‘เยาวราช’ กับอัตลักษณ์ชุมชนจีนและความเปลี่ยนแปลงจากยุคแรงงานอพยพสู่เศรษฐกิจวัฒนธรรมร่วมสมัย

‘เยาวราช’ กับอัตลักษณ์ชุมชนจีนและความเปลี่ยนแปลงจากยุคแรงงานอพยพสู่เศรษฐกิจวัฒนธรรมร่วมสมัย

ประวัติศาสตร์เบื้องหลังถนน ‘เยาวราช’ ที่ประกอบด้วยความเชื่อ วัฒนธรรมร่วมสมัย แรงงาน สตรีทฟู้ด ทั้งยังเป็นสถานที่ถ่ายทำเพลง 'ROCKSTAR' เพลงล่าสุดของ 'ลิซ่า'

KEY

POINTS

  • ก่อนจะเป็นไชน่าทาวน์เมืองไทย ‘เยาวราช’ เป็นแหล่งที่ตั้งของศาสนสถานมากมายหลายแห่ง ในหลากหลายความเชื่อ
  • ชื่อเดิมของถนนเยาวราช คือ ถนนยุพราช เพิ่งเปลี่ยนเป็น เยาวราชในสมัยรัชกาลที่ 5
  • นอกจากนี้ถนนเส้นนี้ยังปรากฏในวัฒนธรรมบันเทิงร่วมสมัย (Pop Culture) ทำให้เป็น ‘ย่านเก่าที่ไม่ตาย’

‘เยาวราช’ จริง ๆ เดิมเป็นชุมชนต่างชาติในกรุงเทพฯ

ดังที่ผู้เขียนเคยเสนอไว้ในบทความเรื่องถนนตรอกข้าวสาร ว่าด้วยความที่ชนชั้นนำกรุงเทพฯ พยายามสืบทอดความเป็นเมืองท่านานาชาติที่กรุงศรีอยุธยาเคยเป็นในทางรูปแบบ, ก็ได้แก่การจำลองแผนผังของเมืองเก่าอยุธยา และในทางเนื้อหา, ที่สอดคล้องกัน ยังได้แก่ การอนุญาตให้เกิดมีชุมชนต่างชาติขึ้นมาหลายแห่ง และชุมชนต่างชาติที่ว่านี้ล้วนแต่มีพัฒนาการความเปลี่ยนแปลงสืบมาจนถึงปัจจุบัน

(อ่านย้อนทวนประเด็นได้ใน กำพล จำปาพันธ์. “ตรอกข้าวสาร: ฝรั่งต่างชาติ เมืองหลวง และความเปลี่ยนแปลงของสงกรานต์ไทย” The People.co https://www.thepeople.co/history/nostalgia/53323)  

แม้ว่าชนชั้นนำและแนวคิดชาตินิยมจะบอกว่ากรุงเทพฯ คือเมืองหลวงที่แสดงออกถึงอัตลักษณ์ความเป็นไทยอย่างไร กรุงเทพฯ ก็ไม่เคยเป็นเมืองที่มีแต่ชนชาติไทย กรุงเทพฯ กลับแสดงให้เห็นด้วยประจักษ์พยานต่าง ๆ มากมายของการเป็นเมืองที่มีสภาพความหลากหลายทางสังคมวัฒนธรรมอยู่ภายใน

แม้ว่าชนชั้นนำและแนวคิดชาตินิยมจะบอกว่ากรุงเทพฯ คือเมืองหลวงที่แสดงออกถึงอัตลักษณ์ความเป็นไทยอย่างไร กรุงเทพฯ ก็ไม่เคยเป็นเมืองที่มีแต่ชนชาติไทย กรุงเทพฯ กลับแสดงให้เห็นด้วยประจักษ์พยานต่าง ๆ มากมายของการเป็นเมืองที่มีสภาพความหลากหลายทางสังคมวัฒนธรรมอยู่ภายใน

ตรอกข้าวสารที่เคยเขียนถึงไปแล้วนั้น มีความโดดเด่นในเรื่องการเป็นย่านชุมชนฝรั่งหรือถิ่นที่มีชาวยุโรป อเมริกัน ออสเตรเลีย ฯลฯ เดินขวักไขว่ชนไหล่กันเป็นปกติ คราวนี้มาว่ากันด้วยเรื่องชุมชนจีนกันบ้าง เมื่อพูดถึงชุมชนจีนในกรุงเทพฯ อันดับหนึ่งเลยคงไม่พ้นย่านถนนที่มีชื่อ ‘เยาวราช’ ซึ่งได้สมญาว่าเป็น ‘ไชน่าทาวน์เมืองไทย’ 

ชุมชนจีนในกรุงเทพฯ และยิ่งตามหัวเมือง ยิ่งมีอยู่มากมายหลายแห่ง มีจังหวัดไหนในประเทศที่ไม่มีคนจีนบ้าง เราแทบนึกไม่ออก  แต่ในท่ามกลางชุมชนที่มีอยู่มากมายหลายแห่งที่ว่านี้ คำถามคือทำไมเยาวราชถึงได้เกิดอัตลักษณ์เป็นตัวแทนความเป็นจีนในสยาม?  

เพราะที่จริงเยาวราชไม่ได้มีแต่เฉพาะคนจีน ไม่เป็นเฉพาะแหล่งวัฒนธรรมจีน เยาวราชรวมไปถึงฝั่งถนนเจริญกรุงและถนนอื่น ๆ ใกล้เคียงเป็นแหล่งที่ตั้งของศาสนสถานมากมายหลายแห่ง ในหลากหลายความเชื่อทั้งพุทธหินยาน, มหายาน รวมถึงอนัมนิกาย, คริสต์ และอิสลาม เช่น ศาลเจ้ากวนอูถึง 3 แห่ง (ศาลเจ้าโจวซือกง, ศาลเจ้ากวางตุ้งและตลาดเก่า), ศาลเจ้าแม่กวนอิม 3 แห่ง (มูลนิธิเทียนฟ้า, วัดกันมาตุยารามและใกล้กับท่าน้ำราชวงศ์), ศาลเจ้าเล่งบ๊วยเอี๊ยะ, ศาลเจ้าเล่าปุนเถ้ากง, วัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหาร (วัดสามจีน), วัดชัยชนะสงคราม (วัดตึก), วัดสัมพันธวงศารามวรวิหาร (วัดเกาะ), วัดปทุมคงคาราชวรวิหาร (วัดสำเพ็ง), วัดคณิกาผล, (วัดใหม่ยายแฟง), วัดโลกานุเคราะห์ (ตื้อเต้ตื่อ), วัดมังกรกมลาวาส (เล่งเน่ยยี่), วัดชัยภูมิการาม (ตี๊หง่านตื่อ), วัดบำเพ็ญจีนพรต (ย่งฮกยี่), มัสยิดหลวงโกชาอิศหาก, วัดแม่พระลูกประคำ (กาลหว่าร์) เป็นต้น

ความที่วัฒนธรรมหลักในย่านเป็นจีน อีกทั้งภาพเหมารวมยังมีผลต่อการมองเยาวราชในฐานะที่เป็นแหล่งวัฒนธรรมจีน เดิมวัฒนธรรมจีนในสังคมไทยสยามไม่จำเป็นต้องมีแหล่งย่านเป็นการเฉพาะ เนื่องจากเป็นกลุ่มวัฒนธรรมที่ได้การยอมรับจากชนชั้นนำที่ก็มีเชื้อเป็นจีน (จีนปนมอญ-จปม.) อยู่เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว  

‘เยาวราช’ 3 ยุคสมัย

เยาวราชก็เช่นเดียวกับตรอกข้าวสารหรือที่อื่น ๆ ที่มีลักษณะความเปลี่ยนแปลงสัมพันธ์กับยุคสมัย ในที่นี้ผู้เขียนจะแบ่งคร่าว ๆ ออกเป็น 3 ยุค เพื่อชี้ให้เห็นแนวโน้มการคลี่คลายมาสู่ปัจจุบัน ซึ่งจะช่วยตอบคำถามได้บ้างว่า กว่าที่เยาวราชจะเป็นอย่างที่เราเห็นในปัจจุบันนี้ ไม่ใช่สิ่งที่เกิดปุ๊บปั๊บอย่างที่หลายคนคิดและเชื่อกัน  

3 ยุคที่ว่านั้นก็ได้แก่

(1)  ยุคชุมชนแรงงานจีนอพยพ ก่อนรัชกาลที่ 5

(2)  ยุคชุมชนการค้า อันเป็นผลจากความเปลี่ยนแปลงลักษณะการคมนาคมจากทางน้ำ (คลอง) มาสู่ทางบก (ถนน) ในสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นต้นมา

(3) ยุคเศรษฐกิจวัฒนธรรม เริ่มตั้งแต่ทศวรรษ 2530 จนถึงปัจจุบัน

‘เยาวราช’ ยุคแรงงานจีนอพยพ

เดิมทีการเข้ามาของคนจีนนั้นได้รับการสนับสนุนจากส่วนกลางและชนชั้นนำ เพื่ออุดช่องว่างที่เกิดโดยธรรมชาติของสังคมที่มีระบบเจ้าขุนมูลนาย ชนชั้นนำอยุธยาอนุญาตให้ชาวจีนที่อพยพเข้ามามีอภิสิทธิ์ไม่ถูกสักเลขเป็นไพร่ ให้เป็นคนเชื่อมต่อเศรษฐกิจการค้าระหว่างส่วนกลางกับหัวเมือง คนจีนจึงสามารถเดินทางไปทั่วราชอาณาจักร เพื่อระดมสินค้าจากหัวเมืองเข้ามาเมืองหลวง เพราะเมืองหลวงที่ไหน ๆ ก็ไม่สามารถจะผลิตสินค้าส่งออกสำคัญ ๆ ได้ด้วยตนเอง ต้องอาศัยหัวเมืองเป็นผู้ผลิต ตนเองเป็นผู้ส่งออก 

การจะได้มาซึ่งสินค้าส่งออก มีวิธีการอยู่ 2 วิธีใหญ่ ๆ คือ (1) บังคับให้หัวเมืองส่งมาให้ในรูปแบบที่เรียกว่า ‘ส่วยบรรณาการ’ (Tributary System) (2) ให้คนจีนเป็นพ่อค้าคนกลางออกไปรับซื้อแล้วเอามาขายให้แก่พระคลังข้างที่ เป็นหัวใจของระบบ ‘การค้าแบบผูกขาด’ ที่ดำเนินมายาวนานจนเมื่อรัชกาลที่ 4 ทรงทำสนธิสัญญาเบาว์ริง จึงสิ้นสุดระบบนี้ไปแทนที่ด้วยระบบ ‘การค้าเสรี’ (Free Trade)   

ที่ว่าคนจีนค้าขายเก่งนั้น ไม่ใช่เก่งโดยสายเลือดอย่างที่เข้าใจกันไปเองหรอก หากแต่เป็นเพราะการเอื้อหนุนโดยชนชั้นนำและระบบสังคมแบบมูลนาย ซึ่งจะบังคับใช้แรงงานเกณฑ์คนกลุ่มอื่น อาทิ ลาว, เขมร, พม่า, มอญ, มลายู ฯลฯ กล่าวคือคนกลุ่มอื่นที่เข้ามาล้วนแต่ถูกสักเลขเป็นไพร่ ในขณะที่คนจีนได้อภิสิทธิ์ตรงนี้เพื่ออุดช่องว่างของระบบ (ก็เท่านั้นแหละอาตี๋อาหมวยเอ้ย!) 

ไม่ต้องบอก ใครก็รู้ชาวจีนนับว่ามีบทบาทอย่างมากต่อการฟื้นฟูราชอาณาจักรหลังเสียกรุงศรีอยุธยา พ.ศ. 2310 เป็นต้นมา นอกจากสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ ผู้กอบกู้บ้านเมืองที่มีเชื้อสายจีนแต้จิ๋ว ต่อมารัชกาลที่ 1 ก็มีเชื้อสายเป็นจีนฮกเกี้ยน แล้วยังไม่ต้องพูดถึงความสำคัญของการค้ากับเมืองจีนที่ได้ผลกำไรงาม 

ระบบการเกณฑ์แรงงานไพร่นั้นก่อปัญหาและเริ่มพบความเสื่อมถอยมาตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลายแล้ว เกณฑ์คนได้น้อยลง บ้างก็ตายจากศึกสงคราม บ้างก็ตายเพราะโรคระบาด จำนวนมากก็หลบหนีเข้าป่า เกณฑ์คนได้ไม่เต็มกรมกอง ในจังหวะนั้นก็พอดีกับที่มีแรงงานจีนอพยพเข้ามามาก เนื่องจากการปกครองที่กดขี่ของราชวงศ์ชิงในช่วงแรกเริ่ม ชนชั้นนำสยามเลยสบช่องนำเอาแรงงานจีนเหล่านี้เข้ามาสู่ระบบ แต่จะเกณฑ์แบบไพร่เหมือนที่ทำกับกลุ่มชาติพันธุ์อื่น ๆ ก่อนหน้านี้ก็ไม่ได้ เกรงจะซ้ำรอยเดิม และยังต้องการคงบทบาทคนจีนในด้านการค้ากับหัวเมืองอยู่ ดังนั้นจึงได้เริ่มนำเอาระบบการให้ค่าตอบแทนแรงงานที่เรียกว่า ‘ค่าจ้าง’ เข้ามาใช้ 

เมื่อปัญหาระบบการเกณฑ์แรงงานยังคงมีอยู่และทวีมากขึ้นในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ อีกทั้งคนจีนก็ยังคงอพยพเข้ามามาก การจ้างแรงงานจีนเข้าไปทำงานแทนไพร่ที่เกณฑ์ไม่ได้ จึงมีมากขึ้น  ควบคู่กับการลดลงของแรงงานเกณฑ์ จนกระทั่งเมื่อรัชกาลที่ 5 ประกาศเลิกระบบไพร่นั้น มีไพร่ที่ถูกเกณฑ์มาใช้ในระบบจริง ๆ ไม่มากเหมือนอย่างแต่ก่อนแล้ว 

ก่อนรัชกาลที่ 5 ยังไม่มีคำเรียกบริเวณใดว่า ‘เยาวราช’ และบริเวณที่เรียกว่า ‘เยาวราช’ ในภายหลังก็คือย่านชุมชนอยู่อาศัยของแรงงานจีนอพยพ แต่ที่ใดมีการจ้างงานหรือมีแรงงานอพยพเข้ามามาก ที่นั่นย่อมมีการค้าขายติดตามมาด้วย (ก็คนต้องกินต้องใช้ เวลาพูดถึงแรงงานอพยพ พวกเขาไม่ได้มีบทบาทแต่เฉพาะด้านการผลิตและบริการ ยังเป็น ‘ผู้บริโภค’ ด้วย)     

แรงงานอพยพนั้นต้องมีการควบคุม ไม่งั้นจะกลายเป็นกลุ่มอิสระหรือนอกกฎหมายไปหมด ซึ่งรัฐยอมให้มีไม่ได้ รัฐสยามจึงมีนวัตกรรมอย่างการ ‘ผูกปี้’ กำหนดให้แรงงานมาเสียค่าปี้ สำหรับจำแนกระหว่างแรงงานถูกกฎหมายกับนอกกฎหมาย ‘ปี้’ ที่ว่านี้คือเชือกคล้องมัดไว้ที่ข้อมือ (สมัยนั้นระบบเอกสาร บัตร ยังไม่มี) ปี้ทำจากวัสดุเชือกหลวม ๆ เมื่อหลุดหายก็ต้องมาผูกใหม่ นั่นหมายความว่ารัฐได้รายได้เพิ่มมากขึ้น 

นอกจากการควบคุมโดยรัฐสยามแล้ว ภายในชุมชนจีนยังมีวิธีการควบคุมกันเองที่เรียกว่า ‘กงสี’ บางครั้งบางคราวก็เข้มข้นมากเสียจนพัฒนาไปเป็น ‘ตั้วเหีย’ หรือ ‘อั้งยี่’ ภาษาคนไทยสมัยนั้นมีเรียกว่า ‘นักเลงจีน’ คำว่า ‘นักเลง’ ไม่ใช่คำดูถูกดูหมิ่น เป็นคำยกย่องอยู่โดยนัย อันที่จริงสังคมไทยสยามยอมรับนับถือคนหนุ่มฉกรรจ์ที่มีศักยภาพจะใช้ความรุนแรงเป็นผู้มีอำนาจในชุมชนคนหนึ่ง อำนาจที่มากขึ้นถึงจุดหนึ่ง อำนาจนั้นก็แปรเปลี่ยนเป็นบารมีได้ จาก ‘นักเลง’ กระจอกต๊อกต๋อย ก็อาจพัฒนากลายไปเป็น ‘เจ้าพ่อ’ ในที่สุด (ถ้าไม่โดนกระทืบตายไปเสียก่อนอะนะ)

ชุมชนจีนที่ไหน ๆ สมัยนั้นก็ล้วนมีนักเลงจีน เพราะลำพังการควบคุมโดยรัฐไม่เพียงพอ และอันที่จริงรัฐสยามก็เข้าควบคุมเพราะได้ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจเป็นที่ตั้ง นอกเหนือจากนั้นเป็นเรื่องภายในของชุมชนจีนนั้น ๆ คุมกันเอง นั่นหมายความว่าทางการเองก็ได้ประโยชน์จากการมีอยู่ของเหล่า ‘นักเลงจีน’ เหล่านี้ แต่มีข้อแม้ว่าการดำรงอยู่ของ ‘นักเลงจีน’ เหล่านี้ก็เช่นเดียวกับ ‘นักเลงไทย’ คือต้องดำรงอยู่แบบในฉากหลัง ทำอะไร ไปกระทืบใคร ก็ต้องเงียบ ๆ ไม่โจ่งแจ้ง หรืออย่างน้อยก็ไม่ท้าทายกฎหมายบ้านเมืองอย่างตรง ๆ ไม่งั้นก็ต้องโดนนำกำลังเข้าปราบปรามแบบที่เกิดกับกรณีอั้งยี่ฉะเชิงเทรา นครไชยศรี ภูเก็ต ในสมัยรัชกาลที่ 3 เป็นต้น         

‘นักเลงจีน’ ที่เยาวราชก็ต้องอยู่ภายใต้ขนบนี้ คือ ‘ซ่า’ ได้อย่างมีขอบเขต ละเมิดเมื่อไหร่ก็มีอันจะต้องเจอกับ ‘มาเฟีย’ ตัวจริงที่ยิ่งใหญ่กว่าเจ้าพ่อใด ๆ ทั้งหมด คือกองทัพรัฐและชนชั้นนำสยามที่เป็นเจ้าของประเทศ

ในขณะเดียวกัน สภาพชีวิตแรงงานอพยพเมื่อครั้งโน้นก็มีส่วนทำให้คนจีนจำนวนมากแม้เห็นพิษภัยจากการเป็นสมาชิกของ ‘องค์กรลับ’ อย่างอั้งยี่ แต่ก็ต้องยอมแลกเพื่อได้การคุ้มครอง สมัยนั้นยังไม่มีสหภาพแรงงาน นักประวัติศาสตร์แรงงานอธิบายอย่างยกย่องพวกอั้งยี่ด้วยซ้ำไปว่าเป็นผู้นำแรงงานในยุคแรกก่อนที่จะมีองค์กรที่เป็นทางการและยุติธรรมกว่าอย่างสหภาพแรงงาน 

อีกอย่างอั้งยี่ในตอนหลังก็ละขาดจากมิติการเป็นผู้นำแรงงานไปสู่องค์กรเพื่อผลประโยชน์ของ ‘ตั้วเหีย’ (พี่ใหญ่) มากกว่าคนอื่น ๆ ซึ่งเป็นธรรมชาติขององค์กรดั้งเดิมที่พัฒนามาจากระบบกงสี อั้งยี่เลยขาดศักยภาพและอำนาจในการต่อรองกับรัฐ กระทั่งกลายเป็นกลุ่มอาชญากรธรรมดาไปในที่สุด ผิดกับสหภาพแรงงานที่มีศักยภาพในการเป็นตัวแทนแรงงานได้มากกว่า ต่อรองกับรัฐได้สูสีกว่า แม้จะพาไปเดินขบวนแล้วแพ้อยู่บ่อยครั้งก็ไม่เป็นไร การคุ้มครองจากสหภาพแรงงานยังถือว่าดีกว่าอยู่ภายใต้อั้งยี่เป็นไหน ๆ 

ในช่วงยุคสมัยดังกล่าวนี้ เยาวราชที่ยังไม่ได้ชื่อ ‘เยาวราช’ ไม่ผิดกับแดนกึ่งอิสระ ภายใต้การควบคุมอีกครึ่งหนึ่งของนักเลงจีน ซึ่งที่จริงชุมชนแรงงานจีนอพยพในประเทศอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นอเมริกา ออสเตรเลีย ยุโรป ก็ล้วนแต่มีลักษณะเดียวกัน คือรัฐต้องทำงานควบคู่กับองค์กรลับ ที่แม้จะอยู่อย่างเงียบ ๆ แต่ก็เป็นที่รู้กันถึงการมีอยู่ ที่ไหนมีผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจอันเกิดจากการควบคุมกำลังคน ที่นั่นย่อมมีทั้งความรุนแรงทางกายภาพและสัญลักษณ์  เพราะการควบคุมคนให้ดำเนินกิจกรรมการผลิต การค้า การลงทุน จำเป็นต้องอาศัยการจัดองค์กร (Organization) เข้าช่วย  ไม่งั้นไม่มีทางทำได้ ทำได้ก็แบ่งปันผลประโยชน์กันไม่ได้                 

‘เยาวราช’ ยุคชุมชนตลาดการค้า

บางครั้งเรียกว่า ‘ถนนมังกร’ แต่ไม่เป็นที่นิยม มากเท่าคำว่า ‘ถนนเยาวราช’ เพราะความหมายของคำที่สื่อถึงชนชั้นนำสยาม ตรงนี้สัมพันธ์กับจุดเปลี่ยนของบริเวณย่านที่ภายหลังทางการเข้าควบคุมโดยตรงไม่ปล่อยให้อีกครึ่งหนึ่งอยู่ในความดูแลขององค์กรลับของชาวจีนเองเหมือนอย่างในอดีต น่าสังเกตด้วยนะครับว่า ‘ไชน่าทาวน์’ ประเทศอื่นไม่มีใช้ชื่อที่สื่อถึงประมุขหรือผู้นำของประเทศเป็นการเฉพาะแบบไทย   

เดิมคำว่า ‘เยาวราช’ (ราชาผู้ทรงพระเยาว์) นั้นเป็นคำต้องห้าม (Taboo Word) เนื่องจาก ‘พระเยาวราช’ องค์สุดท้ายของสมัยอยุธยา คือ ‘เจ้าฟ้าน้อย’ พระราชอนุชาต่างมารดาของสมเด็จพระนารายณ์ ทรงมีสถานะสูงส่งจนถึงชั้นรัชทายาทที่จะสืบราชสมบัติต่อจากพระเชษฐา แต่เมื่อทรงประพฤติผิดต้องพระราชอาญาฐานที่ไปลอบเป็นชู้กับพระสนมเอก (เมียพี่) จึงถูกลงพระราชอาญาสถานหนัก แม้ไม่ถึงกับถูกปลงพระชนม์ อำนาจวาสนาทั้งหลายที่เคยมีก็เหือดหายไป 

‘พระเยาวราช’ เป็นชื่อตำแหน่งที่ไม่มีการใช้อีกหลังจากนั้น เช่นเดียวกับที่หลังจากพระนางศรีสุดาจันทน์ ‘แม่หยัว’ (แม่อยู่หัว) ในรัชกาลสมเด็จพระไชยราชา เกิดเรื่องอื้อฉาว เป็นต้นมา ก็ไม่มีพระนางศรีสุดาจันทน์อีกเลย ผู้ใดจักอยากมีชื่อมีตำแหน่งเดียวกับคนมี ‘เรื่องพรรค์นั้น’ ในอดีตเล่าออเจ้า!!!  

แต่ในสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งเป็นช่วงที่ให้เรียกถนนตัดใหม่ในย่านว่า ‘เยาวราช’ เป็นช่วงที่ความทรงจำเกี่ยวกับพระเยาวราชในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ได้เลือนหายไปแล้ว ‘เยาวราช’ ที่หมายถึง ‘ราชาผู้ทรงพระเยาว์’ มีความหมายพิเศษ เพราะเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ (รัชกาลที่ 5) ได้ราชสมบัติกะทันหันทั้งที่ยังทรงพระเยาว์ มีพระชันษาเพียง 15 ปี เนื่องจากพระราชบิดา (รัชกาลที่ 4) ทรงเสด็จสวรรคตหลังเสด็จกลับจากหว้ากอ เมื่อ พ.ศ. 2411  

เดิมใช้ชื่อว่า ‘ถนนยุพราช’ ต่อมาทรงโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามใหม่ว่า ‘ถนนเยาวราช’ อนึ่งควรกล่าวด้วยว่าการใช้ชื่อถนน สะพาน ที่คนเหยียบย่ำ ด้วยชื่อที่สื่อถึงสถาบันชั้นสูงนั้นไม่มีในธรรมเนียมเดิม ที่มี ‘สะพานพระพุทธยอดฟ้า’ ‘สะพานพระปิ่นเกล้า’ ‘สะพานตากสิน’ ‘สะพานพระราม 8’ ‘ถนนอู่ทอง’ ‘ถนนนเรศวร’ ‘ถนนพระราม 9’ ฯลฯ ล้วนแล้วแต่เป็นชื่อที่ตั้งใหม่เมื่อไม่นานมานี้ 

การตัดถนนเยาวราชใช้เวลา 8 ปี ตั้งแต่ พ.ศ. 2435 - 2443 (ไม่ได้ตัดกันนานข้ามภพข้ามชาติเหมือนถนนพระราม 2 ในปัจจุบัน) วัตถุประสงค์การตัดถนนเส้นนี้มีบอกไว้ชัดว่า เพื่อให้กลายเป็นสถานที่ย่านสำหรับส่งเสริมการค้าขายภายในพระนคร 

เดิมก่อนหน้านี้ถ้าทางการจะจัดทำโครงการเพื่อส่งเสริมการค้าแล้ว ก็ต้องเป็นการขุดคลอง แต่เมื่อถึงสมัยรัชกาลที่ 4 - 5 การส่งเสริมการค้าได้เริ่มเปลี่ยนจากการขุดคลองมาเป็นการตัดถนน  เพราะความสำคัญของถนนในการคมนาคมได้เริ่มมีบทบาทแทนที่คลอง รถยนต์เป็นเทคโนโลยีใหม่ที่เริ่มนำเข้ามาในสมัยนั้น  นอกจากนี้รถม้าแบบตะวันตกที่มีมากในพระนครช่วงนั้นก็ต้องการถนนในการสัญจรไม่ใช่คูคลองเหมือนอย่างในอดีต 

ลักษณะการคมนาคมกับการค้าเป็นของคู่กัน การสร้างความศิวิไลซ์ให้แก่ชาติบ้านเมืองในสมัยนั้นจึงเริ่มจะเป็นเรื่องของโครงการตัดถนนหนทาง หลังจากนั้นบ้านเรือนราษฎรตลอดจนร้านค้าขายก็ต้องขยับปรับเปลี่ยนจากหันหน้าเข้าหาคลองมาสู่การหันหน้าเข้าหาถนน เช่นเดียวกับศาสนสถานวัดวาอารามต่าง ๆ

วิธีสังเกตว่าอาคารบ้านเรือนหลังไหนเป็นบ้านเก่า วัดวาอารามที่ใดเป็นวัดเก่า วิธีหนึ่งเลยคือให้สังเกตว่าหันหน้าออกถนนหรือแม่น้ำลำคลอง ถ้าหันออกถนน แสดงว่าเป็นอาคารใหม่ วัดใหม่ ไม่เก่าไปกว่าสมัยรัชกาลที่ 5 แต่ถ้าหันหน้าเข้าหาแม่น้ำลำคลอง ให้สันนิษฐานไว้ก่อนได้เลยว่า มีแนวโน้มที่จะเป็นวัดหรือบ้านเก่า    

‘เยาวราช’ ยุคเศรษฐกิจวัฒนธรรมร่วมสมัย  

การค้าก็เช่นเดียวกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจอื่น ๆ อย่างหนึ่งคือมีมิติส่วนขยายที่เรียกว่า ‘เศรษฐกิจวัฒนธรรม’ (Cultural Economy) ปัจจุบันความเป็นแหล่งวัฒนธรรมก็เป็นจุดขายได้พอ ๆ กัน หรืออาจจะมากกว่าด้วยซ้ำ (ในบางที่) และ ‘สินค้า’ ก็ไม่จำเป็นจะต้องอยู่ในรูปผลิตภัณฑ์ที่เป็นรูปธรรม การเสพสิ่งนามธรรมที่สร้างความบันเทิงเริงใจให้แก่ผู้มาเยือน ก็เป็นอีกหนึ่ง ‘มูลค่า’ ของสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม 

เหตุที่ผู้เขียนชวนให้เปรียบเทียบกับถนนตรอกข้าวสาร ส่วนหนึ่งนอกจากความที่เป็นชุมชนต่างชาติที่แทรกตัวอยู่กับกรุงเทพฯ แล้ว  เยาวราชยังมีความเหมือนที่แตกต่าง (อย่างน่าสนใจ) เมื่อเทียบกับตรอกข้าวสารก็คือเป็นย่านที่ปรากฏในวัฒนธรรมบันเทิงร่วมสมัย (Pop Culture) เช่นเดียวกัน และการปรากฏในพื้นที่ดังกล่าวทำให้เป็น ‘ย่านเก่าที่ไม่ตาย’ และนั่นก็นำมาสู่ความเปลี่ยนแปลงของอีกยุคสมัยของเยาวราชในมุมมองประวัติศาสตร์ 

การเป็นชุมชนที่ปรับตัวเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจวัฒนธรรมร่วมสมัยของเยาวราชเริ่มต้นเมื่อทศวรรษ 2530 ต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ดังจะเห็นได้จากลำดับรายการที่รวบรวมมาได้คร่าว ๆ ดังต่อไปนี้:        

- ‘เยาวราชในพายุฝน’ นวนิยายตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2532

- เรื่องเดียวกัน, ดัดแปลงเป็นละครโทรทัศน์เมื่อ พ.ศ. 2538 ออกอากาศทางช่อง 3

- เป็นฉากในภาพยนตร์ไทยเรื่อง ‘เด็กเสเพล’ เมื่อ พ.ศ. 2539

- เรื่อง ‘18 ฝน คนอันตราย’ เมื่อ พ.ศ. 2540

- ภาพยนตร์ฮ่องกงเรื่อง ‘เร็วทะลุนรก’ เมื่อ พ.ศ. 2542

- เรื่อง ‘อั้งยี่ ลูกผู้ชายพันธุ์มังกร’ เมื่อ พ.ศ. 2543

- เรื่อง ‘เยาวราช’ เมื่อ พ.ศ. 2546  

- เรื่อง ‘อันธพาล’ เมื่อ พ.ศ. 2555

- มิวสิกวิดีโอ (MV) เพลง ‘Rockstar’ ของ ลิซ่า (ลลิษา มโนบาล) พ.ศ. 2567   

จะเห็นได้ว่า ก่อนหน้าที่ลิซ่าจะมาถ่ายทำมิวสิกวิดีโอ เยาวราชเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจวัฒนธรรมร่วมสมัยอยู่เป็นทุนเดิมแล้ว การปรับตัวได้ดีที่เห็นได้ชัดอย่างหนึ่งก็คือเหล่าพ่อค้าแม่ค้าต่างปิดกันเงียบ  ไม่แพร่งพรายเรื่องที่ลิซ่าจะมาถ่ายทำ MV จนเป็นที่ประหลาดใจแก่สื่อมวลชน แต่ไม่แปลกเมื่อมองว่าคนเยาวราชคุ้นเคยและเข้าใจกับสิ่งนี้เป็นอย่างดี 

ที่น่าเสียดาย (ขออนุญาตขัดใจ FC แม่หญิงลินิดหนึ่ง) ก็คือ ไม่น่าตัด Street Food ออกจาก MV เลย ถ้าต้องการแค่ป้ายกับถนน ทีมงานก็สามารถเซตฉากเอาเองก็ได้ แต่เยาวราชที่เป็นเยาวราชในปัจจุบันนี้กล่าวได้ว่า Street Food ถือเป็นส่วนสำคัญอย่างมาก  แทนที่จะจ่ายร้านละ 20,000 บาท เพื่อไม่มีพวกเขา จะดีกว่านี้ไหม ถ้าจ่ายเพื่อมีพวกเขาร่วมอยู่ในเฟรม ทั้งที่เป็นเพลงเล่นกับอคติของฝรั่งต่อคนไทย ถ้าช่วย Street Food ด้วยก็น่าจะดีไม่น้อย 

Street Food ที่ต่างชาติชื่นชอบ แต่คนไทยโดยเฉพาะคุณ ๆ ท่าน ๆ ในคณะรัฐบาลประยุทธ์ที่ผ่านมา มองเป็นเรื่องไม่เป็นระเบียบเรียบร้อย ไม่ถูกสุขอนามัย ฯลฯ แทนที่จะเห็นเยาวราชที่เป็นผู้คน เป็นแหล่งวัฒนธรรม ชุมชนประวัติศาสตร์ ฯลฯ กลับเห็นแต่เพียงป้ายและถนน  

อันที่จริง ถนนสวยหรูแปลกตา ที่ไม่มีผู้คน ไม่มีรถราขวักไขว่ ไม่มี Street Food ไม่มีชุมชนแออัด ฯลฯ เป็นสิ่งที่อยู่ในจินตนาการความคิดฝันของรัฐและชนชั้นนำไทย แต่ไม่อาจทำให้เป็นจริงได้ในกรณีเยาวราช จึงกลายเป็นว่าลิซ่าได้มาทำเยาวราชให้ปรากฏในภาพลักษณ์ที่ไม่เป็นจริงนี้ไปด้วย         

อย่างไรก็ตาม ภายใต้ MV ของลิซ่า ซึ่งแพร่ภาพไปในประเทศที่เจริญแล้วหลายประเทศ ดูจะเป็นประโยชน์ต่อชุมชนย่านการค้าแห่งหนึ่งของประเทศไทย ยิ่งกว่าโครงการซอฟต์พาวเวอร์ (ที่กลายเป็น ‘ซอฟต์พาวเวอร์’ ของรัฐบาล) เป็นไหน ๆ นี่คือพลังของหญิงผู้มีรอยสัก ซึ่งราชการไทยไม่รับเข้าทำงาน คือวัฒนธรรมคนหนุ่มสาวร่วมสมัยที่เข้ามาเชื่อมต่อกับแหล่งวัฒนธรรมเดิมด้วยแง่มุมแบบใหม่   

อ้างอิง

กำพล จำปาพันธ์. “ตรอกข้าวสาร: ฝรั่งต่างชาติ เมืองหลวง และความเปลี่ยนแปลงของสงกรานต์ไทย” The People.co https://www.thepeople.co/history/nostalgia/53323 (เผยแพร่เมื่อวันที่ 14 เมษายน 2567).   

กำพล จำปาพันธ์. มนุษย์อยุธยา: ประวัติศาสตร์สังคมจากข้าวปลา หยูกยา ตำรา Sex. กรุงเทพฯ: มติชน, 2563.

เจริญ ตันมหาพราน. ย่ำถนนยลถิ่นจีน. กรุงเทพฯ: ปราชญ์, 2554.

ผาสุก พงษ์ไพจิตร และคริส เบเคอร์. เศรษฐกิจการเมืองไทยสมัยกรุงเทพฯ. เชียงใหม่: ซิลด์เวิร์มบุ๊คส์, 2546.

เผ่าทอง ทองเจือ และศรัญญา พุทธารี. เยาวราช ถนนมังกรที่ไม่เคยหลับ. กรุงเทพฯ: ธนาคารกรุงเทพ, 2558.

รอย, เอ็ดวาร์ด แวน. ก่อร่างเป็นบางกอก (Siamese Melting Pot). แปลโดย ยุกติ มุกดาวิจิตร, กรุงเทพฯ: มติชน, 2565.

สุภางค์ จันทวานิช และชาดา เตรียมวิทยา. ชุมชนชาวจีนในกรุงเทพฯ และปรากฏการณ์ย้ายถิ่น. กรุงเทพฯ: สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2563.

เสี่ยวจิว. “‘เยาวราช’ พิพิธภัณฑ์ (มี) ชีวิตจีนโพ้นทะเล” ศิลปวัฒนธรรม. https://www.silpa-mag.com/culture/article_99665 (เผยแพร่เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2567).

แสงอรุณ กนกพงศ์ชัย. “Street Food เศรษฐกิจสร้างสรรค์ย่านไชน่าทาวน์” วารสารเมืองโบราณ. ปีที่ 45 ฉบับที่ 4 (ตุลาคม-ธันวาคม 2562).

อคิน รพีพัฒน์, ม.ร.ว. สังคมไทยในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ พ.ศ. 2325 - 2416.  แปลโดย ม.ร.ว.ประกายทอง สิริสุข และ พรรณี ฉัตรพลรักษ์, กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2527.