ยูนิซ นิวตัน ฟุต: นักวิทยาศาสตร์หญิงผู้ค้นพบปรากฏการณ์เรือนกระจก แต่กลับถูกลืมมานานกว่า 150 ปี

ยูนิซ นิวตัน ฟุต: นักวิทยาศาสตร์หญิงผู้ค้นพบปรากฏการณ์เรือนกระจก แต่กลับถูกลืมมานานกว่า 150 ปี

ยูนิซ นิวตัน ฟุต คือนักวิทยาศาสตร์หญิงผู้ถูกกลืนหายไปจากหน้าประวัติศาสตร์เกือบสองร้อยปี โชคดีที่มีคนค้นพบงานวิจัย 2 หน้าของเธอในคลังหนังสือเก่า และนั่นจึงเป็นที่มาว่าทำไมเธอจึงกลับมามีชีวิตอีกครั้งในปัจจุบัน

  • ยูนิซ นิวตัน ฟุต นักวิทยาศาสตร์หญิงผู้ค้นพบปรากฏการณ์เรือนกระจก แต่กลับไม่ถูกบันทึกลงในหน้าประวัติศาสตร์มานานเกือบสองร้อยปี โดยไม่มีใครรู้ว่าทำไมเธอถึงถูกลืมเลือน
  • บ้างก็ว่าเป็นเพราะเพศสภาพของเธอ ทำให้ผลงานวิจัยไม่ได้รับการยอมรับ บ้างก็ว่างานวิจัยของเธอยังไม่สมบูรณ์จึงไม่ถูกพูดถึง
  • นอกจากเป็นนักวิทยาศาสตร์แล้ว เธอยังมีส่วนร่วมในการเรียกร้องสิทธิสตรี เพื่อให้สังคมมองเห็นคุณค่าของผู้หญิงว่าไม่ด้อยกว่าเพศชายแต่อย่างใด

วันที่ 5 มิถุนายนของทุกปีคือวันสิ่งแวดล้อมโลก วันที่ถูกกำหนดขึ้นมาเพื่อให้เราตระหนักว่า ‘โลก’ กำลังจะตาย เพราะหากโลกมีอุณหภูมิสูงขึ้นอีกเพียง 2 องศา ดาวที่เราใช้อาศัยอยู่คงถึงคราวล่มสลาย น้ำในมหาสมุทรจะมีอุณหภูมิอุ่นขึ้นจนทำให้แนวปะการังล้มตาย แผ่นน้ำแข็งขั้วโลกละลายจนไม่เหลือแม้แต่พื้นที่ให้หมีขั้วโลกได้ยืน อุณหภูมิที่พุ่งทะยานกำลังทำให้สภาพอากาศทั่วโลกปั่นป่วน และแน่นอนว่าประเทศไทยเราเองก็ได้รับผลกระทบนี้เข้าไปเต็ม ๆ

แต่กว่ามนุษย์เราจะเข้าใจว่าโลกกำลังป่วยก็(เกือบ)สายไปเสียแล้ว เมื่อย้อนดูเส้นทางการค้นพบสิ่งที่เรียกว่า ปรากฏการณ์เรือนกระจก พบว่ามีการค้นพบมาตั้งแต่ปี 1856 ช่วงเวลาเดียวกับที่มนุษย์เราเปลี่ยนผ่านจากการใช้แรงงานคนมาเป็นเครื่องจักร

นี่อาจเป็นยุครุ่งโรจน์และเปลี่ยนหน้าประวัติศาสตร์ของเราไปชั่วพริบตา แต่อีกด้านหนึ่ง โลกของเราก็กำลังเลี้ยงเชื้อร้ายเก็บเอาไว้อย่างช้า ๆ กระทั่ง ‘ยูนิซ นิวตัน ฟุต’ (Eunice Newton Foote) นักวิทยาศาสตร์และนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิสตรี ได้ทำการทดลองภายในห้องเล็ก ๆ ของเธอ และพบว่าโลกของเรากำลังมีอุณหภูมิสูงขึ้น หากยังมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาไม่หยุดหย่อน

น่าเสียดายที่สิ่งที่เธอค้นพบกลับถูกประวัติศาสตร์หลงลืม เธอไม่เคยถูกจดจำ ไม่เคยถูกค้นพบ และไม่เคยได้รับการเอ่ยอ้างว่าเป็นคนแรกที่ค้นพบสิ่งที่ทำร้ายโลก

เวลาผ่านไป 150 ปี ‘เรย์มอนด์ โซเรนสัน’ (Raymond Sorenson) นักธรณีวิทยาวัยเกษียณ ซึ่งมีงานอดิเรกชอบสะสมหนังสือเก่าเป็นชีวิตจิตใจ พบบันทึกการทดลองหน้าแรกของฟุต (จากทั้งหมด 2 หน้า) ระบุถึงวิธีการทดลองทางวิทยาศาสตร์ที่ชี้ให้เห็นว่า ยูนิซ นิวตัน ฟุต คือคนแรกที่ค้นพบปรากฏการณ์เรือนกระจก

หลังจากอ่านทบทวนและเทียบเคียงปี ค.ศ. การค้นพบกับนักวิทยาศาสตร์รายอื่น โซเรนสัน พบว่าเขาได้เจอกับบุคคลสำคัญที่โลกลืมเข้าให้แล้ว เขานำชิ้นส่วนงานเผยแพร่ลงใน AAPG Search and Discovery วารสารธรณีศาสตร์ออนไลน์ พร้อมระบุว่า “เป็นที่แน่ชัดแล้วว่า ยูนิซ นิวตัน ฟุต สมควรได้รับการยกย่องให้เป็นผู้บุกเบิกการค้นพบว่า CO2 จะนำมาซึ่งผลกระทบและก่อให้เกิดภาวะโลกร้อนในที่สุด”

โดยภายในบันทึกการทดลองของฟุตนั้น เธอได้ตั้งทฤษฎีว่าการเปลี่ยนแปลงของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศ อาจส่งผลต่ออุณหภูมิของโลก “ชั้นบรรยากาศของกรดคาร์บอนิก(ชื่อเรียกก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในยุคนั้น)จะทำให้โลกของเรามีอุณหภูมิสูงขึ้น และถ้าสมมติว่าในช่วงเวลาหนึ่งของประวัติศาสตร์ อากาศได้มีการสะสมก๊าซในปริมาณที่สูงกว่าในปัจจุบัน (หมายถึงยุคของเธอ) อุณหภูมิที่สูงขึ้น ย่อมมีผลกระทบตามมาแน่นอน”

สรุปสั้น ๆ ว่าฟุตยังไม่รู้ว่าผลการทดลองชิ้นนี้คืออะไร แต่เธอได้วางรากฐานสำคัญเอาไว้แล้วว่า ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มีส่วนทำให้เกิดภาวะโลกรวนอย่างในปัจจุบัน

บทความของเธอถูกนำเสนอในวันที่ 23 สิงหาคม 1856 ณ American Association for the Advancement of Science (AAAS - ผู้จัดพิมพ์นิตยสาร Science) งานประชุมประจำปีที่รวบรวมเหล่านักวิทยาศาสตร์ทั่วประเทศมาร่วมกันแลกเปลี่ยนผลการทดลองอันน่าทึ่ง แม้จะเป็นก้าวย่างสำคัญที่จะทำให้นักวิทยาศาสตร์หญิงอย่างเธอได้รับการยอมรับ แต่เธอกลับมอบงานล้ำค่าให้กับ ‘โจเซฟ เฮนรี’ (Joseph Henry - เลขาธิการคนแรกของสถาบันสมิธโซเนียน) เป็นผู้ขึ้นนำเสนอแทน

ไม่แน่ชัดว่าทำไมเธอถึงไม่เสนองานด้วยตัวเอง แต่เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่าในอดีต ‘ผู้หญิง’ ไม่ได้รับการยอมรับให้แสดงออกทางความสามารถ ผู้หญิงหลายคนถูกสังคมกดทับจนไม่กล้าแม้แต่จะเงยหน้าขึ้นมาเสนอความคิดเห็น หรือบุกเบิกแนวคิดใหม่ ๆ จึงไม่แปลกใจเลยว่าทำไมชื่อของ ยูนิซ นิวตัน ฟุต ถึงเพิ่งมาปรากฏในอีก 150 ปีให้หลัง ขณะที่เรารู้จัก จอห์น ทินดอลล์ (John Tyndall ), สวานเต อาร์เรเนียส (Svante Arrhenius) และ นีลส์ กุสตาฟ เอคโฮล์ม (Nils Gustaf Ekholm) ชื่อของเหล่านักวิทยาศาสตร์ชายที่มีส่วนช่วยกันปะติดปะต่อให้เรารู้จักกับภาวะโลกร้อน แต่กลับไม่มีใครรู้จักนักวิทยาศาสตร์หญิงรายนี้แม้แต่คนเดียว

ซึ่งในอีก 3 ปีให้หลัง จอห์น ทินดอลล์ นักฟิสิกส์ชาวไอริชได้ตีพิมพ์ผลการค้นพบว่ามีก๊าซบางชนิดที่ดูดซับความร้อนเอาไว้ ซึ่งก๊าซที่ว่าคือคาร์บอนไดออกไซด์ เขาได้ยื่นผลการค้นพบให้กับองค์กรเพื่อการศึกษาและวิจัยทางวิทยาศาสตร์ทันทีในปี 1861 และนั่นทำให้เขาเป็นที่รู้จักกันในนาม บิดาผู้ค้นพบปรากฏการณ์เรือนกระจก

แต่เอกสารที่มีการค้นพบผ่านคลังหนังสือเก่าก็สร้างความสงสัยต่อผู้คนในสมัยปัจจุบันอย่างมาก ทำไมชื่อของทินดอลล์ถึงเป็นที่รู้จัก แล้วยูนิซ นิวตัน ฟุต หายไปไหน?

นี่คือคำถามที่ไม่สามารถหาข้ออธิบายได้ มีเพียงทฤษฎีที่คนในยุคนี้ได้แต่ตั้งไว้ว่า บางทีอาจเป็นเพราะเพศสภาพ หรือไม่ก็ผลการทดลองของเธออาจไม่สมบูรณ์เทียบเท่ากับการทดลองของทินดอลล์

อย่างไรก็ตาม เรื่องราวของฟุตที่เพิ่งถูกค้นพบไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาดในสังคมยุโรป ยังมีผู้หญิงอีกหลายคนที่ถูกฝังไปพร้อมกับร่างไร้วิญญาณ มีเพียงป้ายหลุมศพที่ระบุไว้ว่าเธอเคยมีชีวิตอยู่บนโลก ไม่มีผลงานใด ๆ ตกทอดมาถึงยุคสมัยปัจจุบัน

เรื่องราวของฟุตเตือนเราว่าผู้หญิงและคนที่มีเพศสภาพที่แตกต่างหลากหลาย ถูกเลือกปฏิบัติมาโดยตลอด แถมยังถูกตีตราว่าเป็นเพศที่มีความน่าเชื่อถือน้อยกว่าเพศชาย ไม่ว่าผลงานของเธอจะโดดเด่นเพียงใด แต่เมื่อเกิดมาเป็นหญิงก็จะถูกสังคม(ในอดีต)ตีตราว่าเป็นแค่ชิ้นงานไร้ความหมาย

“งานของฟุตเป็นเหมือนดาวตกที่สว่างไสวแล้วพลันจางหายไปจากสายตา”

ยูนิซ นิวตัน ฟุต เกิดเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 1819 ณ เมืองโกเชน รัฐคอนเนตทิคัต ประเทศสหรัฐอเมริกา ในครอบครัวใหญ่ท่ามกลางพี่น้อง 11 คน โดยมีพ่อเป็นชาวไร่ชื่อว่า ‘ไอแซก นิวตัน จูเนียร์’ และ ‘เธียร์ซา นิวตัน’ ทำหน้าที่เลี้ยงดูลูก ๆ อย่างใกล้ชิด

โชคดีที่ครอบครัวของเธอค่อนข้างมีฐานะ และเห็นความสำคัญของการศึกษา พ่อและแม่ส่งฟุตไปเรียนที่โรงเรียน Troy Female Seminary ซึ่งโดดเด่นทางด้านวิทยาศาสตร์ แถมยังมีห้องทดลองให้เธอได้ลองทำการเรียนรู้ด้วยตัวเองอยู่ตลอดเวลา

อาจเป็นเพราะสายเลือด ‘นิวตัน’ ของเธอก็เป็นได้ที่ทำให้ฟุตหลงใหลในวิทยาศาสตร์ ใช่, พ่อของเธอเป็นญาติห่าง ๆ ของ เซอร์ไอแซก นิวตัน นักวิทยาศาสตร์ผู้ค้นพบกฎแรงโน้มถ่วงของโลก

นอกจากความหลงใหลในวิทยาศาสตร์แล้ว ฟุตยังสนใจเรื่องความเท่าเทียมทางเพศอีกด้วย เพราะเธอเห็นมาโดยตลอดว่าผู้หญิงมักเป็นเพศที่ถูกกดขี่และไม่ได้รับความยุติธรรม แม้จะมีความสามารถทัดเทียมหรือเหนือกว่าผู้ชาย พวกเธอก็ไม่มีสิทธิได้รับการศึกษาที่ดีเทียบเท่า

ในปี 1848 ฟุตและเอลิชา (สามีนักประดิษฐ์ของเธอ) ได้ร่วมลงนามในอนุสัญญาเซเนกาฟอลส์ (Seneca Falls) ซึ่งเป็นอนุสัญญาว่าด้วยการเรียกร้องสิทธิสตรีเป็นครั้งแรกของสหรัฐอเมริกา โดยสิ่งที่พวกเธอต้องการคือ สิทธิพลเมือง การเมือง และอิสระในการเลือกนับถือศาสนา ซึ่งเป็นการเรียกร้องให้สตรีมีสิทธิมีเสียงไม่ต่างจากเพศชาย แต่กว่าความเท่าเทียมทางเพศจะเกิดขึ้นจริงในสหรัฐฯ ก็กินเวลานานถึง 72 ปี

ยูนิซ นิวตัน ฟุต จากโลกนี้ไปในวันที่ 30 กันยายน 1888 ขณะมีอายุ 69 ปี แม้การค้นพบผลงานของเธอจะล่าช้าไปเกือบ 200 ปี แต่อย่างน้อยเธอก็ทำให้เห็นแล้วว่า ไม่ว่าจะเกิดในยุคสมัยที่กดขี่เพียงใด หากมีความสามารถ ผลงานอันทรงคุณค่าจะยังคงอยู่และไม่จางหายไปไหน

แด่ผู้หญิงทุกคนที่ถูกหลงลืม

จนกว่ากาลเวลาจะปลุกเธอให้กลับมาส่องประกายในภายหลัง ...

 

อ้างอิง :

https://www.yalescientific.org/2022/09/hidden-histories-eunice-newton-foote-the-woman-who-discovered-the-greenhouse-effect/

https://time.com/5626806/eunice-foote-women-climate-science/

https://www.bbc.co.uk/sounds/play/w3ct38sx

https://www.nytimes.com/2020/04/21/obituaries/eunice-foote-overlooked.html

https://www.bbvaopenmind.com/en/science/environment/eunice-newton-foote-pioneer-greenhouse-effect/

https://theconversation.com/scientists-understood-physics-of-climate-change-in-the-1800s-thanks-to-a-woman-named-eunice-foote-164687