08 เม.ย. 2568 | 11:00 น.
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้รัฐบาลไทยดำเนินการสอบสวนโดยทันที และยุติการปฏิบัติการข่าวสาร (Information Operations – IO) รวมถึงการโจมตีทางไซเบอร์ที่มีเป้าหมายโจมตีและลดทอนความน่าเชื่อถือของกลุ่มภาคประชาสังคมอย่างเป็นระบบ หลังมีการเปิดเผยเอกสารลับจากการอภิปรายในรัฐสภา ซึ่งชี้ชัดว่าหน่วยงานด้านความมั่นคงของไทย ทั้งตำรวจและทหาร มีส่วนร่วมในการจัดตั้ง “ไซเบอร์ทีม” เพื่อทำลายชื่อเสียงขององค์กรสิทธิมนุษยชน รวมถึงแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย
ชนาธิป ตติยการุณวงศ์ นักวิจัยประจำประเทศไทย แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ระบุว่า การโจมตีทางไซเบอร์ที่เกิดขึ้นไม่เพียงแต่เป็นภัยคุกคามต่อองค์กร แต่ยังสะท้อนถึงความพยายามของรัฐในการรุกล้ำสิทธิเสรีภาพของภาคประชาสังคมอย่างร้ายแรง รัฐบาลต้องยุติการป้ายสี คุกคาม หรือทำลายความชอบธรรมของผู้ปกป้องสิทธิมนุษยชนและนักกิจกรรมโดยทันที เพื่อคงไว้ซึ่งประเทศไทยในฐานะพื้นที่ปลอดภัยของเสียงที่แตกต่าง
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เรียกร้องให้ทางการไทยมีการเปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใสเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมของเจ้าหน้าที่รัฐในปฏิบัติการดังกล่าว พร้อมตรวจสอบและดำเนินการทำให้ผู้เกี่ยวข้องต้องรับผิดชอบกับสิ่งที่เกิดขึ้น ไม่ว่าบุคคลนั้นจะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ หน่วยงานความมั่นคง หรือบุคคลภายนอกก็ตาม
"การโจมตีทางไซเบอร์ที่เกิดขึ้น ถือเป็นการกระทำอันอุกอาจเพื่อบ่อนเซาะทำลายพื้นที่พลเมืองในประเทศไทย ทางการไทยต้องดำเนินการทันทีเพื่อยุติปฏิบัติการสาดโคลนป้ายสี ที่มุ่งทำร้ายนักปกป้องสิทธิมนุษยชนและนักกิจกรรม” ชนาธิป ตติยการุณวงศ์ นักวิจัยประจำประเทศไทย แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าว
“รัฐบาลไทยต้องใช้มาตรการที่จำเป็นทั้งปวง เพื่อให้มีการเปิดเผยรายละเอียดทั้งหมดเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมของเจ้าหน้าที่รัฐในปฏิบัติการนี้ และรับรองให้ผู้กระทำต้องรับผิดชอบ ไม่ว่าบุคคลนั้นจะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ เจ้าหน้าที่ของหน่วยงานความมั่นคง หรือบุคคลทั่วไป"
การเรียกร้องครั้งนี้มีจุดเริ่มต้นมาจากเมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2568 ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจในรัฐสภา ชยพล สท้อนดี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคฝ่ายค้าน ได้นำเอกสารภายในมานำเสนอ ที่มีการเปิดเผยให้เห็นโครงสร้างของ “ไซเบอร์ทีม” ภายใต้การควบคุมของศูนย์บัญชาการร่วมที่ประกอบด้วยตำรวจ ทหาร และกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ในเอกสารดังกล่าวพบว่า แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เป็นหนึ่งเป้าหมายที่ถูกระบุในเอกสารลับว่าเป็นองค์กรที่อยู่ในกลุ่ม “เป้าหมายที่มีคุณค่าสูง” (high-value target) ร่วมกับองค์กรพัฒนาเอกชนอื่นๆ เช่น ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน, โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw), และอันนา อันนานนท์ เยาวชนนักปกป้องสิทธิมนุษยชน
สำหรับไซเบอร์ทีมมีหน้าที่จัดทำเนื้อหาโจมตีบนโลกออนไลน์ หรือที่รู้จักกันว่าการเปิดปฏิบัติการ IO เช่น โต้ตอบโพสต์ของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลที่เรียกร้องให้ยุติความรุนแรงต่อผู้ชุมนุม ด้วยการเผยแพร่ข้อมูลบิดเบือนเพื่อลดทอนความน่าเชื่อถือขององค์กร โดยเฉพาะในช่วงเลือกตั้งปี 2566 ทีมดังกล่าวได้พุ่งเป้าไปที่บัญชีโซเชียลมีเดียของนักเคลื่อนไหวภาคประชาสังคม นักกิจกรรมที่ออกมาใช้สิทธิในเสรีภาพการแสดงออก หนึ่งในนั้นมีปิยนุช โคตรสาร อดีตผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ในตอนนั้นพบว่ามีการพยายามเจาะรหัสผ่านผ่านวิธีการ brute-force attack และ phishing เพื่อเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวและสื่อสารออนไลน์หากใครหรือองค์กรใดเป็นกลุ่มเป้าหมายของไซเบอร์ทีม
"หน่วยงานภาคประชาสังคมได้เก็บบันทึกข้อมูลอย่างต่อเนื่อง เพื่อยืนยันถึงการมีอยู่การโจมตีทางดิจิทัลหลายระลอกที่เกิดขึ้นกับนักปกป้องสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย และยังจำต้องออกมาเรียกร้องซ้ำแล้วซ้ำเล่าให้ทางการไทยสอบสวนและยุติการละเมิดเหล่านี้ หลักฐานที่มีการนำมาเผยแพร่ครั้งล่าสุดนี้ เป็นเพียงเสมือนเครื่องยืนยันว่า นักกิจกรรมและภาคประชาสังคมยังคงต้องเผชิญภัยคุกคามในโลกดิจิทัลเหล่านี้อย่างต่อเนื่อง"
ที่ผ่านมาแม้รัฐบาลไทยจะปฏิเสธข้อกล่าวหาระหว่างการอภิปรายดังกล่าว แต่หลักฐานที่เปิดเผยล่าสุดสะท้อนถึงแนวโน้มการใช้อำนาจแบบอำนาจนิยมในโลกดิจิทัลซึ่งกำลังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในประเทศไทย โดยในเดือนพฤษภาคม 2567 งานวิจัยของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ได้เปิดเผยว่าทางการไทยมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเฝ้าระวัง การคุกคามออนไลน์ และการใช้ปฏิบัติการสาดโคลนอย่างเป็นระบบ โดยเฉพาะต่อผู้หญิงและผู้มีความหลากหลายทางเพศที่เป็นนักปกป้องสิทธิมนุษยชน
นอกจากนี้ คณะกรรมการต่อต้านการทรมานแห่งสหประชาชาติยังได้แสดงความกังวลในเดือนพฤศจิกายน 2567 เกี่ยวกับการใช้สปายแวร์และการคุกคามทางไซเบอร์ของทางการไทยต่อกลุ่มภาคประชาสังคมและนักเคลื่อนไหว ซึ่งเป็นการละเมิดเสรีภาพในการแสดงออกและสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานอย่างร้ายแรงจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ยืนยันว่าทางการไทยต้องแสดงความโปร่งใส มีการสอบสวนอย่างเป็นอิสระ และยุติการกระทำที่เป็นภัยต่อเสรีภาพของภาคประชาสังคมในทันที
"นานเกินไปแล้วที่นักปกป้องสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย ต้องจำทนอยู่กับสภาพแวดล้อมในพื้นที่ดิจิทัลอันเป็นพิษ ในปัจจุบัน ประเทศไทยได้ดำรงตำแหน่งอยู่ในคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ทางการไทยจึงต้องปฏิบัติตามคำมั่นสัญญาที่เคยให้ไว้ โดยเริ่มจากการยุติการโจมตีทางไซเบอร์ รวมถึงปฏิบัติการสาดโคลนป้ายสี และรับประกันให้เกิดสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยและเอื้ออำนวยสำหรับการทำงานของนักปกป้องสิทธิมนุษยชน" ชนาธิปกล่าวทิ้งท้าย