อะไรคือข้างหลังภาพ ของอาเซียนร่วมใจ

อะไรคือข้างหลังภาพ ของอาเซียนร่วมใจ

อาเซียนคืออะไร ทำไมไทยเราต้องต้องเข้าร่วมอาเซียน นี่คือบทความว่าด้วยภาพสะท้อนความกลมเกลียวท่ามกลางความต่างทางอุดมการณ์ของอาเซียนและความขัดแย้งภายในชาติสมาชิกที่เกิดขึ้น

KEY

POINTS

  • ต่างกันแต่ร่วมกันเดิน ภาพสะท้อนความกลมเกลียวท่ามกลางความต่างทางอุดมการณ์ของอาเซียนและความขัดแย้งภายในชาติสมาชิกที่เกิดขึ้น

  • ถึงจะมีบริบทการเมืองแตกต่างกัน ทั้งระบอบทหาร การเมืองพรรคเดียว ครอบครัวการเมือง การละเมิดมนุษยธรรม แต่ด้วยเพราะค่านิยม การไม่แทรกแซงต่อกัน และ ความเห็นพ้องต้องกันแบบ 100% คือสิ่งที่ทำให้ ‘อาเซียนอยู่เป็น’ กับทุกปัญหาที่เกิดขึ้นจวบจนทุกวันนี้

ทำไมถึงต้องมีอาเซียน และ อะไรคือค่านิยม [บางประการ] ที่อยู่ข้างหลังภาพของความกลมเกลียวของฉบับอาเซียน จากภาพผู้นำชาติสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศยืนถ่ายการจับมือแบบอาเซียน ภาพสะท้อนการรวมใจของประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทว่า ข้างหลังภาพการจับมือของผู้แทนจากรัฐภายใต้ระบอบทหาร ทายาทตระกูลการเมือง การเมืองพรรคเดียว การละเมิดสิทธิมนุษยชน สลับไขว้กันไปมา ผสมผสาน กลมเกลียว ไม่ว่าสมาชิกจะเป็นอย่างไร เราจะไม่วิจารณ์กัน และจะเงียบกริบทุกครั้งเมื่อเพื่อนบ้านเกิดปัญหา

เพื่อให้เข้าใจอาเซียนของมากขึ้น เราจึงเลือกหนังสือของ อมิตาฟ อาจารยา (Amitav Acharya) อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่มหาวิทยาลัยอเมริกัน (American University) เรื่อง The Making of Southeast Asia: International Relations of a Region ได้เล่าเรื่องราวการประกอบสร้างภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จากสภาพความเป็นอยู่ มุมมองและความเชื่อของผู้คนในภูมิภาคที่ผ่านร้อน ผ่านหนาว ท่ามกลางความขัดแย้ง ทำให้พวกเราต้องรวมกัน เพราะแยกกันอยู่เราตายแน่ ๆ ก่อเกิดเป็นกลุ่มก๊วนชื่อ ‘อาเซียน’ ประชาคมในปัจจุบันที่เด็ก ๆ gen Z ต่างต้องเคยวาดภาพธง ใส่ชุดประจำชาติต่าง ๆ พูดภาษาต่าง ๆ ในชาติสมาชิกอาเซียน หรือร้องเพลงประจำประชาคมที่ชื่อ the ASEAN Way ในท่อนติดหูอย่าง “อาเซียนร่วมใจ อาเซียนเรามาร่วมใจ  อาเซียนร่วมใจ อาเซียนเรามาร่วมใจ” ซึ่งนี่เป็นส่วนหนึ่งของความกลมเกลียวที่เกิดขึ้นในระดับประชาชน หากแต่ระดับรัฐนั้นมีอะไรที่ลึกซึ้งมากกว่านั้น

ความสัมพันธ์แบบโลกเก่า : นกอยู่ข้างพี่ตา

อมิตาฟ บรรยายในหนังสือของตนว่า นักวิชาตะวันตกมักละเลยการวิเคราะห์รากเหง้าสภาพสังคมในภูมิภาคอุษาคเนย์ ในหนังสือเล่มนี้อมิตาฟจึงตั้งต้นทำความเข้าใจผ่านความคิดของภูมิภาคอย่างจริงจัง เช่น ความเชื่อ ศาสนา วิธีคิด วัฒนธรรม พฤติกรรม การรับรู้ต่อบริบทภายนอก หรือแม้แต่รูปแบบของความสัมพันธ์ระหว่างอาณาจักรสมัยโบราณและรัฐในปัจจุบัน

นกอยู่ข้างพี่ตา อาจเปรียบได้กับรูปความสัมพันธ์ของอาณาจักรต่าง ๆ ในภูมิภาคเพื่อเอาตัวรอด หรือกล่าวง่าย ๆ คือ อาณาจักรเล็กจะพากันอยู่ข้าง ‘พี่ตา’ ในฐานะอาณาจักรที่มีอำนาจมากกว่า เพื่อให้ตนได้รับการคุ้มครองและไม่ถูกเผาไปเสียก่อน ด้วยการส่งเครื่องกำนัลที่เรียกว่า ‘ต้นไม้เงินต้นไม้ทอง’ ลักษณะความสัมพันธ์อยู่ภายใต้ความคิดเรื่อง ‘จักรวาลมณฑล’ (Mandala) คือ อำนาจการปกครองของกษัตริย์จะอยู่ศูนย์กลางเมืองหลวงและแพร่กระจายอิทธิพลออกไปเป็นวงกลมราวกับ ‘แสงเทียน’ 

และเมื่อใดก็ตามที่มีเทียนเล่มไหนสว่างไสวกว่าเทียนเล่มอื่น ๆ นั่นเป็นสัญญาณว่าต้องส่งเครื่องบรรณาการไปแสดงความนอบน้อม และหากมีเทียนที่สว่างพอ ๆ กันก็จะนำไปสู่สงครามและความขัดแย้ง ทำให้นกตัวน้อยต่าง ๆ ต้องเลือกว่าจะอยู่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หรือทั้งสองฝ่าย เพื่อให้นกอยู่รอด ความสัมพันธ์แบบนี้พบได้ทั่วไปในภูมิภาคไม่ว่าจะเป็นในไทย เมียนมาร์ ลาว กัมพูชา อินโดนีเซีย และบรูไน หรือแม้แต่ในฟิลิปปินส์

ความสัมพันธ์แบบนี้ครอบงำความคิดความคิดของผู้คนในภูมิภาคยาวนานกว่า 700 ปี ก่อนถูกเปลี่ยนแปลงด้วย 2 ปัจจัยคือ การค้ากับชาติยุโรปที่จะเกิดขึ้นต่อไปเรื่อย ๆ ตราบเท่าที่ยังไม่เป็นปัญหา และ การล่าอาณานิคมของชาติตะวันตก ทำให้ความสัมพันธ์แบบดั้งเดิมของพ้องเราชาวอาเซียนต้องสิ้นสุดลง และแทนที่ความสัมพันธ์แบบรัฐ-ชาติ (Nation-State) ในปัจจุบัน

       

ความสัมพันธ์แบบโลกใหม่ : รวมกันเราอยู่ แยกหมู่เราตาย

เมื่อควันไฟ และเขม่าปืนจากสงครามโลกครั้งที่ 2 จางลง การขับเคี่ยวทางอุดมการณ์ระหว่างโลกทุนนิยมกับคอมมิวนิสต์จึงเข้ามาแทนที่  และมิได้วายป่วงแค่ในยุโรป หากแต่ลุกลามไปทั่วโลกทั้ง ลาติน แอฟริกา ตะวันออกกลาง และไม่พ้นอุษาคเนย์บ้านเราเองก็กลายเป็นสนามรบของสงครามตัวแทนและความขัดแย้งในภูมิภาค เหตุนี้ ‘รวมกันเราอยู่ แยกหมู่เราตาย’ จึงเริ่มขึ้นครั้งแรกในชื่อ องค์การสนธิสัญญาป้องกันภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Southeast Asia Treaty Organization: SEATO) โดยมีสมาชิกคือ ไทยและฟิลิปปินส์ เพื่อมุ่งสนับสนุนระบอบตะวันตก (pro-Western regime) หลังจากนั้น วงศิลปินคู่ก็ได้ขยายตัวเป็นวงบอยแบนด์ชื่อ สมาคมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Association of Southeast Asia: ASA) จึงถือกำเนิดขึ้น

ด้วยเป้าหมายหลักของกลุ่มที่ไม่ได้หวือหวาเท่าองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศอื่นในเวลาไล่เลี่ยกัน อย่าง องค์การสนธิสัญญาวอร์ซอ (Warsaw Pact) และ องค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ หรือ นาโต้ (North Atlantic Treaty Organization: NATO) เพราะ ASA มุ่งเน้นเพียงการจัดตั้งเขตความร่วมมือทางเศรษฐกิจ แลกเปลี่ยนสินค้าและข้อมูลต่าง ๆ โดยในหนังสือเล่มของ อมิตาฟ เลือกที่จะเล่าแง่มุมทางความคิดของเหล่า policy maker ในขณะนั้นว่า

ตุนกู อับดุล ระฮ์มัน นายกรัฐมนตรีอาเซียนในตอนนั้นมองว่า เป้าหมายที่แท้จริงของ ASA คือ การโชว์ให้โลกรู้ว่าคนเอเชียสามารถคิดและวางแผนเพื่อหมู่เฮาเองได้ แต่ที่มากกว่านั้นคือ การร่วมกลุ่มในครั้งนี้จะช่วยเสริมสร้างความปลอดภัย ความชอบธรรม และบรรเทาความขัดแย้งทางในดินแดน ‘ซาบาห์’ ทางตอนเหนือของเกาะบอร์เนียว ดินแดนข้อพิพาทที่มาเลเซียและฟิลิปปินส์ต่างอ้างกรรมสิทธิ์ตั้งแต่ได้รับเอกราช

เอ็มมานูเอล เพลาเอซ รองประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ในขณะนั้น ได้เล็งเห็นว่า ASA เป็นโอกาสในการจ้างงานและเพิ่มรายได้ให้คนในชาติ จากวลีที่ว่า “fully explore and exploit the possibilities and potentialities of greater intra-regional trade” แต่ความกังวลคือ กรณีข้อพิพาทซาบาห์ ดินแดนทางตอนเหนือของเกาะบอร์เนียวที่กลายปัญหาต่อการรวมกลุ่มของฟิลิปปินส์ในครั้งนี้

ถนัด คอมันตร์ ในเวลานั้นคือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สถาปนิกคนสำคัญผู้ก่อตั้งประชาคมแห่งนี้ เชื่อว่าการรวมกลุ่มในครั้งนี้คือ  “in our capability to shape and direct for ourselves the future destiny of our nations” หรือเข้าใจแบบง่าย ๆ คือ การร่วมกลุ่มในครั้งนี้สะท้อนให้เห็นถึง ความสามารถในกำหนดและชี้นำอนาคตของเราเองได้

ซูการ์โน ประธานาธิบดีคนแรกของอินโดนีเซีย กลับมองว่า การรวมกลุ่มที่เกิดขึ้นเป็นส่วนหนึ่งของการต่อต้านคอมมิวนิสต์ที่ได้รับแรงหนุนจากชาติตะวันตก อีกทั้งการรวมกลุ่มยังสนับสนุนความชอบธรรมในการครอบครองดินแดนข้อพิพาทของมาเลเซีย

เพราะ ความคิดอันขัดแย้งและความเห็นที่ไม่ลงรอยทำให้การรวมตัวเป็นอย่างกระท่อนกระแท่นและมีอายุสั้น ทว่า ได้วางรากฐานทางความสัมพันธ์ของการรวมกลุ่มใหม่ และเมื่อเข้าสู่ช่วงปลายทศวรรษที่ 1960 ได้เกิดการแข่งขันระหว่างจีนและโซเวียต (Sino-Soviet competition) ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ทวีความรุนแรงมากขึ้น กลายเป็นความกลัวของชาติต่าง ๆ ในภูมิภาคว่า บ้านของตนจะกลายเป็นสมรภูมิรบของมหาอำนาจ จึงกลายเป็นเหตุผลหนึ่งที่การรวมตัวในครั้งที่ 3 เกิดขึ้นในชื่อกลุ่มว่า สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Association of South East Asian Nations : ASEAN) ประกอบด้วยแรกเริ่มสมาชิกคือ ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย สิงคโปร์ และไทย เพื่อสร้างความร่วมมือต่อกันทางด้านเศรษฐกิจ และความกินดีอยู่ดีของประชาชนในชาติสมาชิกเป็นสำคัญ แต่ก็ไม่กล้ายกระดับเป็นความร่วมมือทางการทหาร เพราะเกรงกันว่าจะไปกระตุ้นให้เกิดสงคราม

เมื่อเข้าสู่ปี ค.ศ. 1975-1976 ห้วงเวลาแห่งความน่าหวาดหวั่นใจของประเทศสมาชิกอาเซียนก็มาถึง จากการถอนทหารของสหรัฐฯ ในภูมิภาคอินโดจีนกรุยทางสู่การล่มสลายของกรุงพนมเปญโดยระบอบเขมรแดง ตามมาติด ๆ ด้วยการเข้ายึดครองกรุงไซ่งอนของกองทัพเวียดนามเหนือ และ ระบอบเก่าในเวียงจันทร์ก็ล่มสลายตามไป จนถึงตรงนี้ ทฤษฎีโดมิโน (Domino Theory) ของดีน เอเชสัน กำลังจะเกิดขึ้นจริง แต่ ๆ เพื่อเลี่ยงความขัดแย้งในภูมิภาคที่กำลังมาถึง อาเซียนเริ่มการประชุมที่บาหลีเพื่อหารือเรื่องการจัดการกับแข่งขันระหว่างมหาอำนาจผ่านกรอบเขตสันติภาพ เสรีภาพ และความเป็นกลาง (Zone of Peace, Freedom, and Neutrality : ZOPFAN) เพื่อการันตีว่า สงครามและความขัดแย้งจะไม่ขยายตัวในภูมิภาค และกลายเป็นความตกลงที่จะกำหนดพฤติกรรมของอาเซียนไปตลอดจนถึงปัจจุบัน ซึ่งประกอบด้วย

1. การเคารพซึ่งกันและกันในเอกราช อธิปไตย และบูรณภาพแห่งดินแดน
2. สิทธิของรัฐในการดำรงอยู่โดยปราศจากการแทรกแซง การบ่อนทำลายและการบังคับจากภายนอก
3. การไม่แทรกแซงกิจการภายในของรัฐอื่น
4. การแก้ไขข้อพิพาทโดยสันติ
5. การไม่ใช้การคุกคามหรือการใช้กำลังต่อกัน

เมื่อสงครามเย็นจบลง ขัดแย้งกับเวียดนามจางหาย วิกฤตกัมพูชาได้รับการแก้ไข และเมียนมาหันมามีปฏิสัมพันธ์กับโลกมากขึ้น บรรยากาศเหล่านี้กลายเป็นภาพสะท้อนความสำเร็จของอาเซียนที่แก้ไขปัญหาภายในภูมิภาคด้วยคนในภูมิภาคเอง นอกจากนี้ อาเซียนจึงทำในสิ่งที่ไม่กล้าฝัน ฝันที่คนธรรมดาคนนึงไม่กล้าฝัน คือ พัฒนากรอบความร่วมมือทางด้านความมั่นคง จึงเริ่มต้นขึ้น ตามมาด้วยการยกระดับความร่วมมือในเกือบทุกด้าน และพัฒนาสู่การเป็นประชาคมความร่วมมือระหว่างประเทศอันเข้มแข็ง

ความสัมพันธ์แบบอาเซียนของแทร่ : ต่างกันอยู่แต่ร่วมกันเดิน

‘วิถีอาเซียน’ (The ASEAN way) ค่านิยมได้ถูกพัฒนาขึ้นให้อย่างเหมือนใครและมิมีใครกล้าเหมือน ชนิดที่ว่า สหภาพยุโรป ก็ทำไม่ได้! สหภาพแอฟริกัน อย่าหวัง!  วิถีแบบนี้ได้มาจากนิสัยของคนในพื้นที่ อย่าง การลอมชอม การเกรงอกเกรงใจ และการตัดสินใจที่ต้องเห็นพ้องตรงกัน พัฒนาเป็นหัวใจสำคัญของวิถีแบบอาเซี๊ยนอาเซียนคือ ‘การปรึกษาหารือ’ และ ‘ฉันทามติ’ สำหรับ อมิตาฟ มองว่าหลักการนี้เป็นได้ทั้ง ‘จุดอ่อน’ และ ‘จุดแข็ง’

จุดอ่อน - การตัดสินหรือการปรึกษาหารือต้องอาศัยความตกลงร่วมกันแบบฉันทามติ ซึ่งทำให้การแก้ไขปัญหาระหว่างกันเป็นไปได้ยาก และใช้ระยะเวลาที่นานในการแก้ไขปัญหา

จุดแข็ง - การมีเวทีคลี่คลายความขัดแย้ง ช่องทางการติดต่อสื่อสาร ความร่วมมือ ซึ่งรวมถึงกลไกการแก้ไขข้อพิพาท

ความเป็นอาเซียนฉบับที่ไม่มีใครเหมือนนี้ กลายเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวแบบหาตัวจับยาก แม้สงครามเย็นสิ้นสุดและความขัดแย้งจางหาย ภายหลังเมื่อมีสมาชิกเพิ่มและพัฒนาเป็นสถาบันระหว่างประเทศที่ชัดเจนแบบอย่างสหภาพยุโรป แต่วิถีอาเซียนเช่นนี้ก็ยังคงอยู่ต่อไป

การตัดสินใจที่ต้องเห็นพ้องตรงกันแบบ 100% และพฤติกรรมแบบเพื่อนบ้านที่แสนดี ทำให้ชาติสมาชิกสามารถเป็นตัวของตัวเองได้อย่างเต็มที่โดยที่มั่นใจได้ว่า “ต่อให้ฉันจะเลวร้ายแค่ไหน เพื่อนของฉันก็ยังคงจะรักฉันอยู่ ตราบชั่วฟ้าดินสลาย” เพราะสุดท้ายแล้วเราก็คือเพื่อนบ้านที่ต้องพึ่งพากันอยู่รอดท่ามกลางการแข่งขันของชาติมหาอำนาจ

 

ปัจจุบันที่อยู่เป็น

แม้ว่าหนังสือเล่มนี้ของอมิตาฟจะได้รับการตีพิมพ์และวางขายเมื่อ 12 ปีที่แล้ว แต่สิ่งที่คาดการณ์ไว้ในหนังสือเกี่ยวกับความท้าทายของอาเซียนยังคงสะท้อนให้เห็นในปัจจุบัน ประเด็นแรกคือ ‘ความอันตรายของโลกาภิวัตน์’ เช่น ภัยธรรมชาติ การแพร่ระบาดของโรค หรือวิกฤตเศรษฐกิจ ซึ่งปัจจุบันนี้ก็รุนแรงมากขึ้นอย่างที่ผ่านมาคือ การแพร่ระบาดของโควิด-19 และภัยคุกคามใหม่ ๆ เช่น อาชญากรรมข้ามชาติ แก๊งคอลเซ็นเตอร์ การฉ้อโกงออนไลน์ การค้ามนุษย์ และปัญหาสิ่งแวดล้อมจากมลพิษหมอกควัน

ประเด็นที่สอง อิทธิพลของจีนและอินเดียในภูมิภาค เกิดเป็นภาพการลงทุนของจีนที่ทะลักเข้ามา และอินเดียในฐานะประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลก อิทธิพลของทั้งสองเริ่มปรากฏชัดเจนอย่างการแข่งขันกันเป็นผู้นำทางเศรษฐกิจและการเมืองในภูมิภาคนี้ ทำให้อาเซียนต้องรวมกันอยู่เหมือนเคยอย่างเช่นที่เคยเป็นมา แต่ความท้าทายก็ยังไม่จบแต่เพียงเท่านี้

ล่าสุดที่ผ่าน ในการประชุมสุดยอดอาเซียนที่ประเทศลาวมีการหารือในประเด็นต่าง ๆ เช่น การแก้ปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ และความร่วมมือด้านชายแดน แต่ประเด็นที่ไม่ค่อยมีการพูดหรือถูกให้ความสำคัญเท่าที่ควรคือ ประเด็นเมียนมา ที่ราวกับว่าชาติสมาชิกอาเซียนต่างพากันติดอยู่ในสภาวะ "กลับตัวก็ไม่ได้ ให้เดินต่อไปก็ไปไม่ถึง"  เพราะที่ผ่าน ๆ มา อาเซียนและชาติสมาชิกปล่อยให้เมียนมาจัดการปัญหาของตนเองตามวิถีอาเซียนอย่างที่ทำเป็นประจำ และดูเหมือนว่าความรุนแรงภายในเมียนมาก็กำลังรุนแรงมากขึ้น ทว่า แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีคนล่าสุด ได้เสนอถึงความพร้อมของไทยในการเป็นตัวกลางให้มีการหารืออย่างไม่เป็นทางการแบบปลายเปิด (open-ended informal consultation) ในช่วงปลายปี 2567 นี้ เพื่อบรรเทาสถานการณ์ในเมียนมา ซึ่งเป็นสัญญาณของการกลับมามีบทบาทของไทยในภูมิภาคอีกครั้ง หลังจากที่ห่างหายไปนานร่วมทศวรรษเศษ ๆ

แม้ไทยจะกล้าริเริ่มการเจรจาเพื่อแก้ปัญหาในเมียนมา แต่ความท้าทายที่แท้จริงคือ "ความเป็นอาเซียน" เอง จากค่านิยมเรื่องความสัมพันธ์แบบอาเซียนของแทร่ ! หนึ่งในความท้าทายหนึ่งที่อมิตาฟแอบแฝงในหนังสือ นั่นคือ ความสัมพันธ์ระหว่างชาติสมาชิกที่จะไม่แทรกแซงและก้าวก่ายกัน ทำให้การแสดงจุดยืนต่อประเด็นเมียนมาที่เกิดขึ้นจึงเป็นเรื่องที่ชาติสมาชิกอาเซียนต่างพากันเงียบเชียบและแถบไม่มีส่งเสียงเลย ดังนั้น ความสัมพันธ์และวิถีเช่นนี้จึงกลายเป็นอุปสรรคต่อประสิทธิภาพของอาเซียนในฐานะเวทีความร่วมมือระดับภูมิภาคในการแก้ไขปัญหา

เรื่อง: ณัฐกร คล้ายสุบิน (The People Junior)

 

อ้างอิงเนื้อหา:

  • Acharya, A. (2012). The Making of Southeast Asia: International Relations of a Region. Cornell University Press.
  • กระทรวงการต่างประเทศ. (2567). สรุปแถลงข่าวการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 44 และครั้งที่ 45 และการประชุมสุดยอดที่เกี่ยวข้อง. เข้าถึงเมื่อ 17 ตุลาคม 2567 จาก https://www.mfa.go.th/th/content/press-briefing-8-oct-2024?page=5d5bd3c915e39c306002a907&menu=5d5bd3c915e39c306002a908

อ้างอิงภาพ:

Association of Southeast Asian Nations. (2024). Secretary-General of ASEAN joins the Opening Ceremony of the 44th and 45th ASEAN Summits and Related Summits in Vientiane, Lao PDR. Retrieved October 27, 2024 from https://asean.org/secretary-general-of-asean-joins-the-opening-ceremony-of-the-44th-and-45th-asean-summits-and-related-summits-in-vientiane-lao-pdr/