06 ธ.ค. 2566 | 15:43 น.
- จุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้หมอกฤตไทอยากเป็นหมอ เกิดขึ้นตอนที่เรียน ม.5 ในรั้วโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย เมื่ออากงป่วยเข้าโรงพยาบาล ต้องนอนในห้องไอซียู
- หมอกฤตไทได้บรรจุเป็นอาจารย์ประจำศูนย์ระบาดวิทยาคลินิก ภาควิชาเวชศาสตร์ครอบครัว คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ขณะที่อายุยังไม่ถึง 30 ปี
- ปลายปี 2565 ขณะมีอายุ 28 ปี หมอกฤตไทตรวจพบว่าตัวเองเป็น ‘มะเร็งปอดระยะสุดท้าย’
ปีใหม่ 2024 หลายคนคงลิสต์ไว้ในใจแล้วว่า จะซื้ออะไรเป็น ‘ของขวัญ’ ให้ตัวเองและคนที่รัก
แน่นอนว่า เราคงคาดหวังจะได้ในสิ่งที่ไม่เคยครอบครอง สิ่งที่เราหมายตาเอาไว้มาตั้งแต่ต้นปี หรือสิ่งที่เราอาจจะเคยมี แต่เราก็อยากได้ชิ้นใหม่ เพื่อทดแทนของเดิมที่ชำรุดตามกาลเวลา
เรามองหาแต่สิ่งที่ไม่มีหรือที่ขาดหาย จนหลงลืมไปว่า สิ่งที่เรามีอยู่กับตัวแล้ว บางทีมันอาจจะเป็น ‘ของขวัญ’ ที่ล้ำค่าที่สุดก็ได้
‘หมอกฤตไท ธนสมบัติกุล’ ก็คงเคยเป็นเหมือนคนอื่น ๆ ที่มักจะมองหาของขวัญปีใหม่ในช่วงท้ายปี กระทั่งปลายปี 2565 เขาจึงได้ตระหนักในความจริงที่ว่า ของขวัญที่ล้ำค่าที่สุดอย่างหนึ่งในชีวิตของเขาคือการได้ใช้ชีวิตปกติธรรมดาเหมือนที่เคยเป็นมา
ของขวัญชิ้นนี้อยู่ในความครอบครองของเขามาตลอด 28 ปี และมันได้หลุดลอยไป หลังจากที่เขาตรวจพบว่าตัวเองเป็น ‘มะเร็งปอดระยะสุดท้าย’
เด็กตาตี่อ้วนกลมที่อยากเป็นหมอเพราะ ‘อากง’
ในหนังสือ ‘สู้ดิวะ’ หมอกฤตไทบรรยายถึงชีวิตปกติธรรมดาของตัวเองว่า “ผมชื่อกฤตไท ธนสมบัติกุล ชื่อเล่น ไท เป็นชาวเชียงใหม่ครับ ชีวิตวัยเด็กเติบโตมากับครอบครัวที่สามชุก จังหวัดสุพรรณบุรี แต่ชีวิตวัยเรียนอยู่กรุงเทพฯ มาตลอด เพราะพ่อแม่รับราชการในกรุงเทพฯ”
หมอกฤตไทเติบโตมาในครอบครัวใหญ่เชื้อสายจีน เขาใช้ชีวิตวัยเด็กอย่างมีความสุข เป็นเด็กกินเก่ง เล่นเก่ง พูดเยอะ ตาตี่อ้วนกลมอารมณ์ดี แต่เมื่อโตเป็นหนุ่ม เจ้าตัวเกิดอยากหล่อเพื่อไปจีบสาว เลยตัดสินใจเล่นกีฬาเพื่อลดน้ำหนัก จนสามารถรีดออกไปได้เกือบ 20 กิโลกรัม จากเด็กอ้วนน่าหยิกจึงกลายเป็นหนุ่มฮอตมาดนักกีฬาตั้งแต่ตอนนั้น
จุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้เขาอยากเป็นหมอ เกิดขึ้นตอนที่เรียน ม.5 ในรั้วโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย เมื่ออากงป่วยเข้าโรงพยาบาล ต้องนอนในห้องไอซียู เด็กหนุ่มไปเยี่ยมอากงและได้เห็นสายระโยงระยางเต็มตัวอากงไปหมด เขาไม่รู้จะช่วยอากงอย่างไร ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าจะปลอบใจคนในครอบครัวอย่างไร วินาทีนั้นเขาจึงบอกกับตัวเองว่า “อยากเป็นหมอ”
แต่เนื่องจากก่อนหน้านั้น เด็กหนุ่มไม่ได้จริงจังกับการเรียนเท่าที่ควร เพราะเอาแต่เล่นบาสเกตบอล เตะฟุตบอล โดดเรียน เขาจึงต้องใช้ความพยายามมากกว่าคนอื่นเป็นพิเศษ เขาทุบกระปุกออมสินเอาเงินไปเรียนพิเศษเอง โดยไม่ใช้เงินของที่บ้าน นั่งรถเมล์ไปก็อ่านหนังสือไป เวลาท้อก็เงยหน้าขึ้นมามองคนบนรถเมล์ แล้วตั้งปณิธานกับตัวเองว่า “วันหนึ่งจะรักษาคนที่ยากลำบากเหล่านี้ให้ได้”
ความพยายามไม่เคยทรยศใคร เขาสอบติดคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ออกไปใช้ชีวิตด้วยตัวเองพร้อม ๆ กับเล่นกีฬาที่ตัวเองรัก นั่นคือ บาสเกตบอล
เรียนจบหมอยังไม่พอ หมอกฤตไทเดินหน้าเรียนต่อจนจบแพทย์เฉพาะทางเวชศาสตร์ครอบครัว ประกาศนียบัตรชั้นสูงของระบาดวิทยาคลินิกและสถิติศาสตร์คลินิก ประกาศนียบัตรชั้นสูงด้านการแพทย์คลินิก และปริญญาโทวิทยาการข้อมูล และได้บรรจุเป็นอาจารย์ประจำศูนย์ระบาดวิทยาคลินิก ภาควิชาเวชศาสตร์ครอบครัว คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในขณะที่อายุยังไม่ถึง 30 ปี
“ทำไมต้องเป็นผม”
นอกเหนือจากการเล่นกีฬาเพื่อให้ร่างกายแข็งแรง หมอกฤตไทยังให้ความสำคัญกับอาหารและการนอน เขาดูแลสุขภาพตัวเองเป็นอย่างดี ไม่สูบบุหรี่ ไม่กินเหล้า แถมยังทำประกันสุขภาพเอาไว้เพื่อความไม่ประมาท
ส่วนในแง่ความคิดและจิตใจ คุณหมอก็พัฒนาตัวเองอยู่เสมอ เขารักการอ่านหนังสือและชอบฟังพอดแคสต์ ชอบศึกษาการลงทุน จนเงินที่ลงไปเริ่มผลิดอกออกผลตามที่วางแผนไว้ เต็มไปด้วยเพื่อนฝูงที่ดี เพื่อนร่วมงานที่ซัพพอร์ตกันเต็มที่ มีคนรักที่กำลังจะสร้างอนาคตด้วยกัน
เมื่อชีวิตพร้อมสู่แชปเตอร์ใหม่ หมอกฤตไทคุกเข่าขอแฟนแต่งงานในวันที่ 18 มิถุนายน 2565 แต่กลายเป็นว่าแชปเตอร์ที่รอคอยเขาอยู่ ไม่ได้เป็นไปอย่างที่คิด
มาถึงตรงนี้ หลายคนคงอดสงสัยไม่ได้ว่า ทำไมชายหนุ่มที่ตั้งใจใช้ชีวิตอย่างดี เพราะอยากสร้างประโยชน์กับผู้ป่วยและคนรอบตัวให้ได้มากที่สุด ถึงต้องมาเจอกับเรื่องร้ายขนาดนี้
หมอกฤตไทเองก็เคยสงสัยแบบนั้น
“ทำไมต้องเป็นผม ทำไมมันต้องเกิดขึ้นกับผม” เขาถามตัวเองซ้ำไปซ้ำมาในช่วงแรกที่ตรวจพบมะเร็ง แต่สุดท้ายเมื่อพบว่าคำถามที่ถูกกระหน่ำเข้าไปในหัวตัวเองนี้ ไม่ได้ช่วยให้อะไรดีขึ้น มีแต่จะทำให้ความหวังในชีวิตมอดดับลง เขาจึงเลิกมองตัวเองเป็น ‘เหยื่อ’ และยอมรับความจริงตรงหน้า
การยอมรับความจริงที่ว่า คุณหมอไม่ได้ระบุถึง ‘ความกล้าหาญ’ ที่ดูจะเป็นคำเท่และใหญ่โต เขาเพียงแต่ซึมซับความสุขจากสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ยังเหลืออยู่ในชีวิต ทั้งความสุขที่ตัวเองยังเดินได้ ยังกินข้าวอร่อย ยังรับรสชาติได้ตามปกติ ยังมองเห็น ยังได้ยิน ยังพูดคุยรู้เรื่อง ยังพอจะช่วยสอนหนังสือได้ ฯลฯ ในขณะที่ร่างกายเริ่มจะใช้การไม่ได้เหมือนเดิม
ความสุขง่าย ๆ พวกนี้ อันที่จริงแล้วเกิดขึ้นในชีวิตคนปกติธรรมดาของพวกเราทุกคน ทุกวัน ทุกนาที เพียงแต่เราจะมองไม่เห็นและไม่ได้ซึมซับความงดงามของมัน หากไม่ได้เผชิญกับความทุกข์ที่ขัดขวางการใช้ชีวิตปกติธรรมดา อย่างที่คุณหมอกำลังเผชิญ
หมอกฤตไทไม่เพียงแต่พยายามชุบพลังชีวิตให้ตัวเอง เขายังได้ตัดสินใจทำในสิ่งที่ยิ่งใหญ่ขึ้น ด้วยการถ่ายทอดเรื่องราวของตัวเองเพื่อช่วยเหลือคนอื่นอีกมากมาย เพราะอยากส่งต่อพลังบวกออกไปให้ได้มากที่สุด อยากเตือนคนให้ได้มากที่สุด ให้คนอื่นได้เห็นถึงสิ่งที่เขาตกตะกอนได้ในช่วงเวลาที่ยังเหลืออยู่ไม่มาก
“มันอาจจะมีเหตุผลที่ต้องเป็นกูก็ได้นะ” หมอกฤตไทบอกกับ ‘แม็ก’ เพื่อนสมัยมัธยมฯ ที่มาช่วยทำเพจสู้ดิวะ
และด้วยอานิสงส์จากความปรารถนาดีต่อผู้อื่นนี้เอง ทำให้คุณหมอได้พบความสุขในขณะที่บอกเล่าเรื่องราวของตัวเองผ่านเพจ เป็นความสุขจากการที่เขาได้สร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้อื่น หรือเป็นพลังเล็ก ๆ ให้คนอ่านอยากสู้ต่อ
เหล่านี้ทำให้คุณหมอรู้สึกว่าชีวิตตัวเอง ‘มีค่า’ แม้จะไม่ยืนยาวนักก็ตาม
“ผมเชื่อว่าไม่มีเรื่องบังเอิญครับ ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นมันมีเหตุผลของมัน มันมีเหตุผลที่เรื่องบางเรื่องต้องเกิดขึ้นกับเรา ถ้าเราเอาแต่มองว่ามันเป็นเรื่องที่แย่ ๆ เอาแต่โทษคนอื่น เอาแต่โทษโชคชะตา มันไม่ได้ทำให้อะไรดีขึ้นมาจริงไหมครับ แต่ถ้าเรามองใหม่ คิดใหม่ ลองคิดในมุมที่ว่า เราจะเอาสิ่งที่มันเข้ามาในชีวิตเราแล้วไปทำประโยชน์ได้อย่างไร เราจะเรียนรู้จากมันได้อย่างไร ทุกสิ่งก็จะกลายเป็นของขวัญของเรา” หมอกฤตไทย้ำอีกครั้งในบทส่งท้ายของหนังสือสู้ดิวะ
ช่างหัวมันเถอะครับ
นอกจากจะแปรเปลี่ยนเรื่องร้ายในชีวิตให้กลายเป็นเรื่องที่ทรงพลังเพื่อตัวเองและคนอื่น อีกสิ่งที่เราได้เรียนรู้จากชีวิตของหมอกฤตไทคือการเลือก ‘โฟกัส’ เฉพาะสิ่งที่คู่ควร
ระหว่างที่ป่วยจนร่างกายไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป คุณหมอตัดสินใจเดินทางมาพบกับรุ่นน้องที่โรงเรียน เพื่อที่จะบอกกับพวกเขาว่า “เวลาเราไม่ได้มีมากพอให้เราไปทำหรือมีทุกอย่างในโลก”
เป็นอีกครั้งที่คุณหมอพยายามบอกให้ทุกคนโอบรับทุกความสุขที่มีอยู่ให้ได้มากที่สุด และใช้ช่วงเวลาตรงหน้าอย่างเต็มที่ที่สุด แบบไม่ต้องมานั่งเสียดายทีหลัง พร้อมประโยคขึ้นต้นที่ว่า “รู้งี้ฉันจะ…”
ซึ่งการจะโฟกัสไปที่ความสุขรอบตัวก็มีเคล็ดลับอีกอย่างที่ต้องทำคู่กันคือ การเลิกให้ความสำคัญกับเรื่องน่าหงุดหงิดเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่คุณหมอยกตัวอย่างไว้ในหนังสือก็มีทั้งประเภทหมดใจกับองค์กร หงุดหงิดกับเรือนร่างตัวเอง ดัดผมออกมาแล้วไม่ถูกใจ ฯลฯ
หมอกฤตไทซึ่งเคยผ่านความรู้สึกแบบนี้มาแล้ว บอกในวันที่ชีวิตของเขาปราศจากความแน่นอนว่า “เรื่องไร้สาระพวกนี้ ช่างหัวมันเถอะครับ” แต่ให้เปลี่ยนมาโฟกัสที่สุขภาพ การออกกำลังกาย อาหารการกิน สุขภาพจิตของตัวเอง สิ่งสวยงามตามธรรมชาติ รอยยิ้มของคนรอบข้าง เสียงหัวเราะของคนที่คุณรัก
“ขอบคุณชีวิตที่แสนปกติธรรมดาของคุณเถอะครับ แล้วใช้มันให้เต็มที่กับทุกวันที่โลกนี้มอบให้กับคุณ คุณไม่มีทางรู้เลยว่าพรุ่งนี้ คุณจะตื่นมาแล้วมีทุกอย่างแบบที่คุณมีวันนี้อยู่ไหม”
ฝุ่น
คุณหมอยังได้ใช้พื้นที่ทั้งในเพจและในหนังสือ บอกเล่าอันตรายของ ‘ฝุ่นควันพิษ’ ที่เป็นหนึ่งในปัจจัยทำให้เกิดมะเร็ง ทั้งที่ร่างกายของเขานั้นแข็งแรงระดับนักกีฬาจากการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
ระหว่างต่อสู้กับมะเร็งปอด คุณหมอต้องติดเครื่องฟอกอากาศทั้งในรถยนต์และในบ้าน ต้องติดตั้งห้องความดันบวก เพื่อให้มั่นใจว่าอากาศที่จะเข้าปอดหลังจากนี้สะอาดบริสุทธิ์จริง ๆ
“สิ่งที่ผมอยากมาตั้งคำถามคือ มันเป็นความรับผิดชอบของประชาชนจริงหรือ… เราต้องเป็นประชาชนที่อยู่ในประเทศที่ต้องซื้ออากาศหายใจจริง ๆ หรือ”
ในหนังสือสู้ดิวะ คุณหมอไม่ได้ยกตัวเลขหรือสถิติของฝุ่นควันพิษมาประกอบ เพราะข้อมูลเหล่านี้สามารถเสิร์ชหาได้ทั่วไป เพียงแต่ตั้งคำถามง่าย ๆ ชวนคิดว่า เคยมีการค้นหาสาเหตุที่แท้จริงของสถานการณ์ฝุ่นควันพิษในบ้านเราหรือไม่?
และอีกหนึ่งคำถามที่เกิดขึ้นหลังจากอ่านหนังสือเล่มนี้จบคือ เราจะต้องสูญเสียบุคลากร รวมถึงเด็ก ๆ ที่เป็นอนาคตของชาติอีกเท่าไร? ปัญหาเรื่องฝุ่นที่ถูกบรรจุเป็น ‘วาระเร่งด่วน’ ของทุกปี จึงจะหมดไป
เรากลัวเหลือเกินว่า ในอนาคต เรื่องราวของหมอกฤตไทจะถูกหยิบยกมาพูดถึงเฉพาะมิติของหมอผู้ค้นพบความหมายของการมีชีวิต โดยไม่มีการแตะถึงหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้หมอต้องจากไปก่อนวัยอันควร
เราเชื่อว่าหมอกฤตไทเองก็คงไม่อยากให้ประเด็นเรื่องฝุ่นจางหายไปจากเรื่องราวของเขาเช่นกัน และอยากขอให้ทุกคนที่ได้อ่านเรื่องราวของคุณหมอกฤตไท ไม่ลืมคำถามสำคัญที่เขาได้ฝากเอาไว้ในหนังสือ ก่อนที่จะจากไป
“มันเป็นความรับผิดชอบของประชาชนจริงหรือ?”
บทความนี้อุทิศแด่ หมอกฤตไท ธนสมบัติกุล และคนไทยทุกคนที่ปรารถนาจะได้ใช้ชีวิตปกติธรรมดา โดยไม่ต้องซื้อ ‘อากาศ’ หายใจ
เรื่อง : พาฝัน ศรีเริงหล้า
ภาพ : เพจ ‘สู้ดิวะ’
อ้างอิง : กฤตไท ธนสมบัติกุล,/สู้ดิวะ,/พิมพ์ครั้งที่ 15/สำนักพิมพ์คู้บ,/ปี 2566