เนลสัน แมนเดลา : วีรบุรุษนักสู้ผู้ยอมติดคุก 27 ปี ก่อนได้เป็นประธานาธิบดีแห่งแอฟริกาใต้

เนลสัน แมนเดลา : วีรบุรุษนักสู้ผู้ยอมติดคุก 27 ปี ก่อนได้เป็นประธานาธิบดีแห่งแอฟริกาใต้

ชื่อของ ‘เนลสัน แมนเดลา’ กลายเป็นตำนานก้องโลก หลังจากต่อสู้มาครึ่งค่อนชีวิตเพื่อยกเลิกนโยบายแบ่งแยกสีผิวในแอฟริกาใต้ ยอมติดคุก 27 ปีแต่อุดมการณ์ที่จะปลดปล่อยคนดำให้เป็นอิสระยังคงเหนียวแน่น จนได้รับเลือกให้เป็นประธานาธิบดีคนแรกที่ได้มาจากระบอบประชาธิปไตย

“ผมไม่อาจและจะไม่ยอมรับข้อตกลงใด ๆ ก็ตาม ในยามที่ผม พวกคุณ และประชาชนทั้งหลายยังไม่เป็นอิสระ เสรีภาพของพวกคุณและเสรีภาพของผม ไม่อาจแบ่งแยกออกจากกันได้”

คำประกาศกร้าวอย่างห้าวหาญของ ‘เนลสัน แมนเดลา’ (Nelson Mandela) ชายผู้ได้รับการยกย่องให้เป็นวีรบุรุษคนทั้งโลก ชายผู้ที่มักปรากฏตัวพร้อมรอยยิ้ม กล่าวทักทายผู้คนรอบข้างอย่างใกล้ชิด และไม่ลืมที่จะเปลี่ยนสีหน้าให้กลับมาเคร่งขรึมขณะขึ้นกล่าวปราศรัย พร้อมกับปลุกระดมไฟแห่งความหวังให้ลุกโชนขึ้นมาทุกครั้งที่ปรากฏตัว

แต่กว่าวีรบุรุษนักสู้ผู้นี้จะสร้างความเปลี่ยนแปลงในหน้าประวัติศาสตร์มนุษยชาติ เขาต้องถูกจองจำนานถึง 27 ปี เวลากว่าครึ่งค่อนชีวิตที่ชายคนนี้ต้องสละเพื่อผลักดันประเทศให้ก้าวไปข้างหน้า

และนี่คือเรื่องราวฉบับย่นย่อของเนลสัน แมนเดลา นักสู้ผู้ไม่ยอมก้มหัวให้ความอยุติธรรม และพร้อมยืนหยัดต่อกรกับระบบที่กดทับคนผิวสีในแอฟริกาใต้ ให้กลับมาใช้ชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างภาคภูมิ

เที่ยวบินเสี่ยงตายของชายผู้แสร้งว่าเข้มแข็ง

ในปี 1994 ช่วงเวลาที่การเมืองแอฟริกาใต้ร้อนระอุ เนื่องจากประชาชนทุกคนต่างตื่นตัวกับการใช้สิทธิเลือกตั้งเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ แต่เหนือน่านฟ้ากลับมีเครื่องบินลำหนึ่งเลือกบินตัดฝ่าม่านหมอกแห่งความขัดแย้ง และลงจอดอย่างหาญกล้า

แม้การเหยียบแผ่นดินครั้งนี้จะกระท่อนกระแท่น แถมยังใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 20 นาทีกว่าจะลงจอด แต่สุดท้าย เนลสัน แมนเดลาก็มายืนอยู่ในเมืองเดียวกับเหล่าผู้คนที่กำลังรอคอยการมาของชายคนนี้อย่างใจจดใจจ่อ

เขาก้าวลงจากเครื่องบินด้วยท่าทีสงบ ส่งรอยยิ้มให้ทุกคน ก่อนจะเดินไปกระซิบกับผู้รอต้อนรับว่า “พ่อหนุ่ม ฉันกลัวแทบแย่ตอนอยู่บนโน้น!”

เพราะแมนเดลาสังเกตเห็นใบพัดของเครื่องบินไม่ทำงานตั้งแต่อยู่บนเครื่อง จึงเรียกให้นักบินผู้ช่วยแจ้งให้นักบินทราบ และก็เป็นจริงอย่างที่เขาคิด เครื่องยนต์ตัวหนึ่งเกิดไม่ทำงานเลยทำให้การลงจอดล่าช้าเกือบ 20 นาทีเห็นจะได้

แมนเดลายังเจอเหตุการณ์เสี่ยงตายอีกหลายต่อหลายครั้ง และทุกครั้งแมนเดลาจะบอกกับตัวเองว่า ความกล้าหาญเป็นเพียงการเสแสร้ง อันที่จริงเขากลัวสิ่งที่ต้องเผชิญแทบทุกครั้ง แต่การเสแสร้งก็ทำให้เขามีชีวิตรอดมาได้จนถึงทุกวันนี้

“ฉันตัดสินใจที่จะก้าวร้าว แต่ตอนนั้นฉันกลัวมาก ฉันแสร้งทำเป็นว่ากล้าหาญและสามารถถล่มโลกได้...”

ศัตรูคือตัวเรา

ในช่วงปี 1950 เขาทำงานเป็นทนายความควบคู่กับการเป็นนักมวยสมัครเล่นในตอนกลางคืน แมนเดลาได้เรียนรู้หลายอย่างจากการเป็นนักมวย เขาเข้าใจทันทีว่าการจะเอาชนะคู่แข่งได้นั้นจะต้องเยือกเย็น พยายามมองหาจุดอ่อนของคู่ต่อสู้ตรงหน้า และปล่อยหมัดฮุคใส่เป็นอันจบฉากการต่อสู้ในคราเดียว

เมื่ออายุ 42 ปีเขาขยับบทบาทมาเป็นผู้นำในการก่อตั้งขบวนการหอกแห่งชาติ (Spear of the Nation) กลุ่มติดอาวุธของพรรคสมัชชาแห่งชาติแอฟริกา (African National Congress หรือ ANC) และนั่นทำให้ชายคนนี้กลายเป็นคนนอกรีตอย่างสมบูรณ์

การเคลื่อนไหวของแมนเดลาทำให้เขาถูกจับกุมในเดือนสิงหาคม 1962 ขณะกำลังข้ามพรมแดนจากบอตสวานาไปยังแอฟริกาใต้ พร้อมกับโดนตั้งข้อหากบฏ แม้สถานที่คุมขังบนเกาะโรบเบินจะน่าหวาดหวั่นเพียงใด แต่เขายังคงสงบนิ่งและเริ่มเปิดใจเรียนรู้ศาสตร์ของการเข้าไปถึงหัวใจคน ตั้งแต่เรียนภาษาอัฟริคานส์ วัฒนธรรม ไปจนถึงพยายามผูกมิตรกับเหล่าผู้คุม

และเขาก็สามารถเข้าถึงใจของ ‘ศัตรู’ ได้แม้จะตกอยู่ในสถานะผู้ต้องหา ก่อนจะถูกย้ายไปยังเรือนจำวิกเตอร์ เวอร์สเตอร์ในปี 1988 ที่นั่นความนิยมของนักโทษทางการเมืองคนนี้ยิ่งเพิ่มขึ้นมากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะการใช้ภาษาอัฟริคานส์ได้อย่างไร้ที่ติ และเข้าถึงใจคนรากหญ้าได้อย่างทะลุปรุโปร่ง

ชีวิตในเรือนจำของแมนเดลาอาจไม่น่าภิรมย์ แต่ภายในห้องขังเดี่ยวยังคงอัดแน่นไปด้วยอุดมการณ์อันแรงกล้า ที่ไม่มีวันแผ่วลง เขาเข้าใจอย่างกระจ่างชัดว่าการรู้จักฝ่ายตรงข้าม เป็นหนทางแห่งการเห็นอกเห็นใจผู้อื่น ซึ่งวิถีดังกล่าวทำให้เขาได้รับความไว้วางใจจากศัตรู และนำมาสู่ชัยชนะอันยิ่งใหญ่

“วินาทีนั้นผมจึงได้เข้าใจกระจ่างแจ้งกว่าครั้งใด ๆ ว่าการต่อสู้เพื่ออิสรภาพนั้นมิใช่การปลดปล่อยคนดำจากการเป็นทาส แต่เป็นการปลดปล่อยคนขาวจากความหวาดกลัว”

แมนเดลาถูกปล่อยตัวในปี 1990 หลังจากประธานาธิบดี เฟรเดอริก วิลเลิม เดอ แกลร์ก (Frederik Willem de Klerk) ประกาศรับรองพรรคการเมืองทุกพรรคให้ถูกต้องตามกฎหมาย และนิรโทษกรรมนักโทษการเมือง เป็นจุดเริ่มต้นการสิ้นสุดนโยบายแบ่งแยกสีผิวในประเทศแอฟริกาใต้

 

ประธานาธิบดีผู้เคยติดคุก 27 ปี

หลังจากนโยบายการแบ่งแยกสีผิวถูกยกเลิกในปี 1991 อีก 3 ปีต่อมาแอฟริกาใต้จัดการเลือกตั้งครั้งประวัติศาสตร์ โดยให้คนดำมีสิทธิลงคะแนนเสียงอย่างเท่าเทียมกับคนขาวเป็นครั้งแรก แม้เหตุการณ์จะวุ่นวาย แต่ท้ายที่สุด แอฟริกาใต้ก็ได้ประธานาธิบดีที่สมเกียรติและศักดิ์ศรี

ชายผู้นั้นคือ เนลสัน แมนเดลา อดีตนักโทษทางการเมืองที่ใช้ชีวิตอยู่หลังซี่กรงเป็นเวลานาน 27 ปี ก่อนจะได้รับอิสรภาพและก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งประธานาธิบดีคนแรกของแอฟริกาใต้ตามระบอบประชาธิปไตย

เวลาหนึ่งปีที่ดำรงตำแหน่ง แมนเดลามองว่าเขามีอายุมากเกินกว่าจะปกครองประเทศ ในเดือนเมษายน 1999 เขาได้ประกาศเจตจำนงออกมาว่า “คนอายุเกิน 80 ปีไม่ควรเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการเมืองอีก”

แมนเดลาได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพในปี 1993 เพราะความตั้งใจแน่วแน่ว่าจะเปลี่ยนประเทศให้ก้าวเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตย แม้จะดูเหมือนเป็นการปฏิวัติและสร้างความหวาดกลัวในหมู่คนขาวก็ตาม

“พรรค ANC ใช้เวลาครึ่งศตวรรษต่อสู้กับลัทธิเหยียดเชื้อชาติ เมื่อมันได้ชัยชนะมันจะไม่เปลี่ยนแปลงนโยบายนั้น สิ่งนี้จึงเป็นสิ่งที่พรรค ANC กำลังต่อสู้ การต่อสู้ของพวกเขาคือการทำเพื่อชาติอย่างแท้จริง มันคือการต่อสู้ของประชาชนชาวแอฟริกัน มีแรงบันดาลใจจากความทุกข์และประสบการณ์ของตนเอง มันคือการต่อสู้เพื่อสิทธิในการมีชีวิต

“มันคืออุดมการณ์ซึ่งผมหวังจะมีชีวิตอยู่เพื่อสิ่งนั้น และจะต้องได้มา แต่หากจำเป็น มันคืออุดมการณ์ซึ่งผมพร้อมแลกมาด้วยชีวิต”

 

ภาพ : Getty Images

 

อ้างอิง :

  • หนังสือวิถีแมนเดลา สิบห้าบทเรียนแห่งชีวิต ความรัก และความกล้าหาญ เขียนโดย ริชาร์ด สเตงเกิล ธิดา ธัญญประเสริฐกุล และ กานต์ ยืนยง แปล
  • บทความ The People Talk: ‘อุดมการณ์ที่พร้อมแลกด้วยชีวิต’ สุนทรพจน์ที่ดีที่สุดของเนลสัน แมนเดลา วีรบุรุษนักสู้ผู้เรียกร้องความเท่าเทียมของทุกคน เรียบเรียงโดย ภานุวัตร เอื้ออุดมชัยสกุล https://www.thepeople.co/read/31707