13 ก.ย. 2566 | 18:29 น.
“ฉันตายโดยปราศจากคนที่รักฉัน แต่ฉันก็อิ่มใจว่า ฉันมีคนที่ฉันรัก”
“คุณบอยคะ แล้วใน ‘WATERFALL a new musical’ จะมีประโยคนี้ไหมคะ” เราเอ่ยถาม ‘คุณบอย’ ถกลเกียรติ วีรวรรณ ระหว่างการสัมภาษณ์เมื่อช่วงต้นเดือนสิงหาคม
“ไม่มี ๆ มันคนละเรื่อง อย่าคาดหวังว่าจะได้เจอคุณหญิงกีรติบนเวทีนะ ไม่มีนะ” เจ้าพ่อละครเวทีหัวเราะร่วนพร้อมปฏิเสธพัลวัน
เอาละสิ คุณหญิงกีรติก็ไม่มี ประโยคคลาสสิกก็ไม่มี แถมใช้นักแสดงต่างชาติอีกต่างหาก แล้วมิวสิคัลที่บอกว่าได้แรงบันดาลใจจาก ‘ข้างหลังภาพ เดอะมิวสิคัล’ มันจะออกมาหน้าตาเป็นยังไงนะ เราเริ่มสงสัยตั้งแต่นั้น
หลังจากเก็บความสงสัยมานานนับเดือน ในที่สุดวันที่รอคอยก็มาถึง… วันที่มีการจัดแสดงรอบพรีวิวของ WATERFALL a new musical
ตอนรับบัตรสารภาพว่าตกใจมากที่ได้นั่งแถว B (แถวที่ 2 จากหน้าเวที) เพราะส่วนตัวเวลาไปชมละครเวที จะชอบนั่งกลาง ๆ หรือไม่ก็แถวหลัง เพื่อจะได้เห็นภาพในมุมกว้าง และจะได้รู้ว่านักแสดงเจ๋งพอที่จะส่งอารมณ์ถึงคนดูด้านหลังหรือเปล่า?
พอได้นั่งหน้าเวทีขนาดนั้นเลยแอบถอดใจเบา ๆ ไหนจะกังวลว่าจะมองซับไม่เห็นอีก เพราะมิวสิคัลเรื่องนี้ speak English กันทั้งเรื่อง โอย แล้วจะดูรู้เรื่องไหมเนี่ย
ระหว่างที่กำลังนอยด์เล็ก ๆ ทันใดนั้นม่านก็เปิด
** มีการเปิดเผยเนื้อหาบางส่วนของ WATERFALL a new musical
สิ่งแรกที่ทำให้พลังลบในหัวเราจางหายไปอย่างรวดเร็วคือคุณหญิงกีรติ เอ้ย! ‘แคทเธอรีน’ ที่รับบทโดย ‘แดเนียลล์ โฮป’
แดเนียลล์ โฮป อาจไม่ใช่คนสวยผุดผาดบาดตา แต่เธอมี charisma บางอย่าง ที่ทำให้การร้อง การพูด การเคลื่อนไหว น่าดูน่ามองจนมิอาจละสายตาได้ แม้ในตอนที่เธอไม่มีบทพูดอะไร
ตลอดทั้งเรื่อง แดเนียลล์ โฮป ทำให้เราเชื่อว่า เธอเป็นทั้งหญิงสาวที่กำลังตื่นเต้นกับการได้กลับมาเมืองไทย เป็นหญิงสาวที่บังเกิดรักต้องห้ามกับชายหนุ่มที่เป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของสามี และเป็นหญิงสาวที่พบกับความผิดหวังเมื่อเด็กหนุ่มที่เธอรอคอยกลายเป็นชายหนุ่มที่เธอแทบไม่รู้จัก
เราชอบทุกการปรากฏตัวของเธอ จนลืมไปเลยว่าเธอกำลังใช้ภาษาพูดที่เราไม่ถนัด และลืมอ่านซับไปโดยปริยาย เราคิดว่าเป็นเพราะแดเนียลล์ โฮป สื่อสารกับพวกเราด้วยภาษาที่เป็นสากล แต่ไม่ cliché เช่น ฉากที่เธอยืนรอนพพรที่ท่าเรือ แล้วต้องพบกับความผิดหวัง เมื่อเห็นว่าเขามีหญิงสาวอีกคนเคียงข้าง
ฉากนี้ แดเนียลล์ โฮป ไม่ได้ร้องไห้ฟูมฟายเพื่อพยายามบอกคนดูว่าเธอกำลังเสียใจอยู่นะ แต่บางจังหวะเธอใช้มือลูบท้องตัวเองอย่างแผ่วเบา แสดงถึงอาการมวน ๆ โหวง ๆ ในท้อง ซึ่งถ้าใครเคยผ่านความสะเทือนใจที่เกิดขึ้นอย่างกะทันหัน จะเข้าใจความรู้สึกนี้ดี
แน่นอนว่ารายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่เธอเก็บทุกเม็ดนี้ ทำให้เราถึงกับขนลุก
ไม่นับฉากที่เธอเอ่ยคำว่า ‘รัก’ คำแรก ด้วยน้ำเสียงที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความรู้สึกที่อัดแน่นและเก็บกดไว้ในใจมานาน มันทำให้เราคลายสงสัยในข้อที่ว่า สรุปแล้วเธอรักตัวเองหรือนพพรมากกว่ากัน
อวยนางเอกซะขนาดนี้ อย่าเพิ่งคิดว่าแดเนียลล์ โฮป เป็นนางแบกของเรื่อง เพราะนักแสดงชายอีก 2 คน ก็โดดเด่นไม่แพ้กัน สมกับเป็นมิวสิคัลที่เป็นเรื่องราวของ ‘รักสามเส้า’ ท่ามกลางสถานการณ์สงคราม
เริ่มที่ ‘นพพร’ ซึ่งรับบทโดย ‘จ๊อช เดอ ลา ครูซ’ ที่ทำให้เราเห็นพัฒนาการชัดเจนของเด็กหนุ่มผู้มีความฝันที่จะทิ้งทุกอย่างในประเทศเพื่อไล่ล่าเสรีภาพ รวมถึงหนุ่มน้อยที่ตกหลุมรักหญิงสาวที่ไม่ควรรัก ตลอดจนชายที่เติบโตทั้งในด้านความคิดและความรัก
ฉากที่ทำให้เราประทับใจจ๊อชมากที่สุด เห็นจะเป็นฉากที่น้ำตกมิตาเกะ โดยเฉพาะตอนที่เขาเอ่ยปากขอให้แคทเธอรีนลงมาเล่นน้ำด้วยกัน แล้วยื่นมือรอให้หญิงสาวจับเพื่อตอบรับ… ไม่ใช่แค่ตอบรับลงไปเล่นน้ำเท่านั้น แต่เป็นการตอบรับความรักไปด้วยในตัว แล้วจากนั้นทั้งคู่ก็เต้นรำอย่างมีความสุขบนสายธารที่ไหลจากน้ำตกมิตาเกะ (ที่คุณบอยภูมิใจนำเสนอ)
และฉากน้ำตกมิตาเกะนี้เองที่ทำให้เรารู้ว่า เราได้ที่นั่งที่ The Best มาก ๆ เพราะได้ความรู้สึกเหมือนได้ไปนั่งแอบดูแคทเธอรีนกับนพพรแสดงความรักต่อกัน ผ่านลีลาการเต้นที่ทั้งสนุกและโรแมนติก แถมบางช่วงหยดน้ำจากน้ำตกยังกระเด็นมาถึงด้านหน้าเวที จนเราเผลอเบี่ยงตัวหลบโดยไม่รู้ตัว (โอเค หายน้อยใจที่ให้นั่งข้างหน้าละ)
แต่ไม่ต้องห่วงนะ มันไม่ได้เปียกแฉะคนดูขนาดนั้น คนที่รับไปเต็ม ๆ น่าจะเป็นวาทยกรด้านล่างเวทีมากกว่า
อีกอย่างที่เราชอบในฉากน้ำตกคือการได้มองเห็นสัจธรรมนั่นคือ ‘ความไม่จีรัง’ ของสรรพสิ่ง เช่นเดียวกับน้ำที่ไหลลงมาจากหุบเขา ที่ไหลผ่านไปแล้วผ่านไปเลย ไม่มีวันไหลย้อนกลับมาให้เห็นอีกครา
เราว่าจุดนี้ค่อนข้าง ‘ลึกซึ้ง’ มากสำหรับนพพร และเราหวังว่าตัวละครนี้จะได้ตระหนักถึงความไม่จีรังในช่วงที่เขาเผชิญความสูญเสียในฉากท้าย ๆ
ตัวละครชายอีกคนที่ไม่พูดถึงไม่ได้คือ ‘เจ้าคุณอธิการบดี’ ที่รับบทโดย ‘จอน จอน บริโอนส์’ ที่ออกมาฉากแรก รัศมีผู้ชายร้าย ๆ เต็มไปด้วยเล่ห์เหลี่ยมชั้นเชิงก็สว่างวาบออกมา ยิ่งตอนที่ขึ้นเสียงใส่นพพรต่อหน้าแคทเธอรีน ก็ทำเอาคนดูตกใจจนหน้าชาไปตาม ๆ กัน
แต่กลายเป็นว่าตัวละครนี้ไม่ได้มีแค่มิติเดียวอย่างที่เราคิด เจ้าคุณอธิการบดีเวอร์ชั่น WATERFALL a new musical กลายเป็นตัวละครที่น่าสงสาร และน่าเห็นใจมากที่สุด เพราะไหนจะต้องเครียดกับสถานการณ์การเมืองระหว่างประเทศ เขายังต้องเครียดกับปัญหารักสามเส้า ที่ตัวเองก็รู้อยู่เต็มอกว่าทำดีให้ตายยังไงเธอก็ไม่รัก
ใน WATERFALL a new musical นอกจากจะกลมกล่อมด้วยการแสดงคุณภาพระดับบรอดเวย์แล้ว เรายังชอบการใช้ ‘สัญลักษณ์’ ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น ‘ผ้าพันคอสีแดง’ ที่เปรียบเหมือนความรักที่จะเก็บไว้กับตัวก็ไม่ได้ จะโยนทิ้งก็ไม่ได้ ทำได้อย่างเดียวคือรอวันนำมาคืนเจ้าของ
รวมถึงประโยคที่บอกให้อีกฝ่าย ‘นอนหลับฝันดี’ ซึ่งถูกเอ่ยครั้งแรกจากปากชายหนุ่มที่กำลังตกหลุมรัก และถูกเอ่ยอีกครั้งในความหมายที่แทบไม่ต่างจากคำว่า ‘ลาก่อน’ จากปากหญิงสาวที่เคยเป็นคนที่ถูกรัก
ประโยคเดียวกัน คนพูดคนละคน พูดคนละบริบท ความหมายต่างกันลิบโลก ทั้งยังสะท้อนด้วยว่า แคทเธอรีนไม่เคยลืมนพพรไปจากหัวใจเลย เธอยังคงจดจำทุกเรื่องราวของเขาได้เสมอ... แต่แล้วยังไงละ ในที่สุดเธอก็ตัดสินใจเลือกเจ้าคุณฯอยู่ดี เหมือนกับที่นพพรตัดสินใจเลือกหญิงสาวที่เป็นคู่หมั้นคู่หมายเขามาตั้งแต่เด็ก
ทั้งคู่เลือกคนที่เขารักเรา ไม่ใช่คนที่เรารัก แต่กลายเป็นว่าไม่ว่าจะผ่านไปนานแค่ไหน ทั้งคู่ก็ยังมิอาจลืมคนที่ตัวเองรักได้อยู่ดี
นอกจากประเด็นเรื่องความรัก ทำนองว่าเราควรเลือก ‘คนที่เรารัก’ หรือ ‘คนที่รักเรา’ เรายังชอบประเด็นเรื่อง ‘การบาลานซ์’ ระหว่างรากเหง้าดั้งเดิมกับโลกสมัยใหม่
ฉากหนึ่งที่เราชอบมากคือตอนที่นพพรพรั่งพรูความรู้สึกรักชาติรักอุดมการณ์ออกมา ยืนยันว่าจะไม่ย้ายไปอยู่อเมริกาอย่างที่ใฝ่ฝันในตอนต้นเรื่อง แล้วเจ๊เจ้าของผับญี่ปุ่นก็ยืนซึ้งน้ำตาปริ่ม จนเราแอบคิดว่าเจ๊แกจะตัดสินใจอยู่บ้านเกิดตัวเองต่อไป แต่กลายเป็นว่าเจ๊แกดันตอบด้วยประโยคชอตฟีลมาก
“ฉันขอไปอยู่อเมริกาดีกว่า เพราะอย่างน้อยอเมริกาก็ไม่จับฉัน เพราะฉันเป็นคนญี่ปุ่น”
ได้ยินประโยคนี้ เรายังแอบคิดว่า ตัวบทเองก็พยายามที่จะ ‘บาลานซ์’ แล้วเช่นกัน แต่อยู่ที่ใครจะหยิบจับประเด็นไหนไปอินมากกว่า
ส่วนที่อยากให้คุณบอยเพิ่มความบาลานซ์อีกเยอะ ๆ (อยากให้ออกมาเยอะ ๆ) ในมิวสิคัลเรื่องนี้ คือตัวละคร ‘นวล’ หญิงรับใช้หัวโบราณของแคทเธอรีน ที่เรียกเสียงฮาจากคนดูทั้งโรงละคร ทั้งที่ออกมาเพียงไม่กี่ฉาก
นวลไม่เพียงเป็นตัวแทนหญิงไทยยุคก่อน ที่ต้อง (พยายาม) พูดเสียงเบา ทำตัวเรียบร้อย ไม่อยู่กับผู้ชายสองต่อสอง ฯลฯ เธอยังเป็นตัวแทนของชนชั้นล่างเพียงไม่กี่คนที่ได้ปรากฏในมิวสิคัลเรื่องนี้ (อีกคนคือนพพรที่พยายามยกระดับตัวเองด้วยการทำงาน) เพื่อทำหน้าที่เป็น ‘สะพาน’ ให้แคทเธอรีนก้าวเข้าสู่ ‘ความเป็นไทย’
ไม่เฉพาะความเจียมตัวจนน่าหมั่นไส้ที่ทำให้คนดูหลงรักนวล เรายอมรับเลยว่า นอกจากเพลง ‘one day’ ที่พยายามบอกให้เราเข้าใจว่าชีวิตต้องผ่านทั้งเรื่องดีเรื่องร้าย ก็มียัยนวลนี่แหละ ที่ทำให้เราน้ำตาแตกแบบทำนบพังในฉากที่เธออ้อนวอนให้นพพรไปเยี่ยมแคทเธอรีน แล้วหลังจากนั้นน้ำตาก็หยุดไหลไม่ได้อีกเลยจนจบเรื่อง
โชคดีไปที่ยังพออ้างกับคนข้าง ๆ ได้ว่า นี่ไม่ใช่น้ำตานะ นี่มันหยดน้ำจากน้ำตกมิตาเกะที่กระเด็นเข้าตาต่างหาก