17 พ.ย. 2567 | 10:53 น.
5 ตุลาคม 2017 หนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่อย่าง ‘New York Times’ ได้ลงบทความชิ้นหนึ่ง ซึ่งกลายเป็นบทความที่สั่นสะเทือนสังคม และเกิดความเคลื่อนไหวมากมายในภายหลัง ผลงานของสองนักข่าวสาว ‘เมแกน ทูเฮย์’ และ ‘โจดี้ แคนทอร์’ (ผู้ได้รับรางวัลพูลิตเซอร์จากบทความนี้)
บทความนั้นบอกกล่าวแก่สังคมถึงพฤติกรรมอันฉาวโฉ่สุดจะทานทนของผู้ทรงอิทธิพลในฮอลลีวู้ดรายหนึ่ง เป็นถึงผู้บริหารระดับสูงของบริษัทผลิตภาพยนตร์ยักษ์ใหญ่ที่ใคร ๆ รู้จัก ผู้ที่ล่วงละเมิดทางเพศและทำอนาจารต่อดาราสาวในสังกัดและพนักงานสาวตัวเล็กตัวน้อยของตัวเอง หลังจากนั้นก็ข่มขู่และบีบบังคับ ใช้อำนาจที่มีในทุกทาง เพื่อปิดปากให้ทุกคนที่เกี่ยวข้องเหยียบเรื่องไว้ให้เงียบที่สุด เขาทำพฤติกรรมน่ารังเกียจเยี่ยงนี้มาตั้งแต่ปลายยุค 90s เหยื่อหลายคนยังมีแผลใจมาจนถึงทุกวันนี้ หลายคนอนาคตดับวูบ
ชายผู้นั้นคือ ‘ฮาร์วีย์ ไวน์สตีน’
ผู้เขียนเองเองก็เกือบช็อคเมื่อเห็นข่าวนี้ครั้งแรก เพราะเติบโตมากับหนังดี ๆ มากมายของมิราแม็กซ์ ภายใต้การคุมบังเหียนของไวน์สตีน ในภาพจำของผู้เขียน ไวน์สตีนคือนักทำหนังมือฉมังของวงการ เก่งกาจ และมีความสามารถมากมาย เป็นเขานี่เองที่ผลักดันและพาหนังอย่าง ‘Shakespeare in Love’ (1998) ก้าวไปถึงเวทีออสการ์ และคว้าชัยชนะในที่สุด เขานี่เองที่เป็นผู้อยู่เบื้องหลังการได้รับรางวัลนักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยมจากเวทีเดียวกัน ของดาราสาวดางรุ่งอย่าง ‘กวินเน็ธ พัลโทรล’ (ที่ควรตกเป็นของ ‘เคต แบลนเชตต์’ ในปีนั้น) เครดิตมากมายในโลกภาพยนตร์ล้วนต้องยกให้แก่ชายผู้ทำคุณประโยชน์ให้กับวงการอย่างฮาร์วีย์ ไวน์สตีน แม้ช่วงหลายปีหลังเขาจะเงียบหายไปจากวงการ ก่อนที่ปี 2017 จะกลับมามีชื่อเสียงอีกครั้ง เพียงแต่คราวนี้ เป็นในทิศทางตรงกันข้าม
แรงสั่นสะเทือนของเรื่องที่ตีแผ่ออกมานี้ ทำให้มีผู้เสียหายกว่า 82 ราย ยอมออกมา ‘พูด’ ว่าตัวเองคือหนึ่งในเหยื่อของไวน์สตีน และแบบที่เราทุกคนทราบกันดี สุดท้ายฮาร์วีย์ ไวน์สตีน ก็โดนโทษจำคุก 23 ปี จากคดีข่มขืนและก่ออาชญากรรมทางเพศ จึงนับว่าเหตุการณ์นี้มีความสำคัญอย่างยิ่งยวด และอิมแพ็คกับผู้หญิงทั่วทุกมุมโลก
** บทความนี้อาจเผลอเปิดเผยข้อมูลสำคัญของภาพยนตร์โดยไม่ตั้งใจ
She Said เป็นภาพยนตร์ปี 2022 สร้างจาก หนังสือชื่อ ‘She Said: Breaking the Sexual Harassment Story That Helped Ignite a Movement’ (2019) ของทูเฮย์ และแคนทอร์ โดยหนังสือเล่าเรื่องราวที่เหมือนเป็นที่มาที่ไปและเบื้องหลังของบทความสะเทือนโลกของพวกเธอ
หนังเปิดที่ตัว ‘เมแกน ทูเฮย์’ นักข่าวสาวที่เขียนข่าวเกี่ยวกับการล่วงละเมิดทางเพศ (Sexual Harassment) ของ ‘โดนัลด์ ทรัมป์’ ผู้ลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา (สมัยแรก) อยู่ในขณะนั้น บทความเรื่องนี้ทำให้เธอโดนโจมตีอย่างหนัก ทั้งจากสื่อด้วยกันเองและจากคนภายนอก ถึงขั้นได้รับโทรศัพท์ข่มขู่ต่าง ๆ นานา เมแกนซึ่งกำลังอยู่ในระหว่างตั้งครรภ์และคลอดลูก เกิดภาวะซึมเศร้าหลังคลอดจากเรื่องนี้
เวลาต่อมา ‘โจดี้ แคนทอร์’ นักข่าวสาวอีกคนของสำนักกำลังจะเดินหน้าเขียนข่าวเกี่ยวกับเรื่องการคุกคามทางเพศในที่ทำงานของโปรดิวเซอร์หนังชื่อดัง ที่เธอได้รู้มาอย่างลับ ๆ เมื่อได้รับไฟเขียวให้เขียนได้ เธอจึงชักชวนคนที่เห็นว่าเหมาะสมที่สุดในการสืบหาข้อมูลในเรื่องนี้อย่างเมแกน เมแกนที่ยังมีไฟในประเด็นของการคุกคามทางเพศอยู่ จึงตอบตกลง
สองนักข่าวสาวสืบสวนเรื่องนี้จากบรรดาผู้ที่ตกเป็นเหยื่อของไวน์สตีน แต่กลับพบอุปสรรคมากมาย เนื่องจากเหยื่อแทบทุกคนล้วนไม่ต้องการพูดคุยกับสื่อมวลชนในเรื่องนี้ ดาราสาวบางคนยอมที่จะให้ข้อมูลอย่างเปิดเผย แต่กลับไม่ยอมจะเอ่ยถึงชื่อเขา ดาราบางคนยอมให้ทั้งสองเข้าพบเพื่อเล่าเหตุการณ์ทุกอย่างที่ตัวเองถูกกระทำจากไวน์สตีน ทว่าไม่ขอมีชื่อตัวเองเอี่ยวลงไปในบทความด้วยเด็ดขาด อดีตพนักงานบางคนทำท่าอยากจะพูด แต่กลับเลือกที่จะปฏิเสธในที่สุด เนื่องจากกลัวตัวเองจะทำผิดสัญญาที่เซ็นยินยอมจะรับผลประโยชน์เป็นตัวเงินเพื่อแลกกลับการไม่เปิดเผยหรือเอาเรื่องไวน์สตีน (ทำให้เห็นว่าฝ่ายกฎหมายของไวน์สตีนรัดกุมมากในเรื่องนี้) ยิ่งสืบสวนก็เหมือนยิ่งดำมืด ยิ่งค้นพบข้อมูลใหม่ ๆ ก็เหมือนยิ่งเจอตอ
แม้จะเกือบท้อ แต่ทั้งคู่ก็ไม่ยอมถอยง่าย ๆ เมื่อเดินหน้าต่ออย่างแทบจะไม่มีหวัง ผู้ที่ยอมจะเปิดปาก ‘พูด’ ก็เริ่มปรากฏ อดีตพนักงานที่เคยปฏิเสธไม่ยอมรื้อฟื้นเรื่องนี้ กลับพร้อมใจกันออกมาให้ข้อมูลแก่พวกเธอ ดาราชื่อดังอย่าง ‘แอชลีย์ จัดด์’ กลายมาเป็นผู้ที่ยอมเปิดหน้าเอาชื่อเสียงเข้าแลกกับการแฉไวน์สตีน (ในเรื่องเธอรับเชิญมารับบทเป็นตัวเอง) เมื่อความจริงต่าง ๆ พรั่งพรูออกมาจากแหล่งข่าวหลายต่อหลายคน ทั้งเมแกนและโจดี้ก็ยิ่งค้บพบความหนักหน่วงของพฤติกรรมล่วงละเมิดทางเพศของไวน์สตีน และรู้ว่านี่คือข้อมูลสำคัญที่จะสั่นสะเทือนสังคมอย่างไม่เคยมีมาก่อนแน่นอน
เมื่อข้อมูลพร้อมสรรพ คนในทีมบรรณธการข่าวก็ร่วมแรงแข็งขัน ในที่สุดก็เข็นบทความอันเข้มข้นนี้ออกมาจนได้ บทความที่เปลี่ยนชะตากรรมของฮาร์วีย์ ไวน์สตีนและสั่นสะเทือนวงการเพื่อนหญิงพลังหญิงไปทั่วโลก
เหตุการณ์สำคัญ ๆ ที่เกิดกับโลก สุดท้ายแล้วก็มักจะไปปรากฏที่จอภาพยนตร์อยู่เสมอ แบบที่เราก็เห็นจนชินตา เป็นเรื่องปกติของฮอลลีวู้ด เราถึงมีหนังในระดับออสการ์ อย่าง Titanic (1997), Argo (2012) หรือ Schindler's List (1993)
ในวงการสื่อเองก็เคยมีหนังอย่าง ‘Spotlight’ (2015) ที่เป็นเรื่องราวตีแผ่คดีล่วงละเมิดทางเพศที่อื้อฉาวสะเทือนคริสตจักร ตัวหนังเองทำได้ยอดเยี่ยมจนถึงขั้นคว้าออสการ์ ภาพยนตร์ยอดเยี่ยมประจำปี 2016 มาครองได้สำเร็จ
ในเมื่อเป็นสายข่าวเหมือนกัน She Said จึงเลี่ยงไม่ได้ที่จะถูกหยิบเอาไปเทียบกับ Spotlight ซึ่งว่ากันตามจริง มันก็เทียบกันไม่ได้ มวลรวมของหนัง She Said นั้น ‘อ่อนความเข้มข้น’ ในระดับที่ Spotlight เคยทำได้
หนังอำนวยการสร้างโดย ‘แพลนบี’ บริษัทผลิตภาพยนตร์ที่มี ‘แบรด พิตต์’ เป็นเจ้าของ แบรดคบหากับกวินเน็ธในช่วงปลายยุค 90s ช่วงเวลาเดียวกันกับที่เธอกำลังไต่เต้าในฮอลลีวู้ด และตกอยู่ภายใต้การกระทำย่ำยีของไวน์สตีน แบรด พิตต์ จึงเกลียดเขาเข้าไส้ ดาราหนุ่มไม่ได้มีอิทธิพลมากพอจะทำอะไรไวน์สตีนได้ (ในเวลานั้น) ทำได้แค่เพียงแสดงออกถึงการปกป้องเธอ ด้วยการข่มขู่จะทำร้ายไวน์สตีน ถ้าหากเขามาแตะต้องตัวแฟนสาวอีก
หนังเจ๊งด้วยทุนสร้างกว่า 32 ล้าน โดยทำรายได้ใน Box office ไปเพียง 13.9 ล้าน เท่านั้น ซึ่งก็ไม่แปลก ผู้กำกับหญิงชาวเยอรมัน ‘มาเรีย ชเรเดอร์’ แม้จะถือว่ากำกับได้ดี แต่ด้วยสเกลของหนังที่พูดถึงประเด็นที่ใหญ่และสำคัญระดับโลกขนาดนี้ หนังอาจจะต้องการผู้กำกับที่มีความจัดจ้านในการปรุงวัตถุดิบชั้นดีที่มีอยู่ในมือ ทั้งนักแสดงนำอย่าง ‘แครีย์ มัลลิแกน’ ในบท เมแกน ทูเฮย์ และ ‘โซอี้ คาซาน’ ในบท โจดี้ แคนทอร์ และนักแสดงสมทบตัวเด็ด ๆ ของวงการมากมาย
อีกทั้งเรื่องราวอันคมเข้ม ที่สามารถทำให้ออกมาเป็นอาหารที่เลิศรสและตรึงใจผู้คนได้ ทว่า มาเรีย ชเรเดอร์ ยังทำได้ไม่ถึงจุดนั้น เนื้อหาเข้มข้นของเรื่องไม่ถูกกำหนดทิศทางที่ดีพอ จึงไม่ได้ออกมาน่าประทับใจนัก หนังทำออกมาได้แค่พอดูสนุก แต่ไม่อิน ในแบบพอกินได้ กินอิ่ม แต่อาจจะไม่กินอีก มิชลินสตาร์ในโลกภาพยนตร์อย่างออสการ์ จึงไม่เหลียวแล หนังเป็นกระแสดีอยู่เมื่อออกฉาย แต่เมื่อไม่ทำเงิน มันจึงไม่สามารถเฉิดฉายได้เท่ากับเหตุการณ์จริงอันทรงพลังที่เกิดขึ้น
สิ่งหนึ่งและอาจจะเป็นสิ่งเดียวที่ She Said ทำได้ดี คือการทำให้เห็นขั้นตอนของการสืบสวน ที่พาคนดูดำดิ่งไปกับชะตากรรมของเหยื่อที่โดนกระทำได้ดี เทคนิคที่เกือบจะเหมือนสารคดี (หนังใช้คลิปเสียงจริงของไวน์สตีนมาใช้ประกอบการดำเนินเรื่อง) โน้มใจให้คนดูรู้สึกสะเทือนใจ มีอารมณ์ร่วมไปกับเหยื่อของไวน์สตีน ถือเป็นพาร์ทที่ทรงพลังมากที่สุดของตัวหนัง เราคนดูจะเข้าใจเลยว่าทำไม หลังจากบทความนี้เผยแพร่ออกไป จึงเกิดการเคลื่อนไหวครั้งสำคัญ จนนำไปสู่การขับเคลื่อนสิทธิครั้งใหญ่ของเหล่าผู้ถูกกระทำการล่วงละเมิดทางเพศทั้งหลาย นำไปสู่แฮชแท็ก #metoo อันโด่งดัง และการตื่นรู้มากมายของสังคม
โดยสรุป She Said อาจไม่ได้เป็นภาพยนตร์ชั้นเยี่ยมที่มีรางวัลหรือรายได้การันตี หรือที่ผู้เขียนจะบอกว่า “คุณต้องดูให้ได้” ผู้เขียนเองออกจะชื่นชอบ Spotlight มากกว่าด้วยซ้ำ แต่อย่างน้อย She Said คือภาพยนตร์ที่บันทึกช่วงเวลาสำคัญครั้งหนึ่งของประวัติศาสตร์โลกร่วมสมัย หนังที่บอกเล่าความเป็นมาเป็นไปและอุปสรรคที่ผู้หญิงต้องการบอกเล่าความจริงต้องเจอ ความบากบั่นไม่ย่อท้อจนกระทั่งทำสำเร็จ รวมไปถึงด้านมืดของจิตใจคนและความโหดร้ายที่เหยื่อของการถูกล่วงละเมิดทางเพศต้องเผชิญ จนกระทั่งมีส่วนขับเคลื่อนสังคมได้อย่างที่มันเป็นในปัจจุบัน
เรื่อง: poonpun