มาร์ติน สกอร์เซซี "ชีวิตผมมีแค่หนังกับศาสนา ไม่มีอย่างอื่นแล้ว”

มาร์ติน สกอร์เซซี "ชีวิตผมมีแค่หนังกับศาสนา ไม่มีอย่างอื่นแล้ว”

เรื่องราวชีวิตของ ‘มาร์ติน สกอร์เซซี’ ผู้กำกับจอมเก๋าที่คนทำหนังส่วนใหญ่ยกให้เป็นครู ซึ่งอดีตเป็นเด็กขี้โรคที่เกือบเลือกเดินทางธรรม ก่อนจะผันตัวสู่เส้นทางแผ่นฟิล์มในฐานะผู้กำกับหนังชั้นครูผู้ค้นพบสัจธรรมบนแผ่นฟิล์ม

  • มาร์ติน สกอร์เซซี หรือที่คนในวงการเรียกว่า ‘มาร์ตี้’ 
  • เขาเกิดเมื่อ 17 พฤศจิกายน ค.ศ. 1942
  • ในวัยเด็กมาร์ตี้เป็นหอบหืดขั้นรุนแรง ทำให้ชอบดูภาพยนตร์ และนั่นเป็นจุดเริ่มต้นให้เข้ามาในแวดวงนี้

ภาพยนตร์ที่ดีควรเป็นแบบไหน? คำถามนี้อาจถกเถียงกันได้ไม่รู้จบ แต่สำหรับ ‘มาร์ติน สกอร์เซซี’ (Martin Scorsese) ผู้กำกับจอมเก๋าที่คนทำหนังส่วนใหญ่ยกให้เป็นครู เขามีคำตอบนี้อยู่ในใจ

มาร์ติน สกอร์เซซี หรือที่คนในวงการเรียกว่า ‘มาร์ตี้’ เชื่อว่า หนังที่ดีต้องตีแผ่ความงดงาม อารมณ์ หรือจิตวิญญาณของตัวละคร แสดงให้เห็นทุกมุมที่ซับซ้อน ย้อนแย้ง และทำให้ผู้ชมได้พบกับสิ่งที่ไม่คาดฝันอย่างมีศิลปะ

หนังของเขาที่โด่งดังไม่ว่า Taxi Driver (1976), Raging Bull (1980), Goodfellas (1990) จนมาถึง The Departed (2006), The Wolf of Wall Street (2013) และ Killers of the Flower Moon (2023) ล้วนเดินตามปรัชญา ‘ภาพยนตร์ที่ดี’ ที่ว่าทั้งสิ้น

อย่างไรก็ตาม กว่าจะมาถึงจุดนี้ จุดที่สามารถสร้าง ‘ภาพยนตร์ที่ดี’ ออกมาให้คนทั่วโลกได้ชม ชีวิตจริงของมาร์ตี้ต้องเผชิญกับเรื่องราวไม่คาดฝันมากมายไม่ต่างจากในหนังของตัวเอง

จุดเริ่มต้นของคนรักหนัง

“ชีวิตผมมีแค่หนังกับศาสนา ไม่มีอย่างอื่นแล้ว” มาร์ติน สกอร์เซซี เคยพูดประโยคนี้ไว้เมื่อให้เล่าถึงชีวิตส่วนตัว

มาร์ตี้เป็น ‘นิวยอร์กเกอร์’ โดยกำเนิด เขาเกิดในเขตควีนส์ ของนครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน ค.ศ. 1942 และเติบโตมาในย่าน ‘ลิตเติล อิตาลี’ (Little Italy) ในเขตแมนฮัตตัน ใจกลางมหานครนิวยอร์ก

เขาเป็นทายาทรุ่นที่ 3 ของครอบครัวชาวอเมริกันที่อพยพมาจากซิซิลี เกาะทางภาคใต้ของอิตาลี การได้โตมาใน ‘ลิตเติล อิตาลี’ จึงทำให้เขาได้ใกล้ชิดและผูกพันกับรากเหง้าของบรรพบุรุษ ถึงขั้นที่เคยเปรียบเปรยย่านนี้ว่า ‘คล้ายหมู่บ้านในซิซิลี’

สาเหตุที่เขาบอกว่า ‘ชีวิตมีแค่หนังกับศาสนา’ มาจากปัญหาสุขภาพในวัยเด็ก มาร์ตี้มีโรคประจำตัวเป็นหอบหืดขั้นรุนแรง ทำให้ไม่สามารถออกไปวิ่งเล่น หรือทำกิจกรรมกลางแจ้งได้เหมือนเด็กทั่วไป ส่วนพ่อแม่ซึ่งมีอาชีพเป็นคนงานในอุตสาหกรรมตัดเย็บเสื้อผ้าก็ไม่ค่อยมีเวลาให้ เขาจึงใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่หน้าจอทีวี หรือไม่ก็ไปโรงภาพยนตร์

หนังที่มาร์ตี้ชอบดูส่วนใหญ่เป็นภาพยนตร์อิตาลีที่ฉายตามช่องทีวีท้องถิ่น เช่น The Bicycle Theif (1948) และ Paisan (1946) รวมถึงหนังของไมเคิล พาวเวลล์ กับเอเมอริก เพรสเบอร์เกอร์ คู่หูผู้กำกับชาวอังกฤษที่โด่งดังในทศวรรษ 1940s - 1950s

ความคลั่งไคล้ในแผ่นฟิล์มทำให้มาร์ตี้เริ่มเขียนสตอรี่บอร์ดจากหนังที่ตัวเองชื่นชอบขึ้นมาตั้งแต่อายุ 8 ขวบ จากนั้นพอถึงวัย 12 ปี เขาเริ่มมีสตอรี่บอร์ดที่เล่าเรื่องตามจินตนาการของตนเอง พร้อมลงชื่อปิดท้ายว่า “กำกับและอำนวยการสร้างโดย มาร์ติน สกอร์เซซี”

มาร์ตี้เล่าติดตลกว่า เขาเคยบอกพ่อกับแม่ถึงความฝันของการโตไปเป็นผู้กำกับภาพยนตร์ และได้ยินแม่แอบกระซิบกับพ่อว่า “ฉันว่าลูกเราน่าจะบ้า เขาต้องเพี้ยนไปแล้วแน่ ๆ”

ใกล้ชิดศาสนาจนเกือบลาบวช

นอกจากชีวิตจะคลุกคลีอยู่กับหน้าจอหนัง ครอบครัวของเขาซึ่งนับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกเหมือนคนเชื้อสายอิตาเลียนทั่วไป ยังมักพาลูกไปเข้าโบสถ์เป็นประจำ ทำให้มาร์ตี้ได้ซึมซับคำสอนทางศาสนา และรู้จักกับบาทหลวงหลายคน

นักบวชที่มาร์ตี้สนิทที่สุด และเป็นพี่เลี้ยงช่วยให้คำชี้แนะทางจิตวิญญาณ ชื่อว่า ‘คุณพ่อฟรานซิส ปรินซิเป’ บุคคลผู้นี้นอกจากจะคอยให้คำปรึกษาทางศาสนา ยังมักพามาร์ตี้ไปโรงหนัง และพูดคุยวิพากษ์วิจารณ์หนังที่ดูมาร่วมกันอย่างออกรสออกชาติ

ด้วยปัญหาสุขภาพที่ทำให้ไม่ค่อยมีเพื่อนวัยเดียวกันและความใกล้ชิดกับศาสนา พอถึงชั้นมัธยมฯ ปลาย มาร์ตี้เคยคิดหันหลังให้การเป็นผู้กำกับหนัง และเดินเข้าสู่โลกทางธรรมอย่างเต็มตัว

เขาตัดสินใจเข้าเรียนโรงเรียนสอนศาสนาเพื่อเตรียมบวชเป็นพระคาทอลิกอยู่นาน 1 ปี แต่สุดท้ายไม่สามารถบรรลุเป้าหมาย เพราะไม่เคยไปเข้าโบสถ์ทำพิธีมิสซาได้ทันเวลา จนถูกไล่ออกมาในที่สุด

เรื่องนี้ถือเป็นโชคดีของแฟนหนัง เพราะหลังจากนั้นเขากลับมาเอาดีกับการทำหนังเต็มที่ โดยสมัครเรียนต่อด้านภาพยนตร์ที่มหาวิทยาลัยนิวยอร์ก (NYU) จนจบปริญญาโท และเป็นอาจารย์สอนทำหนังอยู่พักหนึ่ง ก่อนจะกระโจนเข้าสู่โลกผู้กำกับภาพยนตร์แบบเต็มตัว

หนังเรื่องแรกเพื่อแจ้งเกิด

หนังเรื่องยาวที่มาร์ตี้เขียนบทและกำกับเองเรื่องแรกมีชื่อว่า Who’s That Knocking at My Door? (1968) เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับหนุ่มอิตาเลียน - อเมริกันที่เกิดความสับสนในใจเมื่อรู้ว่าแฟนสาวที่กำลังจะแต่งงานกันเคยถูกข่มขืนมาก่อน

เรื่องนี้พยายามตีแผ่ความเชื่อของคนยุคเก่าเกี่ยวกับสาวบริสุทธิ์ และตั้งคำถามว่า อะไรสำคัญกว่ากันระหว่างความรักกับความบริสุทธิ์? 

มาร์ตี้พยายามส่งเรื่องนี้เข้าฉายตามเทศกาลหนัง แต่เพราะยังไม่มีใครรู้จัก ‘มาร์ติน สกอร์เซซี’ จึงถูกปฏิเสธกลับมาหมด ยกเว้นงานเดียวที่เมืองชิคาโก จนไปเข้าตา ‘โรเจอร์ อีเบิร์ต’ (Roger Ebert) นักวิจารณ์หนังชื่อดัง ซึ่งเป็นคนแรกที่ค้นพบพรสวรรค์ในตัวผู้กำกับคนนี้ ถึงขั้นชมว่าใช้เทคนิคและศิลปะการถ่ายทำที่ดีไม่แพ้ภาพยนตร์ที่ดีที่สุดในยุคนั้น

อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ยังไม่ใช่งานที่หลายคนยกให้เป็น masterpiece ของเขา ผลงานชิ้นโบแดงเรื่องแรกของมาร์ตี้ คือ เรื่องต่อมาที่ชื่อว่า Mean Streets (1973) เริ่มออกฉายเพียงเดือนเดียวก่อนที่เขาจะมีอายุครบ 31 ปีบริบูรณ์ และเป็นต้นแบบของหนังเครื่องหมายการค้าของสกอร์เซซี นั่นคือการเน้นตีแผ่ด้านมืดของตัวละครหลัก โดยเชื่อมโยงกับศาสนาและอาชญากรรมด้วยเนื้อหาที่เข้มข้น ใช้มุมกล้องแปลกใหม่ และมีดนตรีประกอบเพื่อเพิ่มอรรถรส

นอกจากนี้ Mean Streets ยังเป็นเรื่องแรกที่มาร์ตี้ได้ร่วมงานกับ ‘โรเบิร์ต เดอ นีโร’ (Robert De Niro) นักแสดงที่ต่อมากลายเป็นตำนานของวงการฮอลลีวูด และเป็นดาราคู่บุญของเขา

คู่ซี้ที่เป็นตำนานวงการหนัง

หลังเริ่มเป็นที่รู้จักใน Mean Streets มาร์ตี้ และเดอ นีโร มาดังเปรี้ยงปร้างด้วยกันในเรื่องต่อมา Taxi Driver ซึ่งตีแผ่ด้านมืดของชีวิตคนกลางคืนในนิวยอร์ก ผ่านเรื่องราวของอดีตทหารผ่านศึกที่มีอาการทางจิตและมาทำงานเป็นคนขับแท็กซี่

เรื่องนี้ได้รางวัลปาล์มทองคำจากเทศกาลหนังเมืองคานส์ และส่งให้เดอ นีโร กลายเป็นนักแสดงระดับตำนานเต็มตัว Taxi Driver กลายเป็น ‘หนังคัลท์’ และกลายเป็นข่าวดังเมื่อมีชายโรคจิตคนหนึ่งถูกจับข้อหาพยายามลอบสังหารประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน ของสหรัฐฯ โดยอ้างว่าได้แรงบันดาลใจมาจากหนังเรื่องนี้

ความสำเร็จที่มาเร็วจาก Taxi Driver ทำให้มาร์ตี้เริ่มมีอีโก้ และถลำสู่โลกมืด เขาเริ่มใช้ยาเสพติด และพอเรื่องต่อมา New York, New York (1977) ซึ่งทดลองทำหนังเพลงแนวโรแมนติกที่ไม่ถนัดออกมาเกิดล้มเหลวไม่เป็นท่า ชีวิตก็ดำดิ่งจนเกือบสายเกินเยียวยาไปแล้ว

เขาป่วยเป็นโรคซึมเศร้าและร่างกายทรุดโทรม จนวูบหมดสติกลางงานเทศกาลภาพยนตร์แห่งหนึ่ง มาร์ตี้ยอมรับว่า ตอนนั้นเขาเกือบเอาชีวิตไม่รอด เพราะมีโรคหอบหืดกำเริบมาพร้อมกัน โชคดีที่เดอ นีโร มาช่วยเตือนสติ และแนะนำให้ทำหนังใหม่เรื่อง Raging Bull เขาจึงตัดสินใจเลิกโคเคน เปลี่ยนพฤติกรรม และทุ่มเททุกอย่างเพื่อหนังเรื่องนี้

ชีวิตเริ่มต้นใหม่และไปไกลกว่าเก่า

Raging Bull ตีแผ่เรื่องราวของนักมวยชื่อดังที่เผชิญปัญหาทั้งบนสังเวียนผ้าใบและในชีวิตส่วนตัว เรื่องนี้เดอ นีโร รับบทเป็น ‘เจค ลามอตต้า’ นักชกอดีตแชมป์โลกรุ่นมิดเดิลเวต หนังถ่ายด้วยฟิล์มขาว-ดำ และนำเสนอออกมาได้อย่างมีศิลปะจนทำให้เดอ นีโร ได้รับรางวัลนักแสดงนำชายยอดเยี่ยมบนเวทีออสการ์

หลังเคยเฉียดตายและกลับมาประสบความสำเร็จได้อีกครั้ง มาร์ตี้หันมาทุ่มเททำทุกอย่างเพื่อโลกภาพยนตร์ และสร้างผลงานเป็นที่จดจำไว้อีกมากมายไม่ว่าจะเป็น The King of Comedy (1983) ที่เป็นแรงบันดาลใจให้เกิดหนังเรื่อง Joker (2019) และ The Last Temptation of Christ (1988) หนังพูดถึงวาระสุดท้ายของพระเยซู ซึ่งมีเนื้อหาล่อแหลม จนเคยถูกขู่ฆ่าจากคนเคร่งศาสนาที่ต่อต้าน

เมื่อโลกเข้าสู่ทศวรรษ 1990s มาร์ตี้หวนกลับมาทำหนังมาเฟียที่ตัวเองถนัดอีกครั้ง จนเกิดเป็น Goodfellas ซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็นหนังที่ดีที่สุดเรื่องหนึ่งของเขา

Goodfellas พยายามตีแผ่วงการมาเฟีย และแสดงให้เห็นความขัดแย้งระหว่างคำว่า ‘ครอบครัว’ และความจงรักภักดี กับการหักหลัง คอร์รัปชัน และความรุนแรง

นอกจากเรื่องนี้ยังมี Casino (1995) ซึ่งตีแผ่วงการมาเฟียในธุรกิจการพนันที่นครลาสเวกัสตามมา ก่อนจะกลับสู่หนังแก๊งสเตอร์ย้อนยุคในเมืองบ้านเกิดอย่าง Gangs of New York (2002) ที่ได้ร่วมงานกับ 'ลีโอนาร์โด ดิคาปริโอ' เป็นครั้งแรก

จูงมือกันสู่ความสำเร็จ

ผู้อยู่เบื้องหลังการได้มาร่วมงานกันครั้งแรกระหว่างมาร์ตี้ กับ ‘ลีโอ’ ไม่ใช่ใครที่ไหน เขาคือโรเบิร์ต เดอ นีโร คนเดิมนั่นเอง

เดอ นีโร เคยร่วมงานกับลีโอในเรื่อง This Boy’s Life (1993) ซึ่งขณะนั้น ลีโอมีอายุเพียง 18 ปี เขารู้สึกประทับใจความสามารถของดาราหน้าใหม่คนนี้จึงแนะนำให้มาร์ตี้ดึงมาเล่น Gangs of New York ก่อนที่มาร์ตี้และลีโอจะกลายเป็น ‘ดูโอ้’ คู่ใหม่ของวงการฮอลลีวูดในที่สุด

ทั้งมาร์ตี้, เดอ นีโร และลีโอ นอกจากจะมีเชื้อสายอิตาเลียนเหมือนกัน พวกเขายังทำงานเข้าขากันชนิดที่เรียกว่า ‘มองตาก็รู้ใจ’ หากนับถึงเรื่อง Killers of the Flower Moon ที่ออกฉายในปี 2023 จะพบว่า เดอ นีโร เล่นหนังให้มาร์ตี้มาแล้ว 11 เรื่อง ส่วนลีโอ ได้ร่วมงานกันมาทั้งหมด 7 เรื่อง

“เขาช่วยชีวิตผมไว้” ลีโอกล่าวถึงผู้กำกับคู่บุญที่ชื่อ มาร์ติน สกอร์เซซี ซึ่งมอบบทบาทหลากหลายให้ดาราชายผู้นี้ จนต่อมาได้รับรางวัลมากมาย และกลายเป็นตำนานคนใหม่ของวงการภาพยนตร์

นอกจากมาร์ตี้จะ ‘ช่วยชีวิต’ ลีโอด้วยการส่งบทใหม่ ๆ ให้เล่น ความจริงแล้วลีโอก็ ‘ช่วยชีวิต’ มาร์ตี้ไว้เหมือนกัน

ก่อนหน้านั้นแม้หนังของมาร์ตี้จะได้รับรางวัลมากมาย แต่เขายังไม่เคยได้รางวัลผู้กำกับภาพยนต์ยอดเยี่ยมบนเวทีออสการ์ จนกระทั่งได้ร่วมงานกับลีโอในเรื่อง The Departed เมื่อปี 2006 รางวัลอันเรียกได้ว่าเป็นเกียรติยศสูงสุดของคนทำหนังนี้จึงตกเป็นของมาร์ตี้ในที่สุด

พบสัจธรรมในภาพยนตร์และชีวิต

“ภาพยนตร์คือการตีแผ่ ไม่ว่าจะเป็นความสวยงาม อารมณ์ หรือจิตวิญญาณ มันเกี่ยวกับคาแรกเตอร์ ทั้งความซับซ้อนของคน ตลอดจนความแตกต่าง และบางครั้งอาจเป็นธรรมชาติอันย้อนแย้ง วิธีที่พวกเขาทำร้ายคนหนึ่ง แต่ไปรักอีกคน และทันใดนั้นก็ต้องมาเผชิญหน้ากับตัวเอง

“มันเกี่ยวกับการได้เจอเรื่องไม่คาดฝันบนหน้าจอ ในเรื่องราวชีวิตที่ดราม่า หรือถูกตีความออกมา และขยายการรับรู้ถึงสิ่งที่เป็นไปได้ให้กว้างใหญ่ขึ้นในรูปแบบของงานศิลปะ” 

มาร์ตี้บรรยายนิยาม ‘ภาพยนตร์ที่ดี’ กับ The New York Times หลังเขาตกเป็นข่าวอื้อฉาวจากการไปพูดถึงหนังซูเปอร์ฮีโร่ของค่ายมาร์เวล ว่าเหมือน ‘สวนสนุก’ มากกว่าหนัง

เขาทุ่มเทชีวิตหลังโลดแล่นในวงการหนังมานานกว่าครึ่งศตวรรษ ต่อสู้เพื่อคนทำหนัง ‘อาร์ต’ และหนัง ‘อินดี้’ ไม่ว่าจะเป็นกระบอกเสียงให้คนเหล่านี้ หรือก่อตั้ง The Film Foundation ขึ้นมาเพื่อเก็บรักษาหนังดี ๆ จากยุคเก่าไม่ให้หายสาบสูญ

ขณะเดียวกันก็ยังไม่หยุดทำหนังในแนวทางของตัวเองออกมาจนกว่าจะสิ้นลมหายใจ แต่ดูเหมือนมุมมองต่อหนังในช่วงหลังของเขาจะเปลี่ยนไปเล็กน้อย

'เจสัน เบลีย์' (Jason Bailey) นักวิจารณ์ของ The New York Times ตั้งข้อสังเกตเรื่องนี้ไว้น่าสนใจว่า ช่วงหลังหนังของมาร์ตี้ ไม่ว่า The Irishman (2019) หรือ Killers of the Flower Moon พยายามฉายภาพความตายและการใช้ความรุนแรงได้น่าหดหู่มากขึ้น โดยจับภาพกว้างเพื่อให้เห็นปฏิกิริยารอบข้าง และไม่มีดนตรีประกอบ

เขายกตัวอย่างความแตกต่างจากหนังเรื่องเก่า ๆ ตั้งแต่ Mean Streets ไปจนถึง Goodfellas และ Casino ซึ่งผู้กำกับมักใช้มุมกล้องและดนตรีประกอบเพื่อลดความตึงเครียดของฉากความตาย และทำให้ความรุนแรงดูง่ายมากขึ้น

ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นสอดคล้องกับคำพูดของมาร์ตี้ ซึ่งเคยตอบคำถามเกี่ยวกับการทำหนังออกมาให้เหล่าอาชญากรและการใช้ความรุนแรงดูดี เขาตอบว่า “มันมีเสน่ห์ดึงดูดใจใช่ไหมล่ะ ถ้าคุณยังเด็กและโง่เขลาเมื่อดูตอนแรกจะหลงใหล ซึ่งหลายคนเป็นแบบนั้น ผมเองก็เช่นกัน”

เมื่อเวลาผ่านไป หลังเผชิญเรื่องราวมากมาย ทั้งล้มป่วยและติดยาจนเกือบตาย ชีวิตสมรสพังทลายต้องแต่งงานใหม่ถึง 5 ครั้ง จนกระทั่งประสบความสำเร็จ ดูเหมือนมาร์ติน สกอร์เซซีกับชีวิตในบั้นปลาย จะค้นพบสัจธรรมบางอย่าง และพยายามสะท้อนมันออกมาในงานที่เขารัก

.

เรื่อง : ภานุวัตร เอื้ออุดมชัยสกุล

ภาพ : Getty Images

.

อ้างอิง

.

Martin Scorsese biography

History Martin Scorese

A life in pictures: Martin Scorsese

Martin Scorsese Directs

From ‘Goodfellas’ to ‘Flower Moon’: How Scorsese Has Rethought Violence

How Martin Scorsese Made His Most Challenging Movie Yet