18 ต.ค. 2566 | 16:27 น.
- อิสราเอล ประเทศแห่งนวัตกรรมที่ NIA ร่วมมือในการบ่มเพาะสตาร์ทอัพร่วมกัน
- ยุคที่ผอ. NIA คนใหม่ปรับเปลี่ยนกลไกการช่วยเหลือผู้ประกอบการไทยด้วย 7 วิธี และมุ่งการช่วยแบบปลายน้ำ ไม่ใช่ต้นน้ำอย่างเดิม
- กลไกทั้ง 7 จะเริ่มเปิดตัวด้านเศรษฐกิจก่อนในปี 2024
หลายนวัตกรรมที่เราเห็นในปัจจุบันหลายคนอาจไม่รู้ว่ามาจากประเทศที่มีแต่ข้อจำกัดอย่าง ‘อิสราเอล’ ประเทศที่มีพื้นที่ส่วนใหญ่เต็มไปด้วยทะเลทราย และมีพื้นที่สมบูรณ์เหมาะกับเพาะปลูกเพียง 20% แถมปริมาณน้ำก็ไม่เพียงพอต่อการทำเกษตรกรรมด้วยซ้ำ
แต่การจัดอันดับจากหลายที่ต่างก็ชี้ชัดอย่างไม่มีข้อกังขาเกี่ยวกับความเป็นชาตินวัตกรรมของอิสราเอล ทั้งเป็นประเทศอันดับหนึ่งที่มีการลงทุนกับ R&D (การวิจัยและพัฒนา) ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมถึงการพัฒนาสตาร์ทอัพสู่การเป็น ‘ยูนิคอร์น’ ก็เป็นอันดับหนึ่งของโลกเช่นกัน (ข้อมูลจาก WIPO 2023)
ที่ผ่านมามีหลายโครงการที่สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ร่วมมือกับอิสราเอล เพื่อบ่มเพาะสตาร์ทอัพคนไทย โดยตั้งใจให้เกิดการเรียนรู้และพัฒนามากขึ้น ดังนั้น สิ่งที่ The People ถามความคิดเห็นจาก ผอ.เติ้ล - ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง ในฐานะที่เป็นผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ถึงจุดเด่นของอิสราเอล และประโยชน์ที่ประเทศไทยจะไดรับแน่ ๆ ว่าคืออะไร
ผอ.เติ้ล เล่าว่า “อิสราเอลมีนโยบายเป็น Startup Nation เขามีเม็ดเงินของการลงทุนค่อนข้างสูง และมีโปรดักส์นวัตกรรมและเซอร์วิชใหม่ ๆ เยอะมาก ดังนั้น อิสราเอลจะเป็นจุดหนึ่งในการที่เราจะเรียนรู้ เข้าถึงเทคโนโลยี และนวัตกรรมใหม่ ๆ นอกจากนี้ อิสราเอลยังมีอุทยาน Science Park และมีการลงทุนวิจัยค่อนข้างเยอะ ฉะนั้น การร่วมมือกับอิสราเอลจะเป็นสิ่งที่เราได้ประโยชน์ ในเรื่องของการเข้าถึงทั้งแหล่งเงินทุน ทั้งเรื่องของ know-how องค์ความรู้นวัตกรรมค่ะ”
“และในอนาคตความร่วมมือกับอิสราเอลก็จะเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน นอกเหนือจากตัวเม็ดเงินแล้ว เราอยากจะเชื่อมโยงตลาดกับอิสราเอล เชื่อมโยงเรื่องของ Venture Capital (VC) ก็คือการลงทุน NIA อยากที่จะเห็นสตาร์ทอัพไทยและสตาร์ทอัพของอิสราเอลจับมือร่วมกันในการพัฒนาโปรดักส์ ธุรกิจนวัตกรรมสตาร์ทอัพค่ะ”
สำหรับสถานการณ์ที่ยังไม่นิ่ง ยังไม่มั่นคงในอิสราเอล จึงอดสงสัยไม่ได้ว่าแล้วโครงการมากมายที่ NIA กับ อิสราเอลทำร่วมกันจะกระทบหรือจะเป็นอย่างไรต่อไป
ผอ.เติ้ล ได้พูดว่า “ตอนนี้สิ่งสำคัญที่สุดคือ การที่เราจะส่งผู้ประกอบการไทยไปอิสราเอลก็อาจจะลำบากนิดหนึ่ง เพราะเนื่องจากความไม่มั่นคง และสถานภาพเรื่องการเมืองที่กำลังมีปัญหา รวมถึงสงคราม แต่เราเชื่อว่า ถ้าสตาร์ทอัพของอิสราเอล หรือแม้กระทั่งกลุ่ม VC, CVC (Corporate Venture Capital) ถ้าอยากจะมาใช้พื้นที่ในเมืองไทย ในช่วงของการทำธุรกิจหรือการทำโปรดักส์ หรือแม้แต่การเข้ามาลงทุน เราก็เป็นประเทศหนึ่งที่เปิดรับการลงทุนจากทั่วโลกค่ะ”
ทั้งนี้ 2 โปรเจ็กต์เด่น ๆ ที่ NIA ได้ทำร่วมกับอิสราเอลมาก่อนหน้านี้ ก็คือ โครงการ Spark สำหรับบ่มเพาะสตาร์ทอัพ ที่เริ่มทำครั้งแรกในปี 2017 เพื่อพัฒนาสตาร์ทอัพไทยในระยะ Pre-Series A และ Bilateral Program เพื่อให้ทุนสนับสนุนผู้ประกอบการไทยและอิสราเอลที่สนใจพัฒนาโครงการนวัตกรรมร่วมกัน ซึ่งโครงการนี้จะเป็นช่วงที่มุ่งเน้นโครงการในระยะพัฒนาต้นแบบ (Prototype) ไปถึงการผลิตเพื่อผลเชิงพาณิชย์ (Commercialization)
กลไกใหม่ของ NIA
ขณะที่ เมื่อไม่นานมานี้ NIA ได้เปิดเผยเกี่ยวกับแผนการปรับกลไลของสำนักงานฯ ในงบประมาณกว่า 300 ล้านบาทซึ่งจะเริ่มขึ้นในปีหน้า โดยหลัก ๆ เพื่อ 2 เป้าหมายก็คือ ลดความเหลือมล้ำและให้ผู้ประกอบการเข้าถึงแหล่งเงินทุนมากขึ้น โดยจากเดิมที่สเต็ปการช่วยเหลือและการให้ทุนของ NIA คือระยะ ‘ต้นน้ำ’ แต่กลไกใหม่จะขยับไปที่ ‘ปลายน้ำ’ เพื่อช่วยเหลือและพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการได้เต็มที่
ผอ.เติ้ล พูดว่า “กลไกใหม่ที่ว่านี้ทั้งในกลุ่มนวัตกรรมเพื่อเศรษฐกิจและกลุ่มนวัตกรรมเพื่อสังคม จะครอบคลุมกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจนวัตกรรมในทุกเครือข่าย และรวมทั้ง 5 อุตสาหกรรมเป้าหมาย (เกษตร อาหาร และสมุนไพร, สุขภาพและการแพทย์, พลังงาน สิ่งแวดล้อม และยานยนต์ไฟฟ้า, การท่องเที่ยว และ Soft Power”
ทั้งนี้ ดร.สุรอรรถ ศุภจัตุรัส รองผู้อำนวยการของ NIA ซึ่งเพิ่งมารับตำแหน่งได้ไม่นาน ได้พูดอธิบายถึง 7 กลไกที่จะเข้ามาช่วยเหลือสตาร์ทอัพมากขึ้นว่า "NIA ได้ออกแบบและพัฒนากลไกการสนับสนุนทางการเงิน 7 กลไก เพื่อช่วยให้สามารถนำนวัตกรรมไปสู่ตลาดให้มากขึ้น"
"นอกจากนี้ ผู้ประกอบการต้องนำนวัตกรรมออกสู่ตลาด ตรวจสอบมาตรฐาน ทดลองตลาด และการปรับปรุงผลิตภัณฑ์หลังออกสู่ตลาดได้ด้วย เพื่อทำให้นวัตกรรมที่ได้รับการพัฒนาแปลงเป็นรายได้และสร้างมูลค่าการส่งออกได้จริง"
โดย 7 กลไก ดังกล่าว ก็คือ
กลไกการขยายผลนวัตกรรมในระดับภูมิภาคสู่ตลาด (Regional Market Validation) ทุนอุดหนุนสมทบไม่เกิน 75% ของมูลค่าโครงการ หรือไม่เกิน 1,500,000 บาทต่อโครงการ สำหรับการทดสอบตลาด การปรับปรุงผลิตภัณฑ์หรือบริการนวัตกรรม ให้สามารถขยายผลเชิงพาณิชย์และฐานลูกค้าใหม่ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน
กลไกทุนโครงการนวัตกรรมแบบมุ่งเป้า (Thematic Innovation) ทุนอุดหนุนสมทบไม่เกิน 75% ของมูลค่าโครงการ หรือไม่เกิน 5,000,000 บาทต่อโครงการ สำหรับทดสอบความเป็นไปได้ทางการตลาดของผลิตภัณฑ์หรือบริการนวัตกรรม รวมไปถึง เพื่อการปรับปรุงผลิตภัณฑ์หรือบริการนวัตกรรมให้ตอบโจทย์ตลาดเป้าหมาย
กลไกการสนับสนุนที่ปรึกษาเพื่อพัฒนานวัตกรรม (Managing Innovation Development: MIND) ทุนอุดหนุนสมทบไม่เกิน 50% ของมูลค่าโครงการ หรือไม่เกิน 1,000,000 บาทต่อโครงการ สำหรับจ้างที่ปรึกษา การปรับปรุงกระบวนการดำเนินงานภายในองค์กรด้านกลยุทธ์ธุรกิจ การตลาด ทรัพย์สินทางปัญญา การบัญชี การเงินและการลงทุน การค้าระหว่างประเทศ
กลไกการทดสอบผลิตภัณฑ์ให้สอดคล้องกับมาตรฐานที่เกี่ยวข้อง (Standard Testing) ทุนอุดหนุนสมทบไม่เกิน 50% ของมูลค่าโครงการ หรือไม่เกิน 1,500,000 บาทต่อโครงการ สำหรับจ้างที่ปรึกษา การปรับปรุงกระบวนการดำเนินงานภายในองค์กร การวิเคราะห์ทดสอบ การทวนสอบและประเมินผล เพื่อขอขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์หรือขอรับรองมาตรฐานที่สำคัญต่อการเติบโตทางธุรกิจ
กลไกการขยายธุรกิจนวัตกรรม (Market Expansion) เพื่อทดสอบนวัตกรรมในหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ในสัดส่วนสูงสุด 100% ของมูลค่าโครงการ ในหน่วยงานภาครัฐ และสัดส่วนสูงสุด 50% ของมูลค่าโครงการ ในหน่วยงานเอกชน หรือไม่เกิน 2,000,000 บาท ต่อโครงการ ระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี สำหรับการขยายธุรกิจในเชิงพาณิชย์
กลไกสนับสนุนดอกเบี้ยบางส่วนเพื่อเสริมสภาพคล่อง (Working Capital Interest) ทุนอุดหนุนสมทบไม่เกิน 75% ของมูลค่าดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมทั้งหมด หรือไม่เกิน 1,500,000 บาทต่อโครงการ ระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี สำหรับเพิ่มสภาพคล่องเพื่อการเติบโตของธุรกิจนวัตกรรม
กลไกการสนับสนุนผู้ประกอบธุรกิจเทคโนโลยีและนวัตกรรมได้มีโอกาสเติบโตและขยายตลาดโดยการร่วมมือจากแหล่งทุนภาครัฐและเอกชน (Corporate CO – Funding) การสนับสนุนในรูปแบบทุนอุดหนุนสมทบกำหนดเงื่อนไขการส่งคืนเมื่อโครงการประสบความสำเร็จเชิงพาณิชย์ สัดส่วน 50% ของมูลค่าการลงทุน หรือไม่เกิน 10,000,000 บาทต่อโครงการ ร่วมกับแหล่งทุนภาครัฐและเอกชนที่ได้รับการรับรอง เป็นระยะเวลาไม่เกิน 5 ปี สนับสนุนกิจกรรมเกี่ยวเนื่องกับการพัฒนาธุรกิจให้เติบโต เช่น การพัฒนาผลิตภัณฑ์ การตลาด การเพิ่มกำลังการผลิต การขยายทีม และการจัดการทรัพย์สินทางปัญญา
อย่างไรก็ตาม กลไกทั้ง 7 นี้จะเริ่มนำร่องในปีหน้า และจะเริ่มที่ฝ่ายนวัตกรรมเพื่อเศรษฐกิจก่อน ซึ่งผอ.เติ้ล ยังพูดด้วยว่า ความร่วมมือกับต่างประเทศเพื่อให้เกิดการเรียนรู้เทคโนโลยีและนวัตกรรมยังจำเป็น เพราะการบ่มเพาะสตาร์ทอัพไทยที่ดีต้องเรียนรู้ และเห็น sucess case จากที่อื่น
ปัจจุบันนอกจากอิสราเอลที่ NIA มีความร่วมมือ ก็จะมีอีกหลายประเทศ เช่น โปตุเกส, เยอรมนี, สิงคโปร์ และญี่ปุ่น ทั้งยังพูดด้วยว่า การที่ไทยจะเป็นประเทศแห่งนวัตกรรมเหมือนประเทศอื่น หรือ อิสราเอลได้ การรับรู้ หรือ การเชื่อมั่นในนวัตกรรมของคนไทยด้วยกันเองก็สำคัญ
"ถ้าคนไทยไม่สนับสนุนคนไทยด้วยกัน แล้วเราจะไปหวังพึ่งคนอื่นตลอดไม่ได้" ก็นั่นสินะตนเป็นที่พึ่งแห่งตน และก็ต้องพึ่งพาคนร่วมชาติเดียวกันด้วย
ภาพ: NIA