11 พ.ย. 2566 | 15:13 น.
- เมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ ก็เป็นเรื่องปกติที่รัฐบาลจะต้องหากลยุทธ์และเปิดนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ
- หนึ่งในกรณีศึกษาที่น่าสนใจ คือ การแจก ‘คูปองชอปปิง’ ของประเทศญี่ปุ่นเพื่อแก้ไขวิกฤตเศรษฐกิจของประเทศ
- สุดท้ายแล้ว ประชาชนก็ออกมาใช้สิทธิกันเกือบ 100% แต่กลับกระตุ้นเศรษฐกิจได้เพียงเล็กน้อย
เมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ รัฐบาลในแต่ละประเทศก็ต้องงัดกลยุทธ์และเปิดนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อให้เศรษฐกิจของประเทศเดินต่อไป
นโยบายที่ไม่มีสูตรตายตัว และมีรูปแบบที่หลากหลาย ทั้งยังแตกต่างกันตามบริบทสังคม วัฒนธรรม การเมือง ของแต่ละประเทศ แต่ถ้าย้อนดูกรณีของ ‘ญี่ปุ่น’ หลังวิกฤตการเงินในเอเชียปี 1998 รัฐบาลญี่ปุ่นเองก็ใช้วิธีแจก ‘คูปองชอปปิง’ (regional promotion coupons program) ซึ่งหวังว่า จะเป็นอีกหนึ่งวิธีการในการกระตุ้นเศรษฐกิจเช่นกัน
บทความนี้ชวนดูตั้งแต่จุดเริ่มต้นจนปลายทางของนโยบายนี้ว่าเป็นอย่างไร และกระตุ้นเศรษฐกิจได้แค่ไหน
กระตุ้นเศรษฐกิจด้วย ‘คูปองชอปปิง’
จริง ๆ แล้ว เศรษฐกิจของญี่ปุ่นถดถอยมาตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สองจบลง แม้จะเศรษฐกิจจะดีขึ้นอย่างช้า ๆ แต่ปัญหาหลัก คือ ประชาชนเก็บเงินมากกว่าใช้
ขณะเดียวกัน ในปี 1998 สำนักข่าวบีบีซีรายงานว่า เศรษฐกิจของญี่ปุ่นจะหดตัวและการว่างงานจะเพิ่มขึ้นสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ถึงอย่างนั้นทางพรรคเสรีประชาธิปไตย (Liberal Democratic Party : LDP) ที่นำโดยนายกรัฐมนตรี เคโซ โอบุจิ (Keizo Obuchi) ก็ยังเชื่อมั่นว่า สถานการณ์จะดีขึ้นภายใน 2 ปี
หนึ่งในกลยุทธ์ที่เคโซเอามาใช้แก้ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจของประเทศ คือ การแจกเงินจำนวน 20,000 เยนให้กับกับเด็กที่อายุต่ำกว่า 15 ปี และกลุ่มผู้สูงอายุ ซึ่งประกอบไปด้วยผู้สูงอายุที่ได้รับเงินบำนาญ และผู้สูงอายุที่ไม่ได้จ่ายภาษีในช่วงปี 1998-1999 โดยรวมมูลค่าทั้งหมดประมาณ 621 พันล้านเยน
“นี่เป็นการทดลองที่ยิ่งใหญ่มาก และเป็นการทดลองเชิงเศรษฐกิจครั้งแรกของโลก” คัตสึยูกิ ฮิกาสะ เจ้าหน้าที่กำหนดนโยบายอาวุโสในพรรคโคเม พรรคการเมืองที่เสนอแนวคิดนี้ให้กับรัฐบาลกล่าว
โดยคูปองดังกล่าวจะหมดอายุภายใน 6 เดือน และจะต้องใช้กับร้านค้าในท้องถิ่น ไม่ว่าจะอยู่ในเมืองหรือหมู่บ้าน และคูปองก็ไม่สามารถโอนสิทธิได้และต้องใช้อย่างน้อยครั้งละ 1,000 เยน อีกทั้งถ้าจ่ายมากกว่าโควตาเงิน 20,000 เยน ประชาชนจะต้องจ่ายเงินส่วนต่างเอง
เมื่อประกาศนโยบายดังกล่าวในวันที่ 16 พฤศจิกายน 1998 ก็มีนักเศรษฐศาสตร์ตั้งคำถามและไม่เชื่อว่าแผนกระตุ้นเศรษฐกิจนี้จะประสบความสำเร็จ ส่วนคนบางกลุ่มก็มองว่า เนื่องจากเป็นการใช้คูปองแทนเงินสด ก็อาจจะทำให้คนเข้ามาใช้เงิน และยังรักษาเงินในกระเป๋าไว้ได้
ความจริงเบื้องหลังคูปองกระตุ้นเศรษฐกิจ
คูปองชอปปิงในปี 1999 สามารถใช้กับสินค้าและบริการ 3 รูปแบบ ประกอบด้วย สินค้ากึ่งคงทน สินค้าไม่คงทน และบริการต่าง ๆ
ผลสำรวจรายได้และค่าใช้จ่ายครอบครัวจากรายงานประจำปีของกระทรวงการจัดการสาธารณะ กิจการบ้าน ไปรษณีย์ และโทรคมนาคมอธิบายความหมายของสินค้าและบริการไว้ ดังนี้
แต่ในความเป็นจริง สำนักข่าวนิวยอร์ก ไทมส์รายงานว่า นโยบายนี้ส่งผลต่อธุรกิจโลจิสติกส์อย่างมากเนื่องจากมีค่าใช้จ่ายสูงและค่อนข้างผูกมัดกับชุมชนต่าง ๆ นอกจากนี้รัฐบาลยังเปิดโอกาสให้ท้องถิ่นกำหนดเกณฑ์การใช้คูปองและจัดหาเครื่องพิมพ์คูปองใช้จ่ายกันเอง
อีกทั้งคูปองบางส่วนใช้ได้ที่สถานบันเทิงหรือไนท์คลับ นำไปใช้ในการพนันหรือโต๊ะไพ่นกกระจอก ธุรกิจขนาดเล็กบางธุรกิจก็บังคับให้ประชาชนรอ 40 วันถึงจะใช้คูปองในห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ได้ และเพื่อประกันว่า มีการใช้คูปองร้านค้าเล็ก ๆ อยู่บ้าง จะแบ่งคูปองออกเป็นสองสีอย่างละครึ่ง ครึ่งหนึ่งสำหรับร้านค้าใหญ่ และอีกครึ่งหนึ่งสำหรับร้านค้าขนาดเล็ก
“หนูจะเอาเงินไปซื้อตุ๊กตาหมี เกมส์ เยอะ ๆ เลย!” เรอิ เอนโดะ เด็กหญิงวัย 12 ปีบอกกับสำนักข่าววอชิงตัน โพสต์ของสหรัฐอเมริกาในเดือนมีนาคมของปี 1999
สำนักข่าววอชิงตัน โพสต์ รายงานอีกว่า แม้คูปองนี้จะเป็นที่นิยมของเด็ก ๆ แต่ก็ยังมีคนมองว่านโยบายนี้อาจเอื้อให้กับกลุ่มทุนขนาดใหญ่ และยังมีคนดูถูกว่า ในประเทศที่เศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับที่สองกลับกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการแจกเงินผู้สูงอายุ และเปิดช่องทางให้วัยรุ่นมีซีดีอีกสองสามแผ่นเท่านั้น
นอกจากนี้ สำนักข่าววอชิงตัน โพสต์ ยังมีโอกาสสัมภาษณ์ผู้สูงอายุที่ได้รับประโยชน์จากการแจกคูปองชอปปิง คุณตาชินจิ ซูซูกิ วัย 68 ปีที่เป็นพนักงานรักษาความปลอดภัยของตึกแห่งหนึ่งกลับบอกว่า “ช่างสิ้นเปลืองจริง ๆ ”
เขาบอกอีกว่า “ผมอยากใช้มันนะ แต่ผมไม่อยากได้อะไร สุดท้ายผมคงได้ใช้มันสำหรับหลาน ๆ อาจจะเป็นของขวัญหรือของขวัญวันเกิด”
ขณะที่สำนักข่าวนิวยอร์ก ไทมส์ ก็ตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติมว่า คูปองชอปปิงจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้จริงหรือไม่ หากมีคนเลือกที่จะใช้คูปองเหมือนที่ เอมิโกะ คาวามูระ วัย 41 ปี คุณแม่ลูกสามที่เลือกใช้เงินของคูปองและประหยัดมากขึ้น เหตุผลหนึ่ง อาจเป็นเพราะครอบครัวของเธอมีลูกสาวอายุ 16 ปีที่ไม่ตรงกับคุณสมบัติตามที่รัฐกำหนด
“ฉันจะไม่ซื้อของชิ้นใหญ่หรือราคาแพง พอมีคูปองใช้จ่าย ฉันมีเงินมากขึ้น และถอนเงินออกจากบัญชีเท่าที่จำเป็น'' คามูระทิ้งท้ายการสัมภาษณ์
ผลลัพธ์การแจกคูปอง ใช้เยอะ แต่กระตุ้นเศรษฐกิจได้น้อย
รายงานวิจัยเรื่อง Did the Shopping Coupon Program Stimulate Consumption? Evidence from Japanese Micro Data โดยนักวิจัยญี่ปุ่นในปี 2002 ระบุว่า 6 เดือนผ่านไป ประชาชนที่ได้รับสิทธิใช้คูปองไปทั้งหมด 79.5% และส่วนใหญ่จะใช้คูปองในเดือนมีนาคมและเมษายน 1999
แม้ว่าจะกำหนดเวลาใช้ไว้ 6 เดือน แต่แท้จริงแล้ว คูปองชอปปิงจากรัฐบาลญี่ปุ่นยังสามารถใช้ได้ถึงเดือนกันยายน 1999 ทำให้อัตราการใช้สิทธิพุ่งสูงขึ้นเป็น 99.6%
รายงานวิจัยชิ้นนี้ยังระบุอีกว่า การแจกคูปองสามารถช่วยกระตุ้นยอดจ่ายสินค้ากึ่งคงทน ประกอบด้วย เสื้อผ้า, รองเท้า, อุปกรณ์กีฬา, วิดีโอเกมส์, คอมพิวเตอร์, โปรแกรม และหนังสือ เพิ่มขึ้น แต่กลับไม่ได้มีการกระตุ้นสินค้าไม่คงทนหรือการบริการเท่าที่ควร
อีกทั้งยังรายงานว่า เชิงภาพรวมการแจกคูปองยังช่วยกระตุ้นการบริโภค (Marginal Propensity to Consume: MPC) ในกลุ่มสินค้ากึ่งคงทนเพียง 0.1-0.2 เท่าของจำนวนเงินในคูปองที่ได้รับเท่านั้น
จากญี่ปุ่นสู่ไทย และคูปองชอปปิงสู่เงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท
เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2566 (ค.ศ. 2023) เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีแถลงข่าวถึงเรื่อง ‘นโยบายดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท’ ว่า ทางรัฐบาลปรับเกณฑ์ผู้ได้รับสิทธิเป็นประชาชนที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไป เงินเดือนไม่เกิน 70,000 บาท และมีเงินรวมทุกบัญชีไม่เกิน 500,000 บาท
ขณะเดียวกัน ถ้ารายได้เกิน 7 หมื่นบาท แต่มีเงินฝากน้อยกว่า 5 แสนบาท ก็จะไม่ได้รับสิทธิ หรือถ้ารายได้น้อยกว่า 7 หมื่นบาท แต่มีเงินฝากมากกว่า 5 แสนบาท ก็จะไม่ได้รับสิทธิเช่นกัน
สำนักข่าวเนชัน ออนไลน์ รายงานว่า รัฐบาลจะมอบเงินวอลเล็ตผ่าน ‘กระเป๋าเงินดิจิทัล’ ที่ผูกกับแอป ‘เป๋าตัง’ จำนวน 10,000 บาท ประชาชนสามารถใช้ซื้อสินค้าได้ทุกร้านค้าในอำเภอที่ตรงกับบัตรประชาชน ไม่ได้จำกัดแต่ร้านที่อยู่ในระบบภาษี ไม่จำเป็นต้องจด VAT แต่ต้องมีการลงทะเบียนรับสิทธิ และร้านค้าที่จะขึ้นเงินได้ต้องอยู่ในระบบภาษีเท่านั้น โดยต้องใช้สิทธิครั้งแรกภายใน 6 เดือน และสามารถใช้จ่ายได้ถึงปี 2570
แต่เงินดิจิทัลนี้ รัฐบาลกำหนดว่าประชาชนจะใช้กับสินค้า อาหาร เครื่องดื่ม สินค้าอุปโภค บริโภคเท่านั้น ไม่สามารถใช้ซื้อสินค้าออนไลน์ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ผลิตภัณฑ์ยาสูบ กัญชา กระท่อม พืชกระท่อม และผลิตภัณฑ์จากกัญชาและพืชกระท่อม
อีกทั้งไม่สามารถนำไปซื้อบัตรกำนัล บัตรเงินสด ทองคำ เพชร พลอย อัญมณี ไม่สามารถนำไปชำระหนี้ จ่ายค่าเล่าเรียน จ่ายค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ หรือซื้อน้ำมันเชื้อเพลิงและก๊าซธรรมชาติได้
สิ่งที่น่าสนใจไม่น้อย คือ นโยบายดิจิทัลวอลเล็ตนั้นมีความคล้ายคลึงกับนโยบายการแจกเงินของญี่ปุ่นในปี 1999 รวมถึงการแจกเงินอีกครั้งของแดนอาทิตย์อุทัยในปี 2009 ด้วยการมอบคูปองมูลค่า 12,000 เยนให้ทุกคน โดยไม่จำกัดอายุ และรายได้ ร่วมกับให้เงินเพิ่มอีก 8,000 เยนสำหรับบุคคลที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี หรือมากกว่า 65 ปี ตามที่ศิริกัญญา ตันสกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกลชี้แจงไว้ผ่านแพลตฟอร์มเอ็กซ์ในกลางเดือนตุลาคม 2566
(ข้อสังเกตจากศิริกัญญา ตันสกุล https://twitter.com/SirikanyaTansa1/status/1714937192018313468)
ท่ามกลางกระแสวิพากษ์วิจารณ์ถึงความเป็นไปได้ของนโยบายในแง่มุมต่าง ๆ เช่นการออกพ.ร.บ.เงินกู้ที่ไม่ชัดเจนในมุมของความเป็นไปได้ทางกฎหมาย ตามที่ศิริกัญญา ตั้งข้อสังเกตว่า อาจขัดต่อกฎหมาย ขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 140 และขัดต่อ พ.ร.บ.วินัยการเงิน การคลัง มาตรา 53 ที่มีการระบุว่า หากใช้เงินที่ไม่ได้เป็นไปตามงบประมาณปกติ ซึ่งจะทำได้เมื่อมีความจำเป็นเร่งด่วนเท่านั้น
แต่ในงานแถลงข่าววันที่ 10 พฤศจิกายน 2566 สำนักข่าวไทยพีบีเอส รายงานว่า นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ที่มาของเงินเป็นไปด้วยความโปร่งใส และมั่นใจว่า พ.ร.บ.เงินกู้จะได้รับการอนุมัติจากรัฐสภา และเป็นไปตามมาตรา 53 พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 เนื่องจากพ.ร.บ.การกู้เงินดังกล่าว จะระบุวัตถุประสงค์ ระยะเวลาในการกู้เงิน แผนงานหรือโครงการที่ใช้จ่ายเงินกู้ วงเงินที่อนุญาตให้ใช้จ่ายเงินกู้ รวมถึงหน่วยงานของรัฐที่รับผิดชอบการดำเนินแผนงานหรือโครงการที่ใช้จ่ายเงินกู้ในโครงการ Digital Wallet ให้ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมาย
อีกทั้งเศรษฐา ทวีสินยังเชื่อมั่นว่า เงินดิจิทัลวอลเล็ตจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้จากการร่วมมือกันของภาครัฐและเอกชน
“นี่ไม่ใช่การสงเคราะห์ผู้ยากไร้ แต่เป็นการเติมเงินลงไปในระบบเศรษฐกิจผ่านสิทธิการใช้จ่าย เพื่อให้ประชาชนมีบทบาทร่วมกับรัฐบาลในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจของประเทศ” เศรษฐาพูดระหว่างแถลงข่าว
ไม่ว่าจะเป็นคูปองชอปปิงของญี่ปุ่น หรือ เงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาทของไทย ก็มีรายละเอียดบางส่วนที่คล้ายกัน และต่างกัน ซึ่งอาจได้ผลลัพธ์ไม่เหมือนกันก็เป็นได้
ในฐานะประชาชนคนหนึ่ง เราก็คงต้องรอจับตาดูกันต่อไปว่า เมื่อมีการใช้เงินดิจิทัลวอลเล็ตแล้ว เศรษฐกิจไทยจะเป็นอย่างไรต่อไป…
อ้างอิง :