19 ก.พ. 2563 | 10:42 น.
หมีเต้นระบำ คือการแสดงโชว์ที่ครั้งหนึ่งเคยได้รับความนิยมมากในพื้นที่แถบอินเดียตอนเหนือ ครูฝึกจะจูงหมีไปมาตามท้องถนน และเล่นดนตรีเพื่อให้หมีเต้นตามเสียงเพลง ก่อนจะเรี่ยไรเงินจากผู้ชมทั้งหลาย นึกภาพตามก็ดูน่ารักดี แต่กว่าจะฝึกให้หมีทำเช่นนี้ได้ ครูฝึกต้องเริ่มฝึกฝนหมีตั้งแต่ยังเล็ก ลูกหมีจะถูกจับให้ยืนเหยียบลงบนแผ่นไม้ หรือแผ่นเหล็กเผาไฟ ซึ่งหมีต้องกระโดดสลับขาอยู่บนนั้นเพื่อหนีจากความเจ็บปวด ครูฝึกจะเล่นเพลงไปเรื่อย ๆ ซ้ำไปซ้ำมา เพื่อให้พวกมันจำได้ขึ้นใจว่านี่คือหนึ่งในวิธีหนีเอาชีวิตรอด กระบวนการอันโหดร้ายนี้ค่อย ๆ ถูกต่อต้านจากกลุ่มนักอนุรักษ์ที่ทำงานเพื่อปกป้องสายพันธุ์ของสัตว์ในยุคหลัง แต่แม้จะลดลง ก็ใช่ว่ามันหมดไป เพราะ คาร์ทิก สัตยนารายัน (Kartick Satyanarayan) นักอนุรักษ์ ผู้ก่อตั้ง Wildlife S.O.S ศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ป่าในอินเดีย เล่าว่า จนถึงตอนนี้พื้นที่แถบอินเดียตอนเหนือยังคงเป็นบริเวณที่ผู้คนนิยมจับสัตว์มาค้าขายและฝึกให้แสดงโชว์เพื่อหาเลี้ยงชีพ แม้ตลอดระยะเวลา 10 ปี ทั้งคาร์ทิกและและทีมนักอนุรักษ์จะพยายามทุ่มเทเพื่อหยุดยั้งขบวนการล่าหมีเหล่านี้มากเพียงใด ผลลัพธ์ที่น่าพอใจก็ยังไม่ยอมมาถึง พวกเขายังไม่สามารถหยุดยั้งการล่าหมีให้หมดไปได้สำเร็จ และเพราะจำนวนหมีป่าที่ลดลงอย่างน่าใจหายในปี 1995 ทางออกใหม่ที่เขาตัดสินใจทำจึงเป็นการจัดตั้งโครงการวิจัยเชิงสืบสวน ที่มีระยะเวลาดำเนินการนานถึง 2 ปี เพื่อหาทางแก้ปัญหาการล่าและค้าหมี ก่อนที่จะไม่มีหมีหลงเหลืออยู่ในป่าอินเดียอีก [caption id="attachment_19756" align="aligncenter" width="640"] ภาพระหว่างซื้อขายลูกหมี ส่วนหนึ่งจากคลิปวิดิโอของทีมอนุรักษ์[/caption] “นี่คือภาพที่เราได้มาจากกล้องลับที่ติดตรงกระดุมเสื้อของทีมงาน พวกเขาปลอมตัวเข้าไปทำทีว่าอยากจะขอซื้อหมี” คาร์ทิกเล่า และบอกเพิ่มว่า แหล่งซื้อขายหมีในรัฐกรณาฏกะของอินเดีย ไม่ได้อยู่หลบซ่อนจากสายตารัฐบาลอย่างที่เขาเคยคิด เพราะที่จริงกลุ่มคนที่อยู่เบื้องหลังกระบวนการค้าสัตว์เหล่านี้ ล้วนเป็นเพียงชาวบ้านยากจนจากเมืองคาลันดาร์ ชุมชนมุสลิมชายขอบที่อาศัยอยู่ในอินเดียมานานหลายศตวรรษ ชาวคาลันดาร์ที่อพยพมาตั้งถิ่นฐานในอินเดียตั้งแต่ศตวรรษที่ 13 ยังคงดำรงชีพด้วยวิถีปฏิบัติดั้งเดิมคือการล่าสัตว์ เก็บของป่า รวมถึงนำสัตว์ป่าอย่างลิงและหมีมาฝึกเพื่อเรี่ยไรเงินตามท้องถนน แต่เพราะในปี 1972 รัฐบาลอินเดียประกาศให้การล่าหมีกลายเป็นสิ่งผิดกฎหมาย หนทางในการหารายได้ของชาวคาลันดาร์จึงเปลี่ยนจากอาชีพนายพราน กลายมาเป็นขบวนการค้าสัตว์ผิดกฎหมายที่ลักลอบค้าขายกันลับ ๆ แทน จากการสำรวจพบว่า บรรดาลูกหมีจะถูกจับมาจากหลายพื้นที่ทั่วประเทศ ส่วนใหญ่จะเป็นลูกหมีพันธุ์สลอธและหมีสีน้ำตาล ที่มีแหล่งอาศัยในแถบอินเดียและปากีสถาน พวกมันจะถูกนำมาขายหรือแลกเปลี่ยนกันในท้องตลาดด้วยราคาไม่น้อยกว่า 2,000 เหรียญสหรัฐ (ประมาณ 60,000 บาท) นอกจากจะถูกนำไปทำซุปอุ้งตีนหมีแล้ว แน่นอนว่าพวกมันยังถูกนำไปฝึกเป็นหมีเต้นระบำตามท้องถนนในเวลาต่อมาด้วย [caption id="attachment_19754" align="aligncenter" width="510"] ชาวคาร์ลันดาร์ที่เลี้ยงชีพด้วยการฝึกหมีเต้นระบำ[/caption] กระบวนการฝึกหมีเต้นระบำของชาวคาลันดาร์นั้น แม่หมีจะต้องถูกฆ่า และแยกลูกออกมาเพื่อฝึกตั้งแต่เล็ก ฟันและเขี้ยวเล็บของลูกหมีจะถูกตีให้หักด้วยท่อนเหล็กเพื่อให้ไม่สามารถกัดหรือต่อต้านผู้ฝึกได้ พวกเขาไม่ลืมเจาะรูผ่านจมูกและปากของลูกหมีโดยใช้เหล็กร้อน ๆ เพื่อร้อยเชือกสำหรับจูงและครอบมัดปากของพวกมันเอาไว้ และแม้เหล่านักอนุรักษ์จะอยากให้กระบวนการอันโหดร้ายทารุณเหล่านี้จบลงมากเพียงใด มันก็ไม่ใช่อะไรที่จะหยุดยั้งได้ง่าย ๆ เลย เพราะหมีตัวหนึ่งมีค่าเท่ากับปากท้องของคนทั้งบ้าน “สามีภรรยาคู่หนึ่งเพิ่งจะอายุได้ 18 ปีเท่านั้น แต่พวกเขามีลูกด้วยกันมาแล้ว 4 คน อย่างที่พวกคุณเห็น มันไม่มีทางเลยที่เราจะช่วยเหลือหมีออกมาได้ง่าย ๆ เพราะความอยู่รอดของพวกเขาขึ้นอยู่กับสัตว์เหล่านี้” คาร์ทิกพบว่า ชาวบ้านที่นี่ยังเลี้ยงหมีกันตามปกติ ไม่ได้หลบซ่อนหรือเกรงกลัวกฎหมาย สาเหตุหนึ่งก็เพราะแทบไม่มีผู้รักษากฎหมายคนไหนหันมาแยแสกับชนเผ่าอพยพเล็ก ๆ ที่อยู่อาศัยอย่างสันโดษ [caption id="attachment_19761" align="aligncenter" width="640"] หมีเต้นระบำที่ถูกเจาะจมูกร้อยเชือกเพื่อจูงลาก[/caption] เมื่อไม่สามารถใช้กฎหมายได้ คาร์ทิกและทีมงานจึงพยายามหาวิธีแก้ปัญหาที่ทำได้จริงและหวังผลอย่างยั่งยืน พวกเขาพยายามหาว่าอะไรคือเหตุผลที่ชาวคาลันดาร์ต้องประกอบอาชีพนี้ สาเหตุหนึ่งที่ปรากฏออกมา คือ ความยากจน ชาวคาลันดาร์มีอาชีพฝึกหมีเป็นองค์ความรู้หนึ่งเดียวที่สืบทอดต่อ ๆ กันมาจากรุ่นสู่รุ่น ความห่างไกลจากคุณภาพชีวิตที่ดี เพราะพวกเขาเป็นกลุ่มชาวมุสลิมชายขอบที่อยู่อาศัยร่วมกับป่าอย่างเงียบ ๆ และ การดำเนินชีวิตในสังคมปิด ก็ยิ่งตอกย้ำให้พวกเขาไม่สามารถมองเห็นถึงความเป็นไปได้ในการหาเลี้ยงครอบครัวด้วยวิธีอื่น แน่นอนว่าสิ่งที่ชาวคาลันดาร์ทำเป็นเรื่องผิดกฎหมาย หากถูกจับได้หมายถึงโทษจำคุกไม่ต่ำกว่า 7 ปี และเพราะข้อจำกัดทางความเชื่อและศาสนา ทำให้ผู้หญิงคาลันดาร์ไม่สามารถออกไปทำงานในสังคมภายนอก เมื่อหัวหน้าครอบครัวถูกจับไป ความอยู่รอดของคนที่ถูกทิ้งไว้จึงเรียกได้ว่าริบหรี่ เหล่านักอนุรักษ์พยายามระดมความคิดเพื่อแก้ไขปัญหาปากท้องของชาวคาลันดาร์ โดยเริ่มจากการเสนอเงินทุนสำหรับตั้งตัวให้พวกเขาเพื่อแลกกับหมี ก่อนจะแนะนำให้พวกเขาลองหันไปทำงานอย่างอื่น ทีมงานของคาร์ทิกเริ่มทดลองวิธีนี้กับครอบครัวคาลันดาร์กลุ่มเล็ก ๆ “นี่คือ บิตู ชาวคาลันดาร์ผู้ตอบรับการทดสอบของเราเป็นรายแรก ๆ ตอนแรกเราไม่มั่นใจเลยว่าจะโน้มน้าวเขาได้สำเร็จ แต่ดูเหมือนบิตูจะเฝ้ารอโอกาสนี้มานาน เพราะเขาตอบตกลงทันที แถมยังเริ่มทำธุรกิจอย่างราบรื่นด้วยการเปิดร้านขายน้ำอัดลม และมีตู้โทรศัพท์ชุมชนที่ใคร ๆ ก็สามารถมาหยอดเหรียญใช้งานได้” คาร์ทิกอธิบายว่า เรื่องราวของบิตู คือกรณีตัวอย่างที่ทำให้ทีมงานของเขาเริ่มเข้าใจว่า ปัญหาของกลุ่มคนเลี้ยงหมีนั้นมีหนทางที่สามารถแก้ไขได้ เพียงแค่พวกเขาต้องพยายามเข้าใจเรื่องราวของกลุ่มคนที่อยู่ในสมการ “และนี่คือ ซาดัว ชาวคาลันดาร์อีกคนที่ยอมมอบหมีมาให้เรา ตอนนี้เขาเปิดร้านขายอาหารปศุสัตว์และร้านขายธัญพืชใกล้ ๆ เมืองอัครา” หลังจากเริ่มเห็นความเป็นไปได้ ทีมงานของคาร์ทิกก็เริ่มทำงานตามแผนกันแบบไม่มีความลังเลอีก พวกเขาทั้งแจกเงินทุน แจกพาหนะสำหรับประกอบอาชีพอย่างรถสามล้อถีบ และจัดตั้งกลุ่มทอพรมเพื่อฝึกอาชีพสำหรับสตรีที่ไม่สามารถออกไปทำงานในสังคมภายนอกได้ “เพราะพวกเขาออกจากชุมชนไม่ได้ เราเลยแก้ปัญหาด้วยการให้พวกเขารวมกลุ่มกันทำงานจากภายใน แล้วค่อยส่งของออกมาขาย” ทีมงานยังเล็งเห็นถึงความจำเป็นของการศึกษา ซึ่งเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ขาดไปในชุมชนนี้ “เด็ก ๆ ที่นี่ไม่เคยได้ไปโรงเรียนเลย เพราะพวกเขาต้องช่วยที่บ้านทำงานหาเงินก่อน เราจึงจัดการสนับสนุนเงินทุนให้พวกเขาได้รับการศึกษา โดยสนับสนุนหลาย ๆ แผนการศึกษาเพื่อเด็กกว่า 600 คน พวกเขาจึงมั่นใจได้ว่าจะมีอนาคตที่สดใสขึ้น” เพื่อแลกกับการสนับสนุนทั้งหมด คาร์ทิกและทีมงานต้องเอาหมีมาเพื่อเป็นการแลกเปลี่ยน พวกเขาจัดตั้งเขตรักษาพันธุ์สัตว์ขึ้น 4 แห่งในอินเดีย เพื่อรองรับหมีจำนวนมาก ด้วยอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่พร้อมพรั่ง และเงินทุนที่พร้อมสนับสนุน ทั้งหมดนี้ทำให้ในปี 2002 จากการสำรวจที่พบว่ามีหมีเต้นระบำอยู่กว่า 1,200 ตัว พวกเขาสามารถช่วยเหลือพวกมันได้มากกว่า 550 ตัวภายในเวลาไม่ถึง 10 ปี ปลายทางความสำเร็จของพวกเขาอยู่ในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2010 ที่ทีมงานได้นำหมีเต้นระบำตัวสุดท้ายของอินเดียมารักษาตัวที่ศูนย์ช่วยเหลือ ทำให้อินเดียไม่ต้องทนดูการปฎิบัติอย่างโหดร้ายและป่าเถื่อนกับสัตว์ซึ่งมีมายาวนานหลายศตวรรษอีกต่อไป ขณะเดียวกันชาวคาลันดาร์ก็มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นด้วย คาร์ทิกเล่าว่า บทเรียนสำคัญที่เขาได้รับจากภารกิจช่วยเหลือหมีป่าในครั้งนี้ คือการมองภาพกว้างและแก้ไขที่ต้นเหตุของปัญหา เพราะที่จริงชาวคาลันดาร์อาจไม่ใช่คนร้าย แต่เป็นความยากจนที่ผลักดันผู้คนให้สามารถทำอะไรก็ได้ต่างหาก ถ้าทีมของเขาดึงดันที่จะใช้กฎหมายบีบบังคับให้ชาวคาลันดาร์มอบหมีให้โดยไม่แยแสว่าพวกเขาจะไปทำมาหากินอย่างไรต่อ ลูกหมีตัวใหม่ย่อมต้องถูกพรากจากอกของแม่มันอีกแน่ แต่เพราะการตัดสินใจดึงผู้คนในสมการเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหา จึงทำให้พวกเขาสามารถสิ้นสุดวิถีปฏิบัติอันเก่าแก่นี้จนได้ ที่มา https://www.thedodo.com/how-we-saved-indias-dancing-be-662350601.html https://www.naturalworldsafaris.com/natural-world-heroes/kartick-satyanarayan https://www.ted.com/talks/kartick_satyanarayan_how_we_rescued_the_dancing_bears https://wildlifesos.org/kartick-satyanarayan/ night-raid-20171222?c=1513955037347 http://www.bearconservation.org.uk/dancing-bears/