08 ก.พ. 2566 | 14:14 น.
- ‘มวยไทยสมัครเล่น’ อีกหนึ่งกีฬาเอเชียที่กำลังก้าวเดินในเส้นทางเพื่อนำไปสู่การบรรจุในมหกรรมกีฬาโอลิมปิก
- เส้นทางของ ‘มวยไทยสมัครเล่น’ กว่าจะได้บรรจุแข่งในมหกรรมกีฬานานาชาติผ่านดราม่าต่าง ๆ มากมาย ไม่แพ้เรื่องราวของ ‘มวยไทย’
‘มวยไทยสมัครเล่น’ เป็นกีฬาที่ได้รับการยอมรับและถูกบรรจุเข้าแข่งขันในมหกรรมกีฬาระดับนานาชาติทั้งในระดับซีเกมส์ (SEA Games) เอเชียน อินดอร์ แอนด์ มาร์เชียลอาร์ตเกมส์ (Asian Indoor and Martial Arts Games) และเวิลด์เกมส์ (World Games) มาตั้งแต่ช่วงปี 2005 โดยมีสหพันธ์มวยไทยสมัครเล่นนานาชาติ (International Federation of Muaythai Associations) หรืออิฟมา (IFMA) เป็นองค์กรที่คอยพัฒนากีฬาชนิดนี้ให้ไปมหกรรมกีฬาอย่างโอลิมปิกเกมส์ให้ได้ในอนาคต
ล่าสุด ประเด็นของกีฬามวยไทยสมัครเล่นกลายเป็นประเด็นที่มีการพูดถึงอย่างกว้างขวางในสังคมไทยอันเนื่องมาจากการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 32 ประจำปี 2023 ณ กรุงกรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชานั้น จะไม่มีการแข่งขันกีฬาชนิดนี้บรรจุเข้าร่วมการแข่งขัน แต่ทางเจ้าภาพได้มีการบรรจุกีฬามวยเขมรหรือกุนขแมร์เข้าไปแทน
แม้จะเป็นเรื่องปกติที่ทางเจ้าภาพกีฬาซีเกมส์มักจะบรรจุกีฬาประจำชาติของตัวเองเข้าไปอยู่แล้ว แต่ครั้งนี้มีประเด็นถกเถียงตรงที่ว่า กติกาการแข่งขันหลายอย่างถูกนำมาจากเทคนิเชียน ไกด์บุ๊ก (แนวทางเชิงเทคนิค) ของมวยไทยสมัครเล่น
สถานการณ์ ณ ปัจจุบันก็เป็นที่แน่นอนแล้วว่า มวยไทยสมัครเล่นจะไม่มีแข่งขันในมหกรรมกีฬาแห่งมวลชนชาวอาเซียนครั้งนี้ นับเป็นอีกครั้งที่มวยไทยสมัครเล่นถูกตัดออกจากการแข่งขันซีเกมส์นับตั้งแต่ถูกบรรจุเข้าแข่งขันมาในปี 2005 นับเป็นเรื่องน่าเสียดายที่การผลักดันนั้นไม่ต่อเนื่อง
บทความนี้จะพาทุกท่านไปย้อนดูถึงพัฒนาการและเรื่องราวของกีฬาชนิดนี้ในมหกรรมกีฬาระดับนานาชาติกัน ว่าที่ผ่านมามีเหตุการณ์สำคัญอะไรเกิดขึ้นบ้าง
มวยไทยสมัครเล่นในซีเกมส์ มหกรรมแห่งปัญหาและการแบ่งปัน
มวยไทยสมัครเล่นมีจัดการแข่งขันชิงแชมป์โลกหรือรายการอิฟมา เวิลด์ มวยไทย แชมเปียนชิพ (IFMA World Muaythai Championships) มาตั้งแต่ปี 1993 แต่กว่าที่กีฬาชนิดนี้จะถูกบรรจุเข้าร่วมมหกรรมกีฬาระดับนานาชาติก็ต้องใช้ระยะเวลาถึง 12 ปี
โดยในการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ครั้งที่ 23 ปี 2005 ณ กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ มีการชิงชัยกันทั้งสิ้น 7 เหรียญทองแบ่งเป็นประเภทต่อสู้ 4 เหรียญทอง ไหว้ครู 3 เหรียญทอง เจ้าภาพสามารถคว้าเหรียญทองประเภทไหว้ครูไปได้ 2 เหรียญทอง ขณะที่ไทยได้มา 1 เหรียญทอง ด้านประเภทการต่อสู้นั้นไทยคว้ามาได้ 2 เหรียญทอง ขณะที่ฟิลิปปินส์เจ้าภาพกับลาวเก็บไปได้ชาติละ 1 เหรียญทอง
การแข่งขันมวยไทยในครั้งนั้น แม้จะเป็นกีฬาน้องใหม่ในซีเกมส์แต่ก็ได้รับความนิยมจากชาวฟิลิปปินส์มากพอสมควร ในแต่ละวันของการแข่งขัน ณ จีเอสไอเอสสปอร์ต คอมเพล็กซ์ มีผู้ชมให้ความสนใจเข้าชมการแข่งขันจนเกือบเต็มความจุของสนาม ที่สำคัญคือในพิธีมอบเหรียญรางวัลนั้น ‘กลอเรีย อาร์โรโย่’ ประธานาธิบดีของฟิลิปปินส์ให้เกียรติมามอบเหรียญและเข้าชมการแข่งขันด้วยตัวเอง นับเป็นการเริ่มต้นที่ดีของกีฬาชนิดนี้ในระดับภูมิภาคอาเซียน
ในอีก 2 ปีถัดมา การแข่งขันซีเกมส์ ครั้งที่ 24 ปี 2007 ณ จังหวัดนครราชสีมา ประเทศไทยของเราได้บรรจุกีฬามวยไทยสมัครเล่นไว้ในการแข่งขันครั้งนี้ด้วย ชิงชัยกันทั้งสิ้น 11 เหรียญทองโดยเป็นการแข่งขันในประเภทต่อสู้ทั้งหมด เป็นประเภทชาย 7 เหรียญทอง ประเภทหญิง 4 เหรียญทอง และตัดการแข่งขันในประเภทไหว้ครูออก
การแข่งขันในครั้งนี้ แม้ว่าทีมชาติไทยจะสามารถโกยไปได้ถึง 10 เหรียญทอง แบ่งให้ลาวไปเพียง 1 เหรียญทองในประเภทหญิง รุ่นไลต์ฟลายเวท แต่ในแง่ภาพลักษณ์ของการพัฒนากีฬามวยไทยสมัครเล่นกลับไม่สู้ดีนัก เพราะปัญหาเรื่องคุณสมบัติของนักกีฬาที่เข้าร่วมการแข่งขัน
โดยก่อนที่การแข่งขันมวยไทยสมัครเล่นในกีฬาซีเกมส์ 2007 จะเริ่มขึ้น โรเบอร์โต วัลเดซ นายกสมาคมมวยไทยสมัครเล่นฟิลิปปินส์ และกิ่งแก้ว แสงสุวรรณ ผู้จัดการทีมชาติลาว ได้ยื่นหนังสือประท้วงต่อประธานฝ่ายจัดการแข่งขันเรื่องคุณสมบัติของนักกีฬาไทยที่เอานักมวยอาชีพมาขึ้นชกและมีดีกรีเป็นถึงแชมป์เวทีราชดำเนิน หรือผ่านเวทีมวยมาตรฐานในเมืองไทยมาแล้วขึ้นชก
ฝ่ายไทยชี้แจงว่า นักมวยเหล่านี้เป็นไปตามกฎของอิฟมาที่ว่า “ห้ามนักมวยที่ติดอันดับ 1-10 ของเวทีราชดำเนิน ลุมพินี ช่อง 7 และช่อง 3 ภายใน 1 ปีมาคัดเลือกเป็นนักกีฬาทีมชาติ” ซึ่งก็ทำให้มีนักมวยระดับอาชีพหลายคนสามารถขึ้นชกในซีเกมส์ครั้งนี้ได้ในฐานะนักกีฬาทีมชาติไทย
เรื่องดังกล่าวทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องกับกีฬามวยไทยสมัครเล่นเริ่มหันมาพิจารณาถึงคุณสมบัติของนักกีฬาว่าจะต้องเป็นอย่างไรต่อไปในอนาคต เพราะหากยังเป็นเช่นนี้มวยไทยสมัครเล่นคงไม่สามารถพัฒนาต่อยอดไปได้ และมันก็ดูจะไม่สมเหตุสมผลหรือถูกต้องตามหลักสากลเท่าใดนักที่นักกีฬาระดับอาชีพจะลงมาทำการแข่งขันในระดับสมัครเล่น
ต่อมา ในการแข่งขันซีเกมส์ ครั้งที่ 25 ปี 2009 ณ เวียงจันทน์ ประเทศลาว มวยไทยสมัครเล่นหรือมวยได้จัดให้มีการชิงชัยกันทั้งสิ้น 13 เหรียญทองโดยเป็นการแข่งขันในประเภทต่อสู้ทั้งหมดแบ่งเป็นประเภทชาย 8 เหรียญทอง ประเภทหญิง 5 เหรียญทอง ในครั้งนี้ ทั้งสองชาติที่ถนัดในกีฬาชนิดนี้คือไทยและลาวก็แย่งชิงความสำเร็จกันอย่างสนุก
ทั้งสองประเทศได้เหรียญทองรวมกันกว่า 11 เหรียญทองซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ แต่ที่น่ายินดีคือการคว้าเหรียญทองในประเภทไลต์เวทชายของไซดี ลารวน จากฟิลิปปินส์ เพราะนี่คือเหรียญประเภทต่อสู้เหรียญที่สองของชาวฟิลิปปินส์ และเป็นเหรียญแรกที่คว้ามาได้นอกแผ่นดินของตัวเอง ขณะที่เวียดนามก็คว้าเหรียญทองครั้งแรกได้เช่นกันจากเหงียน ไท ทูเยต ไม รุ่นฟลายเวทหญิง
การแข่งขันเว้นไประยะหนึ่ง เมื่อมาถึงการแข่งขันซีเกมส์ ครั้งที่ 27 ปี 2013 ณ เนปิดอว์ ประเทศเมียนมาร์ กีฬามวยไทยสมัครเล่นหรือมวยได้กลับเข้ามาบรรจุในกีฬาซีเกมส์อีกครั้งหลังจากต้องเว้นไปในปี 2011 แต่ก็ต้องมีปัญหาตามมามากมายจนไทยเองเคยประกาศว่า จะไม่เข้าร่วมการแข่งขัน เพราะทางเจ้าภาพไม่ยอมให้สหพันธ์มวยไทยสมัครเล่นนานาชาติหรืออิฟมาเป็นฝ่ายดำเนินการจัดการแข่งขัน แต่กลับให้สหพันธ์มวยแห่งอาเซียนกับสหพันธ์มวยแห่งเอเชียที่ไม่ได้รับการรับรองมาดำเนินการจัดการแข่งขันแทน
ด้านฝ่ายไทยเมื่อเห็นว่าไม่ถูกต้องก็จะไม่ส่งเข้าร่วมการแข่งขัน แต่ในท้ายที่สุดโอลิมปิกไทยและการกีฬาแห่งประเทศไทยในยุคนั้นยังต้องการส่งนักกีฬาเข้าร่วมการแข่งขันเพื่อลุ้นเหรียญรางวัล จึงมีการมอบหมายให้สมาคมกีฬามวยอาชีพแห่งประเทศไทยดำเนินการคัดเลือกนักกีฬาไปเข้าแข่งขันแทน และแน่นอนว่าผลการแข่งขันเป็นการแบ่งเหรียญทองกันระหว่างเมียนมาเจ้าภาพและไทย
การแข่งขันซีเกมส์ ครั้งที่ 29 ปี 2017 ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย มวยไทยสมัครเล่นหรือมวยก็ถูกบรรจุกลับเข้ามาในซีเกมส์อีกครั้งจากที่ก่อนหน้านี้ ประเทศสิงคโปร์เป็นเจ้าภาพไม่ได้มีจัดการแข่งขันมวยไทย แต่ในครั้งนี้ มวยไทยถูกบรรจุเอาไว้เพียง 5 เหรียญทองเท่านั้น โดยเป็นการต่อสู้ประเภทชายทั้งหมด 5 เหรียญทอง
และแน่นอนว่าการแข่งขันมวยไทยสมัครเล่นในกีฬาซีเกมส์นั้นคือมหกรรมแห่งการแบ่งบันและเอื้อเฟื้อกัน มาเลเซียและไทยสามารถคว้าเหรียญทองไปได้ประเทศละ 2 เหรียญทอง โดยอีกหนึ่งเป็นของกุน ดิมาร์ จากประเทศกัมพูชา ที่สามารถเอาชนะชลวิทย์ ปรีดาศักดิ์ หรือ พลอยวิทยา เพชรสี่หมื่น นักมวยไทยไปได้ในรอบชิงชนะเลิศและนี่เป็นเหรียญทองมวยไทยสมัครเล่นเหรียญแรกของกัมพูชา
การแข่งขันซีเกมส์ ครั้งที่ 30 ปี 2019 ณ กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ มวยไทยสมัครเล่นหรือมวยมีบรรจุให้ชิงชัยกันทั้งสิ้น 9 เหรียญทอง เป็นประเภทต่อสู้ 7 เหรียญทอง ส่วนประเภทไหว้ครูได้ถูกนำกลับมาบรรจุอีกครั้งและชิงชัยกันทั้งสิ้น 2 เหรียญทอง ในการแข่งขันครั้งนี้มีกติกาเรื่องการจำกัดนักกีฬาที่เข้าร่วมการแข่งขันเพิ่มมาด้วย
ทีมชาติไทยส่งเข้าแข่งขันในประเภทต่อสู้ 5 คน แบ่งเป็นประเภทชาย 4 คน ประเภทหญิง 1 คน และส่งเข้าแข่งขันในประเภทไหว้ครูหญิงอีก 1 คู่ และแน่นอนว่าเรื่องของเหรียญรางวัลก็กระจายกันไปโดยทีมชาติไทยได้ไปทั้งสิ้น 4 เหรียญทองจากประเภทต่อสู้ 3 เหรียญทอง และไหว้ครู 1 เหรียญทอง
รองลงมาคือทีมชาติฟิลิปปินส์ที่คว้าไป 3 เหรียญทอง ขณะที่เวียดนามและมาเลเซียก็ได้ไปประเทศละ 1 เหรียญทอง ส่วนชาติอื่นก็มีลาว กัมพูชา อินโดนีเซีย และสิงคโปร์ ได้เหรียญเงินและเหรียญทองแดงไป ไม่ได้กลับบ้านมือเปล่า
ครั้งล่าสุด การแข่งขันซีเกมส์ ครั้งที่ 31 ปี 2021 ณ กรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม มหกรรมซีเกมส์ที่เลื่อนการแข่งขันมาเป็นช่วงเดือนพฤษภาคมปี 2022 นี้ก็มีจัดแข่งขันมวยไทยสมัครเล่นหรือมวยด้วย ชิงชัยกันทั้งสิ้น 11 เหรียญทอง เป็นประเภทต่อสู้ชาย 5 เหรียญทอง ต่อสู้หญิง 5 เหรียญทองและไหว้ครูหญิง 1 เหรียญทอง
เหรียญทองในประเภทไหว้ครูตกเป็นของทีมชาติฟิลิปปินส์ไปอีกครั้ง ขณะที่ในประเภทต่อสู้ทั้ง 10 เหรียญทองเป็นทีมชาติเวียดนามที่ทำได้อย่างยอดเยี่ยมสามารถโกยได้ถึง 4 เหรียญทองจากการเข้ารอบชิงชนะเลิศทั้งหมด 9 รุ่น
ด้านทีมชาติไทยได้มา 3 เหรียญทอง จากการเข้าชิงชนะเลิศ 7 รุ่น ขณะที่อาหมัด นอร์ อิมาน อาลิฟ รากิบ จากมาเลเซีย ฟิลลิป เดลาร์มิโน จากฟิลิปปินส์ และเยน ดีน่าจากกัมพูชา ก็สามารถเอาชนะนักชกเจ้าภาพในรอบชิงชนะเลิศ คว้าเหรียญทองให้ประเทศตนได้สำเร็จ
มวยไทยสมัครเล่นในมหกรรมระดับเอเชีย
มวยไทยสมัครเล่นหรือมวยนั้น เป็นกีฬาที่ถูกบรรจุอยู่ในมหกรรมกีฬาอย่างเอเชียน อินดอร์ แอนด์ มาร์เชียลอาร์ตเกมส์มาทุกครั้งตั้งแต่ปี 2005 จนถึง 2017 ในครั้งแรกเมื่อปี 2005 นั้นมีจัดชิงชัยเหรียญทองมากถึง 17 เหรียญทอง เป็นประเภทไหว้ครู 8 เหรียญทองแยกตามรุ่นน้ำหนัก ขณะที่ในประเภทต่อสู้มีชิงชัยกัน 9 เหรียญทอง ไทยคว้าเหรียญทองไปถึง 5 เหรียญทองจากประเภทไหว้ครู
ซึ่งมีเสียงวิจารณ์ว่า ไทยจัดชิงเหรียญรางวัลในประเภทนี้มากจนเกินความจำเป็น
ขณะที่ในประเภทต่อสู้ ไทยได้ 3 เหรียญทอง ตามมาด้วยคาซัคสถาน 2 เหรียญทอง และอุซเบกิสถาน จอร์แดน และอิหร่านได้ไปชาติละ 1 เหรียญทอง (ไม่มีการมอบทองในรุ่นเฟเธอร์เวท)
หลังจากถูกวิจารณ์เรื่องการจัดอีเวนต์ย่อยมากเกินความจำเป็นโดยเฉพาะในประเภทไหว้ครู ทำให้การแข่งขันเอเชียน อินดอร์เกมส์ ครั้งที่ 2 ปี 2007 ที่มาเก๊าเป็นเจ้าภาพจึงคงเหลือแต่ประเภทต่อสู้ที่มีชิงชัยกัน 9 เหรียญทองเท่านั้น ผลการแข่งขันก็กระจายเหรียญรางวัลกันไป โดยไทยได้มา 3 เหรียญทอง อุซเบกิสถาน 2 เหรียญทอง อิหร่าน ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ และฮ่องกง ได้ไปชาติละ 1 เหรียญทอง
ขณะที่ชาติอื่นอย่างจีน ลาว อินเดีย จอร์แดน คูเวต เลบานอน มองโกเลียและอิรัก ก็ได้เหรียญรางวัลกันไปเพื่อเป็นกำลังในการไปพัฒนาต่อยอด
การแข่งขันเอเชียน อินดอร์เกมส์ ครั้งที่ 3 ปี 2009 ที่ประเทศเวียดนามและครั้งที่ 4 ปี 2013 ที่ประเทศเกาหลีใต้ มวยไทยสมัครเล่นหรือมวยก็เริ่มให้มีการชิงชัยในประเภทหญิง โดยตัดประเภทชายให้เหลือ 6 เหรียญทองและเพิ่มประเภทหญิงเข้าไปอีก 3 เหรียญทอง ประเทศลาว เวียดนาม และเกาหลีใต้สามารถพัฒนาจนสามารถคว้าเหรียญทองในประเภทชายได้ คาซัคสถานและอิหร่านยังคงรักษามาตรฐานเดิมเอาไว้ ขณะที่จีนและมองโกเลียก็สามารถคว้าเหรียญทองในประเภทต่อสู้หญิงแบ่งกับทีมชาติไทยได้
ส่วนการแข่งขันครั้งล่าสุดในปี 2017 ที่ประเทศเติร์กเมนิสถาน มวยไทยสมัครเล่นหรือมวยที่เพิ่มจำนวนเหรียญทองเป็น 14 เหรียญทอง แต่ยังคงเป็นการแข่งขันในประเภทต่อสู้ทั้งหมดโดยเป็นการต่อสู้ในประเภทชาย 9 เหรียญทอง และประเภทหญิง 5 เหรียญทอง ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ดีที่การแข่งขันมวยไทยสมัครเล่นได้ก้าวมาสู่มาตรฐานในระดับเอเชีย แม้จะยังไม่ได้อยู่ในมหกรรมกีฬาหลักอย่างเอเชียนเกมส์ (Asian Games) ก็ตาม
เข้าสู่เวิลด์เกมส์ มหกรรมกีฬาสากลนอกเหนือโอลิมปิก
หลังการเดินทางมาอย่างยาวนานของกีฬามวยไทยสมัครเล่นตั้งแต่ก่อตั้งสหพันธ์มวยไทยสมัครเล่นนานาชาติ หรืออิฟมาขึ้นมาเมื่อปี 1993 ผลักดันกีฬาชนิดนี้เข้าแข่งขันในระดับภูมิภาคอาเซียนและระดับเอเชีย เผชิญกับปัญหาและข้อผิดพลาดต่าง ๆ มากมาย ทุกอย่างถูกแก้ไขให้ดีขึ้น มีมาตรฐานสากลมากขึ้นเพื่อให้เกิดการยอมรับในวงกว้าง โดยมีเป้าหมายสำคัญเพื่อผลักดันมวยไทยสมัครเล่นเข้าสู่การแข่งขันโอลิมปิกเกมส์ให้ได้
จนปี 2017 มวยไทยสมัครเล่นหรือมวยถูกบรรจุในกีฬาเวิลด์ เกมส์ (World Games) มหกรรมกีฬาสากลที่ไม่มีบรรจุการแข่งขันในโอลิมปิกเกมส์ กีฬาที่ถูกถอดออกหรือเตรียมตัวจะบรรจุเข้าไปในโอลิมปิกเกมส์ มักจะถูกจัดการแข่งขันในเวิลด์เกมส์ทั้งสิ้น นั่นหมายความว่า การที่มวยไทยสมัครเล่นได้มีจัดแข่งขันในเวิลด์เกมส์ 2 ครั้งหลังสุด เราได้รับการยอมรับในระดับสากลหรือนานาชาติแล้ว จะเหลือก็เพียงการพัฒนากีฬานี้ให้เป็นระบบและได้รับความนิยมมากพอจะก้าวเข้าไปสู่โอลิมปิกเกมส์ในอนาคต
และนี่คือเรื่องราวเส้นทางเดินของกีฬามวยไทยสมัครเล่นหรือมวยในมหกรรมกีฬาระดับนานาชาติครับ ประเทศไทยและอิฟมาเองมีการบ้านต้องทำอีกมากมายเพื่อผลักดันกีฬาชนิดนี้ไปให้สุดเส้นทางตามเป้าหมายที่ตั้งเอาไว้ อย่ามัวไปเสียเวลากับเป้าหมายเล็กน้อยมองภาพใหญ่แล้วไปกันต่อดีกว่าครับ
เรื่อง: ธิษณา ธนคลัง (เต้นคุง)
ภาพ: แฟ้มภาพการแข่งมวยไทยสมัครเล่นชิงแชมป์โลก 2014 ภาพจาก NATION PHOTO