“หม่อมคึกฤทธิ์” ที่มาของ “พรรคแสป” สโลแกนเราทำได้ และเงินผัน

“หม่อมคึกฤทธิ์” ที่มาของ “พรรคแสป” สโลแกนเราทำได้ และเงินผัน

“หม่อมคึกฤทธิ์” ที่มาของ “พรรคแสป” สโลแกนเราทำได้ และเงินผัน

40 กว่าปีที่แล้ว 'รงค์ วงษ์สวรรค์ สวมบทนักข่าวการเมือง เกาะติดชีวิต ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ระหว่างทำหน้าที่ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และเตรียมการตั้งพรรคการเมือง จึงกลายเป็นที่มาของหนังสือชื่อ “คึกฤทธิ์แสบสันต์” "คึกฤทธิ์เป็นใคร? เป็นหม่อมราชวงศ์ผู้สูงศักดิ์? เป็นนักเศรษฐกิจการคลัง? เป็นนักเขียนผู้สร้างวรรณกรรมสี่แผ่นดิน? เป็นคนหนังสือพิมพ์ผู้มีคารมเสียดสีถากถางอย่างเผ็ดร้อน? เป็นนักพูดปากตระไกร? ...คำตอบที่แน่นอน คึกฤทธิ์เป็น “นักการเมือง" การเข้าสู่การเมืองของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช มีสองช่วงที่สำคัญคือ หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จัดตั้งพรรคก้าวหน้า กับฝ่ายที่ไม่เอาคณะผู้ก่อการ 2475 และหลังเหตุการณ์มหาวิปโยค ก่อตั้งพรรคกิจสังคม ปี 2488 ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ได้ร่วมกับสอ เสถบุตร, บุญเท่ง ทองสวัสดิ์ และเลียง ไชยกาล จัดตั้งพรรคก้าวหน้า ต่อมา ยุบพรรคก้าวหน้ารวมกับกลุ่มการเมืองอื่นๆ จัดตั้งพรรคประชาธิปัตย์ ปี 2489 เลือกตั้ง 2491 หม่อมคึกฤทธิ์ ได้รับการเลือกตั้งเป็น ส.ส.พระนคร แต่ไม่นานนัก หม่อมคึกฤทธิ์ได้ลาออกจาก ส.ส. เพราะไม่เห็นด้วยกับการขึ้นเงินเดือนผู้แทนฯ ต่อมา จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้เชิญ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ เป็นรัฐมนตรีช่วยพาณิชย์ แต่มีแรงต้านจาก ส.ส.จำนวนมาก ทำให้ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ถอนตัวจากการเข้าร่วมรัฐบาล เบื่อกลิ่นการเมือง หม่อมคึกฤทธิ์ จึงสวมหัวโขนนักเขียน นักหนังสือพิมพ์ ก่อตั้งหนังสือพิมพ์สยามรัฐ เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2493 โดยเป็นเจ้าของ ผู้อำนวยการ และนักเขียนประจำ   ทำไมต้องพรรคแสป? หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้รับเลือกจากสมัชชาแห่งชาติหรือสภาสนามม้า เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และหม่อมคึกฤทธิ์ ได้รับเลือกเป็นประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ โดยนักข่าวให้ฉายา “ประธานสภาจอมโขน” กลางปี 2517 นักข่าวเริ่มได้กลิ่นข่าวหม่อมคึกฤทธิ์ เตรียมจัดตั้งพรรคการเมือง จึงมีบทสัมภาษณ์ประธาน สนช. ตีพิมพ์ในประชาชาติรายสัปดาห์ ฉบับวันที่ 30 พฤษภาคม 2517 “ผมจะสมัครผู้แทนแน่นอน ผมไม่มาเหนือเมฆแบบวุฒิสภาบ้าบออะไรแน่นอน ผมจะเสนอตัวให้ประชาชนเลือก จะเข้ามาแบบขั้นต้นที่สุด เริ่มตั้งแต่ปีนกระไดบ้านขั้นแรกกันทีเดียว จะสมัครที่จังหวัดพระนครนี่แหละ” ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ แสดงเจตจำนงชัดเจนว่า จะกลับมาเล่นการเมือง แต่ไม่ได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับพรรคการเมืองที่จะจัดตั้งขึ้นใหม่ อย่างไรก็ตาม อาจารย์เกษม ศิริสัมพันธ์ ได้บอกเล่าเรื่องการก่อตั้งพรรคกิจสังคมไว้ในหนังสือชื่อ “เหลียวมองหลัง” ตอนนั้น อาจารย์เกษมสอนหนังสืออยู่ธรรมศาสตร์ ได้รับเลือกเป็น สนช. (สนามม้า) และหม่อมคึกฤทธิ์ ได้ตั้งอาจารย์เกษมเป็นเลขานุการประธานสภา เย็นวันหนึ่ง หม่อมคึกฤทธิ์นัดอาจารย์เกษม และบุญชู โรจนเสถียร ซึ่งเวลานั้นเป็นรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงเทพ มาประชุมจัดตั้งพรรคที่บ้านซอยสวนพลู “คุณบุญชูเสนอว่า อยากให้ตั้งชื่อพรรคใหม่เป็นภาษาอังกฤษว่า Social Action Party เป็นการล้อเลียนแบบพรรค People Action Party ของนายลีกวนยูที่สิงคโปร์ ถ้าอาจารย์คึกฤทธิ์เห็นด้วยก็อยากให้ท่านคิดชื่อเป็นภาษาไทย อาจารย์คึกฤทธิ์พยักหน้าเห็นด้วย และคิดชื่อภาษาไทยให้ได้ทันทีว่า กิจสังคม..” แต่นายแบงก์บุญชู ท้วงว่าชื่อย่อภาษาอังกฤษ SAP เมื่ออ่านออกเสียงเป็นไทยว่า “แสป” ฟังไม่เป็นมงคล แต่หม่อมคึกฤทธิ์กลับบอกว่า “คุณบุญชูอย่าไปคิดมากมาย เราตั้งพรรคขึ้นมาทั้งที มันต้องให้ทั้งแสบทั้งคันกันไปทั้งเมือง มันจึงจะใช้ได้สินะ” วันที่ 4 พฤศจิกายน 2517 "พรรคกิจสังคม" จึงจดทะเบียนจัดตั้งพรรคการเมือง โดยมี ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นหัวหน้าพรรค ,บุญชู โรจนเสถียร เป็นเลขาธิการพรรค คำขวัญของพรรคกิจสังคมคือ “เราทำได้” เป็นไปตามคาด ชื่อย่อภาษาอังกฤษ S-A-P กลายเป็นคำยอดฮิต ถูกนำไปล้อเลียนครึกครื้น ศิลปินละแวกหน้าพระลานบอกว่า “แสปดินา” คำขวัญพรรค “เราทำได้” ก็เช่นกัน 'รงค์ วงษ์สวรรค์ บันทึกไว้ตอนหนึ่งว่า “คึกฤทธิ์มักได้รับการรบกวนด้วยคำว่า ถั่วดำ เสมอในทางการเมือง สโลแกนของพรรคแสปที่ว่า เราทำได้ จะถูกแก้ไขให้เป็น เราทำดั่ว ใบปลิวหรือโปสเตอร์ที่ปิดตามที่สาธารณะทั่วไปก็เช่นเดียวกัน ในการหาเสียงหลายครั้งหลายหน มักจะมีผู้ถามถึงถั่วดำ คึกฤทธิ์ในอารมณ์อย่าง ไม่มีใครอาจจะเข้าได้ เคยพูดว่า 'มีพี่สาวหรือน้องสาว เอามาให้ผมพิสูจน์'...”   “กฤษณ์” เลือกคึกฤทธิ์ ฤดูเลือกตั้ง 2518 ทุกพรรคการเมืองดูจะมีโอกาสแข่งขันอย่างเท่าเทียมกัน การเลือกตั้งครั้งนั้น ไม่มีพรรคใดได้เสียงข้างมากเกินครึ่งหนึ่งคือ 135 เสียง พรรคประชาธิปัตย์ ได้มากที่สุด 72 เสียง ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช จึงตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อย เมื่อแถลงนโยบายของรัฐต่อสภา มีเพียง 111 เสียง ไม่เห็นชอบ 152 เสียง ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช จึงต้องลาออก วันที่ 14 มีนาคม 2518 สภาได้ประชุมกันและมีมติให้ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช หัวหน้าพรรคกิจสังคม จัดตั้งรัฐบาล โดยได้รับคะแนนเสียงสนับสนุน 135 เสียง แต่การที่พรรคกิจสังคมมี 18 เสียง จึงต้องตั้งรัฐบาลผสมถึง 8 พรรค เพื่อให้ได้เสียงเกินครึ่ง อาจารย์เกษม ศิริสัมพันธ์ เล่าเบื้องหลังการจัดตั้งรัฐบาลคึกฤทธิ์ว่า พล.อ.กฤษณ์ สีวะรา ผู้บัญชาการทหารบก รักษาการผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญสมัยนั้น ได้เลือกหม่อมคึกฤทธิ์เป็นนายกรัฐมนตรี อ่านจากหนังสือ “ฟังประสิทธิ์ฯ พูด” จึงมีข้อมูลยืนยัน พล.อ.กฤษณ์ ร่วมวางแผนกับประสิทธิ์ กาญจนวัฒน์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ในการผลักดันให้พรรคกิจสังคมเป็นแกนกลางจัดตั้งรัฐบาล มีเรื่องเล่าค่อนข้างพิสดารว่า หลังรัฐบาลเสนีย์ล้มคว่ำกลางสภา หม่อมคึกฤทธิ์เดินทางไปบ้านประสิทธิ์สุข ของประธานสภาฯ ฉายา “โค้วตงหมง” ที่ปากคลองบางขนาก อ.บางน้ำเปรี้ยว จ.ฉะเชิงเทรา นั่งกินลมชมวิวสองฝั่งแม่น้ำบางปะกง   เงินผันคึกฤทธิ์ พรรคกิจสังคม เป็นพรรคการเมืองที่มีแนวนโยบายเศรษฐกิจก้าวหน้าที่สุด เพราะได้นายธนาคารใหญ่ บุญชู โรจนเสถียร มาเป็นคนร่างนโยบายที่มุ่งให้การเศรษฐกิจจะต้องกระจายออกจากนครหลวงไปยังชนบท ผลงานรัฐบาลคึกฤทธิ์ที่โด่งดังคือ นโยบายเงินผัน วันที่ 25 เมษายน 2518 ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช นายกรัฐมนตรีขณะนั้น สั่งการให้มีการร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม และได้แถลงถึงวัตถุประสงค์ต่อสภาฯ ว่า ต้องการให้สภาตำบลได้นำเงินไปพัฒนาท้องถิ่นของตนเอง ตามความจำเป็นเร่งด่วนแล้ว ยังเป็นการช่วยให้ประชาชนมีงานทำบรรเทาความเดือดร้อนเฉพาะหน้า และเป็นนโยบายหลักของรัฐบาลที่จะต่อสู้กับ “สงครามความยากจนของราษฎร” ที่กำลังผจญอยู่ หลังจากที่พระราชบัญญัติผ่านสภาในวาระแรก สภาฯให้รัฐบาลจ่ายเงินไปก่อนการประกาศใช้เป็นกฎหมาย รัฐบาลได้สั่งผันเงิน 2,500 ล้านบาท สู่ชนบททันที รัฐบาลได้สรุปโครงการผันเงินสู่ชนบทในช่วง 3 เดือน (เมษายน-มิถุนายน) ว่า ประสบความสำเร็จอย่างงดงาม ช่วยให้สภาตำบล 5,026 แห่ง ได้มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเช่น ถนน คลอง ทำนบ สะพาน ฯลฯ จำนวน 41,141 โครงการ ประชาชนนับสิบล้านได้รับการจ้างงานและมีรายได้ นโยบายเงินผัน เป็นรูปธรรมของคำขวัญ “เราทำได้” ของพรรคกิจสังคม และหม่อมคึกฤทธิ์ได้ทำให้เห็นเป็นตัวอย่าง จนถึงวันนี้ มีหลายรัฐบาลได้เดินตามรอย “เงินผันคึกฤทธิ์” เพียงแต่ประดิดประดอยถ้อยคำเสียใหม่ เรียกประชานิยมหรือประชารัฐ เวลาผ่านมาได้ 9 เดือน รัฐบาลผสมของหม่อมคึกฤทธิ์ เริ่มมีความขัดแย้งภายใน จนต้องปรับคณะรัฐมนตรี และตามด้วยการยุบสภาในวันที่ 12 มกราคม 2519 พร้อมกับจัดการเลือกตั้งใหม่ เลือกตั้ง 2522 หม่อมคึกฤทธิ์ ยังนำพรรคกิจสังคมลงแข่งขันเลือกตั้งอีก แต่ไม่ได้เข้าไปร่วมรัฐบาลเกรียงศักดิ์ และปี 2523 พรรคกิจสังคมได้เข้าร่วมรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ในเวลาต่อมา หม่อมคึกฤทธิ์ได้ลาออกจากหัวหน้าพรรคกิจสังคม ในปี 2528 ยุติบทบาททางการเมือง ครั้งที่ 'รงค์ วงษ์สวรรค์ เข้าสัมภาษณ์หม่อมคึกฤทธิ์ ช่วงก่อนเลือกตั้ง 2518 คำถามหนึ่งคือ ถ้าไม่ได้รับเลือกตั้ง จะเล่นการเมืองต่อไปอีกไหม? หม่อมคึกฤทธิ์ตอบว่า “ผมจะถือว่าผมได้รับการปลดปล่อย liberation จริงๆ เลย จะมีความสุขที่สุด ต่อไปนี้ ผมจะเป็นตัวของผมเอง”   เรื่อง: “ชน บทจร” นามปากกานักเขียนอิสระ สมัยที่นำเสนอรายงานการเมือง สังคม และวัฒนธรรม ในนิตยสารข่าวพิเศษ เมื่อ 30 ปีที่แล้ว   อ้างถึง หนังสือ “คึกฤทธิ์แสบสันต์” โดย 'รงค์ วงษ์สวรรค์ กับเพื่อน หนังสือ “เหลียวมองหลัง” โดย เกษม ศิริสัมพันธ์ นสพ.ประชาชาติ รายสัปดาห์