04 ธ.ค. 2567 | 16:30 น.
พันธิตร ทองสำราญ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการตลาด (Chief of Marketing) และ ชโลทร ปะทะโม ผู้จัดการฝ่ายแบรนด์ (Head of Brand) บริษัท สัมมากร จำกัด (มหาชน) สองหัวเรือใหญ่เบื้องหลังการขับเคลื่อนแบรนด์ ‘สัมมากร’ สู่ยุคใหม่ภายใต้ความเชื่อมั่นว่า ‘ทุกเสียงต้องไม่ถูกละเลย’
ความต้องการที่ดูเหมือนเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ อาจเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่มากสำหรับใครบางคน เมื่อเสียงทุกเสียงถูกนำมารวมกันด้วยความใส่ใจ ผลลัพธ์ที่ได้คือโครงการที่อยู่อาศัยที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของผู้คนในยุคปัจจุบันได้อย่างแท้จริง
การพัฒนาองค์กรสู่ยุคใหม่ของสัมมากรเริ่มต้นจากการสร้างพื้นที่ปลอดภัยและพร้อมรับฟังให้พนักงานทุกคน เพื่อนำไปสู่การสร้างประสบการณ์ที่ดีที่สุดให้กับลูกค้า เรื่องราวความใส่ใจของพวกเขายังได้รับการถ่ายทอดผ่านโฆษณา Hear for Your Home ที่สะท้อนถึงความตั้งใจในการฟังและเข้าใจทุกเสียง ไม่ว่าจะเล็กน้อยหรือสำคัญแค่ไหน
เมื่อพูดถึงชื่อสัมมากร หลายคนอาจนึกถึงโครงการที่อยู่อาศัยคุณภาพที่ครองใจคนไทยมาอย่างยาวนานถึง 54 ปี แต่ในยุคที่คำว่า ‘บ้านในฝัน’ ไม่ได้มีคำตอบเพียงหนึ่งเดียว หากแต่เต็มไปด้วยรายละเอียดหลากหลาย ทั้งยังมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว แบรนด์จึงต้องมุ่งสู่แนวคิด Customer-Centric เข้าใจลูกค้าอย่างแท้จริง
การออกแบบบ้านของไม่ได้เริ่มต้นที่ดีไซเนอร์หรือสถาปนิกเพียงอย่างเดียว พันธิตรเล่าถึงวิธีคิดที่อยู่เบื้องหลังการสร้างที่อยู่อาศัยของสัมมากร โดยยกตัวอย่างผ่านโครงการ Park Heritage บ้านเดี่ยวระดับ Super Luxury ที่ตั้งใจให้ส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่นได้อย่างแท้จริง
“การสร้างที่อยู่อาศัยระดับ Super Luxury ในยุคที่ผู้บริโภคให้ความสำคัญกับสิ่งที่เป็นคุณค่าที่แท้จริงของชีวิต ทำให้สัมมากรตีความถึงความหรูหราในมุมของการได้พักผ่อนและใช้เวลาร่วมกัน"
"แนวทางการออกแบบโครงการนี้จึงไม่ได้นำเสนอสิ่งที่เป็นแฟนตาซี หรือความเวอร์วังอลังการ แต่จะเป็นพื้นที่แห่งความสุขที่ไม่ขึ้นอยู่กับกาลเวลา ทั้งยังสามารถส่งต่อเป็นของขวัญให้ลูกหลานได้”
Park Heritage คือบ้านระดับ Super Luxury โครงการที่สองของสัมมากรที่โดดเด่นด้านการเป็นบ้านเดี่ยวพื้นที่กว้างขวางใจกลางเมือง ออกแบบตามแนวคิด “Multidimensional Integration” โดยนำแรงบันดาลใจจากธรรมชาติมาผสมผสานกับสถาปัตยกรรมและภูมิสถาปัตยกรรม (ART+ARCHITECH+NATURE) โอบล้อมด้วยพื้นที่สีเขียวตลอดทั้งโครงการ อีกทั้งการออกแบบบ้านสไตล์ Modern Classic ช่วยให้บ้านดูไม่เก่าไปตามกาลเวลา (Timeless design) และยังทำงานร่วมกับ “PIA” (PIA Interior Co., Ltd.) ด้านการออกแบบและตกแต่งภายใน ซึ่งให้ความสำคัญกับการสร้างพื้นที่อยู่อาศัยที่คนทุกรุ่นสามารถอยู่ด้วยกันได้อย่างลงตัว สามารถส่งต่อให้กับคนในครอบครัวจากรุ่นสู่รุ่น
การตั้งใจรับฟังเสียงของลูกค้าเพื่อให้เข้าใจถึงความต้องการที่แท้จริงของพวกเขา ไม่เพียงแต่จะสร้างประสบการณ์ที่ดี หากยังสร้างความผูกพันระยะยาวที่ยากจะหาคู่แข่งมาทดแทน
ความสามารถในการรับฟังจึงเป็นทักษะที่สำคัญอย่างยิ่งของธุรกิจในปัจจุบัน
ชโลทรเล่าถึงไอเดียของโฆษณา Hear for Your Home ที่สะท้อนถึงความพยายามของสัมมากรในการรับฟังและไม่ปล่อยผ่านเสียงเล็กๆ ของลูกค้าที่ไม่เคยมีใครได้ยิน
“แบรนด์ไหนๆ ต่างก็พูดถึง Customer-Centric ธุรกิจไหนๆ ต่างก็บอกว่าพวกเขารับฟังลูกค้า แต่สัมมากรเราเชื่อมั่นในการรับฟังอย่างแท้จริง ซึ่งหมายถึงการฟังที่ทำให้เราได้ยินไปถึง Pain Point ที่ตลาดอาจไม่ได้พูดถึง หรือได้ยินถึงเสียงของความต้องการที่ไม่เคยถูกได้ยินมาก่อน”
การรับฟังด้วยความใส่ใจ และการพัฒนาที่อยู่อาศัยด้วยความเป็นมืออาชีพแบบสัมมากรจะสร้างสรรค์ที่อยู่อาศัยออกมาในรูปแบบไหน รับชมได้ผ่านคลิป https://www.youtube.com/watch?v=U8ZbgJsXb1w
กระบวนการรับฟังที่นำไปสู่การสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้าไม่ได้เกิดขึ้นจากทีมขายหรือมาร์เก็ตติ้งเท่านั้น แต่ต้องเริ่มต้นจากทุกฝ่ายภายในองค์กร
พันธิตรให้ความเห็นว่า “องค์กรยุคใหม่ต้องเป็นองค์กรของการรับฟังซึ่งกันและกัน ถ้าเสียงของพนักงานไม่ถูกปล่อยผ่าน ทีมงานทุกคนมีทักษะในการเปิดใจรับฟังและนำความคิดเห็นไปพัฒนาการทำงานจะส่งผลให้องค์กรของเรามีพลังในการไปรับฟังลูกค้าได้ดีมากขึ้น”
“เพราะไม่ว่าจะอยู่ตำแหน่งไหนก็มีส่วนร่วมในการสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้าได้เมื่อมีทักษะของการฟังอย่างเข้าใจ” ชโลทรเสริม
อย่างไรก็ตาม ทั้งสองคนยอมรับว่า การเปลี่ยนผ่านองค์กรไปสู่ยุค Customer-Centric ไม่ง่าย โจทย์ท้าทายคือ ทำอย่างไรให้พนักงานที่มีความแตกต่างหลากหลายมีทักษะในการรับฟัง ไม่ด่วนตัดสิน และมองไปยังเป้าหมายเดียวกับองค์กร
การรับฟังอย่างเข้าใจและจริงใจเริ่มต้นจากผู้นำ
ผู้นำต้องเป็นผู้สร้างบรรยากาศที่ปลอดภัยและปลูกฝังวัฒนธรรมของการรับฟัง พันธิตรมองว่า
“การเปลี่ยนแปลงหรือสร้างวัฒนธรรมภายในองค์กรไม่อาจสำเร็จได้เพียงแค่การออกนโยบายแล้วเชื่อว่าทุกคนมุ่งไปสู่สิ่งเดียวกัน แต่ผู้นำต้องมีบทบาทในการริเริ่มสร้างบรรยากาศที่ดีที่ส่งเสริมให้ทุกคนกล้าเปิดใจ สิ่งสำคัญคือ ต้องไม่ทำตัวเป็นหัวหน้าที่คอยจี้หรือจับผิดลูกน้อง”
ผู้นำต้องไม่ติดกับดักอีโก้ของตัวเอง ชโลทรเสริม
“สำคัญมากที่ผู้นำจะต้องลดอีโก้ของตัวเองลง ไม่คิดว่าเราดีที่สุดหรือเก่งที่สุด"
ความจริงคือเราทุกคนที่ต่างมีความเชี่ยวชาญเป็นของตัวเอง และเราทุกคนกำลังร่วมกันทำงานที่มีความหมาย เป้าหมายคือ การทำให้ลูกค้าของสัมมากรทุกคนได้รับประสบการณ์ที่ดีที่สุด”
“หัวหน้าควรพูดให้น้อยที่สุดและพูดเป็นคนสุดท้าย ที่สำคัญคือต้องไม่ลืมว่าคำพูดของเราในวันนี้กำลังจะสร้างหัวหน้าอีกเป็นสิบๆ คนในวันข้างหน้า"
"ถ้าเราอยากให้พวกเขาเติบโตเป็นหัวหน้าที่พร้อมรับฟังคนทุกฝ่าย เราต้องให้ความสำคัญกับการสร้างทักษะการเปิดใจรับฟังให้พวกเขานับตั้งแต่วันนี้” พันธิตรกล่าวทิ้งท้าย