A Thing That is Pieces สองสาวผู้สร้าง ‘ของใช้’ จาก ‘ของเหลือใช้’ และเชื่อมโยงชุมชนย่านทรงวาด

A Thing That is Pieces สองสาวผู้สร้าง ‘ของใช้’ จาก ‘ของเหลือใช้’ และเชื่อมโยงชุมชนย่านทรงวาด

A Thing That is Pieces คือชื่อกิจการโดยสองศิลปินหญิง ผู้สร้างงานศิลปะ และ ‘ของใช้’ จาก ‘ของเหลือใช้’ ในกองขยะ เรื่องราวของการทำชิ้นงานศิลปะจากของเหลือใช้และยังเชื่อมโยงชุมชนแห่งย่านทรงวาด

  • A Thing That is Pieces กิจการที่ตั้งอยู่ในย่านทรงวาดเริ่มต้นโดยพิมและเหมียว สองสาวที่ผ่านเส้นทางมากมาย
  • A Thing That is Pieces คือสตูดิโอออกแบบและสร้างสรรค์งานชิ้นงานศิลปะที่เอามาใช้งานได้ โดยใช้วัสดุจากของเหลือใช้ เริ่มเป็นที่รู้จักจากแนวคิดรักษ์โลกและชิ้นงานที่เก๋ไก๋ไม่แพ้บรรยากาศย่านทรงวาด 
  • แนวคิดของกิจการนี้ผนวกกันระหว่างแนวคิดเรื่องสิ่งแวดล้อม ศิลปะ และเชื่อมโยงชุนชนในย่านทรงวาด

ย่านทรงวาด เพิ่งได้รับคัดเลือกให้ติดอันดับหนึ่งใน 40 ย่านที่คูลที่สุดในโลกปีนี้ จาก Time Out’s 40 Coolest Neighborhoods in the World 2023 เพราะความเก๋า เก๋ เท่ คูล ด้วยอาคารโบราณอายุนับร้อยปี ในละแวกตรอกซอกซอยที่อยู่อาศัยดั้งเดิมของชาวจีนโพ้นทะเลที่เดินเท้าถึงกันได้ทั่ว แถมตั้งอยู่ไม่ไกลจากเยาวราชมากนัก ดึงดูดบรรดาร้านลับมาเปิด สายคอนเทนต์มาเยือน จนชุมชนเก่าแห่งนี้กำลังเป็นที่รู้จักมากขึ้นทุกวัน

“คนมาถ่ายรูปแค่เพราะมันสวยดี สีมันดี แต่งชุดให้เข้ากัน แต่ไม่ได้สนใจเรื่องราวเบื้องหลังประวัติศาสตร์ชุมชนเลย”

เมื่อกระแสมา คนมา รถมา ขยะมา แล้วคนก็จากไป ผู้มาเยือนได้รูปโปรไฟล์ใหม่ แต่ชุมชนได้อะไร คือคำถามที่เหมียว - ปิยาภา วิเชียรสาร และพิม - ชโลชา นิลธรรมชาติ สมาชิกชุมชนรุ่นใหม่ได้เล่าให้ผู้สัมภาษณ์ฟังถึงความเป็นห่วงที่มีต่อการเปลี่ยนแปลงบนพื้นที่แห่งนี้ เธอสองคนคือศิลปินผู้ก่อตั้ง ‘A Thing That is Pieces’ สตูดิโอออกแบบและสร้างสรรค์งานศิลปะจากขยะซึ่งเริ่มเป็นที่รู้จักจากแนวคิดรักษ์โลกและชิ้นงานที่เก๋ไก๋ไม่แพ้ย่านทรงวาด แต่นอกจากนั้น งานศิลปะของพวกเธอยังมีความผูกพันแนบแน่นกับผู้คนในชุมชนที่อยากให้คนได้รู้

และนี่คือเรื่องราวของพวกเธอ

(ซ้าย) เหมียว และพิม

สองคนสองความต่าง

“เหมียวบ้านอยู่ภูเขาทอง ชินกับเมืองเก่า ที่บ้านซื้อข้าวให้กินจากในละแวกนั้น เราก็มีความผูกพัน แต่เหมือนคนส่วนใหญ่ลืมความรู้สึกตรงนั้นไป”

เหมียว สาวอาร์ตที่รู้ตัวว่ารักศิลปะแต่เด็ก อดีตแฟชั่นดีไซเนอร์และสไตลิสต์ในธุรกิจอาหาร เธอเกิดและเติบโตมาจากย่านภูเขาทอง ชุมชนเก่าของลูกหลานชาวจีนที่มีทุกอย่างที่ต้องการในพื้นที่ อยากเจอเพื่อนก็เดินไปหาที่บ้าน อยากซื้อของก็อุดหนุนที่ร้านอาโก อยากกินข้าวก็ฝากท้องที่ร้านอาแปะ

A Thing That is Pieces สองสาวผู้สร้าง ‘ของใช้’ จาก ‘ของเหลือใช้’ และเชื่อมโยงชุมชนย่านทรงวาด

พิม อดีตนักบัลเลต์ที่ชอบประดิษฐ์ของกระจุกกระจิก แต่วันหนึ่งหมดสนุกกับการเต้นประกอบการแสดง ก่อนพบเส้นทางที่ชอบและผันตัวมาอยู่ในสายการตลาดในกิจการร้านอาหารชื่อดัง พื้นฐานครอบครัวของเธอทำอู่รถแถวรัชดา ธุรกิจและอาชีพนักการตลาดทำให้เธอวนเวียนอยู่กับแนวคิดทุนนิยมอันมุ่งหาผลกำไรสูงสุดในสังคมเมืองใหญ่ที่ตัวใครตัวมัน

ด้วยพื้นฐานจากงานร้านอาหาร ทั้งสองจึงอยากมีร้านในฝันที่ได้บ่งบอกความเป็นตัวเอง เหมียวขี่มอเตอร์ไซค์ลัดเลาะตามตรอกซอกซอยเพื่อค้นหาพื้นที่เมืองเก่าที่ตรงข้ามกับชีวิตใต้แสงสีในธุรกิจแฟชั่นที่เธอทำงาน จนมาเจอชุมชนทรงวาด พิมเลือกย่านใกล้บ้านอาม่าแถววัดไตรมิตรจนมาพบพื้นที่แถวซอยนานา บนถนนเจริญกรุง Pieces Cafe & Bed และ NAHIM CAFE ร้านสองร้านของคนสองคนที่ยังไม่รู้จักกันจึงเกิดขึ้นเมื่อ 8 ปีที่แล้ว (นับจากปี พ.ศ. 2566) ก่อนย่านทรงวาดและนานาจะกลายเป็นหมุดหมายใหม่ของสายคอนเทนต์

ร้านก็อยู่ใกล้กัน คนก็มีความชอบคล้ายกัน เหมียวกับพิมจึงโคจรมาเจอกันในย่านทรงวาด แต่ในความเหมือนยังมีความต่าง เหมียวเป็นนักสร้างสรรค์ที่คิดไอเดียได้แหวกแนว พิมมีทักษะทางตัวเลขและการจัดการ เหมียวคือคนจากชุมชน พิมคือคนจากสังคมทุนนิยม

“ตอนพิมเปิดร้าน เราซื้อของทุกอย่างจากห้างค้าส่ง แต่เหมียวซื้อทุกอย่างจากคนแถวนี้ ตอนนั้นก็คิดว่าทำไมต้องซื้อของจากแถวนี้ ไปร้านนึงก็ได้ของแค่อย่างเดียว ไม่ได้ของครบ แต่เหมียวมองว่า เขาจะอยู่ยังไงถ้าเราไม่อุดหนุน เราโตมากับครอบครัวที่ทุนนิยมจ๋า ที่บ้านขายของแพง เราเลยลืมมองจุดนี้ไป เราไม่ได้ให้ความสำคัญกับจิตใจ พอมาอยู่ตรงนี้จริง ๆ เราถึงรู้สึกว่ามันมีอีกหลายสิ่งที่เราไม่ได้ใส่ใจแต่ก็ควรใส่ใจ”

 

เส้นทางธุรกิจสุดแนว

พอมารู้จักกัน เหมียวและพิมก็ได้ร่วมหุ้นทำธุรกิจสุดแนวในแบบที่ชอบ ทุกคืนวันศุกร์เสาร์ เธอสองคนจะย้อมสีร้าน Pieces Cafe & Bed ด้วยไฟนีออนสีชมพูแปลกตา แปลงโฉมคาเฟ่เป็นร้านเหล้าบ๊วย Shuushuu Bar ‘ร้านลับ’ ยุคเริ่มแรก ที่ ‘ลับจริง’ เพราะมีปรากฏแค่สองคืนต่อสัปดาห์ก่อนจะอันตรธานหายไปในรุ่งเช้า

A Thing That is Pieces สองสาวผู้สร้าง ‘ของใช้’ จาก ‘ของเหลือใช้’ และเชื่อมโยงชุมชนย่านทรงวาด

“Shuushuu คือให้เงียบ ๆ ไม่ต้องคุย เราชอบลูกค้าเงียบ ๆ”

แต่ขึ้นชื่อว่าร้านเหล้าย่อมมีลูกค้าหลากหลาย ทั้งลูกค้าแบบที่พวกเธอต้องการอย่างนักท่องเที่ยวที่มาจิบเหล้าบ๊วยในความเงียบและซ่อนตัวอยู่หลังหน้าหนังสือ ผู้บริหารภูมิฐานมารยาทดีที่ชื่นชอบแนวคิดของร้าน ไปจนถึงหนุ่มโอตาคุที่มาส่องสาวหมวยขายเหล้าพร้อมฉวยโอกาสจับมือ กลุ่มเด็กวัยรุ่นที่พาเพื่อนมาเฮฮาและเมาหัวราน้ำจนเจ้าของร้านต้องตามแคะอาเจียนออกจากร่องประตู เมื่อได้พบเจอคนทั้งแบบที่ชอบและไม่ชอบ เหมียวกับพิมเริ่มตั้งคำถามว่าพวกเธอยังสนุกกับการพบเจอคนที่คาดไม่ถึงอยู่หรือไม่

แล้วคำตอบคือการตัดสินใจปิดร้านลับแห่งนี้ลง

อีกคำตอบที่ทั้งสองค้นพบ คือความชอบในธุรกิจอาหารมีไม่เท่าการตกแต่งร้านอาหาร เพราะมันคือการสร้างงานศิลปะและนำมาจัดวางลงในพื้นที่ที่มีผู้ชม พวกเธอแค่อยากทำงานศิลปะ ในตอนนั้น บังเอิญมีช่างก่อสร้างเข้ามาปรับปรุงพื้นที่ในซอย ทั้งสองคนจึงเดินไปดูด้วยความอยากรู้ และพบพื้นที่ในแบบที่พวกเธอมองหามานานเพื่อเปิดสตูดิโอสร้างงานศิลปะ

“ด้วยระยะเวลาและค่าเช่า พวกเราเลยต้องทำอีกธุรกิจคู่กัน ก็เลยเปิดร้านอาหารขึ้นที่ชั้นล่าง สตูดิโออยู่ข้างบน ก่อนหน้าคิดว่าร้านอาหารจะมาเติมเงินแต่กลับมาละลายเงิน เป็นการตัดสินใจที่ผิด แต่ก็ได้ประสบการณ์”

ร้านอาหารใหม่เน้นขายคอนเซปต์ เสิร์ฟเป็นคอร์สอาหารที่เปลี่ยนธีมทุก 4 เดือน มีจอทีวีรุ่นเก่าฉายสารคดีเกี่ยวกับเรื่องราวเบื้องหลังธีมช่วงนั้น วันหนึ่งรับลูกค้าเพียง 8 ที่ และต้องจองก่อนเท่านั้นเพื่อให้สามารถกะปริมาณวัตถุดิบได้ ไม่ต้องมีขยะเหลือทิ้งและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ทั้งคอนเซปต์แหวกแนวและคอนเน็กชันในวงการอาหารทำให้มีสื่อมาถ่ายทำหลายเจ้า แต่ด้วยการนำเสนอเรื่องราวในสื่อที่บิดเบือนจนธุรกิจเจ้าใหญ่รู้สึกถูกพาดพิง ทั้งคู่จึงโดนฟ้องให้เปลี่ยนชื่อร้านและลงโฆษณาขอโทษบนหนังสือพิมพ์หัวสีชื่อดังถึง 3 วัน นับเป็นบทเรียนแรกที่ทำให้สองคนเข้าใจความไม่เท่าเทียมในสังคม และความโหดร้ายในวงการธุรกิจ

“เราไม่มีเงินจ้างทนาย ถึงแม้เราจะหาเส้นสายที่รู้จักเพื่อไปคุยกัน แต่เขาไม่คุยเองเลย เขาให้แต่ทนายคุย ตอนนั้นเพิ่งเปิดร้านได้ 2 เดือนแรก ก็เป็นบทเรียนและเป็นอุปสรรค...”

“เป็น real life ที่เลวร้าย”

พอผ่านมรสุมก้อนแรกได้ไม่นาน ไวรัสโควิด-19 ก็เริ่มแพร่ระบาดในประเทศไทย ทั้งสองคนพยายามประคับประคองร้านอาหารไปเรื่อย ๆ ได้อีกราวปีกว่า ก็ถึงคราวต้องปิดตัวลงอย่างจริงจัง แต่ค่าเช่าที่ เครื่องมือ พนักงาน และวัตถุดิบที่ยังเหลืออยู่มากมาย กลายเป็นปัญหาต่อมาให้เหมียวกับพิมต้องแก้

“ช่วงโควิดไม่รู้จะทำอะไรกัน เลยมาอบขนมปังรูปหัวนมขาย ช่วงนั้นเดลิเวอรีกำลังบูม ก็เลยลองปั้นเองทำเอง เหนื่อยมาก เราพยายามรับออเดอร์ให้ได้เยอะ ๆ เพราะมียอดค่าใช้จ่ายเยอะ แต่ลืมดูสภาพตัวเอง ทำแล้วนอนกันหน้าเตาอบเลย ตื่นมาก็นวดแป้ง วันหยุดญาติคนไหนอยู่บ้านก็ชวนมาอบขนมปังกัน ก่อนหน้านี้ก็ไม่เคยทำขนม ทำล็อตแรกไม่อร่อยเลย เพื่อนซื้อไปแล้วโทรมาด่า”

“แต่ตอนนี้อร่อยแล้ว”

ปัจจุบันขนมปังหัวนมที่อร่อยแล้ว ยังคงมีขายเป็นเมนูขึ้นชื่อที่ Pieces Cafe & Bed

A Thing That is Pieces สองสาวผู้สร้าง ‘ของใช้’ จาก ‘ของเหลือใช้’ และเชื่อมโยงชุมชนย่านทรงวาด

ศิลปะจากกองขยะ

เมื่อปี 2562 เหมียวกับพิมเปิดสตูดิโอศิลปะที่ชั้นสองของร้านอาหาร แต่ต่อมาร้านอาหารปิดตัวลง สตูดิโอจึงย้ายมายังชั้นล่าง ทั้งคู่ซึ่งชอบประดิดประดอยเป็นทุนเดิมได้เคยทดลองเล่นกับวัสดุหลายชนิด แล้วได้ไปเจอ opensource จากเนเธอร์แลนด์ชื่อว่า Precious Plastic ให้คนได้แบ่งปันไอเดียการรีไซเคิลพลาสติกกัน พวกเธอชอบสีสันและลวดลายจากพลาสติกรีไซเคิล และรู้สึกว่าทำงานกับพลาสติกแล้วสนุก จึงนำมาเป็นพระเอกหลักของงานออกแบบ และกำเนิด A thing That is Pieces สตูดิโอของชิ้นส่วนพิเศษ ที่มีความเชื่อว่า ‘สสารไม่มีวันหายไปแต่เปลี่ยนแปลงได้’

“เราทำพลาสติกเพราะไม่มีวัสดุไหนแล้วที่ละลายแล้วให้สีสันแบบนี้ และพอมาทำของแบบนี้จากขยะก็รู้สึกว่าเจ๋งสุด ๆ และมันน่ารักด้วย ได้ช่วยโลกด้วย ช่วยลดขยะแน่ เลยคิดว่ามีทางไปต่ออีกไกล”

A Thing That is Pieces สองสาวผู้สร้าง ‘ของใช้’ จาก ‘ของเหลือใช้’ และเชื่อมโยงชุมชนย่านทรงวาด

แม้ตอนนั้นเธอจะมีเครื่องจักรในสตูดิโอพลาสติกอยู่บ้างแล้วสำหรับการใช้สอยเล็ก ๆ น้อย ๆ แต่เพราะใช้เวลาอยู่กับขนมปังเยอะ เธอสองคนจึงมองเห็นอีกข้อเท็จจริงว่าเครื่องอบขนมปังน่าจะเอามาประยุกต์ใช้สำหรับอบพลาสติกได้เหมือนกัน แล้วหลังจากนั้นก็หาเครื่องจักรมือสองอื่นที่ใช้เทียบเคียงกันได้แทนการใช้เครื่องจักรจริงซึ่งหาได้ยาก

“ถ้าตอนนั้นไม่เคยทำขนมปังก็คงไม่เข้าใจ คนชอบพูดว่าสิ่งที่เราเจอมัน connect the dot ซึ่งก็จริง”

โปรเจกต์แรกที่ได้รับคือที่จับเขียง 3,000 ชิ้น ของ Greyhound Cafe ที่รีไซเคิลจากฝาขวดน้ำแบรนด์เดียวกัน พอทำงานนี้แล้วได้ลงสื่อของร้าน สตูดิโอพลาสติกจึงเริ่มมีคนรู้จัก แต่ด้วยเวลาที่ส่วนมากต้องฝากไว้กับการบริหารร้านอาหาร และกระแสรักษ์โลกเมื่อ 4 ปีก่อนที่ยังไม่เป็นที่แพร่หลายนัก งานรีไซเคิลพลาสติกจึงยังไม่ได้มีลูกค้ามากมาย แต่เธอสองคนก็ทดลองทำสินค้าของตัวเองไปเรื่อย ๆ

A Thing That is Pieces สองสาวผู้สร้าง ‘ของใช้’ จาก ‘ของเหลือใช้’ และเชื่อมโยงชุมชนย่านทรงวาด

“ตอนนู้นยากมากที่จะหาเงินกับสิ่งนี้ แต่ตอนนี้ค่อนข้างง่าย เราเลือกได้แล้วว่าอยากทำ section ไหน จริง ๆ ก็เพิ่งต้นปีนี้เองที่เราเลือกได้”

งานพลาสติกในสตูดิโอนี้ต้องทำภายใต้ข้อจำกัดของเครื่องมือและขนาดสถานที่ เกือบทั้งหมดจึงเป็นการรีไซเคิลฝาขวดน้ำซึ่งส่วนมากเป็นพลาสติกชนิดเดียวกัน มีหลายสี ขนาดไม่ใหญ่ และไม่ต้องทำความสะอาดมากเหมือนขวดบรรจุภัณฑ์ ซึ่งทั้งคู่นิยามว่าเป็นงาน craft plastic เพราะทุกกรรมวิธีต้องทำด้วยมือทั้งสิ้น

“ลูกค้าบางคนไม่เข้าใจอยากได้ลายแบบเป๊ะ ๆ เหมือนกัน 100 ชิ้น ซึ่งเราทำไม่ได้ มันจะต้องออกมาผสม ๆ กัน”

งาน craft plastic จาก A Thing That is Pieces Studio เริ่มกระบวนการจากการคัดแยกพลาสติกตามชนิดและสี ก่อนจะนำมาล้างให้สะอาด ตากให้แห้ง บดให้เป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย ซึ่งลวดลายที่ได้ก็มาจากการผสมเศษพลาสติกชิ้นเล็ก ๆ หลากสีเข้าด้วยกัน หลังจากจัดกลุ่มสีที่ต้องการแล้วจึงนำมาใส่ลงโมลด์อบในเครื่องอบที่ประยุกต์จากเครื่องอบขนมปัง เมื่อพลาสติกเริ่มหลอมที่อุณหภูมิหนึ่งจึงกดอัดให้แน่นในโมลด์ โดยตัวแปรคืออุณหภูมิ ระยะเวลา น้ำหนักมือในการกดอัด ซึ่งกว่าจะได้สัดส่วนที่ลงตัวก็ต้องทดลองหลายครั้ง กระบวนการทั้งหมดต้องใช้แรงคน ตั้งแต่ล้าง คัด โหลดวัตถุดิบเข้าเครื่องอบ อัดลงโมลด์ ยันการเก็บงาน

A Thing That is Pieces สองสาวผู้สร้าง ‘ของใช้’ จาก ‘ของเหลือใช้’ และเชื่อมโยงชุมชนย่านทรงวาด

A Thing That is Pieces สองสาวผู้สร้าง ‘ของใช้’ จาก ‘ของเหลือใช้’ และเชื่อมโยงชุมชนย่านทรงวาด

“งานที่ประทับใจสุดคือ Bangkok Design Week ซึ่งเพิ่งจัดไปเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้ เรารู้สึกว่ามันเป็นการโชว์ผลงานของเราเองจริง ๆ และไม่ได้มีแค่พลาสติกอย่างเดียว”

หลังจากได้สำรวจความชอบตัวเองมานานกับงานออกแบบและพลาสติก เหมียวกับพิมรู้ตัวว่าพวกเธอชอบงานรีไซเคิลที่ไม่ได้ตีกรอบอยู่แค่วัสดุพลาสติก

“พอไปตามกองขยะแล้วเจอขยะชิ้นใหญ่ ๆ พวกโครงเก้าอี้โครงเหล็ก แล้วเอามาแปลงโฉมเป็นโต๊ะ ตู้ เก้าอี้ คอลเลกชันใหม่ เรารู้สึกฟินมาก”

และเหนือสิ่งอื่นใด คนในชุมชนทรงวาดได้มีส่วนร่วมสร้างสรรค์งานศิลปะจากการชุบชีวิตขยะรีไซเคิลเหล่านั้นไปด้วยกัน

A Thing That is Pieces สองสาวผู้สร้าง ‘ของใช้’ จาก ‘ของเหลือใช้’ และเชื่อมโยงชุมชนย่านทรงวาด

A Thing That is Pieces สองสาวผู้สร้าง ‘ของใช้’ จาก ‘ของเหลือใช้’ และเชื่อมโยงชุมชนย่านทรงวาด

คนของชุมชน

เหมียวมีความผูกพันกับความเป็นชุมชนมาตั้งแต่เกิด และสมัยเรียนนิเทศศิลป์ เธอก็มักใช้บริการงานจากช่างท้องถิ่นในชุมชนละแวกบ้าน เมื่อมาเปิดร้านคาเฟ่ในย่านทรงวาด ความเป็นคนมือไม้อ่อนช่างเจรจาก็เป็นที่ถูกใจของอากงอาม่าแถวนี้

ในขณะที่พิมมีพื้นฐานมาจากโลกทุนนิยม เธอไม่เคยรับรู้ความรู้สึกของการได้เป็นส่วนหนึ่งของชุมชนเลย จนกระทั่งย้ายมาอยู่ที่นี่ ที่ซึ่งเธอรู้สึกเติมเต็ม อบอุ่น และปลอดภัย เหมือนได้อยู่กับครอบครัวในพื้นที่ที่ล้อมรอบไปด้วยผู้คนที่คุ้นเคย

“ถ้ามาอยู่ตรงนี้แล้วไม่ยุ่งกับใครเลย ก็อาจจะไม่มีความสุขเท่านี้ ตอนนี้วิธีการทำงานก็เปลี่ยนไป แต่ก่อนพิมต้องเป๊ะทุกอย่าง เดี๋ยวนี้ถ้าเรามีงานใหญ่มา เราก็จะไปถามคนแถวนี้ เช่น ฝาน้ำพลาสติกเป็นหมื่นชิ้นเข้ามา เราก็ไปถามคนที่เค้ารับซักผ้าตามบ้านว่าเขาจะรับล้างให้มั้ย เราไปสอนเค้าแยกสี แล้วให้เค้าคิดราคาเท่าปกติเลย หรือถ้าเราจะต้องทำโมลด์ ก็ไปหาเซียงกงแถวนี้ มันก็เป็นรายได้ของเค้าทั้งหมด”

“จนตอนนี้ทุกคนก็เข้ามาหาเรา ไปเห็นเราในโซเชียลก็มาถาม ‘เอ๊ย ดังนี่นา เห็นใน TikTok ด้วย’ ซึ่งอะไรแบบนี้มันดีต่อใจ”

A Thing That is Pieces สองสาวผู้สร้าง ‘ของใช้’ จาก ‘ของเหลือใช้’ และเชื่อมโยงชุมชนย่านทรงวาด

เหมียวเสริมถึงเรื่องราวความสัมพันธ์ที่น่ารักของงานศิลปะจากพวกเธอและผู้คนในชุมชนทรงวาด แต่กว่าจะมาถึงขั้นนี้เธอทั้งสองก็ต้องพิสูจน์ตัวกับคนในชุมชนในฐานะของผู้มาใหม่ 

“ตอนที่เหมียวมาใหม่ ๆ คนท้องถิ่นก็คงจะคิดว่าเราจะมาทำอะไร แค่จะมาขายเหล้า หรือจะมาทำให้ย่านนี้ดีขึ้น”

“เมื่อตอนพิมกำลังจะเปิดร้านในซอยนานา ทุกวันเราจะไปอุดหนุนรถเข็นขายกาแฟราคา 20 บาท แล้วเดือนนึงพอได้คุยกัน ก็บอกเขาว่าจะมาเปิดร้านโดนัทตรงนี้ หลังจากนั้นเขาก็ไม่คุยด้วยอีกเลย”

ด้วยมุมมองของคนท้องถิ่นที่มีต่อคนอายุน้อยจากนอกพื้นที่อย่างพวกเธอสองคน คือลูกคนรวยที่จะมาแย่งงานคนในพื้นที่ ถึงแม้ความเป็นจริง เหมียวกับพิมเป็นแค่คนธรรมดาที่ต้องปากกัดตีนถีบเพื่อทำตามฝันของตัวเอง ตอนนั้นพวกเธอจึงต้องคอยอธิบาย คอยทักทาย คอยซื้อขนมมาฝาก เป็นเวลานานกว่าคนในชุมชนจะเข้าใจและยอมรับ จนได้สร้างสายสัมพันธ์จากการเป็นทั้งคู่ค้า เพื่อนบ้าน และครอบครัว

“เราแลกเปลี่ยนกันไม่ใช่ในเม็ดเงิน เราปฏิบัติต่อเขาเหมือนศิลปินคนนึง เขาทำในสิ่งที่เราทำไม่ได้ เราเลยมาขอให้เขาช่วยเรา แต่ไม่ใช่ขอราคาให้ถูกที่สุดเหมือนไปกดราคาเค้า”

และยิ่งได้สัมผัสกับผู้คนในชุมชน ได้รู้เรื่องราวเบื้องหลังของพวกเขา มันทำให้เธอทั้งสองอยากถ่ายทอดเรื่องราวเหล่านั้นออกไปในผลงานที่ชาวบ้านคือหนึ่งในศิลปินและกำลังสำคัญ ไม่ใช่แค่มิติของงานรักษ์โลก แต่ยังเป็นมิติของความสัมพันธ์ในชุมชน ที่ทุกคนคือหนึ่งในนั้น

“เรารู้สึกว่าทุกคนเขามีเรื่องราวที่ไม่จำเป็นบอกเรา แล้วถ้าเขาไว้ใจมากพอ เขาก็จะบอก มีอาอี๊ขายเครื่องมือช่างอายุจะ 80 แล้ว เราสงสัยว่าเค้าเคยทำอะไรมา เขาก็เล่าว่าเคยเป็นหัวหน้าช่างประปาที่โรงแรมเก่าแก่ชื่อดังมาก่อน นอตทุกตัว สกรูทุกตัว เขาเลยรู้หมด แต่พอเจอวิกฤติ IMF ก็เลยต้องมาเปิดร้านขายของ เราก็เลยรู้สึกว่าเจ๋งจัง”

“อาเจ็กที่ถักเชือกเก้าอี้ให้เรา ก็เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาที่มหาวิทยาลัยเรื่องวัฒนธรรมจีน”

ดังนั้น ในสิ่งของรีไซเคิลแต่ละชิ้น จึงมีเรื่องราวของคนเหล่านั้นปนอยู่ด้วย

ในงาน Bangkok Design Week ย่านทรงวาดที่ผ่านมา เธอสองคนเชิญคนในชุมชนที่ได้ร่วมสร้างสรรค์ผลงานศิลปะด้วยกันพร้อมครอบครัวมาร่วมงาน ทีมงานทุกคนได้รับเสื้อทีม A Thing That is Pieces สำหรับถ่ายรูปร่วมกัน ให้พวกเขาได้รู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของงานเทศกาลสำคัญในฐานะเจ้าบ้าน ให้เขาได้รับรู้ว่าสิ่งที่พวกเขามีส่วนร่วมมันคืออะไร ให้ครอบครัวของพวกเขาได้ภาคภูมิใจ และให้พื้นที่ที่เขาได้บอกเล่าเรื่องราวของตัวเอง

“พอทำแบบนี้แล้ว เรารู้สึกดีกว่ามีดารามาอีก”

“หลังจากนั้นเค้าไม่ถามแล้วว่าเราทำอะไร พอมีงานมาก็ทำให้เราก่อน ไม่ต้องมีกระเช้าหรืออะไร แค่ทำตามธรรมชาติ ขนมเล็ก ๆ น้อยก็มีให้ ตอนนี้บางทีเขายังชวนกินข้าวที่บ้านเลย”

A Thing That is Pieces สองสาวผู้สร้าง ‘ของใช้’ จาก ‘ของเหลือใช้’ และเชื่อมโยงชุมชนย่านทรงวาด

โย่ว และนี้คือเสียงจากเด็กแถวนี้

“พี่คะ ทำไมต้องมีแต่ฝา ทำไมไม่เอาขวด แล้วจะเอามันไปทำอะไร”

เด็ก ๆ มักมีคำถามให้กับงานแปรรูปขยะของพวกเธอ

“ถ้าเด็กเก็บฝาน้ำให้ เราก็จะให้ผีเสื้อจิ๋วอันเล็ก ๆ แล้วอธิบายว่ามันทำจากฝาน้ำพลาสติก หลังจากนั้นเขาเห็นขยะที่ไหนเขาก็เก็บหมด เพราะเขารู้แล้วว่ามันมีค่า”

เหมียวกับพิมเล่าถึงความพยายามในการตั้งแก๊งเด็กในย่านทรงวาด ซึ่งความเป็นชุมชนยังทำให้เด็กบ้านใกล้เรือนเคียงจับกลุ่มเป็นเพื่อนเล่นกันอยู่ พวกเธอต้องการปลูกฝังความคิดที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมให้เด็ก ๆ ด้วยสีสันสดใสของงานรีไซเคิลทำให้เด็ก ๆ อยากรู้อยากเห็น แล้วทั้งคู่ก็โชว์ให้เห็นจริง ๆ ว่าทุกสิ่งบนโลกมันเปลี่ยนรูปได้และมีมูลค่าซุกซ่อนอยู่ในกองขยะ จนตอนนี้คนที่หาขยะให้สตูดิโอส่วนหนึ่งก็คือเด็ก ๆ

“เราส่งสารที่อยู่เบื้องหลังสีสันสดใสไป เราไม่รู้ว่าหว่านไปให้เด็ก 100 คน อาจมีเด็ก 10 คน ที่โตมาแล้วอยากทำอย่างพวกเราก็ได้”

ในยุคดิจิทัลที่การ Live กลายเป็นสิ่งที่หลายคนชื่นชอบ ในร้านสะดวกซื้อของย่านทรงวาดมีกลุ่มเด็กตัวจิ๋วไลฟ์สดรีวิวสิ่งของในร้าน ในตอนแรก พวกเธอในฐานะผู้ใหญ่ก็เป็นห่วงกับการสนุกตามกระแสของน้อง ๆ แต่วันนี้ เธอสองคนกำลังคิดจะชวนเด็กขาไลฟ์ประจำซอยมาพูดขายคอนเทนต์เกี่ยวกับพลาสติกให้เด็กรุ่นเดียวกันฟัง

 

การดิ้นรนของคนตัวเล็ก

“เราโดนภาษีย้อนหลังไป 2 ล้าน ที่ต้องจ่ายภายในปีนี้”

ผู้สัมภาษณ์ตกใจกับปริมาณเงินมากมายที่กลายเป็นภาระก้อนใหญ่ของเหมียวกับพิม และสงสัยว่ากิจการสร้างงานศิลป์ขนาดเล็กที่เพิ่งเปิดไม่นาน จะมีรายได้มากขนาดที่ต้องเสียภาษีถึง 2 ล้านเชียวหรือ

“พอเริ่มมี TikTok มีสัมภาษณ์ออกไป สรรพากรก็คิดว่าเรารวยแล้ว เขาโทรมาแล้วก็มาหน้าร้าน เราทั้งร้องเรียนทั้งร้องไห้แต่ก็ทำอะไรไม่ได้ เรายังไม่รู้เลยว่าภาษีมันคิดยังไง ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเขาวัดจากอะไร”

ด้วยความที่เวลาลูกค้าจ่ายเงินจ้างงานพวกเธอและช่างในชุมชน พวกเธอมักอำนวยความสะดวกให้ลูกค้าโดยให้โอนเงินเข้าบัญชีร้านครั้งเดียว แล้วพวกเธอค่อยไปกระจายต่อให้คนอื่นเอง แต่การทำแบบนี้ทำให้พวกเธอโดนภาษีในส่วนที่ไม่ใช่รายได้ของตัวเองโดยที่ไม่รู้ตัว และไม่รู้วิธีการคำนวณภาษีธุรกิจ

“แถมทำงานด้านขยะ แต่ก็ไม่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐเลย”

A Thing That is Pieces สองสาวผู้สร้าง ‘ของใช้’ จาก ‘ของเหลือใช้’ และเชื่อมโยงชุมชนย่านทรงวาด

เมื่อกระแสรักษ์โลกกำลังมาแรง ส่งผลให้องค์กรหลายแห่งเริ่มหันมาสนใจการรีไซเคิลวัสดุเหลือใช้ งานจากองค์กรที่ต้องการสร้างความตระหนักในปัญหาขยะจึงมีให้พวกเธอทำมากขึ้น ทั้งการผลิตสินค้ารีไซเคิล การจัดเวิร์กช็อปสิ่งประดิษฐ์จากขยะพลาสติก การบรรยายให้ความรู้ด้านพลาสติก

แต่อีกด้านที่ตามมาคือ greenwashing และการลงทุนด้านความยั่งยืนเพื่อภาพลักษณ์ของผู้เล่นรายใหญ่ที่สามารถจ่ายเงินหลักล้านเป็นค่าเครื่องจักรเพื่องานรีไซเคิลพลาสติกใกล้เคียงกับสิ่งที่พวกเธอทำ และสามารถกำหนดราคาค่าบริการได้โดยไม่ต้องคำนึงถึงต้นทุนเพราะทุกอย่างอยู่ในงบ CSR ในแบบที่คนตัวเล็กเงินไม่หนาอย่างพวกเธอไม่มีทางทำได้

“เราเห็นแล้วอึ้งเลย ถ้าเขาจะทำแบบนี้ ทำไมไม่มาสนับสนุนสิ่งที่คนตัวเล็กทำอยู่แล้ว ภาพลักษณ์อาจน่ารักมากขึ้น เพราะเราอยู่ในสังคมที่ไม่เห็นอกเห็นใจกัน เราเลยต้องระแวงกับเรื่องแบบนี้ตลอดเวลา”

 

พรุ่งนี้จะเป็นอย่างไร

“ก่อนอื่นเราต้องใช้หนี้ภาษีให้หมดก่อน”

แต่นอกเหนือจากนั้น เหมียวและพิมยังคงอยากจะทดลองสร้างสรรค์งานจากขยะต่อไป เมื่อมองสำรวจไปในสตูดิโอจะเห็นมุมหนึ่งของห้องซึ่งแขวนแผ่นพลาสติกลวดลายน่ารัก ซึ่งขึ้นรูปด้วยการตัดและจัดวางถุงพลาสติกเก่า นำมารีดด้วยความร้อนให้ติดกันเป็นชิ้นงานใหม่ อีกมุมหนึ่งยังมีโคมไฟเก่าซึ่งใช้งานไม่ได้แล้ว แต่ไม่อาจซ่อมได้เพราะไม่มีอะไหล่

“สำหรับของวินเทจที่มันไม่มีอะไหล่แล้ว เราสามารถทำอะไหล่จากวัสดุพลาสติกที่เราฉีดเป็นรูปอะไรก็ได้ เราอยากเปลี่ยนขยะเป็นของที่ใช้งานและซ่อมแซมได้ในชีวิตจริง”

พวกเธอยังวางแผนจะทำงานร่วมกับสถานศึกษาเพื่อพาน้อง ๆ สร้างงานศิลปะ ไปพร้อมกับสร้างความเข้าใจในการรีไซเคิลให้กับเด็ก ๆ นอกชุมชน และปีหน้าก็อยากเปิดสตูดิโอนี้ให้สาธารณชนได้เห็นกระบวนการรีไซเคิลขนาดย่อมในงาน Bangkok Design Week

“และเราอยากไปโด่งดังนอกประเทศ ถ้างานจากชุมชนนี้ได้ไปอยู่นิวยอร์ก เราก็คงจะฟินกันทั้งหมู่บ้าน”

A Thing That is Pieces สองสาวผู้สร้าง ‘ของใช้’ จาก ‘ของเหลือใช้’ และเชื่อมโยงชุมชนย่านทรงวาด

ฝากไว้ในทรงวาด

เป็นเวลากว่า 8 ปีแล้วที่เหมียวและพิมสร้างสายสัมพันธ์กับชุมชนทรงวาด และเป็นพยานของการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในชุมชนตั้งแต่สมัยที่คนยังไม่ค่อยรู้จัก ยันยุคปัจจุบันที่ผู้มาเยือนแอ๊คท่าถ่ายรูปทุกหัวมุมของตรอกซอกซอย

“คนมาถ่ายรูปหน้าร้านเราเป็นร้อยเป็นพัน แต่กลับไม่มีใครขอ ไม่มีใครทักทาย บางคนก็พยายามผลักประตูจะเข้ามาถ่ายรูปข้างใน ล่าสุดมีสองคู่มาถ่ายพรีเวดดิ้งเลย แล้วเราก็ออกจากร้านไม่ได้ กลายเป็นว่าเราต้องไปขอโทษที่เราจะออกจากร้านตอนที่เขากำลังถ่ายรูปหน้าร้านเรา”

เธอสองคนเล่าถึงความลำบากใจต่อความนิยมที่เพิ่มขึ้นของย่าน แต่กลับส่งผลกระทบต่อพวกเธอที่เป็นคนท้องถิ่น ชื่อเสียงของชุมชนทรงวาดที่โด่งดังขึ้นเรื่อย ๆ นำผู้ประกอบการหน้าใหม่เข้ามา ทั้งเพราะค่าเช่าที่ถูกกว่าย่านธุรกิจ และการรีโนเวทที่ทำได้ตามใจเพราะไม่มีกฎหมายควบคุม จนคนท้องที่ต้องคอยดูแลสอดส่องกันเองเพื่อรักษาอาคารที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ มากกว่าแค่ความสนใจในพื้นที่ที่มี #มุมถ่ายรูปเพียบ

“อาเจ็กแถวนี้สอนว่า ถ้าเราทำอะไรไม่ได้ ก็แค่ถ่ายรูปเก็บไว้ แล้วเราก็มีประวัติศาสตร์ของเรา มีความทรงจำของเรา”

“แต่ถ้าเราย้อนกลับไป ส่วนหนึ่งก็มาจากการกระทำของพวกเราเอง เราแค่จุดระเบิดเอาไว้นานแล้ว ร้านคาเฟ่ของเราก็เคยเป็นจุดที่คนมาถ่ายรูปเยอะมาก ก็แสดงว่าเราก็เป็นส่วนหนึ่งที่สนับสนุนอะไรแบบนี้มานานแล้ว”

เมื่อได้ประสบผลกระทบจากวิวัฒนาการของพื้นที่ ทำให้เหมียวกับพิมนึกย้อนไปถึงวันที่ทั้งสองคนเพิ่งย้ายมาลงหลักปักฐานที่นี่ใหม่ ๆ ในตอนนั้น ร้านลับ คาเฟน่านั่ง มุมถ่ายรูปเช็กอิน ยังไม่ได้เป็นกระแสหนักเท่าทุกวันนี้ เธอทั้งคู่อาจเป็นส่วนหนึ่งที่สร้างให้เกิดความเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่พวกเธอกังวล ความนิยมที่เกิดขึ้นอย่างผิวเผินและฉาบฉวยโดยไม่ได้มองเห็นคุณค่าแท้จริงซึ่งซ่อนอยู่ในชุมชนแห่งนี้ ในแบบที่เธอสองคนได้สัมผัส

วันนี้ทั้งสองคนจึงพยายามนำเสนอเรื่องราวของชุมชนที่เธอรักและหวงแหนแห่งนี้ออกไปให้มากที่สุด ภายใต้ความนิยมที่เพิ่มขึ้นเพราะความคูลนั้น อาจยังมีใครบางคนที่เล็งเห็นคุณค่า และอยากอนุรักษ์จิตวิญญาณของผู้คนและประวัติศาสตร์บนพื้นที่ทรงวาดแห่งนี้

“เราไม่ได้ทำตามกระแส เราเริ่มทำพลาสติกเพราะมันเป็นศิลปะ ตอนนี้มันไม่ใช่แค่ passion แล้ว แต่มันเป็นความสนุกระหว่างวัน ได้ทำงานศิลปะด้วย ได้เชื่อมโยงกับชุมชน ได้รักษ์โลก ได้ให้ความรู้คน และมีรายได้ เรารู้ว่ามันเป็นสิ่งที่ทำแล้วมีความสุข”

เรื่องราวของ A Thing That is Pieces นี้ นอกจากจะพิเศษ (Pieces) แล้ว ยังเป็นการร้อยเรียงผู้คน ชุมชน และปัญหาสิ่งแวดล้อมเข้าด้วยกันโดยมีศิลปะเป็นตัวกลาง ชุบชีวิตทั้งเรื่องราวที่คนหลงลืมและสิ่งของที่คนไม่ต้องการ ซึ่งเราเชื่อว่าการเดินทางของเหมียวและพิมบนเส้นทางนี้ยังอีกยาวไกลในโลกใบใหญ่ที่คุณค่าของชุมชนค่อย ๆ ลดเลือนหาย สวนทางกับปริมาณขยะที่มีแต่จะเพิ่มขึ้นในทุกวัน

หมายเหตุ: เครื่องอบขนมปังสำหรับทำขนมปังหัวนมอันโด่งดัง กับเครื่องอบขนมปังในงานพลาสติก เป็นคนละเครื่องกันนะ

 

สนใจร่วมชุบชีวิตของเหลือใช้กับเหมียวและพิม

A Thing That is Pieces Studio 

ที่ตั้ง: 393-395 ถนนทรงวาด ซอยตรอกสะพานญวน แขวง/เขตสัมพันธวงศ์ กทม. 10100

IG: athing_thatispieces

LINE OA: ath.pieces

Email: [email protected]