27 พ.ค. 2564 | 21:19 น.
‘ปีศาจแดง’ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด อาจตกเป็นเป้าหยอกล้อแบบขำ ๆ จากแฟนบอลทีมอื่นทุกครั้งที่พวกเขาคว้าแชมป์ ‘หญ้างามสนามน่าเตะ’ (Grounds Team of the Season) เพราะยามใดที่ได้รางวัลนี้ สโมสรฟุตบอลยักษ์ใหญ่ของโลกทีมนี้มักจบฤดูกาลมือเปล่า ไม่สามารถคว้าถ้วยรางวัลใหญ่มาครอง
เช่นเดียวกับฤดูกาล 2020/21 ที่ ‘ปีศาจแดง’ ทำดีที่สุดแค่รองแชมป์ทั้งในศึกพรีเมียร์ลีกอังกฤษ และยูฟ่ายูโรปาลีก แต่ก็ไม่จบฤดูกาลแบบไร้โทรฟีซะทีเดียว เพราะอย่างน้อยสนามโอลด์ แทรฟฟอร์ดของพวกเขาก็ยังได้รับเลือกจากพรีเมียร์ลีกให้เป็นสนามที่มีหญ้างามและสภาพสนามดีที่สุดของฤดูกาล
รางวัลนี้มีขึ้นเพื่อยกย่องทีมดูแลสนาม (grounds team) ซึ่งเป็นฟันเฟืองสำคัญที่ขับเคลื่อนเกมลูกหนังอยู่หลังฉาก โดยทีมดูแลสนามโอลด์ แทรฟฟอร์ด ได้รางวัลนี้มาครองเป็นสมัยที่ 4 ในรอบ 8 ปี และบุคคลสำคัญผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จนี้ คือ ผู้จัดการทีมสนาม (grounds manager) ที่ชื่อ โทนี ซินแคลร์
จากแฟนบอลสู่ทีมงาน
ชายผิวขาวรูปร่างท้วมท่าทางใจดีชื่อ โทนี ซินแคลร์ เป็นสาวกทีม ‘ปีศาจแดง’ ตัวยง เขาทำงานดูแลสนามโอลด์ แทรฟฟอร์ด ซึ่งได้ฉายา ‘โรงละครแห่งความฝัน’ มาเป็นเวลานานกว่า 30 ปี ตั้งแต่ ค.ศ. 1990 ในยุคของเซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน ตำนานผู้จัดการทีมผู้ยิ่งใหญ่ของสโมสร
ซินแคลร์กล่าวอย่างภาคภูมิใจถึงความรับผิดชอบในฐานะแฟนบอลผู้มีส่วนช่วยให้สโมสรในดวงใจประสบความสำเร็จ โดยชี้ว่า หน้าที่ของเขาคือการประสานกับผู้จัดการทีมแมนฯ ยูไนเต็ดทุกคนที่อยู่ในตำแหน่ง เพื่อรับทราบความต้องการและปรับสภาพสนามให้เป็นไปตามแผนการเล่นของทีม
“มัน (สนามบอล) คือเครื่องมือสำคัญที่สุดของทีม ถ้าสนามไม่อยู่ในสภาพที่ถูกต้อง มันอาจส่งผลสะท้อนที่ใหญ่หลวงตามมา นักเตะอยากได้พื้นสนามที่เปียกชุ่มเพื่อให้เกมไหลลื่นรวดเร็ว ซึ่งจะทำให้พวกเขาสามารถแสดงฝีเท้าที่ดีที่สุดออกมา
“นั่นหมายความว่า เราต้องเข้ามาทำงานช่วงสุดสัปดาห์ตอนยูไนเต็ดไม่ได้เล่นในบ้าน เพื่อตัดหญ้าหรือตรวจสอบว่าไม่มีโรคเกิดขึ้นเพราะมันคือธรรมชาติ คุณต้องอยู่กับมันอย่างไม่มีข้อสงสัย
“มันเป็นสนามกีฬาที่มีชื่อเสียงมากที่สุดในโลก และผมก็ได้เห็นช่วงเวลาสำคัญหลายเหตุการณ์กับตา บางประตูที่เกิดขึ้นในสนามแห่งนี้ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมามันช่างน่าเหลือเชื่อจริง ๆ”
ซินแคลร์กล่าวไว้ในปี 2013 ก่อนที่ปีถัดมาสนามโอลด์ แทรฟฟอร์ด ที่เขาดูแลจะได้รับรางวัล ‘หญ้างามสนามน่าเตะ’ หรือชื่อทางการ ‘ทีมดูแลสนามแข่งขันยอดเยี่ยมแห่งฤดูกาล’ (Grounds Team of the Season) ของพรีเมียร์ลีกเป็นสมัยแรก
สนามโอลด์ แทรฟฟอร์ด ได้รับรางวัลอันทรงเกียรตินี้ทั้งหมด 4 สมัยภายในระยะเวลา 8 ปี โดยรางวัลดังกล่าวได้มาในปี 2014, 2015 (ครองร่วมกับอาร์เซนอล), 2019 และ 2021
เกณฑ์การให้รางวัล
หลักเกณฑ์การคัดเลือกทีมผู้ชนะรางวัล ‘หญ้างาม’ เบื้องต้นจะวัดจากคะแนนที่กรรมการและผู้ควบคุมการแข่งขันแต่ละนัดโหวตให้ทีมเหย้าตลอดฤดูกาล ซึ่งการให้คะแนนจะประเมินจากหลายปัจจัย รวมถึงประโยชน์ใช้สอยของสนาม และสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ระหว่างการแข่งขัน
จากนั้น ดร.สตีเฟน เบเกอร์ ผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันวิจัยสนามหญ้าสำหรับการแข่งขัน (Sports Turf Research Institute) จะเป็นผู้ตรวจสอบสนามที่ได้คะแนนสูงสุด 5 อันดับแรก และส่งผลการตรวจสอบไปให้กับคณะกรรมการพื้นสนามแข่งขัน (Playing Surfaces Committee) ซึ่งมี ไซมอน บาร์เกอร์ จากสมาคมฟุตบอลอาชีพของอังกฤษเป็นประธาน เพื่อทำหน้าที่ตัดสินชี้ขาดผู้ชนะ
รางวัลนี้มาจากความร่วมมือกันระหว่างคณะกรรมการพื้นสนามแข่งขัน และสถาบันวิจัยสนามหญ้าสำหรับการแข่งขัน มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อกระตุ้นให้ทีมต่าง ๆ ตระหนักถึงความสำคัญของคุณภาพสนามฟุตบอลอาชีพ กระตุ้นเหล่าสตาฟฟ์ภาคสนามให้สร้างผลงานที่ดีที่สุดออกมาอย่างสม่ำเสมอ และเชิดชูเกียรติหัวหน้าและทีมงานดูแลสนามทุกคนที่ทำให้วงการฟุตบอลลีกมีพื้นสนามแข่งขันที่ดีที่สุด
เคล็ดลับหญ้าสวย
ซินแคลร์บอกว่า เคล็ดลับการรักษาสภาพสนามให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานอยู่เสมอจนสามารถพิชิตรางวัลอันทรงเกียรติในสาขาอาชีพที่ตนเองดูแล คือการทุ่มเทเอาใจใส่ในรายละเอียด และหมั่นเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ ๆ อยู่ตลอดเวลา
ทุกวันก่อนมีเกมการแข่งขันที่โอลด์ แทรฟฟอร์ด เขาจะตื่นตั้งแต่ตี 2 เพื่อดูกล้องวงจรปิดสภาพสนามจากที่บ้าน หากมีหิมะตกหรือสภาพอากาศไม่เป็นใจ เขาจะสามารถตัดสินใจเปิดเครื่องทำความร้อนละลายหิมะ หรือสั่งการให้ลูกทีมเร่งช่วยแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ได้ทันก่อนการแข่งขันจะเริ่มขึ้น
ปัจจุบันสนามโอลด์ แทรฟฟอร์ด ใช้เทคโนโลยีการปลูกหญ้าแบบไฮบริดที่เรียกว่า เดสโซ (Desso) โดยร้อยละ 3 ของหญ้าที่นั่นเป็นหญ้าเทียมที่มาจากวัสดุสังเคราะห์ประเภทไนลอน ปลูกด้วยเครื่องยนต์คล้ายจักรเย็บผ้าขนาดยักษ์ที่เจาะฝังหญ้าสังเคราะห์ 20 ล้านต้นลงไปในสนามด้วยความลึก 20 ซม. ห่างกัน 1.5 ซม. และโผล่ขึ้นมาเหนือพื้นสนามเพียง 2 ซม.
ประโยชน์ของหญ้าสังเคราะห์ คือการช่วยให้รากของหญ้าจริงที่ปลูกตามมาสามารถใช้เป็นที่ยึดเกาะใต้พื้นสนาม ทำให้เพิ่มความคงทนของพื้นหญ้า และง่ายต่อการดูแลรักษาตลอดฤดูกาล
นอกจากนี้ เทคโนโลยีแสงประดิษฐ์ซึ่งเป็นนวัตกรรมจากประเทศเนเธอร์แลนด์ ยังมีส่วนสำคัญที่ใช้เร่งการเจริญเติบโตของหญ้า ทำให้การดูแลรักษาสามารถทำได้อย่างสะดวกรวดเร็วมากยิ่งขึ้น แม้ในช่วงฤดูหนาวที่สภาพอากาศไม่เป็นใจ
“หากมีฝนเทลงมาอย่างหนักในช่วงเริ่มการแข่งขัน คุณคาดว่าจะเห็นน้ำที่ขังหายไปจากพื้นสนามภายใน 45 - 60 นาที สนามเหล่านี้ออกแบบมาเพื่อให้ระบายน้ำได้เอง ดังนั้นพื้นสนามจึงเหมาะกับสภาพอากาศของเมืองแมนเชสเตอร์เป็นอย่างมาก” ซินแคลร์บรรยายสรรพคุณของเทคโนโลยีสนามยุคใหม่
งานหนักแต่ภูมิใจ
แม้เทคโนโลยีต่าง ๆ จะช่วยให้การทำงานมีความสะดวกสบายมากขึ้น แต่ซินแคลร์เปิดเผยว่า พวกเขายังคงต้องหมั่นตรวจสอบสภาพสนาม ตลอดจนทดสอบสภาพดิน และตรวจหาปรสิตต่าง ๆ ที่อาจทำให้หญ้าได้รับความเสียหายเป็นประจำ
นอกจากนี้แต่ละซีซัน สนามโอลด์ แทรฟฟอร์ด นอกจากจะใช้เป็นรังเหย้าในการแข่งขันฟุตบอลพรีเมียร์ลีก 19 นัด และบอลถ้วยอีกหลายรายการทั้งในและระหว่างประเทศแล้ว ‘โรงละครแห่งความฝัน’ ยังใช้จัดการแข่งขันรักบี้ลีกนัดชิงชนะเลิศทุกปี และเป็นเวทีคอนเสิร์ตอีกหลายงานในฤดูร้อน ช่วงที่พรีเมียร์ลีกปิดฤดูกาลแข่งขันด้วย
งานอีเวนต์ต่าง ๆ เหล่านี้ คือภาระที่ซินแคลร์และทีมงานอีก 30 ชีวิตต้องคอยรับหน้าที่จัดการแบบแทบไม่มีวันหยุดพัก นี่ยังไม่นับสนามฝึกซ้อมต่าง ๆ ของแมนฯ ยูไนเต็ด ทั้งชุดเล็กและชุดใหญ่ อาทิ เอออน เทรนนิ่ง คอมเพล็กซ์, ลิตเทิลตันโรด และเดอะ คลิฟฟ์ ซึ่งล้วนอยู่ภายใต้การดูแลของทีมงานของซินแคลร์ทั้งสิ้น
“ตั้งแต่สนามฝึกซ้อมไปจนถึงสนามแข่งขัน เรามีสนามหญ้าจริง 23 สนาม และหญ้าเทียมอีก 5 สนามให้คอยดูแลรับผิดชอบ” ซินแคลร์ระบุ
ด้วยภาระอันหนักอึ้งนี้ หากไม่ใช่เพราะความรักในสโมสร และความหลงใหลในงานที่ตนเองทำ คงเป็นเรื่องยากที่ใครจะยอมแบกรับหน้าที่อันยิ่งใหญ่นี้ไว้ได้ตลอดระยะเวลายาวนานกว่า 30 ปี
ซินแคลร์บอกว่า แรงบันดาลใจที่ทำให้เขาชื่นชอบงานนี้ก็คือ ผลงานของเขาที่แสดงออกมาผ่านความสวยงามของสนามแข่งขันสามารถถ่ายทอดไปสู่สายตาแฟนบอลทั่วโลกทุกครั้งที่แมนฯ ยูไนเต็ด ได้เล่นในบ้าน แม้จะไม่มีใครรู้ว่าเบื้องหลังความสวยงามและเกมการแข่งขันอันสนุกเร้าใจในสนามแห่งนี้ ต้องแลกมากับความเหนื่อยยากทุ่มเทเพียงใด
ด้วยเหตุนี้ ยามใดที่ผู้คนนำเอารางวัล ‘หญ้างาม’ มาล้อเลียนจนกลายเป็นเรื่องขบขัน หรือพยายามด้อยค่ารางวัลดังกล่าว จงตระหนักไว้ว่า ยังมีผู้ที่เหน็ดเหนื่อยและเห็นคุณค่ารางวัลนี้ ในฐานะเครื่องเตือนใจที่ทำให้มีพลังทำงานเพื่อวงการฟุตบอลต่อไป
“เราภูมิใจและรู้สึกเป็นเกียรติมากที่ได้รับรางวัลอันทรงคุณค่านี้ ในฐานะผู้มีส่วนทำให้สนามฟุตบอลได้ยกระดับมาตรฐานให้สูงขึ้น ข้อสำคัญที่ผมต้องการจะบอกก็คือ เรามีทีมงานที่มีใจรักและมีความวิเศษมากอย่างเหลือเชื่อ พวกเขาทุกคนล้วนปรารถนาให้สโมสรแห่งนี้มีสนามที่ดีที่สุด
“รางวัลนี้สะท้อนถึงการให้ความสำคัญกับภาระมากมายอันยิ่งใหญ่ที่อยู่เบื้องหลังการทำให้สนามโอลด์ แทรฟฟอร์ด อยู่ในสภาพสมบูรณ์สวยงามตลอดฤดูกาล”
โทนี ซินแคลร์ กล่าวปิดท้ายด้วยความภูมิใจกับรางวัล ‘หญ้างามสนามน่าเตะ’ แห่งปี 2021 ที่เขาได้รับ
ข้อมูลอ้างอิง:
https://www.manutd.com/en/news/detail/man-united-grounds-team-win-premier-league-award
https://www.manutd.com/en/news/detail/how-united-grounds-team-maintain-award-winning-old-trafford-pitch#
https://www.thepfa.com/news/2015/5/1/grounds-team-of-the-year
https://www.dailymail.co.uk/sport/football/article-2887691/Sir-Alex-Ferguson-presents-best-groundsman-trophy-Tony-Sinclair-pitch-Old-Trafford.html
https://www.pitchcare.com/news-media/interview-with-tony-sinclair-head-groundsman-at-old-trafford.html
https://www.pitchcare.com/news-media/grounds-team-win-premier-league-award.html
https://www.manchestereveningnews.co.uk/news/how-etihad-old-trafford-pitches-14819144
ภาพ: Mike Egerton - PA Images via Getty Images
หมายเหตุ: แชมป์หญ้าสวยฤดูกาล 2021-22 เป็นของสเปอร์ส (บทความนี้เผยแพร่เมื่อ 27 พฤษภาคม 2564)