Inception : ‘ความฝัน’ ที่บิดเบี้ยวอาจเป็นเงาสะท้อนของ ‘ความจริง’

Inception : ‘ความฝัน’ ที่บิดเบี้ยวอาจเป็นเงาสะท้อนของ ‘ความจริง’

Inception ภาพยนตร์อมตะจาก ‘คริสโตเฟอร์ โนแลน’ (Christopher Nolan) ที่ว่าด้วย ความฝัน เวลา และลิมโบ้ เพราะหลุมลึกในความฝันอาจเป็นเงาสะท้อนภาพความเป็นจริงก็เป็นได้

ถ้าหากว่า ‘ความฝัน’ และ ‘ความจริง’เป็นสิ่งที่เชื่อมโยงกัน ยามเราหลับไหลมันก็เหมือนการดำดิ่งลงสู่มิติที่พิศวง เรื่องราวที่สลับซับซ้อนไปมา ภาพและเหตุการณ์ที่วนเวียนอยู่ภายใต้ “จิตสำนึก” จะถูกนำมาเรียบเรียงใหม่ในความฝัน จนบางครั้งเราอาจสับสนกับความฝันเหล่านั้น แยกผิดแยกความทรงจำในฝันกับความจริงเมื่อยามตื่นนอนไม่ได้ สิ่งเหล่านี้ถูกสะท้อนออกมาผ่านภาพยนตร์แอ็คชันโจรกรรมทางความฝัน ของผู้กำกับระดับปรมาจารย์อย่าง ‘คริสโตเฟอร์ โนแลน’ (Christopher Nolan)

การันตีด้วยความความยิ่งใหญ่ของ Inception คงต้องยกให้ในหลายด้านจริง ๆ เพราะหากย้อนไปเมื่อการให้รางวัลออสการ์ครั้งที่ 83 เมื่อปี 2011 ภาพยนตร์เรื่องนี้มีชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ 8 สาขา และได้รางวัล ชนะ 4 รางวัลออสการ์ ได้แก่ สาขาถ่ายภาพยอดเยี่ยม , ผสมเสียงยอดเยี่ยม, ตัดต่อเสียงยอดเยี่ยม และวิชวลเอฟเฟกต์ยอดเยี่ยม 

ด้วยเทคนิคการถ่ายทำของปรมาจารย์โนแลน การแทรกรายละเอียดของบทภาพยนตร์ที่ได้ผ่านการปรึกษาผู้เชี่ยวชาญทั้งด้านจิตวิทยาหรือเกี่ยวกับจิตใต้สำนึกก็ดี หรืออีกทั้งการถ่ายทำที่ต้องการให้ออกมา ‘สมจริง’ มากที่สุด การใช้ CG จึงเป็นสิ่งท้าย ๆ ที่โนแลนหวังพึ่ง 

เป็นเวลากว่า 10 ปีในการรังสรรค์บทของภาพยนตร์เรื่องนี้ให้ออกมาในฉบับสมบูรณ์ที่สุด คอนเซ็ปต์ที่ฟังแล้วเหมือนง่ายแต่มันละเอียดและลึกซึ้งกว่านั้นเยอะอย่าง ‘ความคิด’ ก็คือปรสิตที่ ‘ตายยาก’ ที่สุดในตัวคุณ ไม่ใช่โรคร้ายแรงที่คิดกัน ปฏิบัติการ ‘Inception’ จึงกำเนิดขึ้น 

การดำดิ่งลงสู่ความฝันที่มีภาพสะท้อนเป็นจิตใต้สำนึกของแต่ละบุคคล เพราะตอนเราหลับก็เหมือนเราถอดเกราะออกไป จิตสำนึกดับลง จิตใต้สำนึกทำงานแทน ภาพความทรงจำ เศษเสี้ยวความรู้สึก ล้วนแปรเปลี่ยนมาเป็นภาพสะท้อนในความฝันของเรา แต่ดันมีคนกลุ่มนึงที่สามารถเข้ามาฝันร่วมกับเราได้และขโมยความลับในฝันเราไปได้?!

ปฏิบัติการณ์ใน Inception อย่างการใช้วิธี ‘ฝันซ้อนฝัน’ การดำดิ่งลงไปฝันรวมกัน การใช้เรื่องราวของจิตใต้สำนึกมาเป็นองค์ประกอบหลักเพื่อให้เรื่องราวดูเสมือนความจริงมากที่สุด การใช้ประโยชน์ของ ‘เวลา’ ที่ไม่สัมพันธ์กันกับโลกความเป็นจริง แต่มาด้วยความเสี่ยง เพราะถ้าหากคุณหลงอยู่ใน ‘ลิมโบ้’ คงเป็นเรื่องยากแน่นอนที่คุณจะตื่นอีกครั้ง

/ บทความนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาของภาพยนตร์เรื่อง Inception /

ปฏิบัติการณ์ฝันซ้อนฝัน

They say we only use a fraction of our brain’s true potential.

Now that’s when we’re awake.

When we’re asleep,

we can do almost anything.

- Cobb

เริ่มจากข้อมูลที่ว่าว่ากันว่าเราใช้ศักยภาพที่แท้จริงของสมองเพียงเสี้ยวเดียวเท่านั้น ตอนนี้เป็นเวลาที่เราตื่นแล้ว เมื่อเราหลับ เราสามารถทำอะไรได้เกือบทุกอย่าง การคิดนอกกรอบ ความอิสระที่ไม่ผูดมัดกับพันธนาการใด ๆ ทั้งสิ้น เหมือนตอนที่เราหลับเอาแบบง่ายๆ บางทีเราเจอเหตุการณ์ที่มันไม่คิดว่าจะเกิดขึ้นกับเราได้ อย่างเช่น ฝันว่าอยู่ในบ้านตัวเองแต่เปิดประตูห้องไปกับพบว่ากลายเป็นสวนสนุก 

เป็นปฏิบัติการณ์ที่ใช้ความฝันเป็นเครื่องมือ “เพราะในฝันเราจะรู้สึกว่าทุกอย่างมันจริง” การพูดคุย บทสนทนา การกระทำ และแน่นอนการล้วงความลับ มันจะดูเหมือนจริงหมด 

เมื่อวิธีการจากปกติที่เป็นการขโมยถูกเปลี่ยนมาเป็น ‘ฝัง’ ความคิดแทน การดำดิ่งลงสู่ห้องแห่งความลับของ โรเบิร์ต ฟิสเชอร์ (คิลเลียน เมอร์ฟี) ด้วยเหตุผลทางธุรกิจที่ได้รับมอบหมายจาก มิสเตอร์ไซโตะ (เคน วาตะนะเบะ) อีกที

โดยปฏิบัติการ Inception นี้เราจะเห็นได้จากความสัมพันธ์ที่ร้าวฉานของพ่อลูกตระกูล ฟิสเชอร์ ทางทีมโจรกรรมได้เรียนรู้และนำข้อมูลตรงนี้มาเป็นคีย์สำคัญเพื่อให้บรรลุภารกิจ ง่าย ๆ ก็คือ ปั่นหัวฟิสเชอร์ให้เชื่อกับข้อมูลปลอมที่จะยัดใส่ลงไปในหัวผ่านความฝันที่รู้สึกเสมือนจริง

 

แล้วทำไมต้องเป็นในฝัน?

อย่างแรกเพราะว่าในฝัน เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมันดูสมจริง จนเมื่อยามที่คุณ ‘ตื่น’ จริง ๆ นั่นแหละคุณถึงจะรู้สึกว่ามีบางอย่างแปลก ๆ เกิดขึ้น แต่จะจำความฝันได้ไหมนั่นเป็นอีกเรื่อง แต่ว่าภาพหรือเหตุการณ์ที่ปรากฏในฝันนั้นมันจะเปรียบเสมือน ‘ภาพสะท้อนของจิตใจ’ ของเรา ในนั้นมีทั้งเรื่องราว ภาพทรงจำ และข้อมูลที่เวียนว่ายอยู่ในสมองของเรา เป็นการทำงานของสมองขณะที่เราหลับ

มีทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์ที่ได้มีพูดถึงอยู่ในภาพยนตร์อย่างของ ซิกมุนด์ ฟรอยด์ (Sigmund Freud) บิดาแห่งทฤษฎีจิตวิเคราะห์ ชาวออสเตรียเชื้อสายยิว ฟรอยด์เชื่อว่า ความฝัน คือการแสดงออกของจิตใต้สำนึก พูดง่าย ๆ ก็คือ ถ้าคนคนหนึ่งมีความอยากหรือความต้องการที่จะทำอะไร แล้วความต้องการนั้นไม่ได้รับการตอบสนอง หรือไม่อาจทำสิ่งนั้นได้ในชีวิตจริง ความต้องการนั้นก็ยังไม่ได้หายไปไหน แต่มันจะถูกเก็บไว้ในจิตใต้สำนึก และถูกปลดปล่อยออกมาโดยการฝัน

ทฤษฎีของฟรอยด์ ดูเหมือนจะสามารถไปด้วยกันได้กับปฏิบัติการ เพราะทีมของคอบบ์ต้องการลงไปในห้วงลึกของจิตใจผ่านความฝันเพื่อที่จะล้วงข้อมูลออกมาและเก็บซ่อนมันไว้ แต่กลับกัน คราวนี้เขาต้องลงไปฝังความคิดซึ่งมีอุปสรรคคือภาพสะท้อนของจิตใจของผู้ฝันที่เป็นเหมือนกลไกอัตโนมัติและทำงานอยู่ตลอดเวลา 

คอบบ์สามารถดำเนินการปฏิบัติการ Inception ได้ด้วยการค้นหาตู้เซฟที่ถูกล็อกไว้ในใจของบุคคล ที่ปกป้องข้อมูลอันมีค่าและวางข้อมูลใหม่ไว้ข้างในนั้นแทน ตู้เซฟมักจะพบได้ในระดับต่ำสุดของความฝัน (ในภาพยนตร์ให้เหตุผลว่าทุกคนมีความลับอยู่ในใจ และเราเลือกจะเก็บมันไว้ในชั้นที่ลึก) ซึ่งเป็นเหตุผลว่าทำไมจึงมีสถานการณ์ ‘ความฝันในความฝัน’ หลายครั้งในภาพยนตร์ นั่นก็เพื่อให้ Inception ทำงานได้โดยที่ข้อมูลที่ปลูกถ่ายใหม่จะต้องเป็นสิ่งที่บุคคลนั้นสามารถเข้าใจได้จริง สมเหตุสมผลกับโลกความเป็นจริง และผู้ถูกกระทำจากการถูกฝันซ้อนฝันเรื่องราวภายในฝันจะดูเป็นธรรมชาติและยากที่จะรู้สึกตัวว่า ‘ตัวเองฝันอยู่

ในกรณีของคอบบ์และโรเบิร์ต ฟิสเชอร์ในภาพยนตร์ คอบบ์ต้องทำให้ฟิสเชอร์รู้จักและเชื่อใจเขาพอในความเป็นจริงเสียก่อน เพื่อที่ภาพของเขาในโลกแห่งความฝันจะไม่พบกับความลังเลหรือการปฏิเสธ เริ่มโดยทำความรู้จักโดยผ่านตัวกลางว่า ชื่นชมพ่อของคุณและแสดงความเสียใจต่อการจากไปของพ่อโรเบิร์ต (ก่อนจะหลับยาวบนเครื่องบิน) เมื่อคอบบ์สามารถสร้างความสัมพันธ์ในโลกแห่งความเป็นจริงกับฟิสเชอร์ได้ Inception ก็กลายเป็นความเป็นไปได้ เนื่องจากมีความเป็นไปได้ที่คอบบ์จะได้พบกับฟิสเชอร์ในโลกแห่งความฝัน (กรณีที่ฝันร่วมกัน) 

ความไว้วางใจในระดับผิวเผินจึงเป็นองค์ประกอบสำคัญของกระบวนการเริ่มต้น ดังนั้นการคาดการณ์ ‘จิตใจ’ ของฟิสเชอร์ในเชิงป้องกันจะไม่พยายามฆ่าเขาหรือมองว่าเขาเป็นภัยคุกคาม 

คริสโตเฟอร์ โนแลนเปลี่ยนโลกแห่งความฝันให้กลายเป็นสนามแข่งขันใน Inception อย่างชาญฉลาดผ่านกฎเกณฑ์และข้อจำกัดที่ได้รับการพัฒนาอย่างรอบคอบ เป็นวิธีการและการเล่าเรื่องที่สุดโต่งมากในฉบับโนแลน ถึงแม้ทฤษฎีที่กล่าวไปข้างต้นนั้นจะไม่ได้ถูกพูดถึงอย่างชัดเจน แต่ก็มีเค้าโครงความเข้ากันได้อยู่
แต่ถึงจะดูสุดโต่งขนาดนั้น แน่นอนว่ามันคงไม่ง่ายอย่างที่ว่าแน่นอน เพราะการดำดิ่งลงหาตู้เซฟที่ชั้นลึกของฝันนั้นมันก็จะมีระดับที่ลึกที่สุดและอันตรายที่สุดอยู่ นั่นคือฝันชั้น ‘ลิมโบ้’ 

 

ดำดิ่งสู่ ‘ลิมโบ้’

Just raw, infinite subconsciousness. Nothing is down there. Except for whatever that might have been left behind by whoever’s sharing the dream who was trapped down there before.

ดินแดนที่ว่านี้คือดินแดนที่ไร้ขอบเขตภายใต้จิตสำนึก ไม่มีอะไรอยู่ข้างล่างนั้นเลย (เว้นแต่คนที่เคยติดอยู่ข้างล่าง) คำกล่าวที่ถูกพูดถึงดินแดนลิมโบ้ (Limbo) ที่ถูกใช้เป็นชื่อเรียกในภาพยนตร์ Limbo มาจากภาษาละติน Limbus ที่แปลว่า พรมแดน, ขอบเหว, คุก และดินแดนที่ถูกลืม

ถ้าหากเราดูจากภาพยนตร์ เราก็จะพอรู้เรื่องราวที่ว่าทั้งคอบบ์และมอล สองสามี-ภรรยา ผู้หลงใหลอยู่ในโลกแห่งความฝัน ได้ทำการดำดิ่งลงไปในชั้นที่ลึกที่สุดของจิตใจเพื่อแค่ต้องการจะรู้ว่าเราจะสามารถไปได้ลึกสุดที่ตรงไหน ในที่สุดพวกเขาก็ฝันถึงลิมโบ้ด้วยตนเอง ที่แห่งนี้พวกเขาสามารถสร้างสภาพแวดล้อมที่สมบูรณ์แบบร่วมกันจนให้ความรู้สึกเหมือนเป็น ‘พระเจ้า

ในที่สุด ทั้งคู่ก็เริ่มสร้างสิ่งของจากความทรงจำ ทำให้ความแตกต่างระหว่างความเป็นจริงกับความฝันยากต่อการแยกแยะ จึงเป็นเหตุให้ Inception ครั้งแรกเกิดขึ้นโดยตัวคอบบ์ที่ต้องการให้ภรรยาหลุดออกจากโลกแห่งความฝัน โดยการปลูกฝังความคิดของเธอที่ชั้นลิมโบ้นี้ เพราะว่าความคิดเธอเริ่มแยกแยะความเป็นจริงกับความฝันไม่ได้แล้ว

 

การสร้างความฝันจากความทรงจำของคุณเป็นวิธีที่ง่ายที่สุด

ในการสูญเสียความเข้าใจในสิ่งที่เป็นจริง

และสิ่งที่เป็นความฝัน

 

กล่าวเป็นนัยว่าการตายในลิมโบ้จะทำให้ผู้ฝันได้ตื่นขึ้นในความเป็นจริงอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม เนื่องจากการขยายเวลาอย่างสุดขีด ผู้ฝันจึงไม่น่าจะตระหนักว่าโลกที่ผู้ฝันกำลังประสบอยู่นั้นเป็นความฝันหรือโลกจริง ๆ ส่งผลให้ผู้ฝันปฏิเสธความจริงและไม่สามารถตื่นจากลิมโบ้ได้อีกต่อไปจนกว่าจะมีแรงกระตุ้นอะไรสักอย่างหนึ่ง

ซึ่งมันได้เกิดขึ้นกับไซโตะที่ไม่สามารถออกจาก Limbo ได้ทันที อันเป็นผลมาจากการตกลงไปใน Limbo โดยไม่รู้ตัว (ไซโตะเสียชีวิตในฝันชั้นที่ 3 ป้อมปราการหิมะ) พร้อมกับเวลาที่ยืดเยื้อจนนับไม่ได้ บวกกับไซโตะไม่ได้มีประสบการณ์เหมือนทีมคนอื่น ๆ จึงทำให้เขาตื่นมาที่ลิมโบ้โดยไม่รู้ตัวเลย ‘ว่าฝันอยู่’ ไซโตะใช้ชีวิตอยู่ใน Limbo เป็นเวลานานมาก สังเกตจากอายุที่เพิ่มขึ้นและอาณาจักรเล็ก ๆ ของเขา ที่เมื่อคอบบ์ปรากฏตัวต่อหน้าเขาใน Limbo ในที่สุด ไซโตะและคอบบ์ก็จำได้ว่าพวกเขากำลังฝันและตื่นขึ้นมา โดยทิ้ง Limbo ไว้ตลอดไป

ถึงแม้ในชีวิตจริงของเรา ระดับความฝันชั้น Limbo นั้นยังไม่มีทฤษฎีที่รองรับอย่างเป็นทางการ แต่อาการ ‘ติดอยู่ในฝัน’ ก็เป็นเรื่องที่ไม่ได้เหนือความคาดหมาย ถึงแม้เราจะไม่ได้รู้สึกเหมือนกับว่าเวลาผ่านไปเป็นสิบปีก็ตาม แต่รู้สึกได้ว่า มันหลายเหตุการณ์เหลือเกินและยังไม่สามารถตื่นได้ มิหนำซ้ำบางทีเรายังรู้ตัวว่าฝันอยู่ด้วย

มันคือความฝันแบบ Lucid Dream ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับสิ่งที่เราปรารถนาให้เกิดขึ้นในความเป็นจริง (ตามหลักการของฟรอยด์) Lucid Dream มักจะเกิดขึ้นในช่วงที่ร่างกายตกอยู่ในสภาวะหลับลึกที่สุด (R.E.M. - Rapid Eyes Movement จริง ๆ ความฝันแบบปกติก็มักจะเกิดขึ้นในช่วงนี้เหมือนกัน) และมักจะเกิดขึ้นในช่วงกลางถึงปลายของความฝัน บางคนที่รู้สึกว่าตัวเองอยู่ในสภาพ Lucid Dream ที่จริงอาจอยู่ในสภาวะหลายชั้นของการฝัน หรือเรียกง่าย ๆ ว่าฝันซ้อนฝัน (อารมณ์ประมาณเราฝันร้าย แล้วสะดุ้งตื่น แต่กลับพบว่าอยู่ในฝันอีกเหตุการณ์แทน) ผู้ฝันอาจจะรู้ว่า เรื่องราว เหตุการณ์ ผู้คน และสิ่งที่เขาหรือเธอกำลังประสบพบเจออยู่นั้น มันไม่ใช่ความเป็นจริง หากแต่เป็นความฝัน และในขั้นสูงสุดของ Lucid Dream ผู้ฝันอาจสามารถที่จะควบคุมหรือแม้แต่เนรมิตความฝันนั้นให้เป็นดั่งที่ใจต้องการได้

อาการแบบนี้ส่งผลกระทบถ้าหากว่ามันเกิดขึ้นบ่อยกับตัวเรา ตัวเราจะ ‘ตั้งคำถาม’ ถึงเรื่องที่ฝันไป และจะสับสนกับความเป็นจริง ยกตัวอย่าง เราฝันแบบ Lucid ว่าทำงานปกติ แล้วได้มีบทสนทนากับหัวหน้าตามปกติ แล้วยิ่งถ้าหากความฝันถูกความทรงจำจริง ๆ ของเรามาเชื่อมโยงมากเท่าไร เราก็จะเกิดความสบสนกับโลกความเป็นจริงหลังเราตื่นนอนได้มากเท่านั้น

ความน่าพิศวงของความฝันตั้งแต่เราเริ่มฝัน จนไปถึงการฝันซ้อนฝัน ฝันแล้วฝันอีกจนตกไปอยู่ในลิมโบ้ ที่มันเป็นสิ่งที่เรียกได้ว่าน่ากลัวและอัศจรรย์ในเวลาเดียวกัน  

และเมื่อพูดถึงเวลา…

เวลาในโลกแห่งความฝันก็มีความน่าสนใจไม่แพ้กัน

 

ในโลกแห่งความฝัน ‘เวลา’ ช่างแตกต่าง

เชื่อว่าหลายคนคงประสบพบเจอกับตัวเองไม่มากก็น้อย ที่ว่ารู้สึกเหมือนในฝันบางทีก็ดูนานผิดปกติ บางทีก็เหมือนฝันไปเป็นเวลาแป๊บเดียวก็สะดุ้งตื่นแล้ว ตอนสมัยเผลองีบหลับสมัยเรียนอยู่ชั้นมัธยมฯ เพราะความเหนื่อยล้า รู้สึกว่าความฝันมันผ่านไปนานมาก เป็นวัน แต่เมื่อตื่นขึ้นมา เวลาจริง ๆ ได้ผ่านไปเพียงไม่กี่นาทีเท่านั้น

 

เพียงห้านาทีในโลกแห่งความจริงอาจยาวนานนับชั่วโมงในความฝัน

 

อ้างอิงจากอาเธอร์ที่ได้บอกประมาณการเดินทางของเวลาในความฝันว่ามันจะช้ากว่าโลกความจริงอยู่มาก 5 นาทีในชีวิตจริงเท่ากับ 1 ชั่วโมงในความฝันในความฝันชั้นแรก

ระยะเวลาในการปฏิบัติ Inception คือ ไฟลท์เครื่องบินยาว 10 ชม. ในระดับความจริง เปรียบเป็น 1 อาทิตย์ในฝันชั้นแรก หกเดือนในชั้นสอง และชั้นสามก็จะประมาณ 10 ปีถ้าหากภารกิจไม่มีอุปสรรค และสุดท้ายคือห้วงเวลาอันเป็นนิรันด์ของลิมโบ้ในชั้นที่สี่  

ถึงในภาพยนต์เราอาจจะสงสัยว่าระยะเวลามันเท่าไหร่กันแน่ทำไมดูนานขนาดนั้นในฝัน เพราะในแง่ของวิทยาศาสตร์ ความฝันเป็นสิ่งที่สัมพันธ์กับสุขภาพของเราโดยตรง เพราะมันคือการทำงานของสมองในขณะที่ร่างกายของเราหลับไปแล้ว สมองยังคงทำงานอยู่ แต่ถูกสั่งการให้ร่างกายเป็นอัมพาตเพื่อการพักผ่อน การฝันจะเกิดขึ้นในช่วง REM (Rapid Eye Movement) คือช่วงที่เรากลอกตาไปมาอย่างรวดเร็วในขณะที่ตายังปิดอยู่ ซึ่งเกิดขึ้นเป็นช่วงสั้น ๆ ตลอดคืน กินเวลาประมาณ 20% ของทั้งคืนที่เราหลับไป

เรามักจะคิดว่าเรามีความฝันเพียงเรื่องสองเรื่อง หรือเท่าที่จำได้เท่านั้น แต่ความจริงแล้ว ในคืนหนึ่งที่เราหลับไป เราฝันไม่ต่ำกว่า 12 ครั้ง เพียงแค่เราจำมันไม่ได้ทั้งหมดนั่นเอง (หรือบางคนก็จำไม่ได้เลย) เรื่องนี้ได้รับการยืนยันโดย Lauri Quinn Loewenberg ผู้เชี่ยวชาญด้านความฝัน นักเขียน และนักสื่อ “เราจะฝันในทุก ๆ 90 นาทีต่อคืน ยิ่งเป็นช่วงหลัง ความฝันจะยิ่งยาวนานขึ้นเรื่อย ๆ การฝันครั้งแรกกินเวลาประมาณ 5 นาที และการฝันครั้งสุดท้ายจะกินเวลาถึง 45  นาทีก่อนเราตื่น

แม้เรื่องนี้จะยังไม่สามารถพิสูจน์ได้แบบ 100% แต่ทฤษฎีที่อ้างอิงกับช่วงเวลา REM ที่ถูกพิสูจน์มาแล้วถือว่าฟังดูค่อนข้างสมเหตุสมผล โดยเฉพาะการฝันครั้งสุดท้ายที่กินเวลานานที่สุดในช่วงเวลาก่อนที่เราจะตื่น เราจะจำความฝันในตอนนั้นได้แม่นยำ เลยเกิดเหตุการณ์ที่ฝันอยู่แล้วสะดุ้งตื่นขึ้นมา แล้วเราจำได้แม่นเลยว่ากำลังฝันเรื่องอะไรอยู่

กล่าวได้อย่างแท้จริงเลยว่า ภาพยนตร์เรื่องนี้เกี่ยวกับทั้งทฤษฎีทางจิตวิทยาและวิทยาศาสตร์ ที่มีทั้งข้อมูลรองรับแล้วก็ยังคงเป็นคำถามปลายเปิดให้ผู้ชมได้ไปคิดตาม ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าองค์ประกอบทั้งหมดนี้ที่ถูกแตกแขนงออกมาจากความ ‘ฝัน’ มันจะดูซับซ้อนและน่าค้นหา ความฝันนั้นบ่งบอกอะไรสักอย่างเกี่ยวกับตัวคุณที่เราเรียกกันว่า ‘ภาพสะท้อน’ บางสิ่งบางอย่างที่เรารู้สึกคาใจ หรือไม่ได้รับการเติมเต็มความรู้สึกนั้นอาจถูกเก็บไว้ในส่วนลึกและออกมาทำงานเป็นภาพในสมองเราขณะที่จิตใต้สำนึกเราถูกถอดเกราะขณะหลับ

บวกกับเวลาในความฝันที่ดูเหมือนจะไม่สัมพันธ์กันกับโลกความเป็นจริง รู้สึกเหมือนในฝันมันช่างยาวนานกว่าปกติ และเหตุการณ์ที่ตัวผู้ฝันเองตื่นมาจำเหตุการณ์ได้แบบทั้งหมด หรือตรงกันข้ามแบบว่า คิดเท่าไรก็คิดไม่ออก แต่รู้สึกว่าฝันอะไรสักอย่าง 

ความฝันก็เป็นเหมือนโลกที่ไร้บ่วงพันธนาการเราไว้ ความแตกต่างเฉพาะตัวของบุคคลทำให้ความฝันนั้นมีมิติ มุมมอง ภาพสะท้อนที่แตกต่างกันออกไป รวมถึงเรื่องที่เราไม่คาดคิดอย่างความลับ ข้อมูลสำคัญ ที่มันดันเผยออกมาตอนที่เราฝัน และถ้าหากว่ามีคนอื่นมาเห็นฝันนั้นคงไม่ใช่เรื่องดีแน่ และนี่คือ ‘Inception’

 

ภาพ : IMDb

อ้างอิง : 

Inception: Film, Dreams and Freud - OffScreen 

Inception (2010) | ScreenRant

The Psychology of Inception: Trying to Escape a Harsh Reality – Studies in Visual Cultures – ENG 705 (torontomu.ca)

Lucid Dreaming: A State of Consciousness with Features of Both Waking and Non-Lucid Dreaming - PMC (nih.gov)