Nocebo: ไสยศาสตร์และความเชื่อ สู่การขูดรีดแรงงานผ่านภาพยนตร์สยองขวัญเชิงจิตวิทยา

Nocebo: ไสยศาสตร์และความเชื่อ สู่การขูดรีดแรงงานผ่านภาพยนตร์สยองขวัญเชิงจิตวิทยา

เมื่อแฟชั่นดีไซนเนอร์สาวถูกเห็บกัด จนนำไปสู่อาการป่วยประหลาดที่แม้แต่หมอก็วินิจฉัยไม่ได้ จนกระทั่งแม่บ้านปริศนาจากฟิลิปปินส์ปรากฎตัวและนำเสนอวิธีการรักษาจากศาสตร์พื้นบ้าน แต่แท้จริงแล้วเธอเป็นใครกันแน่? ร่วมหลอนและปั่นประสาทไปกับภาพยนตร์สยองขวัญ 'Nocebo'

การทำให้สะดุ้งตุ้งแช่หรือฉากจัมพ์สแกร์ด้วยเสียงดัง ๆ ให้ตกใจนับเป็นเครื่องมือที่ถูกใช้ (โคตร) บ่อยเมื่อภาพยนตร์เรื่องดังกล่าวอยู่ในหมวดสยองขวัญ หากตัวละครเอกกำลังเดินในฉากเงียบ ๆ อยู่คนเดียว ด้วยบรรยากาศวังเวงไร้ผู้คน ผู้ชม (โดยเฉพาะสมัยนี้ที่ผ่านการโดนตุ้งแช่มาหลายเรื่อง) ก็ย่อมเตรียมตัวเตรียมใจกันแล้วว่า ‘มาแน่…’

ใช่ ตุ้งแช่แน่ ๆ แต่จะมาในจังหวะไหนก็คงต้องว่ากันอีกเรื่อง บ้างก็โผล่มาหลอกจังหวะเดียว บ้างก็ล็อคหลบสักสองหรือสามจังหวะเอาให้ผู้ชมตั้งตัวไม่ทัน แต่แม้จะล็อคหลบผู้ชมได้มากแค่ไหน แต่เครื่องมือแห่งการทำให้ผู้ชมตกใจชิ้นนี้ หากถูกใช้อย่างจำเจซ้ำเดิม แทนที่จะสร้างความหวาดกลัวก็จะกลายเป็นคสามน่าหงุดหงิดไปแทน (แต่ถ้าใช้อย่างเหมาะสมจริง ๆ มันก็จะสร้างความน่ากลัวได้อย่างแน่นอน)

เราได้เกริ่นถึงเรื่องการจัมพ์สแกร์มาสองย่อหน้า แต่กับภาพยนตร์สยองขวัญเรื่องใหม่ที่เรากำลังจะพูดในบทความนี้อย่าง ‘Nocebo’ (2022) ผลงานของ ‘ลอร์แคน ฟินนิแกน’ (Lorcan Finnegan) เจ้าของผลงานอย่าง Vivarium (2019) ที่ได้แม่เหล็กดึงดูดตาคอภาพยนตร์หลายคนอย่าง ‘อีวา กรีน’ (Eva Green) ที่สร้างชื่อเสียงจาก The Dreamers (2003) และที่ใครหลายคนคุ้นหน้าจาก Casino Royale (2006) แถมยังประกบคู่มากับ ‘มาร์ก สตรอง’ (Mark Stong) ผู้รับบทเป็น ‘เมอร์ลิน’ (Merlin) จนเรียกน้ำตาความซึ่งกับบทเพลง ‘Take Me Home, Country Road’ จาก Kingsman: The Golden Circle (2017) หาได้ใช้เทคนิคจัมพ์สแกร์หรือเครื่องมืออื่น ๆ ตามขนบของภาพยนตร์กระแสหลักมาหลอกหลอนผู้คน

ก่อนจะกล่าวถึงความพิเศษของฝีมือของนักแสดงมากคุณภาพ เราก็คงต้องพูดถึงความเป็นภาพยนตร์สยองขวัญของ Nocebo กันเสียก่อน หลายคนกล่าวว่าการได้ชมภาพยนตร์เรื่องนี้ทำให้หวนนึกถึงความสยองแบบที่เห็นในภาพยนตร์เรื่อง The Babadook (2014) ที่นำเสนอความสยองด้วยการปั่นประสาทผู้ชม แต่ภาพยนตร์เรื่องนี้ทำให้ผู้เขียนหวนนึกถึง ‘The Killing of a Sacred Deer’ (2017) เรื่องราวการแก้แค้นแบบเหนือธรรมชาติจากวิสัยทัศน์สุดเซอร์เรียลของ ‘ยอร์กอส ลานธิมอส’ (Yorgos Lanthimos) และ ‘Requiem for a Dream’ (2000) ที่ตีแผ่ฝันร้ายที่กลายเป็นจริงของผู้ใช้ยาเสพติดโดยผู้กำกับมือดีเรื่องการปั่นหัวคนดูอย่าง ‘ดาร์เรน อโรนอฟสกี’ (Darren Aronofsky)

ความน่าสนใจของ Nocebo คือความที่ภาพยนตร์ทำให้ผู้ชมรู้สึกไม่แน่ใจว่าตนกำลังเจอกับอะไร–ซึ่งเป็นความรู้สึกเดียวกันกับที่ตัวเอกของเรื่องนามว่า คริสตีน (เอวา กรีน) กำลังประสบ หลังจากที่เธอโดนเห็บกัดจากหมาจรจัดตัวหนึ่ง จนทำให้เธอมีอาการประหลาดปวดหัว คลื่นไส้ รวมถึงความทรงจำที่หล่นหายที่แม้แต่ทางการแพทย์ก็หาคำตอบให้เธอไม่ได้… จนกระทั่งเธอมาพบกับแม้บ้านชาวฟิลลิปินส์คนใหม่นามว่า ‘ไดอาน่า’ (รับบทโดย ชัย โฟนาเซียร์ (Chai Fonacier))

"ฉันมาเพื่อช่วย"

แม่บ้านจากต่างแดนคนนี้เดินเข้ามาในชีวิตของครอบครัวคริสตีนอย่างงุนงง แม้แต่คริสตีนเองก็จำไม่ได้ว่าเธอตกลงจ้างเธอคนนี้มาเป็นแม่บ้าน แต่ความน่าสนใจของเรื่องกำเนิดตรงที่ว่าเธอสามารถรักษาคริสตีนจากความเจ็บปวดรวดร้าวทรมานได้ ด้วยพิธีกรรมพื้นบ้านของเธอ

แต่ทำไมเมื่อเธออยู่คนเดียวถึงมีท่าทางที่แปลกประหลาด? แอบฟังคู่สามี-ภรรยาจากช่องว่างระหว่างกำแพง? พกสิ่งของเครื่องรางแปลกตามาด้วย? ทำไมถึงประกอบพิธีอะไรบางอย่างแบบลับ ๆ? แล้วเหตุใดจึงต้องย้ำนักย้ำหนาให้คริสตีน ‘เชื่อใจ’ เธอ?

ผสานกับการเล่าเรื่องผ่านมุมมองของไดอาน่า จึงทำให้เกิดความรู้สึกสับสนในหมู่ผู้คนว่าเรากำลังเจอกับอะไร? แม่บ้านคนนี้ไว้ใจได้จริง ๆ ใช่หรือไม่? เธอเดินเข้ามาในชีวิตของครอบครัวนี้ด้วยความประสงค์ที่ดีหรือมีเงื่อนงำปริศนาอยู่เบื้องหลัง? 

อาจกล่าวไม่ได้เต็มปากนักว่าภาพยนตร์เรื่องนี้จัดอยู่ในหมวดสยองขวัญ แต่เอนเอียงไปในทางจิตวิทยา-ระทึกขวัญ (Psychological Thriller) เสียมากกว่า แต่ถึงกระนั้นความน่าสนใจของ Nocebo คือการที่หนังสามารถทำให้ผู้ชมรู้สึกเดาทางไม่ถูกว่าจะมาไม้ไหน หรือเรื่องราวนี้จะไปจบอย่างไร จึงสร้างความตื่นเต้นในการอยากเดินหน้าหาความจริงไปพร้อม ๆ กับสิ่งที่ตัวละครในเรื่องกำลังเผชิญ

นอกจากนั้น Nocebo ก็ยังเป็นการนำเอาเรื่องเล่าพื้นบ้านจากภูมิภาคจากโซนเอเชียไปแปรรูปเป็นผลงานศิลปะที่ส่งออกไปสู่สายตาผู้ชมทั่วโลกได้อย่างน่าสนใจ แถมยังเป็นการขยายพรมแดนที่จะเปิดทางถึงความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ในการนำเอาวัตถุดิบที่ยังถูกแอบซ่อนอยู่อีกมากมายไปตีแผ่ในรูปแบบของภาพยนตร์หรือศิลปะอื่น ๆ ซึ่งภาพยนตร์เรื่องนี้ก็เป็นตัวอย่างที่พิสูจน์ให้เราได้เห็นอย่างชัดเจนว่า ‘มันเวิร์ค’ 

ดังนั้นถ้าหากคุณเป็นคอภาพยนตร์ที่อยากจะลิ้มลองอะไรใหม่ ๆ ดูบ้าง Nocebo ก็เป็นตัวเลือกหนึ่งที่ไม่เลว

 

/ เนื้อหาต่อไปนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาของภาพยนตร์เรื่อง Nocebo (2022) /

ประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจที่ผูสร้างได้สอดแทรกเข้ามาในภาพยนตร์เรื่องนี้คือการฉายภาพและตีแผ่ความย้อนแย้งของระบบทุนนิยมและเบื้องหลังการเอาเปรียบขูดรีดแรงงานเพื่อผลทางกำไร โดยไม่คำนึงถึงชีวิตความเป็นอยู่และหยาดเหงื่อของผู้คนเหล่านั้นเลยแม้แต่น้อย

เมื่อภาพยนตร์ดำเนินไปจนถึงองค์ที่สาม ความจริงเบื้องหลังเรื่องราวทั้งหมดจึงเผยออกว่าแท้จริงแล้ว แม่บ้านนามว่าไดอาน่า อดีตเคยเป็นแรงงานที่ถูกขูดรีดโดยคริสตีน ผู้เป็นแฟชั่นดีไซนเนอร์ออกแบบเสื้อผ้าให้เด็ก ที่มุ่งลดต้นทุนการผลิตให้มากที่สุดโดยการบีบบังคับให้แรงงานชาวฟิลิปปินส์ (ซึ่งรวมถึงไดอาน่าด้วย)  ทำงานหลายกะติดต่อกันในโรงงานที่ร้อนอบอ้าวไม่ค่อยมีอากาศถ่ายเท 

แถมยังคาดหวังให้พวกเขาผลิตเสื้อให้มากชิ้นมากที่สุด แม้ผู้ตรวตราควบคุมจะบอกว่าหากจะผลิตตามจำนวนชิ้นที่คริสตีนบอกจะทำให้คุณภาพของเสื้อผ้าที่ผลิตลดลง แต่คริสตีนก็ตอบกลับว่า “ทำได้ถ้าตั้งใจ” ซึ่งเป็นจุดที่ชี้ชัดถึงความไม่แยแสถึงคุณภาพชีวิตของแรงงานผู้ถูกกดขี่เลยแม้แต่น้อย ทั้ง ๆ ที่เธอก็วางภาพลักษณ์แบรนด์ของเธอให้ดูอบอุ่นและห่วงใยต่อเด็กมากมายหลายคน แต่ลูกสาวของไดอาน่ากลับต้องนั่งหลบซ่อนอยู่ใต้โต๊ะกับแม่ของเธอ เหตุเพราะไดอาน่าต้องพาลูกมาทำงานด้วย

จนกระทั่งความเลวร้ายทั้งหมดนี่ผันแปรกลายเป็นไฟแค้น เมื่อคริสตีนกังวลว่าแรงงานทั้งหลายที่เธอกดขี่จะแอบขโมยของเล็ก ๆ น้อย ๆ เมื่อเดินออกไปสูดอากาศข้างนอกโรงงานหรือเปล่า เธอจึงสั่งให้เอาโซ่ล็อคโรงงานดังกล่าวไว้ และเมื่อจะเดินออกไปข้างนอกก็ต้องผ่านการตรวจเช็คก่อน แต่แล้วมีอยู่วันหนึ่งที่ไดอาน่าเดินออกไปซื้อน้ำมะพร้าวให้ลูกของเธอที่นอกโรงงาน แต่ระหว่างนั้นเอง ก็เกิดอุบัติเหตุจนไฟไหม้ไปทั้งโรงงาน

ด้วยประตูเหล็กที่ถูกคล้องด้วยโซ่ แรงงานทุกคนรวมถึงลูกสาวตัวน้อยของไดอาน่าก็ถูกขังไว้ข้างในอย่างไร้ทางออก ทำให้ทุกคนที่ติดอยู่ข้างในถูกไฟแผดเผาไปหมดสิ้น แม้ไฟที่ไม้จะถูกดับได้ในหลายชั่วโมงต่อมา แต่มันก็สายไปเสียแล้ว แถมไฟลูกใหม่แห่งการแก้แค้นก็ถือกำเนิดขึ้นในใจของไดอาน่า ซึ่งบันดาลให้เธอมุ่งมาแก้แค้นครอบครัวของคริสตีนด้วยวิธีที่เธอบอกว่าคือ ‘การรักษา’ ดังที่เราได้เห็นมาตลอดเรื่อง…

 

อะไรคือ Nocebo?

เราอาจจะเคยได้ยินกันมาบ้างว่าเคยมีการรักษาบางชนิดที่หมอให้ยาที่ภายในไม่ได้บรรจุสารเคมีใด ๆ เลยนอกจากแป้ง แต่ผู้ป่วยกลับหายได้ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงพลังของความคิดที่มีความเชื่อมโยงต่อสุขภาพร่างกายได้อย่างชัดเจน ซึ่งปรากฎการณ์ดังกล่าวเราเรียกมันว่า ‘Placebo

แต่เหรียญมักมีสองด้านเสมอ ในบางครั้งบางคราว Placebo อาจทำงานแบบตรงกันข้าม กล่าวคือ การที่ให้ยาที่ไร้ซึ่งผลร้ายไป แต่เมื่อแนบข้อมูล (ปลอม) ว่ายานี้จะส่งผลร้าย ผู้ป่วยกลับรู้สึกได้ว่ามีผลข้างเคียงแบบนั้นเกิดขึ้นจริง ๆ ทั้ง ๆ ที่มันไม่ควรจะเกิดขึ้น ซึ่งปรากฎการณ์นี้ก็ถูกเรียกว่า ‘Nocebo’ เฉกเช่นเดียวกับที่เรากล่าวไป ว่าอาการเหล่านี้ชี้ให้เราเห็นถึงอำนาจจิตใจและแนวคิดที่อาจส่งผลต่อสุขภาพได้มากกว่าที่เราคาดคิด 

 

ภาพ: ภาพยนตร์ Nocebo - IMDb

อ้างอิง: https://www.webmd.com/balance/features/is-the-nocebo-effect-hurting-your-health