ชีวิต ‘เสถียร เสถียรธรรมะ’ หมอทหารยุคดาวแดง ทำโรงงานตะปู สู่แม่ทัพคาราบาวแดง

ชีวิต ‘เสถียร เสถียรธรรมะ’ หมอทหารยุคดาวแดง ทำโรงงานตะปู สู่แม่ทัพคาราบาวแดง

เส้นทาง ‘เพื่อชีวิต’ แบบ ‘เสถียร เสถียรธรรมะ’ หมอทหาร เสนารักษ์ยุคดาวแดง ต่อสู้ในป่า เป็นเสี่ยโรงงานตะปู ประสบการณ์จากยุคดาวแดงนำพามาพบ ‘แอ๊ด คาราบาว’ สู่บทบาทแม่ทัพ ‘คาราบาวแดง’ แบรนด์ที่ดังไกลถึงต่างแดน

  • เสถียร เสถียรธรรมะ แม่ทัพแห่งแบรนด์คาราบาวแดง เคยผ่านชีวิตโลดโผนมาก่อน
  • เสถียร เริ่มต้นชีวิตในครอบครัวปากกัดตีนถีบ เคยเป็นหมอทหารยุคดาวแดง ใช้ชื่อจัดตั้งในป่าว่า ‘สหายคง’
  • ประสบการณ์การต่อสู้ทางการเมืองทำให้เขาโคจรมาพบ แอ๊ด คาราบาว ก่อนนำมาสู่ธุรกิจในนาม ‘คาราบาวแดง’

หลายคนอาจแปลกใจนิด ๆ ที่เห็น ‘เสถียร’ เจ้าพ่อคาราบาวแดงเปลี่ยนนามสกุลจาก ‘เศรษฐสิทธิ์’ เป็น ‘เสถียรธรรมะ’ ซึ่งคาดว่า นามสกุลใหม่นี้มาจากชื่อบริษัท เสถียรธรรมโฮลดิ้ง ซึ่งเป็นบริษัทของเสถียรและภรรยากับลูก ๆ

ดังที่รู้กัน บริษัท เสถียรธรรมโฮลดิ้ง เป็นผู้ถือหุ้นอันดับ 1 ของคาราบาวกรุ๊ป จำนวน 250,064,500 หุ้น เป็นสัดส่วน 25.01%

เสถียร เสถียรธรรมะ ผู้ปลุกปั้นแบรนด์คาราบาวแดง เครื่องดื่มชูกำลังมาตั้งแต่ปี 2544 กระทั่งแตกไลน์ทำธุรกิจค้าปลีก และธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อผลักดันยอดขายให้แตะแสนล้านบาท ภายในปี 2566

“เราต้องเข้าใจว่าความสำเร็จไม่ได้มาชั่วข้ามคืน และความสำเร็จจะมาหลังความล้มเหลว เพียงแค่ตั้งใจและทำไปเรื่อย ๆ ...”

 

เสถียร เป็นนักปฏิบัติการ ชอบฝันใหญ่ จึงประสบความสำเร็จในทางธุรกิจ

อีกฝันหนึ่งที่ค้างคาอยู่ในใจของเสถียร มาแต่สมัยวัยหนุ่มผู้เร่าร้อน...“ความฝันของผมคืออยากเห็นบ้านเมืองดีกว่านี้ อยากเห็นช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนแคบลงกว่านี้ ทุกคนมีชีวิตที่ดีกว่านี้ และมีความเท่าเทียมกันมากขึ้น สังคมที่ดีงามเป็นสังคมอุดมคติที่เราทุกคนอยากเห็น”

ด้านหนึ่งของชีวิตแม่ทัพคาราบาวกรุ๊ป ที่หลายคนอาจไม่ทราบ เสถียร ยังเป็นสมาชิกสโมสร’19 (อดีตทหารปลดแอกฯ เขตงานภาคอีสานใต้) ซึ่งครั้งหนึ่งได้ระดมสรรพกำลังทั้งสหายในเมืองและสหายจากชนบท ร่วมกันก่อสร้างอนุสรณ์สถานวีรชนประชาชน-อีสานใต้ ที่บ้านโคกเขาหญ้าคา อ.ปะคำ จ.บุรีรัมย์

หมอคงอีสานใต้

เสถียร เกิดในครอบครัวชาวจีนปากกัดตีนถีบ พ่อแม่ขายก๋วยเตี๋ยวเรืออยู่ที่ จ.ฉะเชิงเทรา เขาจึงทำงานตั้งแต่อายุได้ 11 ปี โดยเริ่มจากการหัดทำฝังพลอยหัวแหวน และขายเสื้อผ้าที่ตลาดพาหุรัด เรียนไปด้วย ทำงานไปด้วย จนสอบเทียบชั้น ม.ศ.5 และเอนทรานซ์เข้าเรียนต่อที่คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในปี 2518

หนุ่มลูกจีนแปดริ้วที่สู้ชีวิตมาแต่วัยเยาว์ ได้เข้ามาสัมผัสความเป็นลูกแม่โดมในช่วงกระแสประชาธิปไตยเบ่งบาน เสถียร จึงเข้าร่วมขบวนการคนหนุ่มสาว กระทั่งเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 เขาตัดสินใจเข้าร่วมการต่อสู้ในเขตป่าเขา พร้อมเพื่อนนักศึกษารุ่นเดียวกัน

ช่วงปี 2519-2524 เสถียร หรือชื่อจัดตั้งในป่า ‘สหายคง’ ใช้ชีวิตอยู่ในป่าติดพรมแดนไทย-กัมพูชา ช่วงรอยต่อ อ.ตาพระยา จ.สระแก้ว กับ อ.ละหานทราย จ.บุรีรัมย์ หรือเขตงาน 203 ของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย(พคท.) อีสานใต้

หลังจบหลักสูตรโรงเรียนการเมือง-การทหาร เสถียรหรือสหายคง ถูกคัดเลือกให้ฝึกเป็นเสนารักษ์ ทำหน้าที่เป็นหมอทหาร มิตรสหายจึงเรียกชื่อ ‘หมอคง’ จนถึงทุกวันนี้ 

เมื่อการต่อสู้ในป่าเขาเปลี่ยนไป เสถียรจึงคืนสู่เมืองเหมือนนักศึกษาปัญญาชนอีกนับพันชีวิต เขากลับมาเรียนต่อ และทำธุรกิจโรงงานทำตะปู ที่ อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ

ปี 2531 ยุครัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ เสถียร ขยายกิจการสร้างโรงงานเพิ่ม ซื้อที่มา 1 ไร่ ถมดินเสร็จยังไม่ทันสร้างโรงงาน มีคนมาขอซื้อ ได้กำไรล้านกว่าบาท จึงจุดประกายให้เขาเข้าสู่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และหมู่บ้านจัดสรร

โรงเบียร์เพื่อชีวิต

หลังเหตุการณ์พฤษภา 2535 มีปรากฏการณ์แปลกใหม่ในตลาดสถานบันเทิงคือ ‘ผับเพื่อชีวิต’ ที่นำเอาเพลงเพื่อชีวิต และบรรยากาศแบบเพื่อชีวิต มาเป็นจุดขายหลักในการดึงดูดลูกค้า

ตลาดผับเพื่อชีวิตเบ่งบาน ขนาดเจ้าของกิจการคาเฟ่แถวถนนเพชรบุรีตัดใหม่ ต้องทุบคาเฟ่มาทำผับเพื่อชีวิต และตัวเสถียรเอง ก็ร่วมกับมิตรสหายสายป่าเขา เปิดผับเพื่อชีวิตชื่อ ‘ตะวันแดงสาดแสงเดือน’ ย่านคลองตัน

ปี 2542 เสถียร กับเพื่อนสนิท สุพจน์ ธีระวัฒนชัย รวบรวมเงินกว่า 40 ล้านบาท เพื่อนำไปลงทุนในธุรกิจไมโครบริวเวอรี พร้อมสร้างโรงเบียร์ขนาดใหญ่ 1,000 ที่นั่ง ชื่อโรงเบียร์เยอรมันตะวันแดง เปิดสาขาแรกที่ถนนพระราม 3 เขตยานนาวา ก่อนจะขยายไปยังสาขาเลียบทางด่วนรามอินทรา และสาขาแจ้งวัฒนะ

จากความสำเร็จของแบรนด์โรงเบียร์เยอรมันตะวันแดง มาถึงต้นปี 2566 เสถียร เสถียรธรรมะ แถลงข่าวใหญ่ ทุ่มเงิน 4,000 ล้านบาท เพื่อสร้างไลน์การผลิตเบียร์ เตรียมเปิดตัวเข้าทำตลาดในช่วงไตรมาส 4 ของปีเดียวกัน

อ่านเพิ่มเติมเรื่อง สุพจน์ ธีระวัฒนชัย เมื่อความจนหมักบ่มเกิดเป็นโรงเบียร์เยอรมันตะวันแดง

 

เครื่องดื่มเพื่อชีวิต

เสถียร เสถียรธรรมะ กับยืนยง โอภากุล โคจรมาพบกันบนเส้นทางของมิตรสหายสโมสร’19 ดังที่ทราบกัน แอ๊ด คาราบาว หรือ ‘สหายเชี่ยว’ ทำงานเดินเมล์ในเขตขาว(ในเมือง) ให้สหายอีสานใต้ ส่วน ‘หมอคง’ ทำการสู้รบอยู่ในเขตแดง (ป่าเขา)

อ่านเพิ่มเติมเรื่อง แอ๊ด คาราบาว กับการต่อสู้ในภารกิจ ‘เดินเมล์’ ก่อนออกอัลบั้ม และแนวคิดการเมืองที่ผกผัน

อยู่มาวันหนึ่ง แอ๊ด คาราบาว มาปรึกษาเสถียร บอกว่าอยากจะเริ่มต้นทำธุรกิจ ซึ่งตอนแรก แอ๊ด เสนอสินค้ามาหลายอย่าง รวมทั้งบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป แต่เสถียร กลับเลือกทำเครื่องดื่มชูกำลัง เพราะวงคาราบาว มีฐานแฟนเพลงมากมาย และกลุ่มแฟนเพลงเหล่านั้น น่าจะกลายมาเป็นกลุ่มลูกค้าของเครื่องดื่มชูกำลังได้

สุดท้าย ทั้งคู่จึงตัดสินใจร่วมกันลงทุนทำธุรกิจเครื่องดื่มชูกำลัง โดยการนำที่ดินที่พอมีอยู่ไปจำนองธนาคาร เพื่อนำเงินมาเปิดบริษัทในชื่อ คาราบาวตะวันแดง ทำธุรกิจผลิตและจำหน่ายเครื่องดื่มบำรุงกำลังในชื่อ ‘คาราบาวแดง’

“ไม่คิดจะแข่งกับใคร ตอนทำเครื่องดื่มชูกำลังคาราบาวแดงหายังเงินทุนอยู่เลย แต่การจะรุกตลาดไหน มองโอกาสเป็นหลัก หากคิดว่าต้องแข่งขันอาจกลัวคู่แข่งก่อน” เสถียร เล่าถึงก้าวแรกของการทำธุรกิจเครื่องดื่มชูกำลัง

“จุดแข็งของคาราบาวแดงคือ พี่แอ๊ด ไม่ว่าไปที่ไหนคนก็รู้จัก รวมถึงทั้งผมและพี่แอ๊ดก็เป็นคนที่มาจากระดับรากหญ้าด้วยกันทั้งคู่”

ในปีแรก ๆ การทำตลาดสินค้าน้องใหม่ ด้วยทรัพยากรที่ยังมีอยู่อย่างจำกัดเวลานั้น เสถียร จึงวางยุทธศาสตร์ ‘กินทีละคํา ทําทีละเมือง’ หรือนัยหนึ่งก็คือ ‘ชนบทล้อมเมือง’ นั่นเอง โดยเริ่มจาก จ.สุพรรณบุรี บ้านเกิดแอ๊ด คาราบาว ก่อนที่จะไป จ.จันทบุรี ซึ่งแอ๊ด เคยแต่งเพลงเชิดชูพระเจ้าตากสิน

ปี 2564 เสถียร เสถียรธรรมะ ลาออกจากตำแหน่งประธานกรรมการบริษัท คาราบาวกรุ๊ป จำกัด(มหาชน) โดยมอบให้สหายทางธุรกิจอย่าง ณัฐชไม ถนอมบูรณ์เจริญ นั่งเก้าอี้ประธานกรรมการแทน

แม้เจ้าพ่อคาราบาวแดง จะทิ้งตำแหน่งใหญ่ที่ทำหน้าที่ประธานกรรมการ แต่บทบาทสำคัญในการกุมบังเหียนธุรกิจยังคงอยู่ ทั้งเป็นกรรมการ และประธานเจ้าหน้าที่บริหารหรือซีอีโอ

ภารกิจใหม่ของเสถียรคือ ปั้น ‘เบียร์ขวด’ ออกมาขาย ด้วยความมั่นใจในประสบการณ์กว่า 20 ปี กับโรงเบียร์เยอรมันตะวันแดง “พอเราทำเหล้า เป็นไฟต์บังคับให้ต้องทำเบียร์ เพราะถ้าไม่มีเบียร์ โอกาสโตยาก”

ครั้งหนึ่ง เสถียร ถูกถามว่า ทำไมเขาจึงพัฒนามาได้ไกลขนาดนี้ เสถียรตอบว่า

“มันไม่ใช่เรื่องซับซ้อน เราเติบโตมาด้วยคำสอนของผู้ใหญ่ที่บอกว่า มนุษย์ควรจะเรียนรู้ตลอดชีวิต”

 

เรื่อง: ชน บทจร

ภาพ: Getty Images

อ้างอิง:

The Standard

Matichon Weekly

Bangkokbiznews