‘นอนกรน’ หนึ่งในสาเหตุโรคหยุดหายใจขณะหลับ ใครเสี่ยง ไปตรวจ เบิกประกันสังคมได้แล้ว

‘นอนกรน’ หนึ่งในสาเหตุโรคหยุดหายใจขณะหลับ ใครเสี่ยง ไปตรวจ เบิกประกันสังคมได้แล้ว

การนอนกรนไม่ใช่เรื่องตลก เพราะเป็นหนึ่งในสาเหตุโรคหยุดหายใจขณะหลับ ซึ่งตอนนี้เบิกประกันสังคมได้แล้ว เช็คสิทธิ์ได้ที่บทความนี้

  • ‘โรคหยุดหายใจขณะนอนหลับ’ (Sleep Apnea) ใกล้ตัวกว่าที่คิด เพราะอะไร และมีอาการอย่างไร
  • สำนักงานประกันสังคม อนุญาตให้เบิกค่าใช้จ่ายตามจริงได้ ตั้งแต่ 1 ม.ค. 2567

ถ้าเป็นเมื่อก่อนคงได้ยินประโยคที่ว่า ยิ่งอายุมากโรคยิ่งเยอะ แต่ตอนนี้คงไม่ใช่แบบนั้นแล้ว เพราะหนึ่งในโรคที่คนรุ่นใหม่พูดถึงบ่อยขึ้นไม่แพ้กันก็คือ ‘โรคหยุดหายใจขณะนอนหลับ’ (Sleep Apnea) และถึงแม้ว่าจะมีการตรวจเช็คภาวะการนอนหลับในหลาย ๆ โรงพยาบาล แต่ราคาก็ค่อนข้างสูง

และก็ใช่ว่า ภาวะการนอนไม่พอ นอนไม่หลับ หรือหายใจติดขัด จนหยุดหายใจไปเลยนั้นจะอยู่แค่ในกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เพราะวัยรุ่น วัยทำงาน ยิ่งวัยที่กำลังสร้างเนื้อสร้างตัวก็เป็นได้เหมือนกัน (แต่อาจจะติดตรงที่ค่าใช้จ่ายในการตรวจเช็คและรักษามีราคาสูง)

ซึ่งราคาสำหรับการทำ Sleep Test ในโรงพยาบาลประเทศไทยทุกวันนี้จะอยู่ที่ประมาณเกือบหมื่น ไปจนถึงหมื่นหรือ 2 หมื่นทีเดียว

ข้อมูลจาก National Sleep Foundation ในอเมริกา เปิดประเด็นเรื่อง ‘การนอนกรน’ ว่าเป็นหนึ่งในสาเหตุของภาวะโรคหยุดหายใจขณะนอนหลับ แต่คนยังรู้น้อย ทั้งที่การนอนกรนเสียงดังเป็นหนึ่งในอาการที่แสดงความปิดปกติชัดเจน แล้วก็โยงมาถึงความรู้สึกหลังตื่นนอนในเวลาเช้า ที่อาจจะไม่สดชื่น ไม่กระปรี้กระเปร่า เพราะคุณภาพในการนอนหลับถูกละเลย

แน่นอนว่าไม่ใช่แค่คนไทยที่นอนกรนเสียงดัง แต่คนอเมริกันเป็นล้าน ๆ คนก็เผชิญกับปัญหานี้ และจุดที่มาจากการนอนไม่พอ หยุดหายใจในขณะที่นอนหลับ ส่งผลร้ายแรงมาถึงสภาพจิตใจ อารมณ์ เพราะคน ๆ นั้นจะรู้สึกหงุดหงิดกว่าเดิม เหนื่อยล้าทั้งวัน เลวร้ายที่สุดก็คือ เขาจะเข้าสู่ภาวะการเป็นโรคซึมเศร้า

โรคหยุดหายใจขณะหลับมี 2 แบบ

อาจจะแตะข้อมูลเพื่อทำความเข้าใจนิดนึงว่า การหยุดหายใจขณะหลับไม่ใช่ว่าจู่ ๆ ก็ป็นกันได้ เพราะบางทีมันมีสาเหตุในเชิงวิทยาศาสตร์อยู่ แบบแรกเข้าใจง่าย ๆ ก็คือ หยุดหายใจจากการอุดกั้นทางเดินหายใจ (OSA) คือ ช่องคอ ปาก หรือ ลำคอ อาจจะตีบแคบกว่าภาวะปกติ ทำใหการหายใจลำบากขึ้น

แบบที่ 2 คือ Central Sleep Apnea หรือ CSA อาจจะศัพท์ทางการแพทย์นิดนึง แต่ไม่ต้องตกใจเพราะพบได้ไม่บ่อย CSA จะเป็นภาวะการหยุดหายใจจากสมองส่วนกลาง ซึ่งบางทีอาจเกิดขึ้นเพราะเป็นผลข้างเคียงจากยาที่กินเข้าไปแล้วทำปฏิกิริยากดประสาท เช่น ยานอนหลับ (เคสนี้บางคนอ่าจจะไม่รู้ตัวว่าแพ้ยานอนหลับ) แต่จุดที่น่าสนใจของแบบที่ 2 คือ ไม่ใช่ทุกคนที่จะกรนจากอาการเหล่านี้ แต่สามารถเป็นอาการอื่นแทน เช่น ปากแห้งหลังตื่นนอน, ปวดศรีษะบ่อย, เหงื่อออกตอนกลางคืน, เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ เป็นต้น

และหลายคนอาจยังไม่รู้ว่า คนที่มีประวัติครอบครัวเป็นโรคหยุดหายใจขณะนอนหลับ อาจเพิ่มความเสี่ยงที่คุณจะเป็นโรคหยุดหายใจขณะนอนหลับได้เช่นกัน

ยิ่งอ่านข้อมูลที่เล่ามานี้ ยิ่งคิดว่า โรคหยุดหายใจขณะนอนหลับนั้นใกล้ตัวกว่าที่คิดไว้มาก บางคนอาจจะเคยได้ยินแต่ไม่รู้ละเอียด หรือก็อาจจะมีคนที่ไม่รู้เลยว่ามีโรคนี้อยู่ในยุคนี้ ดังนั้น การที่สำนักงานประกันสังคม (สปส.) ประกาศหลักเกณฑ์และอัตราสำหรับประโยชน์ทดแทนใหม่ล่าสุด เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2567 เราคิดว่า น่าสนใจมาก และอยากจะหยิบมาเล่าสรุปให้ชาว The People รู้

 

ประกันสังคมช่วยโรคล่าสุดอะไรบ้าง?

กลายเป็นประเด็นฮือฮาระลอกเล็ก ๆ ที่ผ่านมาหลัง สปส. ประกาศเพิ่ม ‘โรคหยุดหายใจขณะนอนหลับ’ ผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม สามารถเบิกค่าตรวจนอนหลับ (sleep test) รวมไปถึงค่าอุปกรณ์อื่น ๆ ได้แล้วตั้งแต่วันนี้

โดยมีใจความสรุปว่า การตรวจวินิจฉัย และดูแลรักษาผู้ประกันตนที่ป่วยเป็นโรคหยุดหายใจขณะหลับ สามารถเบิกค่าตรวจนอนหลับได้ (Polysomnography) ชนิดที่ 1 คือมีเจ้าหน้าที่เฝ้าติดตามขณะตรวจทั้งคืน โดยประกันสังคมจะจ่ายตามค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริง สูงสุดไม่เกิน 7,000 บาท

หรือ ไม่เกิน 6,000 บาท สำหรับ ‘ค่าตรวจการนอนหลับ’ (Polysomnography) ชนิดที่ 2 คือ ไม่มีเจ้าหน้าที่เฝ้าติดตามขณะตรวจ

ประกันสังคมจะจ่าย ‘ค่าอุปกรณ์เครื่อง CPAP และอุปกรณ์เสริม’ สำหรับการรักษาในอัตราที่กำหนด ดังนี้ 1) เครื่องอัดอากาศขณะหายใจเข้า (CPAP) ราคาชุดละ 20,000 บาท และ 2) หน้ากากครอบจมูก หรือปากที่ใช้กับเครื่อง CPAP ราคาชิ้นละ 4,000 บาท

แต่ไม่ว่าเราจะมีโอกาสเบิกค่ารักษา หรือ ค่าตรวจเช็คโรคหยุดหายใจขณะนอนหลับได้แล้วจากประกันสังคม แต่คิดว่าคงไม่มีใครอยากจะใช้สิทธิ์นี้แน่ ๆ เพราะภัยที่มาต่อเนื่องจากโรคนี้ไม่แค่การนอนกรน การนอนไม่พอ หรือเหนื่อยล้าอย่างที่พูดไปแล้ว แต่ในระยะยาวคนที่มีภาวะดังกล่าว ยังมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคเรื้อรังบางโรคอีกด้วย อย่างเช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคหลอดเลือดหัวใจ หรือโรคหลอดเลือดสมอง

ทั้งนี้ วันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 14.00 - 17.00 น. ณ คริสตัล บ็อกซ์ (Crystal Box) ชั้น 19 เกษร เออร์เบิน รีสอร์ท (Gaysorn Urban Resort) เตรียมพบกับ Shall we SLEEP 2024: Sleepless Societies Forum งานเสวนาเปิดประสบการณ์การนอนที่ดี...เพื่อช่วยให้ผู้คนมีสุขภาพดียิ่งขึ้น เพราะ The people อยากชวนทุกคนมารักสุขภาพและนอนให้เต็มอิ่มไปด้วยกัน

 

ภาพ: .sleepstation

อ้างอิง:

Do I have Obstructive Sleep Apnea?

Obstructive sleep apnea — everything you need to know

Sleep apnea

Sleep Apnea - What it is, its risk factors, its health impacts, and how it can be treated

มีปัญหาการนอน? เบิกค่า sleep test ผ่าน 'ประกันสังคม' ได้แล้ว ไม่เกิน 7,000 บาท