‘ราฟาเอล นาดาล’ เริ่มจากแพ้นักเทนนิสไทย ก่อนก้าวไปเป็น ‘ราชาคอร์ทดิน’

‘ราฟาเอล นาดาล’ เริ่มจากแพ้นักเทนนิสไทย ก่อนก้าวไปเป็น ‘ราชาคอร์ทดิน’

‘ราฟาเอล นาดาล’ นักเทนนิสเจ้าของฉายา ‘ราชาคอร์ทดิน’ ผู้อยู่ในทำเนียบนักเทนนิสที่เก่งที่สุดตลอดกาลคนหนึ่งของโลก

KEY

POINTS

  • ที่มาของฉายา ‘ราชาคอร์ทดิน’
  • เหตุผลที่นาดาล ‘ไร้เทียมทาน’ ในเฟรนช์ โอเพ่น 
  • เส้นทางลูกสักหลาดของนาดาลที่มีความคล้ายกับ ‘บอล’ ภราดร ศรีชาพันธุ์ 

วงการกีฬาลูกสักหลาดไทยหากมีอะไรให้คุยได้บ้าง อาจเป็นเรื่องของ ‘ราฟาเอล นาดาล’ ยอดนักเทนนิสชาวสเปน ที่กำลังกลายเป็นตำนานไปอีกคน หลังออกมาประกาศเตรียมแขวนแร็กเกตในวัย 38 ปี หลังจบศึกเดวิสคัพ 2024 ในเดือนพฤศจิกายน ที่ประเทศบ้านเกิดของตัวเอง

ที่บอกว่าคุยได้เพราะตำนานนักเทนนิสโลกคนนี้ ก่อนแจ้งเกิดจนคนทั่วโลกคลั่งไคล้ แฟนเทนนิสไทยหลายคนรู้จักเขามาก่อน เพราะเคยดวลกับ ‘บอล’ ภราดร ศรีชาพันธุ์ อดีตนักเทนนิสมือ 1 ของไทย แถมยังพ่ายให้กับนักเทนนิสไทยไปแบบขาดลอย

ความพ่ายแพ้ของนาดาลที่ว่าเกิดขึ้นในศึกวิมเบิลดัน รอบ 32 คนสุดท้ายในปี 2003 ซึ่งเวลานั้น ภราดร วัย 24 ปี กำลังอยู่ในจุดสูงสุด ขึ้นเป็นมือวางอันดับ 9 ของโลก ส่วนนาดาล วัย 17 ปี ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นเส้นทางอาชีพนักกีฬา เพิ่งเทิร์นโปรมาแค่ 2 - 3 ปี

แม้แมตช์นั้น นาดาลจะแพ้ภราดรไป 3 เซ็ตรวด ด้วยสกอร์ 6 - 4, 6 - 4 และ 6 - 2 แต่ลีลาต่อกรกับนักเทนนิสรุ่นพี่ได้อย่างห้าวหาญ มีลูกวินเนอร์โฟร์แฮนด์สวย ๆ หลายแต้มให้ฮือฮา ก็ทำเอาแฟนกีฬาไทยหลายคนทั้งในสนามและหน้าจอทีวี เริ่มรู้จักและจำชื่อของนักเทนนิสสเปนคนนี้ตั้งแต่นั้น

หลังแพ้นักกีฬาไทยไปปีเดียว นาดาลก็พัฒนาจนก้าวขึ้นมาสร้างชื่อเสียงก้องโลก เริ่มจากการพาทีมชาติสเปนคว้าแชมป์เดวิสคัพปี 2004 โดยลงเล่นรอบชิงชนะเลิศเอาชนะ ‘แอนดี้ ร็อดดิก’ มือ 2 ของโลกชาวอเมริกันไปได้แบบเหนือความคาดหมาย

จากนั้นปีต่อมา นาดาลก็ผงาดคว้าแชมป์แกรนด์สแลมครั้งแรกที่สนามโรลังด์ การ์รอส ของฝรั่งเศส ก่อนเรื่องราวที่เหลือจะกลายเป็นตำนานให้เล่าขานจนเป็นที่มาของฉายา ‘ราชาคอร์ทดิน’ (King of Clay) และเป็นนักเทนนิสขวัญใจแฟน ๆ ทั่วโลก ถึงขนาดที่พูดได้ว่า หากเขายังเล่นอยู่คนก็ดีใจ ถ้าจากไปก็มีแต่คนคิดถึง

แล้วอะไรเล่าคือสิ่งที่คนคิดถึงเมื่อเอ่ยถึง ‘ราฟาเอล นาดาล’

ปาเกียว v นาดาล

นาดาลไม่ใช่คนเดียวที่เคยแพ้นักกีฬาไทยแล้วก้าวไปเป็นตำนานของโลก ก่อนหน้านั้น ‘แมนนี่ ปาเกียว’ ยอดนักชกชาวฟิลิปปินส์ ก็เคยแพ้น็อค ‘เม็ดเงิน กระทิงแดงยิม’ ที่ไทย ก่อนลุกขึ้นก้าวต่อไปจนกลายเป็นนักมวยที่เก่งที่สุดตลอดกาลคนหนึ่งของโลกเช่นกัน

สิ่งที่ปาเกียวและนาดาลมีเหมือนกัน ซึ่งทำให้ทั้งคู่ก้าวข้ามความพ่ายแพ้และสามารถขึ้นไปสู่จุดสูงสุดในวงการของตัวเอง คือ ความมุ่งมั่นไม่หยุดพัฒนา ยกระดับเป้าหมายและดันเพดานการต่อสู้ให้สูงขึ้นไป เพื่อท้าทายศักยภาพและขีดจำกัดในร่างกายของตัวเอง

 

ปาเกียวท้าทายตัวเองด้วยการไม่หยุดไล่ล่าเข็มขัดแชมป์ จนกลายเป็นตำนานแชมป์มวยโลก 8 รุ่นจากหลายสถาบัน ส่วนนาดาลเป็นนักเทนนิสในตำนานเพียงไม่กี่คนที่สามารถทำ ‘โกลเด้น แกรนด์สแลม’ (Golden Grand Slam) ซึ่งหมายถึงการคว้าแชมป์เมเจอร์ครบทุกรายการ แถมยังมีเหรียญทองโอลิมปิกพ่วงมาด้วย

เท่านั้นยังไม่พอ นาดาลยังเป็นนักกีฬาคนแรกและคนเดียวในประวัติศาสตร์วงการเทนนิสที่ได้ฉายา ‘เจ้าสนาม’ รายการแกรนด์สแลมรายการเดียวแบบผูกขาด จนกลายเป็นเครื่องหมายการค้าของเขาที่โรลังด์ การ์รอส

เมเจอร์ v แกรนด์สแลม

ใครที่ไม่ใช่แฟนเทนนิสตัวยงอาจงงคำว่า ‘แกรนด์สแลม’ อธิบายคร่าว ๆ คือ การแข่งขันเทนนิสอาชีพแต่ละปี (ซีซั่น) มีความคล้ายคลึงกับแบดมินตัน หรือกอล์ฟ นักกีฬาต้องเดินทางไปตระเวนลงแข่งรายการต่าง ๆ ทั่วโลก แต่ละรายการมีความสำคัญต่างกันไปขึ้นอยู่กับจำนวนเงินรางวัลและคะแนนสะสมที่ใช้คำนวณเพื่อจัดอันดับโลก

รายการใหญ่ที่มีเงินรางวัลและคะแนนสะสมสูงสุดเรียกว่า ‘เมเจอร์’ แต่ในวงการเทนนิสมีศัพท์เฉพาะอีกชื่อเรียกว่า ‘แกรนด์สแลม’ โดย 1 ซีซั่นมีทั้งหมด 4 เมเจอร์ หรือ 4 แกรนด์สแลม เรียงตามปฏิทินการแข่งขันเริ่มจาก ‘ออสเตรเลียน โอเพ่น’ (ออสเตรเลีย), ‘เฟรนช์ โอเพ่น’ (ฝรั่งเศส), ‘วิมเบิลดัน’ (อังกฤษ) และจบที่ ‘ยูเอส โอเพ่น’ (สหรัฐอเมริกา)

นอกจากนี้ เทนนิสยังมีเสน่ห์เฉพาะตัวตรงที่แต่ละแกรนด์สแลมจะมีสภาพพื้นสนามที่ใช้จัดการแข่งขันแตกต่างกัน โดยออสเตรเลียน โอเพ่น กับยูเอส โอเพ่น จะเล่นกันบนพื้นปูน ส่วนเฟรนช์ โอเพ่น เป็นคอร์ทดิน และวิมเบิลดันใช้คอร์ทหญ้า

นักกีฬาจำเป็นต้องปรับทักษะและเทคนิคการเล่นไปตามสภาพพื้นสนามที่ต่างกัน โดยสนามที่นาดาลถนัดที่สุด คือ พื้นดิน (clay court) นั่นจึงทำให้เขาเป็นนักกีฬาที่คว้าแชมป์เฟรนช์ โอเพ่น มากที่สุดตลอดกาล รวม 14 สมัย จากแชมป์แกรนด์สแลมทั้งหมด 22 ครั้งซึ่งคว้ามาตลอดอาชีพ มากจนเจ้าภาพฝรั่งเศสต้องสร้างอนุสาวรีย์ให้หน้าสนามโรลังด์ การ์รอส เพื่อยกย่องเชิดชู และเป็นที่มาของฉายา ‘ราชาคอร์ทดิน’

แร็กเกตไร้เทียมทาน

นักวิเคราะห์หลายคนพยายามหาเหตุผลว่า ทำไมนาดาลจึงชำนาญการเล่นคอร์ทดิน อาจถึงขั้นเรียกว่า ‘ไร้เทียมทาน’ เพราะตลอดการเล่นอาชีพที่โรลังด์ การ์รอสมาทั้งชีวิตรวม 116 แมตช์ เขาชนะคู่แข่งไปได้ถึง 112 แมตช์ หรือแพ้แค่ 4 ครั้ง คิดเป็นจำนวนไม่ถึง 4%

สำนักข่าวบีบีซี ของอังกฤษ อ้างผู้เชี่ยวชาญหลายคนวิเคราะห์ว่า เหตุผลที่นาดาล ‘ไร้เทียมทาน’ ในเฟรนช์ โอเพ่น มาจากหลายปัจจัย ตั้งแต่ความคุ้นชินคอร์ทดินตั้งแต่เด็ก เพราะเป็นคอร์ทยอดฮิตในสเปน แถมยังคุ้นเคยสภาพอากาศในฤดูร้อนของกรุงปารีสที่เป็นช่วงจัดการแข่งขัน เพราะคล้ายกับอากาศที่บ้านเกิดของเขากลางทะเลเมดิเตอร์เรเนียน

นอกจากนี้ นาดาลยังมีจุดแข็งเรื่องพละกำลังและมีท่าไม้ตายเป็นลูกโฟร์แฮนด์ท็อปสปินอันหนักหน่วง เมื่อลงเล่นบนคอร์ทดินที่ลูกวิ่งช้ากว่าคอร์ทหญ้า หรือคอร์ทปูน เขาจึงมีเวลามากพอในการใช้ร่างกายที่แข็งแรงให้เป็นประโยชน์สูงสุด 

ยิ่งเป็นนักเทนนิสถนัดซ้าย ยิ่งทำให้นาดาลมีมุมเปิดกว้างให้ใช้ท่าไม้ตายโฟร์แฮนด์ ยิงจี้แบ็คแฮนด์คู่แข่งซึ่งส่วนใหญ่ถนัดขวา ทำให้คู่ต่อสู้หลุดตำแหน่ง จนสามารถตอบโต้ด้วยลูกวินเนอร์ได้ง่ายขึ้น

อย่างไรก็ตาม กว่าจะมาถึงจุดที่ทุกคนขนานนามให้เป็น ราชา’ เฟรนช์ โอเพ่น และหนึ่งในนักเทนนิสที่เก่งที่สุดตลอดกาลก็ยังไม่ใช่เรื่องง่ายอยู่ดี

รักวัวให้ผูกรักลูกให้ตี

จะว่าไปเส้นทางลูกสักหลาดของนาดาลก็มีความคล้ายกับภราดร เพราะทั้งคู่เริ่มจับแร็กเกตครั้งแรกตั้งแต่อายุ 3 - 4 ขวบ แถมยังมีคนใกล้ชิดในครอบครัวคอยเป็นโค้ชช่วยผลักดันเหมือนกัน โดยภราดรมีคุณพ่อ ‘ชนะชัย ศรีชาพันธุ์’ เป็นผู้ปลุกปั้น ส่วนโค้ชคู่ใจของนาดาล คือ ‘น้าโทนี่’ (Uncle Toni) ที่เป็นน้องชายของพ่อผู้บังเกิดเกล้า

‘ราฟาเอล นาดาล ปาเรร่า’ (Rafael Nadal Parera) คือชื่อเต็มของนาดาล เขาเกิดวันที่ 3 มิถุนายน ค.ศ. 1986 บนเกาะมายอร์ก้า (Mallorca) นอกชายฝั่งภาคตะวันออกของสเปน กลางทะเลเมดิเตอร์เรเนียน

พออายุ 3 ขวบ นาดาลถูกส่งไปเรียนเทนนิสครั้งแรกกับน้าโทนี่ ซึ่งมีดีกรีเป็นอดีตนักเทนนิสมือสมัครเล่นแถวหน้าของสเปน

โทนี่เปิดใจกับบีบีซีว่า เขาเห็นแววหลานชายเป็นเด็กมีพรสวรรค์ตั้งแต่เล็ก เพราะเด็กส่วนใหญ่เมื่อโยนบอลให้ตี พวกเขาจะรอให้ลูกเด้งมาหาตัวจึงค่อยหวดกลับไป แต่นาดาลเป็นเด็กที่วิ่งเข้าหาลูก ไม่ยืนรอบอล และ “นี่คือความพิเศษ”

นอกจากนี้ น้าโทนี่และคุณพ่อชนะชัย ยังมีวิธีฟูมฟักนักกีฬาของตัวเองคล้ายคลึงกัน นั่นคือ การเน้นฝึกระเบียบวินัยอย่างเคร่งครัด เป็น ‘โค้ชดุ (มาก)’ และมักใช้วิธีเคี่ยวเข็ญแบบคนรุ่นเก่า เหมือนที่ฝรั่งเรียกว่า ‘tough love’ หรือ ‘รักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี’ ตามสำนวนโบราณของไทย

นาดาลเคยเล่าความโหดของน้าโทนี่ไว้ในหนังสือประวัติชีวิตตนเองมากมาย เขาบอกว่าหลายครั้งตัวเองต้องเดินกลับบ้านหลังซ้อมด้วยน้ำตานองหน้า และเกือบทำให้พ่อแม่ต้องมาผิดใจกับน้า เพราะไม่เข้าใจว่า ทำไมต้องเข้มงวดและเคี่ยวกรำเขาหนักขนาดนั้น

ครั้งหนึ่งนาดาลเล่าว่า เขากลัวน้าโทนี่ดุเรื่องเป็นคนอ่อนแอ จึงทนฝืนลงแข่งรายการเยาวชนรุ่นอายุไม่เกิน 14 ปีจนจบทัวร์นาเมนต์ทั้งที่นิ้วก้อยหัก ซึ่งสุดท้ายเขาก็สามารถก้าวไปถึงตำแหน่งแชมป์ได้ และนั่นเป็นหนึ่งในบทเรียนสำคัญที่ทำให้เติบโตมากลายเป็นนักกีฬาที่ขึ้นชื่อเรื่องความอึด ถึก ทน จนได้อีกฉายาว่า ‘กระทิงดุ’ (Raging Bull)

แมตช์ในฝัน

นาดาลเริ่มลงแข่งเทนนิสอาชีพ (เทิร์นโปร) ในปี 2001 ขณะอายุ 15 ปี และใช้เวลาเพียง 4 ปี ก็สามารถก้าวไปคว้าโทรฟี่แชมป์แกรนด์สแลมครั้งแรกได้สำเร็จ เขากลายเป็นหนึ่งในสามนักเทนนิสชายผู้ทรงอิทธิพลแห่งยุคต้นศตวรรษที่ 21 โดยคนในวงการขนานนามว่า ‘บิ๊กทรี’ (Big Three) ร่วมกับ ‘โนวัค ยอโควิช’ และ ‘โรเจอร์ เฟเดอเรอร์’

โดยเฟเดอเรอร์ หรือ ‘เฟดเอ็กซ์’ ถือเป็นคู่ปรับคนสำคัญที่ขับเคี่ยวแย่งแชมป์กันมากับนาดาลอย่างสนุกสูสีตลอดสองทศวรรษ ก่อนเฟดเอ็กซ์จะแขวนแร็กเกตไปในปี 2022

หนึ่งในแมตช์แห่งความทรงจำที่หลายคนยกให้เป็นแมตช์ที่ดีที่สุดตลอดกาล คือ การดวลกันของทั้งคู่ในรอบชิงฯ วิมเบิลดัน 2008 ซึ่งแมตช์นั้นต้องดวลกันถึง 5 เซ็ต และใช้เวลานานเกือบ 5 ชม. นับเป็นนัดชิงฯ วิมเบิลดันที่ยาวนานที่สุดเท่าที่เคยจัด ก่อนนาดาลจะเฉือนชนะไปอย่างเร้าใจ พร้อมสร้างสถิติใหม่เป็นการคว้าแชมป์แกรนด์สแลมนอกกรุงปารีสครั้งแรกของตัวเอง และหยุดสถิติแชมป์วิมเบิลดันติดต่อกันของเฟดเอ็กซ์ไว้แค่ 5 สมัย

นั่นคือแมตช์ที่คนส่วนใหญ่ยกให้เป็นไฟต์แห่งความทรงจำ แต่สำหรับนาดาลเขาเลือกการคว้าแชมป์เฟรนช์ โอเพ่น ปี 2006 และ 2010 เป็นแมตช์ที่เขาประทับใจที่สุด 

เจ้าตัวให้เหตุผลว่า การคว้าแชมป์ปี 2006 เกิดขึ้นหลังจากเขาเพิ่งบาดเจ็บเท้าซ้าย จนหมอเตือนว่า อาจไม่สามารถกลับมาลงแข่งรายการใหญ่ได้อีก แต่สุดท้ายเขาก็ทำได้และไปถึงแชมป์ นั่นคือการก้าวข้ามขีดจำกัดทางร่างกาย 

ส่วนการคว้าแชมป์ในปี 2010 เป็นการทวงคืนแชมป์ หลังจากปีก่อนหน้า นาดาลเพิ่งพลาดท่าตกรอบ 4 และเป็นการพ่ายแพ้ครั้งแรกในสนามที่เขาถูกยกให้เป็น ‘ราชา’ การกลับมาสู่ความยิ่งใหญ่ได้จึงแสดงให้เห็นถึงการก้าวข้ามความผิดหวัง และเผยให้เห็นความเข้มแข็งของจิตใจ

นั่นคือจุดเด่นของนาดาล นอกเหนือจากพละกำลังและการเล่นอันดุดัน รวมถึงสไตล์การแต่งตัว (ช่วงหนึ่งเคยไว้ผมยาว มีผ้าคาดผม สวมเสื้อแขนกุด และกางเกงขาสามส่วน) นาดาลเป็นนักเทนนิสที่ขึ้นชื่อเรื่อง ‘ใจสู้’ ไม่ยอมแพ้จนกว่าจะจบแต้มสุดท้าย

คุณสมบัติเหล่านี้เขายกเครดิตให้น้าโทนี่ ที่ช่วยชี้แนะและปลูกฝังมาตั้งแต่เด็ก

ด้วยสไตล์การเล่นที่เน้นใช้พลัง นาดาลเป็นนักกีฬาที่มีปัญหาบาดเจ็บรบกวนจนต้องถอนตัวจากรายการใหญ่บ่อยที่สุดในหมู่ ‘บิ๊กทรี’ กระนั้น เขายังคงรีไทร์ด้วยสถิติคว้าแชมป์แกรนด์สแลมชายมากที่สุดตลอดกาลอันดับสอง เป็นรองแค่ยอโควิช นอกจากนั้นยังเคยขึ้นรั้งมือวางอันดับ 1 ของโลกได้นานถึง 209 สัปดาห์

เมื่อพูดถึงอาการบาดเจ็บ นาดาลเคยบาดเจ็บมาแล้วแทบทุกอวัยวะสำคัญที่ใช้เล่นเทนนิส ตั้งแต่ข้อมือ ข้อเท้า หัวเข่า ข้อศอก สะโพก และฝ่าเท้า หากเป็นคนอื่นอาจยอมแพ้ยกธงขาวเลิกเล่นไปนานแล้ว แต่เพราะวินัยและความใจสู้ที่ปลูกฝังมาตั้งแต่วัยเยาว์ นาดาลจึงก้าวข้ามปัญหาไปได้ และสร้างสถิติใหม่มากมายก่อนอำลาวงการ

สถิติแชมป์รายการใหญ่ของนาดาลตลอดการเล่นอาชีพตั้งแต่ปี 2001 - 2024 มีดังนี้

- เฟรนช์ โอเพ่น 14 สมัย (2005 - 2008, 2010 - 2014, 2017 - 2020, 2022)
- ยูเอส โอเพ่น 4 สมัย (2010, 2013, 2017, 2019)
- วิมเบิลดัน 2 สมัย (2008, 2010)
- ออสเตรเลียน โอเพ่น 2 สมัย (2009, 2022)
- โอลิมปิก 2 เหรียญทอง (ชายเดี่ยว 2008, ชายคู่ 2016)
- เดวิสคัพ 4 สมัย (2004, 2009, 2011, 2019)

ไปลา - มาไหว้

อีกคาแรกเตอร์สำคัญเมื่อเอ่ยชื่อนาดาลแล้วหลายคนนึกถึง คือ ความอ่อนน้อมถ่อมตน แม้เป็นซูเปอร์สตาร์แต่ก็ไม่หยิ่งผยอง หรือจะบอกว่าเป็น ‘มิสเตอร์ไนซ์กาย’ (Mr. Nice Guy) อีกคนของวงการเทนนิสก็ไม่ผิด

ตลอดเส้นทางนักเทนนิสอาชีพนานกว่า 20 ปี นาดาลแทบไม่เคยมีข่าวอื้อฉาวให้เสื่อมเสีย แม้สไตล์การเล่นในสนามจะดุดัน แต่ก็ให้เกียรติคู่ต่อสู้ ยิ่งความสัมพันธ์กับเฟดเอ็กซ์ที่เป็นคู่แข่งขับเคี่ยวกันมาตลอด ทั้งคู่ยิ่งสนิทกันมาก โดยวันอำลาอาชีพนักเทนนิสของเฟเดอเรอร์ ทั้งคู่ยังหลั่งน้ำตาด้วยความอาลัยอาวรณ์บอกลากันอย่างซาบซึ้ง

รัสเซล ฟุลเลอร์ (Russell Fuller) นักข่าวสายเทนนิสของบีบีซี เขียนชื่นชมความอ่อนน้อมและให้เกียรติผู้อื่นของนาดาลว่าไม่ใช่แค่ในสนาม เพราะทุกครั้งที่นาดาลเดินทางไปให้สัมภาษณ์สื่อ เขามักเป็นคนเดินไปจับมือทักทายทีมงานทุกคนแบบไม่ถือตัวก่อน ไม่ว่าจะเป็นนักข่าว ช่างภาพ ผู้ช่วย หรือแม้แต่ล่าม

‘กิลล์ โกรส’ (Gill Gross) นักจัดพอ ดแคสต์วิเคราะห์วงการเทนนิสคนดังเล่าว่า ความถ่อมตัวของนาดาล ยังแสดงออกชัดเจนผ่านกิจวัตรที่เขาทำเป็นประจำระหว่างเดินทางไปแข่งขันรายการต่าง ๆ ทั่วโลก นั่นคือการ ‘ไปลา - มาไหว้’ โดยทุกครั้งหลังแข่งจบ ไม่ว่าผลการแข่งขันจะออกมาอย่างไร นาดาลจะเดินไปออฟฟิศของฝ่ายจัดการแข่งขัน เพื่อขอบคุณและบอกลาทุกคนตั้งแต่ผู้บริหาร กรรมการ ไปจนถึงทีมสต๊าฟ และพนักงานทั่วไป ก่อนเดินทางออกไปจากงานทุกครั้ง

นิสัยน่ารักแต่มีจุดยืน

อย่างไรก็ดี แม้จะเป็นมิสเตอร์ไนซ์กาย แต่นาดาลก็ไม่ใช่นักกีฬาที่ไม่กล้าพูดอะไรในประเด็นที่เป็นข้อถกเถียงในสังคม

นาดาลเป็นนักกีฬาที่กล้าแสดงจุดยืนของตนเองโดยไม่กลัวเสียความนิยม ยกตัวอย่างกรณีซึ่งเป็นข้อถกเถียงเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ ซึ่งโยงไปถึงเงินรางวัลที่ต่างกันระหว่างการแข่งขันเทนนิสชายและหญิง

ขณะที่กลุ่มต่อสู้เพื่อสิทธิสตรีพยายามเรียกร้องให้ผู้จัดการแข่งขันเพิ่มเงินรางวัลให้รายการผู้หญิงเท่ากับผู้ชาย แต่นาดาลออกมาแสดงความเห็นแย้งเมื่อปี 2018 โดยให้เหตุผลว่า เทนนิสชายดึงดูดผู้ชมได้มากกว่า เพราะสนุกตื่นเต้นเร้าใจ และใช้เวลาแข่งขันยาวนานกว่า นั่นจึงเป็นเรื่องเหมาะสมแล้วที่เงินรางวัลของประเภทชายจะได้มากกว่าฝ่ายหญิง

นอกจากนี้ เขายังตั้งคำถามกลับไปอย่างน่าสนใจด้วยว่า ในวงการแฟชั่น นางแบบก็ได้ค่าตัวมากกว่านายแบบ ยังไม่เห็นมีใครออกมาเรียกร้องอะไรเรื่องความเท่าเทียม

ปี 2024 ก่อนอำลาวงการ นาดาลออกมาพูดถึงศึกวิมเบิลดันที่มีแผนเปลี่ยนแปลงรูปแบบการแข่งขันด้วยการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้แทนผู้กำกับเส้น (line judge) ที่เป็นมนุษย์ ซึ่งไอเดียนี้ยอโควิชออกมาสนับสนุนเต็มที่ เพราะอยากให้การตัดสินมีความถูกต้องแม่นยำขึ้น

ทว่า นาดาลกลับเห็นต่างโดยมองว่า การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการแข่งขันควรทำให้ผู้ชมได้รับประสบการณ์การดูเทนนิสที่สนุกขึ้น ซึ่งส่วนตัวเขาคิดว่า การมีผู้กำกับเส้นเป็นมนุษย์แบบเดิมน่าจะทำให้การชมการแข่งขันได้อรรถรสมากกว่า

นั่นคือตัวตนของนาดาล เป็นมิสเตอร์ไนซ์กายที่ไม่เหนียมอายในการแสดงความเห็น เป็นตำนานนักเทนนิส ซึ่งแม้จะเคยแพ้นักกีฬาไทย แต่เพราะใจสู้ อึด ถึก ทน และไม่เคยหยุดพัฒนา ทำให้ต่อมาสามารถก้าวไปเป็น ‘ราชาคอร์ทดิน’ และอยู่ในทำเนียบนักเทนนิสที่เก่งที่สุดตลอดกาลคนหนึ่งของโลก 

ที่สำคัญ เขาเป็นนักกีฬาผู้เป็นที่รักของคนรอบตัวอย่างแท้จริง ถึงขั้นที่พูดได้ว่า ไม่ว่าจะอยู่หรือไป ‘ราฟาเอล นาดาล’ จะถูกยกให้เป็นหนึ่งใน ‘ไอดอล’ ของคนรุ่นใหม่ และอยู่ในใจแฟนกีฬาเทนนิสทั่วโลกไปอีกยาวนาน

 

เรื่อง: ภานุวัตร เอื้ออุดมชัยสกุล

อ้างอิง: 

Rafael Naadal vs. Paradorn Srichaphan Wimbledon 2003 [HD]

Rafael Nadal is Retiring at Davis Cup Finals 2024 | Monday Match Analysis

Rafael Nadal retires: How 'King of Clay' was so dominant at French Open

Rafael Nadal: The 'tough love' that shaped a 22-time Grand Slam champion

'Nadal - the son every mum would love to have'

'Nadal - the son every mum would love to have'