‘ลูซี โจนส์’ ผู้ฟังเสียงเตือนจากเปลือกโลก

‘ลูซี โจนส์’ ผู้ฟังเสียงเตือนจากเปลือกโลก

รู้จัก ‘ลูซี โจนส์’ นักแผ่นดินไหววิทยาผู้แปลภาษาเปลือกโลกให้มนุษย์เข้าใจ และเปลี่ยนความกลัวเป็นการเตรียมพร้อมรับมือกับภัยพิบัติ

KEY

POINTS

  • ผู้พัฒนาแบบจำลอง ShakeOut เพื่อเตรียมสังคมให้พร้อมรับมือแผ่นดินไหวครั้งใหญ่
  • นักวิทยาศาสตร์ที่สื่อสารความรู้เรื่องภัยพิบัติในภาษาที่คนทั่วไปเข้าใจได้
  • ผู้ผลักดันแนวคิด ‘ความยืดหยุ่นของสังคม’ (resilience) เพื่อลดความรุนแรงของภัยพิบัติ

กลางวันแสก ๆ ของเดือนกรกฎาคม 2019 ท้องฟ้าลอสแองเจลิสยังคงสว่างไสวเหมือนทุกวัน รถยนต์คันแล้วคันเล่าทะยานผ่านฟรีเวย์เหมือนทุกวัน คนในเมืองหลวงแห่งความบันเทิงเดินออกจากร้านกาแฟหรู แวะหยิบสมาร์ตโฟนขึ้นมาเช็กอีเมลก่อนข้ามถนน 

เหมือนทุกวัน... แต่แล้วพื้นก็สั่น ไม่ใช่แรงสั่นสะเทือนเล็ก ๆ ที่ผู้คนในแคลิฟอร์เนียเคยชินจนไม่ใส่ใจ แต่เป็นแรงสั่นระดับ 7.1 แมกนิจูด ที่เปลี่ยนช่วงบ่ายให้กลายเป็นการทดสอบเสถียรภาพของทุกสิ่ง ทั้งบ้านเรือน อาคารสูง ท่อส่งก๊าซ สัญญาณเตือนภัย และที่สำคัญที่สุด คือจิตใจของผู้คน

ผู้คนพากันเปิดทีวีอย่างรวดเร็วตามสัญชาตญาณ ความวุ่นวายเกิดขึ้นเฉพาะในใจ เพราะทุกคนรู้ว่าต้องฟังเสียงใคร

หญิงวัยหกสิบต้น ๆ สวมสูทสีเรียบ ไม่แต่งหน้า ไม่สะดุดตา ท่าทางนิ่งสงบปรากฏตัวในห้องแถลงข่าวของ United States Geological Survey (USGS) เธอไม่ได้ขึ้นเวทีเพื่อปลอบโยน หรือทำให้ผู้คนตื่นตกใจไปมากกว่านี้ แต่เพื่อพูดให้รู้ ว่าอะไรเกิดขึ้น และจะเกิดอะไรขึ้นต่อไป

“This is an earthquake that’s going to produce aftershocks for a long time. But it is not the Big One.”

“นี่คือแผ่นดินไหวที่จะก่อให้เกิดแรงสั่นสะเทือนตามมาอีกเป็นเวลานาน แต่ไม่ใช่แผ่นดินไหวครั้งใหญ่”

ประโยคนี้สั้นและสงบพอ ที่จะทำให้ทั้งเมืองวางแก้วกาแฟลง และตั้งใจฟัง

ชื่อของเธอ คือ ดร. ลูซี โจนส์ (Dr. Lucy Jones) และหากโลกเราจะมีใครสักคนที่สามารถพูดกับเปลือกโลกแล้วเข้าใจมัน เธอคนนี้แหละที่เราอยากอยู่ข้าง ๆ ยามโลกโยกไหว
 

ในยุคที่คำว่า ‘ภัยพิบัติ’ กลายเป็นคำที่หมุนเวียนประจำหัวข่าวระดับโลก ไม่ว่าจะเป็นไฟป่าในออสเตรเลีย น้ำท่วมในเยอรมนี หรือแผ่นดินไหวในตุรกี นักวิทยาศาสตร์ที่ขึ้นชื่อว่า ‘เข้าใจภัยพิบัติ’ ไม่ใช่แค่คนที่วิเคราะห์แรงสั่นได้แม่นยำ แต่คือคนที่แปลภาษาธรรมชาติให้มนุษย์ฟัง และเปลี่ยนความกลัวให้กลายเป็นความเข้าใจอย่างมีเหตุมีผล

ลูซี โจนส์ จึงไม่ได้เป็นเพียงนักแผ่นดินไหววิทยา (seismologist) เธอคือ ‘นักสื่อสารระหว่างโลกกับมนุษย์’

ตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา เธอไม่เพียงแค่ตีพิมพ์งานวิจัยเชิงลึก เรื่องการเกิดแผ่นดินไหวแบบ foreshock และ aftershock เท่านั้น แต่ยังเป็นผู้ริเริ่มแบบจำลองสถานการณ์ ‘ShakeOut’ ที่ช่วยให้รัฐแคลิฟอร์เนียเตรียมพร้อมต่อ ‘แผ่นดินไหวครั้งใหญ่’ ซึ่งคาดว่าจะมาเยือนในไม่ช้า

และที่สำคัญที่สุด เธอคือเสียงเดียวที่สังคมอเมริกันหันมาฟังโดยสมัครใจ

เด็กหญิงในดินแดนแผ่นดินไหว

ลูซี โจนส์ เกิดและเติบโตในหุบเขาซานแฟร์นันโด (San Fernando Valley) แคลิฟอร์เนีย ซึ่งเป็นหนึ่งในภูมิภาคที่โลกใต้เท้าของมนุษย์ไม่เคยสงบนิ่งเลยแม้แต่น้อย ตรงกันข้าม นี่คือพื้นที่ที่รอยเลื่อนทางธรณีวิทยาเดินสวนกันใต้พื้นดิน ราวกับเส้นชีวิตที่ตัดกันไปมาไม่รู้จบ

แม้เสียงสะเทือนจากแผ่นดินไหวคือฝันร้ายในมุมมองของหลายคน แต่สำหรับเธอ นี่คือเสียงเรียกให้เรียนรู้

เธอเคยเล่าว่า ตอนเด็ก ๆ ในคืนที่แผ่นดินไหว เธอไม่ได้ร้องไห้ หรือตกใจ เหมือนอย่างที่เด็กคนอื่นเป็น เธอกลับตั้งคำถามทันทีว่า “ทำไม?” ทำไมพื้นถึงสั่น ทำไมบ้านถึงโยก ทำไมทุกอย่างที่มั่นคงในตอนกลางวัน จึงกลายเป็นความไม่แน่นอนในตอนกลางคืน

คำถามเหล่านั้น ไม่ได้รับคำตอบในทันที แต่เก็บสะสมในใจอย่างเป็นระบบ ราวกับฟอสซิลใต้ดิน รอวันที่จะถูกขุดขึ้นมาศึกษา
 

พอถึงวัยเรียนมหาวิทยาลัย ลูซี โจนส์ ไม่ลังเลเลยที่จะเลือกทางเดินด้านธรณีวิทยา เธอสำเร็จปริญญาตรีจาก Brown University และก้าวสู่ระดับปริญญาเอกจากสถาบัน MIT หนึ่งในสถาบันที่เข้มข้นที่สุดของโลกในด้านวิทยาศาสตร์ โดยเลือกศึกษาในสาขา Seismology ซึ่งว่าด้วยการศึกษาการเคลื่อนไหวของเปลือกโลก

ในยุคทศวรรษ 1970s ห้องเรียนวิทยาศาสตร์ระดับสูงยังเต็มไปด้วยผู้ชาย เสียงของนักศึกษาหญิงที่ยืนกรานว่าตนเองอยากเป็นนักแผ่นดินไหววิทยา จึงเป็นสิ่งแปลกหน้าอย่างยิ่ง แต่ลูซีไม่สน เพราะเธอสนใจแต่จะ ‘ฟัง’ เฉพาะโลกใต้พื้นดิน และฟังให้ลึกที่สุดเท่าที่มนุษย์คนหนึ่งจะฟังได้

หลังจบปริญญาเอก เธอเข้าทำงานกับ USGS (United States Geological Survey) ในปี 1983 และเริ่มศึกษาการเกิดแผ่นดินไหวที่ไม่ได้มาคนเดียวแบบโดด ๆ แต่มาเป็นกลุ่ม มาเป็นลำดับ มาเป็นเสียงสะท้อนที่ซ่อนอะไรไว้บางอย่าง

เธอคือหนึ่งในนักวิจัยยุคแรก ๆ ที่ให้ความสำคัญกับ foreshock หรือ แผ่นดินไหวเบา ๆ ก่อนแผ่นดินไหวใหญ่ และ aftershock ซึ่งเป็นการสั่นต่อเนื่องที่เป็นทั้งผลสะเทือน และคำเตือนจากธรรมชาติ

สำหรับเธอ ‘รูปแบบของความไม่แน่นอน’ เหล่านี้ น่าฟังยิ่งกว่าความแน่นอนเสียอีก

ทุกครั้งที่ลูซีลงมือศึกษารอยเลื่อน หรือออกแบบแบบจำลองทางธรณีวิทยา เธอมองมันในแบบเดียวกับที่คนหนึ่งอาจจะมองการเต้นของหัวใจ มันไม่ใช่เสียงตึงเครียดของการทำลายล้าง แต่คือ ‘ภาษาของโลก’ ภาษาเดียวกันกับที่เคยกระซิบเธอในวัยเด็ก ให้เดินเข้ามาใกล้ และตั้งใจฟัง

หญิงสาวกับรอยเลื่อนของแผ่นเปลือกโลก

การทำความเข้าใจแผ่นดินไหว เปรียบได้กับการพยายามอ่านจดหมายที่โลกเขียนไว้ใต้พื้นดิน โดยไม่มีผู้ส่ง ไม่มีลายเซ็น และไม่มีใครบอกได้ว่ามันจะถูกส่งขึ้นมาถึงผิวโลกเมื่อไร

ในช่วงต้นของชีวิตการทำงานกับ USGS ลูซี โจนส์ เลือกที่จะอ่านจดหมายนั้นด้วยความอดทน เธอไม่ได้วิ่งไล่ตามแผ่นดินไหวใหญ่แบบที่นักข่าววิ่งตามพาดหัวข่าว แต่มุ่งมั่นศึกษา ‘แผ่นดินไหวเล็ก ๆ’ ที่เกิดขึ้นซ้ำ ๆ ในพื้นที่หนึ่งอย่างต่อเนื่อง จนแทบไม่มีใครใส่ใจ ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่นักธรณีวิทยาเรียกว่า earthquake swarm

ลูซีเชื่อว่าการเข้าใจเสียงเหล่านี้ จะช่วยให้เราเข้าใจ ‘เสียงคำราม’ ที่อาจจะมาในวันใดวันหนึ่ง

เธอเริ่มต้นด้วยการศึกษาระบบการเกิด foreshocks  แรงสั่นเล็ก ๆ ที่เกิดก่อนเหตุการณ์ใหญ่ โดยที่ข้อมูลทางสถิติในยุคนั้นมีน้อย แต่เธอเชื่อว่า เบื้องหลังของการเกิดแผ่นดินไหว ไม่มีเหตุการณ์ใดที่ไร้แบบแผนโดยสิ้นเชิง

เธอค้นพบว่า ในบางพื้นที่ เช่น Parkfield, California แผ่นดินไหวขนาดกลางจะเกิดซ้ำในรูปแบบที่พอจะคาดการณ์ได้ จากนั้นจึงกลายเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการพยากรณ์แผ่นดินไหวในเชิงความน่าจะเป็น ไม่ใช่การฟันธงว่าจะแผ่นดินไหวเมื่อใด แต่ชี้ให้เห็นว่า พื้นที่ใดมีโอกาสสูงจะเกิด ภายในช่วงเวลาหนึ่ง

นี่คือการเปิดไฟฉายส่องไปในความมืด เพื่อให้เราไม่ต้องเดินอย่างตาบอดอีกต่อไป

ในโลกของธรณีวิทยา ผู้คนมักจะสนใจ ‘ขนาด’ ของแผ่นดินไหวมากกว่าความหมายของมัน แต่ ลูซี โจนส์ พยายามย้ำว่า

“ขนาด 5.5 ในพื้นที่ห่างไกลกับขนาด 5.5 ใต้เมืองหลวง ไม่ใช่เรื่องเดียวกัน”

เธอชี้ให้เห็นว่า ความเสียหายจากแผ่นดินไหวไม่ขึ้นอยู่กับแรงสั่นไหวเพียงอย่างเดียว แต่ขึ้นอยู่กับว่าใครเตรียมตัวไว้แค่ไหน การจะลดภัยพิบัติให้กลายเป็น ‘เหตุการณ์หนึ่ง’ ไม่ใช่ ‘หายนะหนึ่ง’ ขึ้นอยู่กับความเข้าใจที่เรามีต่อธรรมชาติล่วงหน้า

ในช่วงปลายยุค 1990s ลูซี โจนส์ ไม่ได้ทำงานเฉพาะกับแบบจำลองทางวิทยาศาสตร์ แต่เริ่มเข้าไปมีบทบาทใน “การเตรียมเมืองให้พร้อมรับแผ่นดินไหว” เธอทำงานร่วมกับหลายเทศบาลในแคลิฟอร์เนีย เพื่อประเมินโครงสร้างพื้นฐาน โรงเรียน และระบบสาธารณูปโภคที่เปราะบาง 

ความเปลี่ยนแปลงสำคัญของชีวิตเกิดขึ้น เมื่อเธอไม่พอใจแค่อยู่ในห้องวิจัยอีกต่อไป เธอตัดสินใจว่านักวิทยาศาสตร์ที่ดีไม่ใช่แค่คนที่เข้าใจโลก แต่ต้องกล้าลุกขึ้นพูดกับสังคมด้วย และในจังหวะที่เปลือกโลกเริ่มสั่นขึ้นเรื่อย ๆ ลูซี โจนส์ ก็กำลังฝึกเสียงของเธอให้มั่นคงพอ ที่จะสื่อสารกับผู้คนทั้งเมือง เพื่อเตรียมรับมือกับ ‘เสียงคำราม’ ที่กำลังจะมา


ShakeOut และศิลปะของการเตรียมพร้อม

ไม่มีใครรู้ว่าแผ่นดินไหวครั้งใหญ่จะเกิดขึ้นเมื่อไร แต่นักวิทยาศาสตร์หญิงคนนี้เชื่อว่า เราทุกคนสามารถเลือกได้ว่าจะ “พร้อมแค่ไหน” ในวันที่มันเกิดขึ้น

ในช่วงต้นศตวรรษที่ 21 ขณะที่ความเข้าใจทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับแรงสั่นสะเทือนของโลกก้าวหน้าไปไกล สังคมกลับยังคงวนเวียนอยู่กับคำถามเก่า ๆ ที่เธอเคยได้ยินมาตลอดชีวิตการทำงาน

“เราจะรู้ได้ยังไงว่าแผ่นดินไหวจะเกิดขึ้นเมื่อไร?” จะเตือนล่วงหน้าได้ไหม?” “จะหนีทันหรือเปล่า?”

คำถามเหล่านี้เกิดจาก ‘ความกลัว’ มากกว่าความไม่รู้ และความกลัวที่ทำให้มนุษย์ไม่ลงมือเตรียมตัวเสียที เพราะเชื่อว่าตัวเองไม่มีทางชนะธรรมชาติได้อยู่แล้ว

ในปี 2008 เธอจึงตัดสินใจเปลี่ยนวิธีพูด จากการเตือนภัย มาเป็นการจำลองภัย โดยร่วมมือกับทีมวิจัยของ USGS, Caltech, FEMA และหน่วยงานท้องถิ่นต่าง ๆ สร้างโครงการชื่อว่า The ShakeOut Scenario ซึ่งเป็นแบบจำลองเหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาด 7.8 บนรอยเลื่อน San Andreas ที่จะส่งผลสะเทือนถึงชีวิตคนกว่า 10 ล้านคนในแคลิฟอร์เนีย

นี่คือภาพจำลองของโลกในวันพรุ่งนี้ โดยแบบจำลองนี้แจกแจงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นแบบละเอียด ไม่ว่าจะเป็น จำนวนผู้บาดเจ็บ, ระบบสื่อสารที่ล่มสลาย, น้ำก๊อกที่ไม่ไหล, โรงพยาบาลที่รับมือไม่ไหว ไปจนถึงเศรษฐกิจที่จะเสียหายกี่พันล้านเหรียญ

แต่สิ่งที่น่าสนใจกว่าตัวเลข คือวิธีที่ลูซีใช้เล่าเรื่อง เธอไม่ได้พูดถึง ‘ภัยพิบัติ’ อย่างน่ากลัว แต่ชี้ให้เห็นว่า “อะไรคือสิ่งที่เราทำได้” เพื่อเปลี่ยนผลลัพธ์นั้นให้เบาลง เธอนั่งอยู่ในห้องประชุมกับนายกเทศมนตรี เพื่ออธิบายว่าทำไมการซ่อมแซมอาคารเรียนเก่า ๆ จึงสำคัญพอ ๆ กับการสร้างโรงเรียนใหม่

เธอไม่ได้ยกมือฟันธงว่า “ภัยจะเกิดแน่” แต่ชี้ให้เห็นว่า “หายนะจะรุนแรงแค่ไหน ขึ้นอยู่กับว่าสังคมเตรียมตัวไว้มากแค่ไหน”

โครงการ ShakeOut กลายเป็นเหตุการณ์จำลองที่หลายเมืองร่วมกันจัดขึ้นในแต่ละปี มีประชาชนหลายล้านคนซ้อมหนี ซ้อมหมอบ ซ้อมปิดแก๊ส ซ้อมดูแลกันและกัน นับเป็น ‘การฝึกซ้อม’ (drill) ครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของสหรัฐฯ ที่ประชาชนไม่ได้ทำเพราะถูกสั่ง แต่ทำเพราะ ‘เข้าใจ’

“The Big One is inevitable. But the disaster is not.”
“แผ่นดินไหวครั้งใหญ่เป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ภัยพิบัติไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้น”

จากธรณีวิทยาสู่การออกแบบสังคม

ปี 2016 ลูซี โจนส์ วางมือจากตำแหน่งนักวิทยาศาสตร์อาวุโสของ United States Geological Survey (USGS) หลังทำงานมายาวนานกว่า 33 ปี

ในวันที่คนอื่นอาจเลือกใช้เวลาส่วนตัวอย่างสงบหลังเกษียณ เธอกลับเริ่มต้น ‘งานใหม่’ ที่ไม่เคยมีตำแหน่งในระบบราชการใดรองรับ โดยเปิดศูนย์ของตนเองในชื่อ ‘The Dr. Lucy Jones Center for Science and Society’ องค์กรไม่แสวงผลกำไรที่มีเป้าหมายชัดเจน นั่นคือการเชื่อมวิทยาศาสตร์เข้ากับการตัดสินใจของสังคม

“My goal is to create a more resilient society. We can’t stop the earthquake, but we can stop the disaster.” 

“เป้าหมายของฉันคือการสร้างสังคมที่มีความยืดหยุ่นมากขึ้น เราไม่สามารถหยุดแผ่นดินไหวได้ แต่เราสามารถป้องกันภัยพิบัติได้”

คำว่า ‘resilience’ — ความทนทาน ความยืดหยุ่น ความสามารถในการฟื้นตัว กลายเป็นคำสำคัญของเธอในยุคหลัง ไม่ใช่แค่ในความหมายทางวิศวกรรม แต่ในเชิง ‘สังคมศาสตร์’ ที่ลึกซึ้งกว่านั้น

ในช่วงดำรงตำแหน่งนักวิทยาศาสตร์ของ USGS เธอมีบทบาทเชิงที่ปรึกษารัฐบาลหลายระดับ แต่บทบาทที่โดดเด่นที่สุดคือการเป็น ที่ปรึกษาด้านความยืดหยุ่นของเมืองลอสแอนเจลิส ภายใต้โครงการ ‘Resilience by Design’ ซึ่งริเริ่มโดย Eric Garcetti นายกเทศมนตรีในขณะนั้น

โครงการนี้เกิดขึ้นในปี 2014 มีเป้าหมายเพื่อออกแบบนโยบายสาธารณะที่จะช่วยให้เมืองลอสแอนเจลิส ‘ยืนหยัดได้’ แม้ในวันที่แผ่นดินโยกสะเทือน โดยแผนแม่บทของโครงการมีข้อเสนอ 3 ด้านหลัก ประกอบด้วย เสริมความแข็งแรงของอาคารที่เปราะบาง, ยกระดับโครงข่ายน้ำประปาและไฟฟ้าให้ทนแรงสั่นไหว และปรับปรุงระบบการสื่อสารและตอบสนองฉุกเฉิน

นอกเหนือจากงานกับหน่วยงานภาครัฐ ศูนย์ของเธอยังทำงานกับชุมชน ศิลปิน องค์กรไม่แสวงกำไร และธุรกิจเอกชน เธอเชื่อว่า ‘ความทนทานของสังคม’ ไม่ได้เกิดจากวิศวกรเพียงกลุ่มเดียว แต่ต้องมาจากความร่วมมือของทุกภาคส่วน แม้กระทั่งศิลปินหรือช่างภาพ ก็มีบทบาทในการเล่าความเข้าใจเรื่องภัยพิบัติผ่านสายตาและภาษาของตัวเอง

ในปี 2018 เธอเขียนหนังสือชื่อ ‘The Big Ones: How Natural Disasters Have Shaped Us (and What We Can Do About Them)’ เป็นงานสารคดีเล่มแรกที่เธอใช้ประสบการณ์ทั้งชีวิต เล่าเรื่องภัยพิบัติครั้งสำคัญของโลก เช่น ภูเขาไฟปอมเปอี (79 AD), แผ่นดินไหวลิสบอน (1755), พายุไต้ฝุ่นคาทรีนา (2005) และ แผ่นดินไหวโทโฮขุและสึนามิญี่ปุ่น (2011) 

เธอเล่าให้เห็นว่ามนุษย์เลือกตอบสนองต่อภัยพิบัติอย่างไร ใครลุกขึ้นจัดการ ใครเพิกเฉย ใครเรียนรู้ และใครลืม พยายามบอกว่า “ภัยพิบัติไม่ใช่จุดจบของสังคม” หากแต่เป็นเครื่องตรวจสอบว่าโครงสร้างของสังคมนั้นยืดหยุ่นเพียงใด

เธอไม่เคยเรียกตัวเองว่า activist และไม่เคยชูธงใด ๆ ทางการเมือง แต่ผลงานของเธอกำลังบอกเราว่า การใช้วิทยาศาสตร์อย่างมีความรับผิดชอบ ก็คือการทำงานเพื่อมนุษยชาติในแบบของมัน 

ในโลกที่เต็มไปด้วยความเปราะบางและข่าวปลอม เสียงที่เรียบง่ายแต่หนักแน่นของ ลูซี โจนส์  จึงมีค่านัก ไม่ใช่เพราะเธอพยากรณ์ภัยพิบัติได้แม่นยำที่สุด แต่เพราะเธอพูดกับความกลัวของมนุษย์ด้วยความเข้าใจ และพูดกับวิทยาศาสตร์ด้วยความรับผิดชอบ ไม่ได้ทำให้ภัยพิบัติดูน่ากลัวเกินจริง แต่ไม่เคยทำให้มันดูเบาบางไปกว่าที่ควรจะรับรู้

ในแง่หนึ่ง เธอไม่ต่างจาก ‘นักแปลภาษา’ แปลเสียงของโลกใต้ดินให้กลายเป็นแผนรับมือบนดิน แปลข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ให้กลายเป็นภาษาที่แม่คนหนึ่งจะอธิบายให้ลูกฟังได้ แปลภัยพิบัติให้กลายเป็นโอกาสในการเตรียมพร้อม

“The real disaster isn’t the earthquake. It’s what we failed to prepare for.” 

“ภัยพิบัติที่แท้จริงไม่ใช่แผ่นดินไหว แต่เป็นสิ่งที่เราไม่ได้เตรียมพร้อม”

เพราะแท้จริงแล้ว สิ่งที่สำคัญกว่าการแตกร้าวของเปลือกโลก คือรอยปริในความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับความจริง

และนักวิทยาศาสตร์อย่างลูซี โจนส์ คือผู้ที่คอยประสานรอยปรินั้นไว้ทีละถ้อยคำ ทีละข้อมูล ทีละบทสนทนา กับสังคมที่กำลังเรียนรู้ จะฟังเสียงของโลกอย่างถ่อมตน.

 

เรื่อง: อนันต์ ลือประดิษฐ์ 

ภาพ: Getty Images 

ที่มา:

City of Los Angeles. Resilience by Design: Strengthening Our City. Office of Mayor Eric Garcetti, 2014. https://www.lamayor.org/resilience

Jones, Lucy. The Big Ones: How Natural Disasters Have Shaped Us (and What We Can Do About Them). Knopf, 2018.

Los Angeles Times. “Lucy Jones Explains Ridgecrest Earthquake.” Los Angeles Times, 5 July 2019. https://www.latimes.com/local/lanow/la-me-ln-earthquake-lucy-jones-science-20190705-story.html

NPR. “The Big Ones: How Natural Disasters Have Shaped Us.” All Things Considered, 16 Apr. 2018, National Public Radio. https://www.npr.org/2018/04/16/602681576

The Lucy Jones Center for Science and Society. About Dr. Lucy Jones. https://www.lucyjonescenter.org

U.S. Geological Survey. The ShakeOut Scenario: A Hypothetical Earthquake on the San Andreas Fault in Southern California. Open-File Report 2008–1150, 2008. https://pubs.usgs.gov/of/2008/1150/

The New Yorker. “Lucy Jones Doesn’t Just Read the Richter Scale. She Reads the Room.” The New Yorker, 2018.