05 มี.ค. 2567 | 17:13 น.
เรียนภาษาอังกฤษแล้วต้องพูดได้…แต่จะทำอย่างไรให้นักเรียนทุกคนได้ฝึกพูดและรับฟีดแบคเพื่อพัฒนาทันที ในสถานการณ์ที่โรงเรียนส่วนใหญ่ยังขาดครูชาวต่างชาติ?
ทักษะการสื่อสารภาษาอังกฤษเป็นจุดอ่อนของคนไทยส่วนใหญ่มาช้านาน ล่าสุดประเทศไทยก็ได้รับการจัดอันดับโดยสถาบัน EF (Education First) อยู่อันดับที่ 101 จาก 113 ประเทศทั่วโลก ในดัชนีความสามารถทางภาษาอังกฤษ EF English Proficiency Index ประจำปี 2023
นอกจากทางกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ที่ได้ขานรับนโยบายรัฐบาล ออกประกาศเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมาเพื่อยกระดับทักษะภาษาอังกฤษของนักศึกษาแล้ว ก็มีทางกรุงเทพมหานคร ที่เล็งเห็นถึงความสำคัญและต้องการผลักดันให้นักเรียนในสังกัดสำนักการศึกษา กรุงเทพมหานคร ช่วงระดับชั้นประถมศึกษาปลายทั้งหมด มีศักยภาพเข้าสู่ระดับ A1 ตามเกณฑ์มาตรฐานสากลยุโรป (CEFR) ด้วยเช่นกัน
โดยทางสำนักการศึกษา กรุงเทพมหานคร ได้ร่วมกับสตาร์ทอัพการศึกษา Edsy ที่เคยได้รับทุนสนับสนุนจากกองทุนกระทรวง อว. (TED Fund) สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) และสำนักส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิตัล (depa) ในการจัดโครงการนำร่อง “ประเมินและพัฒนาศักยภาพทักษะการสื่อสารภาษาอังกฤษ ด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์” กับ 6 โรงเรียนในสังกัด ได้แก่ โรงเรียนพระยามนธาตุราชศรีพิจิตร์ โรงเรียนวัดภาษี โรงเรียนประชานิเวศน์ โรงเรียนบ้านบางกะปิ โรงเรียนวัดสุวรรณ และโรงเรียนวัดเบญจมบพิตร
Edsy ได้นำเครื่องมือปัญญาประดิษฐ์ AI English Speaking Coach ที่พัฒนาโดยทีมนักวิจัยชาวไทยที่มหาวิทยาลัยคาร์เนกีเมลลอน ประเทศสหรัฐอเมริกา มาประยุกต์ใช้กับการเรียนการสอนวิชาภาษาอังกฤษในโรงเรียนนำร่องทั้ง 6 แห่ง ตั้งแต่เดือนธันวาคม ปี 2023 ถึงเดือนมกราคมที่ผ่านมา
โดยนักเรียนจะยังเรียนเนื้อหาตามแผนการสอนปกติของครูผู้สอน แต่เมื่อเรียนเสร็จแล้ว นักเรียนจะต้องฝึกพูดและตอบคำถามกับ AI English Speaking Coach เพื่อเป็นการต่อยอดความรู้ที่ได้รับจากในห้องเรียนให้กลายเป็นความสามารถในการสื่อสารที่แท้จริง ผ่านการรับฟีดแบคทันทีจากเครื่องมือปัญญาประดิษฐ์ แทนครูผู้สอนที่มีจำนวนและเวลาจำกัด
ข้อดีคือนักเรียนจะได้ฝึกแต่งประโยค พูดคำตอบของตนเอง และได้รับการฟีดแบคทันทีเพื่อปรับแก้ไขรูปประโยค หลักไวยากรณ์ และการออกเสียงให้ถูกต้อง โดยไม่ต้องรอทั้งห้องตอบพร้อมกันหรือรอครูผู้สอนมาชี้แนะเป็นรายคน เครื่องมือปัญญาประดิษฐ์นี้จึงกลายเป็นทางออกในการช่วยครูผู้สอนให้สามารถเพิ่มจำนวนชั่วโมงการฝึกพูดภาษาอังกฤษของนักเรียนแต่ละคน โดยไม่เพิ่มภาระให้แก่ครูผู้สอน
เมื่อวันพุธที่ 28 กุมภาพันธ์ 2024 ที่ผ่านมา Edsy จึงได้จัดงาน “Edsy x กทม. จุดประกายความสามารถนักเรียน 6 โรงเรียนนำร่อง พัฒนาทักษะการสื่อสารภาษาอังกฤษด้วย Edsy AI Speaking Coach” เพื่อสรุปผลโครงการและจัดกิจกรรมให้ตัวแทนนักเรียนจากทั้ง 6 โรงเรียนได้แสดงความสามารถ ที่สถาบันอุทยานการเรียนรู้ TK Park ชั้น 8 ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์
โดยนายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยนายพรพรหม วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายชนินทร์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการกองเทคโนโลยีการศึกษา และคณะ ได้ให้เกียรติมาร่วมงาน
นายพริษฐ์ เที่ยงธรรม ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารของ Edsy และผู้บริหารท่านอื่นๆ ของบริษัทได้กล่าวต้อนรับ และนำเสนอผลลัพธ์จากโครงการนำร่อง โดยระบุว่านักเรียนส่วนใหญ่มีพัฒนาการด้านทักษะการพูดภาษาอังกฤษที่ดีขึ้นในทั้ง 3 ด้าน ได้แก่ ความคล่อง (Fluency) ความถูกต้อง (Accuracy) และการออกเสียง (Pronunciation) นอกจากนี้แล้ว นักเรียนยังมีแนวโน้มที่จะสามารถตอบคำถามด้วยตนเองโดยไม่ต้องพึ่งตัวช่วย ได้มากขึ้นอย่างชัดเจน
หลักจากการนำเสนอผลลัพธ์ของโครงการนำร่องแล้ว รองผู้ว่าฯ ศานนท์ ได้ให้เกียรติสาธิตการใช้เครื่องมือ Edsy AI Speaking Coach ด้วยตนเอง ก่อนเข้าสู่ช่วงการเสวนาในหัวข้อ “แนวทางการใช้เทคโนโลยีเพื่อยกระดับทักษะการสื่อสารภาษาอังกฤษของนักเรียน กทม.”
โดยมีนายทัฬหวิชญ์ ฐิติรัตน์สกุล นักวิจัยด้านการปฏิรูปการศึกษาจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ดำเนินการเสวนา รับฟังความคิดเห็นและประสบการณ์ระหว่างโครงการนำร่องจาก ดร.อติพร นิลขำ ผู้อำนวยการโรงเรียนพระยามนธาตุราชศรีพิจิตร์ ครูธนธิวา ปัญยางหงษ์ จากโรงเรียนประชานิเวศน์ ครูนฤมล กุลวงษ์น้อย จากโรงเรียนบ้านบางกะปิ และคุณณพล รัชตะสัมฤทธิ์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคโนโลยีของ Edsy ซึ่งเป็นอดีตวิศวกรที่บริษัทไมโครซอฟต์ และมีความเชี่ยวชาญด้านปัญญาประดิษฐ์ในการศึกษา จากการวิจัยปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยคาร์เนกีเมลลอน ประเทศสหรัฐอเมริกา
ผู้ร่วมเสวนาจากทั้ง 3 โรงเรียน แบ่งปันมุมมองว่าที่ผ่านมา เครื่องมือ Edsy AI Speaking Coach มีประโยชน์และมีประสิทธิภาพในการช่วยพัฒนาทักษะการสื่อสารภาษาอังกฤษของนักเรียนจริง เป็นที่พึงพอใจของทั้งผู้บริหาร ครูผู้สอน ผู้ปกครอง และนักเรียนที่ได้รับประสบการณ์ที่สนุกสนานจากการได้ใช้นวัตกรรมเทคโนโลยีใหม่ๆ
คุณณพลได้เสริมปิดท้ายการเสวนาว่าเทคโนโลยี AI จะเป็นเพียงเครื่องมือที่เข้ามาช่วยเติมเต็ม ช่วยให้คุณครูสามารถดำเนินการสอนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่จะไม่สามารถมาทดแทนคุณครูได้ เพราะขาดความเป็นมนุษย์หรือ “human touch” ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของการเรียนการสอนที่มีคุณภาพ
กิจกรรมสุดท้ายของงานสามารถเรียกรอยยิ้มและเสียงหัวเราะจากผู้ร่วมงานด้วยการให้ตัวแทนนักเรียนจากทั้ง 6 โรงเรียนความสามารถในการสื่อสารภาษาอังกฤษผ่านการเล่นเกมส์และแข่งขัน Impromptu Speech โดยนักเรียนถูกแบ่งกลุ่มเพื่อเล่นใบ้คำศัพท์ด้วยการอธิบายเป็นภาษาอังกฤษ และนำศัพท์ที่ทายถูกต้องมาแต่งประโยคเพื่อตอบคำถามใน Edsy Al Speaking Coach นักเรียนทุกคนได้แสดงความสามารถอย่างเต็มที่และได้รับทั้งความสนุกสนานและรางวัล
รองผู้ว่าฯ ศานนท์มอบของที่ระลึกแก่ผู้อำนวยการ ครูผู้ดูแล และนักเรียนจากทั้ง 6 โรงเรียนนำร่อง และกล่าวขอบคุณที่ได้สนับสนุนให้นักเรียนเข้าร่วมโครงการนำร่องจนสำเร็จด้วยดี
โดยทางสำนักการศึกษา กรุงเทพมหานคร และสตาร์ทอัพการศึกษา Edsy จะหารือต่อถึงแนวทางในการขยายผลไปสู่โรงเรียนที่เหลือในสังกัดสำนักการศึกษา กรุงเทพมหานครตามคำเรียกร้องจากโรงเรียน และเพื่อผลักดันให้นักเรียนในระดับชั้นประถมศึกษาปลายทั้งหมดในสังกัด มีศักยภาพและทักษะการพูดภาษาอังกฤษเข้าสู่ระดับ A1 ของมาตรฐาน CEFR ตามที่เป้าหมายที่ได้ตั้งไว้