14 มิ.ย. 2567 | 09:19 น.
KEY
POINTS
“โปรดโอบกอดทุกตัวตน ทุกอารมณ์ และความรู้สึกที่อยู่ในตัวเรา”
คือ สิ่งที่เราได้รับหลังดูแอนิเมชันฟีลกู๊ดเรื่อง ‘Inside Out 2’ ภาพยนตร์จากดิสนีย์และพิกซาร์ ความยาว 96 นาทีจบ
ภาพยนตร์เรื่องนี้เปิดด้วย ‘ไรลีย์ แอนเดอร์สัน’ ที่ไม่ใช่เด็กน้อยอีกแล้ว แต่เธอคือหญิงสาวสดใส มีเพื่อน 2 คน และชอบเล่นกีฬาฮอกกี้น้ำแข็งสุด ๆ จนเป็นนักกีฬาระดับโรงเรียน
แต่ถ้าพูดถึง Inside Out เหล่าตัวละครที่ไม่พูดถึงไม่ได้ คือ เจ้าอารมณ์อันหลากหลายที่ก่อตัวเป็นไรลีย์ แอนเดอร์สัน ในวัย 13 ปีที่กำลังจะเป็นวัยรุ่นสาวคนหนึ่ง
อารมณ์ของไรลีย์จึงไม่ได้มีแค่ลั้ลลา หยะแหยง เศร้าซึม กลั๊วกลัว หรือฉุนเฉียวอีกแล้ว แต่เธอว้าวุ่น เฉยชิล และบางครั้งก็เขินอาย
เรื่องราวที่เจอกลายเป็นเรื่องใหม่ที่เธอต้องเรียนรู้และเติบโต…
เพราะสุดท้ายก็ต้องยอมรับว่า ตัวเราไม่ได้มีด้านเดียว
/บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาบางส่วนของภาพยนตร์เรื่อง Inside Out 2 (2024)/
อย่างที่รู้ ไรลีย์อยู่ในวัยที่กำลังจะโตเป็นสาว
ไม่แปลกที่ไรลีย์จะเสียหลัก เมื่อเพื่อนรักสองคนต้องย้ายโรงเรียน ต้องไปโรงเรียนใหม่ที่ไม่คุ้นเคย และยังต้องเป็นนักฮอกกี้ที่เก่งที่สุด
แทนที่จะปลดปล่อยความทุกข์และแรงกดดันออกมา ไรลีย์และเจ้าเหล่าอารมณ์ต่าง ๆ ก็เก็บสิ่งนี้ไว้ในใจ
แท่นควบคุมอารมณ์ถูกรื้อ มีอารมณ์ใหม่ๆ เข้ามา มีเจ้าว้าวุ่น เขินอาย และเฉยชิลมาแทน ผลักลั้ลลา หยะแหยง เศร้าซึม กลั๊วกลัว และฉุนเฉียวออกไป
ทั้งหมดนี้ เพราะว้าวุ่นทำงานหนักเกินไป กลัวการไม่ถูกยอมรับ กลัวต้องโดดเดี่ยว ว้าวุ่นจึงบังคับให้ไรลีย์ทำทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นมุ่งหน้าหาเพื่อนใหม่ ทิ้งเพื่อนเก่า ย้อมผมในสไตล์แบบเพื่อนใหม่ ฝึกซ้อมตัวเองให้หนักเพื่อให้โค้ชยอมรับ
ไม่ต้องเป็นเด็กวัย 13 แต่ผู้ใหญ่อย่างเรา ต่างก็ต้องผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบาก บอกใครไม่ได้ เคี่ยวกรำตัวเองอย่างหนักจนเป็นทุกข์
แต่สิ่งที่หนังมอบให้กับเรา ไม่ต้องกดความรู้สึกของเรามากนัก แต่อยากให้เข้าใจว่า ทุกอารมณ์ ทุกเหตุการณ์ ทุกคำชม และทุกคำผิดพลาดนี่แหละ ที่หล่อหลอมให้ตัวเราเป็นตัวเราในวันนี้
บางครั้งเราก็เป็นคนดี บางครั้งก็เป็นคนที่ไม่ดี เป็นเพื่อนที่ดี เป็นเพื่อนที่แย่ และเห็นแก่ตัว
ทว่า ทุกอย่างจะไม่เป็นไร ขอแค่ตั้งสติและรู้ว่าตอนนี้เรากำลังรู้สึกอย่างไร เพื่อใช้ชีวิตต่อในแบบที่เราเป็น
ไม่ต้องสร้างภาพลักษณ์ หรือพร่ำบอกตัวเองว่า เราต้องเป็นคนแบบไหน แต่จงเป็นตัวเรา
ในวันที่เจ้าลั้ลลา ถูกผลักตกลงไปจากหอบังคับการ คือ ฉากที่ทำให้เราเห็นเฉดสีของตัวละครนี้ที่ต่างออกไปจาก Inside Out ภาคแรก
ถ้ายังจำได้ ภาคแรก ลั้ลลาคือตัวละครที่เป็นผู้นำ สดใสกว่าใคร ๆ คิดทุกอย่างในแง่บวก
แต่เมื่อวันหนึ่งเจ้าว้าวุ่นมาลุกเป็นผู้นำ ขึ้นคุมหอบังคับอารมณ์ ลั้ลลาก็พยายามทำทุกอย่างเพื่อให้ไรลีย์มีความสุขให้ได้
แต่ระหว่างทางกลับต้องเจออุปสรรคมากมาย ทั้งต้องเจอกับแรงสั่นสะเทือน ถูกแรงกดดันจากเจ้าตัวอารมณ์อื่น ๆ
ลั้ลลาจึงไม่ลั้ลลาเหมือนชื่ออีกแล้ว มีมุมที่ร้องไห้และเผชิญความจริง จนสุดท้ายเธอก็ต้องยอมรับอย่างตรงไปตรงมา ว่า “บางครั้งโตขึ้น ความสุขก็น้อยลง”
เราโตขึ้น เรามีหน้าที่การงานที่มั่นคง มีเพื่อนที่ดี แต่บางทีเราก็มีความสุขน้อยลง
ประโยคของลั้ลลาแค่สั้น ๆ เพียงประโยคเดียว ทำให้เรากลับมาทบทวนชีวิตของเราเหมือนกันว่า วันนี้เรามีความสุขแล้วหรือยัง?
อาจไม่ใช่ความสุขที่ยิ่งใหญ่ แต่เป็นเรื่องราวเล็กน้อยที่เกิดขึ้นในชีวิต
สิ่งที่เราคิดว่าน่าสนใจและยังเป็นสิ่งที่ภาพยนตร์เรื่องนี้ยังทำได้ดี คือ การเขียนบทแสนน่ารัก แอบกวน ๆ ให้กับเจ้าอารมณ์ทั้ง 8 อารมณ์
และมากกว่านั้น คือ การบอกผู้ชมในวัยผู้ใหญ่อย่างเราว่า ‘อารมณ์เดียว ไม่มีในโลก’
เราเห็นลั้ลลาร้องไห้ เห็นเศร้าซึมลุกขึ้นมาอย่างกล้าหาญ เขินอายก็กลายเป็นตัวละครที่ช่วยไรลีย์ ว้าวุ่นก็หยุดคิด และเห็นเจ้าฉุนเฉียวบอกว่า “ฉันก็ไม่ได้โกรธตลอดนะ”
คงเหมือนกับชีวิตเราที่สุข เศร้า เหงา โกรธหน่อย ๆ กลัวอยู่บ้าง เขินอายจนทำอะไรไม่ถูก เฉยชิลไปบ้าง อิจฉา หยะแหยงกับบางสิ่ง และเศร้าซึมไปบางที
แต่ทุกอย่างจะไม่เป็นไร ถ้าเราโอบรับทุกอารมณ์ ปล่อยให้ตัวเองอยู่ในห้วงอารมณ์ และบางครั้งน้ำตาก็ช่วยได้เหมือนที่ลั้ลลาบอกไว้
เมื่อเราเข้าใจตัวเอง การเข้าใจคนอื่นคงไม่ใช่เรื่องยาก
ทั้งนี้ เพื่อเด็ก ๆ และผู้คนที่อยากเป็นตัวเองและกำลังเติบโตในแบบที่ตัวเองเป็น เหมือนประโยคสุดท้ายใน End Credit
“ภาพยนตร์เรื่องนี้ขอมอบให้กับเด็ก ๆ และขอให้รักเขาในแบบที่เขาเป็น”
เรื่อง : ณัฐธนีย์ ลิ้มวัฒนาพันธ์
ภาพ : Disney Thailand