15 ธ.ค. 2566 | 10:40 น.
งานวิจัยล่าสุดจาก Madre Brava ที่จัดให้ทำการสำรวจแนวโน้มและทิศทางการบริโภคอาหารของผู้บริโภคไทยมากกว่า 1,500 คน พบว่า 67% ของผู้ตอบแบบสอบถามต้องการลดการบริโภคเนื้อสัตว์ภายในสองปี ด้วยเหตุผลด้านสุขภาพ ตามมาด้วยสิ่งแวดล้อม และสวัสดิภาพสัตว์ อย่างไรก็ตาม แม้แบบสำรวจนี้อาจจะสะท้อนความต้องการของผู้บริโภค แต่ในความเป็นจริงการเพิ่มการบริโภคในส่วนของโปรตีนทางเลือกยังมีข้อจำกัด ทั้งเรื่องราคา การเข้าถึง ความหลากหลายและคุณภาพสินค้าที่พร้อมรองรับกับความต้องการนี้
งานวิจัยจาก Madre Brava ระบุว่าการลดโปรตีนจากสัตว์ ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นการบริโภคโปรตีนลดลง เนื่องจากผู้ที่ต้องการลดการบริโภคเนื้อสัตว์เลือกหันไปบริโภคโปรตีนจากพืช (plant-based protein) แทน ซึ่งมีทั้งโปรตีนจากพืชที่ไม่แปรรูปหรือแปรรูปเบื้องต้น เช่น เห็ด ถั่ว เต้าหู้ และโปรตีนทางเลือก (alternative proteins) เช่น ผลิตภัณฑ์ลักษณะเนื้อที่ทำจากพืช (plant-based meat) เป็นต้น
จักรชัย โฉมทองดี ผู้อำนวยการประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ของ Madre Brava องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่มีเป้าหมายในการสร้างระบบอาหารที่ยั่งยืน โดยเฉพาะการลดผลกระทบต่อสภาวะโลกร้อนและสร้างสุขภาพที่ดีให้กับประชากร ระบุว่า “จากตัวเลขล่าสุด เห็นชัดว่าผู้บริโภคไทยเป็นกลุ่มที่ให้ความสำคัญต่อสุขภาพสูงเมื่อเทียบกับหลายประเทศและตระหนักว่าการลดเนื้อสัตว์พร้อมการบริโภคโปรตีนจากพืชทดแทนจะมีผลดี
“ซึ่งประจวบเหมาะกับความจำเป็นด้านสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะอย่างยิ่งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเนื่องจากการปล่อยก๊าซเรื่อนกระจกที่สูงของการผลิตโปรตีนจากสัตว์ แต่ที่ยอดขายอาจชะลอตัวในบางส่วน วิเคาระห์ได้ว่าเป็นปัจจัยด้านราคา การเข้าถึง ความหลากหลายและคุณภาพสินค้า นี่เป็นสัญญานสำคัญให้กับทั้งภาครัฐและเอกชนให้เห็นถึงประโยชน์และโอกาสทางเศรษฐกิจใหม่ๆ และมีนโยบายสนับสนุนส่งเสริมที่เหมาะสม ซึ่งก็จะสอดคล้องกับทิศทางการบริโภคและแนวโน้มนโยบายการค้าในตลาดส่งออกของไทยด้วย”
บทบาทของ Madre Brava คือการสร้างองค์ความรู้และผลักดันการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบอาหารที่ดีต่อสุขภาพและมีความยั่งยืน โดยทำการศึกษาวิจัยและประยุกต์ข้อมูลที่มีอยู่แล้วให้สอดคล้องกับบริบทพื้นที่ต่างๆ รวมถึงสื่อสารองค์ความรู้ และสร้างบทสนทนากับภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม เพื่อให้ตระหนักถึงโอกาสและเห็นความสำคัญในการเปลี่ยนผ่านไปสู่ผลิตและบริโภคโปรตีนที่ยั่งยืน
ลดกินเนื้อสัตว์ ทดแทนด้วยโปรตีนทางเลือก แต่ราคาต้องถูกลง
Madre Brava ทำการสำรวจผู้บริโภคไทย 1,500 คน ผ่านทางสำนักวิจัย Northstar / HarrisX จากกลุ่มตัวอย่างมีความหลากหลายของอายุ เพศ ภูมิภาค การอาศัยเขตเมือง-ชนบท กลุ่มรายได้ การศึกษา โครงสร้างครอบครัว ความสนใจด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ซึ่งผลที่ออกมาช่วยให้เห็นทิศทางการบริโภคของไทยได้เป็นอย่างดี
แม้ว่าผู้บริโภคจะตระหนักถึงประโยชน์ต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม แต่โปรตีนทางเลือกยังถูกมองว่าราคาแพงและผ่านกระบวนการแปรรูปสูง
ผู้บริโภคส่วนใหญ่ไม่ได้ต้องการเลิกกินเนื้อสัตว์โดยสิ้นเชิง แต่มากถึง 67% ระบุว่าต้องการบริโภคเนื้อสัตว์น้อยลงภายในสองปี ซึ่งเป็นสัดส่วนที่มีนัยสำคัญอย่างยิ่ง โดยชี้ว่าต้องการหันไปบริโภคโปรตีนจากพืชทั่วไปและโปรตีนทางเลือก เช่น โปรตีนพืชที่ผลิตออกมาในลักษณะเดียวกับเนื้อสัตว์ (plant-based meat) ทั้งนี้ 41% ของผู้ที่เคยบริโภคโปรตีนทางเลือกแล้วยังต้องการที่จะบริโภคเพิ่มขึ้นไปอีกหากเป็นไปได้
แต่อุปสรรค์สำคัญคือราคาที่สูงกว่าเนื้อสัตว์ในปริมาณที่เท่ากัน นอกจากนี้ในส่วนของผู้บริโภคทั่วไป ยังมีความกังวลที่เกี่ยวกับการแปรรูป รวมถึงการเข้าถึงของผู้บริโภคที่ไม่สามารถหาซื้อโปรตีนทางเลือกใกล้ที่พักอาศัยหรือร้านค้าที่ซื้อเป็นประจำได้
ทั้งนี้กลุ่มผู้ตอบแบบสอบถามที่เห็นด้วยกับการสนับสนุนโปรตีนทางเลือก ต้องการที่จะเห็นการลดภาษีที่จะทำให้ราคาสินค้าเหล่านั้นถูกลง และยังหนุนให้เพิ่มการลงทุนและพัฒนาผลิตภัณฑ์โปรตีนทางเลือก และสนับสนุนเกษตรกรในการผลิต
“หากสามารถทำให้โปรตีนทางเลือกมีราคาถูกลง คนเข้าถึงได้ง่ายขึ้น โปรตีนทางเลือกจะกลายเป็นส่วนหนึ่งในเมนูของร้านอาหารตามสั่ง นอกจาก หมู ไก่ กุ้ง แล้ว ยังมีโปรตีนจากพืชให้เลือก คนที่อยากกินอาหารที่ให้รสชาติแบบเนื้อสัตว์อยู่ก็สามารถสั่งโปรตีนทางเลือกได้หรือแม้แต่ผสมระหว่างโปรตีนทางเลือกกับเนื้อสัตว์ได้ซึ่งก็จะส่งผลดีมากกว่าทานเนื้อสัตว์อย่างเดียว”
โปรตีนจากพืชโอกาสสำคัญทางภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมอาหารของไทย
ปัจจุบันมีความจำเป็นที่อย่างยิ่งที่ทั้งภาครัฐและเอกชนจะต้องแก้ไขปรับปรุงข้อจำกัดต่อการเปลี่ยนผ่านสู่การบริโภคที่ดีต่อสุขภาพและยั่งยืนขึ้น พร้อมทั้งสร้างโอกาสการเติบโตของภาคการผลิตอาหารของไทย
“หากรัฐบาลมีนโยบายในการสนับสนุนการผลิตโปรตีนจากพืชและโปรตีนทางเลือกอย่างจริงจัง ทั้งสำหรับการบริโภคในประเทศและการส่งออก จะสอดรับกับทิศทางทั้งตลาดภายในและตลาดส่งออก เราจำเป็นต้องอ่านเกมทันและเริ่มเปลี่ยนตั้งแต่ตอนนี้ ไม่อย่างนั้นอาจตกขบวนและเสียโอกาสไป”
ประเทศไทยไม่ได้ผลิตอาหารเพื่อบริโภคภายในประเทศเท่านั้น แต่ประเทศไทยเป็นประเทศผู้ส่งออกอาหารสำคัญของโลก
“ถ้าเรามีการปรับสัดส่วน มีอาหารที่เป็นโปรตีนจากพืชมากขึ้นจะทำให้เราสามารถมีอาหารที่ดี คุณภาพดี ในราคาที่ผู้บริโภคเข้าถึงได้ ไม่เฉพาะคนไทย แต่รวมถึงผู้บริโภคในตลาดส่งออก ซึ่งจะเป็นบทบาทสำคัญอย่างยิ่ง ทำให้ประเทศไทยมีโอกาสและที่ยืนที่สำคัญในระดับสากล”
โปรตีนจากพืชเป็นส่วนหนึ่งของอาหารแห่งอนาคต (future food) หากเราต้องการเป็นครัวของโลก การดำเนินในแนวทางนี้จะทำให้เราเป็นผู้นำเรื่องอาหารได้ การปรับเปลี่ยนขนาดใหญ่ด้านอาหารของโลกกำลังจากมาถึง การเจรจาล่าสุดที่ COP28 ได้มีการบรรจุวาระเรื่องอาหารเข้ามาอย่างเป็นทางการแล้ว เชื่อว่าในอนาคตอันใกล้เราจะไม่สามารถหลีกเลี่ยงการมีความผูกพันธ์เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในการผลิตอาหารได้อีกต่อไป อีกทั้งในอนาคตอีกไม่นานภาคเกษตรจะกลายเป็นภาคที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกอันดับหนึ่งของสหภาพยุโรป ตลาดส่งออกของไทยจำนวนมากจะเริ่มมีมาตรการทางการค้าในเรื่องนี้ ไทยไม่เพียงต้องไม่ตกขบวนแต่ควรมองไปข้างหน้าและลงทุนทั้งการวิจัยและส่งเสริมเกษตรกรเพื่อให้เป็นหนึ่งในผู้นำด้านอาหารยั่งยืน ที่สำคัญคือจะทำอย่างไรเพื่อให้เกษตรกรรายย่อยได้ประโยชน์สูงสุดจากการเปลี่ยนผ่านนี้ด้วย
“ประเทศไทยเรามีเทคโนโลยีด้านอาหาร เราเป็นผู้เล่นระดับต้นๆ ของโลก ยิ่งเมื่อเทียบกับสัดส่วนประชากรและขนาดประเทศแล้วผมมองว่าประเทศไทยไม่เป็นรองใคร ดังนั้นถ้าเราต้องการพัฒนาต่อยอดด้านใด เราควรพิจารณาถึงศักยภาพที่มีอยู่ ควบคู่ไปกับการเปลี่ยนแปลงและความจำเป็นในระดับสากลด้วย” จักรชัยกล่าวทิ้งท้าย