เสวนาพิเศษจากตัวจริงของแวดวงธุรกิจใน The People Talk GAME CHANGER FORUM 2023

เสวนาพิเศษจากตัวจริงของแวดวงธุรกิจใน The People Talk GAME CHANGER FORUM 2023

งาน The People Talk GAME CHANGER FORUM 2023 มีกิจกรรม Panel Discussion: เสวนาพิเศษจากตัวจริงของแวดวงธุรกิจไทย ที่มาแบ่งปันประสบการณ์ในการสร้างพลวัตการเปลี่ยนแปลง ‘คน’ และ ‘องค์กร’ เพื่อพัฒนาให้พร้อมสำหรับโลกอนาคต ภายใต้หัวข้อ : CHANGE อย่างไรให้ก้าวนำโลก

  • ในเวทีเสวนาพิเศษจากตัวจริงของแวดวงธุรกิจไทย มีผู้นำหลายท่านมาแบ่งปันประสบการณ์ในการสร้างพลวัตการเปลี่ยนแปลง ‘คน’ และ ‘องค์กร’ เพื่อพัฒนาให้พร้อมสำหรับโลกอนาคต เป็นหนึ่งในกิจกรรมในงานครบรอบ 5 ปี ก้าวสู่ปีที่ 6 ของ The People
  • วิทยากรชั้นแนวหน้าของแวดวงธุรกิจให้มุมมองคล้ายกันว่า โลกยุคนี้เปลี่ยนแปลงเร็ว การปรับตัวและกลยุทธ์รับมือคือสิ่งสำคัญเสมอ ขณะเดียวกันความเปลี่ยนแปลงก็มีโอกาสตามมาเช่นกัน

The People สื่อรุ่นใหม่ที่นำเสนอเรื่องราวการสร้างแรงบันดาลใจเรื่อง ‘คน’ ซึ่งจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงชีวิตของผู้คนให้ดีขึ้น เดินทางมาถึงวาระครบรอบ 5 ปี และก้าวสู่ปีที่ 6 ของ The People จากโอกาสพิเศษครั้งนี้ เราจึงจัดกิจกรรม THE PEOPLE TALK : GAME CHANGER FORUM 2023 ในวันครบรอบนั่นคือวันพฤหัสบดีที่ 9 พฤศจิกายน 2566 จัดที่คริสตัล บ็อกซ์ ชั้น 19 เกษร เออร์เบิน รีสอร์ท แยกราชประสงค์ กรุงเทพมหานคร

ในงานนี้มีกิจกรรมอย่างเวทีแสดงวิสัยทัศน์ของผู้นำระดับประเทศ (อ่านเนื้อหาจากเวที Visionary Leadership Talk: การถอดบทเรียน ‘คน’ เปลี่ยนเกม ปรับตัว เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เพื่อทะยานสู่เส้นทางแห่งอนาคต ได้รับเกียรติจากผู้ทรงคุณวุฒิจากหลากหลายวงการ ที่นี่)

ขณะที่อีกหนึ่งกิจกรรมบนเวทีคือ Panel Discussion: เสวนาพิเศษจากตัวจริงของแวดวงธุรกิจไทย มีผู้นำที่มาแบ่งปันประสบการณ์ในการสร้างพลวัตการเปลี่ยนแปลง ‘คน’ และ ‘องค์กร’ เพื่อพัฒนาให้พร้อมสำหรับโลกอนาคต ภายใต้หัวข้อ : CHANGE อย่างไรให้ก้าวนำโลก มีวิทยากรคือ ‘ธนา เธียรอัจฉริยะ’ ประธานกรรมการ บริษัท บลูบิค กรุ๊ป จำกัด (มหาชน), ‘ขยล ตันติชาติวัฒน์’ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เมทเธียร์ จำกัด, ‘รวิศ หาญอุตสาหะ’ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ศรีจันทร์สหโอสถ จำกัด, ‘ศุภโชค ปัญจทรัพย์’ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอสเซท ไฟว์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)

เสวนาพิเศษจากตัวจริงของแวดวงธุรกิจใน The People Talk GAME CHANGER FORUM 2023 ธนา เธียรอัจฉริยะ

“ตอนนี้มาตรฐานโลกสูงมาก ไม่ว่าเราจะชอบหรือไม่ก็ตาม”

ธนา เธียรอัจฉริยะ ประธานกรรมการ บริษัท บลูบิค กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) นิยามถึงช่วงเวลาการเปลี่ยนผ่านของโลกที่ผ่านมา และมองว่า หมดยุคของคำว่า ‘ปลาใหญ่กินปลาเล็ก’ แต่เป็นยุคของ ‘ปลาโอลิมปิกกินปลาซีเกมส์’

ปลาโอลิมปิกและปลาซีเกมส์ที่ธนาพูด หมายถึง มาตรฐานในใจคนที่เปลี่ยนไป แทนที่จะเป็นมาตรฐานในอุตสาหกรรม แต่ปัจจุบันทุกอย่างไม่มีเส้นแบ่งชัดเจน แต่ทุกคนต้องหามาตรฐานที่ตอบโจทย์ชีวิตคนและเท่าทันคู่แข่งของตัวเอง

“เราจะเล่นระดับซีเกมส์ไม่ได้ เพราะตอนนี้ทุกอย่างเป็นระดับโอลิมปิกส์ เดี๋ยวนี้มันไม่มีเส้นแบ่ง มันเบลอมาก เราอาจจะบอกว่าเราเก่งที่สุดของแวดวงธนาคาร แต่เราล่มไม่ได้ เพราะเฟสบุ๊กก็ไม่ค่อยล่ม สิ่งที่จะบอก คือ มันเป็นมาตรฐานแบบนั้น อย่างน้อยต้องรู้ว่า มาตรฐานของโอลิมปิกส์เป็นแบบไหน” ธนาอธิบายเพิ่มเติม

เพื่อให้องค์กรก้าวทันตามมาตรฐาน ธนาแนะนำว่า องค์กรจำเป็นต้องมี A Player คนเก่ง กองหนุนให้กับบริษัท รวมถึงมีวัฒนธรรมที่เปิดโอกาสให้พนักงานลองผิดลองถูกที่จะช่วยทำให้มีฐานข้อมูลสำหรับการพัฒนาการทำงานต่อไป

ขณะเดียวกัน ธนาบอกอีกว่า สิ่งสำคัญ แนวคิดขององค์กรก็จะต้องปรับตาม ไม่คิดแบบคนไทย แต่เปิดรับความหลากหลาย

“ผมคิดว่าต้องไม่คิดแบบไทย คนไทยชอบเมืองไทย รักความเป็นไทย อยู่ใน Comfort Zone ซึ่ง A Player อาจจะหลากเชื้อชาติ ไม่จำเป็นต้องคิดว่าไม่เป็นคนไทย แต่คิดว่าทำอย่างไรให้เป็นทีม

“network ที่ดี คือ การที่เราเป็น giver ในกลุ่มคนที่เป็น giver เหมือนกัน เวลาทำอะไร เราชอบเลือก 70% ให้คนอื่น 30% แต่ลีกาชิง (นักธุรกิจสิงคโปร์) ก็เคยพูด ลองให้เขาก่อน แล้วมันจะใหญ่ขึ้น ดังนั้นเราทำตัวเองก่อน แล้วทำตัวเองไปอยู่ในวงนั้นได้อย่างไรมากกว่า”

เสวนาพิเศษจากตัวจริงของแวดวงธุรกิจใน The People Talk GAME CHANGER FORUM 2023

ขยล ตันติชาติวัฒน์

“โลกมีความไม่แน่นอน ทุกอย่างเปราะบางมาก แปลว่าธุรกิจใดก็ตามอาจจะล่มสลายภายในพริบตา”

‘อาร์ต - ขยล ตันติชาติวัฒน์’ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เมทเธียร์ จำกัด (Metthier) มาร่วมพูดคุยถึงการเปลี่ยนแปลงในโลกยุคใหม่ที่ทุกอย่างเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ไม่ใช่เฉพาะแค่ในประเทศไทย หากแต่ยังขยายใหญ่ไปในระดับโลก ในงานเสวนาหัวข้อ “CHANGE อย่างไรให้ก้าวนำโลก”

โดยเริ่มจากการให้คำนิยามวิวัฒนาการของคำว่า VUCA ซึ่งถูกนำมาใช้อธิบายสถานการณ์โลกโดยรวมทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองว่า ในยุคปัจจุบันมีการบัญญัติศัพท์ขึ้นมาใหม่โดยชื่อว่า BANI ย่อมาจาก

1.) Brittle เป็นโลกที่เปราะบาง
2.) Anxiety-inducing หรือ Anxious เป็นโลกที่เต็มไปด้วยความกังวล
3.) Nonlinear หรือ เป็นโลกที่ความสัมพันธ์ของสิ่งต่าง ๆ ไม่เป็นเส้นตรง
4.) Incomprehensible หรือ เป็นโลกที่เข้าใจได้ยาก ไม่มีความเข้าใจเลย

“สำหรับสิ่งที่เราต้องรับความเปลี่ยนแปลงอย่างไรนั้น เริ่มจากตัว B (Brittle) มันเป็นสิ่งที่เปราะบางมาก ดังนั้น ผู้นำองค์กร คือบุคคลที่สำคัญที่สุด เพราะความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นในสังคม ในโลกใบนี้ ทุกอย่างมันเปราะบางมาก ๆ แปลว่าธุรกิจใดก็ตามอาจจะล่มสลายภายในพริบตา”

ก่อนจะยกตัวอย่าง ธุรกิจสนามบินที่เขาเคยคลุกคลีในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งพบว่าก่อนจะมีสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ประเทศไทยเคยมีนักท่องเที่ยวหลั่งไหลเข้ามาวันละไม่ต่ำกว่า 40-50 ล้านคน ยอดจองที่พักสูงลิ่ว สายการบินมีผู้ใช้บริการหลักล้าน แต่เมื่อโรคระบาดแพร่กระจายเข้ามา ทุกอย่างหยุดชะงักในชั่วพริบตา

หากผู้นำองค์กรขาดวิสัยทัศน์ที่จะปรับเปลี่ยนธุรกิจให้พร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลง ที่ไม่เคยมีใครเคยประสบ องค์กรนั้นก็อาจจะล่มสลายไปพร้อมกัน

“คุณมีสิทธิ์ที่จะล่มสลายได้ภายในวันพรุ่งนี้ เพราะเราอยู่ในโลกที่เปราะบาง อันแรกแปลว่าคุณต้องมีวิสัยทัศน์ที่ดีก่อน มองเห็นอนาคตว่าทุกอย่างมีสิทธิ์ที่จะมีความไม่แน่นอนเกิดขึ้น และคุณต้องรองรับความไม่นอนนั้น”

นอกจากนี้ ขยลยังได้ยกตัวอย่างสิ่งที่เขาให้ความสำคัญเป็นอันดับต้น ๆ ในการบริหารองค์กรคือ การมอบรางวัลตอบแทนเล็ก ๆ น้อย ๆ (Create Small Win) ให้แก่พนักงาน เพราะนี่คือสิ่งที่จะช่วยขับเคลื่อนให้องค์กรเติบโตอย่างก้าวกระโดด

“เราต้องสร้างชัยชนะเล็ก ๆ ในรูปแบบใดก็ตาม เพื่อร่วมฉลองความสำเร็จร่วมกัน as a team มันจะสร้างวัฒนธรรมแบบใหม่ให้เกิดขึ้นในองค์กร ส่วน Nonlinear หรือการไม่เป็นเส้นตรง เนื่องจากว่ามันไม่มีหลักสูตรตายตัวที่จะไปจาก A สู่ B วันนี้คุณต้องเข้าใจก่อนว่ามันมีทางลัด มีทางที่ต้องอ้อมบ้าง แต่สิ่งที่สำคัญคือคุณต้องสร้างอะไรบางอย่างให้เกิดขึ้นในองค์กร

“แต่ในวันนี้เราต้องการทำกระบวนการต่าง ๆ ให้ Automate คือทำได้เอง อัตโนมัติ ไม่ใช่จาก A สู่ B กระบวนการจะต้องทำแบบนี้อย่างเดียว แต่บางทีมันมีทางลัดได้ ด้วยการทำ Automation อันนี้คือในโลกยุคใหม่ ทุกอย่างสามารถปรับให้เป็น Digitalize ได้ อาจจะฟังดูยากแต่เราสามารถทำได้

“ตัวสุดท้าย คือ Incomprehensible เป็นโลกที่เข้าใจได้ยาก การจะทำให้เข้าใจง่าย ต้องทำเรื่องของ Data ให้ชัดเจน ยอมรับความจริงในองค์กรที่เป็นเทคโนโลยีบ้าง วันนี้เราใช้ Data ไม่เป็นประสิทธิภาพมากเท่าที่ควร”

ก่อนจะกล่าวต่อในหัวข้อ ‘Planet Change’ คุณค่าของธุรกิจยุคใหม่ เปลี่ยนธุรกิจให้มีผลกำไรและผลลัพธ์บวกแก่โลก และสังคม ซึ่งสิ่งเหล่านี้ตรงกับสิ่งที่บริษัท เมทเธียร์ จำกัด (Metthier) ให้ความสำคัญมาโดยตลอด

และในฐานะที่เป็นบริการบริหารจัดการอสังหาริมทรัพย์อัจฉริยะ (Smart Facility Management) ‘รายแรก’ ในประเทศไทย การนำเทคโนโลยีมาช่วยบริหารจัดการก็เป็นสิ่งหนึ่งที่ทำให้ประเทศไทย ขยับเข้าใกล้การเป็นเมืองอัจฉริยะได้อย่างรวดเร็วมากยิ่งขึ้น

“เราเชื่อว่าเทคโนโลยีจะเปลี่ยนแปลงโลกได้ ผมยกตัวอย่างในหลายประเทศมีการใช้ Smart Sensor, Smart City และ Smart Building ซึ่งประเทศไทยพูดถึงกันมานานแล้ว แต่ไม่เกิดสักที สิ่งหนึ่งที่ผมค้นพบคือมันไม่จำเป็นต้องมุ่งไปสู่สเกลใหญ่ขนาดนั้น เพื่อให้มันเกิด เป็น Big I แต่ความจริงเราเริ่มจาก Small i ได้ เริ่มจาก Innovation เล็ก ๆ ที่ตัวเราเองก่อน สิ่งที่เกิดขึ้นคือเราเชื่อว่า ด้วยเทคโนโลยีจะสามารถทำให้โลกดีขึ้น

“วันนี้เราเริ่มทำ Smart Building เราเข้าไปบริหารอสังหาฯ ตัวอาคารสำนักงานทั้งหมด การเข้า-ออกไม่จำเป็นต้องใช้บัตรอีกแล้ว นั่นคือเทคโนโลยีของเรา ที่มีทั้งประสิทธิภาพ และมีความเที่ยงตรงสูงมาก เพราะว่าทุกครั้งที่คุณถ่ายรูปด้วยกล้องที่จะไปเยี่ยมชม มันอาจจะชัดไม่ชัด แต่ของเราเมทเธียร์ชัดเจนแน่นอน

“เรื่องนี้จะเข้ามาช่วยคน ไม่ได้เข้ามาทดแทนคน เราทำเรื่องของ Smart Security เข้าไปรักษาความปลอดภัยแทนคน สิ่งที่เกิดขึ้นคือ Planet Change เพราะว่า Security ความปลอดภัยเกิดขึ้นในสังคม ไม่ใช่แค่ในบริษัทแล้ว เราหวังว่าในอนาคตมันจะเปลี่ยนไปในระดับประเทศ และถ้าเป็นไปได้ มันจะเป็นระดับโลก ความปลอดภัยต้องมีมากขึ้น นี่คือสิ่งที่เราเชื่อว่า Planet Change คือคิดก่อนว่าจะทำเพื่อโลกให้มันดีขึ้น

“วันนี้เรามี Energy Saving ประหยัดพลังงาน แค่เราติด Smart Sensor เข้าไปในแต่ละชั้น ช่วยประหยัดพลังงานให้เห็น 15-20% ฉะนั้น ในส่วนของ Planet Change ผมจึงเชื่อว่าคือสิ่งแรกที่บริษัทควรให้ความสำคัญก่อน เมื่อบริษัทเห็นเรื่องนี้เป็นหัวใจสำคัญ วิสัยทัศน์เกิด คนที่อยู่ในองค์กรเขาก็จะเชื่อแล้วว่าสิ่งนี้ Larger than life ใหญ่กว่าชีวิตเขา พอคุณค่าเหล่านี้มันใหญ่กว่าชีวิตคน อย่างที่ผมพูดไปแล้วว่าคนรุ่นใหม่ เขาต้องการทำอะไรที่มันยิ่งใหญ่ตัวเอง”

ขยล ยังหยิบยกตัวอย่าง Facility Management ว่าเมทเธียร์กำลังทดลอง ‘หุ่นยนต์ทำความสะอาด’ (Robotics Cleaning) จากเดิมใช้ทำความสะอาดที่ท่าอากาศยาน ขยลเริ่มนำนวัตกรรมดังกล่าว มาปรับใช้ในส่วนของอาคารสำนักงาน เพราะเขาอยากแสดงให้เห็นว่า มนุษย์กับหุ่นยนต์สามารถทำงานร่วมกันได้

“สนามบิน คือ Gateway to Thailand ถ้าสนามบินมีเทคโนโลยีที่ดี มีการรองรับที่ดี มันจะเป็นหน้าเป็นตาของประเทศ เพราะเรา (เมทเธียร์) ต้องการที่จะทำเรื่องนี้ให้เป็นหน้าเป็นตาของประเทศ

“เราต้องการยกระดับความเป็นอยู่ คุณภาพชีวิต รวมไปถึงการให้บริการ ตัวอย่างเช่นในเรื่องของแม่บ้าน หุ่นยนต์ที่ใช้ที่สนามบิน ในวันนี้เราต้องการนำเข้ามาใช้ที่อาคารสำนักงานขนาดใหญ่ เราเชื่อมหุ่นยนต์กับซอฟต์แวร์แพลตฟอร์มกลาง เราสามารถที่จะเอาหุ่นยนต์ไปที่ multi office หมายความว่าคุณมีออฟฟิศหลายที่ คุณไม่จำเป็นต้องดูแล แต่เราจะมีหุ่นยนต์ทำความสะอาดให้ เราจะรู้ว่ามีการทำความสะอาดไปกี่ตารางกิโลเมตร

“ค่าใช้จ่ายที่เราจะคิดมีมูลค่าเป็นรายเดือนเท่ากับการจ้างแม่บ้าน แปลว่าผู้ใช้บริการอาจจะเสียค่าบริการเท่าเดิม แต่จะได้เทคโนโลยีที่เป็นแม่บ้านด้วย พร้อมกับหุ่นยนต์ที่ทำความสะอาดได้ดี และพิสูจน์เรื่องของประสิทธิภาพได้อย่างชัดเจน นี่คือสิ่งที่เราจะเปลี่ยนโลกด้วยคนและหุ่นยนต์”

และนี่คือบทสนทนาว่าด้วยความหวังที่มีต่อโลกอนาคตของชายที่ชื่อขยล เพราะเขาเชื่อว่าท้ายที่สุดแล้ว การเปลี่ยนแปลงทุกอย่างที่เกิดขึ้นโดยเฉพาะเรื่องของเทคโนโลยี จะช่วยเปลี่ยนโลกให้ก้าวล้ำยิ่งกว่าเก่า โดยไม่ทิ้งมนุษยชาติไว้ข้างหลัง

เสวนาพิเศษจากตัวจริงของแวดวงธุรกิจใน The People Talk GAME CHANGER FORUM 2023 รวิศ หาญอุตสาหะ

‘รวิศ หาญอุตสาหะ’ บอสใหญ่ศรีจันทร์ฯ เปิดประโยคชวนคิด “ทุกครั้งที่เปลี่ยนแปลง จะมีอะไรหาย และสิ่งใดจะเข้ามาแทนที่?”

รวิศ หาญอุตสาหะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ศรีจันทร์สหโอสถ จำกัด และเจ้าของเพจ Mission to the Moon ชวนทุกคนในงานมาลองตั้งคำถามเกี่ยวกับยุคที่เต็มไปด้วยการเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ว่า “สมมติถ้าเด็กหายไป แล้วอะไรมาแทนที่?”

คำถามดังกล่าวนี้ถูกตั้งสมมติฐานขึ้น หลังจากที่รวิศได้แสดงความคิดเห็นว่า ในทุก ๆ ครั้งที่มีการเปลี่ยนแปลงนั้น ไม่ว่าจะสังคมสูงอายุ หรืออัตราการเกิดของเด็กไทยที่ต่ำลงเรื่อย ๆ เหตุการณ์เหล่านั้นมักจะนำพาอะไรบางอย่างเกิดขึ้นใหม่ เพื่อมาทดแทนสิ่งเดิม

“คำถามที่ว่าเด็กหายไป อะไรจะเข้ามาแทน? คำตอบก็คือ สัตว์เลี้ยง (หมา แมว) คนแก่ เพราะฉะนั้น 3 ธุรกิจที่ว่ามันจะมา switch แทนตลาดของเด็ก

“สมมติว่ามีคนขายแป้งเด็ก แล้วก็ขายอยู่แบบนั้น ตลาดมันก็จะเล็กลงเรื่อย ๆ บางทีอาจจะต้องขายแป้งอย่างอื่นแทน (เช่น แป้งหมา หรือคนแก่ ฮ่า ๆ)

“ถ้าเราสามารถ adapt (ปรับตัว) มันก็จะไปได้เรื่อย ๆ แต่อาจจะเหนื่อยหน่อยนะ”

นอกจากนี้ ยังมีอีกหนึ่งตัวอย่างที่ผู้เขียนมองว่า เป็นสิ่งที่น่าคิดมาก ๆ ในยุคที่เทคโนโลยีก้าวล้ำมากขึ้นทุกวัน รวิศได้พูดขยายความเรื่องของการเปลี่ยนแปลงไว้ว่า “ในธุรกิจเครื่องสำอาง การใช้ลิปสติก เราจะใช้เครื่องสำอางเพื่อเติมแต่งสีบนหน้าคนให้สวย แต่คำถามคือ ตอนนี้เขาใช้ชีวิตในโลกออนไลน์มากขึ้น มันยังจำเป็นต้องใช้สิ่งเหล่านี้อยู่หรือไม่

“ยิ่งตอนนี้มันมีฟิลเตอร์ (แทนการแต่งหน้า) มันจะเข้ามาแทนที่หรือเปล่า เพราะเอาจริงสิ่งนี้กำลังมาลด usage นะ ซึ่งเป็นแค่จุดเริ่มต้นเท่านั้น แต่ต่อจากนี้มันจะมีอะไรมากมายตามมาอีก ลองคิดเล่น ๆ ดูว่า ทำไมคุณต้องซื้อลิปสติกเต็มบ้าน ทั้งที่คุณก็มี 3D printing ที่สามารถ print ลิปสติกให้คุณวันละสีได้อยู่แล้ว เพราะเทคโนโลยีทำแบบนั้นได้ เพียงแต่มันจะ mass หรือเปล่า หรือว่าจะมาหรือเปล่าแค่นั้นเอง

“ผมเลยตั้งคำถามไว้ว่า ถ้าเปรียบตัวเราเป็นปลา ที่ว่าย ๆ อยู่นั้นใช่น้ำจริงหรือเปล่า การเปลี่ยนแปลงอาจทำให้ปลาเหนื่อยครับ ไม่ว่าจะตัวเล็กหรือตัวใหญ่ก็ตาม เพราะว่าวิธีการมองโลกมันจะเปลี่ยน”

เรียกว่าเป็นอีกหนึ่งหมัดน็อกจากรวิศ ที่ทำให้คนในงานสัมมนาพากันชอบใจ หัวเราะ ปรบมือกันอึกทึก ทำให้อดที่จะคิดตามไม่ได้ว่า ใช่สิ! อาจไม่ใช่แค่คิดว่าเราคือปลาอะไร และอยากเป็นปลาสายพันธุ์ไหน แต่สิ่งรอบตัวเรา น้ำที่ว่ายอยู่ทุกวันนั้น มันใช่น้ำที่ควรจะดำผุดดำโผล่จริงหรือ

“ผมคิดว่า mindset นี้สำคัญนะ ก็คือจะทำอย่างไร หรือเราจะบอกทุกคนอย่างไรว่า ลืมโลกที่มีธุรกิจ 5 ปี 10 ปีกันเถอะ พอเปลี่ยนทีหนึ่งก็บ่นกัน อ่วมกันทีหนึ่งว่าเปลี่ยนแพลนอีกแล้ว คือจะทำอย่างไรให้เข้าใจว่า วางแผนแบบนี้ แต่ถ้าข้างหน้ามันมีอะไรที่กระโดดเข้ามา คุณก็ต้องเปลี่ยนแผนนะเพื่อให้ทันการณ์

“ผมจึงคิดว่า ถ้าเรารู้สึกว่าพอจะเปลี่ยนไปกับมันได้ มี mindset ที่ว่ามันจะเหนื่อยนะ เพราะการเปลี่ยนแปลงมันเหนื่อย แต่ขอให้เรื่องนี้มันเป็นเรื่องธรรมดา ผมว่ามันก็พอจะอยู่ได้”

ทั้งนี้ รวิศยังได้พูดถึงการเปลี่ยนแปลงในเชิงเป้าหมายด้วยว่า สำหรับตัวเขาควรต้องเปลี่ยนทั้งมุมมองและ incentive (สิ่งกระตุ้น) ด้วย คือควรให้มีการปรับโครงการ incentive อย่างชัดเจน เพื่อนำมาสู่การเกิด action ขึ้น

อีกยังทิ้งท้ายด้วยแง่คิดเท่ ๆ ที่เป็นไลเซนส์ของเพจ Mission to the Moon ว่า การเปลี่ยนแปลงเชิงเป้าหมายในปัจจุบัน ‘คำอธิบาย’ สำคัญมากที่สุด ไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ ไม่ว่าคุณจะทำอะไรควรอธิบายได้อย่างชัดเจน ทั้งจุดประสงค์ มุมมอง โครงการของสิ่งกระตุ้น หรือปัจจัยที่เป็นองค์ประกอบต่าง ๆ

“ผมยังเชื่อในเรื่องของการทำในสิ่งที่ตัวเองถนัด เพียงแต่ใน landscape ที่มันเปลี่ยนไป ลองดูสิว่าเราอยู่ตรงไหนได้บ้าง แล้วเราจะอยู่ได้อย่างไร ขณะเดียวกันก็ลองหาสิ่งที่ไม่เคยเปลี่ยนไปตามสิ่งรอบตัว ยังคงอยู่ไม่ว่าเทคโนโลยีจะเปลี่ยนไปแค่ไหน เพื่อไปดูว่ามีอะไรที่เกี่ยวข้องกับเราบ้าง

“ไม่ว่าโลกจะหมุนไปเร็วแค่ไหน สักวันหนึ่งคนก็ยังโหยหาความสงบอยู่เสมอ...นั่นแหละครับ”

เสวนาพิเศษจากตัวจริงของแวดวงธุรกิจใน The People Talk GAME CHANGER FORUM 2023 ศุภโชค ปัญจทรัพย์

“ยุคนี้เป็นยุคแห่งการเปลี่ยนแปลงและเปลี่ยนอย่างรวดเร็ว ดังนั้น คนที่ไม่ยอมเปลี่ยนและพยายามหาสูตรสำเร็จ จะไม่มีทางชนะอย่างแน่นอน”

‘ศุภโชค ปัญจทรัพย์’ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอสเซท ไฟว์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ A5 เล่าถึงการสร้าง Game Changer ในยุคปัจจุบันที่เป็นยุคแห่งการเปลี่ยนแปลงและเป็นการเปลี่ยนอย่างรวดเร็ว เนื่องจากไลฟ์สไตล์ของผู้คน และการเกิดขึ้นของเจนใหม่ ๆ

“สำหรับตัวเองถือว่าโชคดีที่ครอบครัวทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์มายาวนานกว่า 40 ปี ตั้งแต่รุ่นคุณปู่ในยุคหลังสงครามเวียดนาม ซึ่งต้องบอกว่า อสังหาริมทรัพย์ยุคปัจจุบันทำได้ยากกว่ายุคที่ผ่านมา และแต่ละเจนมีความต้องการแตกต่างกัน เช่น Baby Boomer จะชอบพื้นที่สวนเยอะ ขณะที่ Gen X และ Gen Y จะชอบพื้นที่ภายในบ้านมาก”

ด้วยการเปลี่ยนแปลงของโลกและเปลี่ยนอย่างรวดเร็ว เขาแนะนำว่า 1. คนที่ไม่ยอมเปลี่ยนและพยายามหาสูตรสำเร็จ จะไม่มีทางชนะ 2. โลกจะเป็นยุค Personalization เช่น ในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เวลาสร้างบ้าน ต้องสร้างเพื่อเจ้าของบ้านแต่ละคน และเชื่อว่าคนที่ทำอะไรแบบแมส ๆ หรือของโหล ๆ จะไม่มีทางชนะแน่นอน

นอกจากนี้ในมุมเรื่อง Perspective Changes ศุภโชคเล่าว่า ในฐานะผู้เล่นเกม ทุกคนต้องการชนะ แต่หากเป็นคนเล่นเกมแบบตั้งรับ จะไม่มีทางขึ้นเป็นผู้นำ และยุคนี้สังคมของเรามีช่องว่างระหว่างคนรุ่นเก่ากับคนรุ่นใหม่ที่มีมุมมองต่ออนาคตไม่เหมือนกัน และไม่สามารถประนีประนอมทางความคิดกันได้

“เรื่องพวกนี้ผมว่าเป็นความท้าทายที่จะทำอย่างไรให้คนทั้งสองเจนที่มีความต่างกันนี้อยู่ในบ้านหลังเดียวกันได้อย่างมีความสุข ซึ่งส่วนตัวมองเป็นวาระแห่งชาติที่ต้องคิด”

สำหรับ บริษัท แอสเซท ไฟว์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ A5 ได้มีการรีแบรนด์ภายใต้แนวคิด คอนเซ็ปต์ A5 GREATNESS Inspired by Love ที่อยากปลูกฝังไปถึงคนทั้งหมดในองค์กรว่า เรารักในสิ่งที่เรากำลังทำ และรักลูกค้า

การสื่อสารผู้นำต้องเป็นแบบอย่าง คือ อยากให้องค์กรเป็นอย่างไร ผู้นำต้องทำให้ดู และยุคใหม่ที่ไดนามิกมาก ๆ ผู้นำต้องวางทิศทางและแนวโน้มของอนาคตให้ได้อย่างอสังหาริมทรัพย์ กว่าโครงการจะสร้างเสร็จต้องใช้เวลา 2 - 3 ปี ถ้ามองอนาคตไม่ออก ทุกอย่างก็จบ

นอกจากนี้ ผู้นำต้องสื่อสารวิชั่นให้ทีมได้รับรู้และรับทราบ เพื่อให้นำทีมไปถึงเป้าหมายให้ได้ เพราะถ้าคุณรู้คนเดียว ไม่สื่อสารกับทีมให้เข้าใจ เมื่อทีมเห็นภาพไม่เหมือนกัน คุณก็จะลำบาก

อ่านเนื้อหาจากเวที Visionary Leadership Talk: การถอดบทเรียน ‘คน’ เปลี่ยนเกม ปรับตัว เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เพื่อทะยานสู่เส้นทางแห่งอนาคต ได้รับเกียรติจากผู้ทรงคุณวุฒิจากหลากหลายวงการ ที่นี่