.ศ. 2541 ศึกษาศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (สาขาศึกษาศาสตร์เพื่อพัฒนาชุมชน) จากสภามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ พ.ศ. 2541 นิเทศศาสตร์ดุษฏีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จากมหาวิทยาลัยวงษ์ชวลิตกุล
  • พ.ศ. 2546 ปริญญาพุทธศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (สาขาธรรมนิเทศ) จากสภามหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย 

ทั้งยังได้รับพระราชทานสมศักดิ์ ดังนี้

  • พ.ศ.2538 ได้พระราชทานสมณศักดิ์เป็น พระพิศาลธรรมพาที
  • พ.ศ.2547 ได้พระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็น พระราชธรรมนิเทศ

และยังมีผลงานและรางวัลที่สำคัญอีกมากมาย อาทิ

  • เสาเสมาธรรมจักร ผู้ทําคุณประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนา ประจำปี พ.ศ. 2542
  • โล่เกียรติยศผู้มีส่วนร่วมถวายความจงรักภักดีในการจัดงาน 5 ธันวา มหาราช และงาน 12 สิงหาบรมราชินีนาถ จากทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ปี พ.ศ. 2546

 

ภาพ: แฟ้มภาพ NATION PHOTO

อ้างอิง:

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์

มูลนิธิสวนแก้ว

วรรณพร นกใหญ่. บทบาทของพระสงฆ์ในการเป็นผู้ประกอบการสังคม กรณีศึกษา วัดสวนแก้ว จังหวัดนนทบุรี. วิทยานิพนธ์ บริหารธุรกิจมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยศิลปากร. 2555.

ปุณญนุช อธิภัทท์ภาคิน. การสื่อสารทางการเมืองของพระราชธรรมนิเทศ (พระพยอม กัลยาโณ) : ศึกษาในห้วงวิกฤติทางการเมืองปี พ.ศ. 2548-2558. ดุษฎีนิพนธ์ ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต (สื่อสารการเมือง) วิทยาลัยสื่อสารการเมือง มหาวิทยาลัยเกริก. กรุงเทพมหานคร. 2561.