มองมวยไทยและเคส ‘นายขนมต้ม’ กับประวัติศาสตร์ ‘ชกเพื่อนบ้าน’ กีฬาหรือการปะทะรูปแบบใหม่?

มองมวยไทยและเคส ‘นายขนมต้ม’ กับประวัติศาสตร์ ‘ชกเพื่อนบ้าน’ กีฬาหรือการปะทะรูปแบบใหม่?

ชำแหละประวัติศาสตร์ ‘มวยไทย’ และเคส ‘นายขนมต้ม’ กับเรื่องราวของประวัติศาสตร์ชาติแบบ ‘ชกเพื่อนบ้าน’ หรือจะเป็นเพียง ‘เกมกีฬา’ หรือ ‘สงครามระหว่างชาติ’ แบบใหม่?

  • กีฬามวยไทยเป็นหัวข้อที่ถกเถียงกันกว้างขวางเมื่อกัมพูชา เจ้าภาพซีเกมส์ จะใช้ชื่อว่า ‘กุนขะแมร์’ แทน ‘มวยไทย’
  • ความเป็นมาของมวยไทย ในแง่หนึ่งมักถูกเชื่อมโยงไปกับตัวตนของ ‘นายขนมต้ม’ 
  • นายขนมต้ม ไม่เพียงเป็นเรื่องราวที่เชื่อมกับกีฬามวย แต่ยังสะท้อนคติและแนวคิดทางสังคม การเมือง และวัฒนธรรมด้วย

มวยไทยทำไมต้องนายขนมต้ม? VS นายขนมต้มเป็นต้นทางของมวยไทยจริงหรือ?

เมื่อเกิดศึกชิงความเป็นต้นกำเนิด (Original) ระหว่าง ‘มวยไทย’ กับ ‘กุนขะแมร์’ (Kun Khmer) ในการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ที่กัมพูชาจะเป็นเจ้าภาพที่จะถึงนี้ กัมพูชาจะใช้ชื่อกีฬามวยว่า ‘กุนขะแมร์’ แทน ‘มวยไทย’ โดยอาศัยสิทธิที่เป็นเจ้าภาพ จึงเกิดประเด็นถกเถียงกันข้ามประเทศ ลุกลามมาเคลมบุคคลสำคัญในวงการมวยไทยเป็นคนขะแมร์ เรื่อยไปจนถึงประวัติศาสตร์ อ้างว่ามวยไทยมีที่มาสืบจากมวยขะแมร์ตั้งแต่สมัยอาณาจักรเมืองพระนคร ซึ่งก็เป็นเรื่องปกติสำหรับประวัติศาสตร์ชาตินิยมของขะแมร์ที่อ้างทุกสิ่งอย่างย้อนหลังกลับไปสมัยนครวัดนครธม ซึ่งมีอำนาจปกครองแผ่มาจนถึงภาคกลางของสยาม 

ขณะที่ฝ่ายไทยเองก็ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน เมื่อจะเคลมสิ่งใด ๆ ก็มักนิยมอ้างย้อนกลับไปถึงสมัยสุโขทัย งานเขียนประวัติมวยไทยหลายชิ้นที่เห็นตามโลกออนไลน์ โดยเฉพาะที่เป็นของหน่วยงานเกี่ยวข้องกับการศึกษาของฝ่ายรัฐบาลด้วยแล้ว มักจะอ้างกระทั่งว่า พ่อขุนรามคำแหงทรงเป็นนักมวยคนแรก ตามมาด้วยพระมหากษัตริย์ไทยทุกพระองค์ก็ทรงล้วนแต่เป็นนักมวยหรือได้รับการฝึกฝนการต่อยมวยตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์กันทั้งสิ้น

แง่หนึ่งก็เข้าใจได้ที่ว่าทำไมคนไทยจำนวนหนึ่งถึงรู้สึกเป็นเดือดเป็นแค้นและรับไม่ได้กับพฤติกรรมแบบเคลม ๆ ของเพื่อนบ้าน ก็เพราะมวยไทยเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ถูกทำให้เป็นของเกี่ยวข้องกับสองสิ่งสำคัญสำหรับอุดมการณ์รัฐไทยในปัจจุบันคือ ‘ชาติ’ กับ ‘สถาบัน’ นั่นเอง 

เมื่อเป็นเรื่องประวัติศาสตร์มวยไทย นักมวยคนสำคัญในอดีตท่านหนึ่งที่มักจะถูกขุดขึ้นมากล่าวขานถึงเสมอก็คือ ‘นายขนมต้ม’ ถึงแม้นายขนมต้มตามประวัติจะชกกับพม่าไม่ได้ชกกับขะแมร์ คนไทยก็ยังชอบหยิบยกนายขนมต้มเป็น ‘ไอดอล’ ในแง่คู่ชกกับเพื่อนบ้าน ตัวอย่างก็เช่นที่มีผู้ตั้งกระทู้ในเว็บไซต์พันทิปดอทคอมเมื่อเร็ว ๆ นี้ว่า ‘ทำไมเขมรไม่ไปถามนักประวัติศาสตร์ของพม่าเรื่องนายขนมต้ม?’ 

บทความนี้ไม่ได้จะมาสืบสาวหาเรื่องหาเหตุกันว่า ระหว่างมวยไทยกับกุนขะแมร์ ใครมีมาก่อนใคร ใครลอกเลียนแบบใคร แต่จะเน้นพิจารณาว่า ‘ประวัติศาสตร์มวย’ ที่เป็นอยู่นั้น ไม่ใช่แค่ประวัติศาสตร์ของมวย มันมีอะไรแฝงอยู่อย่างไร โดยจะโฟกัสไปที่บุคคลที่เป็น ‘ไอดอล’ ของการชกกับเพื่อนบ้านที่คนไทยรู้จักกันดีอย่าง นายขนมต้ม 

ทั้งนี้ สุดท้ายแล้วเมื่อมีเหตุทะเลาะขัดแย้งกับเพื่อนบ้าน ครูอาจารย์ทุกท่านที่ถ่ายทอดความรู้วิชาประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้แก่ผู้เขียนมา มักจะบอกเสมอว่า สิ่งแรกที่เราต้องทำคือ พยายามลดอคติของเราลงเสียก่อน

อันว่า ‘ชาวเคลม’ นั้นมีอยู่ทุกประเทศทุกชนชาติ คนไทยเองก็ไม่ได้ด้อยไปกว่าเขาหรอก เราไม่ชอบที่เขาทำกับเราแบบนี้ เราก็ไม่ควรทำกับเขาหรือไม่ว่ากับใครในแบบเดียวกัน ถึงจะเป็นทางออกที่ดีกับทุกฝ่าย        

คู่ชกอดีต & มวยในประวัติศาสตร์ (เมืองพระนคร vs. สุโขทัย)...‘มวยไทย’ มีมาตั้งแต่ครั้งกรุงสุโขทัยเป็นราชธานีจริงหรือ?

ยุคเขมรพระนครถูกทำให้เป็นจุดเริ่มต้นของประวัติศาสตร์ชาติกัมพูชาในลักษณะเดียวกับที่ยุคสุโขทัยถูกทำให้เป็นจุดเริ่มต้นของประวัติศาสตร์ชาติไทย ทั้งสองประวัติศาสตร์นี้ต่างกันที่รายละเอียด ตัวละคร และเมืองอันเป็นศูนย์กลางของท้องเรื่อง แต่โดยโครงเรื่องของประวัติศาสตร์ (Plot in history) แล้ว กลับเหมือนกัน แต่เมื่อประวัติศาสตร์สองเวอร์ชั่นนี้มาปะทะกัน กัมพูชาย่อมได้เปรียบตรงที่เมืองพระนครมีอายุย้อนหลังกลับไปยาวนานกว่าสุโขทัยของไทย แถมยังเคยมีอำนาจปกครองขยายมาถึงลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาของไทยอีก จึงง่ายที่จะเคลมว่าสุโขทัยรับอิทธิพลหรือลอกเลียนแบบมาจากเขมรพระนคร 

จุดที่เหมือนกันอีกอย่างหนึ่งของประวัติศาสตร์สองเวอร์ชั่นนี้ก็คือ การมีที่มาแรก ๆ จากยุคอาณานิคม กรณีกัมพูชา นักวิชาการหลายต่อหลายท่านที่ศึกษาประวัติศาสตร์นิพนธ์กัมพูชาต่างก็สรุปกันมาให้เห็นกันนักต่อนักแล้วว่า ประวัติศาสตร์ชาติกัมพูชาในแบบนี้เป็นผลงานของนักวิชาการเจ้าอาณานิคมฝรั่งเศส ส่วนกรณีไทย ถึงจะไม่ตกเป็นเมืองขึ้นของตะวันตก แต่เนื่องจากอาณานิคมเป็นระบบโลกของยุคสมัยปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 ถึงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 

สยาม-ไทยในช่วงเดียวกับที่กัมพูชาและหรือประเทศต่างๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต่างตกเป็นเมืองขึ้นของชาติตะวันตกอยู่นั้น ก็เป็นส่วนหนึ่งของระบบโลกยุคอาณานิคม การปฏิรูปบ้านเมืองในสมัยรัชกาลที่ 5 ก่อตั้งระบบราชการแบบใหม่ ตลอดจนการผนวกดินแดนและรวมศูนย์อำนาจแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ล้วนเกิดขึ้นตอบสนองต่อระบบโลกยุคอาณานิคม แถมเป็นประเทศที่ผลิตและส่งออกสินค้าป้อนตลาดโลกของอาณานิคม โดยที่พวกเขาไม่จำเป็นต้องเข้ามาควบคุมดูแลด้วยตนเองด้วยซ้ำ   

ในส่วนของประวัติศาสตร์นิพนธ์ สุโขทัยในฐานะจุดเริ่มต้นของประวัติศาสตร์ชาติไทยก็เกิดขึ้นภายใต้สภาวการณ์ดังกล่าวข้างต้น งานเขียนของชนชั้นนำสยามที่สร้างสุโขทัยเป็นราชธานีแรกของไทย ก็โครงเรื่องแบบเดียวกับที่นักประวัติศาสตร์เจ้าอาณานิคมฝรั่งเศสเขียนให้เมืองพระนครเป็นราชธานีแรกของกัมพูชานั่นแหละ ความยิ่งใหญ่ ความรุ่งเรือง ของอาณาจักรเขมรพระนคร ถูกเคลือบแฝงไว้ด้วย ‘เอเจนด้า’ (Agenda - วาระ) ของเจ้าอาณานิคมฝรั่งเศสที่ได้ครอบครองอาณาจักรโบราณสำคัญแห่งหนึ่งของภูมิภาคตะวันออกไกล

โดยที่ไม่มีหลักฐาน ไม่มีจารึกสุโขทัยแม้สักหลักเดียวมีคำว่า ‘มวย’ แต่นักประวัติศาสตร์มวยไทยมือสมัครเล่นก็เหมือนจะเชื่อกันไปโดยดุษฎีแล้วว่า มวยไทยเริ่มมีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย และเมื่อสืบค้นต้นตอความเชื่อนี้ไปเรื่อย ๆ ก็พบว่า มีต้นทางมาจากวิทยานิพนธ์ปริญญาครุศาสตรมหาบัณฑิต ภาควิชาพลศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หัวข้อเรื่อง ‘พัฒนาการกีฬามวยไทย’ ซึ่งผู้วิจัยได้จบการศึกษาจากภาควิชาดังกล่าวไปตั้งแต่ พ.ศ.2522 วิทยานิพนธ์ชิ้นนี้มีข้อสรุปตามบทคัดย่อระบุไว้ดังนี้: (จัดย่อหน้าใหม่ - กองบรรณาธิการ)

“วัตถุประสงค์เพื่อศึกษาประวัติความเป็นมาของกีฬามวยไทย ทางด้านจุดมุ่งหมาย วิธีการฝึก และการแข่งขันกีฬามวยไทย ตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย ถึงสมัยรัตนโกสินทร์วิธีดำเนินการวิจัย ศึกษาค้นคว้าจากเอกสาร จดหมายเหตุ ทั้งที่เป็นปฐมภูมิ และทุติยภูมิรวมทั้งสัมภาษณ์บุคคลที่เกี่ยวข้องกับกีฬามวยไทย ผลการวิจัย ผลการวิจัยปรากฏว่า จุดกำเนิดของกีฬามวยไทย อาจเนื่องมาจากการดำเนินชีวิตในสมัยโบราณ ที่ต้องต่อสู้กับภัยธรรมชาติ โดยการใช้อวัยวะต่างๆ ของร่างกาย เป็นอาวุธต่อสู้และป้องกันตัว

ซึ่งต่อมาได้มีการคิดค้น ปรับปรุงการใช้อวัยวะต่างๆ เหล่านั้นให้เหมาะสม มีการฝึกหัด ฝึกซ้อม ในสำนักมวย โดยครูมวยที่มีชื่อ เมื่อยาม สงครามก็ได้นำเอาศิลปะมวยไทย มาใช้ควบคู่กับอาวุธประเภทต่างๆ เพื่อให้การรบมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และเมื่อยามว่างเว้นจากสงคราม ก็นิยมจัดให้มีการแข่งขันชกมวย โดยในระยะแรกเป็นการชกแบบคาดเชือก ต่อมาได้มีการร่างและใช้กฎกติกาขึ้น ทำให้การดำเนิน การแข่งขันชกมวย เป็นไปอย่างเรียบร้อย ปัจจุบันมีการแข่งขัน ชกมวยไทยกันอย่างแพร่หลาย”

ถึงจะชอบหรือไม่ชอบอย่างไร ณ ตอนนี้หลายท่านคงเห็นแล้วว่า การใช้สุโขทัยเป็นจุดเริ่มต้นของประวัติศาสตร์ไทยนั้นไม่เวิร์คอย่างไร งานวิชาการประวัติศาสตร์ปัจจุบันมองสุโขทัยเป็นแคว้นเล็ก ๆ ตั้งอยู่ตรงกลางระหว่างอาณาจักรใหญ่รายรอบ อย่างล้านนาทางเหนือ ลพบุรีและสุพรรณภูมิ-อโยธยาทางใต้ มอญ-พม่าทางตะวันตก ล้านช้างและเขมรพระนครทางตะวันออก 

นักวิชาการบางท่านเช่น อาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม อาจารย์ผาสุก อินทราวุธ เสนอให้ใช้ ‘สุวรรณภูมิ’ เป็นจุดเริ่มต้น เมืองสำคัญนั้นคือ ‘เมืองอู่ทอง’ ขณะเดียวกัน สายโบราณคดี เช่น อาจารย์ธิดา สาระยา เสนอให้ใช้ ‘ทวารวดี’ นักโบราณคดีที่ทำงานใน field ก่อนประวัติศาสตร์ ก็ยิ่งเสนอย้อนไปไกลกว่าสุโขทัยหนักมาก อย่างเช่นงานของชาร์ลส์ ไฮจ์แอม (Charles Higham) ไล่ไปตั้งแต่บ้านเชียง ดอนตาเพชร โคกพนมดี ฯลฯ

อาจจะกล่าวได้ว่า ข้อเสนอของท่านเหล่านี้มาช้าเกินไป หน่วยงานทางด้านการศึกษาของไทยยังคง ‘คลั่งรัก’ ต่อสุโขทัยในน้ำมีปลา ในนามีข้าว กันอย่างเหนียวแน่น แต่เป็นเรื่องเปล่าประโยชน์ที่จะเอายุคก่อนประวัติศาสตร์ไปเคลม เพราะกัมพูชาก็มียุคก่อนประวัติศาสตร์ย้อนหลังไปไกลจากยุคเขมรพระนครด้วยเหมือนกัน ความเก่าแก่โบราณ ใครก่อนใครหลัง ไม่ควรเป็นประเด็นตั้งแต่ต้น    

ถึงจะมีความเป็นไปได้ที่สุโขทัยจะมีการละเล่นชกมวยหรือใช้มวยในการต่อสู้ เพราะการต่อสู้ด้วยร่างกายผสานกับจิตใจนั้นเป็นของปกติพบได้ทั่วไปสำหรับมนุษยชาติ แต่ไม่พบหลักฐานเกี่ยวกับการชกมวยในสมัยสุโขทัยแต่อย่างใด สุโขทัยอาจจะอุดมสมบูรณ์ในแง่อื่น แต่ไม่ใช่ว่าจะมีทุกสิ่งทุกอย่างที่คนในช่วงหลังมานี้มี กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือว่าเราไม่สามารถใช้สุโขทัยอ้างอิงที่มาสำหรับทุกสิ่งอย่างแบบครอบจักรวาลโดยไม่แคร์หลักฐานทางประวัติศาสตร์ได้    

มองมวยไทยและเคส ‘นายขนมต้ม’ กับประวัติศาสตร์ ‘ชกเพื่อนบ้าน’ กีฬาหรือการปะทะรูปแบบใหม่?

‘นายขนมต้ม’ บุคคลลึกลับจากพงศาวดาร สู่ตำนานประวัติศาสตร์ชาติไทย

‘นายขนมต้ม’ เป็นบุคคลสำคัญทางประวัติศาสตร์ที่มีเนื้อเรื่องเกี่ยวข้องกับการชกมวย บทบาทอยู่ในเหตุการณ์หลังเสียกรุงศรีอยุธยา พ.ศ.2310 ซึ่งเป็นที่พูดถึงกันมากแม้จะไม่ถึงกับมากเท่าสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ หรืออย่างพระยาพิชัยดาบหัก แต่จัดว่าเป็นบุคคลสำคัญท่านหนึ่งร่วมสมัยกับสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ จนถึงรัชกาลที่ 1  

เมื่อมองย้อนกลับไปก่อนหน้านายขนมต้ม บุคคลสำคัญที่มีชื่อและเรื่องเล่าเกี่ยวกับการชกมวย-เป็นนักมวยนั้นได้แก่ พระเจ้าเสือ, พันท้ายนรสิงห์, สมเด็จพระนเรศวร หรือกษัตริย์นักรบพระองค์อื่นก็น่าจะเคยฝึกปรือการชกมวย แต่ไม่มีบันทึกหลักฐานหรือเรื่องเล่าเกี่ยวข้องก็ต้องตัดออกไปสำหรับในที่นี้ ยุคเดียวกับนายขนมต้มก็มีเช่น สมเด็จพระเจ้าตากสินฯ, พระยาพิชัยดาบหัก, หมื่นผลาญ, กรมพระราชวังบวรสถานมงคล (บุญมา) และหลังจากช่วงต้นรัตนโกสินทร์มาก็มีอย่างกรมหลวงชุมพรเขตต์อุดมศักดิ์ เป็นต้น

คำถามแรกก็คือว่า ทำไมยืนหนึ่งเรื่องมวยไทยถึงต้องเป็นนายขนมต้ม โดยที่มีบุคคลสำคัญท่านอื่นดังที่กล่าวแล้ว? ในแง่นี้เราต้องเข้าใจกระบวนการสร้างนายขนมต้มผ่านตำนานประวัติศาสตร์มวยไทยเองมากกว่าอย่างอื่น    

แม้จะเป็นบุคคลที่เป็นที่กล่าวอ้างและพูดถึงกันมาก แต่ในแง่หลักฐานทางประวัติศาสตร์ นายขนมต้มกลับไม่ปรากฏหลักฐานกล่าวถึงเท่าไรนัก เมื่อเทียบกับเรื่องของบุคคลสำคัญท่านอื่นที่เรารู้แน่ชัดว่ามีตัวตนอยู่จริง 

‘นายขนมต้ม’ ไม่ปรากฏในหลักฐานพม่า ปรากฏเฉพาะในหลักฐานของไทย เป็นต้นว่า ‘พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรีฉบับหมอบรัดเลย์’, ‘พระราชพงศาวดารฉบับความกรมพระปรมานุชิตชิโนรส’, ‘พระราชพงศาวดารฉบับความกรมหลวงวงศาธิราชสนิท’, ‘พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา’ ฉบับแรกสุดคือฉบับหมอบรัดเลย์ อีกสามฉบับเป็นฉบับชำระที่คัดเอาข้อความมาจากฉบับหมอบรัดเลย์อีกต่อหนึ่ง มีการชำระแก้ไขตัวบทในส่วนนี้เพียงเล็กน้อย ไม่ได้ปรับแก้จนเนื้อความเปลี่ยนเป็นคนละเรื่องเหมือนอย่างการชำระพงศาวดารในที่อื่น ๆ 

‘พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรีฉบับหมอบรัดเลย์’ นั้น ผู้แต่งคือสมเด็จพระพนรัตน์ (แก้ว) เจ้าอาวาสวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามในสมัยรัชกาลที่ 1 ส่วนที่ได้ชื่อ ‘ฉบับหมอบรัดเลย์’ นั้นก็เพราะหมอบรัดเลย์เป็นผู้ค้นพบต้นฉบับแล้วนำมาตีพิมพ์เป็นหนังสือออกเผยแพร่คนแรก ตามธรรมเนียมของเอกสารโบราณจะนิยมให้เกียรติผู้ค้นพบต้นฉบับและคัดลอกมาเผยแพร่ โดยการนำเอาชื่อผู้คัดลอกนั้นมาตั้งเป็นชื่อต้นฉบับ พระราชพงศาวดารฉบับก็เลยเป็นฉบับหมอบรัดเลย์ เช่นเดียวกับที่มีพระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ ซึ่งหลวงประเสริฐฯ ไม่ได้เป็นผู้แต่งหากแต่เป็นผู้ค้นพบต้นฉบับ  

‘พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรีฉบับหมอบรัดเลย์’ (ที่สมเด็จพระพนรัตน์ฯ เป็นผู้แต่ง) นี้เป็นหลักฐานชิ้นแรกที่กล่าวถึงเรื่องนายขนมต้ม เนื้อความมีดังต่อไปนี้: (จัดย่อหน้าใหม่ – กองบรรณาธิการ)

“ฝ่ายพระเจ้าอังวะยังอยู่ ณะ เมืองย่างกุ้ง ทำการยกฉัตรยอดพระมหาเจดีย์เกศธาตุสำเร็จแล้วให้มีการฉลอง จึ่งขุนนางพม่ากราบทูลว่า คนมวยเมืองไทยมีฝีมือดียิ่งนัก จึ่งตรัสสั่งให้จัดหามาได้นายขนมต้มคนหนึ่ง เปนมวยดีมีฝีมือแต่ครั้งกรุงเก่า เอาตัวมาถวายพระเจ้าอังวะ พระเจ้าอังวะจึ่งให้จัดพม่าคนมวยเข้ามาเปรียบกับนายขนมต้มได้กันแล้ว ก็ให้ชกกันหน้าพระธินั่ง แลนายขนมต้มชกพม่าไม่ทันถึงยกก็แพ้ แล้วจัดคนอื่นเข้ามาเปรียบชกอีก

นายขนมต้มชกพม่าชกมอญแพ้ถึงเก้าคนสิบคนสู้ไม่ได้  พระเจ้าอังวะทอดพระเนตรยกพระหัตถ์ตบพระอุระตรัสสรรเสริญฝีมือนายขนมต้มว่า ไทยมีพิษอยู่ทั่วตัว แต่มือเปล่าไม่มีอาวุธเลยยังสู้ได้ คนเดียวชณะถึงเก้าคนสิบคนฉนี้ เพราะเจ้านายไม่ดีจึ่งเสียบ้านเมืองแก่ข้าศึก ถ้าเจ้านายดีแล้วไหนเลยจะเสียกรุงศรีอยุธยา แล้วพระราชทานรางวัลแก่นายขนมต้มโดยสมควร”

สมเด็จพระพนรัตน์ฯ ผู้แต่งเรื่องนายขนมต้มนี้ แม้จะเป็นคนร่วมสมัยเหตุการณ์เสียกรุงศรีอยุธยา สมัยกรุงธนบุรี และต้นรัตนโกสินทร์ แต่ก็เช่นเดียวกับอีกหลายต่อหลายกรณี ที่ต่อให้เป็นผู้ที่เกิดทัน ก็ไม่ใช่ว่าจะได้รู้เห็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทุกเหตุการณ์ที่ตนเองเกิดทันหรือมีชีวิตอยู่ร่วมปีเดียวกับที่เกิดเหตุการณ์นั้น เป็นไปไม่ได้ที่จะมีผู้รู้เช่นนั้น ไม่งั้นก็ไม่ใช่มนุษย์แล้ว!!!   

สมเด็จพระพนรัตน์ฯ ไม่ได้เป็นคนที่ถูกกวาดต้อนเป็นเชลยไปพม่าด้วย จึงไม่ใช่ผู้ที่เห็นเหตุการณ์นายขนมต้มชกมวยต่อหน้าพระพักตร์พระเจ้ามังระ จนกระทั่งได้ยินได้ฟังว่าพระเจ้ามังระทรงตรัสชื่นชมนายขนมต้มว่าอย่างไร สมเด็จพระพนรัตน์ในขณะแต่งเรื่องนี้อยู่ที่กรุงเทพฯ และแต่งเรื่องนี้เมื่อ พ.ศ.2338 ขณะที่ปีในเหตุการณ์นายขนมต้มชกพม่านั้นระบุไว้คือ พ.ศ.2317 ยังเป็นสมัยกรุงธนบุรีอยู่ 

ขนาดยุคที่มีการสื่อสารข้ามโลกอยู่ในมืออย่างโซเชียลมีเดีย ยังเป็นไปไม่ได้เลยที่จะรู้ทุกเรื่องที่มีชีวิตร่วมยุคเดียวกัน ยิ่งในยุคกรุงธนบุรี บุคคลซึ่งไม่ได้ถูกเกณฑ์เป็นเชลยไปพม่า จะไปรู้เห็นเหตุการณ์ตลอดจนกระทั่งได้ยินว่า พระเจ้ามังระทรงตรัสว่าอย่างนั้นอย่างนี้ได้อย่างไร ถ้าสมัยโน้นมีโซเชียลมีเดียแล้ว พระเจ้ามังระทรงโพสต์เฟซบุ๊ก หรือนายขนมต้มเซลฟี่กับนักมวยพม่าที่ถูกตนเองต่อยคว่ำทั้งสิบคนนั้น ให้คนได้รู้ได้เห็นกันไปทั่ว ก็ว่าไปอย่าง...

ขอให้สังเกตว่า ‘น้ำเสียง’ (tone) ที่สมเด็จพระพนรัตน์กล่าวถึงพระเจ้ามังระ ค่อนข้างจะชื่นชมในแง่ที่ทรงมีพระราชหฤทัยเป็นธรรม แม้นายขนมต้มจะชกคนของพระองค์คว่ำไปถึงสิบคน ไม่เพียงไม่ลงโทษนายขนมต้ม กลับพระราชทานรางวัลให้อีก ประเด็นสำคัญอันเป็นหัวใจหลักของเรื่องนี้อยู่ตรงที่เนื้อความพระราชพงศาวดารระบุไว้ก็เช่นที่ว่า

“เพราะเจ้านายไม่ดีจึ่งเสียบ้านเมืองแก่ข้าศึก ถ้าเจ้านายดีแล้วไหนเลยจะเสียกรุงศรีอยุธยา”

ตรงนี้สะท้อนแนวคิดและคำอธิบายหลักของชนชั้นนำต้นกรุงเทพฯ ที่มีเหตุการณ์การเสียกรุงศรีอยุธยาว่ามีสาเหตุหลักเกิดจาก ‘เจ้านายไม่ดี’ ซึ่งเป็นการ ‘บุลลี่’ (bully) กษัตริย์ในราชวงศ์บ้านพลูหลวงอย่างช่วยไม่ได้ และเมื่อเป็นเรื่องของเจ้านาย (ที่มีทั้งดีและไม่ดี) เจ้านายที่ดีมีบุญบารมีเป็นร่มโพธิ์ร่มไทรให้แก่ผู้คนได้นั้น แม้จะเป็นศัตรูอย่างกษัตริย์ผู้ส่งกองทัพมาตีกรุงศรีอยุธยาจนแตกพ่ายนั้นก็ตาม ชนชั้นนำในต้นรัตนโกสินทร์ก็ยกย่องสรรเสริญชื่นชมพระบารมี

ในขณะเดียวกันก็สามารถที่จะ ‘บุลลี่’ เจ้านายเก่าของตนเองที่เป็นเหตุนำไปสู่ความเสื่อมจนเสียบ้านเสียเมือง ทั้งนี้เพราะอุดมการณ์หลักในสังคมอุษาคเนย์ช่วงนั้นยังเป็นเรื่อง ‘จักรพรรดิราช’ กับ ‘พระโพธิสัตว์’           

อนึ่ง หากนายขนมต้มเป็นคนมวยที่มีชื่อเสียงโด่งดังเป็น ‘เซเลบ’ มาตั้งแต่ครั้งกรุงยังไม่แตก เหตุใดคนมวยด้วยกันอย่างสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ ที่ทรงโปรดปรานการชกมวยและแสวงหาคนดีมีฝีมือในทางการต่อสู้มาเข้าพวกด้วยมาก และคนมวยอย่างพระยาพิชัยดาบหัก หรืออย่างกรมพระราชวังบวรสถานมงคล (บุญมา) ซึ่งต่างก็เป็นคนมวยด้วยกัน จึงไม่มีเรื่องเกี่ยวข้องด้วยเลย 

อีกอย่างในการเดินทัพออกจากกรุงศรีอยุธยาไปหัวเมืองตะวันออก ทำไมกลุ่มของสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ จึงไม่มีใครไปชักชวนนายขนมต้มให้ออกไปด้วย เพราะย่อมเป็นประโยชน์แก่กองทัพพระเจ้าตากได้มาก อีกอย่าง หากว่านายขนมต้มเป็นนักมวยที่เก่งกล้าสามารถ มือเปล่าคว่ำคนได้เป็นสิบแบบในเรื่องพระราชพงศาวดาร อย่างนั้นแล้วถูกพม่าจับกุมตัวเป็นเชลยเอาไปอังวะด้วยได้อย่างไร 

 

จาก ‘หมื่นผลาญ’ สู่ ‘นายขนมต้ม’ ประวัติศาสตร์ต้นรัตนโกสินทร์ในพระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี

น่าสังเกตว่า สมเด็จพระพนรัตน์ฯ ที่ไม่เคยได้เห็นเหตุการณ์ที่อังวะเมื่อ พ.ศ.2317 อย่างแน่นอน เพราะอยู่ที่ธนบุรี แต่มีเหตุการณ์การชกมวยอยู่เหตุการณ์หนึ่งที่สมเด็จพระพนรัตน์ได้รู้เห็นด้วยแน่ ๆ เพราะเป็นเหตุการณ์เกิดขึ้นที่กรุงเทพฯ เมื่อพ.ศ.2331 สถานที่เกิดเหตุการณ์ก็อยู่ที่ริมกำแพงวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ไม่ไกลจากวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามที่สมเด็จพระพนรัตน์ฯ ประทับอยู่ 

อีกทั้ง พ.ศ.2331 นั้นห่างจากปีที่สมเด็จพระพนรัตน์ชำระพระราชพงศาวดารแล้วเสร็จแค่เพียง 7 ปีเท่านั้น คือเหตุการณ์ที่มีบันทึกตาม ‘พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์รัชกาลที่ 1’ ที่ระบุถึง ‘ฝรั่งเข้ามาพนันชกมวย’ ดังความต่อไปนี้: (จัดย่อหน้าใหม่ - กองบรรณาธิการ)

“จุลศักราช 1150 ปีวอก สัมฤทธิศก (พ.ศ.2331) มีกำปั่นฝรั่งเศสเข้ามาถึงพระนครลำ 1 ฝรั่งซึ่งเป็นนายกำปั่นพี่น้อง 2 คน และน้องชายนั้นเป็นคนมวยมีฝีมือ เที่ยวพนันชกมวยชนะมาเป็นหลายเมืองแล้ว ครั้นเข้ามาถึงพระนคร จึงบอกให้ล่ามกราบเรียนพระยาพระคลัง ว่าจะขอชกมวยพนันกับคนมวยในพระนครนี้  พระยาพระคลังจึงกราบบังคมทูลพระกรุณา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 1) ทรงทราบ จึงมีพระราชโองการดำรัสปรึกษาสมเด็จพระอนุชาธิราชๆ กราบทูลว่า

‘ครั้นจะไม่แต่งคนมวยออกต่อสู้ด้วยฝรั่งๆ เป็นคนต่างประเทศก็จะดูหมิ่นว่าพระนครนี้  หาคนมวยดีจะต่อสู้มิได้ ก็จะเสื่อมเสียพระเกียรติยศปรากฏไปในนานาประเทศ  ข้าพเจ้าจะขอรับจะแต่งคนมวยที่มีฝีมืออกต่อสู้กับฝรั่ง เอาชัยชนะให้จงได้’ 

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ทรงเห็นชอบด้วย จึงดำรัสให้พระยาพระคลังบอกแก่ฝรั่งรับพนันชกมวยกัน วางเดิมพันเป็นเงิน 50 ชั่ง จึงสมเด็จพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวรฯ จัดได้หมื่นผลาญผู้หนึ่งเป็นทนายเลือกในพระราชวังหน้า รูปกายล่ำสันฝีมือมวยดีกว่าพวกมวยสิ้นทั้งนั้น จึงดำรัสให้ปลูกพลับพลาใกล้ดรงละครฝ่ายตะวันตกวัดพระศรีรัตนศาสดารามตั้งสนามมวยที่นั้น ครั้นถึงวันกำหนดจะชกมวยกับฝรั่งจึงมีพระราชบัญฑูรดำรัสสั่งให้แต่งตัวหมื่นผลาญ เอาน้ำมันว่านอันอยู่คงชโลมทั่วทั้งกาย แล้วให้ขึ้นคอคนลงมายังพระบรมมหาราชวัง

ฝ่ายฝรั่งเศสนายกำปั่นทั้ง 2 คนพี่น้องกับพรรคพวกบ่าวไพร่ ก็ขึ้นมาพร้อมที่สนามมวยในพระบรมมหาราชวัง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จออกประทับพลับพลาทอดพระเนตรพร้อมด้วยพระราชอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวรฯ เสด็จประทับพลับพลาชั้นลดที่ 2 และพระราชวงศานุวงศ์ ข้าทูลละอองธุลีพระบาทเฝ้าอยู่พร้อมกันเป็นอันมาก จึงให้เอาเส้นเชือกขึงเป็นวงสนาม แล้วหมื่นผลาญกับฝรั่งคู่มวยก็เข้ากราบถวายบังคมในกลางสนาม แล้วยืนขึ้นตั้งท่าเข้าชกกันและฝรั่งนั้นล้วงมือจะจับหักกระดูกไหปลาร้าหมื่นผลาญๆ ยกมือขึ้นกัน และชกพลางถอยพลาง

ฝรั่งถูกต้องหมัดก็มิได้ล้มตั้งแต่ล้วงอย่างเดียว หมื่นผลาญก็ถอยพลางชกพลาง  ฝรั่งจะจับหมื่นผลาญไม่ได้ ฝรั่งพี่ชายเห็นดังนั้นจึงลุกเข้าไปผลักหมื่นผลาญไม่ให้ถอยหนี สมเด็จพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวรสถานมงคล ทอดพระเนตรเห็นดังนั้นก็ทรงพระพิโรธดำรัสว่าเล่นชกมวยกันก็ตัวแต่ตัว ไฉนจึงช่วยกันเป็น 2 คนเล่า จึงเสด็จลงจากพลับพลาโดยเร็ว ยกเอาพระบาทถีบเอาพี่ชายล้มลง 

ขณะนั้นพวกทนายเลือกก็วิ่งกรูกันเข้าชกต่อยฝรั่งทั้ง 2 คนพี่น้องเจ็บป่วยเป็นสาหัส พวกบ่าวไพร่ฝรั่งก็เข้าแบกหามนายลงไปยังกำปั่น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงดำรัสสั่งพระราชทานหมอนวดหมอยาให้ลงไปรักษาพยาบาล ฝรั่งทั้ง 2 คนหายป่วยแล้วก็บอกล่ามให้กราบเรียนพระยาพระคลังให้ช่วยกราบทูลถวายบังคมลา แล้วถอยกำปั่นเลื่อนลงไปจากพระนคร ออกจากปากน้ำสมุทรปราการ ตกถึงท้องทะเลใหญ่แล้วก็ใช้ใบไป”

เป็นไปได้หรือไม่ว่า สมเด็จพระพนรัตน์ฯ จะได้แรงบันดาลใจจากเรื่องของ ‘หมื่นผลาญ’ ที่ชกกับฝรั่งหน้าพระพักตร์รัชกาลที่ 1 ไปเป็นเรื่องของนายขนมต้ม เพราะการนำเอาเรื่องของบุคคลผู้หนึ่งผู้ใดที่ร่วมสมัยไปอยู่ในท้องเรื่องประวัติศาสตร์เป็นสิ่งที่ผู้ชำระพระราชพงศาวดารมักกระทำเสมอ เนื่องจากยังไม่ใช่ยุคที่การเขียนประวัติศาสตร์จะต้องยึดถือความจริงจากหลักฐานที่ตกทอดมาจากอดีต 

การที่หมื่นผลาญต่อยกับฝรั่งโดยใช้วิธีถอยหนีเอาหลังไปใกล้ฝรั่งพี่ชายที่เชียร์อยู่ขอบสนามจนเผลอผลักหมื่นผลาญตามท้องเรื่องเช่นนั้น อาจเป็นกลอุบายที่กรมพระราชวังบวรสถานมงคล (บุญมา) กับพวกชาวทนายเลือกวังหน้า ‘เตรี๊ยม’ กันไว้ก่อนแล้วก็ได้

อย่างไรก็ตาม แม้จะบันทึกเล่าโดยฝ่ายไทยเอง ก็จะเห็นได้ว่าที่จริงหมื่นผลาญไม่ได้ชกชนะฝรั่ง ซึ่งเข้าใจได้ เพราะขนาดตัวไม่เสมอกัน เปรียบมวยไม่ผ่านตั้งแต่ต้น หากแต่เพราะเป็นศึกเกียรติยศจึงไม่สู้ก็ไม่ได้ 

ขณะที่เรื่องของนายขนมต้มนั้น ก็มีเนื้อหาทั้งหมดทั้งมวลก็เพียงตามที่พระราชพงศาวดารฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ กล่าวไว้เพียงเท่านั้น ส่วนเรื่องภูมิหลังประวัติชีวิต เป็นชาวบ้านกุ่ม พ่อแม่พี่สาวตายเพราะคมดาบพม่า เมื่อสิ้นบุพการีได้ไปเป็นเด็กวัด มีอาจารย์สอนวิชาต่อยมวยเป็นชายพเนจร รวมถึงมีคนรักเป็นสาวงามแห่งบ้านป่าโมกชื่อ ‘แม่ช่อมะขาม’

ทั้งหมดที่กล่าวมานี้มีต้นทางที่มาจากนวนิยายเรื่อง ‘นายขนมต้ม’ ผลงานการประพันธ์ของคมทวน คันธนู กวีซีไรต์ ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.2529 ตามมาด้วยบทเพลงจากผลงานขับขานของบุตรชายของมนัส โอภากุล นักประวัติศาสตร์แห่งเมืองสุพรรณบุรี คือคุณยืนยง โอภากุล หรือ ‘น้าแอ๊ด คาราบาว’ ของเรานั่นแหละ    

จากที่มีการให้ความสำคัญแก่นายขนมต้มในฐานะต้นธารมวยไทยนี้เอง นำมาสู่การกำหนดให้วันที่ 17 มีนาคม ที่ได้จากการถอดศักราชพระราชพงศาวดาร ให้เป็น ‘วันมวยไทย’ (จะถอดศักราชได้ถูกผิดอย่างไรถึงได้วันที่ 17 มีนาคม ออกมา ผู้เขียนยังไม่ได้ตรวจสอบ) รวมถึงการสร้างอนุสาวรีย์นายขนมต้มที่หน้าโบราณสถานวัดโพธิ์เผือก ในพื้นที่สนามกีฬาจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และอีกแห่งที่บริเวณลานตลาดนัดของบ้านกุ่ม อ.บางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา ที่เชื่อกันว่าเป็นภูมิลำเนาบ้านของนายขนมต้ม   

อย่างไรก็ตาม แม้ไม่มีหลักฐานที่ยืนยันได้หนักแน่นมั่นคงถึงการมีตัวตนอยู่จริงของนายขนมต้ม นายขนมต้มซึ่งเป็นสามัญชนอาจจะเป็นอีกบุคคลหนึ่งที่เคยมีชีวิตอยู่จริง แต่ไม่ได้รับการบันทึกถึงตามที่ควร แบบนั้นก็ได้ (เอาแบบนั้นก็ได้) แต่ก็ไม่ใช่จะจบได้เพียงเท่านี้ เพราะการมีตัวตนอยู่จริงไม่จริงของนายขนมต้มก็ยังเป็นคนเรื่องกันกับประเด็นว่า นายขนมต้มใช่ต้นทางที่แท้จริงของ ‘มวยไทย’ หรือไม่ ในเมื่อแม้แต่ตามความในพระราชพงศาวดาร การชกมวยก็ยังอยู่ในขนบของการต่อสู้กับข้าศึกศัตรู      

มองมวยไทยและเคส ‘นายขนมต้ม’ กับประวัติศาสตร์ ‘ชกเพื่อนบ้าน’ กีฬาหรือการปะทะรูปแบบใหม่?

จอมพล ป. พิบูลสงคราม และหลวงศุภชลาศัย & ผู้สร้างนายขนมต้มในฐานะนักมวยไทยตัวจริง

นวนิยายของกวีซีไรต์อย่างคมทวน คันธนู แม้จะเป็นที่มาของความเชื่อและรับรู้หลายอย่างเกี่ยวกับนายขนมต้ม แต่เรื่องของนายขนมต้มนี้ก็สืบย้อนกลับไปได้ถึงสมเด็จพระพนรัตน์ฯ ดังกล่าวไว้แล้ว แต่ช่วงที่มีการรื้อฟื้นและประดิษฐ์สร้างอะไรต่าง ๆ ให้นายขนมต้มเป็น ‘วีรบุรุษของชาติไทย’ (Thai national hero) นั้นเริ่มในช่วงหลังการอภิวัตน์กลางกรุงเทพฯ เมื่อ พ.ศ.2475  โดยเฉพาะอย่างยิ่งกระบวนการสร้างคำนิยาม (Identify) และจัดประเภท (Classify) ให้มวยเป็น ‘กีฬาแห่งชาติ’ (National sport) ที่สะท้อนวัฒนธรรมและภูมิปัญญาแบบไทย   

คำว่า ‘มวย’ ในอดีต (ที่เป็นการต่อสู้) กับ ‘มวย’ ในฐานะกีฬาอย่างในปัจจุบัน ต้องแยกกัน ไม่ใช่เรื่องที่จะเอามาปะปนกันได้ เดิมมวยเป็นวิชาต่อสู้กันด้วยร่างกายที่ปราศจากอาวุธ  หรือเป็นการใช้ร่างกายเป็นอาวุธสำหรับต่อสู้กับข้าศัตรู จึงไม่มีกฎกติกาเหมือนอย่างที่เป็น ‘กีฬา’ ในปัจจุบัน ยังเป็นส่วนหนึ่งของการฝึกทหารและการพนันขันต่อ และก็ยังไม่ใช่ ‘ศาสตร์’ ด้วย เพราะมีเรื่องของการใช้ว่านยา คาถาอยู่ยงคงกระพัน เครื่องรางของขลัง และอีกสารพัดในเรื่องจำพวก ‘มู ๆ’ ทั้งหลาย ยังไม่ใช่เรื่องของการฝึกซ้อมร่างกายและเตรียมความพร้อมทางจิตใจก่อนลงแข่งขันแบบนักกีฬาแต่อย่างใด      

อีกเรื่องที่ต้องแยกก็คือคำว่า ‘มวย’ กับคำว่า ‘ไทย’ แม้เดิมจะใช้คำว่า ‘สยาม’ ควบคู่กับคำว่า ‘ไทย’ แต่ ‘ไทย’ ในฐานะชื่อประเทศนั้นเพิ่งเริ่มเมื่อสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม พ.ศ.2482 หลังจากการมีการออกรัฐนิยมว่าด้วยการใช้ชื่อประเทศอย่างเป็นทางการ ถัดจากชื่อประเทศ ทุกสิ่งอย่างก็ค่อย ๆ ถูกสถาปนาให้มีคำว่า ‘ไทย’ เป็นเครื่องบ่งชี้ถึงอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของคนในชาติประเทศนี้  ไม่ว่าจะเป็น ‘ผัดไทย’, ‘เพลงชาติไทย’, ‘วัธนธัมไทย’, ‘ดินแดนไทย’ ฯลฯ

และก็ลุกลามมาสู่การสร้าง ‘กีฬาไทย’ ในส่วนของ ‘มวย’ ก็เกิดเป็น ‘มวยไทย’ ในฐานะกีฬาหนึ่งของชนชาติไทยขึ้นมา โดยกรมพลศึกษายุคที่มีอธิบดีคือ ‘หลวงศุภชลาศัย’ ซึ่งก็เป็นคณะราษฎรท่านหนึ่ง ได้มีการออกพระราชบัญญัติมวยไทยฉบับแรกขึ้น 

 

เรื่องนี้มีนัยยะถือเป็นจุดตั้งต้นสำคัญได้ยังไง?

ก็คือว่าเดิมมวยก็เช่นเดียวกับของสารพัดชนิดที่มีลักษณะร่วมข้ามพรมแดนรัฐ  เพราะเป็นการต่อสู้พื้นฐานด้วยร่างกายและจิตใจเป็นสำคัญ จึงแพร่หลายไม่ได้จำกัดขอบเขตเฉพาะภายในประเทศใดประเทศหนึ่ง  หากแต่มีลักษณะร่วมกับมวยที่ต่อยกันในหมู่คนมอญ พม่า ลาว กัมพูชา มลายู ส่วนของจีนกับเวียดนามนิยมเรียกว่า ‘กังฟู’ ซึ่งโดยหลักการก็ต้องถือเป็นการต่อสู้ด้วยร่างกายและจิตใจเช่นกัน 

นอกจากนี้ ภายในประเทศ เดิมมวยยังแบ่งออกเป็นสายต่าง ๆ ตามท้องถิ่น  โดยมีสายสำคัญหลัก ๆ อาทิ ‘มวยท่าเสา’ ของทางภาคเหนือ, ‘มวยโคราช’ ของภาคอีสาน, ‘มวยไชยา’ ของภาคใต้, ‘มวยลพบุรี’ ของภาคกลางตอนบน และ ‘มวยพระนคร’ ของภาคกลางล่าง กล่าวคือเป็นมวยที่ยึดโยงกับประวัติศาสตร์และอัตลักษณ์ของท้องถิ่น ยังไม่ถือเป็น ‘มวยของชาติ’

เมื่อมีการออกพระราชบัญญัติมวยไทยขึ้นหลังการเปลี่ยนชื่อประเทศ พ.ศ.2482 แล้ว กรมพลศึกษาก็ได้รวบรวมเอามวยท้องถิ่นเหล่านี้มาเข้าเป็น ‘มวยพลศึกษา’ หรือ ‘มวยไทย’ ยกระดับให้มีความสำคัญระดับชาติ จึงมีคำกล่าวเป็นโคลงกลอนไว้ว่า ‘หมัดดีโคราช ฉลาดลพบุรี ท่าดีไชยา ไวกว่าท่าเสา ครบเครื่องพลศึกษา’

ต่อมาได้มีการสร้าง ‘เวทีมวยราชดำเนิน’ ขึ้นเมื่อ พ.ศ.2488 โดยการริเริ่มของจอมพล ป. พิบูลสงคราม เริ่มสร้างมาตั้งแต่ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่หยุดชะงักไปเมื่อญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกที่ประเทศไทย เมื่อสงครามสิ้นสุดลงแล้วจึงได้มีการดำเนินการสร้างต่อมาจนแล้วเสร็จ และได้เริ่มจัดการแข่งขันชกมวยเวทีนี้ขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ.2488  

เมื่อถึง พ.ศ.2499 ก็ได้มีการสร้างเวทีมวยสำคัญขึ้นอีกแห่งหนึ่งคือ ‘เวทีมวยลุมพินี’ ก่อตั้งโดยพลตรี ประภาส จารุเสถียร ขณะดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ โดยจัดให้มีการชกมวยกันที่เวทีนี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ 15 มีนาคม พ.ศ.2499 ก่อนจะมีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการในวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ.2499 ปัจจุบัน เวทีมวยแห่งนี้อยู่ในความดูแลของกรมสวัสดิการทหารบก กองทัพบก  

กลายเป็นสองเวทีมวยคู่ขนานกัน ระหว่าง ‘เวทีมวยราชดำเนิน’ ที่ก่อตั้งโดยคณะราษฎร จอมพล ป. พิบูลสงคราม กับ ‘เวทีมวยลุมพินี’ ของคณะนายทหารคนสนิทของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ผู้ซึ่งจะโค่นล้มรัฐบาลจอมพล ป. โดยการรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน พ.ศ.2500 เมื่อทหารอประชาธิปไตยเข้ามายุ่มย่าม มวยก็ถูกทำให้มีมิติแทรกปนและย้อนกลับไปสู่ยุครบรากับข้าศึกศัตรู   

และเมื่อผ่านการยกระดับขึ้นเป็น ‘กีฬาแห่งชาติ’ ก็ได้รับการสนับสนุนส่งเสริมจากหน่วยงานรัฐ การสร้างนักมวยคนหนึ่งกลายเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ เกี่ยวข้องกับคนจำนวนมาก กระทั่งเป็นทางออกชีวิตแก่เด็กชายจำนวนไม่น้อยที่จะได้รับโอกาสทางการศึกษาและการเลื่อนสถานภาพทางสังคม 

ช่วงหลัง 2500 เป็นต้นมา การชกมวยถือเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของเด็กต่างจังหวัดฐานะยากจน นอกเหนือจากการไปบวชเรียน ซึ่งต้องแลกมาด้วยความเจ็บปวดทางกายจากการเอาหมัดเข้าแลก สร้างความบันเทิงให้แก่ผู้คน บางคนก็ไปถึงฝันคว้าเข็มขัดแชมป์มาได้ แต่หลายคนก็บาดเจ็บจนลุกไม่ไหว ฟุบไปกับเวที ท่ามกลางเสียงโห่ร้องจากผู้คนที่อยู่ตรงนั้น 

ถึงกระนั้นในความเป็นเกมส์กีฬาที่มีแพ้มีชนะ วงการมวยก็ยังดีกว่าวงการกีฬาอื่น ๆ ในแง่ที่มีการลงทุนกับเด็ก ในขณะที่วงการอื่นจะมีผู้หลักผู้ใหญ่เข้าไปเยือนก็ต่อเมื่อได้ชัยชนะแล้ว   

สังคมไทยในขณะที่มัวไปสนใจถกเถียงเอาเป็นเอาตายกับ ‘ประชาชนชาวเคลม’ ของเพื่อนบ้านอยู่นั้น  คำถามคือพวกเขาได้สนใจใยดีกับเด็ก ๆ ที่ต้องเข้าสู่สังเวียนเพื่อให้ทุกท่านได้พบความมันสะใจกันนั้น ดีพอแล้วหรือยัง? ทำอย่างไรเกมกีฬาถึงจะไม่เป็นเพียง ‘สงครามระหว่างชาติ’ ในรูปแบบใหม่เท่านั้น? ‘กีฬา’ คือ ‘กีฬา’ เป็นประวัติศาสตร์ที่ต้องแยกออกจากยุคสงครามระหว่างรัฐในอดีต!!!      

มองมวยไทยและเคส ‘นายขนมต้ม’ กับประวัติศาสตร์ ‘ชกเพื่อนบ้าน’ กีฬาหรือการปะทะรูปแบบใหม่?

จะไป ‘นานาชาติ’ (ยังไง) ก็อย่าลืมอาเซียน-อุษาคเนย์ (นะขอรับ)  

การสร้างนายขนมต้มให้เป็นต้นธารประวัติศาสตร์มวยไทยในช่วงหลัง 2475  ยังอาจจะสัมพันธ์กับอุดมการณ์คณะราษฎรที่เน้นบทบาทสามัญชน เป็นข้อต่างเมื่อเทียบกับนักมวยคนอื่น ๆ ในประวัติศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นพระเจ้าเสือ, สมเด็จพระเจ้าตากสิน, กรมพระราชวังบวรสถานมงคล (บุญมา) ซึ่งเป็นกษัตริย์วังหน้า, กรมหลวงชุมพรเขตต์อุดมศักดิ์ ส่วนพันท้ายนรสิงห์กับพระยาพิชัยดาบหักนั้นเป็นขุนนาง 

ในแง่นี้นายขนมต้มดูจะเข้ากันดีกับประวัติศาสตร์ที่เน้นประชาสามัญชน ไม่เน้นเจ้า นายขนมต้มเลยได้รับเกียรติเป็นหนึ่งในสามัญชนสมัยอยุธยาเพียงไม่กี่คนที่มีอนุสาวรีย์อยู่ในปัจจุบัน แต่การที่ไปเน้นบทบาทอย่างการ ‘ชกเพื่อนบ้าน’ กำลังทำให้นายขนมต้มเสื่อมถอยจากความสำคัญในแง่ที่เป็นตัวแทนบทบาทสามัญชนในอดีต ยุคที่เจ้านายพ่ายแพ้ต่อข้าศึกภายนอก แต่ไพร่ไม่ได้แพ้ด้วย แม้จะถูกเกณฑ์ไปเป็นเชลยก็ลุกขึ้นชกศัตรูคว่ำไปได้แบบหนึ่งคนสู้สิบคนได้  

ในปัจจุบันแวดวงมวยไทยได้เขยิบจากระดับชาติไปสู่นานาชาติ โดยได้มีการก่อตั้ง ‘สหพันธ์มวยไทยนานาชาติ’ (International Federation of Muaythai Associations; IFMA) จนถึงวันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ.2562 มีสมาชิกประกอบด้วยกว่า 130 ประเทศทั่วโลก และมีการจัดการแข่งขันชกมวยระหว่างนักมวยชาวไทยกับต่างประเทศอยู่มากมายหลายครั้งมาแล้วด้วยกัน 

อย่างไรก็ตาม ปัญหากับนักเคลมเพื่อนบ้านนั้นก็เรื่องหนึ่ง แต่สำคัญคือการจะไปสู่ระดับโลกหรือนานาชาติได้อย่างสง่างามนั้น คงไม่สามารถจะทำได้โดยหลงลืมระดับภูมิภาคอาเซียนอุษาคเนย์ด้วยกัน เมื่ออยากจะเห็นศิลปะการต่อสู้ของคนไทยได้แพร่หลายเป็นสากลก็ควรเป็นสากลจริง ๆ ไม่ใช่แค่การแพร่ความเป็นไทยออกไปภายนอก หากแต่ต้องทำให้เป็น ‘พื้นที่ร่วมทางวัฒนธรรม’ ที่ผู้คนจากทั่วทุกมุมโลกสามารถมีส่วนร่วมและเป็นเจ้าของได้ ประวัติศาสตร์นิพนธ์มวยไทยต่อไปควรต้องเขียนใหม่ให้มีเพื่อนบ้านด้วย   

 

ภาพ: แฟ้มภาพการแข่งขันมวยไทยเพื่อประกอบเนื้อหาเท่านั้น ไฟล์จาก NATION PHOTO

อ้างอิง:

Higham, Charles and Thosarat, Rachanie. Early Thailand: from prehistory to Sukhothai. Bangkok: River Books, 2012.

เขตร ศรียาภัย. ปริทัศน์มวยไทย. กรุงเทพฯ: มติชน, 2550.

คมทวน คันธนู. นายขนมต้ม. กรุงเทพฯ: ฉับแกระ, 2529.

ชนาเทพ วะสวานนท์. มวยไทยรัตนโกสินทร์ : ศาสตร์และศิลปะแห่งการต่อสู้ (ฉบับสมบูรณ์). กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2555.

แชนด์เลอร์, เดวิด (David Chandler). ประวัติศาสตร์กัมพูชา (A History of Cambodia). แปลโดย พรรณงาม เง่าธรรมสาร และคณะ, กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2540.  

ธิดา สาระยา. ทวารวดี ต้นประวัติศาสตร์ไทย. กรุงเทพฯ: เมืองโบราณ, 2545.

ผาสุก อินทราวุธ. สุวรรณภูมิ จากหลักฐานทางโบราณคดี. กรุงเทพฯ: คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2542.

พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี แผ่นดินสมเด็จพระบรมราชาที่ 4 (สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช). กรุงเทพฯ: โฆสิต, 2551.

พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์รัชกาลที่ 1 ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค). กรุงเทพฯ: คุรุสภา, 2526.

โพธิ์สวัสดิ์ แสงสว่าง. ‘พัฒนาการกีฬามวยไทย’ วิทยานิพนธ์ปริญญาครุศาสตรมหาบัณฑิต ภาควิชาพลศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2522.

ไม่ระบุนามผู้เขียน. ‘ทำไมเขมรไม่ไปถามนักประวัติศาสตร์ของพม่าเรื่องนายขนมต้ม?’ https://pantip.com/topic/41835217 (เสิร์ชเมื่อวันที่ 24 มกราคม พ.ศ.2566)

ไม่ระบุนามผู้เขียน. ‘ประวัติมวยไทย’ https://www.educatepark.com/story/history-of-muay-thai/ (เสิร์ชเมื่อวันที่ 24 มกราคม พ.ศ.2566)

ศรีศักร วัลลิโภดม. ประวัติศาสตร์โบราณคดีเมืองอู่ทอง. กรุงเทพฯ: เมืองโบราณ, 2549.

สมบัติ สวางควัฒน์. ย้อนตำนานแวดวงมวยไทยจากอดีตถึงปัจจุบัน. กรุงเทพฯ: ก้าวแรก, 2554.

อัตถนิช โภคทรัพย์. ภูมิศาสตร์ปรัชญาแห่งมวยไทย มหาเวทย์มวยไทย. กรุงเทพฯ: พี.วาทิน พับลิเคชั่น, 2552.