“ไม่มีศัตรูสักคนในโลกนี้ คุณจะไปได้ทุกที่” บทเรียนชีวิตจาก ‘จตุรงค์ โพธาราม’

“ไม่มีศัตรูสักคนในโลกนี้ คุณจะไปได้ทุกที่” บทเรียนชีวิตจาก ‘จตุรงค์ โพธาราม’

‘ลุงรงค์’ จตุรงค์ โพธาราม ศิลปินตลกผู้อยู่เบื้องหลังเสียงหัวเราะของคนไทยนานกว่า 3 ทศวรรษ เผยเคล็ดลับความสำเร็จในวงการบันเทิง

KEY

POINTS

  • “ไม่มีศัตรูสักคนในโลกนี้ คุณจะไปได้ทุกที่” หลักคิดสำคัญที่ทำให้อยู่ในวงการได้ยาวนาน
  • ปฏิวัติวงการตลกไทยด้วยการแต่งกายเป็นผู้หญิงหรือกะเทยแบบสวยงาม แทนที่จะเป็นแบบตลกน่าขบขัน
  • ไม่มีทางลัดสู่ความสำเร็จ กว่าจะมีชื่อเสียงต้องใช้เวลาและความทุ่มเทหลายสิบปี

“ถ้าเราตั้งปฏิญาณว่าเราจะไม่โกรธ ไม่เกลียด ไม่ทะเลาะกับใคร และไม่มีศัตรูสักคนหนึ่งในโลก คุณจะไปได้ทุกที่” คำพูดที่กลั่นกรองจากประสบการณ์ของ ‘จตุรงค์ โพธาราม’ หรือที่คนในวงการรู้จักกันในนาม ‘ลุงรงค์’ ศิลปินตลกที่อยู่เบื้องหลังรอยยิ้มและเสียงหัวเราะของคนไทยมาหลายทศวรรษ

ลุงรงค์เล่าว่าความสำเร็จและการยืนระยะในวงการบันเทิงได้ยาวนานนั้น มีเคล็ดลับสำคัญคือการไม่สร้างศัตรู ทั้งยังแบ่งปันวิธีรับมือกับความคิดแง่ลบของคนอื่นว่า ความรู้สึกลบเหล่านั้นเป็นปัญหาของผู้อื่น ไม่ใช่ของเรา “มันเป็นความยุ่งยากของคุณ มันเป็นปัญหาของคุณ มันไม่ใช่ปัญหาของผม”

หลักคิดนี้ไม่ได้เกิดขึ้นโดยบังเอิญ แต่เป็นผลจากบ่มเพาะชีวิตมายาวนาน เริ่มจากวัยเด็กที่ลุงรงค์เป็นคนไม่กล้าแสดงออกต่อหน้าพ่อแม่ “เพราะพ่อตีเก่ง ด่าเก่ง กลัว ก็เลยไม่กล้าแสดงออกตั้งแต่เด็ก” แต่เมื่ออยู่นอกบ้านเขากลับกลายเป็นคนละคน “เวลาอยู่กับเพื่อน เป็นตัวเดินนำเลย ไม่ได้เป็นหัวหน้าชั้นนะ หัวหน้าชั้นมันต้องเป็นคนดีเป็นเด็กเรียน แต่อันนี้ไม่ใช่คนดี เป็นตัวตลก”

การแยกบทบาทระหว่างตัวตนที่บ้านและตัวตนในสังคมตั้งแต่เด็ก ทำให้ลุงรงค์พัฒนาความสามารถในการสร้างบุคลิกที่หลากหลาย ซึ่งกลายเป็นจุดแข็งในการทำงานของเขาในเวลาต่อมา “ชอบการสวมบทบาทเป็นคนอื่น หนังเนี่ย ลุงจะเล่นไม่เหมือนเดิมทุกเรื่อง นะ ลุงเป็นตัวกะเทย ลุงเป็นตัวพ่อ ลุงเป็นตัวอาจารย์ เป็นตัวพระ เป็นตัวคนพูดไม่ค่อยชัด เป็นตัวขาเป๋ เป็นตัวโหด”
 

แต่ก่อนที่ลุงรงค์จะมีชื่อเสียงเช่นทุกวันนี้ เขาต้องตัดสินใจครั้งสำคัญในชีวิต นั่นคือการออกจากบ้านเพื่อไล่ตามความฝัน “ออกจากบ้านไม่เศร้าเลยนะ ดีใจมากเลย” ลุงรงค์เล่าย้อนความหลัง “ตอนนั้นพ่อให้เรียนแล้วไม่เรียน พ่อให้ไปสอบตำรวจก็ไม่ไป ให้ไปขายของที่ตลาดนัดก็ไม่ขาย” การปฏิเสธเส้นทางที่พ่อวางไว้และเลือกเดินตามความฝันของตัวเอง เป็นการเสี่ยงที่ยิ่งใหญ่

“เสี่ยงเลย เพราะว่าลุงไม่รู้จักใครในกรุงเทพฯ เป็นคนจังหวัดราชบุรี ไม่เคยไปกรุงเทพฯ ที่นอนยังไม่มีเลย ไม่รู้จะไปซุกหัวนอนที่ไหน” ลุงรงค์เล่าถึงความยากลำบากในช่วงแรกที่ต้องเริ่มต้นจากศูนย์ แต่ด้วยความมุ่งมั่นและโชคที่เข้าข้าง เขาเริ่มต้นชีวิตในเมืองหลวงด้วยการเป็นส่วนหนึ่งของวงดนตรีลูกทุ่ง ก่อนจะค่อย ๆ ก้าวเข้าสู่วงการตลก

“ไม่มีศัตรูสักคนในโลกนี้ คุณจะไปได้ทุกที่” บทเรียนชีวิตจาก ‘จตุรงค์ โพธาราม’

ตลอดเส้นทางอาชีพที่ยาวนาน ลุงรงค์ไม่เคยหยุดพัฒนาตัวเอง หนึ่งในจุดเปลี่ยนสำคัญคือการปฏิวัติวงการตลกด้วยการแต่งกายเป็น ‘ผู้หญิง’ หรือ ‘กะเทย’ แบบสวยงาม แทนที่จะเป็นแบบตลกน่าขบขันอย่างที่คนในวงการนิยมทำกัน “สมัยก่อนตลกนิยมแต่งแบบทุเรศ ถ้าแต่งเป็นผู้หญิงจะต้องฟันหลอ เขียนไฝใหญ่ ๆ แต่ลุงเป็นคนปฏิวัติการแต่งกะเทยแบบสวยคนแรก” สิ่งนี้แสดงให้เห็นถึงความกล้าที่จะแตกต่างและทำในสิ่งที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน

ความทุ่มเทในการพัฒนาฝีมือของลุงรงค์ปรากฏชัดเจนในทุกรายละเอียด แม้กระทั่งการฝึกฝนแต่งหน้าอย่างหนัก “เลิกเล่นตลกตอนตี 2 กลับถึงบ้าน กูยังไม่นอนนะ กูแต่งหน้าเล่นอะ เขียนคิ้ว ใส่ขนตา” ความพยายามเช่นนี้ช่วยให้เขาสร้างชื่อเสียงโดดเด่นในคาเฟ่หลายแห่งทั่วกรุงเทพฯ ก่อนจะก้าวเข้าสู่วงการทีวี

เหล่านี้เป็นเหตุผลที่ทำให้ลุงรงค์ประสบความสำเร็จตั้งแต่ช่วงทำงานในคาเฟ่ “ลุงอยู่คาเฟ่มา 8 – 9 ปี ลุงมีรถมีบ้านแล้วนะ” เขาเล่าด้วยความภูมิใจถึงฐานะที่มั่นคงในช่วงนั้น “เมื่อ 20 กว่าปีที่แล้ว ลุงมีรายได้วันละ 4,000 บาทแล้วนะ” แม้จะมีชื่อเสียงและรายได้มากขึ้นเมื่อก้าวเข้าสู่วงการทีวี แต่ลุงรงค์ยังคงมุ่งมั่นพัฒนาตนเองในฐานะนักแสดงอย่างไม่หยุดยั้ง “การแสดง เราย่ำอยู่กับที่ไม่ได้ ลุงเป็นคนดูหนังมาก ดูหนังทุกวัน ดูจังหวะคำพูด ไดอาล็อก เพื่อพัฒนาการแสดงของตัวเองให้สมจริง” 

ความทุ่มเทนี้ยังสะท้อนผ่านทัศนคติในการทำงานแสดงที่ไร้ขีดจำกัด เมื่อถูกถามว่าทำไมถึงต้องทุ่มเทขนาดนั้น ลุงรงค์ตอบสั้น ๆ แต่จริงใจ “กูเป็นฮอลลีวูด” 

นอกจากการพัฒนาทักษะการแสดงแล้ว ลุงรงค์ยังให้ความสำคัญกับการปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัยที่เปลี่ยนไป โดยเฉพาะในเรื่องของเนื้อหาการแสดงตลกที่ต้องละเว้นการล้อเลียนที่เข้าข่ายการบูลลี่ “ยุคปัจจุบัน ไม่ใช่แค่ตลกอย่างเดียว แต่คนทั่วไปก็ควรที่จะเลิก ตลกยังเลิกได้ อย่างลุงยังไม่เอาเลย”

“ไม่มีศัตรูสักคนในโลกนี้ คุณจะไปได้ทุกที่” บทเรียนชีวิตจาก ‘จตุรงค์ โพธาราม’

ลุงรงค์เล่าถึงประสบการณ์การเปลี่ยนแปลงในการสร้างอารมณ์ขันว่า “สมัยก่อนตลกมากเลยนะมุกบูลลี่เนี่ย เจอผู้หญิงเตี้ยๆ เนี่ย โอ้ย อีกไม่กี่เซน มึงก็เป็นคนแคระแล้วนะ แต่เดี๋ยวนี้กลายเป็นมุกบุลลี่ อย่าเล่น เพราะคนดูเขาไม่รับ” การปรับตัวให้เข้ากับความรู้สึกและการรับรู้ของผู้ชมยุคใหม่คือกุญแจสำคัญในการรักษาความนิยม

ความเข้าใจเรื่องการบูลลี่ของลุงรงค์ไม่ได้จำกัดแค่เรื่องล้อเลียนรูปร่างหน้าตา แต่ยังรวมถึงการแสดงความเคารพต่อผู้อื่นในทุกบริบท เช่น ในโซเชียลมีเดีย “อย่างพวกคอมเมนต์เวลาลุงไลฟ์สด ก็จะมีคนเข้ามาพูดว่า ชอบมากเลย น้ำพริกแม่ประนอม อันนี้มันไม่ตลกนะ” 

อีกหนึ่งเคล็ดลับที่ทำให้ลุงรงค์ยืนระยะในวงการบันเทิงได้อย่างยาวนานคือการให้อภัย “อย่างเวลามีนักแสดงมาสาย ลุงไม่โกรธนะ มึงไม่เคยมาสายเหรอ มันต้องมีเหตุปัจจัยกันบ้าง รถติดบ้าง” การให้อภัยและเข้าใจว่าทุกคนอาจมีเหตุผลในการกระทำของตน ช่วยลดความขัดแย้งและรักษาความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้อื่น

น่าสนใจที่ลุงรงค์ไม่ได้แค่หลีกเลี่ยงความขัดแย้ง แต่ยังมุ่งมั่นทำงานอย่างไม่หยุดหย่อน “ความสุขในการทำงานของลุงรงค์ก็คือได้ทำงาน ลุงยังขายน้ำพริก ยังไปยืนขายลูกชิ้นนะ” แม้ในวันที่ไม่มีงานแสดง เขาก็ยังหาโอกาสทำงานเสมอ “ถึงแม้ว่างานในวงการมันจะได้เงินมากกว่า แต่ถ้าลุงไม่ติด ลุงก็จะไปขายของอยู่ที่ร้าน” 

ส่วนในบทบาทของพ่อ ลุงรงค์ยอมรับว่าตัวเองไม่ได้เป็นพ่อในอุดมคติ “เป็นพ่อที่ไม่ได้ดีเด่น ไม่ได้เหนือชั้นอะไรมากมาย” แต่ที่สุดแล้วเขาก็มักแสดงความภาคภูมิใจในตัวลูกทั้งสองคน ผ่านการชื่นชมให้คนอื่นฟังอยู่เสมอ “ภูมิใจเพราะว่ามันเป็นคนไม่เหลวแหลก ไม่ทำให้พ่อแม่น้ำตาไหล ไม่ทำให้พ่อแม่เดือดร้อน” 

“ไม่มีศัตรูสักคนในโลกนี้ คุณจะไปได้ทุกที่” บทเรียนชีวิตจาก ‘จตุรงค์ โพธาราม’

ภายใต้หน้ากากของศิลปินตลกที่โด่งดัง และพ่อที่ภาคภูมิใจในตัวลูก ๆ ที่สำคัญไม่น้อยไปกว่าสิ่งอื่นใด ลุงรงค์ยังเป็นตัวอย่างที่น่ายกย่องสำหรับคนทำงาน “ไม่ใช่มนุษย์ไม่มีความเศร้านะ มนุษย์มีความเศร้าทุกคน เดินไปเจอคนไม่มองหน้า หรือมองค้อน ดูท่าทางเขาเกลียดเรา เราก็เศร้าแล้ว แต่เราไม่เคยแสดงออก” การเก็บความรู้สึกและนำเสนอเพียงด้านสดใสให้ผู้คนเห็น เป็นการเลือกที่จะรักษาความเป็นมืออาชีพและภาพลักษณ์ที่คนอยากเห็น

บทเรียนจากชีวิตและการทำงานของลุงรงค์สามารถนำมาปรับใช้ได้กับทุกคน ไม่ว่าจะอยู่ในสายอาชีพใด ทั้งการเลือกเส้นทางชีวิตด้วยตัวเอง ความกล้าที่จะแตกต่าง การพัฒนาตนเองอย่างไม่หยุดนิ่ง การปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัย การทำงานด้วยความทุ่มเท และสำคัญที่สุด การไม่สร้างศัตรู

 

สัมภาษณ์: พาฝัน ศรีเริงหล้า
ถ่ายภาพ: จุลดิศ อ่อนละมุน