10 ต.ค. 2566 | 10:18 น.
- เอมิลี ฮาร์ดิง’ อดีตนักวิเคราะห์ของ CIA ตะวันออกกลาง แสดงความเห็นว่า การโจมตีของกลุ่มฮามาสต้องมีการวางแผนมานานหลายเดือนแล้ว นั่นจึงเป็นเรื่องน่าประหลาดใจอย่างยิ่งเมื่อมองในมุมที่ว่าหน่วยข่าวกรองของอิสราเอลมีความสามารถมากเพียงใด
- เรื่องราวของมอสซาดมีเพียงไม่กี่เรื่องเท่านั้นที่ปรากฏเป็นที่ประจักษ์ และบ่อยครั้งจะเผยออกมาเมื่อเรื่องผ่านพ้นไปแล้วหลายปี และที่บ่อยกว่านั้น การดำเนินการของมอสซาดจะถูกเปิดเผยต่อเมื่อมี ‘ความผิดพลาด’ เกิดขึ้น
ประชาชนในอิสราเอลตื่นขึ้นมาด้วยความสั่นสะท้านจากเสียงไซเรนที่ดังไปทั่วหลายเมือง ในช่วงเช้าเข้าสู่วันที่ 7 ตุลาคม 2023 เมื่อกลุ่มติดอาวุธ ‘ฮามาส’ จากฝั่งปาเลสไตน์ เปิดฉากโจมตีด้วยจรวดหลายพันลูกจากฉนวนกาซา พร้อมส่งนักรบเข้าแทรกซึมไปตามเมืองต่าง ๆ ของอิสราเอล ไม่เว้นแม้แต่ในสถานที่จัดเทศกาลดนตรีกลางแจ้ง เพื่อเข่นฆ่าประชาชนและจับพวกเขาเป็นตัวประกัน
ถือเป็นการโจมตีครั้งเลวร้ายสุดในดินแดนอิสราเอล นับตั้งแต่ ‘สงครามยมคิปปูร์’ (Yom Kippur) เมื่อปี 1973 แม้จะมีความพยายามร่วมกันของ ‘ชินเบต’ (Shin Bet) และ ‘มอสซาด’ (Mossad) ซึ่งเป็นหน่วยข่าวกรองและความมั่นคงของอิสราเอล ที่มีชื่อเสียงเลื่องลือทั้งสองแห่ง
การโจมตีและความสูญเสียนี้ได้สร้างความเสียหายครั้งใหญ่ ไม่เฉพาะชีวิตของประชาชนผู้บริสุทธิ์ แต่ยังรวมถึง ‘ความน่าเชื่อถือ’ ของมอสซาด ซึ่งสร้างชื่อจากการปฏิบัติภารกิจมาแล้วมากมายทั้งในอิสราเอลและทั่วโลก
‘เอมิลี ฮาร์ดิง’ อดีตนักวิเคราะห์ของ CIA ตะวันออกกลาง แสดงความเห็นว่า การโจมตีของกลุ่มฮามาสต้องมีการวางแผนมานานหลายเดือนแล้ว นั่นจึงเป็นเรื่องน่าประหลาดใจอย่างยิ่งเมื่อมองในมุมที่ว่าหน่วยข่าวกรองของอิสราเอลมีความสามารถมากเพียงใด
“น่าประหลาดใจที่อิสราเอลไม่ล่วงรู้ถึงแผนการของกลุ่มฮามาส และคงต้องใช้เวลานานหลายเดือนในการสืบสวนเพื่อปะติดปะต่อสิ่งที่กองกำลังป้องกันของอิสราเอล (IDF) และมอสซาดรู้ และพวกเขารู้เมื่อใด”
บทความนี้ The People ชวนทุกคนทำความรู้จัก ‘มอสซาด’ (Mossad) หน่วยสืบราชการลับสุดยอดของอิสราเอล ที่ขึ้นชื่อว่าเป็นหนึ่งในหน่วยสายลับที่ดีที่สุดของโลก
‘มอสซาด’ (Mossad) หนึ่งในหน่วยสายลับที่ดีที่สุดของโลก
‘มอสซาด’ (Mossad) เป็นภาษาฮีบรู แปลว่า ‘สถาบัน’ ชื่อเต็มของหน่วยงานแห่งนี้คือ ‘Mossad Merkazi Le Modiin Uletafkidim Meyuhadim’ แปลว่า ‘สถาบันกลางสำหรับข่าวกรองและปฏิบัติการพิเศษ’
หน่วยงานแห่งนี้มีหน้าที่รับผิดชอบในการรวบรวมข่าวกรอง ปฏิบัติการลับ และต่อต้านการก่อการร้าย โดยได้รับงบประมาณประจำปีสูงถึง 3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณแสนล้านบาท) คาดว่ามีเจ้าหน้าที่ในสังกัดประมาณ 7,000 คน
มอสซาดก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 1949 ในยุคของ ‘เดวิด เบนกูเรียน’ นายกรัฐมนตรีคนแรกของอิสราเอล ที่กำลังต้องการหน่วยงานกลางช่วยประสานงานและปรับปรุงความร่วมมือระหว่างหน่วยงานความมั่นคงที่มีอยู่ ได้แก่ หน่วยข่าวกรองทหาร (AMAN), สำนักงานความมั่นคงแห่งชาติ (ชินเบต) และคณะกรมการเมือง (Political Bureau)
เบนกูเรียนกล่าวถึงเป้าหมายของมอสซาดในเวลานั้นว่า “สำหรับประเทศของเรา ซึ่งตั้งแต่ก่อตั้งมาก็ถูกศัตรูล้อมโจมตีมาโดยตลอด หน่วยสืบราชการลับถือเป็นแนวป้องกันด่านแรก เพราะเราต้องเรียนรู้ให้ดีว่า จะรับรู้ถึงสิ่งที่เกิดขึ้นรอบตัวเราได้อย่างไร”
เบนกูเรียนได้แต่งตั้งที่ปรึกษาหน่วยปฏิบัติการพิเศษกระทรวงการต่างประเทศชื่อ ‘รูเวน ชิโลอาห์’ ให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการมอสซาดเป็นคนแรก เพราะชิโลอาห์คนนี้นี่เองที่เป็นผู้เสนอแนวคิดการก่อตั้งมอสซาดกับนายกฯ เบนกูเรียน
ในเดือนมีนาคม 1951 มีการปรับโครงสร้างมอสซาดใหม่ โดยให้ไปรวมอยู่ในสำนักนายกรัฐมนตรี และให้ขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรีอิสราเอลแต่เพียงผู้เดียว
ภายในมอสซาดจะถูกแบ่งเป็นฝ่ายต่าง ๆ เช่น ฝ่ายติดตาม ฝ่ายปฏิบัติการทางการเมืองและประสานงาน ฝ่ายปฏิบัติการพิเศษ ฝ่ายสงครามจิตวิทยา ฝ่ายวิจัยจัดทำข่าวกรอง ฝ่ายเทคโนโลยี ฯลฯ แต่รายละเอียดส่วนใหญ่จะถูกปิดเป็นความลับ เพื่อความปลอดภัยและความสะดวกในการดำเนินการของเครือข่ายผู้ให้ข้อมูล และสายลับที่แทรกซึมภายในขบวนการและประเทศต่าง ๆ โดยแต่ละฝ่ายของมอสซาดจะรับคำสั่งจาก ‘ผู้อำนวยการ’ ที่ยิ่งใหญ่เทียบเท่า ‘พลตรี’ ใน IDF
ตัวตนของผู้อำนวยการมอสซาดนั้นเป็นความลับของรัฐมาโดยตลอด หรืออย่างน้อยก็ไม่ได้รับการเผยแพร่อย่างกว้างขวาง กระทั่งเดือนมีนาคม 1996 รัฐบาลอิสราเอลได้ประกาศแต่งตั้ง ‘พลตรี แดนนี ยาทอม’ ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการมอสซาด แทน ‘ชับไต ชาวิต’ ซึ่งลาออกเมื่อต้นปี 1996
ปัจจุบัน ตำแหน่งผู้อำนวยการมอสซาดตกเป็นของ ‘เดวิด บาร์เนีย’ ซึ่งรับไม้ต่อจาก ‘ยอสซี โคเฮน’ เมื่อเดือนมิถุนายน 2021
ตำแหน่งผู้อำนวยการมอสซาดได้รับเลือกผ่านกระบวนการที่เป็นความลับขั้นสูง จากคณะกรรมการที่มาจากสำนักนายกรัฐมนตรีอิสราเอล หน่วยงานและคณะกรรมการที่ปรึกษาข้าราชการพลเรือน ซึ่งทำหน้าที่ตรวจสอบและอนุมัติการแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ระดับสูงของประเทศ ไม่เว้นแม้แต่นายกรัฐมนตรี
การแก้แค้นที่นำไปสู่แรงบันดาลใจหนังเรื่อง ‘Munich’
เรื่องราวของมอสซาดมีเพียงไม่กี่เรื่องเท่านั้นที่ปรากฏเป็นที่ประจักษ์ และบ่อยครั้งจะเผยออกมาเมื่อเรื่องผ่านพ้นไปแล้วหลายปี และที่บ่อยกว่านั้น การดำเนินการของมอสซาดจะถูกเปิดเผยต่อเมื่อมี ‘ความผิดพลาด’ เกิดขึ้น
หนึ่งในนั้นคือเหตุการณ์ก่อการร้ายโอลิมปิกมิวนิกเมื่อปี 1972 ที่น่าสั่นสะพรึง
เหตุการณ์นี้เริ่มต้นขึ้นในวันที่ 5 กันยายน 1972 เมื่อสมาชิกกลุ่ม ‘กันยายนทมิฬ’ (Black September) ซึ่งเป็นขบวนการหนึ่งขององค์การปลดปล่อยปาเลสไตน์ ได้โจมตีชาวอิสราเอลในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่มิวนิก ประเทศเยอรมนี เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 2 ราย และถูกจับเป็นตัวประกันอีก 9 คน ซึ่งต่อมาเสียชีวิตทั้งหมด ในระหว่างการเข้าช่วยเหลือของเจ้าหน้าที่เยอรมนี
‘โกลดา เมียร์’ นายกรัฐมนตรีอิสราเอลในขณะนั้น ได้ส่งทีมมอสซาดไปตามล่าผู้เกี่ยวข้อง แต่โชคร้ายที่ปฏิบัติการนี้ได้เกิดความผิดพลาดขึ้น เมื่อทีมมอสซาดได้ไปสังหารบริกรชาวโมร็อกโกในนอร์เวย์ เพราะเข้าใจผิดว่าเป็นหัวหน้าฝ่ายปฏิบัติการของกลุ่มกันยายนทมิฬ สร้างความเสียหายครั้งใหญ่ต่อชื่อเสียงของหน่วยงานนี้
ความรุนแรงและการแก้แค้นครั้งนี้ถูกนำมาถ่ายทอดอีกครั้งในปี 2006 ผ่านภาพยนตร์เรื่อง ‘Munich’ ของผู้กำกับดัง ‘สตีเวน สปีลเบิร์ก’ ที่เจาะลึกประเด็นซับซ้อนของการแก้แค้น ศีลธรรม และความขัดแย้งทางจริยธรรมที่ตัวละครต้องเผชิญ นำเสนอผ่านโครงเรื่องที่น่าติดตาม จนผู้ชมแทบจะไม่ลุกจากที่นั่งตลอด 164 นาที ทั้งยังท้าทายผู้ชมด้วยเส้นแบ่งที่พร่ามัวระหว่างความถูกต้องและความผิด
ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับทั้งคำชมและคำวิจารณ์อย่างกว้างขวาง ทำรายได้ทั่วโลกกว่า 130 ล้านเหรียญ ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์และลูกโลกทองคำหลายรางวัล ขึ้นแท่นภาพยนตร์ที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดเรื่องหนึ่งของสปีลเบิร์ก
การจับตัว ‘อดอล์ฟ ไอช์มันน์’
มอสซาดเก็บงำความลับมาครึ่งศตวรรษ แต่ปี 2012 ก็ตัดสินใจเปิดเผยเรื่องราวการจับกุม ‘อดอลฟ์ ไอช์มันน์’ หนึ่งในผู้กำหนดหลักสังหารหมู่ชาวยิวในปี 1960
ย้อนไปเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 1960 เจ้าหน้าที่ทีมมอสซาด 7 นาย รออยู่ใกล้สถานีขนส่งบัวโนสไอเรสเพื่อดักจับไอช์มันน์ ซึ่งขณะนั้นทำงานที่โรงงานเมอร์เซเดส-เบนซ์ โดยใช้นามแฝงว่า ‘ริคาร์โด เคลเมนต์’
หลังจากที่เขาลงจากรถบัส ทีมมอสซาดก็กระโดดเข้ารวบตัวเขา โดยมีเจ้าหน้าที่คนหนึ่งยัดมือเข้าไปในปากของเขา เพื่อตรวจสอบว่ามีไซยาไนด์ซ่อนอยู่ในฟันเพื่อชิงจบชีวิตตัวเองหรือไม่
ไอช์มันน์ถูกควบคุมตัวอยู่ในเซฟเฮาส์ 9 วัน จากนั้นจึงถูกนำตัวขึ้นเครื่องบิน โดยให้แต่งตัวด้วยเครื่องแบบลูกเรือบนเครื่องบิน เข้าไปนั่งในชั้นเฟิร์สคลาส ทำทีเป็นลูกเรือที่กำลังป่วย
การพิจารณาคดีของไอช์มันน์ที่เยรูซาเลมในปีต่อมา เต็มไปด้วยพยานหลักฐานที่ทำให้เห็นถึงความโหดเหี้ยมของแผนกำจัดชาวยิวที่ไอช์มันน์มีส่วนร่วม เขาถูกตัดสินว่ามีความผิดในข้อหาอาชญากรรมสงครามและอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ และถูกแขวนคอในปี 1962
ส่งคนไปแทรกซึมซีเรีย
หนึ่งในความสำเร็จใหญ่ครั้งแรกของมอสซาดคือการส่งคนของตัวเองให้ไปอยู่ในตำแหน่งผู้นำระดับสูงของซีเรีย นั่นคือ ‘เอลี โคเฮน’ ซึ่งพยายามสร้างคอนเนกชั่นทางการเมืองและการทหารภายในซีเรีย ศัตรูตัวฉกาจของอิสราเอลในช่วงต้นทศวรรษ 1960 และในที่สุดโคเฮนก็ได้ก้าวขึ้นมาเป็นที่ปรึกษาระดับสูงของรัฐมนตรีกลาโหมซีเรีย
ในปี 1965 โคเฮนถูกจับได้ว่ากำลังส่งข้อมูลไปยังอิสราเอล เขาถูกนำตัวไปพิจารณาคดี และสุดท้ายก็ถูกแขวนคอที่จัตุรัสดามัสกัส แม้แต่ศพยังไม่ถูกส่งกลับไปยังอิสราเอล ซึ่งยกย่องให้เขาเป็นวีรบุรุษของชาติ และท้ายที่สุดอิสราเอลก็สามารถพิชิตที่ราบสูงโกลานในสงครามตะวันออกกลางได้สำเร็จในปี 1967
รวบผู้แจ้งเบาะแสนิวเคลียร์ฃ
หลังจากที่ ‘มอร์เดชัย วานูนู’ อดีตช่างเทคนิคที่โรงงานนิวเคลียร์ของอิสราเอล แพร่งพรายรายละเอียดที่ละเอียดอ่อนและรูปภาพของโครงการอาวุธนิวเคลียร์ให้กับหนังสือพิมพ์อังกฤษในปี 1986 มอสซาดก็ได้รับมอบหมายให้นำตัวเขาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม
สายลับมอสซาดหญิง ซึ่งปลอมตัวเป็นนักท่องเที่ยวชาวอเมริกัน ล่อลวงวานูนูไปยังอิตาลี จากนั้นจึงวางยาและนำตัวเขาขึ้นเรือส่งไปอิสราเอล
วานูนูรับโทษในเรือนจำอิสราเอลเป็นเวลา 18 ปี ขณะที่อิสราเอลไม่ยืนยันหรือปฏิเสธเรื่องโครงการอาวุธนิวเคลียร์ของตน
ข้อกล่าวหาเรื่องการลอบสังหาร
เชื่อกันว่ามอสซาดนั้นอยู่เบื้องหลังการลอบสังหารกลุ่มติดอาวุธปาเลสไตน์จำนวนมากทั่วโลก แต่มีเพียงปี 2012 เท่านั้น ที่อิสราเอลยอมรับเรื่องการสังหารตัวแทนของ ‘ยัสเซอร์ อาราฟัต’ อดีตผู้นำปาเลสไตน์ ที่ตูนิเซีย เมื่อปี 1988 โดยหนึ่งในอาวุธที่ใช้ในการลอบสังหารถูกซ่อนอยู่ในกล่องช็อกโกแลต
นอกจากนี้ มอสซาดยังต้องสงสัยว่าอยู่เบื้องหลังเหตุสังหารนักวิทยาศาสตร์ชาวอิหร่านหลายคนที่ทำงานในโครงการอาวุธนิวเคลียร์ และยังมีการสันนิษฐานว่ากลุ่มดังกล่าวมีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุระเบิดรถยนต์ในกรุงดามัสกัสเมื่อปี 2008 ซึ่งส่งผลให้ผู้บัญชาการระดับสูงของกลุ่มเอซบอลเลาะห์ในเลบานอนเสียชีวิต
ยังไม่หมดเท่านั้น ในปี 1997 ระหว่างที่เนทันยาฮูดำรงตำแหน่งสมัยแรก สายลับของมอสซาดพยายามลอบสังหาร ‘คาเลด มาชาล’ หัวหน้ากลุ่มฮามาส ในกรุงอัมมาน ประเทศจอร์แดน โดยวางยาพิษเขาขณะที่เขาออกจากสำนักงานของกลุ่มฮามาส
เหตุนี้ทำให้กษัตริย์แห่งจอร์แดนขู่ว่าจะยกเลิกข้อตกลงสันติภาพกับอิสราเอล อิสราเอลจึงยอมส่งยาแก้พิษมาช่วยชีวิตมาชาล และสายลับอิสราเอลที่ถูกจับกุมได้ก็ถูกนำตัวส่งกลับบ้าน
ภายใต้แรงกดดันเดียวกันนี้ อิสราเอลยังยอมที่จะปล่อยตัว ‘อาเหม็ด ยัสซิน’ ผู้นำทางจิตวิญญาณของฮามาสออกจากเรือนจำ และในเวลาต่อมา ‘แดนนี ยาทอม’ ผู้อำนวยการมอสซาด ก็ถูกบีบให้ลาออก
ขณะที่ในปี 2004 นิวซีแลนด์ได้ตัดสัมพันธ์กับอิสราเอลในช่วงสั้น ๆ หลังจากสามารถจับกุมชาวอิสราเอล 2 คนที่ต้องสงสัยว่าเป็นสายลับมอสซาด พยายามฉ้อโกงเพื่อรับหนังสือเดินทางนิวซีแลนด์
ส่วนในปี 2010 ‘มาห์มูด อัล-มาบูห์’ สมาชิกระดับสูงของกลุ่มฮามาส ถูกสังหารในห้องพักโรงแรมในดูไบ แต่อิสราเอลก็ไม่เคยยอมรับว่าอยู่เบื้องหลังเหตุการณ์นี้
นี่คือเรื่องราวทั้งความสำเร็จและความล้มเหลวของ ‘มอสซาด’ หน่วยสืบราชการลับสุดยอดของอิสราเอล ที่หลังจากนี้จะถูกจับตาถึงบทบาทในการหยุดความสูญเสียจากสงครามให้ได้มากที่สุด
ภาพ : Getty Images
อ้างอิง :
businessinsider
fortune
academic-accelerator
worldjewishcongress
ndtv