23 ส.ค. 2565 | 15:00 น.
นับเป็นก้าวสำคัญของการขับเคลื่อนวงการภาพยนตร์ไทยให้วิสัยทัศน์และศักยภาพของคนรุ่นใหม่ถูกมองเห็นและตีแผ่สู่สายตาสาธารณชนมากขึ้น นอกจากนั้นยังเป็นการนำเสนอประเด็นต่าง ๆ ที่นักทำหนังรุ่นใหม่ทุกคนมุ่งมั่นอยากสื่อสาร ให้แพร่กระจายไปในวงกว้างขึ้น โดยภาพยนตร์ทั้ง 4 เรื่องจะมีเนื้อหาเกี่ยวกับประเด็นที่แตกต่างกันไป – การลดทอนความเป็นมนุษย์และแปรเปลี่ยนคนให้แปลงเปลี่ยนไปในค่ายทหาร, ข้อถกเถียงระหว่างจุดยืนการต่อสู้ทางการเมืองสองรูปแบบ: สันติหรือรุนแรง, การอุ้มหาย ปิดปาก ปกปิด และสันดานของคนกรุง และความเหลื่อมล้ำทางฐานะอาชีพที่นำมาตั้งคำถามคู่กับความเชื่อเหนือธรรมชาติ
ภาพยนตร์แต่ละเรื่องล้วนมีสารสำคัญของตนเองที่อยากส่งต่อไปให้ผู้ชม แต่ในขณะเดียวกัน สารเหล่านั้นกลับมีจุดร่วมที่กลมกลืนกันจนปฏิเสธไม่ได้ว่าพวกเขามองเห็นและต้องเผชิญกับปัญหาเดียวกัน ด้วยเหตุนี้เองจึงทำให้ภาพยนตร์ทั้ง 4 เรื่องประกอบรวมกันและสร้างเป็นเสียงสะท้อนให้ ‘ดัง’ กว่าเดิม
ค่ายทหารและความเป็นมนุษย์ที่น่าตั้งคำถาม
“ก่อนหน้านี้เราอาจจะเป็นคนคนหนึ่ง แต่พอออกมาเราอาจจะเป็นอีกคนคนหนึ่งก็ได้…”
เสียง (ไม่) เงียบเปิดด้วยภาพยนตร์ลำดับจากมหาวิทยาลัยศิลปากร นามว่า ‘เรียบ / อาวุธ’ หรือ ‘After a Long Walk, He Stands Still’ โดย กันตาภัทร พุทธสุวรรณ ที่เล่าเรื่องราวของทหารใหม่ที่ต้องเข้าไปรับการฝึกในค่ายทหาร และต้องเผชิญกับวัฒนธรรมธรรมเนียมต่าง ๆ จนทำให้เราตั้งคำถามถึงความเป็นมนุษย์และความถูกต้อง
หากใครได้เคยชมภาพยนตร์ Full Metal Jacket (1980) โดย สแตนลีย์ คูบริก (Stanley Kubrick) ก็คงทราบดีว่าตลอดเรื่อง รวมถึงครึ่งแรกของหนัง แสดงให้เราเห็นถึงการที่คนคนหนึ่งถูกแปลงเป็นเครื่องจักรสังหารโดยการฝึกที่ทำให้ความเป็นมนุษย์ของเขาเจือจางหายไป
ซึ่งใน เรียบ / อาวุธ เราก็ได้เห็นสารตัวหนังพยายามจะสื่อที่คล้ายคลึงกัน แต่สลับมาเป็นบริบทของประเทศไทย ถึงกระนั้น มันก็ไม่ได้เหมือนกันเสียทีเดียว เพราะภาพยนตร์เรื่องนี้ไม่ได้พยายามจะตีแผ่ความชั่วร้ายของสงคราม แต่เป็นการตีแผ่ธรรมเนียมและวัฒนธรรมที่ผิดแปลกจนน่าตั้งคำถามของค่ายทหาร เราจะได้เห็นความไร้สาระ การเอารัดเอาเปรียบ ความเห็นแก่ตัว การหลอกลวงสร้างภาพ และการลดทอนความเป็นมนุษย์และแปรเปลี่ยนให้เขาเป็นเบี้ยล่างที่เชื่อฟัง
ถ้าจะเปลี่ยนแปลงต้องสันติหรือรุนแรง?
“มันคือการที่ผมเอาความลังเลที่ตีกันอยู่ในหัวผมมาปะทะกันผ่านสองตัวละคร – สันติวิธีหรือความรุนแรง”
ภาพยนตร์สั้นเรื่องถัดมาอย่าง ‘คืนพิพากษ์’ หรือ ‘The Reproduction of a Catastrophic Reminiscence’ โดย กุลพัทธ์ เอมมาโนชญ์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นการเล่าเรื่องราวของสถานการณ์สั้น ๆ ที่ชายหนุ่มสองคนมีปากเสียงกันเรื่องจุดยืนการต่อสู้ทางการเมือง คนหนึ่งเชื่อว่าการต่อสู้ต้องลุยและทำในทันที เพราะหากรีรอ ความเสียหายจะยิ่งก่อกำเนิดขึ้นมาเรื่อย ๆ ในขณะเดียวกัน เพื่อนของเขาไม่เห็นอย่างนั้น แม้จะมีทัศนะทางการเมืองไปในแนวเดียวกัน แต่จุดยืนและแนวทางการต่อสู้กลับตรงกันข้าม เขาคิดว่าการต่อสู้ต้องดำเนินไปอย่างใจเย็น การตอบกลับด้วยความรุนแรงไม่เพียงแต่จะไม่แก้ไขอะไร แต่มันยังทำให้สถานการณ์แย่ลงอีกด้วย เพราะรัฐจะได้ความชอบธรรมในการใช้ความรุนแรงตอบกลับ และจะสร้างความเสียหายมากกว่าเดิม
แม้หนังเรื่องนี้ถูกสร้างมาเมื่อสองปีที่แล้ว แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าประเด็นดังกล่าวยังคงเป็นที่ถกเถียงมาถึงปัจจุบัน ว่าสุดท้ายแล้ว การต่อสู้ในแบบที่ควรจะเป็นคืออะไร – เราควรเดินหน้าล้มล้างสิ่งที่ไม่ถูกต้องอย่างเต็มพลังเพื่อที่สร้างความเปลี่ยนแปลงให้เห็นผลเร็วที่สุด หรือเราควรเดินหน้าต่อสู้อย่างใจเย็น พินิจพิเคราะห์ทุกย่างก้าวอย่างมีสติ และปราศจากความรุนแรงที่ไม่จำเป็น
อย่างไรก็ตาม ภาพยนตร์สั้นเรื่องนี้ไม่ได้หาข้อสรุปให้ผู้ชมว่าสิ่งใดถูกและสิ่งใดผิด แต่มันเป็นการแสดงให้เห็นมากกว่าว่าแต่ละจุดยืนก็ล้วนมีเหตุผลเป็นของตนเอง รวมถึงการที่แต่ละคนมีความเชื่อแตกต่างกันก็อาจเกิดขึ้นจากการที่เขามองโลกผ่านเลนส์และสถานการณ์ที่แตกต่างกัน ดังนั้นการจะมาชี้นิ้วบอกว่าความคิดใดถูกหรือผิดคงไม่ใช่คำตอบสัมบูรณ์
ถึงจะไม่ได้สรุปว่าใครถูกหรือผิด แต่เรื่องราวนี้ก็ได้บอกเราอย่างหนึ่งว่า ทั้งคู่เผชิญสถานการณ์และชะตากรรมแบบเดียวกัน…
อุ้มหายและปิดปาก ผลผลิตของสันดานกรุง
ภาพยนตร์ฟิล์มนัวร์ที่ตั้งอยู่ในประเทศไทยยุคทศวรรษ 2530 อย่าง ‘Bangkok Tradition’ หรือ ‘สันดานกรุง’ ผลงานเปี่ยมคุณภาพความดาร์กระทึกขวัญที่เคล้าด้วยตลกร้ายที่สร้างสรรค์โดย ฐามุยา ทัศนานุกุลกิจ แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับด้านมืดดำของสันดานกรุงที่ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีอยู่จริง และไม่แน่อาจจะยังไม่หมดไป…
นับเป็นการนำเสนอประเด็นปัญหาสังคมไทยได้อย่างรอบด้านเปรียบดั่งการอยู่ประเทศไทยนั้นไม่ต่างอะไรกับโลกดิสโทเปียที่เต็มไปด้วยความทุกข์ สันดานกรุงเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับพนักงานสาวที่กำลังจะถูกเลย์ออฟออกจากบริษัทเนื่องจากการปรับโครงสร้าง ในขณะที่ข่าวอาชญากรรมเกี่ยวกับคาเฟ่แห่งหนึ่งที่ถูกสงสัยว่าแอบค้าบริการก็ถูกทิ้งหายกลางทางทั้ง ๆ ที่ปริศนายังไม่ถูกไข ด้วยความหวังที่จะได้เลื่อนขั้นเป็นนักข่าว เธอจึงมุ่งสานต่อข่าวดังกล่าว และทำให้เธอถลำลึกเข้าไปในด้านมืดของสันดานกรุง
แม้ว่าเรื่องราวจะหม่นหมองมืดมน แต่การร้อยเรียงเรื่องราวของสันดานกรุงนับว่าเปี่ยมไปด้วยคุณภาพคับจอ ฐามุยาสามารถมัดคนดูให้ติดจอแต่ไม่ติดที่นั่งได้ตลอดเรื่องราว ไม่เพียงแต่มุกตลกร้ายถูกนำเสนอแบบถูกที่ถูกทางจนคนดูหัวเราะกันลั่นโรง แต่ด้วยบทภาพยนตร์ที่เปรียบดั่งเครื่องยนต์ที่ไม่ถอนคันเร่งจนทำให้คนดูรู้สึกระทึกและอยากติดตามต่อตลอดเรื่อง
ถือเป็นอีกหนึ่งภาพยนตร์ที่ตีแผ่เรื่องราวด้านมืดของ ‘เมืองกรุง’ ได้น่าหดหู่เป็นอย่างมาก แต่หากจะซ้ำความโหดร้ายนี้ให้น่าเศร้าโศกไปมากกว่าเดิม เนื้อหาทั้งหมดนี้ก็หาใช่ว่าเป็นเรื่องเหนือจินตนาการ เพราะมันก็มีเค้าโครงจากเรื่องจริงทั้งนั้น…
ผีร้ายที่ชื่อว่าความเหลื่อมล้ำ
“ทุกคนที่อยู่ข้างล่างเป็นเหมือนผีของคนที่อยู่สูงกว่าที่เขารังเกียจและไม่อยากให้มีอยู่”
ภาพยนตร์ลำดับสุดท้ายเป็นผลงานของ ปัญญา ชู จากมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ที่เล่าเรื่องราวดราม่าที่เคล้าไปด้วยบรรยากาศสยองขวัญ นามว่า ‘แดนฝันสลาย’ หรือ ‘Fatherland’ ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นหน้าต่างที่ให้ผู้ชมได้ส่องเข้าไปดูชีวิตของผู้ที่อาศัยในความยากจนและถูกกดทับอย่างหนักหน่วง
สิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดมากที่สุดคือวงจรความเหลื่อมล้ำและกับดักความยากจนที่ถูกนำเสนอผ่านภาพยนตร์เรื่องนี้ ไม่เพียงแต่ครอบครัวที่ยากจนต้องเผชิญกับสภาวะที่ยากลำบากแล้ว พวกเขาเหล่านั้นยังต้องเผชิญกับสถานะและปัจจัยต่าง ๆ โดยรอบที่ทำให้การตะกายออกจากความยากจนเป็นเรื่องยาก นอกจากนั้น เรายังเห็นได้ว่าความเหลื่อมล้ำมันค่อย ๆ กดทับผู้แพ้มากขึ้นทุก ๆ วัน
Voices of the New Gen 2022
ภาพยนตร์ทั้ง 4 เรื่องล้วนเปล่งเสียงของตัวเองได้อย่างเต็มที่และชัดเจน ซึ่งเป็นการสะท้อนปัญหาที่พวกเขาเห็นออกมาผ่านสื่อภาพยนตร์ให้สาธารณชนได้รับรู้ในวงกว้างขึ้น แน่นอนว่านี่นับเป็นช่องทางแห่งโอกาสและความหวังให้นักทำหนังรุ่นใหม่นำเสนอฝีมือของตนเองสู่อุตสาหกรรม อีกมุมหนึ่งมันก็คือพื้นที่ของนักทำหนังที่มีเสรีภาพในการพูดในสิ่งที่ตัวเองอยากพูดมากขึ้น
แต่ท้ายที่สุดแล้วเราได้เห็นว่าภาพยนตร์มันอาจไม่ใช่แค่สื่อที่ผลิตมาเพื่อความบันเทิงเสมอไป มันอาจจะเป็นสื่อที่ผลิตมาเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงและสะท้อนเสียงของคนคนหนึ่งให้ดังขึ้นกว่าเดิม