วลาดีมีร์ ปูติน: อดีตสายลับ KGB ผู้เปิดประตูสู่ ‘สงคราม’ ในโลกยุคใหม่

วลาดีมีร์ ปูติน: อดีตสายลับ KGB ผู้เปิดประตูสู่ ‘สงคราม’ ในโลกยุคใหม่
“ผมตัดสินใจแล้วว่าจะเริ่มปฏิบัติการทางทหาร ขอให้ทหารยูเครนในพื้นที่สู้รบทางตะวันออกจงวางอาวุธ และกลับภูมิลำเนาไปเสีย” หลังสิ้นเสียงคำประกาศกร้าวของ ‘วลาดีมีร์ ปูติน’ ประธานาธิบดีรัสเซียในเช้าตรู่ของวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2022 ความสับสนวุ่นวายได้แพร่กระจายไปทั่วทั้งโลก เพราะครั้งนี้รัสเซียแสดงให้เห็นแล้วว่า ‘สงคราม’ ที่ชาติมหาอำนาจพยายาม ‘หลีกเลี่ยง’ มาโดยตลอดได้เปิดฉากขึ้นอย่างเต็มรูปแบบแล้วในยูเครน ปูตินให้เหตุผลถึงการประกาศให้มีการปฏิบัติการทางทหารเพิ่มเติมว่า รัสเซียต้องการตอบโต้ภัยคุกคามที่มาจากยูเครน ไม่ได้มีจุดประสงค์อื่นใดแอบแฝง หากมีผู้ใดได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากปฏิบัติการที่รัสเซียก่อ ให้ถือว่าทุกอย่างเป็นความผิดของรัฐบาลยูเครนแต่เพียงฝ่ายเดียว “ใครก็ตามที่พยายามจะรังแกรัสเซียจะต้องพบกับการตอบโต้อย่างหนัก และอาจนำไปสู่ผลลัพธ์ที่คาดไม่ถึง” ในขณะที่ ‘โวโลดิมีร์ เซเลนสกี’ ประธานาธิบดียูเครน ประกาศศึกพร้อมเกณฑ์กำลังพลทั่วประเทศต้านทานกองทัพรัสเซียในทุกภูมิภาค ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ 90 พร้อมทั้งยื่นข้อเสนอต่อรัสเซียว่า ยูเครนพร้อมเจรจาสงบศึก ไม่ว่าเงื่อนไขนั้นจะเป็นอย่างไร ทั้งการวางตัวเป็นกลางของยูเครน หรือไม่เข้าร่วมเป็นหนึ่งในสมาชิกนาโต เพื่อให้กลับเข้าสู่เส้นทางสันติภาพในเร็ววัน ติดตามอ่านเรื่องราวเส้นทางชีวิตของประธานาธิบดีหลังม่านเหล็ก ชายผู้ครองอำนาจทางการเมืองมานานกว่า 20 ปี โดยไม่มีทีท่าว่าอำนาจจะถูกลิดรอนลงแม้แต่ปลายเล็บ เพราะไม่ว่าเขาจะปรากฏตัวขึ้นในเวทีระหว่างประเทศครั้งใด ก็ยังคงสร้างแรงสั่นสะเทือนไปทั่วโลก และครั้งนี้อำนาจที่เขามีกำลังทำให้ทั้งโลกลุกเป็นไฟ!   ชีวิตธรรมดาที่ไม่ธรรมดา วลาดีมีร์ ปูติน (Vladimir Putin) เกิดวันที่ 7 ตุลาคม 1952 ที่เมืองเลนินกราด (ปัจจุบันคือเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก) แม่ทำงานในโรงงาน ส่วนพ่อคืออดีตทหารเรือโซเวียต ผู้เข้าร่วมสมรภูมิรบในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 และทำงานเป็นหัวหน้าคนงานในโรงงานผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ในช่วงทศวรรษ 1950 เขาและครอบครัวอาศัยอยู่ในอะพาร์ตเมนต์ส่วนกลางธรรมดา ๆ ที่รัฐบาลจัดหาให้ “ผมมาจากครอบครัวธรรมดา ๆ เกิดและโตมาโดยได้รับการอบรมสั่งสอนที่เรียบง่าย เป็นแค่คนธรรมดาคนหนึ่ง และผมยังอยากจะให้ชีวิตของผมเป็นแบบนี้ต่อไป” สิ่งหนึ่งที่ทำให้ปูตินในวัยเด็กแตกต่างจากเด็กทั่วไปคือเขาชื่นชอบดูหนังสายลับเป็นชีวิตจิตใจ เมื่อถึงคาบเรียนวิชาพละ เขามักจะทำคะแนนได้ดีเสมอ ความสนใจในกีฬาเริ่มทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ เขาฝึกฝนอย่างหนัก จนสามารถได้ยูโดสายดำมาครอง อีกทั้งยังลงเรียนวิชาภาษาเยอรมันที่โรงเรียนมัธยมเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก แต่การจะทำตามความฝันวัยเด็กได้นั้น เขาจะต้องเข้าเรียนในคณะนิติศาสตร์ไม่ก็ต้องเป็นทหารเหมือนผู้เป็นพ่อ ปูตินเป็นเด็กฉลาด บวกกับบุคลิกที่สุขุมเยือกเย็น เขาไม่ลังเลที่จะเข้าศึกษาต่อในคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเลนินกราด จากนั้นจึงเข้าทำงานในตำแหน่งสมาชิกหน่วยสายลับเคจีบี เป็นเวลา 15 ปี (ค.ศ. 1975 - 1990) แต่ช่วงเวลา 6 ปีสุดท้ายที่ไปปฏิบัติการงานข่าวกรอง ประจำสำนักงานองค์การสืบราชการลับของสหภาพโซเวียต ในนครเดรสเดน (Dresden) เยอรมนีตะวันออก ชีวิตของเขาเหมือนถูกลบออกจากหน้าประวัติศาสตร์ ไม่มีใครรู้แน่ชัดว่าชายคนนี้อยู่ที่ไหนหรือกำลังทำอะไรอยู่   เส้นทางสู่อำนาจ หลังจากโซเวียตล่มสลายลงในวันที่ 25 ธันวาคม 1991 สายลับหนุ่มในวัย 33 ปีผู้นี้ต้องเผชิญกับความว่างเปล่า เขาลาออกจากงานที่ใฝ่ฝันขณะมียศพันโท และกลับไปยังรัสเซียเพื่อเข้ารับตำแหน่งอธิการบดีของมหาวิทยาลัยเลนินกราด นอกจากทำงานประจำเป็นอธิการบดีแล้ว เขายังต้องดิ้นรนทุกวิถีทางเพื่อหาเงินมาดูแลครอบครัว ซึ่งในช่วงเวลานั้นเขาแต่งงานกับ ‘ลุดมิลา’ พนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน ภรรยาคนแรก ในปี 1983 จากนั้นหย่าร้างในปี 2014 ทั้งคู่มีลูกสาวเป็นโซ่ทองคล้องใจด้วยกัน 2 คน แม้ว่าเขาจะไม่เปิดเผยชีวิตส่วนมากนัก แต่สื่อรัสเซีย RIA Novosti ได้ขุดคุ้ยจนเจอมาว่า ปูตินผู้แข็งแกร่งคนนี้ เคยทำงานเป็นพนักงานขับแท็กซี่ในระหว่างที่โซเวียตกำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านเข้าสู่โลกเสรี “บอกตามตรงว่าชีวิตในช่วงเวลานั้นของผมไม่ค่อยน่าพูดถึงมากนัก การทำงานบริการเพื่อหาเงินเลี้ยงชีพเป็นเรื่องยากสำหรับผม” ในระหว่างนั้นเขาเริ่มหันเหเข้าสู่เส้นทางการเมือง โดยทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยหาเสียงให้กับอนาโตลี ซอบชัค (Anatoly Sobchak) อาจารย์หัวเสรีนิยมที่เขาเคารพนับถือ ปูตินชิงชังระบอบคอมมิวนิสต์เข้าไส้ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะทุ่มสุดตัวเพื่อช่วยให้ซอบชัคชนะการเลือกตั้ง เขาถึงขั้นปรามาสว่าระบอบคอมมิวนิสต์นั้นไม่ต่างจากตรอกที่อับแสง อีกทั้งยังห่างไกลจากอารยธรรมอันดีงาม ซอบชัคชนะการเลือกตั้งเป็นนายกเทศมนตรีเมืองเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก และเป็นคนแรกที่มาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย แน่นอนว่าความพยายามของปูตินไม่สูญเปล่า ซอบชัคแนะนำปูตินให้กับเพื่อนร่วมอาชีพอีกหลายต่อหลายคน เขากลายเป็นหนุ่มเนื้อหอมที่นักการเมืองต่างให้ความสนใจ จนกระทั่งในปี 1994 เขาขึ้นดำรงตำแหน่งรองนายกเทศมนตรีคนแรกของเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก นับเป็นก้าวสำคัญที่ทำให้ชายคนนี้เข้าสู่สนามการเมืองอย่างเต็มตัว ปูตินลาออกจากตำแหน่งรองนายกเทศมนตรีในปี 1996 และตัดสินใจเดินทางออกจากเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก เพื่อไปทำงานในรัฐบาล ‘บอริส เยลต์ซิน’ (Boris Yeltsin) เมื่อเยลต์ซินรู้ว่าปูตินคือดาวรุ่งพุ่งแรง เขาไม่รอช้าที่จะผลักดันให้ปูตินเข้าสู่ตำแหน่งหัวหน้าหน่วยเอฟเอสบี (Federal Security Service - FSB) ซึ่งเป็นหน่วยข่าวกรองที่แต่งตั้งขึ้นมาใหม่หลังจากโซเวียตล่มสลาย หลังจากนั้นในวันที่ 16 สิงหาคม 1999 สภานิติบัญญัติแห่งสหพันธรัฐรัสเซียได้ลงมติยืนยันการแต่งตั้งให้ปูตินดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งในเวลาต่อมาปูตินได้ประกาศออกสู่สาธารณชนว่า ความตั้งใจของเขาต่อจากนี้คือการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีรัสเซียในปี 2000 ประจวบกับในช่วงเวลานั้น สถานการณ์ความขัดแย้งรุนแรงที่กลุ่มกบฏแบ่งแยกดินแดนในเชชเนียพยายามก่อความวุ่นวาย ประชาชนต่างเหนื่อยล้าและเอือมระอากับพฤติกรรมดังกล่าว ปูตินนักการเมืองหน้าใหม่ที่ไม่มีใครรู้จักชื่อเสียงเรียงนามมาก่อน จึงใช้โอกาสนี้แสดงภาวะความเป็นผู้นำ เขาทั้งเด็ดขาด สุขุม เยือกเย็น แม้จะตกอยู่ในสถานการณ์กดดันขั้นสุด แต่ปูตินสามารถเข้ามาจัดการกลุ่มกบฏได้จนอยู่หมัด คะแนนความนิยมพุ่งสูงขึ้นจนน่าตกใจ และแน่นอนว่าชายผู้นี้ได้ใจประชาชนรัสเซียไปเต็ม ๆ ปูตินได้รับเลือกให้ขึ้นรักษาการประธานาธิบดี ในวันที่ 31 ธันวาคม 1999 หลังจากเยลต์ซินประกาศลาออกจากตำแหน่ง จากนั้นได้รับเลือกให้เป็นประธานาธิบดีคนที่ 2 ของรัสเซีย ในวันที่ 7 พฤษภาคม 2000 ซึ่งตรงกับคำประกาศที่เขาเคยกล่าวไว้ว่าจะเป็นประธานาธิบดีในปี 2000 พอดิบพอดี แม้ว่าจะสามารถขึ้นมารับตำแหน่งได้ตามวาจาที่เคยลั่นออกไป แต่เขาต้องเผชิญกับความกดดันอย่างหนัก ทั้งต้องเร่งพัฒนาประเทศจากอดีตสหภาพโซเวียตที่อ่อนแอ ให้กลับมารุ่งโรจน์อีกครั้ง ต้องจัดการปัญหาความวุ่นวายของสถานการณ์ที่เกิดขึ้นภายในประเทศ ปฏิรูปเศรษฐกิจ ไปจนถึงการปฏิรูปการปกครอง เรียกได้ว่าปูตินขึ้นมารับตำแหน่งในช่วงที่รัสเซียกำลังอยู่ในจุดตกต่ำที่สุดนับตั้งแต่สถาปนาประเทศขึ้นมา หลังจากดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี 2 วาระติดต่อกัน นับตั้งแต่ปี 2000 - 2008 แต่ภายใต้รัฐธรรมนูญรัสเซีย ปูตินไม่สามารถเป็นประธานาธิบดี 3 สมัยติดต่อกันได้ เขาจึงสลับให้ ดมิทรี เมดเวเดฟ (Dmitry Medvedev) ขึ้นรับตำแหน่งประธานาธิบดีแทนชั่วคราว หลังจากนั้นได้ทำการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้สามารถดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีต่อได้ยาว ๆ โดยได้มีการปรับแก้รัฐธรรมนูญเรื่องการดำรงตำแหน่งของประธานาธิบดี จากวาระ 4 ปี เป็นวาระ 6 ปี และอยู่ติดต่อกันได้ 2 วาระ นั่นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมปูตินถึงยังคงอยู่ในตำแหน่งประธานาธิบดีรัสเซียมาจนถึงปัจจุบัน   อำนาจในมือของชายวัย(เกือบ)เกษียณ ปัจจุบัน ปูตินในวัยเกือบ 70 ปี กำลังทำให้ผู้คนทั่วโลกต้องหวาดหวั่น โดยเฉพาะประชาชนชาวยูเครนที่ไม่มีแม้แต่กำลังจะต่อกรกับชาติมหาอำนาจที่มีอาวุธครบมือ การกระทำของเขาที่เปิดฉากสมรภูมิรบขึ้นในประเทศเพื่อนบ้านอย่างยูเครน ยิ่งตอกย้ำว่าชายคนนี้กำลังถูกอำนาจกลืนกิน ครั้งหนึ่งเขาเคยกล่าวในบทความเรื่อง “ความรับผิดชอบร่วมกันต่อประวัติศาสตร์ และอนาคต: บทเรียนจริงจากวันครบรอบ 75 ปี การสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2” เอาไว้ว่า เขาเข้าใจความเจ็บปวดจากสงครามอย่างลึกซึ้ง และสงครามทุกสงครามที่เกิดขึ้นล้วนมีสารตั้งต้นมาจากความเห็นแก่ตัวของรัฐ “ดูเหมือนจะเป็นเรื่องธรรมดาที่หากจะกล่าวว่าสงครามนั้นได้ทิ้งรอยแผลลึกไว้ในประวัติศาสตร์ของทุกครอบครัว... สำหรับครอบครัวของผม สงครามคือความทรมานอย่างแสนสาหัสที่เมืองเลนินกราดได้ถูกปิดล้อม และผมสูญเสียพี่ชายวัย 2 ขวบไปในการปิดล้อมครั้งนั้น แม่ผมรอดตายอย่างปาฏิหาริย์ ส่วนพ่อผมเป็นอาสาสมัคร และเขาได้สละชีวิตของเขาเพื่อปกป้องบ้านเกิดเหมือน ๆ กับชาวโซเวียตอีกนับล้านคนที่ออกไปในสงคราม “สงครามไม่ได้เกิดขึ้นในชั่วข้ามคืน และไม่ได้เกิดแบบกะทันหัน หรือไม่ได้คาดคิด... มันเป็นผลจากปัจจัยและนโยบายของโลกในเวลานั้น เหตุการณ์ก่อนสงครามทั้งหมดถูกรวมเข้าด้วยกันเพื่อสร้างห่วงโซ่ที่ร้ายแรง และไม่ต้องสงสัยเลยว่าปัจจัยหลักที่กำหนดให้เกิดโศกนาฏกรรมครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติคือความเห็นแก่ตัวของรัฐ” ท้ายที่สุดแล้ว รอยแผลลึกที่เขาได้รับจากสงครามในอดีต ดูเหมือนจะสมานตัวจนทิ้งไว้เพียงร่องรอยจาง ๆ เป็นเพียงสัญลักษณ์คอยย้ำเตือนว่าครั้งหนึ่งเขาเคยได้รับผลกระทบจากความโหดร้ายของเพื่อนมนุษย์ นี่คือความ ‘ย้อนแย้ง’ ในการกระทำของผู้นำวัย(เกือบ)เกษียณ ชายผู้เปิดประตูสู่สมรภูมิรบเสียเอง โดยไม่สนใจเสียงคัดค้านจากประชาคมโลก หวังเพียงแต่จะรักษาผลประโยชน์แห่งชาติเอาไว้เท่านั้น   อ้างอิง: