พิษสวาท เดอะมิวสิคัล : เมื่อเสียงโซ่ตรวนของ ‘ผีอุบล’ หลอนลั่นรัชดาลัยเธียเตอร์

พิษสวาท เดอะมิวสิคัล : เมื่อเสียงโซ่ตรวนของ ‘ผีอุบล’ หลอนลั่นรัชดาลัยเธียเตอร์

เปิดประสบการณ์หลอนกับ ‘พิษสวาท เดอะมิวสิคัล’ ละครเวทีสุดเล่นใหญ่ที่จะพา ‘ผีอุบล’ กลับมาหลอน หลอก รัก เสียดสี และสะท้อนความเป็นไปของสังคมไทยได้อย่างตราตรึงใจ ผ่าน แสง เสียง คน และดนตรี

การรอคอยได้สิ้นสุดลง

 

ถือเป็นละครเวทีที่มีผู้คนให้ความสนใจและตั้งตารอคอยไม่น้อยกับการกลับมาอีกครั้งในรูปแบบใหม่กับเรื่องราว ‘พิษสวาท’ บทประพันธ์ของทมยันตี ที่ถูกนำมาดัดแปลงเป็นซีรีส์ที่ได้เสียงกระแสตอบรับที่ดีจากผู้ชมไม่น้อย แถม ‘ผีอุบล’ ก็กลายเป็นภาพจำและเอกลักษณ์ที่ใครต่างพากันชื่นชม แต่กลับมาคราวนี้ ผู้ชมจะไม่ได้ดูมันผ่านจอโทรทัศน์หรือตัวอักษรจากหนังสือ แต่ใน ‘พิษสวาท เดอะมิวสิคัล’ ผู้ชมจะได้ประสบมันเสมือนว่าอยู่ในโลกเดียวกันเลยทีเดียว โดยฝีมือการกำกับของ ‘ถกลเกียรติ วีรวรรณ

พิษสวาทเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับ ‘อัคคี’ และปริศนาทับทิมสีเลือดและความฝันประหลาดที่คอยหลอกหลอนเขามาเป็นเวลานาน แต่เรื่องจริงทั้งหมดจะเข้มข้นไปกว่าเดิมเมื่อหญิงผู้หยั่งรู้ลึกลับนามว่า ‘สโรชินี’ ท่ามกลางฉากหลังการเมืองไทยที่อดไม่ได้ที่จะนึกมาถึงสถานการณ์จริงทีเป็นอยู่ในปัจจุบัน

หากจะให้ยกมาหนึ่งเหตุผลว่าทำไม พิษสวาท เดอะมิวสิคัล — ที่เป็นเรื่องราวเดิมที่ใครบางคนอาจจะเคยอ่านนิยายหรือชมฉบับละครโทรทัศน์มาก่อนแล้ว — เป็นอะไรที่น่าสนใจและควรไปลิ้มลองสักครั้งถ้ามีโอกาส คงไม่ต้องไปหาเหตุผลจากอื่นไกล นอกเสียจากตัวตนของมันเองกับการเป็น ‘ละครเวที’ ที่มอบความบันเทิงให้แก่ผู้ชมอย่างครบรส ไม่ว่าจะเป็น หลอน ซึ้ง ภาคภูมิ หรือตราตรึงใจ

ด้วยความที่ไม่เคยได้รับชมมาก่อน ผู้เขียนสงสัยมาตลอดว่าละครเวที ‘สยองขวัญ’ หากต้องการจะทำให้ผู้ชมกลัว จะต้องเล่าออกมาแบบไหน? เพราะหากเป็นเรื่องราวที่ถูกถ่ายทอดผ่านกล้องอย่างภาพยนตร์ เราก็น่าจะทราบกันดีว่ามีหลากหลายปัจจัยที่สามารถะพาผู้สร้างไปบรรลุเป้าหมายดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นเสียง แสง หรือที่สำคัญที่สุด มุมกล้องและขนาดของภาพ

แม้ว่าละครเวทีจะมีหลากหลายปัจจัยที่คล้ายคลึงกับภาพยนตร์ แต่ความสมบูรณ์ในการชี้แนะให้ผู้ชมมองสิ่งที่ต้องการอาจจะไม่ได้เทียบเท่ากับสิ่งที่ถูกถ่ายทอดผ่านกล้อง เพราะทั้งเวทีคือเฟรมของคุณ คุณไม่สามารถคัท โคลสอัพ หรือเคลื่อนมุมกล้องได้ แต่แม้ว่าละครเวทีไม่สามารถทำแบบที่กล้องถ่ายภาพยนตร์ทำได้ แต่ พิษสวาท เดอะมิวสิคัล ก็แสดงให้ผู้เขียนเห็นว่าละครเวทีก็มีทางของตนในการบรรลุเป้าหมายดังกล่าว และการจะบรรยายให้เห็นภาพที่สุด ผมก็ขอยกฉาก ‘เปิดตัวนางอุบล’ ในฉบับที่จำแลงกายมาเป็นมนุษย์ในยุคปัจจุบัน

พิษสวาท เดอะมิวสิคัล : เมื่อเสียงโซ่ตรวนของ ‘ผีอุบล’ หลอนลั่นรัชดาลัยเธียเตอร์

ณ ขณะนั้น การแสดงดำเนินไปอย่างครึกครื้น เสียงเพลงประกอบการเฉลิมฉลองงานเลี้ยงการประมูลบรรเลงอย่างสนุกสนาน แต่ทันใดนั้น ไฟทั้งโรงละครกลับดับลง ตัวละครทุกคนบนเวทีทำท่าทีตกใจเสมือนว่าพวกเขาหลุดจากคาแร็คเตอร์และตกใจที่ไฟนั้นดับจริง ๆ จนพาให้ผู้ชมทุกคน ‘รู้สึกร่วม’ กับการไฟดับนั้น ๆ ด้วย (เราคงไม่รู้สึกเช่นนี้แน่ หากในภาพยนตร์เกิดไฟดับขึ้น)

 

ขออภัยด้วยนะคะ มีเหตุขัดข้องนิดหน่อยที่ทำให้ไฟดับ

 

เสียงของเจ้าหน้าที่ตะโกนมาจากด้านหลังในฝั่งตรงข้ามกับเวทีการแสดงยิ่งตอกย้ำยืนยันข้อสงสัยในใจของผู้ชมเข้าไปใหญ่จนมีอยู่แว้บหนึ่งผู้เขียนเองถึงกับแอบคิดว่า ‘หรือพวกเขาพลาดกันจริง ๆ?’ แต่ก่อนที่ผมจะปักใจเชื่อว่ามีการผิดพลาดเกิดขึ้น ทางด้านประตูทางเข้าโรงละครก็เปิดขึ้น ตามมาด้วยคนสวมชุดสีแดงหามกล่องสีเหลี่ยมผืนผ้าเข้ามาตามทางเดิน มุ่งหน้าสู่เวที 

 

นั่นมันโลงศพนี่!

 

ผู้เขียนชักไม่แน่ใจว่าเสียงดังกล่าวมาจากที่ใด บนเวทีหรือบริเวณผู้ชม แต่นั่นไม่ใช่เรื่องสำคัญ เพราะ หากมาจากบนเวที พวกเขาก็ทำสำเร็จในการดึงผู้ชมเข้าไปอยู่ในโลกเดียวกับพวกเขาจนทำให้เสียงของเขาทะลุออกมานอกจอ จนผู้ชมอย่างผมคิดว่าคนข้าง ๆ เป็นคนเอ่ยมันขึ้นมา หรือหากเสียงนั้นมาจากบริเวณผู้ชม ก็ถือเป็นหลักฐานที่ชี้ชัดว่าผู้ชมถูกลากเข้าไปในโลกของละครเวทีอย่างสมบูรณ์ จากจุดนี้ ผมสามารถพูดได้ว่า พิษสวาท เดอะมิวสิคัล สามารถสร้างปรากฎการณ์ที่ผู้ชมมีประสบการณ์ร่วมได้น่ามหัศจรรย์เป็นอย่างมาก

ท่ามกลางความเงียบงันของโรงละคร มีเพียงเสียงโซ่ตรวนลากพื้นที่ก้องกังวาลทั่งโรงประกอบขณะที่ชายสวมชุดแดงหลายคนยกโลงศพมากับตัว ความเคลื่อนไหวพร้อมเสียงโซ่ เคลื่อนที่มาช้า ๆ แต่ด้วยความเชื่องช้านั้นเองที่เป็นเสน่ห์ที่สร้างความขนลุกให้กับการเปิดตัวของ ‘นางอุบล’ ตัวละครหลักที่ใครหลายคนเฝ้ารอที่นำแสดงโดย นักแสดงละครเวทีสาวยอดฝีมืออย่าง ‘แก้ม-กุลกรณ์พัชร์ เมอนาร์ด

ต้องขอกล่าวชื่นชมงานเบื้องหลังของละครเวทีเรื่องนี้ที่เป็นปัจจัยสำคัญที่สร้างเสริมพลังให้ละครเวทีสามารถถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกและดึงผู้ชมเข้าไปร่วมอยู่ในเรื่องด้วยอย่างมหัศจรรย์ โดยเฉพาะแสงไฟที่ไม่เพียงส่องความสว่างหรือฉายสป็อตไลท์เน้นบุคคล แต่ยังขยับไปถึงสร้างภาพที่สวยงามดั่งงานศิลปะจนบางจังหวะผู้ชมก็พากันปรบมือกันอย่างพร้อมเพรียง

นอกจากนั้นแล้ว ที่ขาดไปไม่ได้เลยก็ต้องเป็นเหล่านักแสดงมากความสามารถหลากหลายคน โดยเฉพาะ ‘ตู่-ภพธร สุนทรญาณกิจ’ ที่เป็นผู้สวมบทบาท อัคนี พระเอกของเรื่อง แต่ดาวเด่นผู้เป็นไฮไลท์ของโชว์นี้ก็ต้องยกให้กับ ‘ชาย-ชาตโยดม หิรัณยัษฐิติ’ ที่มาในบทวายร้ายนามว่า ‘ดนัย’ นักการเมืองผู้โลภมาก กับโชว์ร้องเล่นเต้นรำที่อลังการเกินความคาดหมาย แม้จะเป็นตัวร้าย แต่ก็อดยิ้มไม่ได้เมื่อเขาปรากฎตัวออกมาในฉากนั้น ๆ

พิษสวาท เดอะมิวสิคัล : เมื่อเสียงโซ่ตรวนของ ‘ผีอุบล’ หลอนลั่นรัชดาลัยเธียเตอร์

ด้วยความที่เป็น ‘มิวสิคัล’ (Musical) หรือละครเพลง ก็คงจะไม่พูดถึงดนตรีเป็นไม่ได้ อีกข้อเด่นและความน่าสนใจของพิษสวาทเวอร์ชั่นนี้ก็คงต้องยกให้ ‘เพลง’ ที่ถูกแต่งขึ้นเพื่อดำเนินเนื้อเรื่องและเล่าความในใจของตัวละคร ซึี่งไม่เพียงแค่มันถูกขับร้องและบรรเลงออกมาอย่างไพเราะเท่านั้น แต่ท่าเต้นและการแสดงประกอบก็ยิ่งใหญ่ตระกาลตาจนไม่อยากจะละสายตาออกมาเลยทีเดียว

ทั้งหมดที่ผู้เขียนได้กล่าวมาในบทความนี้เป็นเพียงแค่น้ำจิ้มของโชว์ทั้งหมดเพียงเท่านั้น เพราะ พิษสวาท เดอะมิวสิคัล ที่มีความยาวกว่า 2 ชั่วโมง 40 นาที ยังมีความน่าสนใจอีกมากมายรอให้พวกคุณได้ไปลองประสบอีกมาก หากใครเป็นหนึ่งในผู้ชื่นชอบเรื่องราวรักหลอนซ่อนแค้นนี้ หรือเป็นใครสักคนหนึ่งที่อยากมีประสบการณ์การชมละครเวทีดี ๆ สักเรื่อง พิษสวาท เดอะมิวสิคัลถือเป็นตัวเลือกที่ผู้เขียนไม่ลังเลที่จะแนะนำ

 

ภาพ: พิษสวาท เดอะมิวสิคัล