นินจาผู้อดทน: คนชายขอบในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น

นินจาผู้อดทน: คนชายขอบในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น

ซามูไร และ นินจา คือสองอาชีพที่เรามักเห็นในหน้าประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นอยู่เสมอ ซึ่งทั้งสองต่างก็ดำรงอยู่ร่วมกันเหมือนขาว-ดำ เหมือนหยิน-หยาง

ในญี่ปุ่นโบราณ จะมีวิชาชีพอยู่ 2 วิชาชีพที่คนทั่วโลกรู้จักกันดีคือ ซามูไร และ นินจา ซึ่งทั้ง 2 ต่างก็ดำรงอยู่ร่วมกันเหมือนขาว-ดำ เหมือนหยิน-หยาง ของประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นโบราณ โดยที่อักษรซามูไร (侍) ประกอบขึ้นจากอักษร คน (イ) และ วัด (寺) รวมกันเป็น ซามูไร (侍) ที่เดิมทีแปลว่าผู้รับใช้ในวัด แต่ภายหลังความหมายเปลี่ยนไปเป็น ‘ผู้รับใช้ในราชสำนัก’ แทน 

ส่วนนินจา แต่เดิมจะไม่เรียกนินจา แต่เรียกว่า ชิโนะบิ (忍) ประกอบขึ้นจากอักษร คมดาบ (刃) และ จิตใจ (心) คำว่า ชิโนะบิ จึงหมายถึงการถูกของมีคมกรีดหัวใจ หมายถึงความอดทนอดกลั้นอย่างสูงสุด 

ในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นนั้น เริ่มมีวิชาชีพซามูไรและนินจาในเวลาไล่เลี่ยกันคือประวัติศตวรรษที่ 13-14 และมาเป็นอาชีพหลัก ๆ คือช่วงหลังจากที่สถาปนาระบบโชกุนและไดเมียวแล้ว โดยอาชีพซามูไรนั้นคล้ายกับทหารหรือตำรวจ จึงเป็นอาชีพที่ออกสื่อได้ การคัดเลือกก็จะมีสถาบันสอนวิทยายุทธเพื่อฝึกเป็นซามูไร มีซามูไรจำนวนไม่น้อยที่มักจะมาจากตระกูลขุนนางใหญ่ หรือ สืบสายเลือดจากผู้บริหารระดับสูงในกองทัพ เรียกว่ามีแนวโน้มเป็นอาชีพที่เหล่าชนชั้นสูงจะเล่าเรียนและยึดเป็นอาชีพ เพื่อเป็นทหารหรือตำรวจ (สมัยก่อนยังไม่มีการแยกเหล่าทัพว่าเป็นทหารหรือตำรวจออกจากกันอย่างแน่ชัด) มีรายได้ดี มีสถานภาพทางสังคมสูงที่สุดในญี่ปุ่นยุคนั้น มีภารกิจที่ชัดเจน เมื่อปฏิบัติภารกิจสำเร็จ ผลงานที่ได้มาจึงออกสื่อได้อย่างไม่อายใคร ใช้ชีวิตอย่างมีเกียรติยศภายใต้แสงตะวันส่องถึง

ในทางตรงกันข้าม ชิโนะบินั้นมีลักษณะเป็นสายลับ งานหลักของชิโนะบิจึงเป็นงานลับสุดยอดบอกใครไม่ได้ ออกสื่อไม่ได้ เช่น แทรกซึม, ลอบทำลาย, ลอบทำร้าย, ลอบสังหาร, ชิโนะบิผู้หญิงอาจต้องใช้เสน่ห์ถึงขั้นใช้เรือนร่างเข้าแลกเพื่อให้บรรลุภารกิจก็มีให้ได้ยินตามตำนานอยู่บ้าง หากภารกิจผิดพลาด หมายถึงการตายฟรี และตายอย่างทรมาน ไร้เกียรติ ไร้ชื่อ ไร้งานศพ 

ดังนั้น ชิโนะบิจึงมักคัดเลือกคนที่สถานภาพทางสังคมต่ำสุด เช่นคนยากจน, คนไร้บ้าน, เด็กกำพร้าที่ไร้ญาติขาดมิตรและไร้ชาติตระกูล, ชาวนาชาวไร่ที่ไม่มีอะไรจะเสีย, ใครที่ถึงจะตายไปก็ไม่ได้สร้างความกระทบกระเทือนต่อสังคม และการฝึกชิโนะบิมักจะโหดร้ายทารุณยิ่งกว่าการฝึกซามูไร เพราะเป็นการฝึกที่ค่อนข้างไร้มนุษยธรรม และมีการตายระหว่างฝึกเกิดขึ้นอยู่เนือง ๆ และถึงตายก็เอาเรื่องใครไม่ได้ เพราะทุกอย่างเป็นการแอบทำทั้งสิ้น เพราะชิโนะบิมีชีวิตเพื่อการแอบกระทำหรือลักลอบกระทำทั้งสิ้น แอบคัดเลือก, แอบฝึก, แอบประกอบอาชีพชิโนะบิ (ประกอบอาชีพทั่วไปตามปกติเพื่อบังหน้าอาชีพที่แท้จริงคือชิโนะบิ), แม้ภารกิจล้มเหลวและต้องตายก็ต้องแอบตาย คือตายฟรี ตายไปเงียบ ๆ ห้ามให้ใครรู้ว่าเคยมีภารกิจนั้นอยู่บนโลก

จึงเรียกอาชีพนี้ว่า ‘ผู้อดทน’ ที่เรียกว่า ชิโนะบิ นั่นเอง คือเป็นอาชีพแห่งคนชายขอบผู้ยากไร้ทุกสิ่งทั้งเงินตราและเกียรติยศชื่อเสียง มีจุดประสงค์เพื่อทำภารกิจแลกเงินยังชีพเท่านั้น อาชีพซึ่งไร้เกียรติ, ไร้ชื่อเสียง, ฝึกหนักจนอาจตายได้, แม้ภารกิจสำเร็จก็ไม่มีใครรู้ว่าเป็นผลงานเรา, เวลาตายก็ตายฟรีและตายทรมาน, ไร้แสงตะวันใด ๆ สาดส่องเข้ามาในชีวิต ผู้ที่เลือกอาชีพนี้จึงเป็นอื่นใดไปไม่ได้นอกจาก คนชายขอบที่มีความอดทนอนกลั้นต่อสรรพสิ่งได้อย่างสูงสุด ไม่สนใจสิ่งใดนอกจากเงินจำนวนเพียงพอให้เลี้ยงชีพเท่านั้น คำว่า ชิโนะบิ สามารถเรียกชื่อเต็มว่า ชิโนะบิ โนะ โมะโนะ (忍びの者) ซึ่งเป็นการออกเสียงแบบญี่ปุ่นที่แปลว่า ผู้อดทน ภายหลังในยุคใหม่จึงยุบอักษร 忍びの者 ให้เหลือเพียง 忍者 และอ่านออกเสียงแบบจีนโบราณ (ไม่ใช่จีนปัจจุบัน) แทนว่า นินจา

ภายหลังที่ชาวโลกรู้จักนินจาจึงมักรู้จักผ่านภาพยนตร์ Hollywood ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเรื่องไม่จริงทั้งสิ้น เช่น การใช้เวทมนตร์, การหายตัวได้, การเหาะเหินเดินอากาศได้ ฯลฯ เอกสารใด ๆ เกี่ยวกับนินจาแทบจะไม่หลงเหลืออยู่เลยในญี่ปุ่น เนื่องจากเป็นวงการสายลับ ทุกอย่างลับ แม้แต่กระบวนการฝึก หรือโครงสร้างองค์กร ยังแทบหาเอกสารได้ยาก เช่น อาวุธที่นินจานิยมใช้ คนส่วนใหญ่มักคิดว่าใช้ดาวกระจาย แต่ที่จริงแล้วคืออาวุธขว้างหลากชนิดเท่าที่จะพกพาได้

ชุดนินจาที่ชาวโลกเข้าใจว่าเป็นชุดดำ ที่จริงก็มีหลายสีขึ้นกับภารกิจ เน้นใช้สีที่พรางตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมได้ เวลากลางคืนจึงเป็นชุดสีชาหม่น หรือเทามืด ๆ มากกว่าจะเป็นสีดำจริง ๆ เพียงแต่ Myth หรือภาพลักษณ์ที่คนยุคใหม่เห็นว่านินจาต้องเป็นชุดดำนั้นเป็นอิทธิพลจากละครเวทีของญี่ปุ่น ที่สร้างให้นินจามีความสามารถพรางตัวได้ จึงนิยมให้ใช้ชุดสีดำเพื่อพรางตัวไปกับเด็กหลังเวทีที่เรียกว่า คุโระโกะ (黒子) ที่คอยแบกฉาก หรือคอยยกไอเท็มประกอบฉากมาให้บนเวที จึงนิยมแต่งดำทั้งชุดเพื่อพรางตาให้ผู้ชมไม่ต้องใส่ใจว่ามีเด็กประกอบฉากเหล่านี้วิ่ง ๆ กันอยู่บนเวที พอวางบทละครว่านินจาสามารถพรางตัวได้ จึงนิยมให้นินจาบนเวทีใส่ชุดดำแบบเดียวกับเด็กประกอบฉากคุโระโกะเหล่านี้ จึงเกิดทัศนคติสำหรับผู้ชมยุคใหม่ว่านินจาต้องใส่ชุดดำขึ้นมา 

เมื่อเปรียบเทียบกันแล้ว ซามูไร และ นินจา จึงเป็นเหมือนขาว-ดำหรือหยิน-หยาง ของประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นโบราณ ซามูไรเป็นอาชีพมีเกียรติ รายได้สูง มีผลงานชัดเจน ออกสื่อได้ ในขณะที่นินจาเป็นอาชีพไร้เกียรติ รายได้แค่พอยังชีพ ผลงานจะสำเร็จหรือล้มเหลวก็ต้องเป็นความลับ ห้ามออกสื่อ แม้ตายก็ไร้งานศพ ไร้เกียรติประวัติ แต่ทั้งซามูไรและนินจาต่างก็มีบทบาทสำคัญในการสร้างประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นมาตลอดหลายศตวรรษจนกระทั่งเมื่อปฏิรูปเมจิในปี ค. ศ. 1868 ที่ทำให้อาชีพทั้งซามูไรและนินจาค่อย ๆ สาบสูญไปจากสังคมญี่ปุ่น

ในปัจจุบัน ประเทศญี่ปุ่นตระหนักดีถึงคุณค่าทางประวัติศาสตร์และสังคมที่นินจามีต่อประเทศญี่ปุ่น จึงเริ่มมีการรณรงค์ให้ค้นหาบันทึกและหลักฐานทางประวัติศาสตร์ รวมทั้งก่อตั้งหลักสูตรปริญญาโทด้าน Ninja Studies ขึ้นมาที่มหาวิทยาลัยมิเอะ ในจังหวัดมิเอะ ตั้งแต่ปี ค. ศ. 2017 ซึ่งมิเอะเป็นจังหวัดแรกที่สืบสาวไปหาต้นกำเนิดของนินจาได้ มีนักวิจัยทั้งชาวญี่ปุ่นและชาวต่างชาติหลายท่านให้ความสนใจการทำวิจัยนินจาศึกษากันมากขึ้น เพราะมีคุณค่าทั้งทางประวัติศาสตร์ สังคม วัฒนธรรม และประยุกต์สู่ธุรกิจการท่องเที่ยวได้อีกด้วย