โซอิชิโร ทาคาชิมะ อดีตพิธีกรทีวีสู่นายกเทศมนตรี ปั้นฟูกูโอกะเป็น “สตาร์ทอัพ ซิตี้”

โซอิชิโร ทาคาชิมะ อดีตพิธีกรทีวีสู่นายกเทศมนตรี ปั้นฟูกูโอกะเป็น “สตาร์ทอัพ ซิตี้”

โซอิชิโร ทาคาชิมะ อดีตพิธีกรทีวีสู่นายกเทศมนตรี ปั้นฟูกูโอกะเป็น “สตาร์ทอัพ ซิตี้”

“โตเกียว” มหานครใหญ่ของญี่ปุ่น ขึ้นชั้นเป็นแหล่งรวมยอดมนุษย์วงการสตาร์ทอัพไปแล้วแบบไม่มีใครกังขา แต่เมืองที่น่าจับตาและมาแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ ในแวดวงสตาร์ทอัพระดับโลกก็คือ “ฟูกูโอกะ” ที่ตั้งเป้าเป็น “สตาร์ทอัพ ซิตี้” ซึ่งผู้ที่ปลุกปั้นโปรเจกต์นี้ก็คือ โซอิชิโร ทาคาชิมะ (Soichiro Takashima) คนรุ่นใหม่ผู้สร้างประวัติศาสตร์เป็นนายกเทศมนตรีอายุน้อยสุดของเมืองฟูกูโอกะ นั่นเอง ทาคาชิมะเกิดเมื่อเดือนพฤศจิกายน ปี 1974 จบไฮสกูลในจังหวัดโออิตะ จากนั้นเข้าเรียนคณะนิติศาสตร์ที่ Dokkyo University และจบการศึกษาในปี 1997 ซึ่งปีเดียวกันนั้นเขาก็เข้าทำงานใน KBC Kyushu Asahi สถานีออกอากาศชื่อดังบนเกาะคิวชู ที่ KBC Kyushu Asahi ทาคาชิมะรับหน้าที่เป็นพิธีกรรายการทีวีหลายรายการ รวมถึงทอล์กโชว์ที่พูดถึงประเด็นสิ่งแวดล้อม เขาใช้เวลาที่นั่นราว 3 ปี ก่อนที่ปลายปี 2010 จะหันเหเส้นทางมาเอาดีด้านการเมืองด้วยการลงสมัครเป็นนายกเทศมนตรี และก็ทำได้สำเร็จเสียด้วย ทาคาชิมะได้รับเลือกให้เป็นนายกเทศมนตรีขณะอายุ 36 ปี สร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ด้วยการเป็นนายกเทศมนตรีอายุน้อยสุดเท่าที่เมืองฟูกูโอกะเคยมี ตำแหน่งดังกล่าวมีวาระ 4 ปี เมื่อถึงปี 2014 ทาคาชิมะก็ได้รับเลือกให้เป็นนายกเทศมนตรีสมัยที่ 2 กระทั่งปลายปี 2018 ก็ถึงคราวหมดวาระ แต่เมื่อกฎหมายไม่ได้ระบุว่าเป็นได้สูงสุดแค่ 2 ครั้ง ทาคาชิมะซึ่งสังกัดพรรคเสรีประชาธิปไตยจึงลงสมัครอีกรอบ โดยมีคู่แข่งคือ ทาคายูกิ คามิยะ จากพรรคคอมมูนิสต์ญี่ปุ่น และแน่นอนว่าเป็นทาคาชิมะที่เข้าเส้นชัย นั่งเก้าอี้นายกเทศมนตรีเมืองฟูกูโอกะเป็นสมัยที่ 3 ติดต่อกัน ทำไมคนหนุ่มอย่างเขาถึงได้รับความไว้วางใจต่อเนื่องยาวนานขนาดนี้? ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นเพราะบุคลิกและวิสัยทัศน์อันแรงกล้าของเขา ที่อยากขับเคลื่อนให้ฟูกูโอกะเติบใหญ่เป็นเมืองแห่งเทคโนโลยี สะท้อนจากบทสัมภาษณ์ครั้งหนึ่งที่บอกว่า ต้องการสร้างให้ฟูกูโอกะเป็นเมืองที่เปรียบเสมือนห้องทดลองขนาดใหญ่ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี “ฟูกูโอกะไม่ใช่เมืองขนาดยักษ์แบบโตเกียวหรือเซี่ยงไฮ้ สำหรับเมืองขนาดกลาง ๆ แล้ว การสร้างความแข็งแกร่งขึ้นมาก็เพื่อดึงดูดผู้คนที่ต้องการทดลองและสร้างสรรค์รูปแบบนวัตกรรมใหม่ ๆ สำหรับสังคมในอนาคต” หนึ่งในบทบาทเด่นของเขาที่ฉายชัดมาตั้งแต่ปี 2014 ก็คือการผลักดันให้ฟูกูโอกะเป็น เขตยุทธศาสตร์พิเศษแห่งชาติสำหรับสตาร์ทอัพระดับโลกและการสร้างสรรค์อาชีพ (National Strategic Special Zone for Global Start-ups and Job Creation) สาเหตุที่ทาคาชิมะมองว่าฟูกูโอกะเป็นเมืองที่มีศักยภาพในการเป็น “สตาร์ทอัพ ซิตี้” ก็เช่น 1.เป็นเมืองที่มีอัตราการเติบโตของประชากรสูงที่สุด (ไม่นับโตเกียว) และมีอัตราประชากรที่อายุ 15-29 ปีสูงที่สุดในญี่ปุ่น ซึ่งช่วงวัยนี้เป็นช่วงวัยทำงานและพร้อมจะเปิดรับเทคโนโลยีใหม่ ๆ นอกจากนี้ค่าครองชีพในฟูกูโอกะก็ไม่สูงจนเกินไปด้วย 2.ฟูกูโอกะมีมหาวิทยาลัยและศูนย์วิจัยและพัฒนา (R&D) หลายแห่ง จึงเป็นแหล่งทรัพยากรชั้นดีของเหล่าสตาร์ทอัพที่ต้องการพัฒนาโปรเจกต์ใหม่ ๆ 3.เป็นเมืองที่มี “สตาร์ทอัพ คาเฟ่” รวบรวมข้อมูลต่าง ๆ ที่จำเป็นต่อการสร้างธุรกิจสตาร์ทอัพ และยังเป็นเมืองที่ไปลงนามบันทึกความเข้าใจกับหลายเมืองใหญ่ของโลก เพื่อเชื่อมฐานสตาร์ทอัพที่ตั้งอยู่ในฟูกูโอกะเข้ากับชุมชนสตาร์ทอัพทั่วโลก เพื่อปั้นฟูกูโอกะให้เป็นสตาร์ทอัพ ซิตี้ ได้อย่างที่วางเป้าหมายไว้ จำเป็นต้องมีการปรับปรุงกฎหมายและกฎระเบียบเสียก่อน ดังนั้นในปี 2015 เมืองฟูกูโอกะได้คลายเข้มงวดการอนุมัติวีซ่าสำหรับผู้ประกอบการต่างชาติ โดยมี “สตาร์ทอัพ วีซ่า” ซึ่งผู้ประกอบการชาวต่างชาติต้องมีสำนักงานในฟูกูโอกะและต้องมีพนักงานประจำไม่น้อยกว่า 2 คน หรือมีทุนตั้งแต่ 5 ล้านเยนขึ้นไป เพื่อยื่นขออนุมัติสตาร์ทอัพ วีซ่า ซึ่งมีอายุ 6 เดือน และเมื่อถึงกำหนดแล้วก็สามารถยื่นขอใหม่ได้           หลายคนอาจเกรงว่าเมื่อมาทำธุรกิจในญี่ปุ่นแล้วอาจเจออุปสรรคด้านภาษา ฟูกูโอกะเลยอุดจุดอ่อนนี้ด้วยการก่อตั้ง “ศูนย์สตาร์ทอัพระดับโลก” (Global Startup Center) จัดเตรียมเจ้าหน้าที่ที่สื่อสารภาษาอังกฤษอย่างคล่องมาให้คำแนะนำตั้งแต่การทำธุรกิจไปจนถึงการใช้ชีวิตในญี่ปุ่น นอกจากนี้ยังมี “Fukuoka Growth Next” (FGN) ซึ่งเป็น accelerator ใหญ่สุดในญี่ปุ่น เกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่างภาครัฐกับเอกชนเพื่อช่วยเหลือสตาร์ทอัพรายต่าง ๆ ทั้งการเชื่อมต่อการเป็นพันธมิตรกับภาคเอกชน ให้คำปรึกษาด้านทรัพยากรบุคคล เงินทุน หลักสูตรบรรยาย ฯลฯ “เมืองฟูกูโอกะดึงดูดผู้มีความสามารถมารวมตัวกันทั้งชาวญี่ปุ่นเองและชาวต่างชาติ ตอนนี้ FGN เป็นบ้านของสตาร์ทอัพกว่า 170 ราย จำนวนนี้ 24 รายได้รับเงินลงทุนรวมมูลค่าทั้งหมด 7,100 ล้านเยน หรือประมาณ 62.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ แล้ว” ทาคาชิมะบอกไว้เมื่อเดือนธันวาคม ปี 2018 ถึงอย่างนั้น ผลงานของนายกเทศมนตรีหนุ่มก็ไม่ได้มีดีแค่การปั้นฟูกูโอกะเป็น “สตาร์ทอัพ ซิตี้” อย่างเดียว เพราะเขายังกระตือรือร้นและมีบทบาทส่งเสริมการท่องเที่ยวและประชาสัมพันธ์ธุรกิจ MICE (ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการจัดประชุมบริษัทข้ามชาติ ประชุมระดับนานาชาติ นิทรรศการ เป็นต้น) แถมยังเป็นนายกเทศมนตรีชาวญี่ปุ่นคนแรกที่ได้เข้าร่วมการประชุมประจำปีของ World Economic Forum อีกด้วย เรียกว่ายังอยู่ในข่าย "คนรุ่นใหม่" ที่ยังมีพลังเหลือล้นในการพัฒนาประเทศเลยก็ว่าได้               ที่มา https://www.weforum.org/people/soichiro-takashima https://www.japantimes.co.jp/news/2017/07/14/business/mayor-soichiro-takashima-envisions-fukuoka-living-lab-internet-things/#.XIioJigzZyw https://startup.fukuoka.jp/why-fukuoka https://www.forbes.com/sites/japan/2019/03/04/why-both-japanese-and-foreign-entrepreneurs-are-choosing-fukuoka/#50fbad782857 https://www.startupthailand.org/issue-16-ai-first-beyond-th/ https://asia.nikkei.com/Opinion/Fukuoka-a-booming-population-in-aging-Japan http://2014.myojowaraku.net/tw/en/archives/198