4 ฉากทัศน์ สงครามครั้งใหม่ อิสราเอล - ปาเลสไตน์ (ที่ไม่ได้มาจากความเกลียดชังทางเชื้อชาติ)

4 ฉากทัศน์ สงครามครั้งใหม่ อิสราเอล - ปาเลสไตน์ (ที่ไม่ได้มาจากความเกลียดชังทางเชื้อชาติ)

ผศ. ดร.มาโนชญ์ อารีย์ อาจารย์ภาควิชารัฐศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เผย 4 ฉากทัศน์ สงครามครั้งใหม่ระหว่าง อิสราเอล - ปาเลสไตน์ พร้อมเน้นย้ำ “ปาเลสไตน์ไม่ได้เกลียดยิว ฮามาสไม่ได้เกลียดยิว”

  • อาจารย์มาโนชญ์กล่าวว่า ทุกครั้งที่อิสราเอลขยายสงคราม มันจะตามมาด้วยการ ‘ขยายดินแดน’ และครั้งนี้ก็อาจเป็นเช่นนั้น คือการยึดกาซา 
  • หากอิสราเอลบุกเข้าฉนวนกาซาจริง หมายความว่าต้องเปิดศึกทั้งบนและล่าง นั่นคือการเผชิญหน้ากับกลุ่มเฮซบอลเลาะห์ในพื้นที่ตอนเหนือ และเผชิญหน้ากับกลุ่มฮามาสในพื้นที่ตอนใต้

คลิประเบิดอาคารบ้านเรือนจนเมืองเสียหายย่อยยับราวกับฉากหนังแนววันสิ้นโลก ผู้คนพยายามช่วยเหลือผู้บาดเจ็บที่นอนแน่นิ่งอย่างสิ้นหวัง ซากปรักหักพังที่เต็มไปด้วยกองเลือด เด็กตัวเล็ก ๆ วิ่งหนีด้วยความตกใจกลัวสุดชีวิต ฯลฯ 

เหล่านี้คือภาพความรุนแรงที่ถูกฉายซ้ำไปมาบนโซเชียลมีเดีย หลังสงครามครั้งใหม่ระหว่าง ‘อิสราเอล’ กับกลุ่มติดอาวุธ ‘ฮามาส’ จากฝั่งปาเลสไตน์ ปะทุขึ้น ตั้งแต่ช่วงเช้ามืดวันเสาร์ที่ 7 ตุลาคม

ท่ามกลางภาพความรุนแรงและข้อมูลข่าวสารที่ไหลทะลักมาจากทุกทิศทาง หนึ่งในคำถามสำคัญที่คนทั่วโลกเฝ้ารอคำตอบด้วยใจจดจ่อคือ “เมื่อไหร่ความรุนแรงนี้จะยุติ?”

The People สัมภาษณ์ ผศ. ดร.มาโนชญ์ อารีย์ อาจารย์ภาควิชารัฐศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านตะวันออกกลางและโลกมุสลิม เพื่อถามถึง ‘ฉากทัศน์’ (scenario) ที่น่าจะเป็นไปได้ของความขัดแย้งระหว่างอิสราเอล - ปาเลสไตน์ 

จากการประเมินสถานการณ์ในขณะนี้ อาจารย์มาโนชญ์มองว่ามีทั้งหมด 4 ฉากทัศน์ เริ่มต้นจากฉากทัศน์แรกที่อาจารย์ให้คำนิยามสั้น ๆ ว่า “เจ็บแล้วจบ” 

“ฉากทัศน์นี้สถานการณ์จะจบเร็วแต่รุนแรง เสียหายหนักทั้งสองฝ่าย โดยเฉพาะอิสราเอลที่จะเสียหายหนักกว่า จากครั้งก่อน ๆ ที่ปาเลสไตน์จะเป็นฝ่ายเสียหายหนักกว่า และเพราะความเสียหายนี้เองที่ทำให้ที่ผ่านมาทั้งสองฝ่ายไม่อยากเดินหน้าต่อ จนต้องมีการเจรจาผ่านประเทศที่ 3 นำไปสู่การหยุดยิง”

มาถึงตรงนี้หลายคนคงอยากให้ฉากทัศน์นี้เกิดขึ้นเร็วที่สุด แต่อาจารย์มาโนชญ์มองว่า “เป็นไปได้ยากพอสมควร” (แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้เลย) 

หากใครกำลังสงสัยว่าเพราะอะไรฉากทัศน์เจ็บแล้วจบจึงเป็นไปได้ยาก ต้องอ่านต่อฉากทัศน์ที่ 2 ซึ่งอาจารย์มาโนชญ์มองว่า การโจมตีจะทวีความรุนแรงขึ้น หนักขึ้น แต่ความเสียหายจะถูกจำกัดไว้ภายในอิสราเอลกับปาเลสไตน์ 

“เมื่อ ‘เบนจามิน เนทันยาฮู’ นายกรัฐมนตรีอิสราเอล ประกาศสงคราม อิสราเอลก็จะโจมตีกลุ่มฮามาสหนักขึ้น รวมถึงจะรุกและถล่มกาซาอย่างหนัก ตอนนี้อิสราเอลก็ขนทหารไปชายขอบกาซาหลายแสนนายแล้ว ฉากทัศน์นี้เป็นสิ่งที่ฮามาสกับพันธมิตร โดยเฉพาะกลุ่มเฮซบอลเลาะห์ไม่อยากเห็น”

แต่ฝั่งอิสราเอลเองก็ต้องครุ่นคิดให้ดี เพราะหากอิสราเอลบุกเข้าฉนวนกาซาจริง หมายความว่าต้องเปิดศึกทั้งบนและล่าง นั่นคือการเผชิญหน้ากับกลุ่มเฮซบอลเลาะห์ในพื้นที่ตอนเหนือ และเผชิญหน้ากับกลุ่มฮามาสในพื้นที่ตอนใต้

อย่างไรก็ตาม อาจารย์มาโนชญ์มองว่า “มีความเป็นไปได้” ที่อิสราเอลจะเลือกทางนี้ ด้วยแรงกดดันจากการเมืองในประเทศ ซึ่งขณะนี้กลุ่มขวาจัดกำลังเรืองอำนาจ 

ดังนั้น เพื่อตัดความกังวลว่ากลุ่มเฮซบอลเลาะห์หรือกลุ่มอื่น ๆ จะกระโจนเข้ามาร่วมวง  อิสราเอลจึงต้อง ‘ป้องกัน’ ตัวแสดงอื่น ๆ 

“เป็นเหตุผลที่สหรัฐอเมริกาเตรียมส่งเครื่องบินรบเข้าไปในตะวันออกกลาง สหรัฐฯไฟเขียวให้อิสราเอลเข้าไปในกาซาหรือไม่อย่างไร? แต่สหรัฐฯ เองก็ยังไม่ได้แสดงท่าทียับยั้งอิสราเอล เพียงแต่บอกว่าส่งเครื่องบินไปเพื่อไม่ให้สงครามบานปลาย” 

สำหรับฉากทัศน์นี้ อาจารย์มาโนชญ์สรุปว่า “น่ากลัว” เนื่องจากทุกครั้งที่อิสราเอลขยายสงคราม มันจะตามมาด้วยการ ‘ขยายดินแดน’ 

“ครั้งนี้ก็อาจเป็นเช่นนั้น คือการยึดกาซา” 

แต่ความน่ากลัวในฉากทัศน์ที่ 2 ก็อาจไม่เท่าฉากทัศน์ที่ 3 ที่อาจารย์มาโนชญ์บอกว่า “น่ากลัวที่สุด” เพราะมันอาจลุกลามเป็น ‘สงครามระดับภูมิภาค’ 

“ฉากทัศน์นี้จะเกิดขึ้นเมื่อกลุ่มอื่น ไม่ว่าจะเป็นเฮซบอลเลาะห์ หรือประเทศต่าง ๆ เช่น อิหร่าน ซีเรีย อิรัก เยเมน ฯลฯ ถูกลากเข้าไปเกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะด้วยอุบัติเหตุหรือการยั่วยุ”

ปิดท้ายฉากทัศน์ที่ 4 การเจรจาเพื่อนำไปสู่ ‘ทางออกสองรัฐ’ (Two-state solution)

อาจารย์มาโนชญ์ขยายความฉากทัศน์สุดท้าย โดยเริ่มต้นจากการมอง ‘เป้าหมาย’ ของทั้งสองฝั่ง “ถ้าเราดูให้ดีเป้าหมายของอิสราเอลคือการเข้ากาซา และอาจรวมถึงการขยายดินแดน ส่วนเป้าหมายของปาเลสไตน์คือการยุติการยึดครองของอิสราเอล และตั้งรัฐปาเลสไตน์” 

มองจากอีกซีกโลกก็น่าจะพอเข้าใจแล้วว่า ทั้งสองฝ่ายคงมิอาจตกลงกันได้โดยง่าย และสถานการณ์อาจจะลุกลามบานปลายขึ้นอีก หากต่างฝ่ายต่างมีพรรคพวกของตัวเอง โดยเฉพาะในภาวะไม่แน่นอนภายใต้ระบบ ‘โลกหลายขั้ว’ (Multipolar World) 

อย่างที่ทราบกันดีว่าประเทศในตะวันออกกลางตอนนี้มีความเป็น ‘เอกภาพ’ มากยิ่งขึ้น นั่นจึงอาจนำไปสู่การปัดฝุ่นแนวทางแก้ไขเดิมคือ Two-state solution ซึ่งเป็นการจัดตั้งรัฐสองรัฐขึ้นมา โดยให้ตั้ง ‘เยรูซาเลมตะวันออก’ ขึ้นมาเป็นเมืองหลวงของรัฐปาเลสไตน์ หลังจากที่สหรัฐฯ ในยุคที่ ‘โดนัลด์ ทรัมป์’ เป็นประธานาธิบดี ได้ประกาศยอมรับ ‘เยรูซาเลม’ เป็นเมืองหลวงของอิสราเอล และให้สถานทูตสหรัฐฯ ย้ายจากนครเทลอาวีฟ มาอยู่ที่เยรูซาเลมแทน 

แต่ต้องไม่ลืมว่าภายใต้ระบบโลกหลายขั้วในปัจจุบัน พี่ใหญ่ในโลกไม่ได้มีเพียงสหรัฐฯ เท่านั้น แต่ยังมีจีนกับรัสเซียที่เห็นด้วยกับหลักการ Two-state solution เช่นเดียวกับหลายประเทศในตะวันออกกลาง 

“แนวทางนี้จะถูกหยิบยกมาพูด ประเทศตะวันออกกลางจะต่อรองกับอิสราเอลและสหรัฐฯ” โดยสิ่งสำคัญที่อาจารย์มาโนชญ์ย้ำว่าต้องทำควบคู่กันไปคือ ‘การลดความรุนแรง’ 

เมื่อพูดถึงความรุนแรงที่กำลังเกิดขึ้น อาจารย์มาโนชญ์ยังฝากย้ำเตือนทุกคนในสังคมให้เข้าใจว่า “ปาเลสไตน์ไม่ได้เกลียดยิว ฮามาสไม่ได้เกลียดยิว” และขยายความว่า…

“พวกเขากำลังต่อสู้กับอิสราเอลหรือใครก็ตามที่ยึดครองดินแดน พวกเขาพยายามบอกว่ามันเป็นเรื่องสิทธิของดินแดน ตามประวัติศาสตร์แล้ว ยิวกับอาหรับเคยอยู่ด้วยกัน ก่อนที่ยิวจากยุโรปจะไปตั้งอิสราเอลโดยมีมหาอำนาจหนุนหลัง และมีการใช้ศาสนาเป็นเครื่องมือเพื่อบรรลุผลทางการเมือง

“นี่ไม่ใช่เรื่องเชื้อชาติหรือศาสนา แต่เป็นเรื่องของดินแดน” อาจารย์มาโนชญ์ย้ำตอนท้าย