05 พ.ย. 2567 | 12:51 น.
ความท้าทายประการสำคัญในการที่จะพูดคุยถึง ‘อย่า กลับ บ้าน’ คือ พูดอย่างไรไม่ให้กลายเป็นการเปิดเผยเนื้อเรื่องในส่วนสำคัญของหนัง (สปอยล์) เนื่องจากผู้เขียนมีเจตนาที่จะให้บทความนี้สามารถอ่านได้ทั้งผู้ที่ดูแล้ว และผู้ที่กำลังอยู่ในระหว่างตัดสินใจจะดู เพราะผู้เขียนเชื่อว่า ยิ่งรู้น้อยเท่าไหน ยิ่งสนุกเท่านั้น
‘อย่า กลับ บ้าน’ (Don’t come home) เป็นซีรีส์ Original Netflix สัญชาติไทยเรื่องล่าสุด ที่มีแก่นจริง ๆ เป็นเรื่อง ‘วิทยาศาสตร์ฟิสิกส์’ แต่ห่อหุ้มกายภายนอกด้วยการเป็น ‘หนังสยองขวัญ’ และเลือกปล่อยลงแพล็ตฟอร์มในคืนวันฮาโลวีนที่ผ่านมา ซึ่งก็ตกผู้คนให้เข้ามาดูเพราะความเป็นหนังผีได้เยอะอยู่ เป็นปรากฏการณ์ที่น่าพูดถึงอย่างมาก เพราะเมื่อคนดู ดูไปถึงจุดที่รู้ตัวว่านี่ไม่ใช่แค่หนังผีตุ้งแช่แบบที่คาดเอาไว้ แต่กลับไม่มีใครหันหลังให้ แทบทั้งนั้นที่ดูต่อไปจนจบ และพบว่ามัน ‘เหนือความคาดหมาย’
** บทความนี้อาจเผลอเปิดเผยข้อมูลสำคัญของซีรีส์โดยไม่ตั้งใจ
เนื้อเรื่องคร่าว ๆ ของ อย่า กลับ บ้าน เริ่มต้นด้วยหญิงสาวผู้หนึ่งที่มีใบหน้าฟกช้ำและเปื้อนไปด้วยคราบน้ำตา เห็นแค่นี้ก็พอเดาได้ว่าต้องเกิดจากความรุนแรงในครอบครัว เธอกำลังขับรถหนีบางสิ่งหรือบางคน มาพร้อมลูกสาววัย 5 ขวบ ปลายทางคือบ้านเก่าที่หญิงสาวเคยอาศัยอยู่เมื่อครั้งยังเด็ก กว่าสามสิบปีที่แล้ว ณ อำเภอตะกั่วป่า
เธอคือ ‘วารี’ (นุ่น วรนุช) และ ‘น้องมิน’ (เจแปน พลอยปภัส)
บ้านทรงยุโรปเก่าคร่ำคร่า ตั้งโอ่อ่าอยู่กลางป่า บรรยากาศขมุกขมัวไม่น่าไว้วางใจ ถึงอย่างนั้นสองแม่ลูกก็ยังเข้าไป พอตกดึก ฝนตกไฟดับตามสเต็ป ถึงตรงนี้คนดูก็เตรียมพร้อมแล้ว เพราะรู้ว่ายังไงผีก็ต้องอยู่ในบ้านนั่นแหละ ก็หนังมันชื่อ อย่า กลับ บ้าน นี่นะ
ก่อนที่เรื่องราวจะทวิสต์เบา ๆ (ครั้งที่ 1) จากบ้านผีสิงสุดสะดุ้งตุ้งแช่ เป็นเรื่องราวของคุณแม่จิตหลอน ที่อาจเกิดจากโดนผัวซ้อมจนจิตหลุด เผลอพลั้งมือฆ่าลูกสาวด้วยความคลั่ง หรือที่พีคกว่านั้นคือ ตัวละครลูกสาวอาจไม่เคยมีอยู่จริงมาตั้งแต่ต้น ว้าวซ่ามาก นี่มันพล็อตหนังฮอลลีวู้ดชัด ๆ
การทวิสต์ของซีรีส์เช่นนี้ เอื้ออำนวยอย่างมากต่อการออกทะเลไปไกล ยิ่งถ้าหากว่าโครงเรื่องและเหตุผลที่รองรับทำไว้อย่างไม่แข็งแรงพอ ป่านนี้ก็จะโดนสรรเสริญเยินยอไปในอีกทางตรงกันข้ามแน่นอน แต่ อย่า กลับ บ้าน ทำได้เจ๋งกว่านั้น เพราะนอกจากจะไม่ออกทะเลแล้ว ยังพาเราไปสำรวจดินแดนที่ไม่ยังเคยมีซีรีส์ไทยเรื่องไหนกล้าไปมาก่อน
แล้วอยู่ ๆ หนังก็ทวิสต์บิดกลับมาอีกรอบ และเข้าสู่ร่องรอยเก่าของตัวเองได้อย่างไร้รอยต่อ นอกจากจะต้องยกความดีให้กับ ผู้กำกับ ‘วุฒิดนัย อินทรเกษตร’ แล้ว อีกคนที่ไม่ให้เครดิตไม่ได้จริง ๆ คือนุ่น วรนุช หลายคนเติบโตมากับการดูละครของนุ่น จนไม่ได้ว้าวกับการแสดงของนุ่นมาสักพักใหญ่ แล้ว (ข้อเสียของการเป็นดาราเจ้าบทบาทมานานเกินไป) ที่จริง อย่า กลับ บ้าน ก็ไม่อาจเรียกได้ว่าเป็นบทบาทการแสดงที่ดีที่สุดของนุ่น แต่พูดได้ว่าใช้พลังการแสดงของนุ่นได้คุ้มสุด ๆ และก็ไม่รู้เหมือนกันว่า นุ่นทำได้ยังไง
เพราะในพาร์ทที่คนดูมองนุ่นเป็นเหยื่อของความรุนแรงในครอบครัว เราก็รู้สึกสงสารเห็นใจตัวละครอย่างวารี ที่ต้องระเห็จระเหินหอบลูกหนีผัวมากลางดึกแบบนั้น ขับรถปาดน้ำตาป้อย ๆ เป็นร้อยกิโล พอหนังดึงให้เธอดูสับสนเป็นคนน่าสงสัย อยู่ ๆ เราก็เกิดสงสัยในตัววารีขึ้นมาทันควัน นุ่นสร้างให้วารีดูมีเงื่อนงำไปหมด เราสงสัยว่าเธอทำร้ายลูกหรือเปล่า เพราะเราเชื่อว่าจิตเธอไม่ค่อยปกติ อีกนิดเรากำลังจะเชื่อว่าเธอเป็นบ้าอยู่แล้ว แต่แล้วหนังก็บิดเรื่องกลับมาสู่จุดเดิม อยู่ ๆ วารีก็เป็นวารีคนเดิมที่น่าสงสารและน่าเห็นใจ คนดูก็แห่กลับมาเชื่อใจและสงสารเธอได้ต่อเฉย
ประเด็นสำคัญที่หนังหยิบยกมาใช้ขับเคลื่อนเรื่องราว คือ สัญชาติญาณความเป็นแม่ของมนุษย์ อย่างเช่น ความรักลูกของวารีทำให้เธอตัดสินใจหนีสามีที่ชอบทำร้ายร่างกาย จนต้องซมซานกลับมายังบ้านเกิด และเมื่อลูกหายตัวไปอย่างไร้ร่องรอย วารีก็แทบเสียสติจากความเป็นแม่ที่ห่วงลูกสาวคนเดียวสุดชีวิต
หรืออย่าง ตัวละครกึ่งลับคนหนึ่ง ‘อ.พนิดา’ (รับบทโดย ‘ซินดี้ สิรินยา’) พนิดาคือวิศวกรไฟฟ้าสาวบ้างาน ผู้คร่ำเคร่งในการทดลองเครื่องกำเนิดพลังงานไฟฟ้าบางอย่าง เพราะต้องการสร้างปาฏิหาริย์ในการกลับไปแก้ไขข้อผิดพลาดบางประการของตัวเอง ข้อผิดพลาดที่พรากชีวิตบุตรสาวอันเป็นที่รัก
และอย่างตัวละคร ‘สารวัตรฟ้า’ (‘แพร พิชชาภา’ ผู้โด่งดังจากบทบาทพิไลในละคร ‘กรงกรรม’ ทางช่องสาม) ที่ถือว่าสำคัญมากอีกคนหนึ่งของเรื่อง นอกจากจะรับหน้าที่สืบสวนการหายไปของลูกสาววารีแล้ว สารวัตรฟ้าเองก็กำลังจะเป็นแม่คน เธอหอบครรภ์หกเดือนลุยทำงานตามหน้าที่และเชื่อในศักยภาพของตัวเอง และเมื่อถึงเวลาจะต้องเลือกสิ่งที่ดีที่สุดต่อลูกของเธอที่ลืมตาดูโลก ฟ้าก็สามารถเดินออกมาจากชีวิตแบบเดิมที่ติดหล่มและไร้ศักดิ์ศรีได้
จุดร่วมของตัวละครทั้ง 3 อย่างวารีแม่ของมิน พนิดาแม่ของวารี และสารวัตรฟ้ากับลูกในท้อง คือพลังในการปกป้องคุ้มครองของคนเป็นแม่ การทำทุกวิถีทางเพื่อที่จะนำลูกกลับคืนสู่อ้อมอกของตัวเอง แม้รู้ทั้งรู้ว่าการกระทำนั้นไม่ถูกต้อง เป็นการกระทำที่รุนแรง มีการทำร้ายผู้อื่น หรือแม้แต่ยืนมองดูความตายของผู้ที่คิดจะมาพรากลูกของตนออกไปจากอกได้อย่างไม่สะท้านสะเทือน
ช่วงกลางถึงช่วงท้ายของซีรีส์ มีการพูดถึงเรื่องของ ‘ลูปเวลา’ และ ‘Time Paradox’ เรื่องของเวลาไม่ใช่ของแปลก โลกเคยมีซีรีส์สัญชาติเยอรมันอย่าง ‘Dark’ ซึ่งถ้าใครที่เคยดูจะรู้ว่างงแค่ไหนจากตัวละครมากมายและเส้นเรื่องยุบยับที่เล่นเอาคนดูท้อ แต่ อย่า กลับ บ้าน ไม่งงถึงขนาดนั้น
บทความนี้จะไม่ขยายความเรื่องลูปเวลาในทางฟิสิกส์มากไปกว่าจะชี้ชวนให้เห็นสัญญะของการวนลูป อย่าง ‘วงกลม’ ที่หนังคอยแฝงอยู่ตลอดทั้งเรื่อง ตั้งแต่ไตเติ้ลเปิดเรื่อง ข้าวของต่าง ๆ บันไดวน โลโก้ที่ทำงานของวารี หรือแม้แต่ตัวเลข 3.14 ของนาฬิกาบอกเวลา ก็คือค่าพาย (ค่าการหาพื้นที่ของวงกลม)
วงกลม คือ การหมุนเวียน การเวียนว่ายตายเกิด การวนลูปไม่จบสิ้น จนแม้แต่ฉากจบของซีรีส์ คนดูเองก็ยังตั้งคำถามอย่างสงสัยว่า นี่เป็นเรื่องที่เล่าย้อนเหตุการณ์ตั้งแต่แรก หรือเป็นเรื่องที่กำลังเกิดซ้ำกันแน่นะ
ผู้เขียนไม่ได้อยากเน้นประเด็นในเรื่องนี้มากนัก เพราะเอาจริง ๆ ก็เอ็นจอยกับซีรีส์มากพอตัว แต่แม้ไม่ได้อยากแตะในหัวข้อที่จริงจัง แต่ในเมื่อรู้สึกได้ว่าเป็นประเด็นที่หนังเองต้องการจะสื่อถึงก็อดพูดไม่ได้
เราจะเห็นว่าตัวละครหลักผู้หญิงในเรื่องอย่างวารีและแม้แต่สารวัตรฟ้าเอง ล้วนถูกสังคมแบบ ‘ปิตาธิปไตย’ ทำร้าย เธอคือผู้หญิงที่ก้มหน้ารับชะตากรรมจากผู้ชายที่มีอำนาจเหนือเธอ ในทีนี้คือสามีของทั้งคู่ (และเป็นชายในเครื่องแบบเหมือนกันเสียด้วย) ทั้งหมดพรั่งพรูออกมาจากปากของสารวัตรฟ้าในตอนท้ายเรื่อง ฉากระเบิดอารมณ์ของสารวัตรฟ้า แม้จะเกิดด้วยอารมณ์สงสารวารีเป็นที่ตั้ง และเพราะโกรธสามีของวารีที่เป็นต้นเหตุของการหนีกลับบ้านมาของเธอมาเจอเรื่องราวทั้งหมด แต่ที่จริงเรารู้ว่าสารวัตรฟ้าเองก็โกรธสามี (ลับ ๆ) ของตัวเองด้วย และอาจจะโกรธเลยไปยังบิดาที่ชอบใช้กำลังกับมารดาเธอ โกรธความเป็นชายทั้งหลายแหล่ที่ TOXIC กับเพศที่อ่อนแอกว่า เช่นเพศหญิงแบบเธอ
ที่จริงหนังยังแตะไปถึงความเป็นปิตาธิปไตยในทางการเมืองอยู่อีกเล็กน้อย จากปีสำคัญที่เกิดเรื่องราวต่าง ๆ ในเรื่อง ล้วนแต่เป็นปีสำคัญของประวัติศาสตร์การเมืองการปกครองของไทยอย่างมีนัยยะสำคัญ ทั้งปีที่เกิดพฤษภาทมิฬ ปีที่เกิดรัฐประหารของพลเอกประยุทธ เสียดายที่เพียงแค่หกตอนไม่สามารถถ่างขยายเรื่องการโดนสังคมผู้ชายกดทับออกมาได้คมบาดลึกกว่าการระเบิดอารมณ์แบบผู้หญิงท้องแก่อย่างในเรื่อง
ในความเห็นของผู้เขียน มุมในความเป็นโฮม เอ็นเตอร์เทนเมนท์ของ อย่า กลับ บ้าน ถือว่าประสบความสำเร็จ และเป็นหมุดหมายสำคัญของซีรีส์ออริจินอลเน็ตฟลิกของไทย ฉากเครื่องกำเนิดพลังงานไฟฟ้าของ อ.พนิดา ถือเป็นความทะยานล้ำอย่างยิ่งยวดของซีรีส์ไทย มันพร้อมที่จะออกมาน่าขบขัน ทว่าไม่เป็นเช่นนั้น หนังฉลาดที่เน้นบทที่แข็งแรง มากกว่าจะเน้นความซีจีที่อาจจะดึงให้เรื่องราวอ่อนลงไปกว่าเดิม
ตัวบ้านจารึกอนันต์ คืออีกตัวละครที่สำคัญ ทำให้นึกถึงบ้านในซีรีส์บ้านผีสิงของ NETFLIX อย่าง ‘The Haunting of Hill House’ แบบแทบจะถอดแบบกันออกมา แล้วก็ทำหน้าที่ได้ดีจนคล้ายเป็นดาราหลักอีกคนของเรื่อง
ความดีที่มองข้ามไม่ได้เลยคือ บทที่ถูกเขียนออกมาดี เนื้อหามีที่มาที่ไป และไม่ดูถูกคนดู เพราะเนื้อหาแบบนี้ ถ้าเขียนออกมาไม่ดี ก็พร้อมบ้งได้ทันที อีกสิ่งคือการกำกับที่ดี เพราะถ้าคุมทิศทางของหนังไม่อยู่ พาลงเหวหรือออกทะเล เหล่านักดูซีรีส์ก็พร้อมที่จะขยี้แน่นอน
ในส่วนของการแสดง ที่จริงทุกคนให้การแสดงในแบบที่ดี และเอาตัวรอดได้ทุกคนในแง่ของการเป็นหนังสยองขวัญ แต่เพราะบทหนังที่เข้มแข็ง การถ่ายทอดเรื่องราวที่ชวนติดตาม มันดีเยี่ยมเสียจนการแสดงที่ดีของเหล่านักแสดงถูกกลบลงไปบ้างเล็กน้อย (หมายถึงถูกพูดถึงน้อยกว่าตัวหนัง) ทว่าหากนักแสดงเอาไม่อยู่จริง เรื่องก็คงไม่สมบูรณ์ได้ขนาดนี้
ปิดท้ายที่เพลงประกอบ อย่า กลับ บ้าน ที่เลือกเพลงอย่าง ‘ความทรงจำ’ ของวง Musketeers (ที่ถูกนำมาร้องใหม่) ที่เข้าสุด ๆ กับเนื้อหาดิ่ง ๆ ในตอนท้ายเรื่อง และที่ดึงอารมณ์คนดูให้ดิ่งขั้นสุดคือ คำพูดของพนิดา ที่เตือนลูกสาวด้วยความเศร้าและรู้สึกผิดที่กัดกินใจมาตลอดสามสิบปีว่า
“อย่า กลับ บ้าน”
นี่คือซีรีส์ที่ไม่ว่าคุณจะชอบหรือไม่ชอบ เมื่อดูจบ คุณจะยอมรับว่านี่คือหนึ่งในซีรีส์ไทยที่ “ทำถึง” และน่าสนใจ สำหรับผู้เขียนนี่คือซีรีส์คุณภาพของปีเรื่องหนึ่งเลยทีเดียว
เรื่อง: poonpun
ภาพ: Netflix