15 ธ.ค. 2566 | 13:00 น.
หลังจากเป็นประเด็นถกเถียงกันมาเป็นเวลานาน ในที่สุดวันที่ผู้ประกอบการไทยและเหล่าผู้ชื่นชอบการดื่มกินเป็นชีวิตจิตใจ ก็ได้รับการปลดปล่อยให้มีเวลาใช้ชีวิตยามราตรีได้ยาวนานมากยิ่งขึ้น เมื่อที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงมหาดไทย กำหนดวันเวลาเปิดปิดสถานบริการได้ถึงตี 4 โดยเริ่มบังคับใช้วันที่ 15 ธันวาคมนี้ ซึ่งจะมีสถานบริการที่ตั้งอยู่ในโรงแรมและในอีกห้าพื้นที่ ตั้งแต่ กรุงเทพฯ, ชลบุรี, ภูเก็ต, เชียงใหม่, ไปจนถึงอำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี
ซึ่งการบังคับใช้ของรัฐบาลตรงกับช่วงเวลาแห่งการเฉลิมฉลอง ผู้คนจากทั่วสารทิศต่างเดินทางมาเยือนประเทศไทยอย่างพอดิบพอดี และอย่างที่รู้ว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นส่วนหนึ่งที่แทรกซึมอยู่ในวัฒนธรรมไทยมาอย่างยาวนาน ไม่ว่าจะเป็นการดื่มเพื่อแสดงความยินดี ดื่มเพื่อปลอบประโลมจิตใจที่เจ็บช้ำ ไปจนถึงดื่มเพื่อปลดปล่อยตัวเองออกจากห้วงอารมณ์เปลี่ยวเหงา
แต่ไม่ว่าเราจะดื่มเพื่ออะไร การขยับตัวของรัฐบาลครั้งนี้ ไม่ต่างจากการป่าวประกาศให้เหล่าผู้มาเยือนรู้ว่า ประเทศไทยพร้อมก้าวข้ามกฎหมายที่มีอายุกว่าครึ่งศตวรรษ ปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับสภาพสังคมไทยในปัจจุบัน นี่คือการกระทำที่ไม่ต่างจากคลื่นลูกใหญ่เข้ามาโถมกระหน่ำ เปลี่ยนหน้ากระดานเศรษฐกิจไทยให้ผงาดท่ามกลางความผันผวนของโลก
แม้ว่าจะนำร่องในไม่กี่พื้นที่ แถมยังไม่รู้แน่ชัดว่ามีจุดไหนบ้างที่เป็นโซนนิงเปิดได้ถึงตี 4 ซึ่งตรงนี้ รศ. ดร.เจษฎ์ โทณะวณิก นักวิชาการทางด้านกฎหมาย ได้ตั้งคำถามถึงกฎหมายในปัจจุบันเช่นกันว่ามีความเข้มแข็งพอหรือยัง เพราะในฐานะนักกฎหมายเขาเข้าใจดีว่า กฎหมายสามารถเขียนได้หลากหลาย แต่สิ่งสำคัญคือเขียนแล้วสามารถนำมาบังคับใช้ได้จริงไหม
โดยเฉพาะประเด็นเรื่องการเปิดสถานบันเทิงถึงตี 4 จากประสบการณ์ส่วนตัวที่อยู่ประเทศไทยมาเป็นเวลานาน เขาเข้าใจดีว่าคนไทยมีความยืดหยุ่นในการปฏิบัติตามข้อกฎหมาย ดังนั้นเขาขอปักธงในใจไว้ก่อนว่า ผู้ประกอบการส่วนใหญ่คงไม่สามารถปิดสถานบันเทิงได้ตามที่นักกฎหมายหลายคนคาดหวัง
พร้อมทั้งได้ขยายภาพให้ชัดขึ้น ผ่านการตั้งคำถามให้จินตนาการตาม ข้อแรกการขยายเวลาเปิดสถานบันเทิงถึงตี 4 จะช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์ประเทศไทยไปในทิศทางใด หากต้องการเป็นสวรรค์ของการกินดื่มก็เห็นสมควรที่จะปรับข้อกฎหมาย
และข้อที่สอง คือ อยากให้นักท่องเที่ยวที่มาประเทศไทย มองว่าการมาพักผ่อนในประเทศนี้สามารถทำทุกอย่างได้โดยอิสระ แต่ต้องอยู่ภายในกรอบของกฎหมาย หรือว่าอยากให้ทุกคนเข้ามาแล้วทำตามใจชอบ นี่คืออีกหนึ่งคำถามสำคัญ
“ผู้ประกอบการเราก็ต้องคิดว่าใครจะมีส่วนร่วมได้บ้าง เพราะฉะนั้นเราต้องมีวิธีดูแล แต่ทำอะไรก็แล้วแต่ต้องมีความรับผิดชอบ แล้วเศรษฐกิจจะไม่ทำลายชีวิตอื่น แต่มันจะเกื้อกูลกัน”
หากเจาะลึกไปยังรายละเอียดการเปิดปิดสถานบริการได้ถึงตี 4 พบว่ารัฐบาลได้มุ่งเน้นไปที่การเตรียมความพร้อมก่อนเทศกาลปีใหม่ เริ่มจากแจ้งให้ประชาชนและร้านค้ารับทราบว่า ห้ามขายให้เด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี ห้ามจัดโปรโมชันลดแลกแจกแถมในเวลาที่กำหนด 11.00-14.00 น. และ 17.00-24.00 น. และห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้กับผู้ที่มีอาการมึนเมาจนครองสติไม่ได้
ซึ่งโดยส่วนตัวแล้ว ผู้เขียนมองว่าการเปิดให้จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงเวลาต้องห้ามระหว่างเวลา 14:00-17:00 น. ย่อมส่งผลดีต่อหลายภาคส่วนไม่น้อย เพราะผู้ประกอบการเอง บางทีอาจจะต้องใช้สุรามาประกอบอาหาร หากไม่สามารถหาซื้อแอลกอฮอล์ในช่วงเวลากลางวัน รายได้ของพวกเขาคงลดลงไปอีกเท่าตัว
นอกจากผู้ประกอบการจะได้รับประโยชน์แล้ว ประชาชนและนักท่องเที่ยวก็จะมีทางเลือกในการดื่มกินมากขึ้น ไม่ต้องนั่งนับถอยหลังว่าเมื่อไหร่จะถึงเวลาดื่มได้อย่างถูกต้องตามกฎหมายเสียที ฉะนั้นการแก้ไขตัวบทกฎหมายเหล่านี้คือ อีกหนึ่งประเด็นสำคัญในการผลักดันเศรษฐกิจของประเทศให้ก้าวไปข้างหน้า
เพราะจริง ๆ แล้ว ประเทศไทยอาจติดอยู่กับข้อกำหนดในอดีตที่มีมาตั้งแต่ยุคคณะปฏิวัติ โดยจอมพลถนอม กิตติขจร ที่มีประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับ 253 บังคับใช้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2515 ซึ่งเป็นเวลากว่าห้าสิบปีแล้วที่ประเทศไทยไม่อนุญาตให้ร้านค้าขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ระหว่าง 14:00-17:00 น. ช่วงเวลาที่ยังคงสร้างความงุนงงให้นักกฎหมาย ประชาชน และนักท่องเที่ยว มาจนถึงปัจจุบัน
แต่หากย้อนไปให้ไกลกว่านั้น ที่มาของการกำหนดเวลาห้ามขายเริ่มมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2495 ในพระราชกฤษฎีกาควบคุมโภคภัณฑ์ ฉบับที่ 2 โดยจอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ มีการกำหนดช่วงเวลาขายและดื่มเป็นสองช่วงด้วยกัน คือ ตั้งแต่เวลา 11:00-14:00 น. และ 17:00-22:00 น.
ต่อมาสมัยการปกครองของจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ปี พ.ศ. 2504 มีการปรับแก้กฏหมายใหม่อีกครั้ง เริ่มจากการปรับมาตรา 3 ให้ยกเลิกความในมาตรา 4 แห่งพระราชกฤษฎีกาควบคุมโภคภัณฑ์ ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2495 ระบุว่า นอกจากเวลาตั้งแต่ 11:00 นาฬิกา ถึง 14:00 นาฬิกา และตั้งแต่เวลา 17:00 ถึง 02:00 นาฬิกาของวันถัดไป
หรือก็คือการอนุญาตให้ขยายช่วงเวลาการสังสรรค์ให้สามารถดื่มได้ถึงตีสอง ก่อนจะปรับเปลี่ยนอีกครั้งในห้วงเวลาที่ประเทศไทย ตกอยู่ภายในการปกครองของคณะปฏิวัติโดยจอมพลถนอม กิตติขจร
ปัจจุบัน ประเทศไทยมีพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ผ่านร่างพิจารณาหลังการรัฐประหารปี พ.ศ 2549 เข้ามาทำหน้าที่ควบคุมทั้งวันเวลาห้ามจำหน่าย ฉลากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และสถานที่ห้ามขายห้ามดื่ม ไปจนถึงการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
“ถ้าจะกำหนดเวลาเราก็ต้องมีเหตุผล สมมติว่าคนเขาไปซื้อในเวลาที่กำหนดแล้วเอามาดื่มอีกวันหนึ่ง มันก็ไม่ได้ให้ผลอะไรกลับมาเลย สู้เราไปหาเหตุผลมารองรับในการเขียนกฎหมายดีกว่า ว่าทำไมต้องห้ามขายในตอนกลางวัน”
รศ. ดร.เจษฎ์ ให้ความเห็นก่อนจะพยายามหาเหตุผลมารองรับในตัวบทกฎหมาย แต่สุดท้ายตนก็ยังไม่เข้าใจที่มาและหลักการของการกำหนดช่วงเวลาห้ามขาย แต่เข้าใจได้ว่าสมัยก่อน ข้าราชการอาจจะออกมาซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จนกระทบกับเวลางาน จึงเป็นที่มาของกฎหมายข้างต้น
พร้อมเสริมว่าช่วงเวลา 14:00-17:00 น. อาจไม่สมเหตุสมผลในปัจจุบัน หากปรับแก้กฎหมายใหม่ให้สามารถสอดรับกับการเปลี่ยนแปลงของโลก คงช่วยให้ผู้ประกอบการ ประชาชน และนักท่องเที่ยว ได้รับประโยชน์จากการปลดล็อกเวลาการขายเครื่องดื่มในเวลาดังกล่าว
นอกจากนี้ รศ. ดร.เจษฎ์ ยังตั้งข้อสังเกตอีกว่า การงดจำหน่ายในวันสำคัญทางศาสนานั้นมีเหตุผลเพียงพอหรือยัง เพราะอย่างที่ทราบกันดีว่า ช่วงเวลาสำคัญทางศาสนาหลายวันตรงกับวันหยุดยาว การงดซื้อขายอาจกระทบต่อภาพรวมทางเศรษฐกิจ รวมไปถึงอุตสาหกรรมท่องเที่ยว
เพราะนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมาประเทศไทย หลายรายต้องการพักผ่อนในวันและเวลาดังกล่าว แต่กลับไม่มีสถานที่รองรับหรือจำหน่ายเครื่องดื่มที่พวกเขาต้องการ ซึ่งอาจเป็นการตัดโอกาสการขยายตัวครั้งใหญ่ของอุตสาหกรรมท่องเที่ยว และสิ่งนี้ยังคงเป็นปัญหาเรื้อรังที่สั่งสมมาอย่างยาวนาน
“ถ้าเรามองว่าการห้ามขายเครื่องดื่มมันเป็นไปเพื่อจรรโลงคุณธรรมบางประการ ให้คนรู้สึกว่าในวันสำคัญไม่ควรเสพของมึนเมา ไม่ควรดื่มสุรา มันก็ต้องกำหนดให้ครอบคลุมกับศาสนาอื่นด้วยไหม นี่คือสิ่งที่เราต้องมองในภาพรวม
“แต่ถ้าเรามองว่าการกำหนดช่วงเวลามันขึ้นอยู่กับแต่ละคน แสดงว่ามันอาจจะไม่จำเป็น เพราะการกำหนดแค่สองชั้น คือ กำหนดร้านค้าและผู้ซื้อ ก็เพียงพอแล้ว ถ้าไม่มีเหตุผลเราก็ไม่ต้องไปกำหนด”
สุดท้ายแล้ว การประกาศให้สถานบริการสามารถเปิดได้ถึงตี 4 ถือเป็นสัญญาณเชิงบวกที่รัฐไทยเริ่มเคลื่อนไหว ซึ่งจะช่วยชุบชีวิตธุรกิจที่เกี่ยวข้องอีกนับไม่ถ้วน ตั้งแต่รถรับจ้างสาธารณะ โรงแรม ไปจนถึงร้านอาหาร และสิ่งที่คาดว่าจะตามมา คือ ประเทศไทยอาจมีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นอีกหลายหมื่นล้านบาท
แต่สิ่งที่ภาครัฐควรให้ความสำคัญที่สุดในเวลานี้ คือ การบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด ‘ห้าม’ ที่หมายถึงห้ามจริง ๆ เพราะไม่อย่างนั้นผลกระทบจากการปลดล็อกช่วงเวลาปิดสถานบริการ อาจตกอยู่ที่ประชาชนที่ไม่ดื่มกิน