12 ก.ย. 2566 | 16:39 น.
- ชีวิตก่อนจะกลายเป็นนักมวยที่เป็นความภาคภูมิใจของประเทศของ 3 ยอดมวย สามารถ-เขาทราย-เขาค้อ
- ด้านมืดของวงการมวยทั้งการล้มมวย และการโหมลดน้ำหนัก ที่ทำเอานักมวยเป็นลมล้มกลางอากาศทั้งที่ยังไม่โดนหมัด
- ความคิดและความรู้สึกที่มีต่อข้อกล่าวหา คำสบประมาท และการพิสูจน์ตัวเองด้วยฝีมือ
ทันทีที่รู้ตัวว่าจะได้สัมภาษณ์พี่ ๆ 3 นักมวยระดับตำนาน ‘สามารถ-เขาทราย-เขาค้อ’ ความรู้สึกเหมือน ‘หมัดหนัก ๆ’ รัวไม่ยั้งมาที่ใบหน้า ก็เกิดขึ้น
จำได้ว่าวันนั้น บก. ป๊อบ (ธนพงศ์ พุทธิวนิช) แจ้งด้วยน้ำเสียงนิ่ง ๆ ตามสไตล์ว่า “พรุ่งนี้รบกวนพี่ดรีมไปสัมภาษณ์แทนเบลล์นะครับ เบลล์ป่วย” หลังจากนั้นภาพความทรงจำวัยเด็กก็ซัดเข้ามาที่หัวระลอกแล้วระลอกเล่า
ภาพที่แม่รีบร้อนไปรับเราที่โรงเรียน นั่งมอเตอร์ไซค์กลับบ้านในขณะที่สองข้างทางว่างเปล่า ไร้รถวิ่งขวักไขว่ไปมาเหมือนวันอื่น ๆ พอกลับถึงบ้านก็ต้องตกใจ ที่คนแทบทั้งหมู่บ้านพากันหยุดนิ่งอยู่หน้าโทรทัศน์ รอดูการชกครั้งสุดท้ายของ ‘เขาทราย แกแล็คซี่’
ไหนจะภาพนักมวยหน้าหล่อ ‘สามารถ พยัคฆ์อรุณ’ ฉายา ‘พยัคฆ์หน้าหยก’ ที่ดังบนสังเวียนมวยไม่พอ ยังผันตัวเข้าสู่วงการบันเทิงเต็มตัว เป็นได้ทั้งพระเอกทั้งนักร้อง ปูทางให้นักกีฬารุ่นต่อ ๆ มา เดินตามรอย
และภาพ ‘เขาค้อ แกแล็คซี่’ ที่แม้จะพูดน้อยเมื่อเทียบกับนักกีฬาคนอื่น ๆ แต่ชื่อเสียงและสไตล์การชกของเขาก็สร้างความประทับใจให้แฟนมวยได้ไม่แพ้น้องชาย
แม้จะมีเวลาเตรียมตัวสัมภาษณ์น้อยกว่าปกติ แต่นี่เป็นการสัมภาษณ์ที่เราไม่หวั่นเลย เพราะภาพและข้อมูลที่ถาโถมเข้ามาในหัวมันทำให้เรารู้สึกคุ้นเคยกับพี่ ๆ ทั้งสาม มานานกว่า 30 ปี
แต่ใช่ค่ะ พี่ ๆ เขาไม่ได้คุ้นเคยหรือรู้จักเรา
“น้องไม่ต้องบรีฟหรอก เดี๋ยวอยากรู้อะไรก็ถามเลย” พี่สามารถตัดบทด้วยน้ำเสียงนิ่ง ๆ ที่ทำเอาเราใจฟีบฟ่อ กลายเป็นคนละคนกับนังคนที่พกความมั่นใจมาเต็มร้อย
แต่อย่าเพิ่งตัดสินพี่สามารถแค่ประโยคนี้นะคะ บรรทัดต่อไปนี้คุณจะได้เห็นความ ‘ซื่อตรง’ และ ‘จริงใจ’ ของพี่สามารถ พร้อม ๆ กับได้เห็นชีวิตที่ผ่านการเคี่ยวกรำอย่างหนักบนสังเวียนของฝาแฝดแชมป์โลก ที่เราภูมิใจนำเสนออย่างยิ่ง
เราเริ่มต้นด้วยการให้พี่นักมวยฝาแฝดเล่าที่มาของการเข้าสู่วงการมวย ซึ่งผู้ที่ชักนำทั้งคู่เข้ามาก็คือ ‘แม่’
“จริง ๆ แล้วเป็นคุณแม่ครับที่ชักจูงเข้ามา โดยการพาลูก ๆ ไปดูมวยก่อน ตั้งแต่ช่วง 5 ขวบ แล้วลูก ๆ ก็อยากได้นวม แม่ก็เป็นคนซื้อให้ แล้วหลังจากนั้นก็มาชกต่อยกันเองครับ ก็หาตังค์กันเองนั่นแหละ เพราะว่าชาวบ้านเขาจะจ้างให้ต่อยกัน แล้วเขาก็มาล้อมวงดู จ้างคนละ 1-2 บาท” พี่เขาทรายเล่า โดยมีพี่เขาค้อคอยเสริมเป็นระยะ
“แม่ทำกระสอบทรายให้ เอาถุงปุ๋ยมาใส่ขี้แกลบขี้เลื่อย แล้วแขวนไว้บนต้นมะม่วง ให้ลูกฟิตซ้อม เพราะอยากให้ลูกเป็นเหมือน ‘โผน กิ่งเพชร’ ที่เป็นแชมป์โลกมวยสากลคนไทยคนแรก”
พออายุสัก 10-11 ปี พี่เขาค้อก็ขยับขึ้นไปต่อยบนเวที เริ่มได้เงินเป็นกอบเป็นกำ ส่วนพี่เขาทรายตอนนั้นยังไม่ได้อยากต่อยมวยสักเท่าไร จุดเปลี่ยนเกิดขึ้นเมื่อเขาขอเงินจากเขาค้อ แล้วพี่เขาค้อไม่ให้
“โอ้โห เหนียวมากเลย ขอ 10 บาท ก็ไม่ให้ กูต่อยเองก็ได้วะ” พี่เขาทรายเล่าจุดเริ่มต้นเส้นทางการเป็นนักมวยอาชีพ
เราเลยหันไปถามฝั่งแฝดพี่ว่าทำไมตอนนั้นไม่ยอมให้เงินน้อง ซึ่งพี่เขาค้อตอบว่า “ก็อยากให้เขาหาเงินเองครับ เขาหาเองได้”
ขณะที่เรากำลังคล้อยตามความคิดที่ดูโตเกินวัยของพี่เขาค้อ พี่สามารถก็เบรกพี่เขาค้อว่า “ไม่จริงอะ เสียดายตังค์ ไม่ได้อยากให้ต่อยหรอก” เรียกเสียงฮาเป็นดอกแรก
แต่เส้นทางการเป็นนักมวยของพี่เขาทรายก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ เพราะพอขึ้นต่อยครั้งแรกก็ลงมาด้วยสภาพสะบักสะบอม เนื่องจากไม่ได้ผ่านการซ้อมมาก่อน
“โดนจับตีเป็นลูกขนุนเลยครับ ลูกขนุนจริง ๆ กลิ้งไปตามแรงเหวี่ยงเขาเลยครับ เพราะเราไม่เป็นมวยไง ยังไม่ได้ซ้อม”
หลังจากพอเห็นเส้นทางการเป็นนักมวยของคู่แฝดแล้ว เราเลยหันไปถามทางพี่สามารถบ้างว่ามีใครเป็นแรงบันดาลใจให้เข้าสู่วงการมวย
“ไม่มีแรงบันดาลใจ เพราะสมัยก่อนผมไม่ได้รู้เรื่องมวย แต่ที่บ้านผมเขาชอบมวยกัน พี่ชายเนี่ยคือบ้ามวยมาก ก็พยายามจับผมมาลงนวมกับเด็กข้างบ้าน บางวันผมก็ต้องหนีไปเล่นที่อื่น เพราะถ้าพี่ชายกลับมาบ้าน เราต้องโดนจับลงนวม เอามาต่อยกับเด็กข้างบ้าน ไอ้เราก็ไม่อยากต่อย เราก็หนีไปเล่นบ้านอื่น เขาก็ต้องไปตามมาต่อย”
“หมายความว่าพี่ไม่ได้ชอบมวยเลยเหรอคะ” เราถามย้ำ
“ไม่ได้ชอบครับ” พี่สามารถตอบตามตรง
เมื่อไม่สามารถขัดขืนพี่ชายได้ พี่สามารถก็ถูกจับให้ไปต่อยกับคนนู้นคนนี้ จนไปต่อยชนะที่งานวัด วันรุ่งขึ้นพี่ชายคนดีคนเดิมก็ส่งพี่สามารถที่เรียนจบ ป.4 ไปอยู่ค่ายมวยที่พัทยากับพี่ชายอีกคนที่เป็นนักมวยอยู่ก่อนแล้ว
หลังจากนั้น ด.ช.สามารถ ทิพย์ท่าไม้ จึงกลายมาเป็น ‘สามารถ ลูกคลองเขต’ ที่คอมวยแถบภาคตะวันออกรู้จักกันเป็นอย่างดี เพราะนอกจากจะฝีไม้ลายมือดีแล้ว คนยังจำเขาได้แม่นจากหน้าตาที่หล่อเหลา และซีสลูกใหญ่เบิ้มที่ขึ้นบริเวณหลัง (ต่อมาได้ผ่าเอาซีสออก เพราะคนจำง่ายว่าถ้า ‘ไอ้หลังปูด’ นี่มา ชนะแน่นอน ทำให้เจ้าตัวหากินลำบาก)
สามารถ ลูกคลองเขต เดินสายต่อทั่วประเทศเพื่อเอาเดิมพันหลักหมื่นต่อครั้ง มากสุดคือ 3 หมื่นบาท
“เมื่อสัก 50 ปีก่อน เดิมพัน 7-8 หมื่น ถือว่าเยอะมากนะครับ แล้วสมัยนั้นไม่มีแบงค์ห้าร้อย ไม่มีแบงค์พัน มีแต่แบงค์ร้อย คิดดูเวลาได้เงินหมื่น มีแต่แบงค์ร้อยนะครับ” พี่สามารถขยายความให้เราเห็นภาพ โดยมีพี่เขาทรายเสริมว่า “หนาเตอะเลย”
กวาดชื่อเสียงจากรอบนอกได้แล้ว พออายุได้ 15-16 ปี และน้ำหนักถึงเกณฑ์ พี่สามารถจึงเข้ามาต่อยที่กรุงเทพฯ พร้อมชื่อใหม่ว่า ‘สามารถ พยัคฆ์อรุณ’
“พอเข้ามากรุงเทพฯ ก็ชนะมาเรื่อย ๆ จนอายุ 18-19 ผมก็เป็นสุดยอดมวยแล้ว แต่ตอนนั้นเรายังไม่ได้คิดว่าตัวเองดังมากมายอะไร แค่คิดว่าคนในวงการมวยรู้จักหมดทุกคน จนได้เป็นแชมป์สากล ทีนี้คนเลยรู้จักทั่วประเทศครับ”
แตกต่างจากพี่น้องฝาแฝดที่ต่อยมวยมาแต่เด็ก แต่กว่าจะดังจนคนรู้จักไปทั่วก็ตอนที่ได้เข็มขัด ‘แชมป์โลก’
“ผมต่อยมวยไม่ดัง มาดังตอนเป็นแชมป์โลก แต่ว่าตอนนั้นเราไม่รู้ว่าเราดังไง พอได้แชมป์โลกปุ๊บ เราก็โหนรถเมล์ไปวิ่งแถวสวนลุม ก็แปลกใจว่าทำไมคนมองเราคนเดียววะ แล้วคนเก็บตั๋วก็ไม่ยอมเก็บตังค์ เราเลยคิดในใจว่า โห เราดังขนาดนี้เลยเหรอ” พี่เขาทรายเล่า
ส่วนพี่เขาค้อถึงจะเริ่มเป็นนักมวยก่อนน้องชาย แต่ก็เลิกชกไป 5-6 ปี จนเมื่อน้องชายได้เป็นแชมป์โลก พี่เขาค้อจึงได้ฤกษ์กลับมาชกอีกครั้ง จากการผลักดันของพี่เขาทราย จนทั้งคู่กลายเป็น ‘ฝาแฝดแชมป์โลกมวยสากลคู่แรกของโลก’
“พอต่อยชนะตลอด เลยได้ชิงแชมป์โลก จริง ๆ แล้วเป็นเพราะเขาทรายที่ดึงกลับมา” พี่เขาค้อเล่าด้วยน้ำเสียงราบเรียบตามสไตล์
“มึงยังไม่ขอบคุณเขาอีกเนอะ ถ้าไม่มีเขานี่ มึงไม่ได้เกิดเลยนะ” เป็นอีกครั้งที่พี่สามารถเบรกอารมณ์เพื่อสร้างสีสัน แต่พี่เขาทรายก็ถ่อมตัว เอาแต่เปรยเบา ๆ ว่า “ไม่หรอก” ซึ่งทำให้เราได้เห็นถึงความรักความผูกพันระหว่างสองพี่น้อง ที่แม้จะไม่ได้แสดงออกหวานซึ้ง แต่ก็คอยช่วยเหลือกันเรื่อยมา และปรารถนาให้อีกฝ่ายได้ดีมีสุข โดยไม่หวังแม้แต่คำขอบคุณใด ๆ
และไม่ใช่แค่แฝดน้องเท่านั้น ที่คอยสนับสนุนแฝดพี่ เพราะแฝดพี่เองก็แสดงออกชัดเจนว่าภาคภูมิใจในตัวแฝดน้องไม่แพ้กัน เห็นได้จากตอนที่เราถามถึงลีลาบนสังเวียนของพี่เขาทราย พี่เขาค้อที่พูดน้อยมาตลอดก็รีบชิงตอบว่า “โอ้โห ฉายาเขานี่เลย ‘เขาควาย’ เพราะมันดุดัน”
“ทื่ออย่างเดียว” พี่สามารถมิวายสัพยอก
“ไม่กลัวใคร” พี่เขาทรายสรุปคำนิยามที่มาฉายา ‘เขาควาย’ ด้วยตัวเอง แล้วพี่เขาค้อก็พูดย้ำให้อีก “ไม่กลัวใคร”
“แล้วพี่เขาทรายโอเคไหมคะเวลาโดนคนเรียกว่าเขาควาย” เราเอ่ยปากถามอย่างระมัดระวัง
“ไม่ได้คิดอะไร ผมไม่ค่อยคิดอะไร เพราะว่าเรายังไม่ได้พิสูจน์ให้เขารู้ไง แต่หลังจากเราพิสูจน์ว่าเราไม่ใช่ควาย จริง ๆ เราเป็นคน จริง ๆ เขาดูไม่ออกว่าผมเป็นคนที่ฉลาดที่สุดในโลกนะ ต่อยผมยาก หน้าตาเหมือนโง่ แต่ต่อยฉลาดมาก เอาอย่างงี้ดีกว่า คู่ต่อสู้ต่อยผมยากมากนะ แต่ละคนโดนผมยำทั้งนั้นอะ ผมไม่เคยโดนคู่ต่อสู้ยำนะ มีแต่ยำเขา นั่นไงเป็นคนที่ฉลาดไหมละ ต่อยมวยไม่ค่อยเจ็บ ยำเขาไง”
“แล้วในชีวิตจริง เวลาอยู่นอกสังเวียน พี่เขาทรายเป็นยังไงคะ” เราถามขยี้ต่อ
“ไม่ฉลาด ชีวิตจริงไม่ฉลาด” พี่สามารถชอตฟีลอีกแล้ว
พี่เขาทรายเห็นทีเถียงไปก็ไม่ชนะ เลยรีบตอบว่า “เฮ้ย เรามีเมียที่ฉลาดไง”
“เมียเป็นใหญ่” พี่เขาค้อสรุปโดยไร้ซึ่งเสียงคัดค้านจากอีกสองคน
แต่ไม่ว่าจะในชีวิตจริงหรือชีวิตบนสังเวียน สุดท้ายฉายา ‘เขาควาย’ ก็ได้มลายหายไปจากชีวิตของพี่เขาทราย เพราะหลังจากที่ได้ตำแหน่งแชมป์โลกมาครอง เซียนมวยจึงเปลี่ยนฉายาให้ใหม่เป็น ‘ซ้ายทะลวงไส้’
ไม่ใช่ฉายาแนวเหยียดหยามปรามาสเท่านั้นที่นักมวยได้รับ บางครั้งพวกเขาก็ต้องเผชิญกับข้อกล่าวหารุนแรงอย่าง ‘ล้มมวย’ โดยเฉพาะกรณีพี่สามารถ
“อันนั้นคือเราก็เข้าใจนะ เพราะคนคาดหวังกับเราไว้เยอะ แต่เขาก็ไม่รู้ว่าเราแพ้เพราะอะไร” น้ำเสียงพี่สามารถเริ่มเปลี่ยนเป็นเคร่งขรึม
“คนเขาเห็นว่าเราสายตาดี หลบเร็ว ต่อยเร็ว แต่พอเราไปต่อยตรงนั้น เขาไม่รู้ไง เราไปอยู่ต่างประเทศต้องลดน้ำหนัก เขาไม่รู้หรอก หัวหน้าค่ายบอกน้ำหนักเกิน 2 ปอนด์ ลดสบาย ๆ ไม่มีปัญหา ใช่! หัวหน้าสบาย แต่หัวหน้าไม่ได้ลดกับผมนี่ ไอ้ผมลดจนมันไม่ลงแล้ว
“เราก็กินยาขับปัสสาวะ (เพื่อทำน้ำหนักให้ได้) พอกินเข้าไปปั๊บ มันจะดูดน้ำในตัวออกมาเป็นปัสสาวะ จนน้ำในตัวมันแห้ง สมัยนั้นคือชั่งน้ำหนักตอนเช้า แล้วต่อยตอนเย็น เราลดไปขนาดนั้น เราก็ไม่มีแรง ขาอ่อน แขนอ่อน อยากจะนอนอย่างเดียว
“เราก็พยายามฝืน ฝืนได้แค่นั้น ไปแพ้น็อกยก 4 ที่ออสเตรเลีย คือเราไม่ได้โดนหมัดหรอก เราเป็นลม เป็นลมไปเอง แล้วฟื้นมาอีกที่อยู่ในรถพยาบาล”
“สาบานเลยว่าไม่ได้ล้มมวย” เราถามคำถามที่พี่สามารถได้ยินบ่อย แต่เราอยากได้ยินคำตอบจากปากเจ้าตัว
“ไม่ล้ม ถ้าล้มผมลูกผู้ชายพอ ผมจะยอมรับว่าผมได้เงินนะ ผมอยากได้ตังค์ ทีนี้เราไม่ได้ล้ม แล้วเรามาโดนด่าเนี่ย ตอนนั้นเราเฮิร์ทไปอยู่พักนึง จนแบบ เฮ้ย! ต่อไปนี้กูจะไม่ทำชื่อเสียงให้ประเทศชาติละ คิดถึงขนาดนั้นเลยนะ เพราะตอนกูดังมึงก็ยกยอกู แต่พอแพ้มึงก็มาด่ากูกัน อันนี้เราพูดตามบ้าน ๆ นะ จนแบบเราท้อ เอ้อ กูไม่อยากทำอะไรเพื่อชาติละ นั่นแหละถึงขนาดนั้นครับ”
คำตอบพี่สามารถเล่นเอาเราตะลึง โชคดียังพอมีสติเลยรีบยิงคำถามต่อ “แล้วอะไรทำให้พี่กลับมาชกอีกครั้ง ทำเพื่อชาติอีกครั้ง”
“เราไม่ได้ทำเพื่อชาติหรอก เราทำเพื่อตัวเอง เพราะถ้าเราไม่ต่อยเราก็ไม่มีเงิน เพราะตอนนั้นเราก็ไม่ได้มีเงินเก็บอะไร เราก็ต้องจำใจกลับมาต่อย แต่พอกลับมาต่อยใหม่ปั๊บ ทีนี้พอเราชนะคนก็เริ่มกลับมายอมรับ แต่คนก็ยังฝังใจอยู่ โอ้โห มึงไปเสียแชมป์ มึงล้มมวย ทีตรงนี้เราก็ไม่รู้จะไปเถียงเขายังไงอะ เราก็ต้องปล่อยให้กาลเวลาเป็นเครื่องพิสูจน์
“คนมาถาม เราก็ตอบแบบนี้เป็นพันครั้ง จนตอนหลังคนมาถามผม ผมไม่อยากมาคุยเรื่องล้มมวยเลย แล้วแต่มึงจะคิด จนเราต้องตอบแบบนั้น ใครมาถาม ไอ้มารถมึงล้มมวยเปล่า มันผ่านมาเป็น 10 ปี มึงก็ยังมาถามกูอีก จนตอนหลังเราไม่อยากตอบ แล้วแต่มึงจะคิด มึงว่ากูล้มก็ล้ม เพราะเราพูดมาเป็นพันครั้ง เราไม่ได้ล้ม เหตุผล เพราะลดน้ำหนักเรากินยา นั่นแหละ จนทุกวันนี้คนมันเริ่มยอมรับแล้วแหละ”
เราปล่อยให้พี่สามารถพรั่งพรูความรู้สึกออกมายาวเหยียด ก่อนที่พี่สามารถจะเล่าว่าตัวเองก็เคยมีคนจ้างให้ล้มมวยเหมือนกัน แต่เลือกที่จะไม่ทำ
“ถามว่าเคยมีคนจ้างไหม มี แต่เราไม่เคยล้ม เพราะถ้าล้มมวยสักครั้งนึงเนี่ย ประวัติมันด่างพร้อยแล้ว แล้วคนจะไม่ยอมรับ ก็เหมือนทรยศต่ออาชีพ ทุกวันนี้เราจะสอนนักมวยเราทุกคนว่า มึงอย่านะ นักมวยคนไหนที่ทรยศต่ออาชีพ มึงไม่มีวันเจริญ”
เท่าที่ฟังมาทั้งหมด ดูเหมือนการลดน้ำหนักจะเป็นปัญหาใหญ่สำหรับนักมวย แถมยังอาจนำไปสู่ปัญหาใหญ่อย่างที่พี่สามารถเจอ เราจึงไม่รีรอที่จะย้อนกลับไปถามพี่ ๆ ในเรื่องนี้ ซึ่งทั้งสามเห็นตรงกันว่าเป็นเรื่องยากมาก ชนิดที่พี่เขาทรายออกตัวว่า “คู่ต่อสู้ไม่กลัว กลัวเรื่องลดน้ำหนัก”
พี่สามารถแชร์ประสบการณ์ว่า ตอนชกมวย ข้าวก็ไม่ได้กิน ต้องวิ่งตากแดดใส่เสื้อหนา ๆ แม้แต่เวลานอนก็ต้องใส่เสื้อแขนยาว 2-3 ตัว เพื่อให้เหงื่อออก ส่วนพี่เขาทรายแชร์เรื่องที่ทำให้เราอ้าปากค้างนั่นคือการไม่อาบน้ำ
“ไม่อาบน้ำมันเกี่ยวด้วยเหรอคะ” เราโพล่งถาม
“ไม่รู้ มันเป็นความเชื่อสมัยก่อน แล้วเราก็เชื่อตามเขา” พี่สามารถช่วยเสริม และเล่าถึงอีกความเชื่อคือการห้ามเหยียบพื้นปูน เพราะจะทำให้น้ำหนักขึ้น ต้องใส่ถุงเท้าเดิน
“แต่ทุกวันนี้ไม่เชื่อแล้วนะ” อดีตเจ้าของฉายาเขาควายตอบ
ไม่เพียงความทรหดอดทนในการลดน้ำหนักและการฝึกซ้อม แต่องค์ประกอบของการเป็นนักมวยที่จะได้รับการยอมรับว่าเป็น ‘ยอดมวย’ ยังมีมากกว่านั้นอีก
“การที่จะเป็นนักมวยคนนึง ที่จะให้คนยอมรับได้ว่าเป็นยอดมวยเนี่ย มันไม่ใช่ว่าเก่งอย่างเดียว มันต้องหลาย ๆ อย่าง คือล่างเวทีเนี่ยคนต้องยอมรับ พวกเซียนมวย ผู้สื่อข่าว ทุกคนต้องยอมรับว่า เอ้ย เด็กคนนี้นิสัยดีเว้ย หน้าตาดี ต่อยมวยดี” พี่สามารถตอบ
ขณะที่พี่เขาทรายช่วยขยายความให้เห็นภาพว่า “คือมันต้องนั่งอยู่ในหัวใจเขาให้ได้ อย่างผมต่อยแต่ละครั้ง ผมต่อยตามเสียงเชียร์ไง โอ้ว ๆ เขาทรายเอา แล้วเราจะไปถอยได้ไง เราก็บุก ๆ เราก็ลุยจนชนะ เขาเรียกชนะใจคนดู คนเลยชอบ” ส่วนพี่เขาค้อเสริมว่า นักมวยที่ดีต้องมี ‘มารยาท’ ด้วย
“มันแปลกดีนะคะ นักมวยอยู่บนเวทีดูดุดัน ก้าวร้าว แต่ในชีวิตจริงกลับไม่ได้เป็นแบบนั้นเลย” เราชวนคุยต่อ
“นักมวยนี่ เวลาอยู่ข้างล่างจะเป็นคนน่ารัก เรียบร้อยทุกคน พันคนอาจมีสัก 1-2 คนที่ก้าวร้าว กร่าง หายากครับ ส่วนมากจะเป็นคนแบบเรียบร้อย” พี่สามารถตอบ
“เพราะว่านักมวยเนี่ย จะเป็นสุภาพบุรุษบนสังเวียนก็พอ เพื่อชกแล้วเราได้แค่ค่าตัว ได้รางวัลก็พอ ถ้าชกข้างล่างมันไม่ได้อะไร มันมีแต่เรื่องเสียหาย” เป็นอีกครั้งที่เราไม่เห็นด้วยกับคนที่เรียกพี่เขาทรายว่าเขาควาย
เมื่อบรรยากาศการพูดคุยเริ่มกลับมาสบาย ๆ เราจึงให้พี่ ๆ ช่วยเล่าถึงไฟต์ประทับใจของแต่ละคน เริ่มที่พี่เขาทรายที่ประทับใจไฟป้องกันแชมป์ที่ต่างประเทศครั้งแรกที่เกาะคูราเซา ซึ่งต้องจากบ้านไปนานถึงเดือนครึ่ง อารมณ์อยากจะกลับบ้านเร็ว ๆ พอเจอคู่ต่อสู้จึงต่อยเอา ๆ จนชนะได้ในยกที่ 5
ส่วนพี่สามารถเล่าความประทับใจในไฟต์ที่สามารถเอาชนะนักมวยรุ่นพี่อย่าง ‘หนองคาย ศ.ประภัสสร’ ได้ เพราะได้ดูรุ่นพี่คนนี้ต่อยมาตั้งแต่ตัวเองยังเด็ก
“ตอนเราต่อยกับเขานี่เราก็ยังคิดว่า โอ้ย สู้เขาไม่ได้หรอก แต่ทีนี้มันต้องต่อยอะ เราเป็นนักมวยคือเขาจัดให้ต่อย เราก็ต้องต่อย แพ้ชนะมันอีกเรื่องนึง ตอนเราขึ้นไปต่อย เราก็ยังคิดว่าสู้เขาไม่ได้ แต่พอขึ้นไปต่อยจริง ๆ แล้ว เขาต่างหากที่สู้เราไม่ได้เลย ก็คือเหมือนมวยคนละชั้นอะ อันนั้นเราก็จะภูมิใจ อันนั้นสำหรับมวยไทยนะ
“แต่ถ้าสากลเนี่ยตอนได้แชมป์โลก เราภูมิใจอยู่ เพราะคนเขาสบประมาทไว้เยอะว่าเราไม่ใช่มวยหมัด แล้วมาต่อยสากล มึงไม่มีทางได้เป็นแชมป์โลกหรอก แล้วพอเรามาชนะน็อก เราได้เป็นแชมป์โลก เราก็เลยดีใจ แต่ถ้าถามผมว่า ไอ้ไฟต์ที่หลบหมัด (ฮวน คิด เมซา) ที่ทุกวันนี้คนยังเปิดดูอะไรอยู่ ไฟต์นั้นผมเฉย ๆ แต่ไฟต์ที่ผมได้แชมป์โลกเนี่ย คือผมประทับใจตรงนั้นมากกว่า”
ด้านพี่เขาค้อคือไฟต์ที่เอาชนะนักมวยชาวเกาหลีใต้ ‘มุน ซ็อง-กิล’ ทวงคืนแชมป์โลกกลับมาได้สำเร็จ โดยชนะคะแนน 120 คะแนนเต็ม ชนะขาดทุกยก
แต่อีกไฟต์ที่คนไทยจดจำสำหรับพี่เขาค้อคือไฟต์ป้องกันแชมป์กับ ‘หลุยส์ ซีโต เอสปิโนซา’ แล้วเจ้าตัวเกิดวูบเป็นลมทั้งที่ยังไม่โดนหมัด แน่นอนว่าเป็นผลจากการโหมลดน้ำหนักก่อนชก
“อยู่ ๆ หน้ามืด เป็นลมไปเลย” พี่เขาค้อตอบสั้น ๆ
“นั่นแหละ พอมึงวูบปุ๊บ เงินในกระเป๋ากูก็วาบไปเลย กูเล่นกับเขาไว้” พี่เขาทรายพยายามปรับบรรยากาศไม่ให้ดราม่า
พูดถึงเรื่อง ‘เงิน’ (ที่ไม่ใช่เงินพนัน) เราอดไม่ได้ที่จะถามความรู้สึกพวกพี่ ๆ ตอนที่ได้จับเงินก้อนใหญ่ ๆ
“เงินก้อนใหญ่ ๆ ก็ตอนได้เป็นแชมป์โลกแล้วครับ โอ้โห เงิน 3 แสน ถือว่าเยอะมากสำหรับผม เป็นแชมป์โลกครั้งแรกนะ แล้วมันภูมิใจตรงที่ได้ทองนั่นแหละ เป็นคนแรกที่ได้ทองเยอะที่สุด ไปป้องกันครั้งที่ 14 มีทอง 130 บาท อยู่บนคอผมนะ เฮีย ๆ กัดทุกเส้นเลยนะ กัดดูทุกเส้นว่าปลอมหรือเปล่า”
“พอเลิกมวยมี (ทอง) เป็นพันเลยดิ” พี่สามารถชง
“380 บาท” พี่เขาทรายตอบ
“แล้วตอนนี้เหลือกี่บาทคะ” เราชงอีก
“มันเป็นลมเป็นแล้ง มันน่าจะไปกับลมกับอากาศ” พี่เขาทรายรับมุกอย่างเร็ว
“ของผมเคยได้ค่าตัวสูงสุด 3 แสนบาท สมัยนั้นคือซื้อบ้านได้หลังนึง” พี่สามารถเล่าบ้าง
“ตอนนั้นผมป้องกันแชมป์ครั้งแรก ได้ 7.5 แสน เลย” พี่เขาค้อดูเหมือนจะขิงบ้าง แต่สุดท้ายก็ตบว่า “ครั้งแรกเยอะ พอครั้ง 2 ปุ๊บ วาบหายไปกับตา” (เพราะเสียแชมป์)
พอพูดเรื่องเงิน พี่ ๆ ก็อดเปรียบเทียบกับนักมวยรุ่นใหม่ไม่ได้ เพราะบางคนค่าตัวไต่ไปถึง 10 ล้าน
“รถถังนี่ไปต่อยที่อเมริกาได้ 8 ล้าน แล้วได้โบนัสอีกก็ 3 ล้านกว่า ไฟต์เดียว 10 กว่าล้าน” พี่สามารถเล่า
“เห้ย กูว่าเรากลับไปต่อยมวยกันดีกว่าไหม” พี่เขาทรายพูดอย่างมีความหวัง
“มึงจองวัดไว้เลย ซื้อโลงเอาไว้เลย รุ่นพวกเรามึงยังจะไปต่อยอีกเหรอ จองศาลาแล้วซื้อโลงวางเอาไว้เลย” พี่สามารถดับฝันพี่เขาทราย
มาถึงตรงนี้เราเลยขอให้พี่ ๆ ฝากอะไรกับนักมวยรุ่นใหม่สักหน่อย
พี่เขาทรายฝากว่า “ชีวิตการเป็นนักมวยเนี่ย มันแค่ระยะสั้น ๆ มันไม่ยาว ฉะนั้นเรื่องเงินทองเนี่ย ให้เก็บไว้เยอะ ๆ ยิ่งดีครับ ได้มากเท่าไหร่เก็บไว้เท่านั้น ใช้ก็อาจจะเป็นส่วนหนึ่ง อาจจะมีครอบครัว มีภาระ มีอะไรก็ใช้ไป แต่ว่าอาจจะแบ่งเป็นส่วน ๆ เวลาเลิกมวยแล้วขอให้มีเหลือเก็บแค่นี้ก็พอครับ แล้วทุกอย่างมันก็จะดีสำหรับชีวิตต่อไปข้างหน้า คุณอยากจะทำอะไรก็ได้ทำ อย่าไปสุรุ่ยสุร่าย เอางี้ดีกว่า ถ้าลืมตัวเมื่อไร มันหมดไปโดยแบบไม่รู้ตัวนะ เงินทองเนี่ย”
ส่วนพี่สามารถบอกว่า “เรื่องพวกนี้เราได้ยินมาตั้งแต่เด็กแล้ว คือต้องเจอกับตัวเองแล้วเราถึงจะรู้ ดีว่าช่วงที่ผมต่อยมวย หัวหน้าค่ายจะมาบังคับให้ผมซื้อเป็นที่ดินเอาไว้ เราก็ซื้อไว้ 20 กว่าไร่ เราก็เลยมีตรงนั้น ถ้าไม่มีตรงนั้นทุกวันนี้เรายังไม่รู้เราจะอยู่ยังไง ทุกวันนี้เราถึงไปสอนนักมวย มันไม่เจอกับตัวไม่รู้ไง บางทีมันมีเงินเยอะมันคิดว่าเยอะ ใช้ไม่หมด”
ปิดท้ายที่พี่เขาค้อที่ตอบสั้น ๆ เช่นเดิม “ก็ให้น้อง ๆ ก็คือช่วยกันเก็บเงินเก็บทองครับ อย่าไปใช้สุรุ่ยสุร่าย เหมือนเรา ๆ”
“นั่นแหละกูบอกแล้วว่าให้เก็บ อย่าไปมีหลายคน ก็ไม่เชื่อ” พี่เขาทรายแซวพี่เขาค้อ
“มึงไปว่ามันก็ไม่ได้ มึงก็เหมือนกัน ก็หลายคนเหมือนกัน” นั่นไง พี่เขาทรายเจอพี่สามารถเล่นเข้าให้แล้ว
บทสนทนาวกมาถึงเรื่องนี้ได้ยังไงเราเองก็ไม่เข้าใจ เรายังคุยต่อกับพี่ ๆ ทั้งสามอีกนิดด้วยรอยยิ้มและเสียงหัวเราะเป็นระยะ
สุดท้ายเราได้เห็นว่าแท้จริงแล้วพี่สามารถไม่ใช่คนดุ (อย่างที่คิดในตอนแรก) แต่เป็นคนจริงจัง ตรงไปตรงมา และมีน้ำใจ เห็นได้จากการช่วยชงช่วยตบมุกให้การสัมภาษณ์ลื่นไหล ทำให้ภาพรวมการสัมภาษณ์ออกมามีสีสันมาก ๆ
เรายังได้เห็น ‘ความลึกซึ้ง’ จากพี่เขาทราย ที่คนมักติดภาพว่าใช้เป็นแต่แรง และได้เห็น ‘ความอ่อนโยน’ ในตัวพี่เขาค้อ ที่ตอนท้ายช่วยเรียกพี่ ๆ อีก 2 คน มาถ่ายรูปรวมกับเรา
“มาเร็ว ๆ น้องเขาจะได้มีรูปไปอวดพ่อแม่”
หวังว่าคุณผู้อ่านจะอิ่มเอมไปกับบทสัมภาษณ์นี้นะคะ ส่วนเราต้องขอตัวเอารูปไปอวดพ่อกับแม่ก่อน สวัสดีค่ะ