21 เม.ย. 2566 | 19:09 น.
สังคมสูงวัย (Aging Society) เป็นปรากฏการณ์ที่ถูกพูดถึงมาอย่างยาวนาน เมื่ออัตราการเกิดของประชากรในหลายประเทศมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ผลที่ตามมาไม่เพียงแค่ผลกระทบทางเศรษฐกิจ แรงงาน และการเมือง ดังที่เห็นจากนโยบายขยายอายุเกษียณในฝรั่งเศสที่ทำให้เกิดการประท้วงอย่างกว้างขวาง
หากมองอีกด้านหนึ่ง สังคมสูงวัย ยังปรากฏผู้คนที่มากด้วยวัยวุฒิและคุณวุฒิซึ่งยังคงรักษาประสิทธิภาพ บทบาท และผลงานอย่างต่อเนื่อง
ด้วยปรากฏการณ์และความสำคัญของบุคคลที่มากด้วยวัยวุฒิ Stories of the Month ซีรีส์ใหม่บอกเล่าเรื่องราวที่น่าสนใจในแต่ละเดือน นำเสนอโดย The People จึงนำเสนอเรื่องราวประจำเดือนเมษายนภายใต้หัวข้อสังคมสูงวัย
ชื่อและตราเปิบพิสดารที่ปรากฏบนผนังหรือหน้าร้านอาหารต่าง ๆ ตั้งแต่อดีต เวลาผ่านมาหลายสิบปี ภาพเหล่านั้นยังคงตราตรึงในความทรงจำ นี่คือเรื่องราวของ สันติ เศวตวิมล คอลัมนิสต์ชิมอาหาร ต้นตอชื่อแม่ช้อยนางรำที่เกิดขึ้นจากผลพวงของยุค 6 ตุลา ร่องรอยของเปิบพิสดารและแม่ช้อยนางรำยังคงลากยาวมาถึงวันนี้ เช่นเดียวกับบทบาทของสันติ เศวตวิมล
เบื้องหลังของตรา ‘เปิบพิสดาร’ เกิดขึ้นท่ามกลางเส้นทางชีวิตของนักเขียนผู้โชกโชนชื่อ สันติ เศวตวิมล เจ้าของนามปากกามากมาย ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ แม่ช้อย นางรำ
เส้นทางสายนักชิม-นักเขียนของสันติ เศวตวิมล แตกต่างจาก ‘นักรีวิว’ ในยุคดิจิทัลอันเป็นยุคสมัยที่ใครก็สามารถมีช่องทางของตัวเองได้ เขียน ผลิต ถ่ายทำเนื้อหาของตัวเองเผยแพร่ไปสู่คนทั่วโลกได้
ที่สำคัญคือ สันติ เศวตวิมล ไม่ได้เริ่มต้นอาชีพมาจากนักชิมตั้งแต่แรกเริ่ม บทบาท ‘นักชิม’ หรือ ‘นักวิจารณ์อาหาร’ ในหน้าสื่อสิ่งพิมพ์ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากเหตุการณ์ทางการเมืองในยุค 6 ตุลา
บทบาทสื่อ
สันติ เศวตวิมล เริ่มต้นทำงานจากบทบาทนักข่าวราวพ.ศ. 2507 โดยเริ่มจากนักข่าวสายอาชญากรรมด้วยซ้ำ โยกมาสู่สายนักข่าวสงคราม ทำข่าวสงครามเวียดนามให้กับหนังสือพิมพ์ ‘พิมพ์ไทย’ จนได้มาเป็นหัวหน้าข่าวการเมือง
ในยุคที่ทำงานให้ ‘ไทยรัฐ’ ยังทำข่าวสงครามเขมร แล้วมาทำข่าวสังคมและบันเทิง นอกจากหนังสือพิมพ์รายวันแล้ว ยังเคยทำงานเป็นบรรณาธิการนิตยสารชีวิตต้องสู้ รายสัปดาห์
ตลอดเส้นทางการทำงานสายงานเขียน สันติ เศวตวิมล เก็บเกี่ยวประสบการณ์และความทรงจำนำมาถ่ายทอดผ่านตัวหนังสือโดยใช้นามปากกาหลายชื่อ หนึ่งในนั้นก็คือ แม่ช้อย นางรำ ผู้เขียนคอลัมน์ เปิบพิสดาร
จุดเริ่มต้นของชื่อ แม่ช้อย นางรำ ไม่ได้มาจากโอกาสแบบปกติทั่วไป สันติ เศวตวิมล เล่าไว้ว่า ยุค 6 ตุลาคม 2519 “ผมถูกกล่าวหาจากรัฐบาล...ซึ่งทำงานรับใช้เผด็จการทหารที่ปฏิวัติบ้านเมือง โดยอ้างว่าเพื่อจะทำการปฏิรูปประเทศ มีคำสั่งจากกระทรวงมหาดไทย ขึ้นบัญชีดำ หรือ ‘แบล็คลิสต์’ (Blacklist) ห้ามผมทำงานหนังสือพิมพ์”
สถานการณ์ข้างต้นทำให้สันติ เศวตวิมล ต้องยุติบทบาทเขียนคอลัมน์การเมือง ‘บุคคลในข่าว’ ของไทยรัฐ ภายใต้นามปากกาว่า ‘สามตา’
“ผมถูกกล่าวหาว่าฝักใฝ่คอมมิวนิสต์ ผมก็ขำ ๆ ผมไม่รู้เรื่อง เพียงแต่ผมเป็นนักข่าวสงคราม จับปืนผมก็ไม่ได้ไปจับปืน ผมจับปากกา พวกนักศึกษาก็เข้าป่าหมด พวกนักหนังสือพิมพ์อย่างเราเข้าคุก” สันติ เศวตวิมล กล่าวตอนหนึ่งขณะให้สัมภาษณ์กับ Museum Siam
สันติ เศวตวิมล เล่าว่า หนังสือพิมพ์ในสมัยนั้นถูกปิดกันไปหลายฉบับ “ถ้าสันติ เขียนนะ ปิดไทยรัฐเลย คนไทยรัฐเป็นพันคนต้องตกงานเพราะผม”
สันติ ตัดสินใจระงับการเขียนคอลัมน์การเมือง เมื่อรับเงินเดือนโดยที่ไม่ได้ทำงานอยู่นาน นักข่าวมือฉมังเริ่มรู้สึกไม่สบายใจจนต้องไปขอลาออกกับ ผอ. กำพล วัชรพล แต่กลับได้รับคำแนะนำให้อดทนอีกสักระยะ นักการเมืองทหารที่เข้ามาอยู่ได้ไม่นาน ขณะที่หนังสือพิมพ์จะอยู่ได้ตลอดไป
คอลัมน์ใหม่ เปิบพิสดาร และชื่อ แม่ช้อย นางรำ
ทางออกของทั้งสองฝ่ายออกมาคือ สันติ เศวตวิมล ไม่ได้ลาออก กลับได้เขียนคอลัมน์ใหม่ที่ไม่ใช่แนวการเมือง กลายเป็นคอลัมน์แนวอาหารแทน เนื่องจากความรู้เดิมที่ได้มาจากครอบครัวฝั่งบิดา ซึ่งสันติ เล่าไว้ว่าอยู่ในแวดวงของสกุล ‘บุนนาค’ ฝั่งธนบุรี
ช่วงวัยเด็กตั้งแต่ 4 ขวบจนถึง 13-14 ขวบ สันติ ใช้เวลาใกล้ชิดอยู่กับคุณย่าจึงได้รับความรู้เรื่องสำรับกับข้าวคาว-หวานมาไม่ใช่น้อย ประกอบกับประสบการณ์จากบิดาซึ่งเป็น “สรรพากรจังหวัดพระนคร” พาไปตระเวนกินภัตตาคารดังในท้องถิ่นและแถบธนบุรีแทบทุกแห่ง เมื่อเป็นนักข่าวยังมีโอกาสเดินทางนับสิบปี ข้อมูลเหล่านี้หลอมรวมมาเป็นตัวหนังสือเล่าเรื่องราวว่าด้วยอาหารใน ‘เปิบพิสดาร’ เริ่มต้นเมื่อ พ.ศ. 2519
ชื่อคอลัมน์ที่เรียกกันเช่นนี้ สันติ เล่าไว้ว่า เป็นฝีมือหัวหน้ากองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ไทยรัฐเวลานั้นคือคุณสมิต มนัสฤดี อันมาจากแนวคิดที่ต้องการเน้นคำไทยโบราณ เพราะเกรงว่าลูกหลานจะหลงลืมคำว่า ‘เปิบ’ และยังถือเป็นการรำลึกย้ำว่าคนสมัยก่อน รุ่นปู่ย่าตายายใช้มือเปิบข้าว ไม่ได้ใช้ช้อนส้อม หรือตะเกียบเหมือนคนยุคนี้
ส่วนคำว่า พิสดาร หาใช่สื่อสารถึงการกินอาหารพิสดารเมนูพิลึกแต่อย่างใด ในมุมของสันติ พิสดารหมายถึงกว้างขวาง ไม่มีที่สิ้นสุด
อีกหนึ่งคำถามที่คนมักสงสัยกันเสมอคือนามปากกา ‘แม่ช้อย นางรำ’ นักชิมท่านนี้อธิบายไว้ว่า ต้นทางแรกมาจากชื่อต้นไม้ไทยโบราณขนาดเล็กพันธุ์หนึ่งในตระกูลถั่ว ซึ่งสันติ ชี้ว่าชื่อดั้งเดิมเรียกว่า ‘ต้นกระช้อย นางระบำ’ ภาษาที่นักพฤกษาศาสตร์เรียกเป็นภาษาละตินคือ Desmodium Gyrans
ต้นไม้พันธุ์นี้ขยับใบไม้ดังผู้หญิงร่ายรำ สันติ รู้จักเป็นครั้งแรกจากคุณย่าจั่น ซึ่งเขาอยู่ใกล้ชิดตั้งแต่เด็ก เมื่อเติบโตมาก็ชื่นชอบหนังสือ ‘ลิลิตตะเลงพ่าย’ พบคำว่า ตัดไม้ข่มนาม คนโบราณสังเกตรายละเอียดจากต้นไม้ นำไปทำเคล็ดใช้ในการรบ ซึ่งวิธีดูต้นไม้มีเคล็ดขบวนหนึ่งตามตำราคือ ช้อย นางรำ จนทำให้นึกถึงต้นไม้ที่ย่าจั่นเคยเล่าถึง
เมื่อมาศึกษาเพิ่มเติมและคิดเปรียบเทียบลักษณะต้นไม้กับแนวทางการทำงานของตัวเองว่า เป็นต้นไม้เล็กที่ขึ้นได้ด้วยการอิงต้นไม้ใหญ่ แต่ต่างจากกาฝาก เพราะต้นช้อย นางรำ มีรากยึดหาอาหาร ทำให้ไม่ทำลายต้นไม้ใหญ่
พอพิจารณาการทำงานของตัวเองว่า เป็นผู้น้อยที่จะต้องค่อย ๆ ไต่เต้า เคารพผู้ใหญ่ กตัญญูต่อผู้มีพระคุณ จึงไม่อยากเป็นเหมือนกาฝาก เลือกจะเป็น ‘ช้อย นางรำ’ ไม่ยิ่งใหญ่ ไม่งดงาม เพียงภูมิใจกับลักษณะเท่าที่เป็นของตัวเอง นำมาสู่นามปากกา แม่ช้อย นางรำ
ต้องยอมรับว่า ‘แม่ช้อย นางรำ’ เป็นนามปากกาที่สร้างชื่อเสียงให้ตัวผู้เขียน(สันติ เศวตวิมล) มากเป็นพิเศษ ไม่เพียงแค่จากเนื้อหาที่ตีพิมพ์เท่านั้น สำนวนที่ใช้ในการเขียน สันติ เศวตวิมล ดัดให้ดีดดิ้นเป็นสำนวนแบบผู้หญิง ใช้คำจำพวก อีชั้น เจ้าคะ เจ้าค่ะ เพื่อให้คนอ่านคิดว่าคนเขียนเป็นผู้หญิงจะได้หลุดรอดจากยุครัฐบาลสมัยนั้น ซึ่งแนวทางนี้ประสบความสำเร็จโดยราบรื่น รอดตัวมาได้จนถึงหมดยุคสมัย “ปฏิรูป”
นักอ่านที่ติดตามกันประจำ แม้แต่คนอย่างสมัคร สุนทรเวช ที่ดำรงตำแหน่งในกระทรวงมหาดไทยยุคสมัยนั้นยังไม่ระแคะระคาย ดังที่สันติ เศวตวิมล เล่าไว้ในหนังสือ ‘เปิดตำนาน เปิบพิสดาร’ ว่า
“เมื่อก่อนที่คุณสมัครจะเสียชีวิตเพียงไม่กี่เดือน เราพบกันในร้านเย็นตาโฟ ศรีย่าน ซึ่งเป็นร้านในเครือ ‘เปิบพิสดาร’ ผมยังหยอกเย้าตามประสาคนรู้จักกันก่อนที่จะได้เป็นนักการเมือง ผมถามคุณสมัครว่า...เป็นแฟนเปิบพิสดารหรือ จึงรู้จักร้านนี้?”
คำตอบของ สมัคร สุนทรเวช ตามปากคำที่สันติ เศวตวิมล ระบุไว้ถึงวาทะคุณสมัคร ซึ่งตอบกลับมาว่า
“เออ...นายแน่มาก หลงเป็นแฟนคอลัมน์ เปิบพิสดารมาเป็นสิบ...สิบปี ไม่รู้ว่าเป็นนาย ถ้ารู้ก่อนคงจะสั่งปิดหนังสือพิมพ์ไทยรัฐไปนานแล้ว และนายก็คงจะต้องติดคุกติดตะรางอย่างเพื่อนนายอีกหลายคนแน่เลย!!”
สันติ เศวตวิมล ไม่ได้ถือสากับวาทะของคุณสมัคร สุนทรเวช พร้อมบันทึกไว้ว่า ให้อภัยในสิ่งที่(คุณสมัคร)ทำกับตนเอง แล้วแถมท้ายอีกว่า การกระทำในอดีตมีส่วนทำให้สันติ เศวตวิมล สร้างชื่อกับคอลัมน์ ‘เปิบพิสดาร’ พร้อมนามปากกา ‘แม่ช้อย นางรำ’
ควันหลงจากคอลัมน์ใหม่
ความสำเร็จของคอลัมน์นักชิม วิจารณ์อาหารทำให้สันติ เศวตวิมล ต่อยอดมาจัดรายการวิทยุโทรทัศน์ แล้วถึงกับได้เป็นผู้บริหารบริษัททัวร์ชื่อว่า ‘พี.โอ.พี ทราเวิล’ พานักท่องเที่ยวเดินทางไปสถานที่ต่างๆ ซึ่งสันติ เศวตวิมล เดินทางไปสังเวชนียสถาน 4 ในประเทศอินเดีย ยาวนานถึง 25 ปีติดต่อกัน
จนถึงวันนี้ สันติ เศวตวิมล ยังคงทำหน้าที่ในยุคดิจิทัลท่ามกลางยุทธจักร ‘นักรีวิว’ รุ่นใหม่ จัดรายการวิทยุ บอกเล่าเรื่องราวอาหารและเกร็ดเบ็ดเตล็ดต่าง ๆ จากประสบการณ์ที่ผ่านมา ที่สำคัญ ‘แม่ช้อย นางรำ’ เปิดร้านอาหารเอง และที่ยังมีอยู่คือร้านชื่อ แม่ช้อยดอยหลวง
เหตุการณ์หลากหลายอย่างผ่านเข้ามาในเส้นทางชีวิตของนักเขียนอาวุโสท่านนี้ จากการเขียนข่าวการเมือง อาชญากรรม สังคม บันเทิง สงคราม มาสู่เขียนเรื่องอาหาร หรือเขียนเพลง ผ่านดราม่ายุคแรกในสมัยของปาปารัสซี่ไปจนถึงเหตุการณ์อื่น
คอลัมน์ ‘เปิบพิสดาร’ นำเสนอมาต่อเนื่องไม่ต่ำกว่า 40 ปี มาสู่ร้านอาหารแม่ช้อยดอยหลวงซึ่งยังคงเปิดอยู่ในวันนี้ เมนูของร้านในบางวันแค่อ่านชื่อก็ทำให้คนรุ่นใหม่สนใจไปลิ้มลองแล้ว อาทิ แกงเผ็ดเป็ดย่างใส่ลิ้นจี่ มัสมั่นใส่ทุเรียน
เส้นทางนักเขียนที่ผ่านมาของสันติ เศวตวิมล คงเป็นดั่งชีวิตคนจำนวนมาก ทางเดินที่ผ่านมาไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ ล้วนรับมืออุปสรรคจากภายนอกกระทบมาถึงหน้าที่ การทำงานสายบันเทิง ในบางครั้ง เนื้อหาที่นำเสนอไปทำให้ผู้อื่นส่งเสียงวิจารณ์ย้อนกลับมาหาคนทำสื่อเอง หรือแม้แต่ในประเด็นเรื่องชีวิตส่วนตัวก็มีคนสนใจไม่ต่างจากดารา ขณะเดียวกัน ชีวิตในอีกช่วงหนึ่งก็ผ่านความสำเร็จในห้วงเวลาที่เป็นยุคสมัยของตัวเอง
ท่ามกลางสังคมที่ผู้คนสวมหมวกกันหลายใบ สำหรับหมวกใบหนึ่งที่สันติ เศวตวิมล สวมใส่ในนามนักชิม นักวิจารณ์อาหาร เป็นส่วนหนึ่งที่อยู่ในความทรงจำของผู้คน และส่งอิทธิพลไม่น้อย มีร้านอาหารที่ได้รับตราเปิบพิสดารจำนวนมาก(ทั้งจริงและแอบอ้าง)
ปฏิเสธได้ยากว่า ตราเปิบพิสดารที่กระจายไปทั่วทุกสารทิศนี้มีเรื่องราวความเป็นมาเบื้องหลังซึ่งสะท้อนความเป็นไปในสังคมไทยหลากหลายแง่มุมตามยุคสมัย...ลองพิจารณากันดู
เรื่องราวความเป็นมาเบื้องหลังของ ‘เปิบพิสดาร’ เล่าไว้เพียงเท่านี้ เรื่องราวบทอื่นในอนาคตของ ‘แม่ช้อย นางรำ’ ณ เวลานี้ ยังต้องติดตามกันต่อไปเจ้าค่ะ
หมายเหตุ: เนื้อหานี้ปรับปรุงจากบทความ ‘สันติ เศวตวิมล เบื้องหลังตรา เปิบพิสดาร และชื่อ แม่ช้อย นางรำ จากยุค 6 ตุลา’ เผยแพร่เมื่อเมษายน 2565
อ้างอิง :
แม่ช้อย นางรำ. เปิดตำนาน เปิบพิสดาร. กรุงเทพฯ : โปร-วิชั่น, ไม่ปรากฏปี.
https://www.youtube.com/watch?v=148kCj_yGac&t=211s