ยิวออร์โธดอกซ์ ทำไมคนยิวขนานแท้ไม่เอารัฐอิสราเอล?

ยิวออร์โธดอกซ์ ทำไมคนยิวขนานแท้ไม่เอารัฐอิสราเอล?
เมื่อ ธิโอดอร์ เฮะเซล (Theodor Herzl) ประกาศโฆษณาชวนเชื่อให้มีการตั้งรัฐยิว (ไซออนิสม์) ขอเสียงสนับสนุนจากทั้งชาวยิวและประชาคมโลกในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ชาวยิวจำนวนหนึ่งเห็นพ้องด้วยว่า นี่น่าจะเป็นทางออกที่จะช่วยให้พวกเขาหลุดพ้นจากการกดขี่ในฐานะพลเมืองชั้นสองในประเทศต่าง ๆ แต่ก็มีชาวยิวอีกมากมายที่ฟังข้อเสนอแล้วเกิดความกังวล เช่นยิวสายปฏิรูปหรือชาวยิวที่ยอมละทิ้งธรรมเนียมบางอย่างเพื่อใช้ชีวิตอย่างกลมกลืนกับคนท้องถิ่นที่กลัวว่า ข้อเสนอแบบนี้จะทำให้พวกเขา (ที่มีคุณภาพชีวิตดีกว่า ต่างจากชาวยิวที่เคร่งธรรมเนียม) พลอยถูกเกลียดชังไปด้วย เพราะการทำให้ยิวมีความเป็นชาติ อาจทำให้คนในชาติต่าง ๆ เห็นชาวยิวเป็นนกสองหัวได้ และนั่นทำให้แผนที่เฮะเซลจะจัดการประชุมไซออนิสต์นานาชาติครั้งแรกในมิวนิกต้องล้มเลิกไปเพราะชาวยิวที่นี่ไม่เอาด้วย และชาวยิวอีกกลุ่มหนึ่งที่ไม่เห็นด้วยเลยกับข้อเสนอนี้ ก็คือกลุ่มชาวยิวออร์โธดอกซ์ หรือชาวยิวขนานแท้ คำว่า ออร์โธดอกซ์ (orthodox) มีรากศัพท์มาจากภาษากรีกหมายถึง สิ่งที่ถูกต้อง ชาวยิวออร์โธดอกซ์จึงหมายถึงชาวยิวที่ยึดถือปฏิบัติตนตามพระคัมภีร์อย่างเคร่งครัด ไม่มีการรับเอาธรรมเนียมอื่นมาปลอมปน จึงอาจเรียกได้ว่าพวกเขาคือชาวยิวขนานแท้ ชาวยิวกลุ่มนี้เมื่อได้ฟังข้อเสนอของเฮะเซลก็ไม่เอาด้วยเช่นกัน เพราะในทางศาสนาพวกเขาเชื่อว่า การที่ชาวยิวต้องระเหเร่ร่อนไปต่างแดนนั้นเป็นการลงโทษของพระเจ้าต่อบาปของพวกเขาเอง แนวคิดของไซออนิสต์ที่จะตั้งรัฐยิวเองจึงขัดต่อเจตนารมณ์ของพระเจ้าที่ประสงค์ให้พวกเขารับกรรมต้องลี้ภัยอยู่ไกลบ้านบรรพชน จนกว่ากษัตริย์ทายาทแห่งเดวิดตัวแทนแห่งสวรรค์จะลงมาปกครองมนุษย์ทั้งโลกพร้อมกับสันติอันเป็นนิรันดร์ แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวโดยฝีมือของนาซี แนวคิดของไซออนิสต์จึงได้รับการตอบรับมากขึ้น มีชาวยิวจำนวนมาก รวมถึงชาวยิวออร์โธดอกซ์ที่พากันอพยพไปใช้ชีวิตในอิสราเอลรัฐโลกวิสัยของชาวยิวบนดินแดนปาเลสไตน์ที่เกิดขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ถึงอย่างนั้น กลุ่มชาวยิวออร์โธดอกซ์สุดโต่ง (ultra-Orthodox) หรือ ชาวยิวฮาเรดี (Haredi Jew) ก็ยังคงต่อต้านการก่อตั้งรัฐอิสราเอลอยู่ดี คนกลุ่มนี้แม้จะใช้ชีวิตอยู่ในอิสราเอลก็ไม่ร่วมฉลองการประกาศอิสรภาพของประเทศ และไม่ยอมเข้าร่วมกองทัพอิสราเอล (ซึ่งทางกองทัพก็ออกข้อยกเว้นให้)  โดยเฉพาะในสายเนทูเร คาร์ตา (Neturei Karta - ผู้พิทักษ์นคร) ที่ยังคงเรียกร้องให้มีการยุบรัฐอิสราเอล หนึ่งในผู้นำของชาวยิวสายนี้ก็คือ แรบไบ โมเชอ เฮิร์ช (Moshe Hirsch) ผู้ล่วงลับ ซึ่งเคยเป็นที่ปรึกษาของ ยัสเซอร์ อาราฟัต ผู้นำปาเลสไตน์ (แม้ว่าชาวยิวส่วนใหญ่จะเห็นอาราฟัตเป็นศัตรูก็ตาม) โดยทั้งคู่ได้สานไมตรีกันมาตั้งแต่สมัยอาราฟัตลี้ภัยไปอยู่ตูนิสในช่วงทศวรรษ 1980s ก่อนที่เฮิร์ชจะได้รับการแต่งตั้งให้เป็นที่ปรึกษาขององค์การปลดปล่อยปาเลสไตน์ ด้านกิจการเกี่ยวกับชาวยิว หลังอาราฟัตได้เดินทางกลับเจริโคในปาเลสไตน์เมื่อปี 1994 สิบปีต่อมาอาราฟัตป่วยหนักเขายังส่งตัวแทนไปสวดอ้อนวอนหน้าโรงพยาบาลที่อาราฟัตรักษาตัวในปารีส จนทำให้ชาวยิวสายนี้ถูกวิจารณ์อย่างหนักจากกลุ่มชาวยิวออร์โธดอกซ์ด้วยกัน และสิ่งที่พวกเขาถูกวิพากษ์วิจารณ์มากที่สุดก็คือข้อหาที่ว่า พวกเขาเป็นเพียงพวกปากว่าตาขยิบ เพราะเชื่อว่า การที่พวกเขาต่อต้านอิสราเอลเป็นเพราะอิสราเอลเป็นรัฐโลกวิสัยที่ให้เสรีภาพในการนับถือศาสนา ถ้าหากอิสราเอลเป็นรัฐศาสนาที่ยูดายเป็นศาสนาประจำชาติมีคัมภีร์โทราห์เป็นกฎหมายแล้วละก็ พวกเขาก็คงไม่ปริปากต่อต้านอะไร อย่างไรก็ดี ชาวยิวเนทูเร คาร์ตา ยืนยันว่า ที่พวกเขาต่อต้านรัฐอิสราเอลไม่ใช่เพราะมันเป็นรัฐโลกวิสัย แต่เป็นเพราะการก่อตั้งรัฐยิวขึ้นเองไม่ใช่สิ่งที่พระเจ้าปรารถนา และการกระทำเช่นนั้นย่อมเป็นกบฏต่อพระองค์ ซึ่งนั่นก็หมายความว่า รัฐยิวจะเกิดขึ้นได้ (อย่างถูกต้องตามหลักศาสนาที่เที่ยงแท้ในสายตาของพวกเขา) ก็ต่อเมื่อ โลกทั้งโลกถูกทำลายอย่างย่อยยับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับผู้ที่ถืออวิชชาไม่เชื่อในพระเจ้าที่แท้จริงจะต้องรับโทษทัณฑ์อย่างสาสม ก่อนที่พระเจ้าจะรื้อฟื้นอาณาจักรของชาวยิวขึ้นมาอีกครั้ง   ที่มา: https://www.nytimes.com/2014/02/15/us/a-conflict-of-faith-devoted-to-jewish-observance-but-at-odds-with-israel.html https://www.nytimes.com/2010/05/05/world/middleeast/05hirsch.html https://www.jhuapl.edu/Content/documents/ApocalypseVision.pdf