‘Fosbury Flop’ ท่ากระโดดสูงที่โลกแซ่ซ้อง ครั้งหนึ่งเคยถูกหัวเราะเยาะ

‘Fosbury Flop’ ท่ากระโดดสูงที่โลกแซ่ซ้อง ครั้งหนึ่งเคยถูกหัวเราะเยาะ

นวัตกรรมความคิด Fosbury Flop ท่ากระโดดสูงที่โลกแซ่ซ้อง ครั้งหนึ่งเคยเป็น ‘นวัตกรรมความคิด’ ที่ “ถูกหัวเราเยาะ”

KEY

POINTS

  • ที่มาของท่ากระโดด Fosbury Flop
  • ‘นวัตกรรมความคิด’ ที่ “ถูกหัวเราเยาะ”
  • นวัตกรรมความคิด Fosbury Flop ท่ากระโดดสูงที่โลกแซ่ซ้อง

‘โอลิมปิก ปารีส 2024’ ในครั้งนี้ กีฬาที่ได้รับการจับตามองประเภทหนึ่ง ซึ่งกองเชียร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหนุ่ม ๆ ต่างรอคอยก็คือ ‘กระโดดสูง’

ที่นอกจากจะชิงชัยเหรียญทองตามกติกาสากลแล้ว เสื้อผ้าหน้าผมของ ‘นักกระโดดสูงหญิง’ ยุคนี้ กลายเป็นส่วนประกอบสำคัญหนึ่งของการรับชม

แต่เหนือสิ่งอื่นใด อิสระการกระโดด หรือท่าทางของนักกีฬา เพื่อสร้างความได้เปรียบต่อคู่แข่ง มีเบื้องหลังสำคัญที่ผ่านการคิดค้นในประวัติศาสตร์

นั่นก็คือ ท่ากระโดดที่มีชื่อว่า ‘Fosbury Flop’ ท่ายอดฮิตที่นักกีฬากระโดดสูงทั่วโลกใช้ในการแข่งขันมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1968 ในการแข่งขันโอลิมปิกที่เม็กซิโก

ท่า Fosbury Flop ตั้งชื่อขึ้นเพื่อเป็นการยกย่อง ‘ดิก ฟอสบิวรี’ (Dick Fosbury) นักกีฬากระโดดสูงชาวอเมริกัน ผู้รังสรรค์ท่ากระโดดที่กลายเป็นมาตรฐานในปัจจุบัน

ท่านี้ท่านได้แต่ใดมา

แน่นอนว่า ก่อนปี ค.ศ. 1968 ที่ Fosbury Flop ได้ถือกำเนิดขึ้น โลกของเรามีท่ากระโดดสูงมากมายที่ใช้ในการแข่งขันกรีฑาประเภทลานเมื่อศตวรรษที่ก่อน

โดยใน ค.ศ. 2024 ครบ 100 ปีพอดี ที่โอลิมปิกกลับมาจัดการแข่งขันที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ที่นักกีฬาหลากหลายชนิดถูกจับตามองในแง่การทำลายสถิติ

และกีฬาประเภทหนึ่งซึ่งได้รับการยกย่องเป็นอย่างมากเมื่อ 100 ปีก่อนก็คือ ‘กระโดดสูง’ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นักกีฬาที่มีชื่อว่า ‘แฮโรลด์ ออสบอร์น’ (Harold Osborn)

แฮโรลด์ ออสบอร์น ได้รับการแซ่ซ้องว่าเป็น World’s Greatest Athlete หรือ ‘นักกีฬาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก’ ในยุคนั้น จากการคว้า 3 เหรียญทอง โดยเป็นเหรียญโอลิมปิกจากการแข่งขันกระโดดสูงถึง 2 รายการ ด้วยสถิติการกระโดดที่สูงกว่า 6.6 ฟุต ด้วยท่ากระโดด ‘Osborn Roll’

ดูจากชื่อก็รู้ว่า ท่ากระโดดนี้ได้รับการตั้งชื่อตามนามสกุลของแฮโรลด์ ออสบอร์นลักษณะของท่าคือการกระโดดขึ้นไปให้ลำตัวขนานกับคานจากนั้นเตะขายกตัวข้ามไป

ต่อมา Osborn Roll ได้รับการเปลี่ยนชื่อเรียกเป็น ‘Western Roll’ เนื่องจากนักกระโดดสูงชาติตะวันตกนิยมใช้ในการแข่งขันกันอย่างแพร่หลาย

ก่อนหน้าความโด่งดังของ Western Roll ในปี ค.ศ. 1876 ‘มาร์แชล บรูคส์’ (Marshall Brooks) ได้ใช้ท่า ‘Scissors Jump’ ในการแข่งขันกระโดดสูงเป็นคนแรก โดยกระโดดได้ถึง 6.2 ฟุต

ต่อมามีการพัฒนา Scissors Jump หรือท่ากรรไกร มาเป็นท่า ‘Eastern Cut-Off’ โดย ‘ไมเคิล สวีนีย์’ (Michael Sweeney) ในปี ค.ศ. 1895 และได้รับความนิยมอยู่หลายปี

กว่าที่โลกจะได้รู้จักกับ Fosbury Flop ท่ากระโดดที่มีชื่อว่า ‘Straddle Technique’ ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1964 เป็นต้นมา

‘นวัตกรรมความคิด’ ที่ “ถูกหัวเราเยาะ”

ดิก ฟอสบิวรี มีชื่อจริงว่า ‘ริชาร์ด ดักลาส ฟอสบิวรี’ (Richard Douglas Fosbury) นักกระโดดสูงชาวอเมริกัน หนึ่งในนักกีฬาที่ทรงอิทธิพลที่สุดในประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ‘กรีฑาประเภทลาน’

จากการคว้าเหรียญทองในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกปี ค.ศ. 1968 ที่ได้ชื่อว่า “เป็นผู้ปฏิวัติการแข่งขันกระโดดสูง” ด้วยเทคนิค ‘Spinning Backfist’ หรือที่ในปัจจุบันรู้จักกันในนาม Fosbury Flop

แท็คติกการกระโดดสูงที่ดิก ฟอสบิวรี คิดค้นขึ้น คือการวิ่งในแนวทแยงไปทางคานจากนั้นสปริงตัวในลักษณะหงายท้องทยานขึ้นไปให้พ้นคาน

โดยในปัจจุบัน Fosbury Flop เป็นท่ากระโดดสูงมาตรฐาน ที่นักกระโดดสูงทั่วโลกใช้ในการแข่งขันทุกระดับ

เด็กชายดิก ฟอสบิวรี ถือกำเนิดในเมืองพอร์ตแลนด์ รัฐโอเรกอน สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 6 มีนาคม ปี ค.ศ. 1947

แม้จะชื่นชอบกีฬา แต่เขายังไม่สามารถเอาดีได้สักประเภท ไปออดิชันอเมริกันฟุตบอลก็ตกรอบ บาสเกตบอลก็ไม่ได้เรื่อง ทั้งที่เขาเป็นเด็กสูงที่สุดในโรงเรียน คือสูงถึง 6 ฟุต 4 นิ้ว หรือ 193 เซนติเมตร

จนเมื่ออายุได้ 16 ปี จึงได้ค้นพบตัวเองว่ากีฬา ‘กระโดดสูง’ คือสิ่งที่เขาถนัดที่สุด

แม้จะค้นพบตัวตนอย่างรวดเร็ว ทว่าอุปสรรคสำคัญคือท่ากระโดด ‘Straddle Technique’ ซึ่งเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายในยุคนั้น กลายเป็นขวากหนามสำคัญที่ทำให้เขาไปถึงฝั่งฝันคือการเป็นนักกระโดดสูงระดับโลกได้อย่างเชื่องช้า

และดูเหมือนว่าเขาจะเกลียดท่า Straddle Technique ทำให้เขาหันกลับไปปัดฝุ่น Scissors Jump ท่ากระโดดสูงโบราณ ทั้งที่ท่าดังกล่าวมีโอกาสชนะคนที่ใช้ท่า Straddle Technique น้อยมาก

ต่อมา ดิกจึงหันกลับไปตั้งหลักกับตัวเอง และค้นคิดประดิษฐ์นวัตกรรมของตนขึ้นมา นั่นก็คือ ท่ากระโดดสูงที่มีชื่อว่า Fosbury Flop

แต่กว่าจะประสบความสำเร็จ คว้าเหรียญทองอย่างยิ่งใหญ่ พร้อมกลายเป็นเจ้าของสถิติโอลิมปิกคนใหม่ ที่ความสูง 2.24 เมตร ในการแข่งขันโอลิมปิกปี ค.ศ. 1968 ในการแข่งขันโอลิมปิกที่เม็กซิโก

เขาต้องฝ่าฟันคำเย้ยหยันทั้งจากนักกีฬาด้วยกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากบรรดาโค้ช ที่ต่างบูชาท่ากระโดด Straddle Technique ในยุคนั้นเป็นอย่างมาก

แต่เขาไม่ย่อท้อ ผนวกความดื้อของเขา ที่ดิ้นรนใช้ท่า Fosbury Flop ที่คิดค้นขึ้นเอง กระโดดผ่านความสูง 6 ฟุต 100 นิ้ว หรือ 2.08 เมตร ทำลายสถิติวิทยาลัยเป็นครั้งแรก ทำให้หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นหันมาให้ความสนใจนักกระโดดสูงดาวรุ่งร่างโย่งท่าทางแปลกประหลาดคนนี้เป็นอย่างมาก ส่งผลให้เขาได้ขึ้นปกนิตยสารกรีฑาในเดือนกุมภาพันธ์ปี  ค.ศ. 1968 ก่อนที่จะคว้าแชมป์ NCAA รวมทั้งผ่านการคัดตัวทีมชาติไปตะลุยโอลิมปิกที่เม็กซิโก

ผ่านเทคนิคใหม่ Fosbury Flop ของเขาที่พัฒนาไปอย่างไม่หยุดยั้ง เริ่มตั้งแต่วิธีการวิ่ง จุดเทคตัว การระเบียบร่างกายขณะกระโดด และตอนแลนดิ้ง หรือทิ้งตัวลงเบาะ เพื่อให้สถิติดีขึ้นเรื่อย ๆ

นวัตกรรมความคิด Fosbury Flop ท่ากระโดดสูงที่โลกแซ่ซ้อง

โอลิมปิกอีก 4 ปีต่อมาที่นครมิวนิก เยอรมันตะวันตก ในปี ค.ศ. 1972 ที่นอกจากจะเกิดเหตุการณ์โลกตะลึง จากการก่อการร้ายฝีมือกลุ่ม ‘Black September’ แล้ว

ความชอกช้ำระกำใจของดิกคือ เขาไม่สามารถป้องกันแชมป์กระโดดสูงโอลิมปิกได้จากการไม่ผ่านการคัดเลือก ทว่า กลับมีนักกรีฑา 28 คน จาก 40 คนที่เข้าแข่งขัน นำเอาท่า Fosbury Flop ของเขาไปใช้ในการแข่งขัน ทำให้เหลือนักกระโดดสูง 12 คนเท่านั้นที่ยังใช้ท่า Straddle Technique

ก่อนที่ Straddle Technique จะค่อย ๆ เสื่อมความนิยมลง โดยมี Fosbury Flop ได้รับการยอมรับอย่างแพร่หลายมาจนถึงปัจจุบัน

โดยโอลิมปิกครั้งสุดท้ายที่ได้รับการบันทึกไว้ ว่ามีการใช้ท่ากระโดดสูง Straddle Technique คือในการแข่งที่กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ ในปี ค.ศ. 1988 หลังจากนั้น ดูเหมือนว่า Straddle Technique จะถูกลืมเลือนไปตลอดกาล

แม้ว่าโอลิมปิกที่เม็กซิโกครั้งนั้น จะเป็นการเปิดตัว ‘นวัตกรรมความคิด’ ครั้งสำคัญของโลก นั่นคือท่ากระโดดสูง Fosbury Flop แต่หลังจากพลาดหวังจากมิวนิก คล้ายกับว่า Dick Fosbury ได้เฟดตัวเองออกไปจากวงการกรีฑาโลก

แม้เจ้าตัวจะหายหน้าไปจากวงการกระโดดสูง ทว่า มรดกโลกที่ดิก ฟอสบิวรี ทิ้งเอาไว้ให้คนรุ่นหลัง คือท่ากระโดดสูง Fosbury Flop สุดคลาสสิก

ทำให้ในปี ค.ศ. 1993 ดิก ฟอสบิวรี ได้รับการบรรจุชื่อเข้าสู่หอเกียรติยศของโอลิมปิกสหรัฐฯ

สำหรับการแข่งขันโอลิมปิกปารีส 2024 และโอลิมปิกครั้งต่อ ๆ ไปในอนาคตข้างหน้า เชื่อได้ว่า นักกระโดดสูงระดับโลกทุกคน ทั้งชายและหญิง ทุกชาติทุกภาษา ต่างต้องขอยืมเทคนิคใหม่ที่ ดิก ฟอสบิวรี ได้สรรค์สร้างไว้เมื่อเกือบ 60 ปีที่แล้วมาใช้งาน

นั่นก็คือ Fosbury Flop นั่นเอง

 

เรื่อง: จักรกฤษณ์ สิริริน
ภาพ: Getty Images