01 ก.ค. 2566 | 16:00 น.
“หวยงวดนี้ออกอะไร?”
ย่อมเป็นคำถามยอดฮิตในแทบทุกช่วงเดือนและกลางเดือนสำหรับเหล่าผู้คนที่ศรัทธาในการลุ้นเลข ไม่ว่าจะเป็นรางวัลเล็กหรือใหญ่ การได้คาดหวังและลุ้นไปกับผลลัพธ์ที่ตามมาย่อมน่าตื่นเต้นเสมอ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่สลากกินแบ่งรัฐบาล (หรือแม้แต่การพนันรูปแบบต่าง ๆ จะเป็นที่นิยมอย่างมาก แม้ว่าโอกาสที่จะชนะนั้นต่ำกว่าโอกาสที่จะเสียหลายเท่าตัว)
แต่คำถามที่น่าถามต่อคือว่า เพราะอะไรการเสี่ยงทายมันจึงน่าพิสมัยนัก? เป็นเพราะนี่คือความเร้าใจที่ถูกฝังมาในสัญชาตญาณในการอยู่รอดของเราที่มีมาตั้งแต่บรรพบุรุษหรือเปล่า หรือเป็นเพราะภาพความคาดหวังที่จะได้รับรางวัลใหญ่มันเย้ายวนเกินต้านไหว? หากจะเจาะลึกถึงประเด็นเหล่านี้อย่างรอบด้าน เราคงต้องมองมันผ่านเลนส์ของเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม (Behavioral Economics)
ซึ่งเราจะไม่ใช่เป้าหมายที่เรามุ่งไปถึงในครั้งนี้…
สิ่งที่ผู้เขียนอยากจะนำเสนอในครั้งนี้คือเหตุผลที่ว่า การได้เสี่ยงทายมันย่อมเป็นกิจกรรมที่น่าพิสมัยก็ต่อเมื่อผลที่จะได้รับเป็นบวก กลับกันโดยสิ้นเชิง หากผลที่ ‘ผู้โชคดี’ จะได้รับนั้นเป็นลบมากกว่าจะเป็นบวก ความรู้สึกเหล่านั้นจะยังคงเดิมอยู่ไหม? แน่นอนว่าคงไม่…
เนื่องในวันหวยออก The People จึงอยากจะนำเสนอบทวิเคราะห์ของเรื่องสั้นสยองขวัญเสียดสีสังคมที่แม้จะมีอายุกว่า 75 ปี แต่ใจความเสียดสีของมันยังดังก้องมาถึงปัจจุบัน ไม่เพียงแค่เทคนิคการร้อยเรียงเล่าเรื่องของ ‘เชอร์ลีย์ แจ็คสัน’ (Shirley Jackson) จะเป็นการสำแดงศิลปะการเล่าเรื่องที่สามารถนำมาถอดบทเรียนได้อย่างคุ้มค่า แต่สารที่เธอมุ่งสื่อออกมาเกี่ยวกับขนบธรรมเนียมประเพณีของมนุษย์นั้นอดไม่ได้ที่จะมองย้อนมาถึงตัวเราเอง
เรากำลังพูดถึงเรื่องสั้นที่ตีพิมพ์ลงนิตยสาร The New Yorker เมื่อวันที่ 26 เดือนมิถุนายน ปี 1948 ในชื่อเรื่องว่า ‘The Lottery’ ในวันที่หวยลงที่คุณ…
/ บทความนี้เป็นเพียงความเห็นและบทวิเคราะห์จาก The People ที่มีต่อเรื่องสั้น The Lottery ทางเราแนะนำว่า หากผู้อ่านอยากจะได้รับประสบการณ์อย่างเต็มอรรถรส และอยากเข้าใจเท่าทันบทวิเคราะห์ที่ The People กำลังจะนำเสนอต่อไปนี้อย่างไม่ขาดตกบกพร่อง เราขอแนะนำว่าให้ผู้อ่านได้ไปอ่านเรื่องสั้นต้นฉบับเสียก่อน โดยเราจะแนบลิงก์ของเรื่องสั้นดังกล่าวไว้ที่คอมเมนต์ /
เรื่องย่อ
The Lottery เล่าเรื่องราวในช่วงหน้าร้อนที่มีบรรยากาศร่มรื่นน่าอยู่อาศัยของหมู่บ้านแห่งหนึ่ง โดยในวันนั้นก็เป็นวันธรรมดาอีกวันหนึ่งที่หมู่บ้านแห่งนั้นจะมีประเพณีที่สืบสานกันมานานจากรุ่นสู่รุ่น โดยทุกคนจะมาล้อมวงรอบกล่องดำเพื่อที่แต่ละคนจะสามารถหยิบลอตเตอรี่ใบของตนได้ และทุกคนในหมู่บ้านต้องหยิบคนละหนึ่งใบ
แต่เมื่อพูดถึงลอตเตอรี่ แทนที่จะเป็นบรรยากาศครื้นเครงเหมือนการจับรางวัลปีใหม่ กลายเป็นว่าทุกคนที่ร่วมวงกลับเงียบขรึมไม่พูดจาเสมือนว่าไม่มีใครดีใจเลยแม้แต่น้อยที่จะได้ลองเสี่ยงดวง หลังจากที่พิธีการดำเนินไปถึงจุดสิ้นสุด ทุกคนได้ใบเสี่ยงโชคของตนเองแล้ว ก็มีหญิงรายหนึ่งประท้วงไม่พอใจที่สามีของเธอเป็น ‘ผู้โชคดี’ ถูกรางวัล ท้ายที่สุดจึงได้มีการจับใหม่ภายในครอบครัวของเธอเอง และ ‘ผู้โชคดี’ รายต่อไปคือเธอเอง หญิงที่ประท้วงให้สามี เธอคือผู้ ‘ถูกหวย’
หลังจากนั้นชาวบ้านก็ดำเนินตามขนบธรรมเนียมเดิม คือการหยิบหินกันคนละก้อน ไม่เว้นแม้แต่เด็กหรือคนแก่ รวมถึงลูกเล็กของเธอด้วย แล้วรุมปาหินใส่ ‘ผู้โชคดี’ รายนั้นจนถึงแก่ชีวิต ดูเหมือนว่าในหมู่บ้านนี้ การถูกหวยคงไม่ใช่เรื่องที่สามารถนับเป็นเรื่องโชคดีได้สักเท่าไร…
ความงามของความไม่ชัดเจน
ความชัดเจนย่อมเป็นเรื่องดี แต่อาจไม่เสมอไป โดยเฉพาะกับศิลปะการเขียนและการเล่าเรื่อง การปล่อยบางเรื่องราวหรือชิ้นข้อมูลเป็นปริศนาหรือไม่ต้องเล่าต่อ ไม่เพียงแต่ยังเป็นการสร้างเสน่ห์และความน่าค้นหาให้กับเรื่องราวที่ถูกเล่า แต่ยังเป็นการเหลือพื้นที่ให้กับผู้คนได้ลองจินตนาการภาพหรือเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นเป็นสิ่งต่อไป ทั้งยังช่วยยกระดับการเล่าเรื่องราวให้น่าสนใจขึ้นได้อย่างไม่น่าเชื่อ
ตลอดเรื่องราวทั้งหมด จนไปถึงบทสรุปของเรื่องสั้น แจ็คสันไม่เขียนอธิบายผู้อ่านเลยแม้แต่น้อยถึงที่มาหรือที่ไปของประเพณีวิปลาสเหล่านี้ว่ามีที่มาจากไหน หรือมาได้อย่างไร ผู้อ่านเพียงแต่ได้รับรู้สิ่งที่เป็นอยู่ไม่ต่างอะไรจากประชากรคนอื่น ๆ ในหมู่บ้านที่รับสารมาในแบบเดียวกันว่า
‘เพราะเขาทำกันมา เราจึงต้องเดินหน้าทำกันต่อไป’
การละทิ้งข้อมูลหรือความคลุมเครือเช่นนี้สร้างความรู้สึกให้เราเห็นถึงความไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ยหรือเหตุผลต่าง ๆ ในการที่เราจะทำอะไรบางสิ่งต่อไป ไม่ต้องรู้ถึงที่มาก็ได้ ไม่ต้องนึกถึงความเป็นไปในปัจจุบันก็ได้ เพราะหากเขาทำกันมา หน้าที่ของคนในยุคปัจจุบันก็คือการทำมันต่อไป…
เราจะเห็นได้ว่า การเล่าเรื่องเพิ่มเติมอาจจะไม่ได้มาจากการใส่ข้อมูลไปมาก ๆ ให้ชัดเจน แต่เป็นการละทิ้งข้อมูลบางสิ่งเพื่อสื่อสารอะไรที่ยิ่งใหญ่กว่าให้แก่ผู้อ่าน เพราะสารบางอย่างอาจจะไม่จำเป็นต้องนำเสนอผ่านข้อมูล แต่เป็นอารมณ์ที่ผู้อ่านจะได้รับมากกว่า
แต่ก็ใช่ว่าแจ็คสันไม่ได้พยายามเล่าสิ่งเหล่านี้ แต่เธอเลือกที่จะเล่ามันด้วยชั้นเชิงที่น่าสนใจ เสมือนว่าผู้อ่านเป็นคนที่ช่างสังเกตคนหนึ่งแล้วหลุดไปยังหมู่บ้านแห่งนี้โดยไม่มีใครแนะนำหรือเกริ่นเล่าถึงอดีตให้เราฟังเลย ซึ่งก็จะสะท้อนผ่านจากการกระทำหลายอย่างตั้งแต่ต้นจนจบ ไม่ว่าจะเป็นการที่เด็ก ๆ นำหินมากองรวมกันในตอนต้นเรื่อง หรือการที่ ‘ซัมเมอร์ส’ (Summers) กล่าวอย่างเฉยเมยว่า
“All right, folks. Let’s finish quickly.”
เดินตามผู้ใหญ่หมาไม่กัด(?)
“
พวกเด็กโง่ อย่าไปฟังไอ้พวกนี้มาก ไม่เคยมีอะไรดีพอให้พวกมันหรอก
อีกหน่อยมันคงอยากไปอยู่ในถ้ำแล้วมั้ง…
เขาทำกันมาตั้งนานแล้ว เราก็ต้องทำกันต่อไป
”
คือคำกล่าวของผู้อาวุโสคนหนึ่งในเมืองที่ตัวเขาเองก็ไม่รู้ถึงต้นสายและที่มาของประเพณีอันโหดเหี้ยมนี้เลยแม้แต่น้อย (ผมเองก็ไม่ทราบว่าเขาเห็นประโยชน์จากมันหรือเปล่าด้วยซ้ำ) แต่เขาเป็นคนที่ขอยืนกรานที่จะทำมันต่อไป ซ้ำยังบอกอีกว่าไอ้เมืองที่ยกเลิกประเพณีแบบนี้มีแต่พวกโง่เขลาเบาปัญญา สรรหาแต่จะเรียกร้องและหาอะไรใหม่ ๆ และสลัดทิ้งแต่ขนบธรรมเนียมเดิม
ทัศนคติของผู้อาวุโสท่านนั้นไม่เกินความจริงในสังคมของเราเลยแม้แต่น้อย เราจะพบเห็นคนประเภทนี้ได้ทั่วไป และแนวคิดเช่นนี้เองที่อาจจะเป็นท่อน้ำเลี้ยงให้วัฒนธรรมหรือขนบธรรมเนียมประหลาดไร้ประโยชน์หลาย ๆ สิ่งคงอยู่โดยไม่จางหายไป ไม่มีแม้แต่การพิจารณาถึงข้อดี ข้อเสีย และความเป็นจริง ยึดเอาแต่หลักว่ามันเคยทำอยู่ และมันต้องทำต่อ การพัฒนาและวิวัฒน์ไปข้างหน้าจึงเป็นการยากที่จะเกิดในสังคมเช่นนี้
ไม่เพียงแต่ The Lottery ได้นำเสนอปัจจัยที่ช่วยคงรักษาให้ประเพณีประหลาดเหล่านี้คงอยู่ แต่แจ็คสันยังได้ลองโยนหินถามทางแบบเนียน ๆ ว่าเป็นเพราะเหตุนี้หรือเปล่าที่ทำให้อะไรแบบนี้ยังคงอยู่ เป็นเพราะตัวเราเองหรือเปล่าที่นิ่งเฉยต่อมัน เพราะเราเองยังไม่ได้รับผลกระทบ จึงไม่ลงมือทำอะไรเลย ซึ่งจะเห็นได้ชัดจากตัวละครของภรรยาผู้ถูกหินปาจนถึงแก่ชีวิต ดังที่เธอกล่าวว่า
“It isn’t fair, it isn’t right.”
เธอเองได้ประท้วงไปคราวหนึ่งแล้ว ในตอนที่สามีของเธอคือผู้โชคดี และเธอก็ประท้วงอีกครั้งเมื่อเธอเองคือผู้โชคดี คำถามที่น่าตั้งกับคำพูดที่คลุมเครืออันนี้คือ
‘อะไรคือความอยุติธรรมในนิยามของเธอ?’
‘อะไรคือความไม่ถูกต้องที่เธอกำลังกล่าวถึง?’
ไม่ถูกต้องที่เธอเป็นผู้โชคดี หรือไม่ถูกต้องที่ประเพณีนี้ยังคงอยู่ และผู้คนรอบข้างได้สังเกตหรือสัมผัสได้ถึงความวิปลาสที่ตั้งอยู่เบื้องหน้าของพวกเขาหรือไม่ หรือแค่อยู่รอดไปวัน ๆ แล้วภาวนาให้ครั้งถัดไปไม่เป็นเราก็พอ?
เป็นเพราะความนิ่งเฉยและเห็นแก่ตัวของเราเองโดยไม่สนใจทุกข์ของผู้อื่นแบบนี้หรือไม่ ที่ทำให้การเปลี่ยนแปลงไม่มาถึง ต้องรอให้ถึงคราวที่เราเป็นผู้โชคดี ก่อนใช่หรือไม่ จนกว่าเราจะลุกขึ้นมายืนหยัดและล้มล้างอะไรที่ไม่ถูกต้อง
หรือเราต้องรอให้ ‘หวย’ กลายเป็น ‘รัสเซียนรูเล็ต’ ก่อน ดวงตาของเราจึงจะเบิกกว้างว่าควรทำอะไรสักอย่าง?
อย่ารอจนกว่าวันที่หวยออกที่คุณถึงกล้าที่จะทำอะไรสักอย่าง
ภาพ : The Lottery graphic novel by Miles Hyman / The Lottery (1969)