19 พ.ค. 2566 | 19:00 น.
เศรษฐกิจชะลอตัว… จะแก้อย่างไรดี?
“ลดปริมาณการเก็บภาษี!”
“เพิ่มปริมาณเงินในระบบสิ!”
ไม่ผิดนักถ้าจะบอกว่าเศรษฐกิจของประเทศก็เสมือนรถคันหนึ่งที่มีโชเฟอร์เป็นรัฐบาลและธนาคารกลางเป็นผู้ขับขี่ หากเป็นเช่นนั้น ก็ไม่ผิดเช่นเดียวกันถ้าเราจะมองว่านโยบายทางเศรษฐกิจต่าง ๆ คือการเหยียบเบรกและคันเร่งเพื่อนำพารถที่มีนามว่า ‘เศรษฐกิจ’ ไปข้างหน้าโดยไม่แหกโค้งหรือทิ้งท้ายจนไม่ถึงที่หมายไปเสียก่อน ดังนั้น หน้าที่ของโชเฟอร์คือการประคองเศรษฐกิจไปได้อย่างสมดุลที่สุด
ไม่ผิดเช่นเดียวกัน ถ้าจะมองว่าเศรษฐกิจของประเทศคือคน ๆ หนึ่ง ที่ก็ต้องมีป่วยกันบ้าง ซึ่งก็เป็นหน้าที่ของผู้กำกับดูแลอีกเช่นเดียวกัน ว่าเมื่อเศรษฐกิจของประเทศเผชิญกับวิกฤต ไม่ว่าจะเป็นเงินเฟ้อ เงินฝืด หรือวิกฤตใด ๆ ที่อาจเกิดขึ้น พวกเขาจะต้องหยิบยาที่ถูกเม็ดมาใช้ ความแรงที่ถูกขนาน ไม่เช่นนั้นปัญหาจะไม่มลายหายไป… หรืออาจแย่ลงกว่าเดิม
การมองเศรษฐกิจแบบมีคนขับเช่นนี้คือการมองเศรษฐกิจโดยมีรากฐานแนวคิดเดิมมาจากเศรษฐศาสตร์สำนักเคนส์ (Keynesian Economics) ที่ให้ความสำคัญกับการกระทำสำคัญของรัฐบาล แต่แน่นอนว่าความคิดเช่นนี้ก็มีเสียงโต้แย้งจากเศรษฐศาสตร์สำนักอื่น ๆ โดยเฉพาะกับเศรษฐศาสตร์คลาสสิกใหม่อย่าง สำนักชิคาโก (Chicago School) ที่ปฏิเสธแนวคิดแบบเคนส์อย่างชัดเจน
โดยเศรษฐศาสตร์สำนักนี้ มองว่าเศรษฐกิจสามารถดูแลตัวเองได้ เงินเฟ้อเป็นปรากฎการณ์ธรรมชาติ หากล้มเดี๋ยวก็ลุกเอง หากทะยานสูงเดี๋ยวก็ต้องลงมาต่ำตามธรรมชาติและกลไกของมัน นโยบายต่าง ๆ ที่รัฐนำมาใช้ แทนที่จะบรรเทาสถาการณ์ให้ดีขึ้น แต่ในหลาย ๆ ครั้งกลับทำให้สถานการณ์แย่ลงกว่าเดิมเสียมากกว่า พวกเขาจึงมองว่าบทบาทของรัฐบาลมีควรมีอยู่อย่างจำกัดต่อเศรษฐกิจและเข้ามายุ่มย่ามเท่าที่จำเป็นก็เพียงพอ
มิลตัน ฟรีดแมน (Milton Friedman) นักเศรษฐศาสตร์ผู้นำเสนอแนวคิดการเปิดเสรีทางเศรษฐกิจ (Economic Liberalism) และผู้ต่อยอดแนวคิดเส้นโค้งฟิลลิปส์ (Phillips Curve) ที่ชี้ให้ผู้คนเห็นความไม่ยั่งยืนของเงินเฟ้อกับอัตราการว่างงานว่าอาจเป็นความสัมพันธ์ที่ไม่คงเดิมเสมอไป ซึ่งสามารถอ่านเรื่องราวนี้ต่อได้ในบทความ ‘Stagflation: ปรากฎการณ์ที่เศรษฐกิจที่ซบเซามาพร้อมกับเงินเฟ้อ’
หลังจากที่เกริ่นถึงการกระทำต่อรัฐในการดูแลเศรษฐกิจและแนวคิดของนักเศรษฐศาสตร์สำนักชิคาโกมาอยู่พักหนึ่ง ก็คงถึงเวลาที่เราต้องกล่าวถึงบุคคลที่เราจะฉายสป็อตไลท์ไปในวันนี้ ซึ่งเขาเป็นหนึ่งในนักเศรษฐศาสตร์สำนักชิคาโก หนึ่งในคนที่นำเสนอแนวคิดที่แสดงถึงข้อกังวลในการเลือกสรรนโยบายของรัฐบาล และเป็นศิษย์ของฟรีดแมนอีกด้วย
เขาคนนั้นก็คือ ‘โรเบิร์ต ลูคัส จูเนียร์’ (Robert Lucas, Jr.) นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลปี 1995 ที่ได้นำเสนอทฤษฎี ‘Rational Expectations’ ที่จะบอกกับเราและรัฐบาลว่า ประชาชนไม่ใช่ฝูงสัตว์ที่จะวิ่งไปตามกรอบและนโยบายที่รัฐเลือกใช้ พวกเขาจะไม่ปฏิบัติตามที่ตำราที่ระบุว่าพวกเขาเจอแบบไหนจะปฏิบัติแบบนั้น เพราะพวกเขาสามารถตัดสินใจและคาดการณ์แบบมีเหตุผลได้
“ถ้าผู้คนเข้าใจและเตรียมตัวกับสิ่งที่รัฐบาลกำลังจะทำ — เช่น การพยายามที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจโดยการเพิ่มปริมาณเงินในระบบ — เหล่าคนที่ทำงานจะต้องการเงินเดือนเพิ่ม เหล่าธุรกิจก็จะขึ้นราคาสินค้าของพวกเขา เพื่อที่จะรับมือกับสิ่งเงินเฟ้อที่อาจเดินทางมาถึงในอนาคต และท้ายที่สุดก็หักลบกับความพยายามของรัฐที่อยากกระตุ้นเศรษฐกิจไปโดยปริยาย”
คือคำกล่าวของ ‘ลีโอนาร์ด ซิลค์’ (Leonard Silk) คอลัมนิสต์ด้านเศรษฐศาตร์ที่ได้กล่าวถึงใจความสำคัญของทฤษฎี Rational Expectations ได้อย่างน่าสนใจ
เดิมทีนักเศรษฐศาสตร์ได้วิเคราะห์แนวทางการตัดสินใจของผู้คนเอาไว้ว่า พวกเขาจะตัดสินใจโดยยึดหลักข้อมูลในอดีตและปัจจุบันเป็นหลัก และความคาดหมายของเขาก็จะเปลี่ยนไปเมื่อมีเหตุการณ์ใหม่เข้ามา (Change their expectations as new events unfold) สิ่งเหล่านั้นคือขอบเขตของความคาดหวังที่พวกเขาได้นำเสนอเอาไว้ ซึ่งถูกนิยามว่า ‘Adaptive Expectations’ หมายความว่ารัฐสามารถใช้นโยบายใดก็ได้ที่จะให้ผลลัพธ์ดังที่เขาคาดหวังสมใจ — อยากจะกระตุ้นเศรษฐกิจก็ลดภาษี อยากจะกระตุ้นให้คนใช้เงินก็แจกเงิน พิมพ์เงิน
แต่ความเป็นจริงอาจไม่เป็นอย่างนั้น…
ลูคัสชี้ให้เราเห็นว่าคนไม่ได้คาดการณ์สถานการณ์โดยยึดตัวแปรเพียงแค่นั้น เพราะการคาดการณ์อย่างมีเหตุมีผลของพวกเขาได้ครอบคลุมตัวแปรไปถึงการกระทำของรัฐบาลด้วย กล่าวคือ ผลหรือราคาที่ต้องจ่ายของนโยบายนั้น ๆ จะถูกนำไปคิดคำนวณในสมการของพวกเขาก่อนตัดสินใจด้วย
ยกตัวอย่างเช่น หากรัฐบาลดำเนินการลดการเก็บภาษีเพื่อหวังกระตุ้นให้ผู้คนออกมาจับจ่ายใช้สอยกันมากขึ้น หากมองตามกรอบการวิเคราะห์แบบ Adaptive Expectations นี่จะถือเป็น ‘New Event’ ที่จะมาเซอร์ไพร์สเหล่าตัวแทนในเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นประชาชนหรือบริษัทห้างร้าน และผู้กำกับดูแลก็มีแนวโน้มที่จะได้กระตุ้นเศรษฐกิจดังใจหวัง
แต่ในกรอบแนวคิดของลูคัสที่ใช้ทฤษฎี Rational Expectations ผู้คนจะรู้เท่าทันราคาที่ต้องจ่ายของนโยบายที่หวังกระตุ้นเศรษฐกิจนี้ หากรัฐจะปรับลดภาษี สิ่งที่ตามมาคืองบของรัฐจะขาดดุล (Deficit) และผลพวงที่ตามมาคือพวกเขาก็จะ ‘คาดการณ์’ ว่าเดี๋ยวอีกปีสองปีรัฐต้องก็ต้องเก็บภาษีเพิ่มในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ดังนั้นพวกเขาก็อาจที่จะเลือกออมเงินตรงนี้ไว้เพื่อภาษีที่จะเพิ่มขึ้นในวันข้างหน้าจะดีกว่า
ด้วยเหตุนี้เราจะเห็นได้ว่า สิ่งที่รัฐพยายามจะทำอาจจะไม่ได้ผลลัพธ์ดังที่คาดหมายเสมอไป เพราะ ไม่ว่าจะเป็นประชาชนหรือธุรกิจห้างร้าน สามารถที่จะคาดการณ์อย่างมีเหตุผลได้ พวกเขาสามารถเดาทางสิ่งที่ผู้กำกับดูแลได้ และพวกเขาอาจจะไม่ประพฤติตามสิ่งที่ผู้ออกนโยบายคาดหวัง เพราะเขาทราบว่าราคาที่เขาต้องร่วมจ่ายในนโยบายนั้น ๆ คืออะไร
โรเบิร์ต อี. ลูคัส จากไปอย่างสงบในวันที่ 15 พฤษภาคม 2566 The People จึงได้นำเอาแนวคิดของเขามานำเสนอ เพราะสิ่งที่ลูคัสได้ค้นพบ ถือเป็นสิ่งสำคัญที่ปฏิวัติแวดวงเศรษฐศาสตร์ในการมองเศรษฐกิจแบบมหภาคไปอย่างใหญ่หลวง และได้สร้างรากฐานที่ได้ก่อร่างเป็นแนวคิดที่สำคัญมากมายในนยุคปัจจุบัน
กลายเป็นว่าการที่เราจะเข้าใจภาพใหญ่ให้ลึกไปมากกว่าเดิม สิ่งที่เราต้องมองคือภาพที่เล็กที่สุด เช่น ความคิดของคนหนึ่งคน ที่ท้ายที่สุด เมื่อก่อตัวรวมกันเป็นสังคม เป็นเศรษฐกิจ เป็นประเทศ จะกลายเป็นรากฐานของทิศทางทั้งหมดไปโดยปริยาย…