16 ก.ย. 2566 | 17:22 น.
- ในหนังสือชีวประวัติของพอลที่ชื่อว่า ‘Many Years From Now’ เขาเผยถึงเหตุการณ์น่ามหัศจรรย์นี้ว่า “ผมตื่นขึ้นมาพร้อมทำนองสุดไพเราะเพราะพริ้งในหัว”
- เมื่อได้ทำนองเพลงแล้ว พอลก็ใส่คำพูดที่ไม่มีความหมาย และคำพูดที่เกี่ยวกับอาหารเช้า ลงไปก่อน เพื่อป้องกันไม่ให้ตัวเองลืมทำนอง
‘Yesterday’ เพลงบัลลาดสุดคลาสสิกของวง ‘The Beatles’ ที่มีท่วงทำนองชวนฝันและอ่อนโยน พร้อมเนื้อเพลงที่ให้ความรู้สึกราวกับดึงออกมาจากจิตใต้สำนึกส่วนลึกที่สุดของผู้ชาย เกิดขึ้นในระหว่างที่ ‘พอล แม็กคาร์ตนีย์’ กำลังหลับไหลในห้องใต้หลังคาของอพาร์ตเมนต์ที่เขาอาศัยอยู่กับแฟนสาวในเวลานั้น ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจในทางดนตรีให้แก่เขาตลอดหลายปี
ในหนังสือชีวประวัติของพอลที่ชื่อว่า ‘Many Years From Now’ ซึ่งตีพิมพ์ในปี 1998 เขาเผยถึงเหตุการณ์น่ามหัศจรรย์นี้ว่า “ผมตื่นขึ้นมาพร้อมทำนองสุดไพเราะเพราะพริ้งในหัว ผมคิดว่า มันยอดไปเลย อยากรู้จังว่าทำนองเพลงนี้มาได้ยังไง บังเอิญมีเปียโนตั้งอยู่ทางขวาของเตียงพอดี ผมจึงลุกจากเตียงไปนั่งที่เปียโน กดคอร์ดจี กดเอฟชาร์ปไมเนอร์เซเวนธ์ ซึ่งนำให้บรรเลงต่อไปที่บีและอีไมเนอร์ ก่อนจะกลับมาที่อี ทุกอย่างชี้นำไปข้างหน้าอย่างมีเหตุผล ผมชอบทำนองเพลงนี้มาก แต่เพราะผมฝันเห็นมัน จึงไม่อยากเชื่อว่าผมเขียนมันขึ้นมา”
เพลงที่ถือกำเนิดขึ้นมาด้วยเรื่องราวน่ามหัศจรรย์นี้ ได้ไต่ขึ้นสู่อันดับต้น ๆ ของชาร์ต Billboard Hot 100 ของสหรัฐอเมริกา ในเดือนกันยายน 1965
‘เจน แอชเชอร์’ อดีตคนรักของพอล เข้ามาในชีวิตเขาในช่วงหนึ่งปีก่อนที่เขาจะเขียนเพลงอกหักสุดอมตะอย่าง Yesterday ในปี 1964 โดยเขาได้พบกับเธอหลังเวที ก่อนเริ่มแสดงคอนเสิร์ตที่รอยัล อัลเบิร์ต ฮอลล์ ในกรุงลอนดอน
หลังจาก The Beatles เล่นคอนเสิร์ตเสร็จ เจนซึ่งขณะนั้นอายุเพียง 17 ปี ได้ติดสอยห้อยตามไปกับคณะผู้ติดตามวง ทำให้เธอได้สังสรรค์อยู่กับพอลทั้งคืนในห้องนอนของเพื่อนพอล ขณะที่เช้าวันต่อมาทั้งคู่ก็พูดคุยกันถึงอาหารโปรด และสบตากันเป็นระยะ
“ผมพยายามทำให้เธอมาเป็นผู้หญิงของผม แต่ผมไม่ได้พยายามจะแตะต้องหรือบังคับเธอ ผมบอกเธอว่า ดูเหมือนคุณจะเป็นเด็กดี” พอลให้สัมภาษณ์กับนักข่าว
เมื่อปรากฎการณ์ ‘Beatlemania’ หรืออาการคลั่งไคล้สี่หนุ่ม The Beatles เริ่มลุกลาม จนไม่มีโรงแรมใดปลอดจากบรรดาแฟน ๆ พอลจึงย้ายไปอยู่กับครอบครัวของเจนที่ทาวน์เฮาส์ของพวกเขาที่ถนนวิมโพล ในกรุงลอนดอน โดยพักอยู่ที่ห้องใต้หลังคาของแฟลต 6 ชั้น พร้อมกับเปียโนที่แทบจะกินพื้นที่ทั้งห้อง
เมื่อได้ทำนองเพลงแล้ว พอลก็ใส่คำพูดที่ไม่มีความหมาย และคำพูดที่เกี่ยวกับอาหารเช้า ลงไปก่อน เพื่อป้องกันไม่ให้ตัวเองลืมทำนอง หลังจากนั้นก็นำเพลงนี้ไปเล่นให้เพื่อนร่วมวงฟัง เพื่อให้แน่ใจว่าไม่ได้ขโมยทำนองเพลงคนอื่นมาโดยไม่ตั้งใจ และโชคดีว่ามันไม่ได้เป็นทำนองของเพลงใดมาก่อน
พอลพยายามเขียนทำนองเพลงนี้ต่อให้จบ ถึงขั้นที่ว่าเขาเล่นเปียโนเพลงนี้บ่อยมาก โดยเฉพาะในฉากภาพยนตร์เรื่อง ‘Help!’ ซึ่งกำกับโดย ‘ริชาร์ด เลสเตอร์’ จนทางริชาร์ดถึงกับขู่เขาว่า จะโยนเปียโนออกจากฉาก ถ้าพอลยังแต่เพลงนี้ไม่จบสักที
จอห์นพยายามเข้ามาช่วยเหลือพอลเพื่อทำเพลงต่อให้เสร็จ แต่พอลก็ยื่นข้อตกลงให้จอห์นเข้ามาก้าวก่ายได้เฉพาะชื่อเพลงเท่านั้น เพลงที่เกิดจากความฝันนี้จึงกลายเป็นเพลงที่มีชื่อเพียงคำ ๆ เดียว ตามคำแนะนำของจอห์น
ผ่านไปนานหลายเดือน เนื้อเพลงก็เกิดขึ้นในสถานที่ที่ใครก็คาดไม่ถึง นั่นคือตอนที่พอลขับรถไปตามเนินเขาอันคดเคี้ยวของประเทศโปรตุเกส ระหว่างที่เขาไปเที่ยวพักผ่อนกับเจน
“มันเป็นการขับรถที่เต็มไปด้วยฝุ่นและอากาศร้อน เจนนอนหลับปุ๋ย แต่ผมหลับไม่ได้ ผมเลยเอาแต่ครุ่นคิดถึงเพลง Yesterday แล้วทันใดนั้นเนื้อเพลงท่อนเล็ก ๆ ก็เกิดขึ้น”
เมื่อไปถึงที่พักพอลก็รีบหากีตาร์มาแต่งเพลงต่อ ผ่านไป 2 สัปดาห์ เนื้อเพลง Yesterday จึงเสร็จสมบูรณ์
แม้จอห์นจะเคยจิกกัดพอลผ่านบทเพลงที่แสบที่สุดคือ ‘How Do You Sleep?’ ด้วยเนื้อเพลงที่ว่า “The only thing you done was yesterday / And since you've gone you're just another day” แต่นักวิจารณ์ นักดนตรี และแฟน ๆ รุ่นต่อรุ่นต่างเห็นพ้องต้องกันว่าเพลง Yesterday นั้นยอดเยี่ยม ถึงขั้นที่ Rolling Stone และ MTV ต่างจัดอันดับให้เป็นเพลงป๊อปยอดนิยมแห่งศตวรรษที่ 20 และยังครองสถิติเป็นเพลงที่มีการคัฟเวอร์มากที่สุดในประวัติศาสตร์ ด้วยจำนวนมากกว่า 3,000 เวอร์ชัน และยังมีเพิ่มขึ้นอีกเรื่อย ๆ
แต่ไม่ใช่พอลเท่านั้นที่บังเกิดความสร้างสรรค์ และสามารถต่อจิ๊กซอว์จนนำมาสู่สิ่งใหม่ ระหว่างนอนหลับ
‘แมทธิว วอล์กเกอร์’ ผู้เขียนหนังสือ ‘Why We Sleep นอนเปลี่ยนชีวิต’ ระบุถึงความคิดสร้างสรรค์จากความฝันว่า ระหว่างอยู่ในภาวะหลับฝัน สมองของคุณจะใคร่ครวญความรู้ขนานใหญ่ที่ได้รับ จากนั้นจึงสกัดหลักเกณฑ์และลักษณะร่วมที่ครอบคลุมอย่างครบถ้วน ซึ่งก็คือ ‘สาระสำคัญ’ ออกมา ทำให้เราตื่นนอนมาพร้อมกับ ‘เครือข่ายจิตใจ’ ฉบับปรับปรุงใหม่ที่สามารถหาทางออกให้กับปัญหาที่ก่อนหน้านั้นแก้ไม่ตก
เขายังได้ยกตัวอย่างกรณีต้นกำเนิดตารางธาตุ ของ ‘ดมีทรี เมนเดเลเยฟ’ นักเคมีชาวรัสเซีย ที่รู้สึกว่าอาจมีตรรกะเชิงโครงสร้างเกี่ยวกับธาตุที่เรารู้จักในเอกภพ จึงทำไพ่ขึ้นมาสำรับหนึ่ง โดยไพ่แต่ละใบแทนธาตุในเอกภพหนึ่งชนิด พร้อมด้วยสมบัติทางเคมีและทางกายภาพอันเป็นเอกลักษณ์ของมัน
เขาจะนั่งในที่ทำงาน ที่บ้าน หรือระหว่างโดยสารรถไฟระยะไกล พร้อมกับจั่วไพ่จากสำรับที่สับไว้ออกมาวางบนโต๊ะอย่างบ้าคลั่งทีละใบ เพื่อพยายามสรุปหลักการของหลักทั้งปวงที่จะอธิบายว่าภาพต่อปริศนาสากลนี้ประกอบเข้าด้วยกันได้อย่างไร
เขาเฝ้าขบคิดเรื่องปริศนาแห่งธรรมชาตินี้นานหลายปี แต่ก็ไม่เคยสำเร็จ กระทั่งอดนอนสามวันสามคืน เขาหงุดหงิดจนแทบหมดความอดทน เมนเดเลเยฟจึงยอมจำนนแล้วล้มตัวลงนอนด้วยความอ่อนล้า ปรากฏว่าระหว่างนอนหลับเขาก็ฝัน และสมองในห้วงความฝันก็ทำสิ่งที่สมองยามตื่นทำไม่ได้ ความฝันเข้าควบคุมองค์ประกอบต่าง ๆ ที่หมุนคว้างอยู่ในห้วงความคิดของเขา และในชั่วขณะแห่งอัจฉริยภาพสร้างสรรค์ สมองก็คว้าองค์ประกอบเหล่านั้นมาจัดเรียงเข้าด้วยกันในตารางมหัศจรรย์
แต่ละแถวและคอลัมน์ต่างเรียงลำดับตามตรรกะ โดยอ้างอิงจากเลขอะตอมและจำนวนอิเล็กตรอนที่โคจรอยู่รอบ ๆ นิวเคลียสตามลำดับ ดังคำกล่าวของเมนเดเลเยฟที่ว่า
“ในฝัน ผมเห็นตารางธาตุทั้งหมดเข้าที่เข้าทางอย่างที่ควรจะเป็น พอผมตื่นก็รีบจดลงแผ่นกระดาษทันที มีเพียงตำแหน่งเดียวที่ดูเหมือนจำเป็นต้องแก้ไขในภายหลัง”
แต่เรื่องที่ยกขึ้นมาลอย ๆ ไม่ว่าจะของพอลหรือดมีทรี อาจถูกแย้งว่าเป็นความบังเอิญ แมทธิวจึงได้ทำการทดลองโดยให้ผู้เข้าร่วมการทดลองทดสอบปริศนาคำและอักษร แล้วให้พวกเขาเข้านอนจนถึงระยะหลับฝันในช่วง REM (Rapid eye movement) จึงปลุกพวกเขาขึ้นมา ปรากฏว่าผู้ที่หลับแบบ REM จะตอบคำถามได้มากกว่าตอนตื่นจากการหลับแบบ NREM (Non-Rem Sleep) หรือขณะตื่นอยู่ในตอนกลางวันราว 15 – 35%
การทดลองได้เผยให้เห็นว่า หลักการทำงานของสมองที่กำลังฝันแตกต่างจากสมองขณะหลับแบบ NREM และขณะตื่นเต็มที่มากมายเพียงใด เมื่อเราเข้าสู่ภาวะหลับแบบ REM และความฝันเข้ามาครอบงำ ศิลปะการผสมผสานความจำอันเปี่ยมแรงบันดาลใจก็เกิดขึ้น เราจะไม่ถูกจำกัดให้เห็นเพียงแค่ความเชื่อมโยงตามแบบฉบับที่ปรากฏชัดตำตาและสุดแสนธรรมดาสามัญระหว่างหน่วยความจำอีกต่อไป ตรงกันข้าม สมองมีแนวโน้มจะมองหาความเชื่อมโยงที่หลบเร้นและห่างไกลที่สุดระหว่างชุดข้อมูลต่าง ๆ อย่างกระตือรือร้น
นี่จึงอาจเป็นคำอธิบายที่สมเหตุสมผลของที่มาเพลงอมตะอย่าง Yesterday ของ ‘พอล แม็กคาร์ตนีย์’ และตารางธาตุอันเป็นการนำองค์ประกอบพื้นฐานทั้งหมดในธรรมชาติที่เรารู้มาจัดเรียงให้เป็นระเบียบได้อย่างยอดเยี่ยม
รู้อย่างนี้แล้ว คืนนี้รีบนอนกันเถอะค่ะ
ภาพ : Getty Images
อ้างอิง :
แมทธิว วอล์คเกอร์, Why We Sleep : นอนเปลี่ยนชีวิต, แปลโดย ลลิตา ผลผลา, (กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์ bookscape, 2563)
พอล แม็กคาร์ตนีย์: ความฝันที่แปรเปลี่ยนเป็นบทเพลงฮิตตลอดกาล - Yesterday : The People