‘โค้ชเช’ ชัชชัย เช หนุ่มแดนกิมจิ ผู้แสดงเจตจำนงว่า “ผมอยากเป็นคนไทย”

‘โค้ชเช’ ชัชชัย เช หนุ่มแดนกิมจิ ผู้แสดงเจตจำนงว่า “ผมอยากเป็นคนไทย”

‘โค้ชเช’ ชายชาวเกาหลีที่ตัดสินใจสละสัญชาติ ขอเป็นคนไทย 100% โดยกล่าวว่า “ผมตัดสินใจแล้ว ผมอยากเป็นคนไทย” หลังอยู่เบื้องหลังความสำเร็จวงการเทควันโดไทยมา 20 ปี

นาทีที่ ‘น้องเทนนิส’ พาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ ร่ำไห้ก้มกราบ ‘โค้ชเช’ ชัชชัย เช กลายเป็นภาพประวัติศาสตร์ที่จะตราตรึงในหัวใจคนไทยไปอีกนานแสนนาน 

ภาพความประทับใจนี้ เกิดขึ้นในระหว่างการแข่งขันโอลิมปิก ปารีส 2024 เมื่อน้องเทนนิสสามารถเอาชนะ ‘กัว ซิง’ คู่แข่งจากจีน คว้าเหรียญทองโอลิมปิกเหรียญที่ 2 ในชีวิต มาครองได้สำเร็จ และกลายเป็นนักกีฬาไทยคนแรกที่ได้เหรียญโอลิมปิกมากที่สุด 3 เหรียญ (2 เหรียญทอง กับ 1 เหรียญทองแดง)

‘โค้ชเช’ ชัชชัย เช หนุ่มแดนกิมจิ ผู้แสดงเจตจำนงว่า “ผมอยากเป็นคนไทย”

สำหรับชายผู้ถือกำเนิดในแดนกิมจิผู้นี้ ไม่ได้เป็นเพียงเบื้องหลังความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ของน้องเทนนิสเท่านั้น แต่นับว่าเป็นเบื้องหลังในทุกความสำเร็จของวงการเทควันโดไทยเลยก็ว่าได้ เนื่องจากเขาคือหนึ่งในบุคคลสำคัญที่ช่วยพัฒนากีฬาเทควันโดไทย ที่เคยอยู่ในอันดับท้าย ๆ ของโลก มาสู่อันดับ 1 – 10 ของโลก

ทว่าความพยายามและการต่อสู้ของโค้ชเช ไม่ได้โฟกัสอยู่แค่ในสนามเทควันโดเท่านั้น หลายปีที่ผ่านมา เขายังแสดงเจตจำนงที่ชัดเจนว่า “ผมอยากเป็นคนไทย” ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาและผ่านความยากลำบากไม่แพ้กัน 

ต่อไปนี้คือเรื่องราวของ ‘โค้ชเช’ ชัชชัย เช ชาวเกาหลีใต้ที่ลัดฟ้ามามอบความสุขและรอยยิ้มให้คนไทยยาวนานกว่า 20 ปี 

‘ชเว ย็อง-ซ็อก’ หรือที่คนไทยเรียกติดปากว่า ‘โค้ชเช’ เป็นชาวเกาหลีใต้โดยกำเนิด เขาลืมตาดูโลกที่ซ็องนัม เมืองที่ใหญ่สุดเป็นอันดับ 10 ของเกาหลีใต้ เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2517 ปัจจุบันอายุ 50 ปีแล้ว ชีวิตส่วนตัวสมรสสาวเกาหลีชื่อ ‘อึน-ซุก’ ซึ่งมีชื่อภาษาไทยว่า ‘กันยา’ และมีบุตรด้วยกันหนึ่งคนคือ ‘ชเว จุน-มิน’ 

ที่เกาหลีใต้ โค้ชเชเติบโตมาในครอบครัวใหญ่ ที่ประกอบไปด้วยย่า พ่อ แม่ และพี่สาว น่าเสียดายที่เขาได้ใช้ชีวิตกับพ่อจนถึงอายุเพียง 7 ขวบ พ่อซึ่งเป็นวิศวกรก็จากไปด้วยโรคมะเร็งปอด ในระหว่างที่พ่อป่วย แม่ของเขาซึ่งเดิมทำหน้าที่ดูแลบ้าน ก็ต้องออกไปทำงานที่โรงงานทำขนมเพื่อแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่าย 

เดิมทีโค้ชเชเป็นสนใจในกีฬากรีฑา แต่พออายุได้ 12 ปี ก็เริ่มสนใจกีฬาเทควันโดตามเพื่อน เริ่มเรียนได้แค่ 3 – 4 เดือน ก็ได้ลงแข่งขันชิงแชมป์ในเกาหลีใต้ และคว้าเหรียญทองแดงมาครอง หลังจากนั้นเขาจึงมุ่งมั่นกับการเล่นเทควันโดต่อไป กระทั่งได้เป็นนักกีฬาทีมชาติเกาหลีใต้

ถึงกระนั้น ชีวิตวัยรุ่นของเขาก็ไม่ได้มีแค่การเรียนและกีฬา เพราะเมื่อเข้าเรียนระดับอุดมศึกษา ในช่วงปิดเทอม โค้ชเชต้องช่วยแบ่งเบาภาระครอบครัว ด้วยการทำงานเป็นกรรมกร และส่งหนังสือพิมพ์

แม้จะทั้งเรียนไปด้วย ทำงานไปด้วย โค้ชเชก็สามารถคว้าปริญญาตรี คณะวิศวกรรมศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยคย็องว็อน ได้สำเร็จ ตามด้วยปริญญาโทด้านพลศึกษา จากมหาวิทยาลัยคังว็อน และปริญญาเอก สาขาเทควันโด มหาวิทยาลัยทงอา นอกจากนี้ ยังเรียนต่อปริญญาเอก สาขาการจัดการกีฬา คณะวิทยาศาสตร์การกีฬา ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ อีกด้วย 
 

ก่อนจะมาเป็นโค้ชคนโปรดของคนไทย โค้ชเชเริ่มเป็นโค้ชให้กับทีมชาติบาห์เรนก่อน ในช่วงปี 2543 – 2545 แต่เนื่องจากที่นั่นอากาศร้อน ทำงานได้เพียงปีครึ่ง โค้ชเชก็ลาพักร้อนไป 1 เดือน ซึ่งตรงกับช่วงที่ผู้เป็นแม่เสียชีวิตพอดี แล้วหลังจากนั้นก็ไม่กลับไปทำงานที่บาห์เรนอีกเลย โดยได้ส่งรุ่นน้องไปทำงานแทนตัวเอง ก่อนที่ ‘สมาคมเทควันโดแห่งประเทศไทย’ จะติดต่อไปที่ ‘สหพันธ์เทควันโดสากล’ เพื่อจัดหาโค้ชมาทดแทนโค้ชเดิมที่ลาออก โค้ชเชจึงเข้ามาทำหน้าที่เป็นโค้ชให้กับนักกีฬาเทควันโดทีมชาติไทย ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2545 

แม้จะมีชื่อจริงว่า ชเว ย็อง-ซ็อก แต่เมื่อมาอยู่ในประเทศไทย นักกีฬาทุกคนก็พากันเรียกเขาว่า ‘โค้ชเช’ ซึ่งสำหรับคนไทยแล้ว ออกเสียงง่ายกว่า ‘โค้ชชเว’ ค่อนข้างมาก

ใช้เวลาประมาณ 2 ปี โค้ชเชก็ทำให้ ‘วิว’ เยาวภา บุรพลชัย กลายเป็นชื่อที่ติดปากคนไทย จากการคว้าเหรียญทองแดงในโอลิมปิกเกมส์ 2004 นับเป็นเหรียญประวัติศาสตร์ของวงการเทควันโดไทย และตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา หากปรากฏชื่อโค้ชเชในการแข่งขัน คนไทยก็มั่นใจได้เลยว่าจะได้ฟังข่าวดีจากวงการเทควันโดแน่นอน และคนไทยก็ได้เฮไปกับความสำเร็จของบุตรี เผือดผ่อง (เหรียญเงินโอลิมปิก), ชนาธิป ซ้อนขำ (เหรียญทองแดงโอลิมปิก), เทวินทร์ หาญปราบ (เหรียญเงินโอลิมปิก) และพาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ (2 เหรียญทองโอลิมปิก กับ 1 เหรียญทองแดงโอลิมปิก)

นอกจากนี้ โค้ชเชยังปั้นนักกีฬาเทควันโดไทยให้ขึ้นแท่นเป็นแชมป์เทควันโดโลกถึง 5 คน ได้แก่ รังสิญา นิสัยสม, ชัชวาล ขาวละออ, ชนาธิป ซ้อนขำ, พาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ และพรรณภา หาญสุจินต์ 

ก่อนหน้านั้น โค้ชเชมีชื่อไทยว่า ‘ชัยศักดิ์’ แปลว่า “ผู้มีชัยชนะและศักดิ์ศรีที่ยิ่งใหญ่” กระทั่งหลังโอลิมปิกฤดูร้อน 2020 ‘สมเด็จพระมหารัชมงคลมุนี’ (ธงชัย ธมฺมธโช) ตั้งชื่อไทยให้เขาเลือก 3 ชื่อ ซึ่งเขาเลือกชื่อ ‘ชัชชัย เช’ ซึ่งแปลว่า “ชัยชนะที่มั่นคง” เมื่อ และเขาได้ใช้ชื่อนี้กรอกในเอกสารเพื่อขอสัญชาติไทย 

หลังใช้ชีวิตอยู่ที่ประเทศไทยร่วม 20 ปี มีข่าวว่าโค้ชเชต้องการจะเปลี่ยนสัญชาติมาเป็นสัญชาติไทยเป็นระยะ ซึ่งทางสมาคมกีฬาเทควันโดแห่งประเทศไทยก็สนับสนุน และทางการไทยก็พร้อมผลักดัน เพียงแต่ติดอยู่ที่พระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2508 ซึ่งต้องให้ผู้ขอเปลี่ยนสัญชาติจำเป็นต้องแสดงเจตนาที่จะสละสัญชาติเดิม เมื่อได้รับอนุญาตให้แปลงสัญชาติเป็นไทยแล้ว 

เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ผศ.ดร. พิมล ศรีวิกรม์ นายกสมาคมกีฬาเทควันโดแห่งประเทศไทย เผยว่า ก่อนหน้านั้น มีการพูดคุยเรื่องการขอสัญชาติไทยให้โค้ชเชมานานมากแล้ว เดิมติดปัญหาของทางภาครัฐตั้งแต่จำนวนปีไม่เพียงพอ พอทำท่าจะขอได้ ตัวโค้ชเชเองก็ไม่พร้อม เพราะห่วงคุณย่าที่เลี้ยงมาตลอด ต้องไป ๆ มา ๆ ระหว่างไทย – เกาหลีใต้ กระทั่งโค้ชเชติดต่อมาว่า “ผมตัดสินใจแล้ว ผมอยากเป็นคนไทย อยากให้ช่วยเรื่องการเดินเอกสาร ต้องปรึกษาทนายความในการทำเรื่องส่งเข้ากระทรวงมหาดไทย” 

ส่วนโค้ชเชเปิดใจว่า “หมดห่วงเรื่องคุณย่าแล้ว เพราะท่านได้เสียชีวิตไปแล้ว ทำให้ผมตัดสินใจได้ ซึ่งสิ่งที่สำคัญคือผมอยู่เมืองไทยเกือบ 20 ปี แล้ว อยากสร้างชีวิตที่ไทย ครอบครัวอยู่ที่นี่ ลูกชายอยู่ที่นี่ก็มีความสุข เวลานี้นักกีฬา ลูกศิษย์ ก็เหมือนลูกชาย - ลูกสาวของผม เมื่อเป็นคนไทยแล้วก็ช่วยเหลือพัฒนาเทควันโดในไทย

“ผมตัดสินใจแล้วครับ ผมอยากได้สัญชาติไทย ผมอยากเป็นคนไทยแล้ว ผมอยากใด้เหรียญทองให้ที่ประเทศไทย ไม่ใช่คนเป็นคนเกาหลีใต้ที่พานักกีฬาไทยคว้าเหรียญทองโอลิมปิก”

หลังทุ่มเททำหน้าที่หัวหน้าผู้ฝึกสอนนักกีฬาเทควันโดชาติไทยมาร่วม 20 ปีเต็ม ทำให้นักกีฬากวาดเหรียญรางวัลมาได้มากมาย ไม่เว้นแม้แต่การแข่งขันในรายการ ‘โคเรีย โอเพ่น’ ที่บ้านเกิดตัวเอง ซึ่งทัพนักกีฬาไทยคว้าเหรียญทองมาได้ 6 เหรียญ, เหรียญเงิน 1 เหรียญ และเหรียญทองแดง 5 เหรียญ ส่งผลให้โค้ชเชได้รับรางวัล ‘โค้ชยอดเยี่ยม’ ในที่สุด เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2565 พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม (ในเวลานั้น) จึงได้ลงนามคำสั่งมอบสัญชาติไทยให้โค้ชเช ซึ่งนับเป็นข่าวดีของทั้งโค้ชเช และคนไทยจำนวนมาก 

‘โค้ชเช’ ชัชชัย เช หนุ่มแดนกิมจิ ผู้แสดงเจตจำนงว่า “ผมอยากเป็นคนไทย”

‘โค้ชเช’ ชัชชัย เช หนุ่มแดนกิมจิ ผู้แสดงเจตจำนงว่า “ผมอยากเป็นคนไทย”

เหตุดังกล่าวทำให้โอลิมปิก 2024 โค้ชเชมาในนามโค้ชชาวไทยที่พานักกีฬาเทควันโดไทยลงแข่งขัน ซึ่งเขาได้กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า “ครั้งก่อน (โตเกียว เกมส์ 2020) รู้สึกไม่เหมือนครั้งนี้ เมื่อก่อนเหมือนเป็นคนต่างชาติ แต่ตอนนี้ผมเป็นคนไทยแล้ว ชื่อ ชัชชัย เช จริง ๆ ผมมาที่นี่ คุยกับนักกีฬาแล้วว่าอยากได้เหรียญทอง อยากให้รู้ว่าคนไทยทำได้” 

 

เรื่อง : พาฝัน ศรีเริงหล้า
ภาพ : เพจเฟซบุ๊ก สมาคมกีฬาเทควันโดแห่งประเทศไทย 

อ้างอิง :
'เทนนิส พาณิภัค' คว้าเหรียญทองเทควันโด โอลิมปิก 2024 ร่ำไห้ก้มกราบ 'โค้ชเช'
"โค้ชเช" ยอมทิ้งสัญชาติเกาหลีใต้ ขอเป็นคนไทยพาเทควันโดซิวทองโอลิมปิก
ทำความรู้จัก โค้ชเช เบื้องหลังความสำเร็จทัพเทควันโดไทย สู่ระดับโลก
ผมชื่อชัชชัย! ‘โค้ชเช’ ดีใจเป็นคนไทยพาศิษย์รักได้เหรียญทอง