20 พ.ค. 2567 | 16:53 น.
‘ประติมากรรมสำริดรูปพระศิวะ’ (The Standing Shiva) หรือที่รู้จักกันในชื่อ ‘Golden Boy’ (โกลเด้น บอย) และ ‘ประติมากรรมสตรี’ (The Kneeling Female) ซึ่งสูญหายไปจากประเทศไทยเป็นเวลานานมากกว่า 50 ปี เพราะถูกลักลอบขุดและขโมยออกนอกประเทศไป มีกำหนดเดินทางถึงแผ่นดินไทยวันนี้ (20 พ.ค. 67) ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
หลังจากพิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโพลิทัน (The MET) สหรัฐอเมริกา แจ้งความประสงค์ส่งคืนโบราณวัตถุประติมากรรมสำริดทั้ง 2 รายการ และทางกรมศิลปากรได้ประสานรายละเอียดขั้นตอนการรับมอบโบราณวัตถุ 2 รายการดังกล่าว เมื่อช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา
สำหรับ โกลเด้น บอย มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 16 เป็นรูปพระศิวะสวมเครื่องทรงแบบบุคคลชั้นสูง ถือเป็นโบราณวัตถุชิ้นเยี่ยม ซึ่งพบไม่มากนัก ประติมากรรมนี้สูงถึง 129 เซนติเมตร มีเทคนิคการสร้างแบบพิเศษคือ หล่อด้วยสำริดและกะไหล่ทอง โดยมีหลักฐานยืนยันชัดเจนว่าเป็นโบราณวัตถุที่ถูกลักลอบขุดค้นจากโบราณสถานปราสาทบ้านยาง หรือ ปราสาทบ้านยางโป่งสะเดา ตำบลตาจง อำเภอละหานทราย จังหวัดบุรีรัมย์ ช่วงทศวรรษ 1960s
ขณะที่ประติมากรรมสตรี มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 16 เช่นกัน สูง 43 เซนติเมตร อยู่ในท่านั่งชันเข่าและยกมือไหว้เหนือศีรษะ แต่งกายแบบบุคคลชั้นสูง หล่อด้วยสำริด มีร่องรอยการประดับด้วยโลหะเงินและทอง
ดร.ทนงศักดิ์ หาญวงษ์ นักวิชาการอิสระด้านโบราณคดี และหนึ่งในคณะกรรมการติดตามโบราณวัตถุของไทยในต่างประเทศกลับคืนสู่ประเทศไทย กล่าวว่า หลักฐานชิ้นสำคัญที่ยืนยันว่า พบที่บ้านยางโป่งสะเดา ประเทศไทย คือหนังสือ 2 เล่ม ได้แก่ ขแมร์บอนด์ และขแมร์โกลด์ ที่เขียนโดย ‘ดักลาส แลตช์ฟอร์ด’ (Douglas A.J. Latchford) นายหน้าค้าโบราณวัตถุ ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการนำโกลเด้น บอย ออกนอกประเทศ ที่ระบุชัดเจนว่า วัตถุโบราณโกลเด้น บอย พบที่จังหวัดบุรีรัมย์ ประเทศไทย โดยมีคำว่า ‘ละหาน’ และ ‘บ้านยาง’ อยู่ในพิกัด
ทีมงานนักโบราณคดีของไทยจึงนำมาต่อจิ๊กซอว์ และใช้เวลาศึกษาอยู่นานกว่า 3 ปี จนทราบแน่ชัดว่า มีชาวบ้านขุดพบที่หมู่บ้านยางโป่งสะเดา ตำบลตาจง อำเภอละหานทราย จังหวัดบุรีรัมย์
เมื่อลงพื้นที่ไปสำรวจก็พบกับครอบครัวที่ขุดวัตถุโบราณ ‘โกลเด้น บอย’ ได้ จึงนำไปดูร่องรอยของฐานประติมากรรมสำริดดังกล่าว ซึ่งอยู่ในปราสาทบ้านยางโป่งสะเดา
ดร.ทนงศักดิ์ ระบุต่อว่า การค้นพบประติมากรรมสำริดโกลเด้น บอย ในครั้งนี้ มีความสำคัญมาก เป็นการพลิกหน้าประวัติศาสตร์เกี่ยวกับวัฒนธรรมและความเชื่อของอาณาจักรเขมรโบราณแบบเดิมโดยสิ้นเชิง โดยเฉพาะลักษณะของรูปหล่อโกลเด้น บอย มีลักษณะเหมือนรูปสลักที่ปราสาทหินพิมาย ไม่เหมือนพระศิวะที่เคยเห็นโดยทั่วไป
ดังนั้น จึงน่าจะเป็นรูปเคารพของ ‘พระเจ้าชัยวรมันที่ 6’ ซึ่งพระองค์เป็นต้นราชวงศ์มหิธรปุระ สืบเชื้อพระวงศ์มาจาก ‘พระเจ้าสุริยวรมันที่ 1’ ที่สร้างปราสาทเขาพระวิหาร โดยพระเจ้าชัยวรมันที่ 6 ได้สร้างปราสาทหินพิมายขึ้น เพื่อเป็นศูนย์กลางการปกครองของอาณาจักรเขมรโบราณทั้งหมด ทำให้เราต้องเปลี่ยนหน้าประวัติศาสตร์ใหม่
จากเดิมที่เคยเชื่อว่า ‘อาณาจักรเขมร’ แผ่มาจากทางฝั่งกัมพูชามาสู่ที่ราบสูงโคราช แต่จากหลักฐานใหม่ทำให้รู้ว่า ‘อาณาจักรขอม’ เคยยิ่งใหญ่อยู่บนที่ราบสูงโคราชมาก่อน แล้วจึงแผ่ไปทางฝั่งเมืองเสียมเรียบ กัมพูชา ในภายหลัง และหลักฐานที่ชัดเจนก็คือ หลานของพระองค์ คือ ‘พระเจ้าสุริยวรมันที่ 2’ ที่สร้างปราสาทนครวัด และที่ชัดที่สุด คือ ‘พระเจ้าชัยวรมันที่ 7’ ที่สร้างปราสาทบายน ที่นับถือศาสนาพุทธ นิกายมหายาน เช่นเดียวกับพระเจ้าชัยวรมันที่ 6
เพราะฉะนั้นการนับถือศาสนาพุทธ นิกายมหายานลักษณะนี้ มีการสืบทอดกันมาจนถึงยุคสุดท้ายของวัฒนธรรมเขมร และที่สำคัญก่อนหน้านั้น ก็มีการค้นพบวัตถุโบราณประติมากรรมสำริดกรุประโคนชัย ซึ่งมีอายุราว พ.ศ. 1300 อยู่ห่างจากจุดที่พบโกลเด้น บอย เพียง 5 กิโลเมตร ซึ่งมีความเก่าแก่กว่าประติมากรรมหล่อสำริดโกลเด้น บอย ที่มีอายุราว พ.ศ. 1623 อายุห่างกัน 300 กว่าปี
ทั้งนี้ กระทรวงวัฒนธรรม เชิญชวนประชาชนไทย เตรียมต้อนรับโกลเด้น บอย ประติมากรรมสำริด รูปพระศิวะ กลับคืนสู่ประเทศไทย ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร ในวันอังคารที่ 21 พฤษภาคม 2567
เรียบเรียง : พาฝัน ศรีเริงหล้า
อ้างอิง :
ตรวจสอบแล้ว Golden Boy ก่อนส่งกลับไทย ค่าใช้จ่ายส่งคืน สหรัฐฯ ยินดีรับผิดชอบ
คืบหน้า 'Golden Boy' พ.ค.67 เตรียมรับสมบัติชาติกลับคืนสู่ประเทศไทย
Golden Boy กรมศิลป์เตรียมเปิดให้ชมพร้อมคู่ฝาแฝด หลังกลับถึงมาตุภูมิ 20 พ.ค.
จากปากคนขุด "Golden Boy" ดีใจ กลับคืนไทย ตกใจ เครื่องเพชร 5 จุดหายเกลี้ยง